‘๑๐๐๐ MALAI’ แบรนด์มาลัยดีไซน์สดใหม่ที่บรรจงร้อยด้วยทุกส่วนของ ‘รัก’

Highlights

  • ๑๐๐๐ MALAI เป็นแบรนด์ลูกของ PHKA ที่หมายยกระดับคุณค่าและมูลค่าของพวงมาลัย ผ่านการดีไซน์ร่วมสมัย ใช้วัสดุร่วมที่โมเดิร์น ต่อยอดลวดลายและสีสันฉีกกฎเก่า แต่ยังยึดในเทคนิคงานฝีมืออันวิจิตรแพรวพราว
  • มาลัยดอกรักคือคอลเลกชั่นที่ปล่อยออกมาในเดือนสิงหาคม ตรงกับช่วงวันแม่แห่งชาติ ทุกส่วนของดอกรักมีความคงทน สามารถนำมาใช้ในการร้อยเป็นส่วนต่างๆ ของมาลัยได้ 
  • ผืนผ้าถูกนำมาแทนดอกไม้สด ทั้งใช้เป็นส่วนตัวมาลัย ใช้เป็นอุบะ และใช้ทั้งผืนม้วนเป็นมาลัยหนึ่งพวง เป็นมาลัยที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้

คุณให้ค่ามาลัยหนึ่งพวงอยู่ที่เท่าไร?

10 บาท 20 บาท พวงใหญ่ขึ้นหน่อย ใช้ดอกไม้มากหน่อย ร้อยยากขึ้นอีกหน่อย ราคาก็ขยับขึ้นไปอีกนิด ใช่ แค่อีกนิด ซึ่งไม่ถือว่ามาก   

สำหรับ ‘๑๐๐๐ MALAI’ งานมาลัยมี ‘คุณค่า’ และมี ‘มูลค่า’ มากกว่านั้น การร้อยมาลัยเป็นงานช่างฝีมือ คืองานศิลปะ เป็นวิชาชีพที่ต้องบ่มเพาะความรู้ ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ พวกเขาจึงหมายยกระดับมาลัยให้มากค่าสมกับที่มีคุณค่า ผ่านการดีไซน์สู่มาลัยร่วมสมัย หยิบจับวัสดุที่ไม่น่าเข้าพวกมาใช้ได้อย่างเข้าพวก ต่อยอดลวดลายและสีสันอันฉีกจากกฎเก่าแต่ไม่ถึงขั้นล้มขนบ ขณะเดียวกันก็ยังยึดในเทคนิคงานฝีมืออันวิจิตรแพรวพราว 

๑๐๐๐ MALAI เป็นแบรนด์ลูกของ PHKA (ผกา–สตูดิโอออกแบบดอกไม้ที่โดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และฟังก์ชั่นของดอกไม้) ประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่สนใจศาสตร์แห่งดอกไม้ มี ปอป้อนิชดา ด้วงวงศ์ศรี เป็นเมเนเจอร์ผู้ดูแลภาพรวมของแบรนด์ น้อยหน่า–รมย์รวินท์ พิพัฒน์นัดดา เป็นดีไซเนอร์ผู้ออกแบบมาลัยในแต่ละคอลเลกชั่น ชุ–ชุติมา ตั่งสินชัย และ บอส–เจริญกิจ ชินกระจ่างกิจ รับหน้าที่ฟลอริสต์หรือนักจัด (ร้อย) ดอกไม้

ทุกคนในทีมร่วมวงสนทนาอย่างพร้อมหน้า เพื่อช่วยกันร้อยเรียงเรื่องราวของ ๑๐๐๐ MALAI 

๑๐๐๐ พวงมาลัย ๑๐๐๐ รูปแบบที่เป็นไปได้

นอกจากเหตุผลหลักข้างต้น ปอป้อได้เล่าเพิ่มเติมถึงที่มาของแบรนด์น้องใหม่ใต้ร่ม PHKA ในแง่ธุรกิจว่า

“เราทำ PHKA มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเน้นไปทางอีเวนต์ต่างๆ งานมงคล งานแต่งงาน หรือสเปซชั่วคราว อย่างงานแต่งงาน เราทำงานดอกไม้ทั้งงาน ซึ่งรวมของชิ้นเล็กๆ ด้วย เช่น ช่อดอกไม้ พวงมาลัยบ่าวสาว พอ PHKA เริ่มติดตลาด งานดอกไม้ชิ้นเล็กเหล่านี้เป็นที่ต้องการมากขึ้น ลูกค้าสนใจสไตล์ของเราด้วย อย่างมาลัยที่มีขายในท้องตลาดทั่วไปมีความ traditional อยู่มาก แต่ PHKA ฉีกมาทางดีไซน์ ทวิสต์ให้มีลูกเล่น จึงเกิดความน่าสนใจตรงนี้”

๑๐๐๐ MALAI เน้นงานดอกไม้ไทย เปิดตัวด้วยพวงมาลัย ซึ่งเป็นสินค้าลำดับแรกที่ต้องตามชื่อแบรนด์

“ที่เริ่มด้วยมาลัย เพราะมาลัยเป็นสัญลักษณ์ในหลายความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเคารพ ความเป็นมงคล หรือใช้ในโอกาสสำคัญ ชื่อแบรนด์มาจากสโลแกนของเราคือ ๑๐๐๐ MALAI, 1,000 POSSIBILITIES เพราะเรามองว่างานดอกไม้ไทยสามารถพัฒนาไปได้หลายรูปแบบ ด้วยการใส่ไอเดียและดีไซน์ลงไป ที่ผ่านมาเราอาจมองว่างานฝีมือก็เรื่องหนึ่ง งานดีไซน์ก็เรื่องหนึ่ง ถูกแยกเป็น 2 โลก แต่เราอยากให้ ๑๐๐๐ MALAI เชื่อมโยงระหว่าง 2 โลกให้มาเจอกันตรงกลาง มองความสวยตรงกันได้”

ปอป้อและน้อยหน่าเรียนด้านการออกแบบมาโดยตรงจากสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ ขณะที่ชุและบอส สองฟลอริสต์ ร่ำเรียนหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ (โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต) ซึ่งเป็นความรู้ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ชุเปิดใจว่าการยอมรับดีไซน์ใหม่ๆ ในแรกเริ่มนั้นออกจะเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ

“อยู่ดีๆ จะมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเรียนมาตั้ง 4 ปีได้ยังไง” หญิงสาวหัวเราะ “เราเห็นอะไรเดิมๆ มาตลอด มาลัยสัดส่วนต้องเท่านี้ อุบะต้องร้อยแบบนี้ ทุกอย่างมีหลักการ อยู่ในตำรา แต่พอได้ทำงานร่วมกันกับฝ่ายดีไซน์ เราจึงค่อยๆ เปิดรับว่าอะไรต่างๆ สามารถพัฒนาได้ สิ่งเดิมที่เราเห็นอาจมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ถ้าเรามองแต่สิ่งเดิมต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะมองเห็นอยู่แค่นี้”

สิ่งใหม่ใดบ้างที่ผ่านการดีไซน์ สร้างสรรค์ และเป็นไปได้ในรูปธรรม ปอป้อยกตัวอย่างคอลเลกชั่นสงกรานต์ที่ผ่านมา

“ในคอลเลกชั่นนั้น ปอป้อกับน้อยหน่าคิดโครงคร่าวๆ ว่าจะใช้ดอกไม้ไทยที่มีสีสันฉูดฉาด เป็นดอกไม้ที่หาได้ทั่วไป ใช้สำหรับร้อยพวงมาลัยกันอยู่แล้ว แต่เรานำสีของดอกไม้มาเล่นให้แปลกตา เพราะคนมักติดภาพพวงมาลัยทั่วไปที่เป็นสีเรียบๆ สีขาว สีอ่อน แต่เราเอาสีของดอกไม้มาเล่น เช่น กล้วยไม้หวาย จำปาสีส้ม บานไม่รู้โรยสีม่วงและสีขาว เราเลือกดอกไม้ที่คงทน แล้วเพิ่มวัสดุที่ให้ภาพโมเดิร์นมากขึ้น เช่น ก้อนอะคริลิกหรือแผ่นทองเหลือง”

“แต่ยังไงเราก็ต้องมีฟลอริสต์ ต้องทำงานด้วยกันตลอด เพราะเทคนิคการร้อยมาลัยเป็นวิชาเฉพาะ เช่น การกรองดอกไม้ (การแยกชิ้นส่วนดอกไม้แล้วนำกลับมาร้อย) การทำฟอร์มดอกไม้ให้ค่อยๆ เล็กลงด้วยการรีไซซ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีมาดั้งเดิม”

อย่างไรก็ตาม มีอยู่บางสิ่งอย่างที่ฝั่งฟลอริสต์ขอไว้ ยอมเปลี่ยนให้ไม่ได้จริงๆ 

ตรงกลางของความรู้ ความเชื่อ และความงาม    

“องค์ประกอบของพวงมาลัยต้องครบ” ชุบอกชัดเจน มาลัยหนึ่งพวงต้องประกอบครบทั้ง 3 ส่วนคือ ตัวมาลัย อุบะ และรัดข้อ 

“เพราะเวลาร้อย เราร้อยตัวมาลัยและอุบะแยกกัน จากนั้นค่อยผูกอุบะเข้ากับตัวมาลัย ก็จะเห็นรอยต่อในส่วนที่ผูก ทำให้ดูไม่สวยงาม จึงต้องมีการร้อยรัดข้อขึ้นมา เอามารัด 2 ส่วนนี้อีกทีเพื่อซ่อนรอยต่อให้ดูเรียบร้อย” 

บอสเสริมว่า “ปกติแล้วการประกอบมาลัยเป็นพวง เราจะรัดตัวมาลัยกับอุบะก่อน แล้วประกอบรัดข้ออย่างที่พี่ชุเล่า แต่ของ ๑๐๐๐ MALAI เรามีแบบที่ใช้อะคริลิกเป็นส่วนรัดข้อ ซึ่งใช้วิธีร้อยไปในรู เราจึงต้องร้อยอะคริลิกเข้าไปก่อน แล้วประกอบขึ้นเป็นพวงทีเดียว” ซึ่งเทคนิคนี้ไม่มีสอนในห้องเรียน แต่เป็นการปรับไปตามดีไซน์ในสนามทำงานจริง

น้อยหน่ายกขึ้นมาอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีไซเนอร์อย่างเธอต้องระมัดระวังอย่างมาก นั่นคือความเชื่อที่แฝงมาในวัฒนธรรมดอกไม้ของไทย “อย่างอุบะก็ต้องเป็นเลขคี่ เป็นเลขคู่ไม่ได้เลย” น้อยหน่าบอก

“เรื่องนี้เพิ่งเกิดเมื่อวานเลย” ปอป้อเล่าเรื่อง “เราลองร้อยกันดู เป็นอุบะ 5 ชาย แล้วรู้สึกอ้วนไป เอ๊ะ เราเอาเหลือแค่ 4 ได้ไหม”

“ไม่ด๊าย!” ชุขึ้นเสียงสูงและหัวเราะตาม “เราเรียนมาว่าถ้าอุบะเลขคู่จะอัปมงคล เลขคี่จึงเป็นมงคล ถ้าสังเกตมาลัยทั่วไป เราจะเห็นอุบะเป็นเลขคี่ทั้งนั้น 3 ชาย 5 ชาย” 

“เราเองเป็นห่วงผู้รับด้วย” บอสให้เหตุผล “ถ้าผู้รับเป็นผู้ใหญ่หรือโตมากับความเชื่อนี้ ถ้าเขาเห็นอุบะ 4 ชาย…”

“เขาคงโยนทิ้ง” ชุตบมุก เรียกเสียงหัวเราะร่วนอีกครั้ง

“ทุกครั้งที่ดีไซน์อะไรออกมา เราจึงต้องถามชุและบอสด้วยเสมอ สุดท้ายแล้วก็คือการคุยกันและเจอกันตรงกลาง เพื่อให้ได้ทั้งความงาม ให้ได้ทั้งความพึงพอใจแก่ผู้รับด้วย” น้อยหน่าสรุป 

มาลัยวันแม่ที่ใช้ทุกส่วนของ ‘รัก’

‘มาลัยดอกรัก’ คือคอลเลกชั่นล่าสุดที่ปล่อยออกมาในช่วงเดือนสิงหาคม ตรงกับช่วงวันแม่แห่งชาติ เอ…แต่ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่คือดอกมะลิไม่ใช่หรือ ทำไมจึงเลือกดอกรักมาเป็นดอกไม้หลัก เราตั้งคำถาม

น้อยหน่าเผยไอเดียนี้ว่า “พูดถึงวันแม่ ทุกคนจะนึกถึงดอกมะลิก็จริง แต่มะลิเป็นดอกที่ไม่ทน กลีบคล้ำและบอบช้ำง่ายมาก เราจึงมองไปถึงดอกอื่นๆ ที่น่าสนใจ จนมาสรุปที่ดอกรัก ทน และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เราตั้งใจใช้ดอกรักทุกส่วน ปกติที่เห็นเขาเอาดอกรักมาร้อยเป็นมาลัย เขาจะใช้ส่วนดอกสีขาว แต่ดอกรักมีเปลือกดอก (กลีบเลี้ยง) ที่ใช้ร้อยมาลัยได้ด้วย”

บอสหยิบรักดอกสมบูรณ์มาแกะตรงหน้าให้เห็นภาพ 

“เราจะแกะกลีบเลี้ยงส่วนที่เป็นสีเขียวออก แกะเป็นกลีบๆ จากนั้นพับแล้วร้อยในเทคนิคมาลัยกลม คือการร้อยวนไปจนครบ 8 กลีบ คือ 1 ชั้น ร้อยไปจนเต็มเข็มมาลัยเหมือนการใช้มะลิมาร้อย แต่การร้อยมะลิเราแค่เรียงดอกไปเรื่อยๆ ส่วนการใช้กลีบดอกรักมาร้อยมีหลายขั้นตอน เราต้องเด็ดกลีบเลี้ยงออก แยกกลีบดอก พับ ร้อยไปก็ต้องดูการสับหว่างของแต่ละชั้นไป”

พวงนี้มีชื่อว่า Elapsus ส่วนรัดข้อใช้ก้อนอะคริลิกวาวใส อุบะเป็นรักเต็มดอก ปล่อยยาวเท่ากันในทุกชาย

อีกชิ้นงานที่จับเอาทุกส่วนของดอกรักมาประกอบขึ้นเป็นมาลัยพวงประณีตคือ Malai in the Pocket มาลัยขนาดเล็กที่คนสมัยโบราณร้อยเป็นมาลัยชำร่วย กลีบขาวของดอกรักที่เรียงตัวเหมือนมงกุฎเรียกว่า ‘กะบังรอบ’ นำมาฉีกออก แล้วจับแต่ละเสี้ยวกลีบร้อยกลับเข้าไปใหม่ กลายเป็นมาลัยทรงกลมแบบสับหว่าง ขั้วดอกที่เหลือเอามาร้อยเป็นรัดข้อ ดอกเต็มและกลีบเลี้ยงใช้ตรงส่วนปลายอุบะต่อกับพู่สีน้ำตาลทอง

แม้จะชูดอกรักเป็นนางเอกในคอลเลกชั่นนี้ แต่ก็ยังมีมาลัยที่ใช้มะลิร้อย ทั้งมะลิจริงและมะลิปลอมที่ทำขึ้นจากกระดาษ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ในชื่อ Trio Array อะคริลิกใสใช้เป็นส่วนรัดข้อ พู่สีน้ำตาลเข้มไล่ชั้นเป็นอุบะทิ้งตัวสวย

“ด้วยเราต้องการใช้ดอกรักเป็นหลักจึงยึดที่สีเขียวของกลีบดอก แล้วจับคู่กับสีขาวของดอก เริ่มจาก 2 สีนี้แล้วค่อยๆ ทดลองกับคู่สีอื่นๆ” น้อยหน่าเล่าถึงการออกแบบคู่สี “ในการดีไซน์ สีมีความเซนซิทีฟมาก คู่สีที่เปลี่ยนเฉด ความรู้สึกก็เปลี่ยนแล้ว อย่างคอลเลกชั่นนี้มีสีหลักเป็นเขียวขาว ถ้ามีแต่สีอ่อนก็จะดูซีดไป จึงเพิ่มส่วนอุบะเป็นพู่สีน้ำตาลเข้ามาเพื่อช่วยให้สีสมบูรณ์ขึ้น”

พวง ผ้า ผืน ผูก ผม

ทุกคนในทีมย้ำว่าทุกรูปแบบพวงมาลัยของ ๑๐๐๐ MALAI ผ่านการคิดมาแล้วทุกจุด ใส่ใจแม้กระทั่งเมื่อของถึงมือลูกค้า 

“มาลัยดอกไม้สดทั่วไปแห้งแล้วก็ต้องทิ้งใช่ไหมคะ ทีนี้จะทำอย่างไรให้มาลัยเป็นของที่เก็บเป็นที่ระลึกได้ ทำอย่างไรให้ผู้รับรู้สึกว่า โห อยากเก็บไว้ดูนานๆ จังเลย บอสเขาสนใจเรื่องผ้า จึงเอาผ้ามาประยุกต์ใช้” ชุเอ่ยโยงไปถึง ‘มาลัยผ้า’ อีกหนึ่งดีไซน์ของแบรนด์ที่น่าสนใจ 

“มาลัยผ้าเช็ดหน้ามีมาตั้งแต่โบราณแล้ว” บอสเสริม “แต่ทำเป็นพวงมาลัยขนาดเล็ก เป็นผ้าเช็ดหน้าผืนเล็ก เอามาผูกกับอุบะ ใช้เป็นของชำร่วย”

ปอป้อบอกว่าผ้าถูกนำมาใช้ตั้งแต่ในคอลเลกชั่นสงกรานต์และต่อเนื่องมาถึงคอลเลกชั่นนี้ “ในคอลเลกชั่นสงกรานต์ เราออกแบบลายผ้าให้เข้ากับดอกไม้คือ ผ้าเป็นลายดอกจำปา อุบะใช้จำปาจริง แล้วครอบด้วยจำปาทองเหลือง พอถึงวันแม่ เราจึงมีพวงมาลัยผ้าด้วยเช่นกัน มีการทดลองนำผ้ามาใช้ทำเป็นส่วนต่างๆ มากขึ้น จากที่เคยใช้ทำแค่ตัววง คอลเลกชั่นนี้เราเอาผ้ามาทำเป็นอุบะด้วย”

พวงผ้ามาลัยคอลเลกชั่นวันแม่มี 2 แบบ Floret Smock ตัวมาลัยร้อยขึ้นจากกลีบเลี้ยงดอกรัก ผ้าผืนน้ำตาลอ่อนจับกลีบพับเป็นส่วนอุบะ ขณะที่ Binary Braid ใช้ผ้าสีขาวอัดพลีตทั้งผืนม้วนพันเป็นพวง คล้องเข้ากับมาลัยดอกพุดที่ทำจากดินและกลีบดอกไม้ทองเหลือง

น้อยหน่าอธิบายส่วนของการร้อยดอกพุดว่า “เราใช้ลวดร้อยแทนเส้นด้าย เพราะต้องเอาส่วนนี้มาพันกับผ้า ถ้าเป็นด้ายก็จะทิ้งตัวและรัดเนื้อผ้า แต่ถ้าเป็นลวดเราสามารถดัดให้คงรูปได้ ผ้าจะอยู่ทรงไปด้วย”

พวงมาลัยผ้าทั้ง 2 แบบนี้ เมื่อคลี่ผ้าออกมาแล้วจะได้ผืนที่ขนาดพอดีกับการใช้ผูกผมหรือโพกศีรษะ ซึ่งตรงจุดประสงค์การออกแบบ คือสร้างสรรค์ สวยงาม ใช้งานได้ เก็บรักษาง่าย

เพิ่มมูลค่าให้กับงานฝีมือชุมชน

มาลัยของ ๑๐๐๐ MALAI เป็นชิ้นงานทำมือแบบ made to order ที่ลูกค้าต้องสั่งทำล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ในแง่ของการผลิต พวกเขามองไปถึงนักร้อยมาลัยตัวจริงซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่คนในพื้นที่

“เราไม่ได้อยากเป็นธุรกิจที่แสวงหาแต่กำไรอย่างเดียว” ปอป้ออธิบายแนวคิดนี้ “จุดมุ่งหมายของเราคืออยากให้คนในชุมชนหรือคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการร้อยมาลัยด้วย เราจึงออกแบบให้เป็นพวงมาลัยที่ร้อยง่าย ใช้วิชาชีพของเขาที่มีอยู่แล้ว เช่น การร้อยแบบฮาวายหรือการร้อยหน้าดอกไปเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ร้อยมาลัยอยู่แล้วเขาก็ร้อยกันเป็น เราจึงอยากเข้าไปสนับสนุนในส่วนที่เขาทำอยู่ อยากเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่เขาทำ ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น คนร้อยได้กำไรกลับไปมากขึ้น”

“ปอป้อกับน้อยหน่าไปลงพื้นที่ด้วยกัน ละแวกออฟฟิศของเรามีตลาดเยอะมาก ตลาดนาคนิวาส ตลาดโชคชัย 4 เข้าไปคุยกับเขา เราจ้างได้ไหม ร้อยแบบเดิมนี่ล่ะ แค่เปลี่ยนชนิดดอก เราเอาดอกไม้ไปให้ แต่ส่วนใหญ่จะโดนปฏิเสธกลับมา” 

“เขาบอกว่าเขาต้องร้อยของเขาอยู่แล้ว ยังทำไม่ทันเลย จะมาทำของเราได้ยังไง” น้อยหน่าแจงเหตุผล  

“แต่เรายังไม่ล้มเลิกความตั้งใจแรก เรายังอยากให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาว่าในทุกคอลเลกชั่นของเราจะมีมาลัยแบบที่ทั้งร้อยง่าย ทั้งแบบใช้ทักษะงานช่างฝีมือ และแบบที่ใส่ดีไซน์เข้าไป เพื่อเพิ่มมูลค่าของมาลัยให้มากขึ้น” เมเนเจอร์สาวของแบรนด์ปิดท้าย

ภาพ ๑๐๐๐ MALAI, ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย