“ระบบที่ดีคือระบบที่รับฟังความเห็น” คุยกับนนท์ ศดานนท์เรื่องชีวิตการแสดงและสังคม

นนท์ ศดานนท์

2561 คือปีที่เข้าสู่วงการบันเทิง

2562 รับบทเป็น ‘ภพ’ จากภาพยนตร์เรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ 

2563 รับบทเป็น ‘โต้ง’ จากซีรีส์ ฉลาดเกมส์โกง Bad Genius The Series

2564 รับบทเป็น ‘เจ๋ง’ จากซีรีส์ Girl from Nowhere ซีซั่น 2 และบทบาทล่าสุดอย่าง ‘เก้า’ ในตอน นักเกรียน ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สั้นจากโปรเจกต์ #HATETAG ที่ต้องการรณรงค์หยุดการบูลลี่ในโลกออนไลน์

เหล่านี้คือผลงานการแสดงของ นนท์–ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ นักแสดงชายที่แจ้งเกิดจากบทบาท ‘ภพ’ ในภาพยนตร์เรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ที่แม้จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตแต่เขากลับกวาดรางวัลไปกว่า 4 รางวัล ยังไม่นับรวมผลงานโฆษณาในช่วงแรกเริ่มและมิวสิกวิดีโอที่แสดงไปกว่า 11 ชิ้นภายในระยะเวลา 4 ปีที่เข้าสู่วงการบันเทิง

กับแฟนคลับตัวยง เราคงไม่จำเป็นต้องร่ายยาวถึงผลงานการแสดงและรางวัลที่นนท์ได้รับ แต่สำหรับเรา ข้อมูลด้านบนนั้นชวนดึงดูดใจและชวนสงสัยว่าอะไรทำให้วัยรุ่นชายอายุ 20 ปีที่บอกกับเราว่า “ผมไม่เคยเรียนการแสดงจริงๆ จังๆ” ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้นขนาดนั้น 

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราชวนนนท์มาตอบคำถามในวันนี้ ตั้งแต่เรื่องราวคราวเด็ก การเข้าสู่วงการบันเทิง เป้าหมายชีวิตสุดเรียบง่าย กระทั่งบทบาทการแสดงล่าสุดอย่าง ‘เก้า’ ใน นักเกรียน ที่ช่วยให้วัยรุ่นผู้ได้แต่ตั้งคำถามถึงระบบต่างๆ ในสังคมมาตลอดแต่ไม่เคยลุกขึ้นมาทำอะไรจริงๆ จังๆ ได้ลองเข้าใจความเป็นนักกิจกรรมอย่างแท้จริง

และนี่คือคำตอบจากปากของนนท์

ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง โควิด-19 ระลอก 3 กระทบงานการแสดงไหม

มากครับ ตอนนี้อยู่หอเฉยๆ ไม่มีอะไรทำเลย ภาพยนตร์อีกเรื่องก็ต้องหยุดถ่ายไป ส่วนเรื่องเรียนก็กระทบเหมือนกัน จริงๆ ตอนนี้ต้องขึ้นปี 3 แล้วแต่ยังอยู่ปี 2 อยู่เลย

ก่อนมาเรียนคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คุณสนใจการแสดงตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

ไม่เลย งานอดิเรกตั้งแต่อนุบาล 2 ของผมคือการเล่นเกม เล่นเกม และเล่นเกม (หัวเราะ) ผมเป็นเด็กที่ติดเกมมาก เพราะพ่อจบวิศวะและทำงานด้านคอมพิวเตอร์ เขาแนะนำเกมให้เล่นจนผมไม่ยอมทำการบ้าน เลยโดนจำกัดเวลาเล่นแค่วันศุกร์ถึงอาทิตย์ (หัวเราะ)

ความฝันตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นการมีครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุขในบ้านที่ไม่ต้องใหญ่หรือร่ำรวยมากก็ได้ เพราะมันเรียบง่ายและไม่ต้องคาดหวังจนเหนื่อยเกินไป ผมเลยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยากทำอะไรหรือเป็นอะไร 

กระทั่งขึ้น ม.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่เรียนอยู่มีชมรมละครเวที ด้วยความที่ผมไม่รู้จะทำอะไรอยู่แล้วเลยลองไปแคสต์ดูแล้วดันติด ตอนนั้นเล่นเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ ในยุคสมัยที่คนเชื่อเรื่องเทพและดวงดาว มันสนุก น่าสนใจ และรู้สึกดีมากเพราะผมได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง จนคิดว่าหรือเราจะเอาดีทางนี้ดีวะ 

สนุกจนเรียนต่อด้านนี้เลย

เพราะก่อนขึ้นปี 1 ผมได้ทำงานโฆษณาต่อจากการเล่นละครเวทีอยู่หลายชิ้นจากการแนะนำของพี่ในชมรมแต่ก็ไม่เคยรู้กระบวนการทำงานเบื้องหลัง บวกกับผมชอบหนังมากๆ และสนใจการเขียนบทเลยตัดสินใจเรียนคณะนี้

แล้วเด็กมัธยมที่เล่นละครเวทีจนมาแสดงโฆษณารู้สึกจริงจังกับงานการแสดงตอนไหน

ตอนที่ผมได้แสดงเป็นภพในเรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ความจริงจังในใจผมมันค่อยๆ เริ่ม จากต้นจนจบเรื่อง ผมได้ค้นหาตัวเองผ่านการทำอะไรหลายๆ อย่าง ผมได้เข้าถึงโปรดักชั่นการทำหนังที่เน้นความสมจริงมากขึ้นจนรู้สึกว่ามันเป็นทางของผมมากที่สุด  

พอจบหนังเรื่องนี้ผมเลยตั้งเป้าหมายว่าต่อไปนี้ผมจะทำอะไรที่มันท้าทาย สดใหม่ ไม่จำเป็นต้องแสดงเป็นตัวหลักก็ได้เพราะผมอยากลองอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกสนุกเวลาทำงาน ไม่ต้องดังในหมู่คนดูก็ได้เพราะมันดีต่อคาแร็กเตอร์ ถ้าอยากให้ใครรู้จักหรือจำได้จริงๆ ก็อยากให้เป็นพี่ๆ ในวงการว่าไอ้คนนี้ไว้ใจได้

ทำไมไม่เลือกเล่นบทแบบเดิมเพื่อให้คนจำได้ก่อนแล้วค่อยลองบทบาทอื่น 

ผมไม่ค่อยชอบทำอะไรจำเจในด้านความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่ แต่ในเชิงการใช้ชีวิตผมเป็นคนขี้กลัวและเป็น introvert เวลาต้องก้าวเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ ผมจะรู้สึกกลัวมากเลย มันรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำได้หรือเข้ากับคนอื่นได้หรือเปล่า พอไม่มั่นใจในตัวเองมันพลอยทำให้ไม่เชื่อใจคนอื่นไปด้วย เช่น กลัวคนอื่นจะคิดว่าเราแสดงไม่ดี กลัวว่าเราจะทำอะไรขัดใจใครไหม

อย่างตอนที่รับเล่น ดิว ไปด้วยกันนะ เรื่องนี้ผมก็กลัวมากๆ (เน้นเสียง) เพราะไม่เคยเล่นหนังมาก่อนและด้วยบทที่เป็น LGBTQ+ เลยไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม คิดไม่ตกอยู่นานจนสุดท้ายก็ช่างแม่ง ลองดูให้มันรู้ไป แต่กลับพบว่ามันสนุกดีจนค่อยๆ คลายความกลัว สนิทกับทุกคนในกอง และรู้สึกอบอุ่นมากขึ้น

ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นนะ แต่ก็พยายามปรับอยู่ตลอด 

ไม่มั่นใจในตัวเองมากๆ แต่กลับได้รับรางวัลใหญ่จากหนังเรื่องนี้

ใช่ มันน่าดีใจสำหรับพ่อแม่ คนที่เขาสอนเรามา และคนรอบข้างเนอะ แต่สำหรับผมคือมันแปลกมาก ตอนนั่งดูตัวเองในโรงหนังก็หัวเราะว่าทำอะไรลงไปวะ พอรู้ว่าได้รับรางวัลก็ยิ่งรู้สึกแปลก (หัวเราะ) ผมไม่เข้าใจว่าทำไมแค่เรื่องแรกก็ได้เข้าชิงแล้ว จนถึงเวลาประกาศรางวัลก็ยังแพนิกและงงไปหมด 

เคยคิดไหมว่าทำไมไม่มั่นใจในตัวเองขนาดนี้

มันคงหลายๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวคือตอนเด็กๆ ผมเป็นคนชอบกินและรูปร่างท้วม ญาติผู้ใหญ่จะชอบแซวซึ่งเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไรหรือทำไปด้วยความเอ็นดูแต่ผมรู้สึกแย่มากๆ ผมไม่เข้าใจว่าผมทำอะไรผิด ทำไมต้องแซวด้วย สุดท้ายเลยเลือกที่จะเงียบเวลาเจอญาติๆ ไม่ร้องไห้ ไม่ยิ้ม ไม่ทำอะไรเลย เป็นแบบนี้อยู่ 7 ปี

แล้วกว่าจะได้รางวัลการแสดงมา คุณต้องฝึกหนักขนาดไหน

ผมไม่เคยเรียนการแสดงจริงๆ จังๆ แต่เคยเข้าเวิร์กช็อปการแสดงซึ่งเป็นทีสิสของรุ่นพี่ที่เรียนปริญญาโทศิลปการละครที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ซึ่งเทคนิคจากการเวิร์กช็อปครั้งนั้นช่วยได้มากจนทำให้อยากกลับไปเล่นละครเวทีเพราะผมเริ่มงานแสดงจากมัน กระบวนการซ้อมที่ต้องทำไปพร้อมๆ กับคนอื่นและการที่เรากลับไปแก้ไขอารมณ์และความรู้สึกตอนแสดงไม่ได้เหมือนซีรีส์หรือภาพยนตร์มันทำให้ผมรู้สึกสนุกมาก

ส่วนพอต้องแสดงจริง ผมจะเน้นเข้าใจพื้นฐานตัวละครว่าเขาคือใคร ต้องการอะไร แล้วไปลุยสดๆ ตอนแสดงเลย อย่างตัวละครภพในเรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ผมใช้ความเป็นตัวเองแสดงเพราะเราค่อนข้างเหมือนกันมากตรงที่กำลังจะเปลี่ยนจากวัยมัธยมสู่วัยมหา’ลัย มันเป็นความรู้สึกเครียด กดดันว่าจะสอบติดไหม กังวลกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวละคร ‘โต้ง’ ใน ฉลาดเกมส์โกง Bad Genius The Series ผมพยายามหาจุดที่ว่าโต้งเป็นเด็กบ้านรวยแต่กลับไม่ได้รับความอบอุ่นและไม่เข้าใจความรัก เขาเลยแสดงท่าทีต่างๆ ออกมาไม่ดีเท่าไหร่

ยากไหมกับการต้องแสดงเป็นคนอื่น

ไม่ยากเลยเพราะผมใช้ความเป็นมนุษย์ของตัวเองจับกับความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ผมทรีตตัวละครว่าเราสองคนเป็นเพื่อนที่คุยกันได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือความกลัวของผมมากกว่า (หัวเราะ)

แล้วคุณเข้ามารับบท ‘เก้า’ ใน นักเกรียน จากโปรเจกต์ #HATETAG ได้ยังไง

ผมก็ยังงงอยู่นะ ตอนนั้นพี่คนหนึ่งโทรมาว่ามีงานของพี่โอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) ผู้กำกับ HOMESTAY มาให้เราแสดง เขาบอกว่าพี่โอ๋อยากได้ผมเท่านั้นเพราะเขาเขียนตัวละคร ‘เก้า’ ขึ้นมาจากตัวผม ซึ่งพอตกลงทำจริงๆ ก็ยังไม่ได้คำตอบนะว่าทำไมต้องเป็นผม (หัวเราะ)

ตอนอ่านบทครั้งแรกรู้สึกยังไง

หนักมาก ผมว่ามันซับซ้อน คือ #HATETAG เป็นโปรเจกต์หนังสั้นที่เล่าเรื่องผลกระทบเชิงลบจากสังคมออนไลน์ 10 เรื่อง ตอนของผมชื่อ นักเกรียน ซึ่งเล่าถึง ‘เก้า’ นักเรียนที่สร้างเพจขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาที่อาจารย์ใช้อำนาจข่มเหงเด็ก เกิดปัญหา sexual harassment ในโรงเรียนที่แก้ไม่ได้สักที และงบประมาณการศึกษาที่ใช้ไปกับอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับนักเรียนเลย แต่เมื่อโรงเรียนออกมาพูดบ้างเก้ากลับถูกโจมตีจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งผมว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่สาหัสและน่ากลัวสำหรับเด็กทุกคนในเรื่อง แต่มันก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันด้วย 

คิดว่าทำไมเพื่อนนักเรียนที่ถูกกดขี่ด้วยกันต้องเข้าข้างโรงเรียน

ผมว่ามันเหมือนหนังเรื่อง The Shawshank Redemption ที่พระเอกติดคุกเพราะโดนใส่ร้าย มันมีไดอะล็อกหนึ่งที่พูดว่าคุกทำให้คนในคุกรักสถาบัน แม้ว่าตอนแรกคนในคุกจะเกลียดที่นี่มากแต่พอเริ่มชินคนเหล่านั้นก็กลายเป็น loyalty ของสถาบันไป

แล้วเก้าตั้งคำถามอย่างเปิดเผยไม่ได้เหรอ ทำไมต้องเปิดเพจแล้วสร้างตัวตนใหม่

มันมีเคสตัวอย่าง แน่นอนว่าเราเห็นๆ กันอยู่ว่าใครที่ออกมาพูดความจริงมักถูกลงโทษจากระบบที่รวมหัวกันกลั่นแกล้งเด็ก เช่น ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กที่ทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง บางคนก็ถูกไล่ออก ซึ่งมันไม่ได้กระทบแค่ตัวเด็กแต่ยังกระทบถึงผู้ปกครองและการงานอาชีพในอนาคตด้วย มันกลายเป็นตราบาปได้ยังไงก็ไม่รู้

อย่างนั้นนิยามนักเกรียนในความคิดของคุณคืออะไร แล้วคิดว่าเก้าควรถูกลงโทษไหม

ถ้าเป็นความเกรียนทั่วไปมันคือความเฮ้ว ความกวนตีน ทำอะไรไม่สนใครแต่ก็มีขอบเขตอยู่ แต่ความเกรียนในเรื่องนี้ค่อนข้างย้อนแย้งตรงที่ว่าเด็กเกรียนสำหรับผู้ใหญ่คือเด็กเหี้ย เด็กนิสัยไม่ดี เด็กนอกขนบ เก้าตั้งคำนี้ขึ้นมาเพื่อให้รู้สึกว่าการกระทำของเขาอาจจะเกรียนแต่มันกำลังบอกความจริงบางอย่าง 

ผมว่าหนังเรื่องนี้แอบเล่นกับความคิดของคนว่าจากเรื่องราวทั้งหมด คุณจะโทษอะไร โทษระบบ โทษผู้กระทำ หรือโทษผู้ถูกกระทำ แต่สำหรับผม คนแบบเก้าไม่จำเป็นต้องได้รับอะไร ไม่ต้องถูกลงโทษ หรือไม่ต้องมีใครรู้จักก็ได้ เขาก็แค่คนหนึ่งที่ออกมาเล่าถึงความบิดเบือนของระบบต่างๆ ซึ่งถ้าระบบมันไม่มีปัญหาเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตั้งคำถามแบบนี้เลย

แล้วคุณเคยตั้งคำถามถึงปัญหาต่างๆ แบบเก้าหรือเปล่า

ช่วงมัธยมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเหมือนเก้า อาจเพราะยังเด็ก จนขึ้นมหา’ลัยผมเห็นอะไรมากขึ้นจึงมองปัญหาต่างๆ ได้กว้างขึ้น เลยรู้ว่าที่ผ่านมาระบบในโรงเรียนมันไม่ดีเลย ทั้งเรื่องเข้าแถว ทรงผม โดยเฉพาะ รด.

ผมคิดว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บจะทำให้รู้สึกว่าแล้วทำไมเราต้องเจ็บ รด.จึงเป็นเรื่องที่ผมสงสัยที่สุด สงสัยว่าทำไมครูฝึกต้องตะโกนด่า ทำไมต้องให้วิดพื้น ทำไมต้องไปตากแดดร้อนๆ หรือนอนในน้ำ แล้วทำไมเราต้องมาทดลองเป็นทหารอยู่ตั้ง 3 ปีเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นทหาร 2 ปี มันกินเวลาชีวิตมากๆ แทนที่จะได้ทำอะไรที่อยากทำในช่วงเวลานั้น

หรือถ้าเป็นเรื่องในสังคม ช่วง ม.5-6 ผมชอบเดินมากๆ ตอนนั้นเลยได้เห็นความทุกข์ยากและความเหลื่อมล้ำจนเกิดคำถามว่าทำไมเราถึงปล่อยให้เขาเหล่านี้ซึ่งอาจมีอนาคตที่ดีก็ได้เสียโอกาสนั้นไป ครั้งหนึ่งผมเคยเดินเข้าไปซื้อน้ำกับแซนด์วิชในร้านสะดวกซื้อแล้วเดินแจกคนที่เจอข้างทาง คนไหนตื่นอยู่ก็เข้าไปคุยกับเขา คนไหนหลับผมก็วางไว้เฉยๆ แจกจนหมดก็รู้สึกดีขึ้นมาก แต่มันก็ยังแย่ตรงที่สุดท้ายเราก็ทำได้แค่นี้ ทั้งที่มีคนทำงานด้านนี้ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าเรามากแต่เขากลับไม่ทำ

การเล่นเป็นเก้าจึงทำให้ผมได้มุมมองของนักกิจกรรมอย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้านี้ผมก็ได้แค่ตั้งคำถาม ออกมาแชร์ปัญหาสังคมอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็ทำได้แค่นั้น กลับกัน เก้าเขาออกไปหาความจริง ผมได้เห็นว่าเขาต้องแลกอะไรในชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของการเป็นนักเรียนและการเป็นคนในสถาบัน

คิดเห็นยังไงกับคำพูดที่ว่า ‘เป็นเด็กมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป ไม่ต้องมาตั้งคำถามอะไรมากมาย’

ผมว่าเราควรจะตั้งคำถามอย่างเปิดเผยได้ตั้งนานแล้วนะ ผู้ใหญ่หลายคนโตมากับการถูกสอนไม่ให้ตั้งคำถามเลยเชื่อแบบนั้น แต่คุณอยากให้เด็กที่กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่เป็นแบบคุณจริงๆ เหรอ คุณอยากจะทำอะไรตามประเพณีวัฒนธรรมโดยไม่คำนึงถึงยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงของโลก และมองว่าเด็กที่ตั้งคำถามคือเด็กก้าวร้าวทั้งที่เขาเกิดมาเพื่อเห็นโลกภายนอกที่กว้างขึ้นจริงๆ เหรอ 

ผมเชื่อว่าระบบมีผลต่อคนในระบบ ดังนั้นสำหรับผม การสอนเด็กมันไม่ควรเป็นการด่าทอและทำร้ายร่างกาย มันควรเป็นการทำให้เด็กเข้าใจมากกว่า ควรเป็นการมองภาพรวมของปัญหาทั้งหมดแล้วช่วยกันแก้ไข แต่ถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้ต่อไปแล้วค่อยมาตั้งคำถามหรือเปลี่ยนแปลงตอนที่มันสายไปแล้ว อะไรๆ มันก็คงพังไปหมด

สุดท้าย ระบบที่คุณเชื่อและอยากให้เป็นคือแบบไหน

ระบบที่ดีคือระบบที่ทุกคนรับฟังความเห็นของกันและกันอย่างเข้าใจ

ซึ่งมันก็คือประชาธิปไตยดีๆ นี่เอง

AUTHOR