“ก็ไม่ได้นอนฮะ” เขาหัวเราะหลังจากตอบคำถามเราว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง “เมื่อคืนเลิกงานตีห้า”
ชายหนุ่มบนหน้าจอยิ้มกว้างคล้ายบอกว่ายังไหวในนัดสัมภาษณ์ช่วงเช้า มันเป็นเช้าของวันหยุดที่เขาว่างเว้นจากการตัดต่อ แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2
“ใกล้ถึงฝั่งฝันหรือยัง” เราถาม เขาตอบว่าเหลืออีกแค่ 2 ตอนที่เขาจะขัดเกลามันให้ได้มากที่สุด ก่อนจะปล่อยให้มันไปเป็นของคนดูอย่างสมบูรณ์
บอกตามตรงว่าท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดและข่าวบ้านการเมืองที่สูบพลังชีวิตเราได้ทุกวัน ซีรีส์เรื่องนี้คืออีกเหตุผลที่เราบอกตัวเองให้มีชีวิตต่อเพื่อรอดู ส่วนหนึ่งเพราะพาร์ตที่แล้วทำออกมาได้สุดปังจนได้กระแสที่ดีทั้งในและต่างประเทศ อีกส่วนคงเป็นเพราะมันคือผลงานกำกับซีรีส์หลายตอนเรื่องแรกของ มีน–ทศพร เหรียญทอง ชายหนุ่มตรงหน้าเรา ผู้เคยมีชื่ออยู่ในเครดิตซีรีส์และหนังหลายเรื่องของค่าย GDH และนาดาว ทั้ง เลือดข้นคนจาง, ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ และล่าสุดคือ GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี
มีนเป็นคนจังหวัดมหาสารคามที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เขาเรียนจบเอกฟิล์ม โทการละคร จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานเขียนบทมาตั้งแต่นั้น มีนเล่าให้เราฟังว่า พอได้มาอยู่หลังกล้องในฐานะผู้กำกับ เขาทำในสิ่งเดียวกับที่ บอส–นฤเบศ กูโน ทำกับ แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 นั่นคือการหยิบประสบการณ์ส่วนตัวบางส่วนมาผสมกับเรื่องที่อยากจะเล่าและใส่ลงไปในซีรีส์
สำหรับมีน มันคือความเนิร์ดเรื่องการละครและชีวิตเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่
ส่วนเสี้ยวของชีวิตและความชอบของเขาคือส่วนประกอบที่เติมเต็มตัวละครเต๋กับโอ้เอ๋วให้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ สำหรับใครที่สงสัยว่าเส้นทางชีวิตของสองตัวละครจะเป็นยังไง เขยิบมาใกล้ๆ แล้วให้มีนบอกใบ้ด้วยการเล่าเรื่องของเขาให้ฟัง
กระแสของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ พาร์ตแรกดีมากๆ พอได้มารับช่วงต่อแบบนี้ คุณกลัวหรือกดดันว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าพาร์ตแรกบ้างไหม
กลัว ตอนนี้ก็กลัวอยู่ (หัวเราะ) นั่งตัดไปก็บ่นกับพี่คนตัดไปว่าจะเอายังไงดีว้า เพราะบอสทำออกมาได้ดี ตอนแรกที่รับปากว่าจะทำเราไม่กลัวเลยนะ ไม่กลัวในแง่ที่ว่า ไอ้เหี้ย มันจบไปแล้วอย่างสมบูรณ์แล้วเราจะเล่าอะไรต่อวะ แล้วหนังรักภาคสองส่วนใหญ่ก็คือบ้งๆ คนดูไม่ชอบทั้งนั้นเลย แต่ว่าพออ่านบทแล้วรู้สึกว่าดี เราหยิบ material มาทำต่อได้ พอมองเห็นภาพว่าพาร์ต 2 น่าจะมีเรื่องให้เล่าแหละ
จริงๆ มันมีบทที่บอสทำค้างไว้ส่วนหนึ่งให้เราได้ลองอ่านดูบ้าง แต่เราก็หยิบมาแค่บางส่วนที่เราชอบและเข้ากับทิศทางของเรา แต่พอเขียนบทไปสักเดือนสองเดือน พาร์ตแรกของบอสเริ่มออนแอร์ เราเริ่มเห็นฟีดแบ็ก เห็นกระแส เห็นวิธีการ (กำกับ) ของบอส พอไอ้สิ่งที่เราจินตนาการไว้ในบทกลายเป็นภาพ บอสมันอัพเลเวลขึ้นไปอีกระดับ เราเลยเครียดนิดหนึ่ง เพราะไดเรกชั่นของบอสกับของเราไม่เหมือนกันแน่ๆ แต่ประเด็นคือคนดูชอบของบอสไง ก็เลยเกิดความกดดันขึ้นมาว่าแล้วถ้าเราทำของเราในรสชาติของเรา มันจะเป็นยังไง
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกแบบนี้ แล้วยิ่งพอบอสกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ บอสก็จะเริ่มลงมาช่วยเราดู แต่ด้วยความที่บอสกำกับพาร์ตแรกมาด้วย บอสก็จะติดความเป็นไดเรกเตอร์มานิดๆ ทำให้เราสงสัยว่าถ้าบอสชี้บางอย่างแล้วเราจะไม่ไปทางที่บอสบอกมันได้ไหม เกิดความขัดแย้งในตัวเราประมาณหนึ่งว่าควรจะเลือกทางไหนดี สิ่งที่เราเลือกมันจะเป็นตัวเราแค่ไหน เพราะว่าบอสเองก็เป็นเหมือนคนที่สร้างเรื่องนี้ด้วย
สิ่งที่กดดันที่สุดจากการทำเรื่องนี้คืออะไร
คือการที่ต้องเข้าไปอยู่ในโลกของบอสนี่แหละ (หัวเราะ) เรารู้ว่าทุกคนรองานที่อยู่ในทิศทางของบอสอยู่ แล้วยิ่งกดดันเพราะมันเป็นเรื่องแรกของเราด้วย ถ้าทำไม่ดีขึ้นมาเราจะโดนแรงเสียดทานแค่ไหน ในอนาคตหน้าที่การงานของเราจะเป็นยังไง ก็คิดไปเรื่อย
แล้วบอกตัวเองให้ก้าวข้ามความกดดันนั้นได้ยังไง
ตอนนี้ก็ยังก้าวข้ามไม่ได้นะ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะตอนเขียนบทซึ่งเราเครียดมาก เพราะบทมันเป็นพาร์ตที่โดนวิจารณ์ง่ายที่สุด คนอ่านร้อยคนก็จะรู้สึกกับบทร้อยอย่าง มีคอมเมนต์มากมายมหาศาล ซึ่งเรามารู้สึกดีขึ้นตอนที่เริ่มฝึกสอนการแสดงให้น้อง เราเลือกพี่เชลล์ (ประวีร์ แซ่อึ้ง) กับครูวุ้น (วรัญญา หมุนแก้ว) มาช่วยฝึก แล้วพี่เชลล์จะเป็นคนที่มีสติกับทุกอย่างในชีวิตมากๆ ก่อนเริ่มงานเขาถามพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ให้เคลียร์ว่าถ้าเขาจะรับงานนี้ ต้องการให้เขามาทำอะไร แล้วเขาก็จะถามเราเหมือนกันว่าทำซีรีส์เรื่องนี้เราต้องการอะไร
เราพูดไป 3 อย่าง เราอยากทำให้มันดีที่สุด เขาก็ถามต่อว่าถ้ามันไม่ดีที่สุดเราก็จะเสียใจใช่ไหม เราบอกต่อว่าเราอยากทำซีรีส์ให้คนชอบ เขาก็ถามต่อว่าแล้วคนไม่ชอบเราก็จะเสียใจใช่ไหม จนข้อสุดท้าย เราตอบไปว่าเรามีประเด็นที่เราอยากจะเล่าเหมือนกัน แล้วพี่เชลล์ก็ซื้อ โอเค อันนี้ทำได้ เราควบคุมได้ เราก็แค่เล่าเรื่องนั้นให้ได้เท่านั้น
เรายึดหลักของพี่เชลล์มาใช้ในทุกขั้นตอนหลังจากนั้น จัดการความเครียดด้วยการมองส่วนที่เราคอนโทรลได้ แล้วก็ตั้งเป้าหมายของตัวเองจริงๆ แบบไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ย้อนกลับไป โปรเจกต์นี้ตั้งใจให้มีสองพาร์ตตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า
จริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่บอสทำ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน จบแล้วเขาอยากทำอะไรที่มันสั้นลง ประเด็นคือตัวแพลตฟอร์มที่เราเอาไปลงเขาอยากได้อะไรยาวๆ เพราะอยากให้คนดูได้ติดตาม แล้วจะทำยังไงดี ขยายเรื่องเหรอ แต่บอสคงยืนยันว่าอยากทำเรื่องสั้นๆ จริงๆ นาดาวก็เลยเกิดความคิดว่างั้นก็ทำสองพาร์ตไปเลย สิบตอน สองผู้กำกับ
ตอนแรกเหมือนบอสเขาจะทำพาร์ต 2 ต่อเองด้วยนะ เริ่มเขียนบทไปได้นิดหนึ่งแล้ว แต่ช่วงนั้นต้องออกกองที่ภูเก็ตพอดี ทีมเขียนบทก็เหมือนต้องมานั่งคิดกันต่อเอง แล้วก็พี่ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) เขารู้สึกว่าพอบอสไม่ลงมาคุม ไดเรกชั่นของการเขียนบทมันก็ไม่มี พอบอสถ่ายเสร็จกลับมาจะมาเขียนต่อก็ไม่ได้เพราะต้องไปตัดต่อ ไทม์ไลน์ที่ตอนแรกเราวางกันไว้มีท่าทีว่าจะไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องมีผู้กำกับคนใหม่แน่นอน
จำได้ว่ามันเป็นช่วงโควิดรอบแรกที่เราเพิ่งเสร็จงาน GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี ก็เลยกลับบ้านต่างจังหวัด ไปอยู่มหาสารคามยาวๆ ตอนบอสโทรมาเราดีใจมากเพราะอยากลองงานกำกับอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเราทำงานเขียนบทมาหนักมากบวกกับกลัวโควิด เลยยังไม่รับดีกว่า ผ่านไปอีกเดือนสองเดือน อยู่ๆ พี่ปิงก็โทรมาชวนอีกรอบ ที่ซื้อคำพูดพี่ปิงเลยคือ เขาบอกว่าเราเป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนบอส อยากได้ input ว่าการเป็นเด็กต่างจังหวัดมาอยู่เมืองกรุงมันจะเป็นยังไง และเชื่อว่ามีนจะมีวิสัยทัศน์หรืออะไรบางอย่างที่สามารถเล่าเรื่องของสองตัวละครนี้ได้ ช่วงนั้นโควิดก็เริ่มซาแล้ว เราเลยตอบตกลง
พาร์ตที่แล้วจบลงที่ตัวละครเต๋กับโอ้เอ๋วตกลงเป็นแฟนกัน ซึ่งซีรีส์รักส่วนใหญ่ก็จบแบบนั้น อะไรทำให้คุณสนใจอยากเล่าเรื่องนี้ต่อ
ด้วยความที่ซีรีส์มันเป็น coming of age เราก็รู้สึกว่ามันยังไปต่อได้อีก มันมีการตั้งคำถามว่าความรักครั้งแรกมันจะสุขสมหวังไปตลอดกาลจริงเหรอ บวกกับพาร์ตที่แล้วมันทิ้งประเด็นบางอย่างไว้ เช่น โอ้เอ๋วมันเป็นคนไม่ค่อยรู้ตัวเองในแง่เส้นทางชีวิต แต่เป็นคนที่รู้ชัดในเรื่องความสัมพันธ์ ส่วนไอ้เต๋มันเป็นคนที่แม่งสับสนฉิบหายในเรื่องความสัมพันธ์ แต่เรื่องความฝันมันมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็ก เราก็เก็บสิ่งนี้ไว้แล้วก็เอาสองคนนี้มาปะทะกันต่อในพาร์ต 2 ก็น่าจะเกิดคอนฟลิกต์บางอย่างได้แล้วแหละ
บวกกับความเป็นมหา’ลัย เราก็คุ้ยชีวิตตัวเองออกมาว่ามันมีพาร์ตของเด็กต่างจังหวัดที่ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเราอยากเล่า พอทั้งตัวเราก็มีเรื่องเล่า ตัวละครก็ดูมีเรื่องเล่า ก็แปลว่ามันน่าจะมีเรื่องที่เล่าต่อได้
บิวกิ้น-พีพีเคยเล่าให้ฟังว่าองค์ประกอบของบทส่วนหนึ่งในพาร์ตที่แล้วพัฒนามาจากตัวตนของพวกเขาเองด้วย ในพาร์ต 2 มีแบบเดียวกันไหม
ถามว่ามีไหม มี แต่เราไม่ได้ตั้งใจแต่แรกที่จะไปคุยกับน้องๆ เพื่อเอามาเขียนบท อาจเพราะมันเป็นเหมือนวิธีการทำงานส่วนตัวของเราที่ไม่เคยสัมภาษณ์นักแสดงเพื่อเอามาเขียนบทเลย เราเลยติดนิสัยนี้มาทำงาน จะมีบ้างที่ตอนเขียนบทแอบดูคาแร็กเตอร์ของเขา ส่องในอินสตาแกรมเขาบ้าง และก็อาจจะมีบางส่วนที่หยิบเรื่องของน้องมาใช้โดยไม่รู้ตัว เราเขียนบทเรื่องนี้กับทีมอีกสองคนคือ แฮม (วสุธร ปิยารมณ์) และเกด (การะเกด นรเศรษฐาภรณ์) ซึ่งน้องเกดเขาจะสนิทกับพีพี-บิวกิ้น มันจะมีบางเวลาที่เกดโยนไอเดียบางอย่างที่มาจากนิสัยจริงๆ ของน้อง เราก็รับฟัง ถ้าชอบก็จะหยิบมาใช้ แต่จะไม่ได้เหมือนพาร์ตแรกที่เอาน้องๆ มานั่งคุย
แต่ตอนน้องๆ อ่านเขาก็บอกว่ามีส่วนที่บังเอิญเหมือนชีวิตจริงเยอะเหมือนกันนะ แต่บังเอิญแหละ (ยิ้ม)
สิ่งที่เปลี่ยนไปแน่ๆ ใน แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 คืออะไร
สิ่งที่เปลี่ยนไปแน่ๆ คือการเล่าแบบข้ามเวลาเยอะๆ จริงๆ ในเทรลเลอร์อาจจะยังไม่เห็น แต่ในเนื้อเรื่องมันคือตอนละหนึ่งปี
มีความเป็น slice of life
ใช่ๆ และยังคีพคอนเซปต์ coming of age ที่ภาคแรกทำ
แล้วพัฒนาการของตัวละครเต๋-โอ้เอ๋วล่ะ จะเป็นไปในทิศทางไหน
(นิ่งคิด) เราจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้นของทั้งสองคน นิสัยปีนี้เป็นอย่างนี้ บุคลิกเป็นอย่างนี้ ปีต่อๆ ไปก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งบุคลิกภายนอก การแต่งกาย ความคิดที่โตขึ้น เต๋ที่อาจจะเป็นคนที่งี่เง่าเหมือนเดิมแต่รู้ตัวมากขึ้นว่าเราจะแสดงออกต่อสังคมยังไง หรือโอ้เอ๋วเองก็เริ่มมองเห็นตัวเองชัดขึ้น
ตอนพาร์ตแรกโอ้เอ๋วจะมีความฝันร่วมไปกับเต๋ ฟีลแบบว่าอยู่ๆ ก็ชอบการแสดงขึ้นมา เห็นเต๋เป็นเหมือนคนที่เขายึดเป็นแนวทาง แต่พาร์ต 2 โอ้เอ๋วเขาก็จะมีกลุ่มเพื่อน มีความชอบบางอย่างที่เปลี่ยนไป และเป็นตัวเองมากขึ้น เริ่มไม่ต้องแคร์อะไรใครเท่าไหร่แล้ว ส่วนเต๋ก็จะโตขึ้น แต่ยังงี่เง่าเหมือนเดิม สับสนบางอย่างเหมือนเดิมนะ (หัวเราะ) เพราะเขาจะได้เข้าไปอยู่ในคอนฟลิกต์ที่ชวนสับสนยิ่งกว่าพาร์ตแรก ซึ่งพาร์ตแรกตอนดูหลายคนก็จะคิดว่ามึงรักเขาแหละ ทำไมมึงไม่ยอมรับ แต่พาร์ต 2 เต๋ก็จะสับสนในสิ่งที่คนดูก็อาจจะสับสนตามเหมือนกัน
แล้วในฐานะผู้กำกับ พัฒนาการของบิวกิ้นกับพีพีเป็นยังไง
เก่งขึ้นเยอะ คือตัวเราเองไม่ได้สนิทกับน้อง ไม่เคยออกกองกับเขา ก็ไม่ได้รู้มากหรอกว่าก่อนหน้านี้เขาเป็นยังไง แต่จะได้ยินจากปากคนอื่นมากกว่า เช่น พี่ย้งซึ่งไปดูทั้งสองกองเลย พี่ย้งก็จะชมเลยว่าน้องเล่นดีกว่าพาร์ตหนึ่งเยอะมาก เหมือนพาร์ตหนึ่งมีความช็อกที่อยู่ๆ ขึ้นมาเป็นตัวหลักที่โผล่แทบทุกฉากในเรื่อง มันเตรียมตัวเตรียมใจไม่ทัน พอพาร์ต 2 มีการเวิร์กช็อป ซ้อมบทก่อนทุกคิว น้องทำการบ้านเยอะขึ้นเรื่องการตีความบท มันก็เห็นผล พี่ย้งก็ชมใหญ่เลย ไม่รู้ว่าชมกับน้องหรือเปล่า แต่แอบมากระซิบให้เราฟัง
พอได้ทำงานร่วมกับบอสที่กำกับพาร์ตที่แล้ว บอสได้ให้คำแนะนำด้านการกำกับกับคุณบ้างไหม
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการแสดงของน้องสองคนมากกว่า บอสเองจะรู้จักพีพี-บิวกิ้นมาตั้งนานแล้ว สนิทกับน้องๆ มากจนรู้ว่าควรจะไกด์เขายังไง อย่างคิวแรกเป็นซีนที่โอ้เอ๋วต้องร้องไห้อยู่กับเพื่อนๆ ซึ่งไดอะล็อกที่เขาพูดจะสวนทางกับอารมณ์ เหมือนพูดเรื่องแฮปปี้แต่กลับร้องไห้ บทตรงนั้นมันยากและพีพีเองก็อาจจะยังไม่ได้อินขนาดนั้นเพราะมันเป็นคิวแรกด้วย น้องเลยร้องไห้ไม่ออก บอสก็มาสะกิดเราเลยว่าเอาบิวกิ้นมายืนหลังกล้องไหม ให้น้องส่งให้กัน ซึ่งจริงๆ แล้วซีนนั้นไม่มีบิวกิ้นนะ
เราก็อะ ลองดูก็ได้ ในใจตอนแรกไม่เชื่อ อะไรมันจะมิราเคิลขนาดเอาคนมายืนหลังกล้องแล้วมึงจะร้องไห้วะ สุดท้ายคือ เออ ร้องไห้ได้จริง (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องอะไรแบบนี้ที่เราไม่ได้รู้จักน้องๆ เท่าที่บอสรู้จัก บอสก็อาจจะช่วยในพาร์ตนี้ได้
ในแง่การกำกับ ทิศทางการกำกับของคุณกับบอสต่างกันยังไง
ค่อนข้างต่าง จริงๆ พาร์ตแรกกับพาร์ต 2 มีโทนเรื่องที่ต่างกันอย่างชัดเจน พาร์ตแรกจะมีความเรียบๆ ช้าๆ ละเมียด ละเอียด หรือมีซีนที่ไม่ได้พูดแต่ตัวละครจะจินตลีลากัน (หัวเราะ) และบอสจะเน้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์มากๆ จนเราไม่รู้จะเล่นในแง่มุมไหนแล้ว ในพาร์ต 2 เราเลยเปลี่ยนมาเล่นกับประเด็นดีกว่า ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี่แหละ แต่ละ EP ก็จะเจอสเตปของการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตัวละครค่อยๆ รู้สึกต่อกันเปลี่ยนไป ในแต่ละ EP จะมีประเด็นของมันว่าสองคนนี้จะได้เจออะไรบ้างก่อนที่เขาจะเติบโต
มันเป็นการตีความใหม่ของเราด้วย เพราะฉะนั้นการดำเนินเรื่องของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 จึงไม่ได้เนิบ ส่วนหนึ่งเพราะเราติดการเล่าเรื่องแบบเร็วๆ อีกส่วนคือเพราะเราเลือกเล่าแบบข้ามปี ซึ่งถ้าเลือกทางละเมียดมันอาจจะไม่เหมาะ
พาร์ตก่อนบอสมีการใส่ความเป็นตัวเองลงไปในเรื่อง เช่น เซตติ้งของตัวละครที่เติบโตในต่างจังหวัด แล้วพาร์ตนี้คุณมีการใส่ตัวเองลงไปบ้างไหม
ก็มีการใส่คอนฟลิกต์บางอย่างที่เกิดขึ้นเพราะว่าความเป็นเด็กต่างจังหวัดนี่แหละ อย่างเรื่องหอในที่เราจะอินมากเพราะเราเคยอยู่หอในมหา’ลัยเหมือนกัน คนอื่นๆ อ่านบทแล้วอาจจะบอกว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเต๋กับโอ้เอ๋วนะ ซึ่งเราก็เถียงขาดใจว่ายังไงก็จะเล่า เพราะไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่าเราจะมาทำตามโจทย์อย่างเดียว เราต้องมีสิ่งที่ยึดเกาะว่านี่คือตัวเราด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องประสบการณ์ความรักด้วย การทะเลาะกับแฟน หรือประเด็นเรื่องการเรียนที่โอ้เอ๋วจะย้ายภาคอย่างที่เห็นในเทรลเลอร์ เราก็ต้องไปรีเสิร์ช ไปถามเพื่อนสนิทเราคนหนึ่งที่ต้องย้ายภาคตอนปี 3 ด้วยเหตุผลบางอย่าง ก็เอามาจากทั้งชีวิตเราและเพื่อนตอนช่วงมหา’ลัย
มีซีรีส์หลายเรื่องที่เล่าเรื่องมหา’ลัยกันจนช้ำ แล้ว แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 จะเล่าให้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ได้ยังไง
เราจะลงลึกกับภาคการละครมากๆ ซึ่งจริงๆ คล้ายพาร์ตแรกแหละที่บอสเองก็ลงลึกกับภาษาจีน เรารู้สึกว่านี่เป็นเสน่ห์ของเรื่อง ก็จะมีส่วนหนึ่งเลยที่เราเอาพวกวิชาการบางอย่างมาใส่ ซึ่งไม่รู้ว่าคนดูจะชอบหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวเราก็เป็นคนเนิร์ดคล้ายๆ เต๋ด้วย เราจะเข้าใจเต๋ว่าเข้าภาคแล้วเรามีความสุข มันแฮปปี้ที่ได้เรียนในสิ่งที่เราอยากเรียน เราก็จะพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมา
อีกจุดที่เด่นมากๆ จากพาร์ตที่แล้วคือซีรีส์นำเสนอเมืองภูเก็ตให้เป็นเหมือนอีกตัวละครสำคัญของเรื่อง พอพาร์ตนี้ย้ายมากรุงเทพฯ เรามีโอกาสที่จะเห็นกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโรแมนติกไหม
เราพยายามอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาแล้วดูโรแมนติกหรือเปล่า ความจริงแล้วกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในคอนฟลิกต์ความสัมพันธ์ของสองคนนี้อยู่ประมาณหนึ่ง เราอยากทำให้กรุงเทพฯ มีคาแร็กเตอร์ที่กระทบชีวิตผู้คนที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ก็จะมีทั้งซีนที่โรแมนติกซึ่งเป็นสถานที่ที่เรารู้สึกว่ามันโรแมนติกจริง ซีนการใช้ชีวิตแบบยากลำบาก และซีนแบบตัวละครไปนั่งกินข้าวกันข้างทางซึ่งฉายให้เห็นความเป็นเมืองดี
ฟังดูเรียลดี แต่พูดถึงความเรียล อีกเรื่องที่คนดูชาว LGBTQ+ หลายคนรู้สึกเชื่อมโยงได้มากในพาร์ตที่แล้ว คือการฉายภาพของเต๋ที่ต่อสู้กับการยอมรับว่าตัวเองชอบผู้ชาย แล้วพาร์ตนี้จะลงไปสำรวจประเด็นที่ LGBTQ+ จริงๆ เจออีกไหม
จริงๆ ก็พยายามที่จะทำอยู่ แต่เราว่าเราไม่ได้สนใจพาร์ตนี้เท่าไหร่แล้วตอนที่เราทำ ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่สนใจประเด็น LGBTQ+ แต่เรารู้สึกว่าไม่รู้จะเล่าอะไร (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าความรักของ LGBTQ+ พาร์ตที่หนักที่สุดคือพาร์ตที่จะยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องจริง แต่หลังจากยอมรับได้แล้วก็เหมือนคนรักกันทั่วไป อีกอย่างคงเพราะเราอยากจะทำเรื่องนี้ให้คนดูได้ฟีลลิ่งใหม่ๆ เลยคิดว่าถ้าเรายังคีพคอนฟลิกต์เรื่อง LGBTQ+ ต่อ เช่น การขยี้ว่าแม่เต๋จะรู้เมื่อไหร่ อุตส่าห์มากรุงเทพฯ แต่คนกรุงเทพฯ ก็ยังทำให้เต๋หรือโอ้เอ๋วต้องปิดซ่อนตัวเอง เราก็จะรู้สึกว่าคาแร็กเตอร์ของสองเมืองนี้มันไม่ต่างกันเลย
ตอนอยู่กรุงเทพฯ สองคนนี้มันควรจะมาเจอสังคมใหม่ๆ มันก็เลยมีตัวละครใหม่ๆ เข้ามา อาจจะมีตัวละครที่มีความคลุมเครือ เอ๊ มึงเป็นเพศไหนกันแน่ เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันมีความคลุมเครือนี้อยู่ ทุกอย่างดูเป็นไปได้หมด อย่างโอ้เอ๋วก็จะได้มาเจอแก๊งเพื่อนที่อาจจะเป็นทางเดียวกับตัวเองหมดเลย ไม่ใช่เพื่อนผู้ชายเย้วๆ เหมือนพาร์ตแรกแล้ว เขาจะได้เจอคนที่คลิกกันมากขึ้น ได้พูดคุยประเด็นที่ไม่เคยคุย เช่น คุยเรื่องผู้ชายกัน
มีกระแสในอินเทอร์เน็ตที่พูดถึงความสัมพันธ์ของเต๋กับโอ้เอ๋วว่าดูเทรลเลอร์แล้วดราม่าจัง LGBTQ+ จะสมหวังไม่ได้เหรอ คุณคิดว่าการนำเสนอความดราม่ามันจะเป็นการผลิตซ้ำภาพจำว่าชีวิต LGBTQ+ จะต้องดราม่าหรือเปล่า
ถ้าพูดอย่างนี้เรารอดตัว เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เอาประเด็น LGBTQ+ มาขยี้ดราม่า มันเป็นประเด็นอื่นมากกว่า แต่ถ้าพูดในแง่ปกติว่าทำไมต้องสร้างซีรีส์เครียดๆ ออกมา อาจจะตอบได้ว่าเรารู้สึกว่าความเป็น coming of age มันต้องผ่านการเจ็บปวดมามันถึงจะเติบโต
เวลาเราคิดงานเราไม่ได้คิดบนฐานว่าทำยังไงให้คนดูดูเยอะๆ เราเลยเลือกจะเล่าสิ่งที่ตัวเองอยากเล่ามากกว่า ซึ่งมันอาจจะดูดราม่าหน่อย แต่จริงๆ มันมีหลายรสชาติกว่านั้น
แล้วจริงๆ มันก็ไม่ได้ดราม่าเพราะเป็น LGBTQ+ ด้วย ทุกความสัมพันธ์มันก็ต้องเจอดราม่ากันทั้งนั้น
แหม่ ถ้าดูหนังรักภาคสองมันก็ต้องมีอะไรแบบนี้อยู่แล้ว มันต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องมันถึงจะสนุก ตอนแรกทีมเขียนบท struggle กับการหยิบเรื่องราวของคู่รักที่ทะเลาะกันมาเล่า เพราะมันมีเยอะมาก แล้วเราจะเลือกอะไรที่มันเหมาะกับตัวละครนี้ แต่สุดท้ายเราก็มองว่าพาร์ตแรกมันเล่าถึงความฝัน มันแข่งขันกันเข้ามหา’ลัย พาร์ต 2 ก็คงจะไปทะเลาะกันเรื่องการใช้ชีวิต เป็นแฟนกัน อาจจะมีได้บ้าง แต่มันคงไม่ได้มีหนักมากเท่ากับเรื่องความฝันอยู่แล้ว เพราะพาร์ตแรกเขา bold เรื่องนี้มาเราก็ต้องรับไม้ต่อมาเล่าต่อ ไม่งั้นมันจะดูไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
จนถึงตอนนี้คุณพอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาไหม
ถึงตอนนี้ก็ยังพอใจอยู่ คืออย่างน้อยมันก็มีอะไรที่เราชอบในนั้น วัดจากตัวเองดีกว่า ก็โอเค พอใจฮะ
ตอนจบของซีรีส์นาดาวหลายเรื่องมักมีกระแสจากคนดูที่พูดเล่นๆ ว่าจะไปเผานาดาว แล้วเรื่องนี้ล่ะ มีโอกาสไหมที่นาดาวจะโดนเผา
อาจจะมีแหละ แต่ก็…ไม่รู้ ต้องไปดูกัน (ยิ้ม)
แล้วในฐานะคนที่ปลุกปั้นมันมาตั้งแต่ต้น คุณคาดหวังอะไรจาก แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2
ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรไว้เลย (หัวเราะ) เราคิดว่าแค่ทางนาดาวเปิดโอกาสในการทำซีรีส์ เอาสิ่งที่เราอยากพูดออกมาพูดผ่านซีรีส์ แค่นี้เราก็โอเคแล้ว รู้สึกสมหวังประมาณหนึ่งแล้ว
แต่ถ้าสุดท้ายแล้วการดูซีรีส์เรื่องนี้จะช่วยให้คนดูดูแล้วเติบโตตามตัวละครมันก็โอเค ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังถึงขนาดว่าทุกคนต้องประสบสิ่งนั้นเหมือนกัน ถ้าคนดูได้อะไรก็แล้วแต่คนดูเลย
ที่คุณบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้เล่าสิ่งที่ตัวเองอยากเล่า แล้วเมสเซจของสิ่งที่คุณอยากเล่าออกไปจริงๆ คืออะไร
จริงๆ เรารู้สึกว่า…เอ๊ มันก็สปอยล์สิ ไปดูตอนจบดีกว่า (หัวเราะ)
แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 เริ่มฉายตอนแรก 27 พฤษภาคมนี้ที่ LINE TV