นกปักษาสวรรค์ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา จุฬาฯ

Highlights

  • คอลัมน์ขุมทรัพย์นักพิพิธภัณฑ์พาไปชมนกที่นอกจากจะสวยงามเลอค่าแล้ว ยังมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับยุคบุกเบิกการศึกษาธรรมชาติวิทยาในประเทศไทยด้วย
  • นั่นคือนกปักษาสวรรค์สตัฟ ที่อยู่ในตู้โบราณของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นกปักษาสวรรค์ หรือ bird of paradise เป็นนกที่มีสีสันงดงามที่สุด ในอดีตขนของพวกมันเคยใช้แทนเงินได้สำหรับในบางท้องถิ่นและยังใช้เป็นเครื่องบรรณาการด้วย

เผลอแป๊บเดียวจะสิ้นปีแล้ว ไยน้องแก้วยังนกอยู่ เอ้ย! คอลัมน์ของเราเดือนนี้อยากส่งท้ายปีเก่าด้วยการเอาใจสายนก โดยพาไปชมนกที่นอกจากสวยงามเลอค่าแล้ว ยังมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับยุคบุกเบิกการศึกษาธรรมชาติวิทยาในประเทศไทยด้วย นกที่ว่านี้คือ นกปักษาสวรรค์สตัฟ ซ่อนอยู่ในตู้โบราณของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น 1 ใน 5 พิพิธภัณฑ์ในเครือของภาควิชาชีววิทยา ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ตึกชีววิทยา 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท้าความดูว่าน่าจะเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เดิมก่อตั้งตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประมาณ พ.. 2415 โดย Henry Alabaster แต่ในช่วงแรกไม่มีผู้สนใจสืบสานจึงทำให้ต้องปิดไป

หลังจากนั้นเมื่อไปดูจดหมายเหตุเราจึงพบคอลเลกชั่นสัตว์สตัฟที่คาดว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน (สมัยนั้นใช้คำว่า ‘สัตว์ชำแหละเนื้อแล้วอาบน้ำยา’) ในมิวเซียมหลวงที่วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 -6 ซึ่งเคยจัดแสดงวัตถุรวมหลายๆ สาขาวิชาไว้ด้วยกัน อย่างเช่นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงวัตถุทางธรรมชาติวิทยาด้วย

ในหนังสือ วัธนธัมไทย เรื่องของในพิพิธภันทแห่งชาติ บันทึกไว้ว่าช่วง .. 2469 มีการปรับเปลี่ยนมิวเซียมหลวงให้เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทโบราณคดีและศิลปะ วัตถุอื่นๆ ที่ไม่เข้ากับโบราณคดีจึงถูกกระจายออกไปตามสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในภาควิชาด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานสากลเป็นอันดับหนึ่งในประเทศ เนื่องด้วยการทำสัญญาร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากกับอเมริกา โดยเฉพาะสาขาชีววิทยาที่เคยมีหัวหน้าแผนกเป็นชาวต่างชาติเกือบสิบปี ตั้งแต่ศาสตราจารย์ Thomas F. Morrison (.. 2468-2470) ศาสตราจารย์ Gordon E. Alexander (.. 2471-2473) และศาสตราจารย์ Ottis R. Causey (.. 2473-2477) มีการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องมือทันสมัย อาจารย์บางท่านถึงกับสั่งสัตว์สตัฟจากต่างประเทศเข้ามาใช้เป็นสื่อการสอน ดังนั้นคงไม่แปลกที่สัตว์สตัฟบางส่วนจากมิวเซียมหลวงจะถูกส่งมาร่วมทัพอยู่ ที่นี้ด้วย

สัตว์สตัฟกลุ่มนี้ถูกจัดแสดงแยกไว้จากวัตถุอื่นๆ โดยเมื่อเข้าไปด้านในห้องนิทรรศการหลัก พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาจะเห็นตู้โบราณอยู่ด้านขวามือ มีสัตว์สตัฟ ‘รวมมิตร’ อยู่ด้านใน 14 ตัว ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแต่ละตัวนั้นล้วนเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นในไทย เช่น นกแก้วมาคอว์ตัวเขื่อง สล็อท หรืออาร์มาดิลโล ยิ่งถ้ามองใกล้ๆ เราจะเห็นกระดาษระบุเลขทะเบียนสีซีดที่เขียนด้วยเลขไทย แถมกรรมวิธีการสตัฟก็โบราณกว่าตัวอย่างอื่นๆ

อย่างบนหลังของอาร์มาดิลโลเราจะเห็นเส้นฟางที่แยงออกมาจากใต้เกล็ด ซึ่งหมายความตัวสัตว์เหล่านี้ถูก ‘ยัดไส้’ ด้วยฟางหรือสำลี ซึ่งเป็นกรรมวิธีดั้งเดิม (เป็นที่มาของคำว่า stuffed animal หรือสัตว์สตัฟ ที่เราเรียกๆ กัน) ก่อนที่นักสัตววิทยาจะเปลี่ยนวิธีสตัฟในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นการสร้างตุ๊กตาโฟมในท่าและขนาดของสัตว์ แล้วค่อยเอาหนังครอบโครงนั้นทีหลัง

หรืออีกตัวอย่างคือการจัดนกฮัมมิงเบิร์ดใส่โหลแก้วร่วมกับใบไม้แห้ง ซึ่งเป็นวิธีการจัดแสดงเพื่อความสวยงามและเป็นที่นิยมอย่างมากในยุควิกตอเรียน

แต่ในปัจจุบันการเก็บสัตว์เพื่อการศึกษานักสัตววิทยาจะไม่ใส่ซากพืชหรือสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้เกิดแบคทีเรียหรือการย่อยสลายเพิ่มเติมใกล้กับตัวสัตว์สตัฟอีกต่อไป เพื่อรักษาให้ชิ้นส่วนของสัตว์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ยาวนานเท่าที่จะทำได้

หนึ่งในสัตว์ที่จัดแสดงในกระจกครอบของตู้นี้ซึ่งยกมาพูดถึงคือ ‘นกปักษาสวรรค์’ หรือ bird of paradise โดยถ้ามองเผินๆ อาจดูไม่รู้เนื่องจากสีสันที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ปักษาสวรรค์นั้นได้จางหายไปกับกาลเวลาเสียแล้ว คาดว่าเกิดจากการสลายตัวของพิกเมนต์อื่นๆ ทำให้น่าจะมีแค่เม็ดสีพื้นฐานอย่างสีน้ำตาลเข้มของกลุ่มเมลานินที่คงทนเหลืออยู่ในเคราตินและโครงสร้างขนเท่านั้น

ยังโชคดีที่เรายังเห็นลักษณะเด่นของนกตัวนี้ที่ขนหางซึ่งม้วนเป็นวงกลมสองเส้นและแผงขนที่แผ่ออกจากไหล่ ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่านกตัวนี้น่าจะเป็นสายพันธุ์ king bird-of-paradise (Cicinnurus regiusซึ่งมีชื่อเล่นว่า ‘อัญมณีที่มีชีวิต’ ถือเป็นนกขนาดเล็กที่สุดและสีสันงดงามที่สุดในสายพันธุ์ปักษาสวรรค์ ตัวผู้จะมีสีแดงสดตัดกับช่วงท้องสีขาว เท้าสีน้ำเงิน และที่สำคัญคือมีปลายขนด้านข้างสีเขียวมรกต กับขนหางที่เด้งออกมาเป็นเอกลักษณ์

องค์ประกอบที่ดูแปลกตาและเวอร์วังนี้มีหน้าที่หลักในการดึงดูดตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ โดยนกปักษาสวรรค์ตัวผู้แต่ละชนิดจะมีการระบำขนหางที่พิสดารและสวยงามน่าชม ถือเป็นจุดเด่นของนกประเภทนี้ก็ว่าได้

นกเหล่านี้จะกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของนิวกินี หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย แบ่งออกเป็น 15 สกุล และมีมากกว่า 40 ชนิด ขนของพวกมันเคยใช้แทนเงินได้สำหรับคนท้องถิ่นและถือเป็นเครื่องบรรณาการหรือสินค้ามีค่ามานานกว่า 2,000 ปี

เมื่อนักเดินทางชาวยุโรปได้ไปค้นพบนกเหล่านี้และนำล่องเรือกลับมาที่ทวีปของตน (มีบันทึกว่านกปักษาสวรรค์ตัวแรกเดินทางจากหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกไปพร้อมกับกองเรือของ Ferdinand Magellan เทียบท่าสเปนเมื่อ .. 1522) ก็เกิดกระแสนิยมต้องการสะสมนกเหล่านี้อย่างแพร่หลาย โดยนกชุดแรกๆ ที่เดินทางมาถึงนั้นไร้ขา เนื่องจากชาวพื้นเมืองมักตัดออกก่อนนำมาเป็นบรรณาการให้กับแขกเหรื่อ อีกทั้งพวกเขายังเรียกมันว่า bolong diwata หรือนกของทวยเทพ

ชาวยุโรปผู้ไม่เคยเห็นนกตัวจริงในป่าดงดิบจึงมโนกันไปว่านกเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในอากาศและไม่เคยร่อนเหยียบพื้นดิน เป็นที่มาของชื่อ ‘ปักษาสวรรค์’ บ้างเอาไปเขียนต่อยอดอีกว่าเป็นนกที่มีเสียงไพเราะที่สุดในโลก กินแต่น้ำค้างสวรรค์ ฯลฯ

ตำนานเหล่านี้ทำให้การล่านกสายพันธุ์นี้ดุเดือดยิ่งขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันของชนชั้นสูงในยุโรปที่จะส่งทีมนักสำรวจไปค้นพบ (ล่า) สกุลนกปักษาสวรรค์ใหม่ๆ แล้วตั้งชื่อตามชื่อของตน เราจึงจะเห็นชื่ออย่าง Count Raggi’s, Emperor of Germany’s, Prince Rudolph’s, Count Salvadori’s ฯลฯ นำหน้าสายพันธุ์ปักษาสวรรค์ในสารานุกรมอยู่เสมอ

อีกทั้งยังมีความต้องการขนของนกเหล่านี้เพื่อประดับหมวกสตรีชาวยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 ที่นิวกินีมียอดส่งออกนกชนิดนี้ถึงปีละ 80,000 ตัวต่อปี จนสุดท้ายรัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุมในที่สุด

แต่ความพิสดารของนกนี้ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อมันถูกนำมาเทียบเคียงกับนกการเวกในตำนานของบ้านเราด้วย!

นกการเวก (หรือนกกรวิก ใน ไตรภูมิพระร่วง) ถือเป็นสัตว์ในตำนานของป่าหิมพานต์ มีเสียงเสนาะไพเราะอย่างยิ่ง สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินแล้วจะต้องหยุดฟัง บ้างว่ามันหาตัวจับยากนักเพราะอยู่แต่บนท้องฟ้า กินลมเป็นอาหาร จึงไปตรงกับเรื่องเล่าของนกปักษาสวรรค์ทางตะวันตกพอดี

นอกจากนี้ยังมีข้อที่ว่ากษัตริย์ปาปัวนิวกินีมักใช้ขนนกมีค่าเหล่านี้ประดับมงกุฎของตนและใช้เป็นเครื่องบรรณาการประหนึ่งทองคำ ก็ไปสอดคล้องกับใน ไตรภูมิพระร่วง ที่กล่าวไว้ว่าขนนกการเวกกลายเป็นทองคำได้ การที่จะได้ขนมานั้นต้องทำพิธี โดยทำนั่งร้านไว้บนยอดไม้ เอาขันใส่น้ำไปวางไว้ นกการเวกจะมาอาบน้ำในขัน แล้วสลัดขนร่วงไว้ให้ ความมีค่านี้ก็ไปผูกกับนกวายุภักษ์ที่เป็นตรากระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสสั่งไปต่างประเทศให้ส่งตัวปักษาสวรรค์ตัวจริงๆ มาถวายเสียให้รู้เรื่องรู้ราว จึงได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้มีขนบริบูรณ์เข้ามา และต่อมาทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอน มีด้ามให้เด็กถือนำพระยานมาศในพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จเจ้าฟ้าด้วย

แม้ตัวนกที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จะไม่ใช่สัตว์หิมพานต์เสียทีเดียว แต่เรื่องราวความอัศจรรย์ของมันยังตอกย้ำกับเราว่า มนุษย์นั้นยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากธรรมชาติด้วยความเคารพอยู่อีกมากมาย


พิกัดขุมทรัพย์

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ห้อง 230 ชั้นตึกชีววิทยา 1 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาทำการ : วันจันทร์ศุกร์ เวลา 9:00-16:00 . ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ไม่เสียค่าเข้าชม)

โทรศัพท์ : 0 2218 5266

เว็บไซต์ : museum.stkc.go.th

AUTHOR