Chupaletas: ไอศครีมสไตล์เม็กซิกันแบบแท่งที่อัดแน่นด้วยผลไม้แท้ๆ และความสุขเน้นๆ

Highlights

  • Chupaletas คือไอศครีมโฮมเมดสไตล์เม็กซิกันในเชียงใหม่ ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถทานได้ทุกเพศทุกวัย
  • 'คัง–คุณาณัฐ นำประเสริฐ’ และ ’ก้อย–พัชราภรณ์ ฟองเงิน คนรักไอศครีมสองคนที่ทำไอศครีมด้วยความรักและออกมาเป็นไอศครีมที่รักทุกคนเพราะว่าทุกคนกินได้
  • พวกเขาไม่อยากให้ไอศครีมหนึ่งแท่งเป็นรสชาติใดเพียงรสชาติเดียว อยากให้ลูกค้าเจอเปรี้ยว กัดมาแล้วเจอหวาน เคี้ยวแล้วเจอนั่นเจอนี่

คุณกินไอศครีมแบบแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ถ้าไม่นับไอศครีมโบราณแบบตัด เราแทบจะนึกไม่ออกว่าได้จับแท่งไม้ของไอศครีมล่าสุดเมื่อไหร่

จะดีมั้ยถ้ามีไอศครีมแท่งโฮมเมดดีๆ สักแบรนด์ที่อร่อยจนเราอยากกินบ่อยๆ ที่สำคัญคือกินแล้วไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะใช้แต่ของคุณภาพดี สดใหม่ และไม่ใส่สารสังเคราะห์ ไอศครีมแบบนั้นน่าจะเป็นไอศครีมในอุดมคติที่ใครหลายคนใฝ่ฝันหา

เราขอแนะนำให้คุณรู้จักไอศครีมโฮมเมดสไตล์เม็กซิกันที่ปราศจากการปรุงแต่งกลิ่นสีใดๆ แบรนด์ Chupaletas ที่หลายคนร่ำลือและบอกต่อเป็นเสียงเดียวกันว่าแค่กัดลงไปคำแรก ก็รู้เลยว่านี่คือไอศครีมที่ตามหามานาน

คัง–คุณาณัฐ นำประเสิรฐ และ ก้อย–พัชราภรณ์ ฟองเงิน คือสองเจ้าของแบรนด์ผู้รักในการทำไอศครีมผลไม้ คังและก้อยตั้งใจทำไอศครีมแท่งสไตล์เม็กซิกันบนพื้นฐานความใส่ใจในวัตถุดิบ โดยจะไม่ใช้สารสังเคราะห์ใดๆ เพราะอยากให้คนได้กินไอศครีมที่มีสัมผัสจากผลไม้แท้ตามฤดูกาล และใช้วัตุดิบจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบไม่แต่งสี ไม่เจือกลิ่น ไม่ใส่นมผง

Chupaletas เป็นคำศัพท์ภาษาสเปนที่เกิดจากการผสมศัพท์สองคำเข้าด้วยกัน คือคำว่าchupa’ ที่หมายถึงลักษณะการกินหรือการดูดขนมหวาน กับคำว่าpaletas’ ที่หมายถึงของหวานลักษณะแท่ง เช่น ไอศครีมหรือลูกกวาดเป็นแท่ง Chupaletas จึงหมายถึงการกินไอศครีมนั่นเอง

คังมีประสบการณ์ด้านงานครัวมาโดยตรง และลองจับงานหลายอย่างทั้งการเป็นพ่อครัวตามโรงแรม เป็นบาริสต้าตามร้านกาแฟ และได้มีโอกาสเป็นพ่อครัวประจำตัวท่านทูตที่เม็กซิโก เขาจึงได้เก็บเกี่ยวเรื่องการทำอาหารเม็กซิกันทั้งคาวหวาน รวมถึงได้ชิมไอศครีมสไตล์เม็กซิกันที่นิยมใช้ผลไม้สดมาทำ คังจึงเก็บประสบการณ์ตรงนี้มาเป็นไอเดียต่อยอดเป็นแบรนด์ไอศครีมของตัวเองเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย

ส่วนก้อยทำงานสายการศึกษามาตลอด และได้ผันตัวมาทำแบรนด์กับคังอย่างเต็มตัวในฐานะผู้ก่อตั้งร่วมของ Chupaletas ทั้งคู่ช่วยกันปรับปรุงสูตรไอศครีมเม็กซิกันให้เข้ากับลิ้นคนไทยมากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งเสน่ห์ของรสธรรมชาติของวัตถุดิบ  ที่กัดไปแล้วเจอหวานเจอเปรี้ยว เจอนั่นเจอนี่ในทุกๆ คำที่กัด

ไอศครีม Chupaletas จึงเป็นของหวานลูกครึ่งสัญชาติไทยเม็กซิกัน เป็นไอศครีมที่ไม่ปรุงแต่งมากเกินไปจนเสียความเป็นเอกลักษณ์แบบเม็กซิกัน มีการคัดเลือกพันธุ์ผลไม้ไทยที่สามารถไปปรับให้ได้รสชาติใกล้เคียงกับไอศครีมสไตล์เม็กซิกันดั้งเดิม ในขณะเดียวกันก็มีการคิดรสชาติใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เพื่อเอาใจคนไทยโดยเฉพาะ เช่น รสสับปะรดพริกเกลือ ที่มีทั้งรสหวาน เค็ม เผ็ด กลมกล่อมแบบที่คนไทยชื่นชอบ

กว่าจะได้เป็นไอศครีมหวานเย็นแสนอร่อยรสผลไม้ฉ่ำๆ ที่ใครๆ ต่างก็ร่ำลือ เราขอพาไปฟังคังและก้อยเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์นี้กันหน่อย ว่าพวกเขามีวิธีคิดในการสร้างแบรนด์ สร้างสรรค์รสชาติ และต่อยอดธุรกิจยังไง

หลงรักเมื่อแรกพบ

คังเล่าว่าไอเดียแรกเริ่มของการทำธุรกิจไอศครีมสไตล์เม็กซิกันเกิดมาจากการปิ๊งรักเมื่อแรกพบระหว่างตัวเขาและไอศรีมหวานเย็นแบบแท่งที่พบเจอในเม็กซิโก จุดเด่นที่ทำให้คังสะดุดตาและสะดุดใจไอศครีมหวานเย็นในต่างแดนคือความสวยงามของการเล่นสีสันแปลกตา โดยการดึงวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่มาทำเป็นไอศครีม

พอได้เห็นแล้วว่าไอศครีมบ้านเขาใช้วัตถุหลักเป็นผลไม้ซึ่งส่วนใหญ่ก็เหมือนของบ้านเรา เช่น มะละกอ แอปเปิล ลิ้นจี่ อะโวคาโด หรือสับปะรด เมืองไทยก็หาได้แทบจะใกล้เคียงกันเลย เลยคิดว่าถ้ากลับมาเมืองไทยจะเอาไอเดียนี้กลับมาใช้กับธุรกิจของตัวเองดู

หลังจากที่คังหอบเอาไอเดียข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาเมืองไทย เขากับก้อยจึงตัดสินใจว่าจะทำเป็นไอศครีมแท่งแบบเม็กซิกันขายเท่านั้น ไม่ใช่ไอศครีมแบบก้อนที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างไอศครีมเจลาโต้หรือไอศครีมสไตล์อเมริกัน

Chupaletas จึงปักหมุดการเป็นไอศครีมแท่งสไตล์เม็กซิกันเจ้าแรกในเชียงใหม่และในประเทศไทยด้วย

ก้อยเสริมว่าบางครั้งคนยังติดภาพไอศครีมเราเป็นไอศครีมโบราณ เพราะเหมือนเป็นแท่งไอศครีมตัด เราอยากจะลบภาพนั้นไป เพราะนี่คือไอศครีมแท่งจริงๆ และมันมีเสน่ห์ในตัวเอง ทั้งในรูปลักษณ์ การเล่นสีจากธรรมชาติ และการดึงวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใส่ เช่น พริก และผลไม้ต่างๆ

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ก้อยเล่าให้ฟังว่าเริ่มธุรกิจด้วยลักษณะการฝากขายในร้านสลัด จากนั้นจึงเริ่มเดินสายออกงานอีเวนต์ และงานประจำปีต่างๆ ของเชียงใหม่ เหมือนเป็นการทดลองจับตลาดลูกค้า พอกลุ่มลูกค้าขยายใหญ่ขึ้น จึงเปิดหน้าร้านเล็กๆ ที่เชียงใหม่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถแวะเวียนมาซื้อมาชิมถึงที่ได้ ทุกวันนี้ Chupaletas มีกำลังผลิตประมาณวันละ 500 แท่งต่อวัน

คิดสูตรไอศครีมที่ดีต่อใจและอร่อยลิ้น

แม้คังมีพื้นฐานงานครัวมาบ้าง แต่เขาบอกกับเราว่าไม่เคยจับงานที่เกี่ยวกับไอศครีมแบบจริงๆ จังๆ มาก่อน จะมีก็แต่อาศัยครูพักลักจำจากหนังสือทำไอศรีมว่าต้องใช้วัตถุดิบแบบไหน ใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ แต่เพิ่งจะได้เริ่มทำไอศครีมภาคปฏิบัติตอนที่ทำ Chupaletas นี่แหละ

ส่วนก้อยเป็นสายตะลุยกินที่ชอบลิ้มลองอาหารรสชาติหลากหลาย ทั้งคู่มีมาตรฐานของรสชาติอร่อยใกล้เคียงกัน จึงช่วยกันคิดสูตรไอศครีมแท่งเพื่อให้ได้รสชาติที่เยี่ยมยอดและดีต่อใจผู้บริโภค

รสชาติหลักของ Chupaletas มียืนพื้น 16 รสชาติ ส่วนการคิดรสชาติใหม่ๆ จะอิงจากผลไม้ที่มีในฤดูกาลนั้นๆ

การคิดรสใหม่ๆ เราจะเลือกจากวัตถุดิบในฤดูกาลนั้นๆ บางทีรสชาติหลักที่เราทำ บางฤดูกาลผลไม้พันธุ์ที่เราใช้ขาดตลาด ก็จะไม่มีรสนั้น การคิดค้นรสชาติต่างๆ ก็มาจากผลไม้ตามฤดูกาล และทำรสชาติที่เราชอบ ที่อยากให้เป็น อย่างฤดูที่ลิ้นจี่ออก เราก็ทำรสลิ้นจี่ที่มีกุหลาบผสมลงไปด้วย เพื่อให้มีความน่าสนใจก้อยอธิบาย

ส่วนคังก็งัดเอาประสบการณ์การทัวร์ชิมอาหารจากเมืองนั้นเมืองนี้มาทดลองทำเป็นไอศครีมรสชาติใหม่ๆ

พอเราได้เห็นวัตถุดิบจากต่างถิ่น เราก็เริ่มเกิดไอเดียแล้วว่าวัตถุดิบนี้น่าดัดแปลงมาใช้กับวัตถุดิบในเมืองไทยได้ยังไง ถึงบางตัวหาไม่ได้ในเมืองไทย แต่เราก็นำวัตถุดิบที่ใกล้เคียงมาใช้ได้ แล้วลองดัดแปลงรสชาติให้เป็นสไตล์แบบของเรา

คังยกตัวอย่างเรื่องการคิดค้นสูตรไอศครีมโฮจิฉะงาม้อน โดยสั่งวัตถุดิบชาเขียวโฮจิฉะมาจากญี่ปุ่น เพราะรสชาติเข้มข้นเหมาะกับการทำไอศครีมอยู่แล้ว จากนั้นก็คิดว่าน่าจะลองใส่งาขี้ม้อนหรืองาดอยลงไปแทนงาดำ ผลปรากฏว่ารสชาติออกมาเข้ากันมาก การหยิบเอาไอเดียของญี่ปุ่นมาผสมกับธัญพืชพื้นเมืองของเชียงใหม่ จนออกมาเป็นไอศครีมชาเขียวงาขี้ม้อนที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว

ส่วนการเลือกวัตถุดิบ ทั้งคู่จะใส่ใจเป็นพิเศษและมีการปรับสูตรอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่เยี่ยมยอด

ด้วยมุมมองของไอศครีมแท่งที่มักจะถูกตีกรอบมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ไอศครีมแท่งคือไอศครีมโบราณ คือไอศครีมที่แต่งสี แต่งกลิ่น ใส่นมผง เป็นไอศครีมที่ไม่ได้ใช้ของสด พอภาพจำเป็นแบบนี้เราก็อยากจะตีภาพออกมาใหม่ว่าไอศครีมแท่งไม่ได้มีแบบนั้นแบบเดียวนะเว้ย แต่เรามีไอศครีมแท่งที่ทำจากธรรมชาติด้วย มีความใส่ใจในวัตถุดิบ เราอยากสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าคิดว่า ไอศครีมที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นไอศครีมแบบก้อนอย่างเดียว แต่ไอศครีมแท่งก็เป็นไอศครีมที่ดีได้ เป็นไอศครีมที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยได้คังเล่า

ทั้งคู่ใช้ห้องครัวเป็นห้องทดลองสูตรไอศครีมอยู่เสมอ ส่วนที่บอกว่ามีการปรับสูตรอยู่ตลอด ก้อยอธิบายว่า

สูตรไอศครีมเราปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งใหม่ๆ หรือความรู้ใหม่ๆ ที่เราพบเห็น สูตรอัตราส่วนทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างช่วงหลังๆ เรามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของน้ำในการทำไอศครีม คือรสชาติที่เป็นซอร์เบต์ เราลองเปลี่ยนมาใช้น้ำแร่ เพราะว่าน้ำแร่ทำให้รสชาติของผลไม้ดีขึ้น อร่อยขึ้น สดขึ้น อย่างนมที่ใช้เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นนมวัวออร์แกนิก เพราะเรารู้สึกว่านมออร์แกนิกจะให้รสชาติที่ดีกว่านมวัวปกติ เหมือนมันชูให้รสชาติไอศครีมเข้มข้นหอมมันมากขึ้น ทุกอย่างก็มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดนิ่งว่ารสชาตินี้นะเราเบรกสูตรไว้แค่ตรงนี้

หรืออย่างเช่นไอศครีมรสชาติพื้นฐานอย่างสตรอว์เบอร์รี ฤดูกาลไหนที่ไปเจอพันธุ์ที่รสชาติดีกว่า ก็จะเปลี่ยนไปใช้พันธุ์นั้นแทน การคิดสูตรไอศครีมจึงไม่มีอะไรตายตัว แต่คือการทดลองและปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เหมือนเราค่อยๆ ตะล่อมให้มันไปในทิศทางของมัน ให้ค่อยๆ แหลมคมขึ้น และมุ่งตรงไปในทางที่เราวาดไว้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าได้กินไอศครีมที่ดีจริงๆ ต่อไปเรื่อยๆคังรวบยอดให้ฟังถึงสาเหตุที่ต้องปรับสูตรเรื่อยๆ

ส่วนราคาก็ตั้งตามต้นทุนและความยากง่ายของกระบวนการทำ ไอศครีมมีราคาตั้งแต่ 29, 39, 49 บาท คังบอกว่าส่วนใหญ่เขาเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น จึงสามารถควบคุมราคาต้นทุนได้ ทำให้สามารถตั้งราคาได้อย่างสมเหตุสมผลและมีหลายราคาจากต่ำไปสูง ให้คนที่มีกำลังซื้อไม่มากได้ทดลองกินดูก่อน ถ้าถูกใจก็ค่อยขยับไปชิมรสอื่นๆ ที่ราคาแพงขึ้น

ส่วนผลไม้ชนิดไหนที่อยู่นอกฤดูกาล ราคาจะดีดตัวสูงขึ้นมากอย่างเช่นทุเรียน ทั้งคู่ก็จะตัดใจไม่ทำรสชาตินั้นขาย เพราะไม่อยากผลักภาระไปให้ผู้บริโภคด้วยการขายไอศครีมที่แพงขึ้นสองหรือสามเท่า

วาดลวดลายหลายเลเยอร์บนไอศครีม

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไอศครีม Chupaletas คือมีหลายเลเยอร์ แต่ละเลเยอร์ก็มีรสชาติแตกต่างกันไป ก้อยอธิบายว่านี่เป็นเอกลักษณ์ของไอศครีมแบบเม็กซิกันที่มักเล่นลวดลายหลายสีสันรวมกันในไอศครีมแท่งเดียว

ในบางรสชาติที่มันเป็น tradition ของเม็กซิกัน อย่างเช่นสตรอว์เบอร์รีนม ก็จะทำ 2 รสชาติให้เล่นเป็นชั้นๆ แบบนี้อยู่แล้ว รสชาติอื่นก็คิดกันว่าอยากให้มันเป็นยังไง อย่างไอศครีมสามสี เราอยากให้มีทั้งตัวโยเกิร์ต สตรอว์เบอร์รี บูลเบอร์รีกับชีส ไม่อยากให้มันเป็นรสชาติรสใดรสนั้นอย่างเดียวในแท่ง อยากให้มีความสนุกในแท่งนั้นๆ อยากให้ลูกค้าเจอเปรี้ยว กัดมาแล้วเจอหวาน เคี้ยวแล้วเจอนั้นเจอนี่ มีทั้งรสชาติที่เราคิดกันขึ้นมาใหม่และมีรสชาติดั้งเดิมแบบที่ไอศครีมเม็กซิกันมี

คังเสริมเรื่องการเล่นลวดลายว่ากว่าจะทำได้แต่ละแท่ง ต้องกรอกแต่ละรสชาติลงในพิมพ์ไอศครีม แล้วค่อยๆ เทซ้อนเป็นชั้นให้ได้หลากหลายสีตามต้องการ

ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นแท่งๆ เราก็สามารถหาความสนุกในตัวแท่งของไอศครีมได้ คือเราสามารถใส่อะไรได้เต็มที่ เล่นกับไอศครีมแท่งหนึ่งได้เต็มที่ อย่างรสสตรอว์เบอร์รีนม เราจะทำแค่สามชั้นก็ทำได้ แต่เราอยากให้มันซ้อนกันหลายๆ ชั้น ให้มีเลเยอร์ ให้มีความแตกต่างของแต่ละแท่งที่ไม่เหมือนกัน

อย่างรสชีส เราไม่ได้คิดเป็นชีสรสเดียว แต่เราทำสามรสชาติในแท่งเดียวกันเลย และไม่ได้มีแค่ชีสอย่างเดียว แต่ใส่เนื้อผลไม้อบแห้งเข้าไป และใส่แครกเกอร์เพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสด้วย คือเราจะไม่จบด้วยไอเดียแค่ราบๆ อย่างเดียว แต่มีการต่อยอดไอเดียไปเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องของความแปลกใหม่ที่เราอยากจะสร้างให้กับไอศครีมแท่ง คือเราจะคอยคิดเสมอว่าเราจะเซอร์ไพรส์ยังไงในแท่งเดียว อยากให้คนกินแล้วร้อง เฮ้ย ว่าเจออะไรในแท่งนั้น เราอยากให้เขามีความสนุกกับการกินไอศครีม

อย่างรสชาติของ Key Lime Pie เราจะมีลูกเล่นเข้ามา คือเป็นชั้นของนม มะนาว และมีแครกเกอร์ด้วย เราสามารถสร้างความสนุกในแต่ละแท่งได้ มันเหมือนเป็นงานคราฟต์ที่ต้องทำทีละชิ้นทีละอัน แล้วก็จะมีรสชาติอื่นด้วยที่เราต้องทำมือ ต้องแปะถั่ว แปะลูกเกด หรือตีลวดลาย ซึ่งลูกค้าที่ได้ไอศครีมไปแต่ละแท่ง ลายจะไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะเราตีลายด้วยมือเราเองแต่ละอันเลย มันจึงเป็นงานฝีมือด้วย

แบรนด์ไอศครีมที่หยั่งรากแก้วแบบต้นสน

ในช่วง 4-5 ปีแรกที่ธุรกิจเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ คังและก้อยรู้สึกว่าทุกอย่างเริ่มประเดประดังเข้ามาหา ทั้งโอกาสและความสับสนในใจ ทั้งโอกาสในการขายแฟรนไชส์ มีคนขอเป็นตัวแทนจำหน่าย การส่งขายหน้าร้าน ทุกสิ่งที่วิ่งเข้าหาทำให้พวกเขาเริ่มเหนื่อยและรู้สึกก้ำกึ่งว่านี่คือวิกฤตหรือโอกาสกันแน่ ทั้งโอกาสที่อยากทำให้ธุรกิจโตได้ไวๆ และความลังเลว่าควรจะขยายธุรกิจออกไปในทิศทางไหน

พอมาช่วงประมาณเข้าปีที่ 6-7 เราต้องเริ่มหาคำตอบให้ตัวเองแล้วว่าเราจะเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือเปล่า เราจะต้องวิ่ง เหนื่อย เพื่อให้ทุกคนเข้ามาหาเราจริงๆ หรือเปล่า เผอิญได้ไปเห็นหนังสือเกี่ยวกับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน แล้วการทำธุรกิจแบบยั่งยืนคืออะไร ทำไมเขาถึงสามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการวางรากฐานทางธุรกิจได้ ซึ่งดีกว่าที่จะคว้าทุกอย่างไว้ พอได้อ่านแล้วรู้สึกว่านี่เป็นเหมือนแสงสว่าง เหมือนได้ปลดล็อกในใจ

คังเล่าเสริมว่าโมเดลการทำธุรกิจมีอยู่หลักๆ 2 แบบ คือ ธุรกิจแบบต้นไผ่และธุรกิจแบบต้นสน

ธุรกิจแบบต้นไผ่ คือการมองธุรกิจในลักษณะของการพุ่งด้วยความรวดเร็ว โตไวเหมือนต้นไผ่ พุ่งไปทางตรงโดยการเน้นการมองรายได้เป็นหลัก

ในขณะที่ธุรกิจแบบต้นสน คือค่อยๆ ฝังรากลึกลงไปในดิน แล้วค่อยแตกกิ่งก้านสาขาให้ไปทิศทางที่มันยั่งยืนด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งนี่คือแนวทางที่คังและก้อยเลือกใช้ในการสร้างแบรนด์ Chupaletas พวกเขามาตกผลึกในช่วงปีหลังๆ ว่าความยั่งยืนของธุรกิจนี่แหละที่เป็นความสุขที่มองหา

เราจะวางรากฐานจากกลุ่มลูกค้า ว่าจะทำให้ลูกค้าประทับใจได้ยังไง เราอยากจะมีความสุขโดยที่ได้พูดคุยกับลูกค้าทุกวัน ได้มองหน้าลูกค้า ได้ยิ้ม ได้ขอบคุณเขา แล้วคิดต่อไปถึงว่าคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ซัพพลายเออร์ รวมถึงพนักงานในอนาคตของเรา ว่าจะทำให้เขามีความสุขอย่างไร ไปจนถึงการตอบโจทย์ว่าจะทำยังไงให้สังคมมีความสุข และช่วยรักษาโลกไปด้วย เช่น การลดใช้พลาสติกให้มากที่สุด ช่วงปีหลังๆ เราเลยมีแนวทางของเราแล้วว่าจะวิ่งไปทางไหน ซึ่งนั่นก็คือธุรกิจแบบยั่งยืนที่เราวางแผนไว้คังขยาย

ในแง่ของการทำธุรกิจ ทั้งคังและก้อยมองว่าลูกค้าคือ ‘เพื่อนที่ค่อยๆ สร้างความสนิทสนมผ่านแท่งไอศครีมสีหวาน เมื่อลูกค้ายังกลับมากินและชวนคนอื่นมากินไอศครีมของพวกเขา ก็เท่ากับว่าลูกค้าได้ช่วยสร้างกลุ่มเพื่อนผู้รักไอศครีมขึ้นมา

ลูกค้าบางกลุ่มมาเจอเราแค่ปีละครั้ง เขาก็จะไม่ได้แค่ซื้อแล้วกลับไป แต่เขาก็จะมาชวนเราคุย คุณขายดีไหม โอเคไหม สนุกไหม เราได้คุยกัน ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก้อยเล่าไปยิ้มไป

ทุกวันนี้ทั้งคู่กล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเขาเป็นคนขายไอศครีมที่มีความสุข นอกจากการทำครัวที่คังหลงใหลเป็นทุนเดิม การออกไปพบเจอลูกค้าและได้รอยยิ้มกลับมาในทุกๆ วันคือความอิ่มใจซึ่งเป็นเหมือนส่วนผสมพิเศษที่เติมเต็มชีวิตของคนทำไอศครีมอย่างคังและก้อย

ก้อยเล่าว่าความสุขของการทำธุรกิจคือเหมือนได้ย้อนเวลาให้ทุกคนได้กลับไปสู่วัยเยาว์อีกครั้ง ที่ไม่ว่าใครก็กินไอศครีมได้อย่างมีความสุข

เวลาเจอลูกค้ากลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่ เขาจะบอกว่าชอบทานไอศครีมของเรา เพราะปกติจะไม่ทานไอศครีมเลยด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ได้ยินอย่างนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเราไปเปลี่ยนโลกเขา เป็นอีกมุมที่ได้เติมพลังใจให้เรา เพราะเหมือนเราไปปลดล็อกกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ ได้ดึงพวกเขากลับไปในสมัยเด็กๆ ที่ใครก็กินไอศครีมได้ เพราะเราไม่ได้แต่งสีแต่งกลิ่น ไม่ได้ทำให้หวานจัด ทำให้ใครๆ ก็ทานไอศครีมเราได้แบบไม่ต้องกังวลใจ

ส่วนความสุขของคังคือรอยยิ้มและคำขอบคุณที่ต่างคนต่างมอบให้กันผ่านแท่งไอศครีม

ความสุขของเราคือเวลาที่ได้ทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เพื่อให้คนอีกคนได้รับสิ่งนั้นไปแล้วเขาให้ความสุขกลับมาหาเรา เรารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก เหมือนเป็นพลังให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวัน การที่เราได้ทำให้คนหนึ่งมียิ้มความสุข แค่ได้ยินคำที่ลูกค้าขอบคุณเรา มันเหมือนได้ฟื้นพลังมา รอยยิ้มและคำขอบคุณมันทำให้เรารู้สึกปลาบปลื้มในใจ แค่นี้แหละที่เรากำลังวิ่งหาอยู่ ความสุขที่เราวิ่งหามาตลอด 6-7 ปี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว