Siam1928 : น้ำหอมกลิ่นไทยโมเดิร์นของทายาทรุ่นที่ 4 แบรนด์ ‘น้ำอบปรุงเจ้าคุณ’

Highlights

  • Siam1928 คือแบรนด์น้ำหอมของ ตั้ว–ณัท เวชชศาสตร์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของแบรนด์ 'น้ำอบปรุงเจ้าคุณ' น้ำหอมแบบไทยๆ ที่ปรุงความหอมบรรจุขวดมากว่า 90 ปี
  • ระหว่างพัฒนาสูตร ตั้วหยิบเอาเอกลักษณ์ของน้ำอบปรุงสูตรดั้งเดิมคือน้ำอบร่ำ พิมเสน และใบเนียม มาเป็นวัตถุดิบ ต่อยอดด้วยส่วนผสมอื่นๆ ในการทำน้ำหอม เช่น ส้มแมนดารินหรือแซนดัลวู้ด และออกแบบกลิ่นจากความเป็นไทย ความชอบวรรณกรรม การถ่ายภาพ และบทกลอน
  • ปัจจุบัน Siam1928 มีน้ำหอมทั้งหมด 2 คอลเลกชั่นคือ คอลเลกชั่นสามฤดูกาลของไทย และคอลเลกชั่นที่ตีความจากดวงจันทร์ โดยมีหัวใจคือการรักษาความเป็นไทยไว้ในกลิ่นหอม

คุณได้กลิ่นน้ำอบน้ำปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ถ้าไม่นับวันสงกรานต์ คุณอาจเห็นเครื่องหอมชนิดนี้ได้ตามร้านสังฆภัณฑ์ หิ้งพระ หรือศาลพระภูมิ เพราะอย่างนี้ภาพน้ำอบน้ำปรุงในสายตาคนทั่วไปจึงอาจดูเหมือนเป็นของเหลวกึ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับศาสนาหรือพิธีกรรมสำคัญ ถ้าไม่มีโอกาสพิเศษเราก็แทบไม่ได้เฉียดกรายเข้าใกล้และอาจรู้สึกว่าน้ำอบน้ำปรุงนั้นอยู่ไกลตัวเสียเหลือเกิน 

แต่รู้หรือไม่ว่าความหอมอบอวลของสมุนไพรไทยและดอกไม้นานาพันธุ์ในน้ำอบน้ำปรุงนี่แหละที่คนโบราณนิยมนำมาใช้ประพรมตามร่างกายให้กลิ่นหอมแนบชิดติดผิว จนได้ชื่อว่าเป็นน้ำหอมแบบไทยๆ

“จะว่าไปแล้วน้ำปรุงก็คือน้ำหอมดีๆ นี่แหละ แค่เรียกชื่อคนละอย่าง” ตั้ว–ณัท เวชชศาสตร์ เอ่ยขึ้นเมื่อเราเริ่มถามเรื่องน้ำปรุง เขาคือทายาทรุ่นที่ 4 ของแบรนด์น้ำปรุงสุดเก๋าอย่าง ‘น้ำอบปรุงเจ้าคุณ’ ที่ปรุงความหอมบรรจุขวดมากว่า 90 ปี และต่อยอดผลิตภัณฑ์เก่าแก่ของครอบครัวเป็นแบรนด์ Siam1928 น้ำหอมกลิ่นร่วมสมัยที่คงกลิ่นอายความเป็นไทยไว้ทุกอณู

siam1928

siam1928

ในฐานะที่เติบโตมาในตระกูลที่ทำน้ำปรุงมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด เขาไม่เคยมองว่าน้ำปรุงคือสิ่งที่เชยหรือล้าสมัย แต่กลับมองเห็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ และมองไปถึงการต่อยอดน้ำปรุงให้เข้ามาอยู่แนบชิดชีวิตของผู้คนมากขึ้น ผ่านศาสตร์การปรุงน้ำหอมแบบสมัยใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมของน้ำปรุงแบบโบราณไว้

การเดินทางร่วมร้อยปีจากน้ำอบปรุงเจ้าคุณสู่ Siam1928 จะเป็นยังไง ขยับเข้ามาใกล้ๆ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง

siam1928

 

ตำรับความหอมจากสองซีกโลก

หากย้อนไปดูเส้นทางความหอมตั้งแต่สมัยโบราณ การทำน้ำหอมมีต้นกำเนิดจากอียิปต์ แต่มาแพร่หลายในไทยผ่านชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามา คนไทยจึงรับน้ำหอมของฝรั่งมาพัฒนาต่อเป็นน้ำปรุงเพื่อให้เข้ากับอากาศเมืองร้อนของไทย

ตั้วเล่าว่าหลายคนพอได้ยินคำว่า ‘น้ำปรุง’ ก็จะเอาไปสับสนกับคำว่า ‘น้ำอบ’ แต่รู้หรือไม่ว่าทั้งสองอย่างนี้ใช้วัตถุดิบไม่เหมือนกัน

“น้ำปรุงจะมีความใกล้เคียงกับน้ำหอมของฝรั่งมากกว่าน้ำอบเพราะมีเบสเป็นแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นตัวกระจายกลิ่นชั้นดี น้ำปรุงจึงมีกลิ่นติดทนกว่าน้ำอบที่มีแป้งเป็นเบสให้กลิ่นจับกับผิวกาย”

เกือบร้อยปีก่อน คุณทวดของตั้วได้สูตรน้ำอบปรุงเจ้าคุณสูตรดั้งเดิมมาจากในรั้วในวังและใช้ชื่อว่า ‘น้ำอบปรุง’ ไม่ใช่แค่ ‘น้ำปรุง’ เฉยๆ เพราะมีขั้นตอนการ ‘อบ’ ร่ำน้ำกับเทียนหอมก่อนแล้วจึงค่อยนำกลิ่นไปปรุง กลายเป็นสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของครอบครัว

siam1928

“สำหรับน้ำอบปรุงเจ้าคุณดั้งเดิม สมัยก่อนจะใช้น้ำฝนหรือน้ำกลั่นเอาไปใส่ในโถดินเผา แล้วจุดเทียนอบ คล้ายๆ กับเทียนอบขนม แต่ปั้นมาจากส่วนผสมสำหรับการทำน้ำปรุงโดยเฉพาะ เพื่อให้ควันของเทียนหอมแทรกซึมลงไปที่ผิวน้ำ เรียกว่าการอบร่ำ

“การอบใช้เวลา 4 วัน พออบเสร็จ เราจะเอาน้ำที่อบแล้วไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงกลิ่นขั้นต่อไป จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘น้ำอบปรุง’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของน้ำอบปรุงเจ้าคุณ นอกจากควันเทียนเรายังใส่พิมเสนเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยให้เลือดลมเดินดี มีฤทธิ์ช่วยเปิดทางเดินหายใจ แต่พอมาอยู่ในน้ำปรุงฟังก์ชั่นของพิมเสนคือทำให้เวลาประพรมแล้วรู้สึกเย็น

“สมุนไพรอีกอย่างที่ใช้ในน้ำอบปรุงคือใบเนียม เป็นพืชโบราณหายาก ปลูกยาก และราคาแพงมาก กลิ่นคล้ายใบเตย แต่จะนุ่ม ลึก และไม่หวานเท่า เราเอาใบเนียมมาสกัดในแอลกอฮอล์ให้ออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย พอพัฒนาน้ำอบปรุงเป็นน้ำหอม จะใช้สารสกัดใบเตยมาผสมด้วยเพื่อให้ได้กลิ่นหวานเพิ่มขึ้น”

ไม่ใช่แค่กับน้ำอบปรุงเจ้าคุณ แต่ใบเนียมหอมยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของเครื่องหอมไทยหลายชนิด รวมถึงน้ำอบปรุงหรือน้ำหอมไทยโบราณ จนมีคำกล่าวที่ว่า ‘หากเครื่องหอมใดปราศจากใบเนียมแล้วไซร้ เครื่องหอมนั้นถือว่ายังไม่เต็มไม่สมบูรณ์จับนาสิก’ แสดงให้เห็นว่าใบเนียมและเครื่องหอมของไทยเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร

เมื่อจะทำน้ำหอมของตัวเองแบบไทยโมเดิร์น ตั้วจึงนำดีเอ็นเอของน้ำปรุงดั้งเดิมซึ่งประกอบด้วยน้ำอบร่ำ พิมเสน และใบเนียมหอม มาใส่เป็นส่วนผสม และเพิ่มเติมวัตถุดิบที่ให้กลิ่นจากหลากหลายประเทศ เช่น ไม้แซนดัลหรือส้มแมนดาริน ถือเป็นการนำน้ำปรุงมาแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่เพื่อให้กลิ่นมีความหลากหลายมากขึ้น หอมเข้มข้น และติดทนนาน

“เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องปรุงน้ำหอมแบบโมเดิร์นจ๋า แต่เน้นทำให้เหมาะกับอากาศเมืองร้อน เพราะเราใส่ทั้งน้ำอบควันเทียน พิมเสน ใบเนียมหอม ซึ่งฉีดไปแล้วจะสดชื่น” เขาย้ำ

 

ตีความฤดูกาลเป็นกลิ่นหอม

ก่อนเปิดตัวน้ำหอมคอลเลกชั่นแรกของแบรนด์ ตั้วมีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการพัฒนาธุรกิจบริการสร้างสรรค์ ที่จัดโดยศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) งานนั้นเขาได้พัฒนาตั้งแต่ไอเดียของแบรนด์ที่แตกยอดออกมาจากน้ำอบปรุงเจ้าคุณ การวางคอนเซปต์ให้แต่ละกลิ่น การเล่าเรื่อง ไปจนถึงการดีไซน์รูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์

ตอนนั้นปัญหาหลักของการปรับแบรนด์น้ำปรุงให้ดูโมเดิร์นคือ คนส่วนใหญ่ยังติดภาพของน้ำปรุงว่าต้องใช้สำหรับศาสนาและไม่ได้เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน

“คนไทยยังมีมุมมองว่าน้ำปรุงเป็นของที่ใช้ในทางศาสนาเพราะการไหว้พระจะนิยมใช้สิ่งที่มีกลิ่นหอม ส่วนเรารู้สึกว่าครอบครัวเราทำน้ำปรุงมา 90 กว่าปีแล้ว เราน่าจะเปลี่ยนบางอย่างได้เพื่อพัฒนาขึ้นไปอีก

“เพราะอย่างนี้เราเลยตัดสินใจจะสร้างแบรนด์ใหม่ให้แหวกไปจากน้ำอบปรุงเจ้าคุณเลย เราเลยไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำน้ำหอม การเล่าเรื่อง เอาความรู้เรื่องการถ่ายภาพ ความชอบแต่งเพลง แต่งกลอน เอาความรู้ที่เรามีนี่แหละมาทำเป็นน้ำหอม โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพรบางตัวไว้เพื่อให้รู้ว่านี่คือกลิ่นของน้ำปรุงแบบไทยๆ”

siam1928

น้ำหอมคอลเลกชั่นแรกของ Siam1928 คลอดเมื่อต้นปี 2019 โดยมีคอนเซปต์เป็นกลิ่นในสามฤดูกาลของไทย

ขั้นแรก เขาเริ่มต้นจากการคิดถึงเรื่องราวที่อยากเล่า วางโทนกลิ่น เช่น โทนดอกไม้ โทนไม้ หรือโทนเครื่องเทศ และนึกไปถึงกลิ่นหอมที่พัดพามากับฤดูกาลต่างๆ เช่น กลิ่นหอมน้ำปรุงแบบไทยๆ ในช่วงสงกรานต์ กลิ่นดินกลิ่นฝนในช่วงเข้าพรรษา และกลิ่นลมหนาวที่พัดพาความหอมของพวงมาลัยดอกไม้เข้ามา

“กลิ่นแรกที่เราทำคือกลิ่นคิมหันต์หรือฤดูร้อน ได้แรงบันดาลมาจากกลิ่นน้ำอบน้ำปรุงในช่วงสงกรานต์ที่เราเข้าวัดสรงน้ำพระ กลิ่นจะคล้ายกับน้ำอบปรุงเจ้าคุณมากที่สุดเพราะเราต้องการให้ได้กลิ่นอายของน้ำปรุงแบบออริจินอล

“กลิ่นที่สองคือวสันต์หรือฤดูฝน ได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เราไปร่วมงานแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานีช่วงต้นฤดูฝน เราสังเกตว่าช่วงหลังฝนตกจะมีไอดินกลิ่นหญ้ากลิ่นไม้ลอยขึ้นมา เราเลยจดจำบรรยากาศนั้นมาสร้างเป็นกลิ่นที่สดชื่นเหมือนช่วงเวลาหลังฝนตก

“กลิ่นสุดท้ายคือกลิ่นเหมันต์หรือฤดูหนาว ตอนทำเรานึกถึงช่วงอากาศหนาวๆ ที่เชียงใหม่และเทศกาลประกวดร้อยมาลัย จำได้ว่าลมหนาวพัดเอากลิ่นหอมของดอกไม้ลอยฟุ้งไปทั่ว เราเลยปรุงกลิ่นหน้าหนาวออกมาในคอนเซปต์ winter breeze ที่ลมหนาวพัดพากลิ่นดอกไม้เข้ามา”

ส่วนแพ็กเกจของคอลเลกชั่นฤดูกาลได้แรงบันดาลใจมาจากการมองออกจากกรอบหน้าต่างไปยังนอกรั้ววังแล้วได้เห็นภาพคนเล่นน้ำสงกรานต์ เห็นการแห่เทียนพรรษา และเห็นคนร้อยมาลัยดอกไม้เป็นอุบะ หน้ากล่องน้ำหอมจึงพิมพ์เป็นลายเส้นสีทองตามภาพที่ต่างกันไปในแต่ละฤดู

siam1928

 

‘จันนาลัจ’ และ ‘รัสวิกา’ : กลิ่นหอมจากภาพท้องฟ้ายามราตรี

จากคอลเลกชั่นฤดูกาล ตั้วต่อยอดคอลเลกชั่นต่อมาด้วยการกลั่นกรองประสบการณ์ทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การเดินทาง ความชอบในนิทานตำนานปรัมปรา และความเจ้าบทเจ้ากลอนของตัวเอง มาผสมรวมกันเพื่อปรุงน้ำหอมที่ได้แรงบันดาลใจมากจากดวงจันทร์และดวงดาวยามค่ำคืน

“เราชอบถ่ายภาพ ความท้าทายที่สุดของช่างภาพอย่างเราคือ การออกไปถ่ายรูปดวงดาวและพระจันทร์ เราเลยทำน้ำหอมที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับพระจันทร์ โดยมีสองกลิ่นซึ่งสะท้อนช่วงคืนเดือนหงายที่พระจันทร์เต็มดวงและคืนเดือนมืดที่ทำให้เราเห็นดวงดาวทั่วท้องฟ้า”

siam1928

จันนาลัจ : คืนเดือนหงาย

“แสงเพียงหนึ่งผุดขึ้นจากผิวน้ำ ยามพลบค่ำผ่องผุดสุขสดใส

มวลดอกไม้ต่างเต้นรำสุนทรีย์ใจ อยู่ภายในอโนดาตวิลาวัณย์

แสงนวลอ่อนทอดไกลสุดขอบฟ้า เสน่หาต้องนลินไม้สวรรค์

ปทุมตูมกลีบแย้มบานอาบแสงจันทร์ ส่งกลิ่นพลันสู่ยอดเขาไกรลาสเอย”

นี่คือบทกวีที่ตั้วแต่งขึ้นเพื่อบรรยายเรื่องราวของกลิ่นน้ำหอมจันนาลัจ โดยพรรณนาถึงดอกบัวที่เบ่งบานตอนกลางคืน สะท้อนถึงความทรงจำในค่ำคืนที่พระจันทร์สุกสว่างเต็มดวง จนดอกบัวที่ปกติบานตอนกลางวันยังต้องแย้มบานในยามค่ำคืน

“น้ำหอมกลิ่นนี้จะมีกลิ่นดอกบัวเป็นหลัก โดยมีกลิ่นดอกไม้อื่นๆ ห้อมล้อมเพื่อชูให้กลิ่นดอกบัวเด่นขึ้น และมีกลิ่นพิมเสนและใบเนียมหอมซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของน้ำอบปรุง

“เราปรุงให้ช่วงแรกมีกลิ่นเขียวๆ เหมือนดอกบัวที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำ ตามมาด้วยกลิ่นส้มแมนดารินที่ให้ความรู้สึกสว่างไสวของผิวน้ำยามต้องแสงจันทร์ พอทิ้งไว้สักพักกลิ่นจะเปลี่ยนเข้าสู่กลิ่นที่เป็นหัวใจของน้ำหอม คือกลิ่นดอกบัวหลากหลายพันธุ์ที่บานเต็มที่ ประดับด้วยกลิ่นมะลิและกล้วยไม้ ส่วนกลิ่นท้ายสุดจะเป็นแซนดัลวู้ด เหมือนกลิ่นไม้ที่แวดล้อมรอบสระบัว”

แม้ดูเหมือนใช้วัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่าง แต่ตั้วเล่าว่ากว่าจะได้เป็นน้ำหอมสักกลิ่นต้องเกิดจากส่วนผสมของสารหอมมากกว่า 30-40 กลิ่น และต้องหมักบ่มไว้หลายเดือนเพื่อรอให้สารต่างๆ ทำปฏิกิริยากันจนกลิ่นน้ำหอมนั้นคงตัวมากที่สุด

รัสวิกา : คืนเดือนมืด

“ตะวันคล้อยลอยลับสุดขอบฟ้า สนธยามาเยือนแดนภูผา

ดวงดาราต่างยลโฉมบนธารา ท้องนภาสะกดดวงชีวี

แสงสกาวกระทบปีกระยับไหว บนแดนไพรกินรีมาลาศรี

รี่ลงสระอโนดาตกลางพงพี เหล่านารีเผยกายาพาต้องมนตร์”

สำหรับกลิ่นรัสวิกา ชายหนุ่มได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในวรรณคดีเกี่ยวกับนางกินรีที่สระอโนดาต ร่วมกับแรงบันดาลใจของภาพท้องฟ้าในคืนเดือนดับอันลึกลับ น่าค้นหา

“สำหรับน้ำหอมที่สะท้อนถึงจันทร์เดือนมืด เรานึกไปถึงเรื่องนางมโนห์ราซึ่งเป็นกินรี และจินตนาการว่านางเป็นเหมือนกลุ่มดาวบนเขาไกรลาสซึ่งสวยงาม เห็นแล้วสะกดคนให้มอง กลิ่นนี้เลยปรุงขึ้นจากเครื่องเทศและสมุนไพรตะวันออกเพื่อให้กลิ่นอบอุ่นและลึกลับ เหมือนกลิ่นผู้หญิงเอเชียที่น่าค้นหา

“รัสวิกาจะเปิดด้วยกลิ่นดอกส้มโทนสดใสเหมือนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวในคืนไร้จันทร์ แต่เพื่อความลึกลับของท้องฟ้า เราเลยใส่กลิ่นดอกไอริสที่มีความนุ่มลึกเป็นกลิ่นถัดมา ตามด้วยกลิ่นโทนไม้และเครื่องเทศอย่างอบเชยและพริกไทยสีชมพูเพื่อสร้างตัวตนของนางกินรีที่ดูลึกลับยามค่ำคืน และท้ายสุด เราสร้างกลิ่นฉากหลังที่เป็นท้องฟ้ายามค่ำคืนโดยใช้กลิ่นของอำพันและ patchouli หรือพิมเสน”

แม้แรงบันดาลใจของการสร้างกลิ่นจะมาจากตัวละครที่เป็นผู้หญิง แต่ตั้วก็ไม่ได้ยึดติดว่าน้ำหอมแต่ละกลิ่นจะต้องเป็นของผู้หญิงหรือผู้ชาย

“ถึงแม้น้ำหอมของเราจะตีความมาจากเรื่องนางกินรีซึ่งเป็นผู้หญิง แต่น้ำหอมของเราเป็น unisex เพศไหนจะใช้ก็ได้ เพราะเรามีความเชื่อส่วนตัวว่าน้ำหอมไม่มีเพศและไม่ควรมีใครมากำหนด แต่เราเชื่อว่าน้ำหอมคือสิ่งที่ช่วยแสดงตัวตนของคุณออกมาเพื่อเผยเสน่ห์และความงดงาม”

รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของน้ำหอมคอลเลกชั่นล่าสุดเป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะดีไซน์ทั้งน่ารักและเก๋ไก๋ ด้วยความวินเทจจากเซรามิกที่ดูละม้ายคล้ายขวดยานัตถุ์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรูปร่างของโถลายครามและนำมาพัฒนารูปทรงจนสามารถจับได้ถนัดมือ บวกกับการแต่งองค์ทรงเครื่องให้ขวดด้วยลวดลายที่มีสีสัน ดูทันสมัยมากขึ้น

 

ส่งต่อความเป็นไทยในทุกอณูของกลิ่นหอม

แม้ใครต่อใครจะพูดว่าหัวใจของการทำธุรกิจคือผลกำไร แต่สำหรับตั้ว หัวใจในการทำน้ำหอมของเขามากไปกว่านั้น นั่นคือการได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านกลิ่นหอมซึ่งทันสมัยจนเข้าใกล้หัวใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“แบรนด์ของเราเน้นเรื่องความร่วมสมัย แต่มีหัวใจคือการอนุรักษ์น้ำปรุง จะเห็นว่าน้ำหอมของเราไม่ได้โมเดิร์นจ๋า แต่เป็นความร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายความคลาสสิก เหมือนเอาอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาบรรจุรวมลงในขวดน้ำหอม ปลุกเร้าความทรงจำตั้งแต่อดีตให้กลับเข้ามาสู่ปัจจุบัน”

หัวใจอย่างที่สองของแบรนด์คือ การถ่ายทอด ‘การผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรม’  ซึ่งเป็นหัวใจของวัฒนธรรมไทย

“ความเป็นไทยสำหรับเราคือความเยอะที่เกิดจากการผสมกันหลากหลายวัฒนธรรม ความเป็นไทยคือการมิกซ์ แต่มีความประณีตละเอียดลออซ่อนอยู่ เราเลยเอาความเยอะของความเป็นไทยมาสร้างสรรค์น้ำหอม

“แรกๆ เวลาเราบอกว่าน้ำหอมของเรามาจากน้ำปรุง คนไทยจะรู้สึกชะงัก แต่พอเราไปคุยกับคนต่างชาติ เขากลับรู้สึกประหลาดใจและทึ่งมาก มันเป็นความเป็นไทยแบบสมัยใหม่ คือความหลากหลาย ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยมันจะย่ำอยู่ที่เดิม”

ตั้วทิ้งท้ายอย่างหนักแน่น


ใครสนใจสามารถแวะไปทดลองดมกลิ่นและเลือกซื้อน้ำหอมของ Siam1928 ได้ที่ ร้าน Flower Pavilion โซนสุขสยาม ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM หรือทางเว็บไซต์ siam1928.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่