เนื่องจากเราเคยคุ้นหน้าคุ้นตาอีกทั้งลีลาการเล่าเรื่องสุดสนุกของ ชัยวัฒน์ ไชยประเสริฐ จากจอทีวีในฐานะหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันแฟนพันธุ์แท้พิพิธภัณฑ์ไทยอยู่แล้ว เมื่อเขาออกปากเชื้อเชิญเราไปดู ‘ขุมทรัพย์’ ในพิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน ที่เขาปฏิบัติการภัณฑารักษ์เป็นการประจำอยู่ เราจึงรีบตอบตกลงและนัดหมายวันเวลาทันทีเพราะงานนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน
ก่อนจะเดินทางไป เราค้นข้อมูลพบว่าพิพิธภัณฑ์กรมที่ดินนั้นตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และเมื่อดูจากภาพในอินเทอร์เน็ตแล้วทำให้เราคิดไปเองว่าคงไม่มีของอะไรมาก ด้วยพื้นที่ที่เล็กพอสมควร แต่เมื่อเราไปถึง ปรากฏว่าคุณชัยวัฒน์สามารถหยิบยกข้าวของ วัตถุ และเรื่องเล่าเชิงลึกมากมาย ซึ่งซุกซ่อนบรรจุไว้แน่นเต็มพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ‘พระคันธารราษฎร์’ หรือ ‘พระปางขอฝน’ ที่เชื่อมโยงกับการทำเกษตรกรรมบนผืนแผ่นดิน, เครื่องรังวัดที่ดินรุ่นแรกที่นำเข้ามาจากอังกฤษ, สมุดไทยดำโบราณ รวมถึงโฉนดแบบสำคัญต่างๆ เช่น โฉนดสวน ที่มีต้นขั้วให้รัฐเก็บไว้ ส่วนตัวใบโฉนดราษฎรจะสามารถฉีกดึงไปได้ ซึ่งต้นขั้วที่เหลืออยู่นี้บ่งบอกว่า พืชเศรษฐกิจของเราเมื่อก่อนนี้ไม่ใช่ข้าว แต่น่าจะเป็นหมาก ทั้งหมากเอก หมากโท หมากตรี จนมาถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งให้คนไทยหยุดเคี้ยวหมากนั่นแหละจึงค่อยๆ หดหายไป หรือแม้แต่โฉนดที่เล็กที่สุดในโลกคือ 0.1 ตารางวา รวมไปถึงโฉนดที่ดิน จังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ตั้งเขาพระวิหาร (!) เรียกได้ว่าอีกเป็นปีๆ ก็คงเรียนรู้กันไม่จบไม่สิ้น แถมคุณชัยวัฒน์ยังกระซิบบอกเราว่าที่อยู่ในห้องนี้นั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เพราะยังมีของที่รักษาในคลังอีกมาก
“พิพิธภัณฑ์กรมที่ดินเปิดทำการเมื่อวาระ 100 ปีกรมที่ดินเมื่อ พ.ศ. 2544 แต่วัตถุที่เรามีนั้นย้อนไปถึงสมัยการก่อตั้งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ตรงกับรัตนโกสินทรศก 120”
ว่าแล้วภัณฑารักษ์ของเราจึงผายมือไปยังหนึ่งในขุมทรัพย์ชิ้นเอกที่มาจากยุคนั้น มีสำเนาจัดแสดงอยู่กลางห้อง นั่นก็คือ ‘โฉนดที่ดินแผ่นแรก’ เป็นจุดเริ่มต้นของการออกเอกสารสิทธิในที่ดินในประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง
ในราว ร.ศ. 117 หรือต้น ร.ศ. 118 กระทรวงพระคลังฯ คิดออกหนังสือสำหรับที่ดินขึ้นอย่างหนึ่งเรียกว่าโฉนดตราจอง มีเหตุเริ่มจากรัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองแถวทุ่งหลวงคลองรังสิตและขายที่ดินสองฝั่งคลองให้แก่ประชาชนรับซื้อไปแล้ว แต่รัฐบาลยังมิได้ออกหนังสือสำคัญให้แก่บริษัท อีกทั้งบริษัทก็ยังมิได้หักโอนให้แก่ผู้รับซื้อเด็ดขาด ซึ่งในเบื้องต้นมีการจัดทำโฉนดตราจองตามแผนที่ของบริษัทซึ่งไม่ประสบความสำเร็จจนต้องยกเลิกไปในที่สุด จนแล้วจนรอดใน ร.