คุยกับ นลิน วนาสิน เรื่องเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติและลมหายใจของห้องสมุด Neilson Hays

Highlights

  • คุยกับ นลิน วนาสิน ผู้อยู่เบื้องหลังห้องสมุด Neilson Hays และเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติที่ชวนนักเขียนระดับโลกมาพูดคุย

ในชีวิตผมไปเยือนห้องสมุดมาหลายแห่ง บางแห่งมากกว่าหนึ่งหน แต่มีไม่กี่ห้องสมุดที่ติดค้างอยู่ในความทรงจำและรู้สึกว่ามันมีมนตร์พิเศษ

หนึ่งในนั้นคือ Neilson Hays Library–ห้องสมุดอายุหลักร้อยปีบนถนนสุรวงศ์

ด้วยสถาปัตยกรรมผลงานการออกแบบของ Mario Tamagno สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมสำคัญหลายแห่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ร่มเงาของต้นไม้ บรรยากาศอันแสนสงบ ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นมากกว่าที่ยืมหรือคืนหนังสือ

ล่าสุดเมื่อทราบข่าวคราวว่าวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2019 ห้องสมุดแห่งนี้กำลังจะจัดเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ เนื่องในโอกาสที่สมาคมหอสมุดมีอายุครบ 150 ปี ผมจึงนัดพบกับ นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมหอเนียลสัน เฮส์ ผู้อยู่เบื้องหลังห้องสมุดที่หลายคนผูกพันและเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติที่กำลังจะจัดขึ้น

ความพิเศษของงานเทศกาลวรรณกรรมครั้งนี้คือมีนักเขียนระดับโลกหลายคนตอบรับคำเชิญมาร่วมงานเสวนา อาทิ Adam Johnson นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์, Ma Thida นักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา, Melissa Lucashenko นักเขียนเชื้อสายอะบอริจินจากออสเตรเลีย ที่ใช้งานเขียนสื่อสารความเหลื่อมล้ำทางสังคม เจ้าของรางวัล Miles Franklin Award ปีล่าสุด ยังไม่นับนักเขียนไทยอีกหลายชีวิตที่แต่ละคนจะมาพูดคุยกันถึงเบื้องหลังผลงานของตัวเอง

ในห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ บทสนทนาว่าด้วยการคงอยู่ของห้องสมุดในปัจจุบัน พลังของวรรณกรรม และเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติดำเนินไปโดยไม่มีอะไรรีบร้อน

โลกที่ถูกห้อมล้อมด้วยหนังสือเป็นเช่นนี้เสมอ

คุณผูกพันกับห้องสมุดเนียลสัน เฮส์มาตั้งแต่เมื่อไหร่

เราชอบที่นี่ตั้งแต่เด็ก ชอบลักษณะอาคาร พอเดินเข้าไปแล้วเรารู้สึกสงบ ได้เข้าไปอ่านหนังสือ แล้วโตมาเราก็ห่างเหินไปนาน จนประมาณ 4-5 ปีที่แล้วกรรมการท่านหนึ่งก็ชักชวนเรามาเป็นกรรมการเพราะเห็นว่าเราเป็นคนที่รักการอ่าน และเราก็เป็นคนที่รักโบราณสถาน ก็เลยเข้ามาทำงานให้ห้องสมุดจนได้มาเป็นประธาน

เรารู้สึกว่านอกจากเรื่องการอ่าน เรายังได้ดูแลรักษาสมบัติของชาติด้วย ในฐานะที่สถานที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน มีประวัติศาสตร์ โอเค มันอาจจะไม่ได้เป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย แต่มันก็มีเสน่ห์ ตั้งแต่ประวัติการก่อตั้ง เรื่องราวของ ดร.เฮส์ กับเจนนี่ เนียลสัน ซึ่งเป็นอะไรที่เศร้าแต่ก็โรแมนติก เพื่อที่จะแสดงความรักของ ดร.เฮส์ ให้กับภรรยาผู้ล่วงลับ เขาจึงตั้งใจที่จะสร้างตึกนี้ขึ้นมาเพราะว่าเป็นสิ่งที่ภรรยารัก แล้วก็ทำงานเพื่อสมาคมนี้ตลอดชีวิตของเขา ในขณะเดียวกันเรื่องที่ ดร.เฮส์ สนับสนุนอย่างเรื่องการศึกษาก็ตรงกับความสนใจของเราที่มีมาตลอดอยู่แล้ว เราพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้เกิดการสนับสนุนและพัฒนาทางด้านการศึกษา ถึงแม้เราจะเป็นแค่เอกชน เป็นแค่สมาคมเล็กๆ แห่งหนึ่ง

 

ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ทำอะไรเพื่อการศึกษาบ้าง

เราจัดโครงการ Neilson Hays Young Writers Awards ทุกปี เป็นการประกวดการเขียนนิทาน เรื่องสั้นภาษาอังกฤษของเด็กตั้งแต่ 10-18 ปี นอกจากนั้นตอนนี้เรามี Creative Writing Workshop ให้กับเด็กๆ ประมาณเดือนละครั้งสองครั้ง เป็นการเวิร์กช็อปกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10-15 คน เข้ามาฝึกการเขียน นอกจากนั้นเรามี school visit โรงเรียนที่สนใจสามารถติดต่อแล้วพาเด็กเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ห้องสมุด เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของห้องสมุด หรือมาอ่านหนังสือร่วมกัน

นอกจากนั้นเรายังมีโปรแกรม visit ที่ทำให้ผู้ลี้ภัย ซึ่งปกติเขาไม่มีโอกาสที่จะได้มาห้องสมุด เนื่องจากเด็กเหล่านี้บางคนก็ไม่ได้ไปโรงเรียน เขาก็ได้เข้ามาเนียลสัน เฮส์ มันเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นที่ที่ปลอดภัยและสงบ ซึ่งสำหรับพวกเราอาจถือเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าชีวิตเราไม่ได้มีอันตรายมาคุกคาม แต่ว่าเด็กเหล่านี้เขาไม่มีโอกาส นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เราทำ และตอนนี้เราก็พยายามที่จะขยายในการให้การศึกษากับเด็กด้อยโอกาส

ในมุมมองของคุณบทบาทของห้องสมุดในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนไหม

จะว่าเปลี่ยนก็เปลี่ยน จะว่าไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน คือห้องสมุดไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม มันก็คือ community center ทั้งนั้น ตั้งแต่สมัยโบราณคนก็เอาลูกหลานมาวิ่งเล่น เป็นการใช้เวลาแบบสโลว์ไลฟ์ซึ่งสมัยนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือการจัดกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งสมัยก่อนกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดอาจจะค่อนข้างที่จะจำกัดอยู่ในเรื่องของหนังสือ แต่สมัยนี้เรามีการเพิ่มพันธกิจ เราจัดคอนเสิร์ตด้วย จัด performance ด้วย อย่างปีที่แล้วเราก็จัดการแสดงเป็น contemporary dance กับคุณจิตติ ชมพี ในห้องสมุดเลย ซึ่งเป็นอะไรที่สมัยก่อนห้องสมุดไม่ได้ทำ

 

ทำไมห้องสมุดต้องทำอะไรเยอะขนาดนี้

ทำแต่เรื่องหนังสืออย่างเดียวอาจจะไม่พอ แน่นอน คนที่เป็นสมาชิกห้องสมุดมันน้อยลง ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงเรื่องผลกระทบจาก eBook อย่างเดียว แต่ว่าตอนนี้คนยุคเรามีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย สมัยก่อนคนไม่ได้มีอะไรทำมากก็มาเป็นสมาชิกห้องสมุด แต่เดี๋ยวนี้มีกิจกรรมมากขึ้น ถ้าเราทำแค่ให้ยืมหนังสือมันคงไม่พอ เราต้องปรับตัวไปกับยุคสมัย

เวลามีพาร์ตเนอร์อยากมาจัดกิจกรรมต่างๆ เราก็ยินดี เพราะเราสนับสนุนเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว ถ้าใครคิดว่าห้องสมุดของเราเป็นสถานที่ที่เหมาะเราก็ยินดี เพราะว่ากลุ่มสมาชิกของเราเขาก็มองหาอะไรที่เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ

เราคิดว่าที่นี่มันเป็น unique site มันให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง ถ้าคุณไปดูการแสดงบนเวทีในโรงละครทั่วไป มันอาจจะได้ในเรื่องของแสงสี ซึ่งสถานที่ของเราอาจจะไม่ได้ให้ตรงนั้น แต่ว่าสิ่งที่ได้มันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งสมัยนี้ไม่ว่าการแสดงหรือคอนเสิร์ต คนเราก็อยากจะมองหาประสบการณ์ที่มันไม่ได้จำกัดในรูปแบบเดิมๆ

เคยคุยกับคนที่มาไหมว่าทำไมทุกวันนี้เขายังมาห้องสมุด ทั้งที่หนังสือหลายๆ เล่มก็หาอ่านได้ข้างนอก

หนังสือที่เราเลือกเข้ามาในห้องสมุดเป็นวรรณกรรมที่ดี ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์ เป็นเรื่องราวที่ตรงกับประเด็นที่คนในปัจจุบันเขาตระหนัก หรือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ หนังสือหลายๆ เล่มบางครั้งร้านหนังสือในเมืองไทยก็ไม่ได้เอาเข้ามาขาย โอเค คนอาจจะซื้อใน Kindle ได้แหละ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเขาต้องการอ่านผ่าน eBook หลายๆ คนยังชอบที่จะจับต้องหนังสืออยู่ แล้วเราก็รู้สึกว่าประสบการณ์ในการอ่านหนังสือเล่มมันไม่เหมือนกับการอ่านในจอ

ตอนนี้สมาชิกเราเป็นครอบครัวและเด็กค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเด็กอ่านผ่าน eBook ไม่ได้อยู่แล้ว คืออ่านได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่อการเรียนรู้ของเด็กมันไม่เท่ากับการจับต้องหนังสือแล้วนั่งอ่านกับผู้ปกครอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงยังมาห้องสมุด

แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ การเดินเข้ามาที่นี่มันดีต่อใจนะ รู้สึกไหม หรือเราอาจจะเข้าข้างตัวเอง (หัวเราะ)  มันเป็นสเปซที่มีความเขียว มีต้นไม้ เข้าไปในห้องสมุดก็เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น มีประวัติศาสตร์ คนเข้ามาแล้วเขารู้สึกว่ามันสงบ เป็นที่ที่เขาอยากจะมานั่งใช้เวลาอ่านหนังสือ นั่งคิดนั่งไตร่ตรองเพื่อที่จะทำงาน สถานที่แบบนี้ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ

แล้วโดยส่วนตัวคุณเชื่ออะไรในหนังสือ เชื่ออะไรในวรรณกรรม

ส่วนตัวเราคิดว่าการอ่านวรรณกรรมมันทำให้เราสามารถเข้าใจคนอื่นๆ ที่แตกต่างจากเราได้ มันทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น มันเป็นสื่อที่สามารถสร้างจินตนาการได้ดีมากๆ มันละเอียดอ่อนและมีแง่มุมที่ลึกล้ำ สำหรับตัวเรานี่เป็นสาเหตุที่รักการอ่าน แต่นอกจากนั้นแล้ว แน่นอนว่าการอ่านหนังสือมันก็มีประโยชน์อื่น เช่น หนังสือบางเล่มผู้เขียนเขาเก็บข้อมูลมาตั้ง 2 ปีกว่าจะเขียนออกมาได้ แทนที่เราจะต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลแบบนั้น ทุกอย่างมันถูกย่อมาอยู่ในหนังสือเล่มนั้นแล้ว ซึ่งเป็นการหาความรู้ที่ดีมาก

นอกจากอ่านหนังสือเพื่อหาความรู้ แน่นอนว่าหนังสือก็เป็นอะไรที่สามารถทำให้เราหลบออกจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ชั่วขณะ ทุกวันนี้คนเรามีความเครียด มีความกดดันเรื่องการงาน และมีการใช้ชีวิตลำบากยากเข็ญขึ้นเรื่อยๆ การอ่านหนังสือก็สามารถทำให้เราผ่อนคลาย

อีกอย่างหนังสือมีพลังที่จะทำให้เราเกิดจุดเปลี่ยนในความคิด บางครั้งหนังสือส่องไฟให้เราเห็นอะไรที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ทำให้เราคลิกขึ้นมาได้ว่าสิ่งนี้เป็นความจริง หนังสือสามารถแสดงความจริงที่บางครั้งแค่การอ่านข่าวมันไม่ได้ โดยเฉพาะอะไรที่มันเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ หนังสือมันทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้ดีขึ้น

 

ทำไมเวลาอ่านข่าวจึงไม่ทำให้เราเข้าใจความจริงได้เท่าการอ่านเรื่องแต่งอย่างวรรณกรรม

เพราะว่านักเขียนเขาต้องการจะสื่อสารบางความจริงให้กับเรา เพราะฉะนั้นวิธีการร้อยเรื่อง วิธีการสร้างตัวละครขึ้นมา หรือการแต่งเรื่องราว มันเป็นศิลปะที่เขาตั้งใจจะสื่อสารความจริงอะไรบางอย่างกับเรา มันไม่ใช่ความบังเอิญ มันก็เลยได้ผลดีกว่าเวลาเราไปดูข่าว ที่มันอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ว่ามันเป็นแต่เรื่องจริงจากแง่มุมเดียว บางครั้งปัจจัยมันไม่ครบ เลยไม่ได้ก่อให้เกิดความคิดหรือความตระหนักถึงความจริงแท้ หรือความจริงที่เป็นภาพใหญ่ ที่เป็น Truth with the capital T

 

แล้วเชื่ออะไรในงานเทศกาลวรรณกรรม จึงลุกขึ้นมาจัดงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติครั้งแรก

อาจจะเป็นแพสชั่นส่วนตัว เพราะว่าเราได้ไปเทศกาลวรรณกรรมประเทศอื่นๆ แล้วมันเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก สนุก รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ คือหลายๆ เมืองเขาก็มีกันหมดแล้ว เราก็อยากจะให้เมืองไทยมีบ้าง เราก็เลยตัดสินใจลองพยายามหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำให้มันเกิดในบ้านเรา

แล้วงานนี้ต่างจากงานหนังสือที่จัดอยู่แล้วปีละ 2 ครั้งยังไง

แตกต่างที่โฟกัส คือการที่คนตื่นตัวแล้วไปซื้อหนังสือมาอ่านมันดีอยู่แล้วแหละ เราในฐานะคนรักหนังสือคนหนึ่งก็ชื่นใจ แต่ว่างานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติของเราอาจจะโฟกัสไปที่การแลกเปลี่ยนความคิดไอเดีย ก็คือที่งานพูดคุยเสวนา

เราเน้นให้นักเขียนแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แล้วให้ผู้อ่านมารับรู้การแลกเปลี่ยนนี้ด้วย ซึ่งรูปแบบก็จะแตกต่างจากการที่ผู้อ่านได้รับรู้จากการอ่านงานของเขา อันนี้เราได้รับรู้จากปากของผู้เขียนเอง ซึ่งมันก็จะมีแง่มุมส่วนตัวที่บางทีเขาไม่ได้เล่าไว้ในหนังสือ มันทำให้เรารู้จักนักเขียนในอีกแบบ เราอยากรู้จัก The man behind the art คนแบบไหนกันที่สามารถผลิตงานศิลปะแบบนี้ออกมาได้ เป็นความข้องใจของเราในฐานะคนที่เสพงานวรรณกรรมว่ากว่าจะผลิตงานนี้ออกมาได้ มันมีขั้นตอนแบบไหน

 

นักเขียนที่มามีใครที่ชีวิตน่าสนใจบ้าง

อย่าง Adam Johnson เราก็คิดว่าน่าสนใจ เพราะวิธีการเขียนเรื่องของเขามันเต็มไปด้วยจินตนาการ ในขณะเดียวกันหลายๆ แง่มุมที่เขาใช้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีเหนือ ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งเรื่องสังคม เรื่องรัฐบาล ซึ่งสิ่งนี้น่าสนใจมากๆ

หรืออย่างคุณพิชญา สุดบรรทัด ก็น่าสนใจ เขาเป็นคนไทยที่สร้างงานอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหลายๆ ครั้งงานของนักเขียนไทยไม่ค่อยได้ออกไปสู่โลกภายนอกมากนัก เราก็อยากจะฟังมุมมองของเขาว่านักอ่านต่างประเทศเขาตอบรับเรื่องราวของไทยยังไงบ้าง

Ma Thida ก็น่าสนใจ เขาเป็น activist ในพม่าที่เคยถูกจำคุกเพราะความเชื่อและหลักการ มันเป็น amazing story เราอยากฟังจากเขาว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอุทิศตนขนาดนั้น แล้วประสบการณ์มันมีผลกระทบกับตัวบุคคลยังไงบ้าง

และแน่นอน นักเขียนไทยที่เราเชิญมาคนในวงการก็เคารพนับถือกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นคุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ซึ่งน่าสนใจด้วยว่านอกจากจะเป็นกวีแล้ว เขายังได้ไปเป็น artist-in-residence ในไต้หวัน ได้ไปเผยแพร่วรรณกรรมไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง

สุดท้ายงานนี้จะช่วยอะไรวงการวรรณกรรมบ้านเราบ้างไหม

เราหวังว่ามันจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้คนอ่านตื่นตัว อยากที่จะอ่านมากขึ้น เพราะเวลามีใครจัดงานขึ้นมาหนึ่งงาน มันก็เหมือนกับการฉายสปอตไลต์ให้วงการวรรณกรรม

มันก็เหมือนที่คุณอุทิศ เหมะมูลว่าไว้ งานศิลปะแขนงอื่นๆ มันมีกิจกรรมที่แพร่หลายไปในวงกว้างและวงนานาชาติมากกว่าวรรณกรรมเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ หรือว่าภาพยนตร์ แต่ว่าวรรณกรรมของประเทศของเรายังค่อนข้างที่จะอยู่วงแคบ บางครั้งมันไม่ได้มีสิ่งที่ให้คนอ่านได้มามีปฏิสัมพันธ์กับวรรณกรรมมากมายนักนอกเหนือจากการเดินเข้าไปในร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือ

เราเองไม่ได้เป็นนักเขียน ถ้าเราจะชักชวนให้คนอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ เราเองก็สื่อสารได้ไม่ดีเท่ากับตัวนักเขียนเอง ซึ่งการที่เรามาพบปะกับตัวนักเขียนได้โดยตรง มาฟังเสวนา หรือว่าการได้มาเห็นนักเขียนเขาอ่านบทความของเขา มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจได้ดีกว่า เหมือนเป็นการย่นระยะเวลาที่จะสร้างความสนใจเรื่องการอ่านกับคนในวงกว้าง

และที่สำคัญ คนที่จะเป็นนักเขียนได้ เขาต้องไตร่ตรองประเด็นต่างๆ ที่เขียนมาเยอะมาก เขาอยู่กับข้อมูล วัตถุดิบ นานมาก เยอะมาก เพราะฉะนั้นการที่เราได้มาฟังนักเขียนพูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เขาได้ขลุกอยู่กับมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของสตรี เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือว่าความรุนแรงในสังคม การได้ฟังนักเขียนพูดจะทำให้เรามีความคิดเกี่ยวกับเรื่องประเด็นต่างๆ ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นวิธีการเลือกนักเขียนเราจึงไม่ได้เลือกเพียงแต่นักเขียนที่เก่งในเรื่องศิลปะการเขียนเท่านั้น แต่เราเลือกนักเขียนโดยการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่แทรกซ้อนอยู่ในวรรณกรรมของเขาด้วย ถ้าไปดูหัวข้อการเสวนาจะเห็นว่ามีประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องราวที่สังคมกำลังดิ้นรนต่อสู้

 

การหยิบยกประเหล่านี้มาพูดคุยในงานสำคัญยังไง

โอเค บางคนอาจจะบอกว่ามันหนักไป อ่านหนังสือแล้วไม่อยากเครียด แต่ไม่รู้สิ อาจจะเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้จัด เรารู้สึกว่าตอนนี้โลกเรามีปัญหามากมาย ซึ่งแต่ก่อนคนเราก็อาจจะอยู่ในวงแคบๆ ของครอบครัวเรา หรือประเทศเรา แต่ตอนนี้เรามีความรู้สึกว่าเราปลีกตัวออกมาอยู่ในวงแคบๆ ของเราไม่ได้แล้ว คือโลกเรามันเชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่ายังไงมันก็มีผลกระทบกับเราอยู่แล้ว เหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นในอเมริกา ยุโรป หรือในเมืองจีน แต่มันก็มีผลกระทบกับเรา

อีกอย่างคือเราเกิดขึ้นมาเป็นคน เราก็ควรที่จะมีความเป็นห่วงเป็นใยหรือว่ามีเยื่อใยกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นประเด็นในที่ต่างๆ ของโลก อย่างน้อยหน้าที่ของเราก็คือทำความเข้าใจกับมัน ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

 

แล้วคุณเชื่อว่าวรรณกรรมมันช่วยคลี่คลายประเด็นปัญหาที่ว่ามาได้หรือเปล่า

เราเชื่อมากๆ เลยนะ เพราะหนังสือมันเป็นสื่อที่สามารถเชื่อมคนเข้าด้วยกัน บางครั้งคนมาพูดจากันอาจจะมีกำแพงบางอย่างที่ทำให้เราฟังกันไม่ได้ยิน เราไม่ได้ฟังกันจริงๆ แต่ว่าเวลามันบอกเล่าผ่านวรรณกรรม มันเหมือนเราสามารถที่จะทำลายกำแพงอะไรบางอย่าง มันช่วยลดทิฐิ ลดความโกรธ และเสริมสร้างความเข้าใจ

เราเชื่อมากๆ ว่าความเข้าใจมันจะนำไปสู่สิ่งต่างๆ ที่ดีขึ้น

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ web.neilsonhayslibrary.com

และเฟซบุ๊กเพจ Neilson Hays Library

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน