จิบกาแฟคู่ขนมไทยหนุบหนับ NOSH NOSH ป๊อบอัพคาเฟ่ของนักจัดปาร์ตี้ที่ผันตัวมาเล่าเรื่องอาหาร

Highlights

  • NOSH NOSH คือป๊อปอัพคาเฟ่ที่อัพเกรดการกินขนมไทยให้ป๊อปขึ้นด้วยการแพร์ริ่งหรือจับคู่กินกับกาแฟไทย
  • คุยกับผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง โบ–สลิลา ชาติตระกูลชัย อดีตนักจัดปาร์ตี้ที่ผันตัวเป็นนักเล่าเรื่องอาหารที่เชื่อว่าวัตถุดิบไทยมีดีไม่แพ้ใคร
  • ล่าสุด NOSH NOSH เปิดหน้าร้านอีกครั้งที่คาเฟ่ ATT19 ย่านเจริญกรุง 30 ส่วนใครยังไม่เคยแวะไปต้องรีบหน่อย ป๊อปอัพรอบนี้จะสิ้นสุดวันที่ 8 ธันวาคมนี้แล้ว

ชีวิตวัยเด็กของเรามีขนมวง ขนมของชาวไทใหญ่ รูปร่างหน้าตาคล้ายโดนัทที่ชุบปิดท้ายด้วยน้ำตาลอ้อยเป็นขนมโปรดที่หนึ่งในใจ 

แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เราทำได้แค่ ‘คิดถึง’ เพียงอย่างเดียว เพราะต่อให้ฝ่าฟันบินข้ามภูเขาไปก็ควานหาความหวานหยาดเยิ้มในความทรงจำนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะรสชาติดั้งเดิมของมันได้จากโลกใบนี้ไปพร้อมๆ กับคนเก่าคนแก่ที่ทำมันขายในตลาด

เอาล่ะ ขอหยุดซีนน้ำตาของตัวเองเพียงเท่านี้ เพราะสิ่งที่เราอยากบอกอย่างจริงจังคือ ความรู้สึกคิดถึงขนมในวัยเด็กของเราหวนคืนมาอีกครั้ง หลังจากได้ลิ้มรสขนมไทยอย่างขนมถ้วยตะไล ขนมสอดไส้มะพร้าวทึนทึกที่ NOSH NOSH ป๊อปอัพคาเฟ่ที่เคยเปิดหน้าร้านที่สยามดิสคัฟเวอรี่เมื่อกลางปีที่ผ่านมาจัดหาจากร้านขนมเจ้าเก่ามาให้เราได้ชิม

ความพิเศษคือ NOSH NOSH ไม่ใช่ป๊อปอัพคาเฟ่ขายขนมไทยธรรมดาๆ แต่เป็นป๊อปอัพคาเฟ่ที่อัพเกรดการกินขนมไทยให้ป๊อปขึ้นด้วยการจับคู่กินกับกาแฟไทยเสียเลย

ล่าสุด NOSH NOSH กลับมาเปิดหน้าร้านอีกครั้งที่คาเฟ่ ATT19 ย่านเจริญกรุง 30 (ใครยังไม่เคยแวะไปต้องรีบหน่อย เพราะป๊อปอัพรอบนี้จะสิ้นสุดวันที่ 8 ธันวาคมนี้แล้ว) มีหรือที่คนชอบกินอย่างเราจะอดใจไหว

โบ–สลิลา ชาติตระกูลชัย หญิงสาวด้านหน้าเราคนนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ใช้สองมือตัวเองปั้นป๊อปอัพคาเฟ่กิมมิกสนุกๆ นี้ หลังทักทายกันเสร็จสรรพ เธอสาวเท้าออกมาจากหลังบาร์ หยิบถาดที่เต็มไปด้วยขนมหลากชนิด คุ้นตาบ้าง ไม่คุ้นตาบ้าง ติดไม้ติดมือมาให้เราที่นั่งคอยอยู่อีกฝั่งของร้านได้ลิ้มลอง

เวลานี้อเมริกาโนร้อนที่เราร้องขอจากพนักงานถูกเสิร์ฟแล้ว มาคุยกับโบเรื่องที่มาที่ไปและคอนเซปต์ของโปรเจกต์ NOSH NOSH อย่างจริงๆ จังๆ ดีกว่า

เริ่มต้นจาก ‘เป็นเราในแบบที่เราอยากเป็น’

ก่อนหน้านี้ โบจับพลัดจับผลูทำงานอีเวนต์มาหลายปี จัดปาร์ตี้ใหญ่ๆ มาหลายสิบงาน เธอยอมรับว่าสนุกกับการงานที่ได้เที่ยว ได้ปาร์ตี้ ได้เจอคนมากหน้าหลายตามาก จนกระทั่งวันหนึ่งก็พบว่า ไม่เอนจอยกับงานที่เคยทำเงินจำนวนมากให้ตัวเองอีกต่อไปแล้ว

“โบรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นก็เลยเริ่มไม่อินกับงาน หลายๆ ครั้งเราเห็นคนเมา คนขับรถกลับบ้านไม่ไหวบ้าง เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เฮ้ย เราทำอะไรอยู่ แล้วทุกครั้งที่อีเวนต์จบ เราพบว่าเราสร้างขยะไว้เยอะมาก แล้วก็อยากเป็นคนตื่นเช้าบ้าง เรากลับบ้านดึกตลอด เวลาชีวิตไม่สัมพันธ์กับคนในครอบครัวเลย งั้นลองปรับเป็นคนใหม่ที่เราอยากเป็นดีกว่า”

โบใช้เวลาแรมปีค้นหาว่าสิ่งที่ตัวเองอยากลงมือทำจริงๆ คืออะไร เธอตอบรับเข้าร่วมฟู้ดทัวร์ที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่นานจากนั้นเธอก็ค้นพบคำตอบ

“เขาพาไปดูแหล่งผลิตเกลือ เราก็สังเกตว่าทำไมชาวบ้านขายวัตถุดิบพวกนี้ได้ราคาน้อยจัง ทั้งๆ ที่กว่าจะทำได้มันยากมากเลยนะ พอเทียบกับเกลือจากเมืองนอกอย่างเกลือหิมาลายัน ทำไมเขาถึงขายได้แพงจังเลย สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าเพราะมันมีการสร้างเรื่องราว มีการบอกต่อที่มาที่น่าสนใจ”

เธอเก็บความตั้งใจที่อยากช่วยชาวบ้านเจ้าของนาเกลือให้สามารถขายเกลือได้แพงขึ้นไว้ในใจ ระหว่างทางนี้เธอทำทั้งอ่านหนังสือ สังเกตนั่นสังเกตนี่ ตระเวนชิมอาหารตามจังหวัดต่างๆ หากจานไหนน่าสนใจ เธอจะเอ่ยความสงสัยกับพ่อครัวแม่ครัวผู้ปรุงอาหารเหล่านั้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นคลังความรู้

จากเรื่องที่สนใจกลายเป็นเรื่องที่อยากเล่า

กระทั่งวันหนึ่งเธอได้รู้จักกับเชฟก้อง–ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร จากร้าน Locus Native Food Lab หลังจากนั้นความสนใจเรื่องความยั่งยืนในอาหารและวัตถุดิบไทยของโบก็ก่อร่างสร้างตัวชัดขึ้น

“เชฟก้องเป็นคนชอบน้ำผึ้งป่ามากๆ เขาเล่าเรื่องน้ำผึ้งให้เราฟังเราก็สนใจ โบเชื่อว่าน้ำผึ้งไทยมีประโยชน์ไม่แพ้น้ำผึ้งมานูก้าเลยนะ แต่ทำไมชาวบ้านขายได้แค่กิโลละ 300 บาท แต่มานูก้าโดดไปที่กิโลละ 1,400 เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงเพื่อสื่อสารให้คนรู้เรื่องพวกนี้ บอกยังไงให้ไม่น่าเบื่อ ให้คนสนใจและเอนจอยไปด้วย

“จริงๆ อาหารเป็นอะไรที่เชื่อมโยงทุกคนได้อยู่แล้ว หนึ่งวันเรากินอาหารสามมื้อเหมือนกัน โบเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาพูดว่าคนเราครอบครัวไม่เหมือนกัน ฐานะต่างกัน เรียนมาต่างกันก็จริงแต่ทุกคนกินอาหาร และสามารถรู้ว่าอาหารแต่ละแบบต่างกันยังไง นั่นแปลว่าทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับอาหารอยู่แล้วล่ะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสนใจมันมากน้อยแค่ไหน”

เธอเชื่อว่าไม่มีวิธีการไหนที่จะเล่าเรื่องคุณค่าของวัตถุดิบไทยได้ดีไปกว่าการได้ทานและสัมผัสรสชาติที่แท้จริงของมัน

ดินเนอร์ Honey is Gold โปรเจกต์แรกเริ่มของ NOSH NOSH และเชฟก้องที่ตั้งใจอยากให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำผึ้งแก่คนเมืองจึงเริ่มต้นขึ้น

โบให้คำจำกัดความงานของเธอว่าเป็น ‘Educative Dining Experience’ ที่ว่าด้วยการกินไปได้ความรู้ไปด้วย หรืออย่างชื่อโปรเจกต์ NOSH NOSH ก็แปลว่า ‘หม่ำๆ’ ทำเอาเรารู้อย่างทันทีเลยว่าผู้หญิงคนนี้หลงใหลอาหารการกินขนาดไหน

งานที่ดีกับตัวเอง และดีกับคนอื่น 

เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอทำให้เธอรู้สึกชื่นใจที่สุด เธอตอบทันทีว่า

“สิ่งที่ชื่นใจมากเลยคือตอนนั้นให้คุณพ่อคุณแม่มาทานด้วย เรารู้อยู่แล้วว่าคุณพ่อไม่ชอบนั่งฟังอะไรนานๆ เราเป็นดินเนอร์ 5 คอร์สต่อด้วยการเทสติ้งที่ใช้เวลายาวนานมาก แต่ปรากฏว่าดินเนอร์นั้นคุณพ่อฟังจนจบ หลังจากนั้นเขาก็บอกเพื่อนทุกคนเลยว่าน้ำผึ้งป่าไทยมีคุณค่ามากเลย” เธอหัวเราะ

“เราอยากให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ขายน้ำผึ้งได้อย่างยั่งยืนเพียงอย่างเดียว รายได้ส่วนหนึ่งเรามอบให้เขานำไปสร้างบ่อแก้มลิง ก่อนหน้านี้เขาไม่มีบ่อน้ำข้างบนเลย เวลาเกิดไฟป่าก็ดับยาก ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ถือถังสองถังขึ้น-ลงอย่างนั้น ดินเนอร์ครั้งนี้เราสามารถหาเงินได้พอที่จะทำแก้มลิง 4-5 บ่อ ชาวบ้านเขาก็ส่งรูปกลับมาให้ดู โบเห็นแล้วดีใจมากเลย

“ทุกงานของ NOSH NOSH อยากลิงก์เรื่องราวกลับไปที่คนต้นทาง โบคิดเสมอเลยว่าชาวนาชาวไร่ควรได้รับการช่วยเหลือและผลตอบแทนที่เขาสมควรจะได้” 

ฟังโบเล่า เราเชื่อว่าเธอคงภูมิใจกับสองมือของตัวเองมากทีเดียว

“เราอยากทำเล็กๆ ในแบบที่เราพอจะทำเองได้ เพราะตอนทำอีเวนต์เราจ้างคนเยอะมาก พอเป็น NOSH NOSH โบอยากลอง minimize ดูว่าเราคนเดียวจะทำได้ขนาดไหน กลายเป็นว่าเราสามารถทำได้ทั้งหมดเลย ตั้งแต่คิดโลโก้ ถ่ายรูป คุยกับเชฟเรื่องเมนู ปรับวัตถุดิบ รับจองที่นั่ง สื่อสารกับคน

“โบอยากทำงานที่ตัวเองชอบให้ดีที่สุด ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ให้ความรู้คนด้วยวิธีของเรานี่แหละ”

คาเฟ่ของ NOSH NOSH

นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้นั่งคุยกับโบแบบยาวๆ บอกเลยว่าเธอเล่าเรื่องสนุกมาก! ไม่เพียงแต่ถ้อยคำที่ออกจากปากเธอเท่านั้น ข้อความขนาดยาวที่เธอเรียบเรียงเพื่อเล่าเรื่องวัตถุดิบ เบื้องหลังอาหารหรือขนมต่างๆ ลงในช่องทางสื่อสารของ NOSH NOSH เองก็สนุกไม่แพ้กัน

และตอนนี้ ก็ถึงเวลาคุยเรื่องกิมมิกสนุกๆ ของเธอแล้ว

“ปกติโบชอบดื่มกาแฟอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ทำดินเนอร์มาเรื่อยๆ จนสยามดิสคัฟเวอรี่ติดต่อมาว่าอยากให้ทำดินเนอร์ให้ แต่โบมองว่าสถานที่ไม่เหมาะกับการทำดินเนอร์ เลยเสนอว่าเป็นคาเฟ่ดีไหม อีกอย่างคือคาเฟ่น่าจะเข้าถึงคนได้ง่ายและกว้างกว่าดินเนอร์” 

นี่คือที่มาของป๊อปอัพคาเฟ่ครั้งแรกที่ทำให้ NOSH NOSH เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น

“ทุกคนจะคิดว่าโบเรียนเชฟมา แต่จริงๆ ไม่ใช่ โบไม่ได้ถนัดหรือทำทุกอย่างเอง แต่โบเป็นคนชอบคิวเรตมากกว่า พอทำคาเฟ่ โบคิดแค่ว่าเราชอบกาแฟโปรไฟล์ประมาณไหนเราก็อยากให้ลูกค้าได้ดื่มกาแฟแบบที่เราชอบ” 

โรงคั่วเล็กๆ ที่มีใจอยากช่วยพัฒนากาแฟไทยอย่าง Cultivar 11 เลยอาสารับหน้าที่คั่วกาแฟให้กับโปรเจกต์นี้

“เราบอกเขาไปว่าอยากได้กาแฟคาแร็กเตอร์นี้ โบก็ชิมทั้งแบบใส่นมและไม่ใส่นม จนมาลงเอยที่เมล็ดกาแฟของแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย โรงคั่วเขาเก่งมากเลยนะที่คั่วโปรไฟล์เดียวแต่สามารถชงกาแฟได้ทั้งสองแบบ”

ขนมจานนี้มีเรื่องเล่า

ส่วนเมนูขนมในคาเฟ่ NOSH NOSH แต่ละครั้งจะปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้คนชอบกินอย่างเราๆ ตื่นเต้นกับป๊อปอัพโปรเจกต์ของเธออยู่เรื่อยๆ ส่วนวิธีการสรรหาขนมของโบ หลายๆ อย่างก็มาจากขนมในความทรงจำที่คุณแม่เคยซื้อให้เธอทานตอนเด็กๆ หรือบางร้านก็มาจากการค้นพบความอร่อยด้วยตัวเอง

“โบชอบทานขนมชั้น โบเลือกเจ้าที่ทำรสชาติหวานกำลังดี ไม่หวานเจี๊ยบเพราะทานกับกาแฟแล้วอร่อยกว่า หรืออย่างร้านขนมไทยโฮมเมด จริงๆ โบเจอร้านนี้ในอินสตาแกรม เห็นว่าน่าสนใจก็โทรไปคุยกับเขาเลย (หัวเราะ) พอสืบได้ว่าเขาใช้วัตถุดิบดีก็สั่งมาชิม สั่งมาขาย เขาก็ยินดีทำให้”

“อย่างขนมเปี๊ยะไส้ฝอยทองไข่เค็มกับมันม่วงไข่เค็มที่หยิบมาขายตั้งแต่ป๊อปอัพครั้งก่อนก็เป็นฝีมือของภรรยาเชฟก้อง จุดเริ่มต้นที่พวกเขาทำขนมเปี๊ยะน่ารักมาก คุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาชอบทาน แต่ขนมเปี๊ยะทั่วไปจะใช้น้ำมันเยอะมากในการทำ ลูกๆ เองก็อดเป็นห่วงสุขภาพไม่ได้ก็เลยหัดทำขนมเปี๊ยะ ปรับสูตรให้เป็นมิตรกับสุขภาพผู้สูงอายุ แม้แต่วัตถุดิบอย่างมันม่วง ภรรยาเชฟก้องก็เลือกใช้มันม่วงของชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย ลูกมือก็เป็นชาวบ้านที่ว่างงานในแถบนั้น 

พอได้ยินโบเล่าแบบนี้ ขนมเปี๊ยะตรงหน้าเราก็ทวีความอร่อยขึ้นเป็นเท่าตัว

พายไส้อั่วและพายแกงเขียวหวานคือเมนูที่เราติดใจจนต้องซื้อกลับมาทานที่บ้าน โบเล่าว่าเธออยากให้ที่ร้านมีของคาวที่ทานง่ายและมีความเป็นไทยด้วย ส่วนตัวเธอชื่นชอบไส้อั่วและแกงเขียวหวานมากๆ เธอจึงต่อสายตรงไปยังรุ่นน้องอย่างเช้า–ต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์ เจ้าของ Bite Me Softy ให้ช่วยทำพายไส้ไทยๆ เป็นเมนูประจำของคาเฟ่ NOSH NOSH 

“มีเจ้าไหนที่ตื๊อยากๆ ไหม” เราสงสัย

“จริงๆ ไม่เชิงตื๊อยากหรอกค่ะ” เธอเล่าพลางหัวเราะ “ครั้งที่แล้วเรามีกระหรี่ปั๊บไก่ พี่เขาไม่ได้ทำขนมขายเป็นอาชีพ เขาเคยทำให้โบชิมนานมาก กี่สิบปีแล้วไม่รู้แต่โบจำได้ว่าอร่อย พอเปิดคาเฟ่โบก็ไปตื๊อเขาจนเขาโอเค ยอมทำให้”

ส่วนขนมน้องใหม่ครั้งนี้ได้แก่ หัวครกหราน้ำตาลโตนด 

“เดี๋ยวนี้เราหาทานหัวครกหราน้ำตาลโตนดยากนะ โบอยากให้คนรู้จักสิ่งๆ นี้ก็เลยเอามาด้วย”

ขนมชื่อไม่คุ้นหูชาวเหนืออย่างเรานี้เป็นขนมพื้นบ้านจากแถบจังหวัดสงขลา ทำจากมะม่วงหิมพานต์ผัดเข้ากับน้ำตาลโตนด เมื่อทิ้งให้เย็นจะมีความกรุบกรับ หวานกำลังดี เหมาะทานคู่กับกาแฟที่มีบอดี้และรสเปรี้ยวหน่อยๆ เป็นที่สุด

“ป๊อปอัพครั้งนี้โบชอบ ‘น้อยหน่าอัฟโฟกาโต้’ ไอศครีมน้อยหน่าเป็นของเพื่อนคุณแม่ เขาเคยทำให้ทานเมื่อสิบปีที่แล้ว เวลามาทานข้าวเขาก็จะหิ้วไอศครีมก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ มาหั่นแบ่งกัน จากนั้นเขาก็ทำขาย 

“พอรุ่นลูกเขาเห็นว่าเราเปิดคาเฟ่เลยทำไอศครีมน้อยหน่านมสดมาให้ ชิมปุ๊บโบคิดเลยว่าถ้าใส่กาแฟสักช็อตน่าจะดีนะ โบเลยยกทุกอย่างไปที่โรงคั่ว ลองชิมกับกาแฟหลายๆ ตัวเลยออกมาเป็นเมนูนี้”

บางเมนูเธอก็รับมาขายโดยไม่คิดถึงกำไรที่ตัวเองควรจะได้ เธอบอกเราพร้อมรอยยิ้มว่า แค่ช่วยให้คนทำขนมเหล่านี้ขายขนมดีขึ้นบ้างเธอก็ดีใจมากแล้ว แถมเธอยังยินดีที่จะเล่าว่าตัวเองรับขนมมาจากที่ไหนบ้าง หากใครชื่นชอบ จบโปรเจกต์นี้ก็ยังสามารถอุดหนุนคนทำได้ต่อ

“อย่างขนมบางเจ้าที่รับมา เช่น ขนมถ้วยตะไล เขาดีใจมากเลยที่ขนมได้ขายบนห้างแล้วมีคนถ่ายรูปขนมไปลงอินสตาแกรมเต็มเลย สิ่งที่โบทำอาจไม่ได้เป็นอะไรยิ่งใหญ่ หรือเอาเงินไปให้เขาได้เยอะแยะ แต่การช่วยให้ใครสักคนดีใจและมีความสุขกับสิ่งที่เขาทำมากขึ้นได้มันดีนะ” 

จำไม่ได้แล้วว่าเมื่อจบบทสนทนาหญิงสาวตรงหน้าทิ้งท้ายเราด้วยสีหน้ายังไง แต่ที่จำได้แน่ชัดคือ รอยยิ้มเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าผู้ฟังอย่างเรานี่แหละ

 

ใครอยากลองจิบกาแฟจากแม่จันใต้คู่กับขนมไทยที่โบเลือกสรรมาให้ แวะเวียนไปเยือน NOSH NOSH ที่คาเฟ่ ATT19 เจริญกรุง 30 ได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคมนี้เท่านั้น ส่วนป๊อปอัพครั้งต่อไปจะจัดขึ้นเมื่อไหร่หรือมีอะไรสนุกๆ อีก ติดตามที่อินสตาแกรม @noshnosh.project และเฟซบุ๊ก NOSH NOSH ได้เลย 🙂

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่