“สิ่งที่เราเชื่อต่างหากที่นิยามตัวเรา” สนทนาถึงการแสดงและการเมืองกับเอม ภูมิภัทร

สะใจเหรอ ไม่สิ น่าสงสารมากกว่า

นี่คือความรู้สึกของฉันหลังจากดู ‘SOTUS’ หรือรับน้อง ตอนหนึ่งของซีรีส์ thriller ภาคต่อ Girl from Nowhere ซีซั่น 2 ที่เป็นกระแสระดับสากลขนาดที่ติดท็อป 10 ของเน็ตฟลิกซ์ในหลายประเทศ

นอกจากประเด็นรับน้องและอำนาจนิยมที่ชวนให้ขบคิดต่อว่าตัวละคร ‘แนนโน๊ะ’ กับ ‘ยูริ’ ที่รับบทบาทเป็นผู้ลงโทษทำถูกต้องแล้วไหมนั้น ฉันพบว่าตัวละคร ‘เค’ ผู้ที่เป็นทั้ง ‘รุ่นพี่ที่มีอำนาจ’ และ ‘รุ่นน้องที่อยู่ใต้อำนาจ’ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

“เจอพระไม่เป็นไร แต่เจอรุ่นพี่มึงต้องไหว้”

จากประโยคเด็ดและท่าทีกร่างของเคในบทบาทรุ่นพี่ตอนต้นเรื่อง ไปสู่จุดพลิกผันพาสถานะของเขาให้คว่ำคะมำล้มหงายกลายเป็นรุ่นน้องอีกครั้ง ก่อนจะพบประสบการณ์รับน้องอันโหดร้ายที่เขาต้องยอมคลานเป็นหมา วิ่งไปคาบกระดูก ถอดเสื้อผ้า และติดอยู่ในกรงขอเศษอาหารประทังชีวิต

แน่นอนว่าด้วยความเรตและความแรงของเนื้อเรื่อง รวมถึงการอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง ทำให้ตอนรับน้องได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ทว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มันไปไกลกว่านั้นคือ เอม–ภูมิภัทร ถาวรศิริ นักแสดงผู้รับบท ‘เค’ ที่แสดงได้ดีจนคนเทใจพากันสงสาร สะใจ และสมเพชไปพร้อมๆ กัน

ฉันจำเขาได้จากบทบาทนักแสดงนำในหนังเรื่อง นคร-สวรรค์ โดยพวงสร้อย อักษรสว่าง จากนั้นก็คุ้นหน้าคุ้นตาจากอีกหลายมิวสิกวิดีโอ ละครเวที นิทรรศการศิลปะ รวมถึงพื้นที่ที่อาจไม่เกี่ยวกับการแสดงอย่างในม็อบประชาธิปไตย

ปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 ของการก้าวสู่สายการแสดงอย่างเต็มตัวของเอม ถึงเขาจะไม่อยากนิยามตัวเองเป็นนักแสดง แต่ฉันเชื่อว่าใครหลายคนคงจดจำเขาในฐานะนักแสดงรุ่นใหม่ฝีมือดีคนหนึ่ง

และอีกมุมหนึ่งเขาก็ใช้สิทธิใช้เสียงตัวเองยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เข้าร่วมม็อบคณะราษฎร และทำทุกอย่างเท่าที่ประชาชนผู้หวังอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นคนหนึ่งจะทำได้

ในยุคที่การเมืองกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการติดตาม-เลิกติดตามใครสักคน เขาในฐานะคนทำงานมองเรื่องนี้ยังไง แล้วเขาเห็นความเกี่ยวข้องใดในการรับน้องและการเมืองไทยบ้าง

เอมพร้อมตอบแล้ว

คุณเริ่มสนใจการแสดงตอนไหน

ช่วงมหาวิทยาลัยผมเรียนกราฟิกดีไซน์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี​พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มันประกอบด้วยหลายๆ วิชาเอกที่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมบัณฑิต แต่มีศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตด้วยอย่างจิตรกรรม ถ่ายภาพ หรือภาพยนตร์ ซึ่งส่วนมากผมใช้เวลาขลุกตัวอยู่กับเพื่อนฝั่งนี้มากกว่าเพื่อนที่เรียนกราฟิกฯ ก็มีโอกาสดูพวกมันทำงาน ไปช่วยทำงานบ้าง ทั้งในตำแหน่งที่เป็นคนทำงานเบื้องหลังและนักแสดง

ผมได้มีโอกาสเล่นหนังทีสิสให้เพื่อน รุ่นพี่ และเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย แล้วพี่โรส พวงสร้อย เห็นผมในหนังทีสิสของเพื่อน เลยชวนไปแคสต์หนังเรื่อง นคร-สวรรค์ ซึ่งหลังจากเรื่องนั้นที่เป็นงานแสดงงานแรกแบบจริงจัง ผมเริ่มรู้สึกว่ามันสนุกดี และถือว่าโชคดีที่ยังมีคนชวนไปทำนั่นทำนี่เรื่อยๆ ก็เลยยังได้แสดง แต่ผมก็ไม่ได้ทิ้งสิ่งที่เรียนมานะ 

ผมรู้สึกว่าการแสดงคือ art form กราฟิกก็คือ art form สุดท้ายมันเป็นไซเคิลที่เวียนต่อกันได้ไม่ยากอยู่แล้ว อีกอย่างผมก็ทำโปรเจกต์ส่วนตัวที่เป็นงานกราฟิกมาเรื่อยๆ ทำพวกซีนรวมภาพถ่ายของตัวเอง เรายังสนใจในแขนงของ communication art เสมอ ยังรู้สึกสนุกกับการได้เห็นงานกราฟิกและคอลลาจสวยๆ อยู่ แค่ไม่ได้มีเวลาและแพสชั่นในการสำรวจมัน แต่ยังเอนจอยทุกครั้งที่ได้เห็นงานดีๆ

แล้วชอบอะไรในการแสดง

ยังหาอยู่ รู้แค่ว่าชอบแต่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร ค่อยๆ หาไป (นิ่งคิด) ผมอาจจะไม่ได้อยากได้คำตอบก็ได้นะ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่ากูต้องค้นหาให้ได้ว่าทำไมกูถึงชอบมัน ณ วันนี้ผมแค่ทำเพราะมันสนุก แต่พรุ่งนี้ผมอาจอยากเป็นนักเบสบอล อยากไปโคชิเอ็งก็ได้ (หัวเราะ) แต่วันนี้ผมยังเอนจอยกับตรงนี้อยู่ และโชคดีมากๆ ที่ยังมีคนชวนไปทำอะไรสนุกๆ

คุณมารับบท ‘เค’ ในซีรีส์ Girl from Nowhere ซีซั่น 2 ได้ยังไง

ไปกินเหล้าแล้วบังเอิญเจอพี่เอส (คมกฤษ ตรีวิมล) ที่กำลังหาแคสต์ของตัวละครเคอยู่ เขาก็เล่าคร่าวๆ ให้ฟังว่าตอนนี้เกี่ยวกับการรับน้อง คนที่เคยอยู่จุดสูงสุดของอำนาจตกลงมาสู่จุดต่ำสุด เราก็คิดว่าน่าสนใจ เพราะปีที่แล้วเราค่อนข้างเอนจอยกับงานที่ต้องใช้ร่างกายในการทำงานเยอะๆ รู้สึกว่ากำลังมองหาบทลักษณะนั้นอยู่ พออ่านบทเจอว่าต้องเป็นหมา ต้องเห่า ก็ลองแคสต์ดู โชคดีที่เขาเลือก

ทำการบ้านกับตัวละครเคเยอะไหม ดูมันห่างไกลจากตัวคุณเหมือนกัน

พาร์ตของผู้ถูกกดขี่ไม่ห่างไกลหรอก ผมเชื่อว่ามันคือเปอร์เซ็นต์ของคนส่วนมากบนโลก เราย่อมรีเลตง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำการบ้านอะไรกับตรงนั้นมาก เพราะตื่นขึ้นมาเราก็กลายเป็นผู้ถูกกดขี่ มันเรียกร้องอะไรเพิ่มอีกเหรอกับการเป็นสิ่งนี้ (หัวเราะ)

แต่สิ่งที่ยากสำหรับผมคือการไปเล่นพาร์ตของคนที่ทำคนอื่นมากกว่า เพราะในชีวิตจริงที่ตื่นมา ถามว่าเรากดขี่คนอื่นไหม ก็คงกดขี่คนอื่นแหละ ตื่นมารู้สึกว่าอยากได้ความรัก เราเดินไปหาแมวแล้วอุ้มทั้งที่มันไม่ยินยอมก็เป็นการกดขี่มันแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้รีเลตกับการกดขี่แบบเอาไม้เบสบอลตีหัวคนให้ตาหลุดขนาดนั้น เลยต้องพยายามทำความเข้าใจเคในโหมดนั้น ซึ่งก็รู้สึกว่าเราทำไม่ได้ดีขนาดนั้นหรอก เพราะมันก็ยากมากสำหรับผมเหมือนกันในการที่จะต้องทำแบบนั้น

มีสักแวบหนึ่งที่คิดว่าถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจก็อาจทำแบบเคไหม

มี ตอนแสดงผมก็คลำไปเจออะไรบางอย่างที่น่ารังเกียจเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งมันประหลาดดี ไม่คิดว่าจะมีความรู้สึกที่อยากให้คนคนนี้ตายในตัวด้วย ก็ถือว่าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จริงๆ ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานศิลปะคือความกล้าหาญในการสำรวจตัวเอง ยอมรับทุกอย่างที่เป็นตัวเอง แล้วกระบวนการทำงานจะทำให้เราค้นพบสิ่งนี้ในตัว ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่น่าสนใจ และผมคิดว่าทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์นั้นในวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

การรับน้องในเรื่องดูเลวร้ายและรุนแรงมาก ชีวิตจริงคุณมีความทรงจำเกี่ยวกับมันบ้างไหม

ในซีรีส์คือการทำให้เกินจริงอยู่แล้ว แต่มันอ้างอิงจากเรื่องจริงนะ อย่างเพลงที่ร้องในเรื่องก็เป็นเพลงที่ใช้ในการรับน้องจริงๆ ทุกอย่างมาจากส่วนประกอบของเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วนำมาประกอบรวมเป็นเรื่องเดียวกันเฉยๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของภาพยนตร์ที่เป็นการสาธิตบางสถานการณ์ จำลองบางอย่างขึ้น แต่รับน้องที่เราเจอมาไม่มีอะไรใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในซีรีส์ ค่อนข้างน่ารัก มีพี่ว้ากตะโกนบ้าง แต่ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายขนาดนั้น

ตอนนั้นคุณได้ตั้งคำถามถึงกิจกรรมนี้ไหม

ตอนได้รุ่นผมน้ำตาไหลเลย คิดกับตัวเองว่าต่อไปกูจะเป็นนักศึกษาที่ดีของสถาบัน จะเป็นเยาวชนที่ดีของประเทศชาติให้ได้ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของกุศโลบายที่มันจะเมคเซนส์และถูกให้ค่าในเวลาหนึ่งและเสื่อมถอยมากๆ ในเวลาหนึ่ง ผมรู้สึกว่าการรับน้องคือความเชื่อ ซึ่งมันก็คือเทรนด์แบบหนึ่ง มีช่วงที่ขึ้นสุดและช่วงที่เสื่อมมนต์ขลัง ไม่มีใครเชื่อมันอีกแล้ว

ในตอนนั้นผมก็มืดบอดและทึบเขลามากพอที่จะให้ค่าสิ่งนั้น แต่ทุกวันนี้สังคมก็เดียงสามากพอที่จะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นแค่มายาคติ เป็นแค่นิทานหลอกเด็กเฉยๆ ซึ่งเมื่อสว่างกับสิ่งนี้แล้ว สิ่งนี้ก็ยากที่จะอยู่ต่อไปได้ เพราะทุกวันนี้คนเชื่อมันน้อยลงทุกทีๆ ก็เป็นธรรมชาติแหละ มันอาจกลับมาหรือมีกุศโลบายใหม่เกิดขึ้นก็ได้ ไม่มีอะไรที่อยู่ตลอดไปอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าห่วง เพราะถ้าเทียบแล้วทุกวันนี้เยาวชนโดยเฉพาะรุ่นที่เกิดหลังจากผมเขาฉลาด กราฟทักษะ critical thinking สูงขึ้นมาก ผมเลยคิดว่ากุศโลบายแบบนี้จะค่อยๆ แห้งตายไป

แล้วทำไมการรับน้องถึงยังมีอยู่

นั่นสิ เราอาจต้องมาคิดว่าทำไมฟังก์ชั่นนี้ของการรับน้องมันยังเวิร์ก มันทำให้ปีหนึ่งกับปีอื่นๆ เชื่อมต่อถึงกันได้ก็จริง แต่เราไม่ควรสงวนว่านี่คือวิธีเดียวที่จะทำได้หรือเปล่า ควรตั้งคำถามว่าทำไมการรับน้องถึงนิยมเฟื่องฟูในภูมิภาคของเรา เพราะสังคมเรามันไม่เปิดมากพอที่จะทำให้คนคุยกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ถึงต้องไปจัดอะไรอ้อมโลกขึ้นมาเพื่อทำความรู้จักกันให้ได้ มันประหลาด แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าเพราะสังคมเราไม่อนุญาตให้พูดกันตรงๆ แบบคุณกับผมเลยต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เป็นเครื่องมือโง่ๆ ในการเชื่อมความสัมพันธ์ของคน 2 เจนฯ ซึ่งทุกวันนี้ที่มันเสื่อมถอยลงไปเพราะคนเข้าใจแล้วว่ามึงแค่คุยตรงๆ กับกูก็ได้ คุณกับเราก็เป็นโฮโมเซเปียนส์ไม่ต่างกัน

คุณคิดว่าตัวละครเคดูเป็นเหยื่อของระบบไหม เขาน่าสงสารมากกว่าที่จะสะใจหรือเปล่า

แน่นอนอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าต่อให้เอาครูใหญ่มาเราก็สงสารเขา หรือต่อให้เอาคนที่ใหญ่กว่าเคมาก็เปล่าประโยชน์ ผมรู้สึกว่าถ้าแนนโน๊ะอยากแก้ปัญหานี้จริงๆ ต้องไม่ทำแค่นี้ เพราะเคมีอยู่ทั่วโลกเต็มไปหมด และใต้ดินก็มีเคอีกเป็นพันที่รอผุดขึ้นมา มันจะมีประโยชน์อะไรกับการจัดการเคแค่คนเดียว ทั้งๆ ที่จะมีเคอีกเป็นล้านคนเกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการเข้าใจว่าไอ้โครงสร้างนี้มีลูกค้า ผู้รับเหมา และวิศวกรที่ก่อสร้างมันอยู่ เราต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ถึงจะขจัดปัญหานี้ได้ สิ่งที่แนนโน๊ะทำเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง มันไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าแนนโน๊ะสามารถมีตัวตนได้ทุกที่ทั่วโลกและทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดเคได้ก็เชิญ

เพราะเชื่อในการแก้ปัญหาที่ระบบด้วยหรือเปล่า คุณถึงออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ไปม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย

สำหรับผมไม่ใช่แค่เรื่องนั้น มันไม่ใช่การทำให้คนคนเดียวหรือระบบหายไป แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเดียวที่ทดสอบได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อถูกต้องหรือเปล่า มันสามารถทำให้ทุกคนได้ลองดูว่าสิ่งนี้เวิร์กไหม ถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยน ผมเลยสนใจ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเดียวที่ถูกต้องที่สุดหรือห้ามมีเครื่องมืออื่นนะ แต่แค่รู้สึกว่าเราในวัยนี้ของตัวเองยังเชื่อในสิ่งนี้อยู่ ยังเชื่อในวิธีการที่อนุญาตให้เราสำรวจและเรียนรู้

คุณมาตระหนักรู้เรื่องประชาธิปไตยเมื่อไหร่ เพราะเท่าที่เล่าให้ฟังตอนรับน้องคุณยังซาบซึ้งกับระบบที่ตรงกันข้ามอยู่เลย

น่าจะหลังจากที่เราซาบซึ้งกับสิ่งนั้นมาสักพักหนึ่ง แล้วก็มารู้สึก what the fuck บางๆ ในวันที่เราค่อยๆ กลายเป็นรุ่นพี่เอง เหมือนเดินเข้าไปหลังเวทีแล้วเห็นว่ามีเวทีมีฉากอยู่ นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม เพราะตอนอยู่ ม.5-6 ผมก็ไม่ได้เชื่อแบบนี้เหมือนกัน ผมมองทุกอย่างเหมือนการ์ตูนที่มีฮีโร่และสัตว์ประหลาด มีเทวาและอสูร เราค่อยๆ รู้เอง ไม่ได้มีจุดเปลี่ยนขนาดนั้นว่าอ่านหนังสือเล่มนี้หรือดูหนังเรื่องนี้แล้วเป็นอย่างนั้น

แล้วคุณคิดยังไงกับความเชื่อที่ว่าศิลปิน ดารา หรือนักแสดงไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ผมคิดว่าคนเรามีชีวิตอยู่บนโลกเพื่อทำสิ่งที่เชื่อ ถ้าเชื่อแบบไหนก็ทำไป ก็ลองซื่อสัตย์กับตัวเอง ฟังเสียงของตัวเองว่าอยากทำอะไรแค่นั้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่กับนักแสดง แต่เป็นกับมนุษย์ทุกคน ถ้าทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อก็น่าจะแฮปปี้ อีกอย่างผมก็ไม่ได้เป็นคนงานเยอะอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เสียขนาดนั้นด้วยมั้ง

แล้วคิดยังไงกับคนที่ไม่ออกมาพูดเรื่องการเมือง

ก็เขาแฮปปี้ที่จะทำแบบนั้น แต่เราต้องดูด้วยว่าเรากำลังพูดถึงสถานการณ์ไหนในจักรวาลนี้ มันเร่งด่วนแค่ไหน นึกถึงสิ่งที่ Dante Alighieri เคยเขียนไว้ในเรื่อง Inferno ว่า ‘สถานที่อันมืดมิดที่สุดในนรก สงวนไว้สำหรับผู้ที่ธำรงความเป็นกลาง ในโมงยามแห่งวิกฤตทางศีลธรรม’ ซึ่งผมว่าดันเตก็โหดนะที่เขียนประโยคนี้ไว้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว และดันเตก็ไปเขียนต่อใน Paradiso หนังสือเล่มหลังจากนั้นทำนองว่า ‘ของขวัญที่งดงามที่สุดที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์คือความสามารถในการตัดสินใจได้ว่าคุณจะเลือกในสิ่งนี้’ ผมรู้สึกว่าสองสิ่งนี้สอดคล้องกัน มันพูดถึง free will (เจตจำนงเสรี) ว่าจริงๆ แล้วการกระทำมันกำหนดคนจริงหรือเปล่า เพราะตอนแรกผมก็เคยเชื่อว่าสิ่งที่กระทำมันนิยามตัวเรา ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่ขนาดนั้น สิ่งที่เราเชื่อต่างหากที่นิยามตัวเรา ต่อให้เราจะทำ-ไม่ทำมันก็ตาม ฉะนั้นผมคิดว่าคุณทำสิ่งที่เชื่อนั่นแหละดีที่สุด มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการฟังตัวเองและเลือกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

อย่างนี้เวลาเลือกทำงานหรือติดตามใคร คุณมองทัศนคติหรือจุดยืนทางการเมืองของเขาไหม

(นิ่งคิด) มันแล้วแต่มากๆ เราคิดว่ามันมีสเปกตรัมอยู่ และเราจะมีมาตรวัดว่าเท่าไหร่ถึงพอดี เหมือนเวลาไปกินข้าวแล้วเราสั่งว่าจะเอาเผ็ดน้อยเผ็ดเยอะ ถ้าเผ็ดมากไปผมขอไม่กินแล้วกัน เผ็ดกลางๆ พอกินได้ ถ้าไม่เผ็ดเลยนี่ยอดเยี่ยม เพราะผมเป็นคนไม่กินเผ็ดไง เราก็จะมีความพอดีของเราอยู่เหมือนกัน แน่นอนมันมีคนที่เราแฮปปี้มากๆ ที่จะทำงานกับเขา และคนที่รู้สึกว่าถ้าข้ามได้ก็อยากจะข้าม ซึ่งไม่ใช่แค่มุมมองทางการเมืองแต่เป็นกับทุกอย่าง เช่น วิธีการประพฤติตัว รสนิยม เข้าขากันแค่ไหน เคมีเข้ากันไหม เป็นต้น

แต่ในอีกมุมผมก็รู้สึกว่านี่คือสิ่งสวยงามนะ มันก็มีบางครั้งที่เรารักในการทำงานกับคนนี้มากๆ แต่โคตรไม่ชอบความคิดเขาเลย หรือเรารักงานคนนี้มากแต่เกลียดความคิดเขาสุดๆ ก็ถือเป็น love-hate relationship แบบหนึ่ง ซึ่งผมสะใจเวลามันเกิดขึ้น มัน bittersweet รู้สึกอกหักสัสๆ แต่ก็ยังชื่นชมเขาอะไรแบบนั้น มันงดงามตรงนี้แหละ เพราะเราคงไม่ได้สิ่งที่ต้องการทุกอย่างหรอก มันเจ็บปวดแหละเวลาเห็นคนที่เรารักเชื่อในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เขาหัวเราะในสิ่งที่เราร้องไห้ และเขาร้องไห้ในสิ่งที่เราหัวเราะ ผมคิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดในความหฤหรรษ์ที่น่าสนใจ

สุดท้ายคุณคิดว่าถ้าแก้ปัญหาการเมืองไทยตอนนี้ได้ อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะเป็นยังไง 

ถ้าปลดล็อกสิ่งที่ยังติดอยู่ในการเมืองตอนนี้ได้ ผมว่ามันจะทำให้ขีดจำกัดของเราขึ้นอยู่กับศักยภาพที่แท้จริงของบุคลากร เพราะทุกวันนี้บุคลากรของเราในทุกแวดวง ไม่ว่าจะบันเทิง สาธารณสุข กีฬา ล้วนติดหล่มเดียวกันอยู่ เมื่อใดก็ตามที่แก้ปัญหานี้ได้เราจะเข้าถึงศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่พร้อมกันทุกคน ซึ่งมันจะไปไกลแค่ไหนไม่มีใครรู้เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น และอาจไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยเราด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เป็นเหมือนกันในยุคนี้คือทุกคนถูกฉุดรั้งและกดทับไว้ด้วยสิ่งที่ไม่เป็นเรื่อง แน่นอนทุกคนในทุกวงการย่อมรู้จักคนที่เก่งอยู่แล้วแต่เขาไปไม่รอดในภูมิภาคเรา อย่างผมก็รู้จักนักแสดงที่เก่งมากๆ สมควรจะได้รับสปอตไลต์แต่เขาต้องตายลงระหว่างทาง คือเลิกทำสิ่งนั้นไปเพราะมันเลี้ยงชีพเขาไม่ได้ ประเทศเราเต็มไปด้วยศิลปินที่เก่งกาจมากมายที่โดนสิ่งนี้ฉุดรั้งไว้ และผมเจ็บปวดมากๆ เวลาเห็นฟีดแบ็กที่ผมได้รับเยอะขนาดนี้ เพราะผมรู้จักคนที่สมควรได้มันมากกว่าผมเยอะมากๆ แต่ผมก็เข้าใจแหละ เลยถือโอกาสนี้ในการแนะนำคน และทีมงานเก่งๆ เหล่านั้นออกไปให้คนที่เพิ่งติดตามผมได้รู้จักผ่านช่องทางของผม

เอาเป็นว่าถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้ ทุกแวดวงจะมีอะไรงอกงามอีกมากให้เราเห็นแน่นอน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย