ปูนปั้นจำลอง ‘ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่’ ขุมทรัพย์แห่งพิพิธภัณฑ์ที่เน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี

ปูนปั้นจำลอง ‘ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่’ ขุมทรัพย์แห่งพิพิธภัณฑ์ที่เน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี

Highlights

  • 'ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่' คือปูนปั้นที่มีต้นแบบมาจากซากประติมากรรมหินอ่อนโบราณของชาวโรมัน ซึ่งคาดกันว่าน่าจะจำลองมาจากรูปสำริดของชาวกรีกอีกที มีอายุราว 2,000 ปี
  • ภาพของลำตัวแห่งเบลเวเดเร่ได้รับยกย่องให้เป็นชิ้นงานศึกษาของศิลปินทุกๆ สถาบัน มันถูกทำซ้ำและปรากฏอยู่ในงานศิลปะของศิลปินทั่วโลก
  • ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่ถูกนำเข้ามาจากอิตาลีโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

นอกจากเสียงเพลง านตาลูชีอา ที่ถูกร้องประสานดังกึกก้องในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ชื่อเดิม Corrado Feroci) ยังเป็นผู้นำเข้าอีกหลากหลายสรรพสิ่งจากประเทศอิตาลี ซึ่งตกทอดมาในวงการศิลปวัฒนธรรมไทยจวบจนปัจจุบัน

เราจึงขอถือโอกาสเล่าเรื่อง ‘ขุมทรัพย์’ นำเข้าอีกชิ้นหนึ่ง ที่น้อยคนจะรู้จัก แต่แสดงให้เห็นถึงคุณูปการของอาจารย์ศิลป์ต่อวงการศิลปะสมัยใหม่ของบ้านเราได้อย่างดี แถมยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ไทยอิตาลีที่เวียนมาครบ 150 ปีในปี 2019 นี้ไปด้วยในตัว

ขุมทรัพย์ที่ว่านี้คือ ปูนปั้นจำลอง ‘ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่’ (Belvedere Torso) นั่นเอง

ปูนปั้นนี้มีต้นแบบมาจากซากประติมากรรมหินอ่อนโบราณของชาวโรมัน ซึ่งคาดกันว่าน่าจะจำลองมาจากรูปสำริดของชาวกรีกอีกที คำนวณอายุได้เก่ากว่า 2,000 ปี ตรงฐานมีการสลักชื่อผู้สร้างไว้ว่า ‘Apollonius, Son of Nestor, Athenian’ วัตถุชิ้นนี้อยู่ในบันทึกสมบัติของพระราชาคณะ Prospero Colonna ในโรมตั้งแต่ ค.. 1430 ต่อมาถูกนำมาวางที่ Cortile del Belvedere ในวาติกัน เป็นที่มาของชื่อเรียกว่า ‘ลำตัวแห่งเบลเวเดเร่’

เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่า แม้ประติมากรรมหินอ่อนชิ้นนี้แตกหักไปมาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในศิลปวัตถุที่สมบูรณ์ที่สุดที่หลงเหลือมาจากยุคกรีก-โรมัน นอกจากนี้ยังแสดงถึงความงามในอุดมคติและความเชี่ยวชาญของประติมากรสมัยนั้นอย่างดีเยี่ยม กล่าวคือแม้รูปปั้นนี้จะเป็นเรือนร่างบุรุษที่กำยำใหญ่โต แต่กลับไม่รู้สึกถึงความแข็งกระด้างแม้แต่น้อย ช่วงลำตัวในที่นี้ถูกปั้นในท่วงท่านั่ง ขณะเดียวกันก็บิดเอียง เผยให้เห็นแผงหน้าอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องใต้กระดูกซี่โครงที่โป่งพองขึ้นเล็กน้อยราวกับว่ากำลังสูดอากาศหายใจ ต้นขาขวาอยู่เหนือขาซ้ายเล็กน้อย ทำให้การทิ้งน้ำหนักของมวลร่างกายดูพลิ้วไหวและมั่นคงพร้อมๆ กัน

หากจะบอกว่ามันดูสวยงามจนเกินมนุษย์ก็ไม่ผิดนัก เพราะความงามในอุดมคติของชาวกรีกโบราณนั้นมาจากความพยายามตัดทอน ผสมผสาน ส่วนที่ดีที่สุดของมนุษย์หลายๆ คนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นกายภาพของเทพเจ้าที่พวกเขาบูชา สำหรับลำตัวแห่งเบลเวเดเร่นี้ เนื่องจากตรงฐานมีรูปทรงของหนังสัตว์อยู่ด้วย นักประวัติศาสตร์จึงระบุว่าน่าจะเป็นรูปปั้นของวีรบุรุษในเทพปกรณัมอย่าง Hercules ผู้มักถูกปั้นคู่กับหนังสิงโตเสมอ อย่างไรก็ดียังมีการเสนอความเป็นไปได้อื่นว่าอาจเป็นรูปของ Polyphemus, Marsyas, หรือ Ajax ด้วยเช่นกัน

ท่วงท่าการเอี้ยวบิดและกายภาพอันมหัศจรรย์พันลึกนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินในยุคเรอเนซองซ์ คำว่าเรอเนซองซ์เองแปลว่า การเกิดใหม่ ซึ่งกรณีนี้หมายถึงการฟื้นฟูแนวคิดและปรัชญากรีก-โรมันกลับมาอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 15 ของอิตาลี กระแสนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามครูเสดที่ทำให้ชาวอิตาเลียนได้เข้าถึงงานปรัชญาโบราณที่สูญหายไปอีกครั้งจากอาณาจักรไบแซนไทน์ เราจึงได้เห็นกลิ่นอายของเทพปกรณัมกรีกที่ผสมเข้ากับศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมในสมัยนั้นอยู่มาก 

อย่างในงานของ Michelangelo (.. 1475-1564) มีการใช้รูปปั้นลำตัวแห่งเบลเวเดเร่นี้เป็นแบบสำหรับวาดงานชิ้นเอกของเขาหลายชิ้น มีเรื่องเล่าว่าพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 เคยสั่งให้ไมเคิลแองเจโลทำการบูรณะรูปปั้นนี้ แต่เขากลับปฏิเสธและบอกว่าหินอ่อนชิ้นนี้สวยงามเกินกว่าจะแต่งเติม นอกจากนี้ไมเคิลแองเจโลยังใช้ลำตัวนี้เข้าไปในภาพ The Last Judgement ในวิหารซิสทีนด้วย (ที่ชัดที่สุดคือรูปร่างของประกาศกที่กำลังถือหนังที่โดนถลกออก จะเห็นว่าลำตัวเป็นทรงนี้เป๊ะๆ ส่วนหนังที่ถูกถลกออกมาว่ากันว่าไมเคิลแองเจโลตั้งใจวาดให้เป็นรูปตัวเขาเอง)

จากนั้นมาภาพของลำตัวแห่งเบลเวเดเร่ก็ได้รับยกย่องให้เป็นชิ้นงานศึกษาของศิลปินทุกๆ สถาบัน มันถูกทำซ้ำและปรากฏอยู่ในงานศิลปะของศิลปินทั่วโลก เช่น ภาพสเกตซ์ของ Peter Paul Rubens, ภาพเหมือนของ Benjamin West, Angelica Kauffmann ฯลฯ

ตัดภาพมาที่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้หาช่างปั้นมาช่วยปฏิบัติราชการในไทย ทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอนายคอร์ราโด เฟโรชี ประติมากรฝีมือเยี่ยม ผู้ชนะการประกวดออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปเมื่อปี 2466 ให้ทางสยามพิจารณา โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือก ในที่สุดศาสตราจารย์ เฟโรชีจึงได้เข้ามาทำงานในสยามเมื่อวันที่ 14 มกราคม .. 2466 ด้วยอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 800 บาท

ศาสตราจารย์เฟโรชีค่อยๆ ได้รับความไว้วางใจในหน้าที่การงานมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา และได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อกรมศิลปากรแยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2485 จอมพล พิบูลสงคราม จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น (พระยาอนุมานราชธน) ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และมีการตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ โดยมีศาสตราจารย์เฟโรชีดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก

ในปี 2487 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและประเทศอิตาลีอยู่ฝั่งผู้แพ้สงคราม หลวงวิจิตรวาทการจึงทำเรื่องขอโอนสัญชาติศาสตราจารย์เฟโรชีเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ อย่างไรก็ดีวิธีสอนของท่านก็ยังคงความเป็น academy แบบอิตาเลียนอยู่เช่นเดิม

การเรียนการสอนแบบ academy นั้นเน้นเรื่องพื้นฐานอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นฐานด้านกายวิภาคมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่อาจารย์ศิลป์นำเข้าปูนปั้นปลาสเตอร์มาจากอิตาลีเพื่อสอนในศิลปากรหลายชิ้น แน่นอนว่าในจำนวนนั้นย่อมมีลำตัวแห่งเบลเวเดเร่รวมอยู่ด้วย เรียกได้ว่าเป็นทักษะที่เปลี่ยนวิธีการสร้างงานศิลปะในไทยไปอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในหอประติมากรรมต้นแบบ ภายในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ โดยพื้นที่นี้มีประวัติย้อนไปตั้งแต่เมื่อสมัยที่เคยเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นที่สำหรับข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากรใช้ปฏิบัติงานปั้นหล่ออนุสาวรีย์สำคัญๆ เรียกว่า ‘โรงปั้นหล่อ’ จนต่อมากรมศิลปากรต้องการขยายพื้นที่ปฏิบัติงาน จึงมีมติให้ย้ายที่ทำการกองหัตถศิลปและโรงปั้นหล่อไปตั้งใหม่ ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และเปิดพื้นที่โรงปั้นหล่อเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงต้นแบบของอนุสาวรีย์สำคัญๆ มากมายของไทยที่อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ออกแบบ

หากเราพิจารณาดีๆ จะเห็นว่ามีอิทธิพลของศิลปะยุคคลาสสิกของอิตาลีอยู่มาก ดูง่ายๆ อย่างท่ายืนของรูปปั้นบุคคลมักใช้ท่า contrapposto หรือ ตริภังค์ (ท่าพักสะโพก) ซึ่งท่ายืนแบบนี้ไม่ค่อยปรากฏในงานศิลปะของไทยในอดีตแต่เดิมเท่าไหร่ (อาจจะมองว่าไม่สุภาพเรียบร้อย) ชิ้นที่ชัดเจนมากๆ คือ ต้นแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ที่ท่ายืนถือดาบของท่านสามารถเทียบกับรูปปั้นสำริดเดวิดของ Donatello ซึ่งเป็นรูปสำริดนู้ดท่ายืน (โดยไม่มีซัพพอร์ตขนาดใหญ่ชิ้นแรกของศิลปะยุคเรอเนซองซ์ได้เลย

อาจารย์ศิลป์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม .. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยอายุ 69 ปี อัฐิของท่านถูกแยกไปบรรจุใน 3 สถานที่ด้วยกันคือ ส่วนแรกที่สุสาน Cimitero degli Allori เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองที่อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในสังกัดกรมศิลปากร

ส่วนมรดกที่ท่านทิ้งไว้ให้กับประเทศไทยนั้น นอกจากวัตถุที่จับต้องได้เช่นปูนปั้นชิ้นนี้แล้ว ก็คือความก้าวหน้าในวงการศิลปะไทย ซึ่งส่งต่อผ่านบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ทั้งที่ได้เรียนโดยตรงและไม่ได้เรียนโดยตรงกับท่าน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหลักฐานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศที่ยังคงดำเนินมายาวนานจนถึงทุกวันนี้

AUTHOR