ศ. 119 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกประชุมเสนาบดี ทรงปรึกษาว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นแล้วไม่ควรจะหยุด เพราะบ้านเมืองก็เจริญขึ้นและที่ดินมีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อออกหนังสือสำหรับที่ดินแล้ว การเก็บอากรก็สะดวก การวิวาทบุกรุกแย่งชิงที่ดินก็จะเบาบางลง สุดท้ายจึงมีประกาศตั้งพระยาอาหารบริรักษ์ (ผึ่ง ชูโต) เป็นข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลขึ้นพร้อมกันเรียกว่าศาลเกษตร สำหรับเป็นเครื่องมือชำระคดีเรื่องที่ดินในเขตที่จะออกโฉนดแผนที่อย่างใหม่
เขตที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปออกโฉนดข้างต้นคือ ตั้งแต่แยกบางไทรจรดแยกแควสีกุดตลอดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร.ศ. 120 ก็เริ่มลงมือเดินรังวัดหมายเขตที่ดินตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการและทำที่บ้านพลับ ตำบลเกาะเกิด ท้องที่อำเภอพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นปฐมฤกษ์ ตามที่ปรากฏในโฉนดแผ่นแรกนี้เอง
“ท่านทรงมีวิสัยที่กว้างไกลมาก เพราะนอกจากกรณีพิพาทแล้ว ไม่กี่ปีต่อมาท่านทรงเลิกทาส หากทาสไม่มีที่ทำกินก็กลับไปขายตัวเป็นทาสอีก เลยออกโฉนดเป็นตัวอย่าง โดยออกในราชนิกูลก่อนแล้วจึงตกถึงข้าราชบริพาร จากนั้นจึงเป็นประชาชนคนทั่วไป รู้ไหมว่าทุกวันนี้ประเทศเรายังออกโฉนดไม่ครบเลย สืบกลายมาเป็นเจตนารมณ์ของกรมที่ดินที่จะต้องออกให้ครบทั้งแผ่นดินให้ได้” คุณชัยวัฒน์เล่า
กลับมาที่โฉนด นอกจากลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5 แล้ว เรายังจะได้เห็น ‘ตราแผ่นดิน’ ประทับอยู่ตรงหัวเอกสารอย่างสง่างาม ตรานี้เป็นผลงานการออกแบบโดยเสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม ผู้ผูกตราประจำประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2416 โดยอิงกับหลักการผูกตราอาร์มของทางยุโรป
แน่นอนว่าในตรานี้จะสังเกตว่ามีเครื่องราชกกุธภัณฑ์บ่งบอกว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ ( ‘กกุธ’ แปลว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา บวกกับ ‘ภณฺฑ’ แปลว่า ของใช้) ประกอบด้วยภาพพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ครอบบนภาพจักรและตรีไขว้ เรียกว่า ตรามหาจักรี อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนนามราชวงศ์จักรี ขนาบข้างด้วยพระมหาพิชัยมงกฎ ฉัตร 7 ชั้น จากนั้นจึงเป็นโล่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ห้อง มีความหมายอ้างอิงถึงขอบขัณฑสีมาทั้งหมดของประเทศสยามในเวลานั้น
กล่าวคือ ห้องด้านบนเป็นภาพช้าง 3 เศียร หมายถึง สยามเหนือ สยามกลาง และสยามใต้ ห้องล่างด้านขวาเป็นภาพช้างเผือก หมายถึงประเทศราชลาวล้านช้าง ห้องล่างด้านซ้ายเป็นภาพกริชคดและกริชตรงไขว้กัน หมายถึง หัวเมืองประเทศราชมลายู นั่นเอง
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ตราแผ่นดินนี้ถูกเปลี่ยนไปเป็น ‘ตราครุฑ’ อย่างที่เราคุ้นกัน
โฉนดฉบับนี้ถูกห่อเก็บไว้ในกระดาษไมลาร์ไร้กรด อย่างไรก็ดีเราสังเกตเห็นว่าตรงแถบขอบด้านซ้ายมีร่องรอยของการซ่อมแซม เป็นสีกระดาษที่จางกว่าฉบับออริจินอลเล็กน้อย ซึ่งคุณชัยวัฒน์บอกเราว่าต้นฉบับจริงเคยถูกน้ำหมึกปากการอตริงหกใส่ โชคดีที่วัตถุนี้ได้รับเลือกไปอนุรักษ์โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปฯ ใช้เวลาเป็นปีเพื่อสกัดน้ำหมึกออก และมีการปลูกกระดาษขึ้นมาใหม่คล้ายการปลูกถ่ายไขกระดาษในอายุใกล้เคียงกับต้นฉบับ จากที่เคยแหว่งขาดจึงกลายเป็นขอบเต็มตรงสวยงามดังที่เราเห็น
“จุดที่น่าสนใจไม่ได้มีแค่ด้านหน้านะ ด้านหลังก็มีไฮไลต์ที่จะทำให้เรารู้ได้ว่าปัจจุบันที่ผืนนี้เป็นของใคร” ภัณฑารักษ์ของเรายิ้ม แล้วบรรจงพลิกด้านหลังโฉนดให้เราดู ปรากฏว่านอกจากจะมีภาพจำลองแผนที่ของที่ดินวาดไว้ ยังมีการระบุ ‘สาระบาญแก้ทะเบียฬ’ ไว้ว่าในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของจาก ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วชร.’ ไปเป็น ‘กระทรวงการคลัง (เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) พระราชวัง’ จากนั้นจึงเปลี่ยนอีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2533 ไปให้ ‘สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’
“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของงานเกษตรกรรมมาก จึงพระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อปันให้ชาวบ้านทำนา แต่ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการซื้อ-ขายหรือจำนองที่ดินแปลงนี้ด้วยนั่นเอง น่าตื้นตันใจที่กระดาษเก่าแผ่นนี้แสดงให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยาวมาถึงรัชกาลที่ 9 เลย”
อย่างไรก็ดีสำหรับคนทั่วไป สิ่งนี้อาจจะไม่ได้แสดงถึงเพียงเรื่องราวจากประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังคงมีบทบาททางความเชื่อ โดยจะเห็นว่ามีผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามาบูชาโฉนดชิ้นนี้กันมากมาย เนื่องจากเชื่อว่าจะทำมาค้าขายที่ดินได้คล่องแคล่ว จนเป็นที่มาของการทำสำเนาจำหน่ายเป็นของที่ระลึก มีทั้งไซส์เล็ก-ใหญ่ หลายราคาว่ากันไป
“คนเข้ามาไหว้กันทุกๆ วันอังคาร นำบัตรแนะนำตัวมาทิ้งไว้ เขาพูดกันเองว่าได้เงินเป็นสิบๆ ล้าน อันนี้เขาทำของเขาเอง ผู้ปกครองควรชี้แนะ” คุณชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
พิกัดขุมทรัพย์
พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน ตั้งอยู่บนชั้น 2 สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
เปิดเฉพาะวันอังคาร 9:00-17:00 น.
ผู้สนใจเข้าชมควรติดต่อเบื้องต้นล่วงหน้า โทร. 02-222-6131-40
dol.go.th/museum