โพยคำตอบ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ฉบับซีรีส์ กับวิธีรีเมคแบบไม่ก๊อปปี้ของผู้กำกับ ‘พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์’

Highlights

  • บทสนทนากับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ Bad Genius The Series ว่าด้วยการรีเมคหนังดังมาเป็นซีรีส์สุดตื่นเต้น 12 ตอน
  • พัฒน์เผยว่าการทำซีรีส์ ฉลาดเกมส์โกง คืองานที่โหดที่สุดเท่าที่เขาเคยทำมา ด้วยระยะเวลาจำกัด และการดัดแปลงบทที่เหมือนแต่ไม่ให้ดูก๊อปปี้จากต้นฉบับ เขาผ่านทั้งช่วงเวลาของการหาหัวใจสำคัญของซีรีส์ การแคสติ้งนักแสดงหน้าใหม่ที่ช่วยในการเขียนบท และการคิดมุกการโกงใหม่ที่ใช้ได้จริง
  • ตลอดสองปีที่ขลุกอยู่กับซีรีส์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ พัฒน์ได้เติบโตและเรียนรู้การทำสื่อแมสเพื่อคนหมู่มาก และไม่ว่าฟีดแบ็กจะเป็นยังไง เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องดีทั้งนั้น

ห้องเรียนใน ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นซีรีส์ที่ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ กำกับ มีนาฬิกาแบบเข็มติดอยู่หน้าห้อง

ลิน ในเวอร์ชั่นของพัฒน์ใช้เข็มยาวกับเข็มวินาทีเป็นสัญญาณบอกคำตอบให้เพื่อน

เธอเริ่มบอกคำตอบข้อแรกตอนเข็มนาทีเริ่มเคลื่อนไหว สมมติสอบตอน 8:00-10:00 น. เธอจะใช้เวลาชั่วโมงแรกทำข้อสอบ และเริ่มบอกคำตอบตอน 9 โมง 1 นาที วิธีดูคำตอบก็ง่ายแสนง่าย ถ้ามือขวาของเธอขยับตอนเข็มวินาทีเคลื่อนไปอยู่ที่เลขไหน (1 2 3 หรือ 4) แปลว่าคำตอบคือข้อนั้น

ไม่ยากเท่าการบอกคำตอบด้วยโค้ดเปียโนใน ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นหนัง และน่ากลัวว่าจะใช้ได้จริง

“ใช่ เราอยากให้รู้สึกว่าใช้ได้จริง” พัฒน์ยืนยันข้อสันนิษฐานกับเรา เขายังบอกด้วยอารมณ์ขันว่า ถ้าฉากนี้ฉายออกไปแล้วครูทั่วประเทศเปลี่ยนนาฬิกาแบบเข็มในห้องเรียนให้กลายเป็นนาฬิกาดิจิทัลหมดคงตลกดี

การบอกใบ้คำตอบอันสมจริงคือหนึ่งในความแตกต่างข้อใหญ่ระหว่างหนังกับซีรีส์ที่หลายคนเห็น แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเหมือนฉบับเก่าที่พัฒน์ใส่เข้าไปโดยตั้งใจ

ถ้าเปรียบซีรีส์เรื่องนี้เป็นข้อสอบ พัฒน์ก็เหมือนเด็กนักเรียนที่เห็นคำตอบของข้อสอบหมดแล้วแต่ต้องทำข้อสอบใหม่

ความเหมือนและความต่าง นั่นคือสิ่งที่เราสนใจ

เขาเขียนคำตอบให้คล้าย แต่ไม่ก๊อปปี้ได้ยังไง ความสงสัยทำให้เรานัดพบพัฒน์ที่ตึก GDH ในวันแดดร่ม ภายในห้องสนทนา มีแสงไฟส่องสว่าง และนาฬิกาในห้องส่งเสียงแสดงความเคลื่อนไหว

เมื่อเข็มยาวเริ่มเดิน พัฒน์เริ่มบอกคำตอบข้อแรกกับเรา

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

1. ฉลาดเกมส์ไกล

เป็นที่รู้กันดีว่า ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้นประสบความสำเร็จทั้งในและนอกบ้าน และหนึ่งในประเทศที่หนังโจรกรรมคำตอบเรื่องนี้โกยรายได้เป็นกอบเป็นกำคือประเทศจีน

จากความสำเร็จอย่างล้นหลาม วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และ จิระ มะลิกุล โปรดิวเซอร์มือทองของ GDH ได้รับคำแนะนำจากคนดูฝั่งจีนว่า แม้ฉลาดเกมส์โกงจะดังมาก มีรายได้หลักพันล้าน แต่กลุ่มคนดูก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยถ้าเทียบกับประชากรทั้งหมด ยังมีกลุ่มคนดูทีวีและดูซีรีส์ทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์อีกเยอะมากที่ไม่ได้สัมผัสความตื่นเต้นของเรื่องนี้

นั่นคือต้นไอเดียที่จะหยิบ ฉลาดเกมส์โกง มารีเมคเป็นเวอร์ชั่นซีรีส์ และฉายผ่านแอพพลิเคชั่นที่คนไทยและคนจีนดูได้อย่าง WeTV

แน่นอนว่าชื่อแรกของผู้กำกับที่วรรณฤดีนึกถึงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับผู้ปั้น ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นต้นฉบับมากับมือ แต่ตอนนั้นบาสเริ่มโปรเจกต์หนังเรื่องใหม่กับหว่อง กาไว เรียบร้อย และจำเป็นต้องบอกผ่าน

ชื่อที่สองที่วรรณฤดีนึกถึงคือ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับ SOS skate ซึม ซ่าส์ ซีรีส์ขนาดสั้นใน Project S The Series ที่วรรณฤดีดูแล้วประทับใจ และคิดว่าพัฒน์น่าจะมีความสดใหม่บางอย่างมาใส่ในซีรีส์โจรกรรมเรื่องนี้ได้

แต่ครั้งแรกที่เธอติดต่อพัฒน์ไป เขาปฏิเสธ

“เราชอบ ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นพี่บาสมาก มันเป็นหนังที่ตื่นเต้นที่สุดเท่าที่เคยดูเลย แต่พูดตรงๆ ว่าเราไม่อินกับประเด็นศีลธรรมตอนจบ” ผู้กำกับหนุ่มเล่าอย่างตรงไปตรงมา

“ไม่ใช่ไม่ดีนะ แค่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราว้าวเท่ากับตัวหนัง เราเป็นคนดูหนังแบบดูคอนเทนต์นำ หมายถึงว่าถ้าเราจะชอบอะไรสุดหัวใจจริงๆ เราต้องอินสิ่งที่มันกำลังพูดอยู่ แต่คอนเทนต์เรื่องศีลธรรมมันไม่ได้กระแทกเรา พอพี่วรรณเสนอมาเลยบอกขอคิดดูก่อน ด้วยความกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี อีกอย่างคือเราไม่รู้ว่าตัวเองจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่มันอยากบอกได้ยังไง เราจะขยายมันออกมายังไง แค่เมสเสจว่า ‘โกงไม่ดีนะ’ เราว่ามันไม่พอ”

หลังจากพัฒน์ปฏิเสธ เขาก็แวะไปแจมเขียนบทให้รุ่นพี่ร่วมค่ายอย่าง โต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล และกำกับงานโฆษณาทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างนั้นวรรณฤดีและจิระก็มองหาผู้กำกับใหม่ แต่เวลาล่วงเลยไปราวครึ่งปี ตำแหน่งผู้กำกับของเรื่องนี้ก็ยังว่าง

วรรณฤดีโทรหาพัฒน์อีกครั้งและได้รับประโยค ‘ขอเก็บไปคิด’ กลับมาอีกหน

อีกครึ่งปีต่อมา สายเข้าจากพัฒน์ก็ทำให้วรรณฤดีประหลาดใจ

เขาตอบตกลง

2. ดูยากทำไม่ง่าย ดูง่ายทำยาก

เหตุผลเป็นคำคำเดียวเท่านั้น

‘Entertainment’

“ก่อนหน้านี้เราทำแต่งานตามใจ อย่าง Let Me Grow ที่เงินก็ไม่ได้ เรตติ้งก็ไม่ได้ แต่ให้ความรู้สึกดีและมีคุณค่า SOS ก็ทำเพราะมีโจทย์มาให้ แต่เขาก็เปิดกว้างพอสมควร ซึ่งมีคนดูอยู่หย่อมหนึ่ง เรารู้สึกว่างานทั้งสองค่อนไปทางงานศิลปะมากกว่าการพยายามสื่อสาร มีไอเดียที่อยากจะเล่าแต่วิธีการเล่าให้คนหมู่มากฟังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ายังไม่มี

