‘พสุธารา’ แบรนด์จากเทือกเขาตะนาวศรีที่เชื่อว่า ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เราก็สัมผัสธรรมชาติได้

Highlights

  • พสุธาราคือแบรนด์ที่อยากส่งต่อคุณค่าจากธรรมชาติไปสู่ผู้คนผ่านบ้านพักริมแม่น้ำภาชี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปร่วมสมัย เช่น เลมอนบ่มน้ำผึ้ง สเปรย์โรสแมรี
  • พสุธาราเชื่อว่า มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสร้างสรรค์ และการสัมผัสธรรมชาติไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในป่าเขาลำเนาไพรเสมอไป ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เราก็สัมผัสธรรมชาติได้ผ่านอาหารที่เลือกกิน ของที่เลือกใช้

ละอองจากเลมอนลอยค้างอยู่ในอากาศ พสุธารา

ฉันสูดกลิ่นสดชื่นนั้นเข้าเต็มปอด แล้วหายใจเอาความง่วงงุนที่พกมาระหว่างขับรถทางไกลจากกรุงเทพฯ ออกจนหมด

แม้แดดจะสาดแสง แต่อากาศยามสายที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ยังคงเย็นสบาย เหมาะเป็นวันที่ฉันจะได้สำรวจสำนักงานใหญ่ของ พสุธารา แบรนด์ที่ยากจะจำกัดความ เพราะประกอบด้วยหลายสิ่ง ทั้งบ้านพัก ร้านอาหาร ฟาร์มเลมอนขนาดย่อม เรื่อยไปจนถึงสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งมีดาวเด่นเป็นเลมอนบ่มน้ำผึ้งที่ใครหลายคนติดใจ 

บาส–ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เดินออกมาต้อนรับฉันและช่างภาพ ชายหนุ่มในชุดสบายๆ คนนี้คือผู้ที่มาสานต่อนิยามของคำว่า ‘ชีวิตบริสุทธิ์’ ที่ แม่อ้อย–ดรุณี วัฒน์นครบัญชา เป็นผู้ริเริ่มไว้ เขาเชื้อเชิญเราเข้าไปนั่งในเรือนริมน้ำ แล้วเริ่มต้นถ่ายทอดหัวใจของแบรนด์ที่ประกอบสร้างจากดินและน้ำแห่งเทือกเขาตะนาวศรีให้เราฟัง

พสุธารา

“ความกลัวทำให้แม่ไม่ตาย”

ย้อนกลับไปยังรากที่หยั่งลึกที่สุด พสุธาราถือกำเนิดจากความเป็น-ความตายที่ถูกแขวนไว้บนเส้นด้าย

เล่าอย่างรวบรัด แม่อ้อยพบว่าตัวเองเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (systemic lupus erythematosus – SLE) แต่ด้วยความกลัวหมอ กลัวเข็ม จึงขอลองบำบัดด้วยอาหารเองก่อน หากไม่สำเร็จภายใน 3 เดือนจึงจะกินยาตามที่หมอสั่ง

“มหัศจรรย์มาก ความกลัวทำให้แม่ไม่ตาย” แม่อ้อยเล่ากลั้วหัวเราะ แล้วอธิบายต่อว่า ที่เลือกบำบัดด้วยอาหารก็เพราะไม่มีผลข้างเคียง ต่างจากการบำบัดด้วยสเตียรอยด์ ซึ่งมักมีอาการอื่นๆ พ่วงมาด้วย เช่น ร่างกายไม่ต้านโรค

แม่อ้อยหาหนังสือเกี่ยวกับโรคแพ้ภูมิตัวเองและการบำบัดด้วยอาหารตามหลักการต่างๆ มาอ่านจนเข้าใจ จากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติการหักดิบ กินแต่ผักและข้าวกล้อง งดโปรตีนและน้ำตาลทุกชนิดเพื่อลดอาการอักเสบของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ SLE นอกจากนี้เธอยังเริ่มออกกำลังกาย ทั้งฝึกโยคะและเดินในน้ำ

ยังไม่ครบ 3 เดือนดีความพยายามทั้งหมดก็เริ่มเป็นผล “อาการอ่อนเพลียหายไป ไม่ปวดข้อแล้ว อาการตาดับก็ไม่มี แต่อันดับหนึ่งคือน้ำหนักลดลงแล้วสวยขึ้น คนป่วยอะไรสวยขึ้น ผู้หญิงเราแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” แม่อ้อยหัวเราะแซวตัวเอง ก่อนจะกลับมาจริงจัง 

“พอเราภาคภูมิใจในตัวเอง เราก็ยิ่งอยากทำให้สำเร็จ” เธอว่าอย่างนั้น

พสุธารา

“ผลเลือดวันนั้นทำให้ครอบครัวเรารักสุขภาพ”

เมื่อไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล ค่าต่างๆ ก็แสดงผลว่าร่างกายปกติดี เหลือเพียงค่า ESR ที่เป็นค่าแสดงการอักเสบที่ยังสูงอยู่ แต่โดยรวมคือปกติราวกับคนไม่ป่วย ตรงนี้แม่อ้อยให้เครดิตว่า ส่วนหนึ่งที่อดทนกินแค่ผักกับข้าวกล้องอยู่ได้เป็นเดือนก็เพราะคนรอบตัวสนับสนุน

“มันเริ่มจากความเห็นอกเห็นใจกันในบ้าน สามีทานเป็นเพื่อน พี่ๆ มาหาก็ทานเป็นเพื่อน แล้วสุดท้ายไม่ใช่แค่ทุกคนทำเป็นเพื่อน แต่เขาก็ได้เองด้วย ผลเลือดวันนั้นทำให้ครอบครัวเรารักสุขภาพ เพราะทุกคนเห็นว่า เฮ้ย มันหายได้”

ตรงจุดนี้บาสเห็นด้วย “ผมกินข้าวกับแม่ ก็เลยได้ spillover effect มาด้วย ผมเป็น eczema (โรคผิวหนังอักเสบ) มาเป็นสิบๆ ปี และเคยเป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น พอเปลี่ยนมากินข้าวกล้องแบบเขา ผมก็ดีขึ้นไปด้วย”

ความสำเร็จในครอบครัวจุดประกายให้ทั้งแม่อ้อยและบาสอยากส่งต่อวิถีการกินอย่างบริสุทธิ์ ในความหมายที่ว่าเลือกกินอาหารที่ดี เป็นประโยชน์ และปลอดภัยต่อร่างกาย โดยเริ่มต้นจากการปลูกผักบนที่ดินในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งครอบครัวซื้อไว้นานแล้ว ผลผลิตที่ได้นอกจากกินเองก็แจกจ่ายคนรอบตัว ส่วนที่เกินกว่านั้นก็วางขายง่ายๆ หน้าบ้าน 

พสุธารา

พอมาขลุกตัวอยู่ที่สวนผึ้งมากเข้า ครอบครัววัฒน์นครบัญชาก็ตัดสินใจปลูกบ้าน แล้วแม่อ้อยก็นำร่องมาอยู่ก่อน พอเห็นอย่างนี้คนรอบตัวทั้งญาติมิตรและเพื่อนฝูงก็ตามมาพักผ่อน จนในที่สุดจึงเกิดเป็นพสุธารา ซึ่งในช่วงแรกเริ่มประกอบด้วยบ้านพักและฟาร์มผัก มีจุดเด่นอยู่ที่ลำน้ำภาชีที่ไหลเอื่อยมอบความผ่อนคลาย 

แต่บาสมองว่าแค่ที่พักและพืชพรรณยังไม่สามารถถ่ายทอดวิถีที่แม่และเขาเชื่อมั่นได้อย่างเต็มที่ ผู้เป็นลูกชายจึงตัดสินใจเริ่มต้นปลูกเมล็ดพันธุ์บนที่ดินที่แม่ถางเตรียมไว้ให้

พสุธารา

“ผมอยากอยู่ในโลกแบบนี้ ก็เลยทำมัน”

ฉันได้ยินคำว่า creative environmentalist ครั้งแรกก็จากปากบาส 

ด้วยความรักและความใส่ใจในธรรมชาติที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก บวกกับประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาเป็นระยะจากการเดินทางท่องโลก การทำกิจกรรมในชมรมอนุรักษ์ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย การร่ำเรียนด้านสัตวแพทยศาสตร์ ตลอดจนถึงการทำงานเป็นเซลส์ขายยาและการเรียนต่อด้านการตลาด ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาหล่อหลอมให้บาสนิยามตัวเองว่า creative environmentalist หรือนักธรรมชาติวิทยาผู้สร้างสรรค์ 

และในฐานะ creative environmentalist เขาอยากต่อยอดแนวคิดการกินอย่างบริสุทธิ์ของแม่ให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ของชีวิต จึงเป็นที่มาของสโลแกนของพสุธาราที่ว่า ‘Purifying Life’ ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างรู้จักธรรมชาติและกลมกลืนกับธรรมชาติเท่าที่จะทำได้ 

“ผมอยากเห็นโลกรื่นรมย์ มีธรรมชาติเป็นหัวใจ และมนุษย์รู้จักการทำงานกับธรรมชาติโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เอาจากเขาเฉยๆ โดยไม่ใส่ใจเขาเลย ผมอยากอยู่ในโลกแบบนี้ ก็เลยทำมันผ่านสิ่งต่างๆ

“แม่เริ่มต้นที่อาหาร เพราะอาหารเป็นปัจจัย 4 ที่ทำให้ชีวิตดีและบริสุทธิ์ได้ เราได้อาหารก็เพราะมีธรรมชาติ ดังนั้นเราก็ควรรู้จักมันด้วย เราจึงใช้บ้านของเราเป็นพื้นที่เรียนรู้ สำหรับทั้งตัวเราเองและคนที่มาที่นี่”

พสุธารา

พสุธารา

จู่ๆ เขาก็เปลี่ยนจากคนถูกถามมาเป็นคนตั้งคำถาม “พูดถึงสวนผึ้งแล้วนึกถึงอะไร”

แกะ เมลอน โอ่ง ฉันและช่างภาพช่วยกันลิสต์  

“แต่จริงๆ ที่นี่มีดีกว่านั้นเยอะ” บาสว่า “ผมอยากให้ที่นี่ถูกมองในมุมใหม่ คำว่าตะนาวศรีไม่ใช่แค่เมืองท่องเที่ยว มันเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ มีคนทำเกษตรกรรม มีคนทำสิ่งอื่นๆ อีกมาก”

ณ เวลาที่เราได้เจอกัน บาสบอกว่าวิธีที่ดีสุดในการสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้การใช้ชีวิตบริสุทธิ์แบบพสุธาราคือการไปพักที่นั่น กินอาหารสูตรของแม่ ไปร่วม Random Expedition ทริปสั้นๆ กับเขาเพื่อสำรวจไร่เพื่อนบ้าน ป่า วัด ตลาดในพื้นที่ใกล้เคียง หรือร่วม Pleasant Life Trip ทริป 2 วัน 1 คืนที่เขาออกแบบให้ผู้เข้าร่วมได้กลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่ตัวเอง พร้อมทั้งทำความรู้จักพื้นที่แถบเทือกเขาตะนาวศรีไปพร้อมกัน

ถึงอย่างนั้นบาสก็ตระหนักดีว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถมาหาเขาและแม่ได้ถึงที่ เป็นจุดนี้เองที่ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติภายใต้แบรนด์พสุธาราเข้ามามีบทบาท

“เราอยากให้คนเข้าถึงธรรมชาติผ่านของกินหรือของใช้”

บาสทยอยหยิบผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างมาให้เราดู (และชิม) ตั้งแต่เลมอนบ่มน้ำผึ้งอันเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของพสุธารา น้ำผึ้งบ่มเลมอน เลมอนพริกเกลือ ผงเคล เรื่อยไปจนถึงสเปรย์โรสแมรี แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ได้แปรรูปจากผลผลิตที่ปลูกในที่ดินริมแม่น้ำภาชีทั้งหมด แต่บาสก็ตั้งใจคัดสรรวัตถุดิบจากผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ว่าปลูกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค

“เราอยากให้คนเข้าถึงธรรมชาติผ่านของกินหรือของใช้ เราเลยทำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติร่วมสมัยที่ดี และยังนำเสนอคุณค่าของพื้นที่ จะเห็นว่าเราบอกตลอดว่าเราอยู่ที่เทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ เป็นแหล่งปลูกผักที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด 

“การที่เราให้ทางเลือกในการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับเขาก็น่าจะตอบโจทย์ Purifying Life ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้” 

พสุธารา

พสุธารา

พสุธารา

พสุธารา

ฉันพักเติมพลังด้วยเลมอนบ่มน้ำผึ้งรสอมเปรี้ยวอมหวาน จมูกได้กลิ่นละอองเลมอนฟุ้งกระจายในอากาศอีกครั้ง ก่อนที่มาของกลิ่นจะเฉลยเมื่อพี่สตาฟยกน้ำเปล่าลอยเลมอนมาให้

อากาศร้อนขึ้นตามดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนตัวมาอยู่ตรงหัว จานอาหารทยอยเสิร์ฟบนโต๊ะที่เรานั่งคุยกัน เริ่มด้วยสลัดผักจานโต ประกอบด้วยผักที่เพิ่งตัดสดๆ จากสวนและน้ำสลัด ผักในจานไม่ได้คลุกเคล้าปะปนกันมาอย่างที่เคยคุ้น หากแต่วางเรียงแยกชนิดกัน พร้อมมีป้ายจิ๋วระบุชื่อพันธุ์ ตามที่บาสบอกไม่มีผิดว่าอยากให้คนรู้จักและใส่ใจในสิ่งที่รับเข้าร่างกาย

พสุธารา

ฉันลองกินข้าวผัดปลาทูสูตรแม่อ้อย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าแทบไม่ได้ปรุงอะไร อาศัยรสเค็มจากปลาทูก็เพียงพอแล้ว กินแนมกับพริก หอมแดง ขิง เลมอน มะม่วงเปรี้ยว และทาร์รากอน สมุนไพรชื่อแปลกที่ฉันเพิ่งเคยชิมครั้งแรก แม้จะใช้วัตถุดิบหลายอย่าง แต่ก็ถือเป็นจานที่เรียบง่ายด้วยการปล่อยให้รสชาติแท้จริงของแต่ละวัตถุดิบทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ในเมนูยังมีเซตข้าว น้ำพริก และแกงที่ปรุงด้วยผักตามฤดูกาล เคลทอดกรอบ ซี่โครงหมูทอดโรสแมรี ขนมปัง สปาเกตตี รวมถึงของหวานอย่างเครปเลมอน เชอร์เบตเลมอน และวุ้นโอมากาเสะ ซึ่งแม้เมนูหลังๆ จะเพิ่มเข้ามาจากอาหารสูตรคุณแม่ แต่บาสก็ยังคงยึดหลักการการกินอย่างบริสุทธิ์ ด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและการลดน้ำตาลในทุกเมนูลงราว 40 เปอร์เซ็นต์

แต่ถึงจะพยายามปรุงรสให้น้อยที่สุด แม่อ้อยก็บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตสุดโต่ง หนทางที่ควรเป็นคือต้องเผื่อพื้นที่สำหรับความสุขไว้ด้วย 

“อาหารดีต้องไม่ฝืน มันต้องอร่อยด้วย อาหารที่มีประโยชน์ต้องทานได้ทุกวัน ทานแล้วอร่อย มันถึงจะหาย เพราะถ้าอาหารนั้นดี แต่เราทานได้แค่วันนี้ พรุ่งนี้ไม่ไหวแล้ว อาหารนั้นก็ไม่สามารถรักษาโรคได้” แม่อ้อยย้ำอย่างคนที่เข้าใจมันจริงๆ

“งานคือคุณค่าของชีวิต”

“ตั้งแต่ผมมาทำที่นี่ ผงชูรสก็หายไปจากครัว ตอนแรกเขาก็ปรับกันไม่ได้นะ เพราะคนที่นี่ทานผงชูรสเป็นเกลือ” บาสเล่าเรื่อยๆ ระหว่างที่เราละเลียดเชอร์เบตเลมอนรสสดชื่น  

เพราะเชื่อในการทำงานกับคนใกล้ตัวก่อน บาสจึงชวนให้เหล่าสตาฟที่พสุธาราทำความรู้จักวิถีชีวิตบริสุทธิ์ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งผ่านการปฏิบัติด้วยตัวเอง จากนั้นจึงถ่ายทอดแนวคิดนี้สู่ลูกค้าผ่านงานที่ทำ 

“ถ้าเราเอาใจและจิตวิญญาณใส่ลงไปในงาน มันจะมีคุณค่า แล้วเราก็จะส่งต่อคุณค่านั้นไปถึงคนอื่นได้” เขาว่าอย่างนั้น

แม้ในภาพเล็กพสุธาราอาจเป็นเพียงธุรกิจหนึ่ง แต่บาสเห็นภาพใหญ่ชัดเจนว่าพสุธารากำลังขับเคลื่อนประเด็นใหญ่อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านผลิตภัณฑ์ การบริการ และเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ที่พสุธารามี

“ผมเชื่อว่างานคือคุณค่าของชีวิต และผมรู้ตัวว่าอยากทำธุรกิจที่ดีกับตัวเอง ผู้คน และสังคม การทำงานคือโอกาสในการทำอะไรดีๆ ในเชิงโครงสร้างใหญ่ได้ๆ ไม่ใช่แค่ใช้ชีวิตของตัวเอง”

นอกจากมิติของลูกค้าหรือแขกที่แวะเวียนเข้ามา บาสยังมองในแง่มุมของเศรษฐกิจในชุมชน เขายกตัวอย่างว่า ลำพังผลผลิตเลมอนในสวนของพสุธารานั้นไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าทั้งหมด เขาจึงจับมือกับเกษตรกรที่ไว้ใจได้ รับซื้อเลมอนจากสวนเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นสินค้า นับเป็นการเติบโตไปพร้อมๆ กันกับเพื่อนพ้องในโลกอันรื่นรมย์ที่เขาวาดฝันเอาไว้

“ชีวิตมันงามของมันอยู่แล้ว เราแค่มาเป็นส่วนหนึ่ง”

บาสเดินนำเราลัดเลาะตามทางเดินเลียบแม่น้ำภาชี มองออกไปเห็นห่านสองตัวว่ายน้ำเคียงกันไม่ห่าง เราแวะดูแปลงผักสลัดที่เพิ่งได้กิน เดินรอบๆ ต้นเลมอนต้นแรกของพสุธารา ก่อนจะไปจบทัวร์ที่ฟาร์มเลมอนขนาดย่อม ฉันเขย่งดมดอกเลมอนสีขาว มันมีกลิ่นหอมคนละแบบกับผลเลมอนโดยสิ้นเชิง

“คิดยังไงกับคนเมืองที่มีความคิดโรแมนติกและสวยงามเกี่ยวกับการหนีเมืองมาทำไร่ทำสวน” ฉันโยนคำถามให้ชายหนุ่มตรงหน้า เขานิ่งคิดครู่หนึ่งก่อนให้คำตอบ

“ผมไม่เชื่อว่าต้องมาทำสวนถึงจะโรแมนติก ผมเชื่อว่าชีวิตมันโรแมนติกอยู่แล้ว โรแมนติกก็คืองาม ชีวิตมันงามของมันอยู่แล้ว เราแค่มาเป็นส่วนหนึ่ง แล้วใช้ความสร้างสรรค์ของเราในการทำ

“แต่ถ้าพูดถึงทัศนะของคนที่พกมาแบบนั้น ผมคิดว่าจะลำบากแน่ๆ ถ้าไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง เพราะการปลูกพืชผักต้องอาศัยการดูแล คิดว่าทัศนะนั้นอาจเป็นภาพจำที่เป็นด้านเดียวเกินไป มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเป็นสวนเล็กๆ ปลูกพืชปลูกผักไว้กินรื่นรมย์ของเราเอง แต่เมื่อไหร่ที่มีสวนแล้วคุณต้องลงทุนให้มัน ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ก็เป็นอีกเรื่องแล้ว” 

แม้บาสเองก็ไม่ได้ร่ำเรียนด้านเกษตรกรรมมาโดยตรง แต่เขาอาศัยการเรียนรู้ด้วยตัวเองและถามไถ่จากคนที่รู้จริง ประเด็นที่ว่าเขาช่ำชองในพืชพรรณที่พสุธาราปลูกนั้นไม่ต้องสงสัย เพราะระหว่างชวนพวกเราเก็บเกี่ยวผลเลมอน เขาก็เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังไปด้วย เลมอนแบบไหนที่เป็นเกรดเอ เลมอนเกรดทำขนมและเกรดแปรรูปต่างกันยังไง เกษตรอินทรีย์ต้องปลูกเวียนคร็อป โรสแมรีไม่ถูกโรคกับความชื้น และอื่นๆ อีกมากที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวชั่วระยะเวลา 3 ขวบปีที่เข้ามาอยู่กับดินและน้ำของพสุธาราอย่างเต็มตัว เขานิ่งคิดอยู่นานก่อนจะตอบว่า “ผมพบว่าตัวเองทำอะไรได้เยอะกว่าที่คิด (หัวเราะ) ผมต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น และเมื่อผมต้องขยับมาเป็นผู้นำ อยู่กับน้องๆ พี่ๆ บนแบ็กกราวนด์ที่ต่างกัน ผมก็เปิดใจมากขึ้น และหวังอยากให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้ดีขึ้นได้ พัฒนาได้

“อีกประเด็นที่สำคัญ ผมรู้ตัวแล้วว่าตัวเองไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก ตอนเด็กๆ เราอยู่ในเทรนด์ ซื้อของแพงๆ ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่วันนี้เมื่อมาทำสิ่งนี้ ผมก็รู้สึกว่าเราแค่ขยับไปกับโลก เต้นไปกับโลก”

ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ อากาศเย็นลงทุกที บาสเดินมาส่งพวกเราที่รถ ก่อนจะยื่นช่อผักตัดสดๆ จากแปลงมาให้ เป็นทั้งคำบอกลา ทั้งสิ่งที่ย้ำเตือนเมสเซจที่พสุธาราอยากบอกทุกคน 

ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เราก็สัมผัสธรรมชาติได้ ด้วยการเลือกกิน เลือกใช้ และตระหนักเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบใหญ่ที่สะพรั่งด้วยธรรมชาติ จงอยู่กับมันอย่างเข้าใจ กลมกลืน และเต้นไปกับมัน


ใครที่อยากสัมผัสความรื่นรมย์ที่พสุธารา เราแนะนำให้แวะไปเยี่ยมเยียนในวันที่ 7-8 ธันวาคม เวลา 12:00-21:00 น. ซึ่งจะมีงาน ‘ตลาดธรรมชาติคืนชีวิต ตอน ดิน น้ำและพลังชีวิต’ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของพสุธารานะ 🙂

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่