“ตอนพี่วรรณโทรมาชวนครั้งนั้นเขาพูดตรงใจเรามาก เขาบอกว่าอยากชวนพัฒน์มาเรียนรู้การทำเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยสนใจเลย เรารู้สึกว่าหนังเป็นศิลปะ ชอบดูหนังที่ดูยาก แต่นั่นเป็นเพราะเราเป็นคนทำหนังไง

“เราอยากลองทลายกรอบของคำว่า ‘เราต้องอินกับงาน’ ออกไปดู แล้วพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) กับพี่วรรณก็เป็นสองคนที่เราเคารพ เขามีความสามารถด้านนี้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาสอนเราคือการพยายามถอดตัวเองออกในฐานะคนทำมาดูว่าใครเป็นคนดู คนทั่วไปจริงๆ เป็นคนที่มีชีวิตของเขา ในอีก 99 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตเขาที่จะเครียด จะหนัก จะยังไงก็ได้ แต่เมื่อเขามาเปิดทีวีดูแล้วเขามีความสุข นี่คือเอนเตอร์เทนเมนต์ที่พี่วรรณจะชวนเรามาทำ

“ถ้าเราเรียนรู้การทำเอนเตอร์เทนเมนต์ได้ เราก็จะมีอาวุธในการเล่าเรื่องให้คนหมู่มากฟัง ต่อจากนี้เราจะเล่าเรื่องอะไรเราก็สามารถเล่าให้คนฟังแล้วเขาสนุกไปกับมันได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตัดสินใจจะทำสิ่งนี้”

 พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

3. The hardest brief

ตอนทำ SOS skate ซึม ซ่าส์ พัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการทำซีรีส์ที่โหดที่สุดเท่าที่เคยทำ

กับ ฉลาดเกมส์โกง เขาบอกว่าโหดกว่า

“แต่โหดคนละแบบนะ ในแง่ไทม์ไลน์ของงาน ฉลาดเกมส์โกง ยากกว่า เพราะเรามีเวลาเขียนบทแค่ 8 เดือนเท่านั้น” ด้วยเวลาจำกัด พัฒน์จึงตัดสินใจโฟกัสการเล่าเรื่องตัวละครกลุ่มเดิมเพราะน่าจะใช้เวลาน้อยกว่าการสร้างเรื่องใหม่

แต่นั่นคือการตัดสินใจก่อนเริ่มงาน พอเข้าสู่กระบวนการเขียนบทจริงๆ เขาตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าตัดสินใจถูกหรือเปล่า

“พอมันเป็นโจทย์ที่ต้องอะแดปต์สิ่งที่พี่บาส พี่วรรณเคยทำไว้ เป็นโจทย์ที่เราไม่เคยทำ ทุกคนก็งงว่าทำยังไง แม้แต่พี่วรรณก็ยังงง เราลองผิดกันเยอะมากๆ กว่าจะรู้ว่ามาถูกทางก็เหลือเวลาแค่สองเดือนในการเขียนบท เลยต้องแก้บทกันจนถึงตอนถ่าย ก็เลยเหนื่อยทีมงานทุกคน เราจึงบอกว่ามันโหดกว่า SOS

สิ่งที่ยากที่สุดคือการเขียนบทภายใต้ร่มของสิ่งที่เคยทำไว้ ยากกว่าการเขียนบทใหม่หลายเท่า ส่วนหนึ่งของความกดดันมาจากความคิดว่าจะโดนเปรียบเทียบ

“ทุกครั้งที่คิดว่าจะโดนเปรียบเทียบเราจะรู้สึกมวนท้องหน่อยๆ เชี่ย ของพี่บาสแม่งมันจัด ความเอนเตอร์เทนเมนต์ดีมาก พอดูหนังไปหลายสิบรอบก็พบว่าทำแบบนั้นไม่ได้หรอก” พัฒน์หัวเราะ “ด้วยระยะเวลา ด้วยฝีมือ ด้วยเงื่อนไขของซีรีส์ เราก็ยอมรับกับตัวเองว่าโอเค ทำไม่ได้ จบ กูก็ทำของกูไป อะไรอย่างนี้ ถือเป็นจุดปลดล็อกเลย ตอนเขียนบทพี่บาสก็มาช่วยโยนไอเดียครั้งสองครั้ง เขาพูดตลอดว่า ‘มึงทำของมึงไปเลย’ ไม่ต้องกลัว จะเล่นอะไรของเขาก็ได้ เขาไม่สนใจ ทำเลย ทำแบบที่เราเชื่อ สุดท้ายเราก็เลยไม่มีประเด็นต้องไปเปรียบเทียบกับเขา แค่ทำของเราให้ดีที่สุด”

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

4. ทริลเลอร์ทุกตอน

ระหว่างการพัฒนาบท พัฒน์ตามไปดูหนังโจรกรรมเรื่องอื่นเป็นบ้าเป็นหลัง รวมไปถึงซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากหนังอย่าง Animal Kingdom เพื่อหาแบบอย่างการทำซีรีส์ที่ดัดแปลงจากหนังให้ออกมาดี

แต่สุดท้ายเขาค้นพบว่าหัวใจสำคัญนั้นได้มาจากหนังต้นฉบับ หลังจากนั่งดู ครุ่นคิด และวิเคราะห์มาหลายสิบรอบ

“เราพยายามซื่อสัตย์กับการทำเอนเตอร์เทนเมนต์ พยายามคิดว่าคนอยากดูอะไร ถ้าคนชอบหนังแล้วหนังแข็งแรงเรื่องความตื่นเต้น แปลว่ามันคือหนังทริลเลอร์เว้ย แปลว่าจะไม่ใช่ดราม่านำ ไม่ใช่ไซ-ไฟ ตลกนำ มันต้องทริลเลอร์นำเท่านั้น เราก็พยายามดึงเอาเธรดความตื่นเต้นมา 12 ตอน เปิดมาดูวีคไหนต้องตื่นเต้นทุกวีค ตื่นเต้นทุกตอน”

เมื่อพบหัวใจสำคัญ กระบวนการที่ตามมาคือการขยายหนังหนึ่งเรื่องให้เป็น 12 ตอน แล้วสร้างเหตุการณ์ที่ตั้งอยู่บนความตื่นเต้นและการโกงเป็นหลัก

“หัวใจของความตื่นเต้นต้องมีทริลเลอร์ แปลว่าไอเดียที่ไม่มีองค์ประกอบนั้นก็น่าจะไม่ถูกต้อง อย่างเรื่องความสัมพันธ์ถ้ามันไม่อยู่บนคำว่าโกง หรือตั้งอยู่บนความตื่นเต้น เชือดเฉือน ก็จะถูกตกไป” ผู้กำกับหนุ่มอธิบาย

 

5. กลโกงของเด็กเนิร์ด

“ถ้าเป็นเรื่องการโกงในห้องเรียนเราไม่เคยทำ” พัฒน์เล่าอดีต เมื่อเราถามว่าเขาเชื่อมโยงกับตัวละครใน ฉลาดเกมส์โกง ยังไง และมีบ้างไหมที่เขาหยิบจับองค์ประกอบในชีวิตจริงมาใส่ในซีรีส์

“เราเป็นเด็กเนิร์ด แต่ไม่ใช่เนิร์ดเรียนนะเพราะเราเกรดไม่ดี แต่เราจะเนิร์ดแบบ…เป็นเด็กที่ไม่รู้จะโกงทำไม จะคิดว่า ถ้าโกงวันนี้วันต่อไปจะทำอีก หลายคนอาจมองว่าลูเซอร์หรือเปล่า แต่ไม่รู้ดิ เราไม่เคยจริงๆ”

ช่วงมัธยมฯ พัฒน์เคยเรียนโรงเรียนรัฐบาลช่วงม.1 ก่อนจะไปแลกเปลี่ยนที่รัสเซียหนึ่งปี และกลับมาเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณจนจบมัธยมปลาย การได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนหลายแห่งทำให้เขาสะสมประสบการณ์อันแตกต่าง และบางทีนั่นอาจเป็นข้อดี 

“เราเคยเรียนโรงเรียนรัฐหนึ่งปี ทำให้พอนึกภาพห้องเรียนรัฐออก ก่อนจะมาเรียนที่รุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนใสๆ และเซอร์มาก ข้อดีคือมันทำให้เราไม่ได้รู้สึกคับข้องใจกับการศึกษาไทยมาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ต้องระเบิดออกมา ไม่ต้องโกรธระบบการศึกษา กูต้องด่า มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเราไม่เคยถูกเขากดทับจริงๆ เราก็เลยเล่ามันแบบที่เห็นว่ามันเป็น ซึ่งตอนทำความเข้าใจเราก็รีเสิร์ชเพื่อทำบท แค่อ่านบทความว่าเด็กไทยกับเด็กจีนเรียนยังไงก็หดหู่สุดๆ เพราะเรียนกันโหดมาก แล้วโหดขึ้นทุกปี ไหนจะการบ้าน เรียนพิเศษ อ่านแล้วจิตตกมากว่าทำสิ่งนี้กันเหรอวะ” 

นอกจากสะท้อนเรื่องราวในรั้วการศึกษา ฉลาดเกมส์โกง ก็พยายามจะเล่าความไม่เป็นธรรมที่ใหญ่กว่าในหนัง อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“อาจเป็นเพราะเราสนใจอยู่แล้ว มันจึงมาโดยธรรมชาติมากๆ หมายถึงมันไม่ได้พยายามจะด่าโรงพยาบาลรัฐ หรือว่าจะด่าเรื่องแป๊ะเจี๊ยะทั้งที่มันไม่มีมูล พอพูดถึงตัวละครสี่ตัวนี้ ชีวิตเป็นแบบนี้ ความลำบากของมันก็คือสิ่งนี้จริงๆ เราไม่สามารถเล่าเรื่องของตัวละครได้โดยไม่เล่าบริบทรอบๆ พวกเขาน่ะ” พัฒน์เน้นย้ำ “ส่วนเรื่องการโกงในสังคมเป็นเรื่องที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ อาจเพราะเราอยู่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเยอะ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เราก็แค่หยิบมันมาใส่ในซีรีส์เท่านั้นเอง”

 

6. ตัวละครเก่า นักแสดงใหม่

อีกหนึ่งตัวช่วยที่มีอิทธิพลในการสร้างสรรค์เรื่องราวของ ฉลาดเกมส์โกง คือนักแสดง 

พัฒน์เล่าว่าตอนที่เปิดแคสติ้งซีรีส์เรื่องนี้ เขาใช้บทภาพยนตร์ในการแคสต์เพราะบทซีรีส์ยังไม่เสร็จดี ข้อดีของวิธีการนี้คือได้เห็นว่านักแสดงใหม่ในบทเก่านั้นตีความต่างออกไปยังไงบ้าง 

สิ่งที่พัฒน์และทีมงานมองหาจาก ลิน แบงค์ พัฒน์ และเกรซคนใหม่คือเสน่ห์ ทักษะ เข้าถึงบทได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งความเป็นธรรมชาตินี้เองที่ช่วยประกอบสร้างคาแร็กเตอร์ของเวอร์ชั่นซีรีส์ให้โดดเด่นและแตกต่างจากเวอร์ชั่นเดิม

สิ่งที่ ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นซีรีส์แตกต่างแน่ๆ คือคาแร็กเตอร์ของเด็กสี่คนที่ได้มาจากนักแสดงจริงๆ ลินคือจูเน่ (เพลินพิชญา โกมลารชุน) ที่ผสมลินในเวอร์ชั่นซีรีส์ แบงค์คือเจ้านาย (จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) แบงค์ พัฒน์ เกรซ ก็เหมือนกัน

“ย้อนกลับไปตอนเราเขียนบท เราพยายามจับจุดเด่นหนึ่งอย่างที่ชัดที่สุดของตัวละครออกมา เป็นคำหนึ่งคำที่แต่ละคนอาจคิดไม่เหมือนกัน บางคนเวลานึกถึงลินอาจนึกถึงความฉลาด แต่ของเรามันคือความขบถ ซึ่งจูเน่มีสิ่งนี้ ขบถในที่นี้หมายถึงเขาจะไม่ไหลไปตามสิ่งที่คนบอกเขา ไม่ได้พยายามขวางนะ แต่พยายามถามว่าทำไม ตอนถ่ายเขาจะชอบแย้งว่าหนูไม่เข้าใจไดอะล็อกนี้ ลินไม่พูดแบบนี้หรือเปล่า พอจูเน่ทักมามันโคตรใช่เลย เออ อันนี้เราเขียนไม่ดีเอง ก็ถามความเห็นเขาว่าควรเปลี่ยนเป็นอะไร พอเขาเสนอมามันก็ใช่ ถูก นี่คือสิ่งที่เราบอกว่าคาแร็กเตอร์นี้เป็นคาแร็กเตอร์จูเน่ ในขณะเดียวกันเป็นคาแร็กเตอร์ลินด้วย

“ส่วนของเจ้านายคือความอ่อนโยน เขาโตมาในบ้านที่มีพี่น้องหลายคน ดูเผินๆ จะรู้สึกแมนๆ เท่ๆ แต่เจ้านายจริงๆ ตรงข้ามมาก พอเขาเล่าเรื่องที่บ้าน ทัศนคติเวลาพูดถึงคนอื่นๆ คือความเป็นห่วงเป็นใย เราก็รู้สึกว่าเออ นี่คือแบงค์ว่ะ แต่เป็นแบงค์คนละตัวกับในหนังที่มุทะลุ พุ่งชน แต่แบงค์คนนี้จะใช้ความอ่อนโยนในการพยุงให้ก้าวเดินไปในวันที่ลำบาก เป็นคนละตัวกัน

“อย่างเกรซก็หลายมิติ แต่จุดเด่นที่ชัดที่สุดของนาน่า (ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) คือตอนเวลาเขาพูด จุดประสงค์เขาอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่อาจจะมีไม่มาก คนที่ฟังเลยเข้าใจอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นเรื่องใสไม่ใส น้องคนนี้จอมวางแผนหรือเปล่า ตัวละครของเขามีความซับซ้อนมาก

“ส่วนไอซ์ (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบที่สุดคือตอนพูด สิ่งที่เขาพูดอาจจะไม่ได้เท่ แต่วิธีการ ท่าทาง ความฝรั่งนิดๆ พูดไทยคำอังกฤษคำมันมีเสน่ห์แบบโคตรเป็นไอ้พัฒน์เลย ตอนเล่นเราจึงคิดว่าไอซ์ไม่น่าจะยาก เพราะเล่นเป็นธรรมชาติ เป็นตัวเองให้มากที่สุด เพราะเรื่องก่อนหน้านี้ที่ไอซ์เล่นมันไม่ได้ใช้ธรรมชาตินี้ของไอซ์ มันน่าจะดีถ้าคนดูได้เห็นธรรมชาตินี้ 

“พอรวมกันปุ๊บมันทำให้เราได้ผลลัพธ์ตัวละครที่คนดูจะรู้สึกว่ามันไม่ได้พยายามเป็นตัวละครในเวอร์ชั่นหนัง แล้วก็จะเลิกเปรียบเทียบไป เพราะทุกคนก็ไม่ได้พยายามเป็นนักแสดงเวอร์ชั่นนั้น เขาพยายามฟอลโลวตัวเขาเองที่เข้าใจตัวละคร”

 

7. เหมือนเยอะไม่ได้ ไม่เปลี่ยนเลยก็ไม่สนุก

เพราะการตีความตัวละครที่แตกต่างจากฉบับหนัง พัฒน์บอกว่าพัฒนาการของตัวละครจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามการตีความนั้น 

“ตอนปั้นตัวละคร เราพยายามคงไว้ซึ่งแก่นของคาแร็กเตอร์ที่พี่บาสเคยขึ้นไว้ ซึ่งแวบแรกเราไม่อินสี่ตัวนั้นเลยนะ พอรู้สึกไม่เชื่อมโยง เรารู้สึกว่างั้นเราคงต้องบิดตัวละครสี่ตัวนี้ไปในแบบที่เราเข้าใจมันมากขึ้นในทิศทางที่เราสนใจ

พัฒน์ไม่มีกฎในการ ‘บิด’ ตัวละคร สิ่งที่เขาคำนึงถึงคือเรื่องพื้นฐาน เช่น นิสัยและสถานภาพทางบ้าน “คืออยู่ดีๆ ลินจะรวย พัฒน์จะจน เป็นไปไม่ได้ พัฒน์ก็ต้องรวยอย่างนั้นไป ลินก็จะเป็นประมาณนี้

“กลายเป็นว่าตัวละครเหล่านี้จะนำพาสิ่งที่เราอินออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว มันดำเนินไปเรื่อยๆ แล้วอ้าว แม่งตัดสินใจไม่เหมือนในหนังว่ะ แล้วดูซิมันตัดสินใจยังไง เอ้า ลองไปต่อ เออว่ะ แม่งดันกำลังพูดในสิ่งที่เราสนใจ อันนี้ประหลาดดีเหมือนกัน เราเขียนไปเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ ตอนขมวดจบมันก็จบได้ซะงั้น”

นอกจากเรื่องนักแสดง อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พัฒน์ต้องคิดหนักคือซีนต่างๆ ที่ทีมเขียนบทตั้งคำถามว่าสามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม เพราะในฐานะที่เป็นหนังที่มีฐานแฟนอยู่แล้ว การได้ดูอะไรซ้ำเดิมอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงคนดูบางกลุ่มที่ไม่เคยดูหนังมาก่อนซึ่งอาจตื่นเต้นกับซีนเช่นกัน 

หลักการของพัฒน์คือ ซีนที่ตัดไม่ได้เลยจะเป็นซีนในลักษณะหมุดหมายใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่อง เช่น ซีนที่เป็นภาพจำอย่างซีนส่งคำตอบในยางลบ หรือซีนที่เป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่องอย่างการสอบ STIC ในประเทศออสเตรเลีย

“เราพยายามทำให้คนดูรู้สึกว่าเรารับไม้ต่อจากพี่บาส พอมาทำซีนที่มันไอคอนิกมาก คนชอบในหนังแล้วเราดันเล่าซ้ำคนจะรู้สึกยังไง ความซับซ้อนคือตัวละครของเราที่ถูกบิดไปตั้งแต่ต้น แล้วมาเจอสถานการณ์แบบนี้ มันก็เกิดคำถามว่าตัวละครจะทำอย่างเดิมไหม ก็อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายเขาก็จะเจอเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เดินทางไปเจอซีนที่เป็นหมุดหมายนั้นเอง”

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

8. ทริกแจกคำตอบใหม่ที่ใช้ได้จริง

ในขณะที่บางซีน โดยเฉพาะซีนโกงการสอบทั้งหลาย สิ่งที่พัฒน์ให้ความสำคัญพอๆ กับความตื่นเต้นคือความสมจริง

“มันมีกลโกงเป็นสิบๆ อันเลยที่ถูกโละทิ้งกระบะ เราคิดกันเยอะมาก จากตอนตั้งต้นที่ต้องตื่นเต้น 12 ตอน แล้วมันน่าจะสนุกดีว่า 12 ตอนมีกลโกงใหม่ทุกตอน พยายามหาความเมคเซนส์ว่าตัวละครจะทำไหม มันมีหลายอันที่ดีแต่ทิ้งไปเพราะตัวละครไม่ทำแน่ๆ

“เราลองเล่นดูจริงๆ ว่าเวิร์กไม่เวิร์ก อย่างซีนโค้ดเปียโนเราก็ลองทำแล้วมันหลุดง่ายมากเลย สมมติฝนๆ อยู่แล้วหลุดไปข้อนึงคือผิดหมด หรืออย่างซีนบอกคำตอบด้วยการยกมือขวา ในห้องเขียนบทเราลองทำ หนึ่งนาทียกแขนทีหนึ่ง มีพิรุธไหม ซึ่งมันเนียนมากเลย เพราะเรานั่งอยู่หนึ่งนาทีแหนะ มันนานมากเลย แล้วอีกหนึ่งนาทีมันนานมาก กว่าจะ 60 วิ เรารู้สึกว่าแม่งทำได้จริงว่ะ 

“ถ้ามันทำให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนนาฬิกาเข็มมาเป็นดิจิทัลคงสนุกดีเหมือนกันนะ” พัฒน์หัวเราะ

 

9. ซีรีส์ในสายตาของอดีตผู้กำกับภาพ

เพราะเคยเป็นผู้กำกับภาพในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น และเคยฝากสไตล์ภาพสุดแสบใน SOS skate ซึม ซ่าส์ ที่เขากำกับ พอมาถึง ฉลาดเกมส์โกง เขาก็ไม่ลืมจะฝากงานภาพและโปรดักชั่นสุดเซอร์เรียลที่แฝงนัยไว้อย่างแยบยล

ห้องเรียนที่มีหลอดไฟติดอยู่รอบห้องแทนที่จะเป็นตรงกลาง, ลินยืนอยู่ท่ามกลางชีทตำราเรียนที่ถูกโปรยลงจากตึก, โรงแรมของพัฒน์ที่ดูยิ่งใหญ่เกินเบอร์จนตัวละครที่จนกว่าดูตัวเล็กจ้อยลง, การเดินไปโดยเว้นระยะห่างเท่าๆ กันของตัวประกอบในชุดนักเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึง ‘ความเป็นระบบ’ ที่พัฒน์อยากสื่อ

“เราอินกับกล้อง การทำ Cinematograph และรู้สึกว่าเราสามารถสร้างโลกมาได้โดยกำหนดสี ยูนิฟอร์ม และเลย์เอาต์ของมัน เพราะหนังหรือซีรีส์ไม่มีอะไรจริง อย่างฉากห้องเรียนเรายังถ่ายในมหาลัย เดินไปหน้าห้องก็เป็นอีกที่ เดินลงบันไดก็เป็นอีกที่ เรารู้สึกว่าเราทำสิ่งที่ชอบได้ เราสามารถสนุกกับกระบวนการนี้ได้ มันคือเอนเตอร์เทนเมนต์สำหรับเรา เราก็อยากให้มันเอนเตอร์เทนตัวเราเองด้วย มันคือความสนุกที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ”

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

10. ความคาดหวังคือความหวัง

เมื่อ ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นซีรีส์ออกฉาย ฟีดแบ็กที่ถูกส่งมายังพัฒน์มีทั้งแง่บวกและลบ ถึงอย่างนั้นพัฒน์ก็บอกว่าไม่ว่าฟีดแบ็กจะเป็นยังไง เขาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

“ฟีดแบ็กในทวิตเตอร์ดีนะ เราอ่านจนปวดตาเลย ตอนทำ Let Me Grow กับ SOS แทบไม่ต้องตามเลย ผ่านไปสามวันฟีดแบ็กแม่งเท่าเดิม” พัฒน์ยิ้ม “อาจเป็นเพราะว่าเป้าหมายเราตอนแรกคือการทำให้คนดูเอนเตอร์เทนมั้ง แล้วคนดูก็เอนเตอร์เทนดี เราเลยมีความสุข คือตอนฉายไปแต่ละตอนก็มีคนชมเยอะ มีคนว่าบ้าง แต่พี่วรรณเคยบอกเราว่าการที่มีคนว่าเพราะมันแมส หมายถึงมันเข้าถึงคนเยอะ แล้วธรรมชาติของคนน่ะคือถ้าชมตามกันเยอะๆ ก็จะมีคนเข้ามาขัด มีข้อโจมตี ถ้าไม่มีคนโจมตีเลยแสดงว่ามันไม่แมส ซึ่ง Let Me Grow กับ SOS เป็นแบบนั้นเลย”

เมื่อเราถามว่าความคาดหวังของพัฒน์ที่มีต่อซีรีส์รีเมคเรื่องนี้คืออะไรนอกจากได้สกิลในการเล่าเรื่องให้คนหมู่มากฟัง เขานิ่งคิดอยู่นานก่อนจะตอบ

“พูดยังไงให้ไม่สปอยล์ดี” พัฒน์หัวเราะ “เราคาดหวังแบบ Naive เลยนะ อยากให้ใครก็ตามดูจบแล้วเขายังเชื่อได้ว่ามันมีสิ่งดีๆ และมีความหวังเหลืออยู่ในประเทศนี้นะ สิ่งนี้มั้งที่เราอยากให้เกิดขึ้น”

เพราะ ฉลาดเกมส์โกง ถือเป็นซีรีส์ที่โหดหินที่สุดสำหรับพัฒน์ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ หลายต่อหลายครั้งที่เขารู้สึกสงสัยว่ากำลังทำอะไรอยู่ “อันนี้สนุกเท่าฉบับหนังยังวะ ถ้าไม่สนุกเท่าแล้วทำทำไมวะ” คือประโยคที่เขาคิดอยู่เสมอตลอดการทำซีรีส์

แล้วได้คำตอบหรือยังว่าทำไปทำไม–เราถามคำถามสุดท้าย

“ได้นะ และคิดว่าคนดูก็น่าจะได้เหมือนกัน แต่จะเป็นอะไรนั้นก็รอดู”

บทสนทนาของเราจบลง แต่เข็มนาฬิกายังเดินต่อไป


ขอบคุณภาพเบื้องหลังการถ่ายทำจาก GDH

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน