‘ธ.ไก่ชน’ สถาปนิกไม้ไผ่ที่เชื่อว่าการเติบโตที่ดีคือการโตที่เต็มจากข้างใน

Highlights

  • ธ.ไก่ชน คือบริษัทสถาปนิกไม้ไผ่ของ ตั้บ–ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกหนุ่มที่รับออกแบบ รับเหมาก่อสร้าง และจัดจำหน่ายวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่หลากสายพันธุ์ที่ปลูกโดยเกษตรกรไทย
  • แม้ลายเซ็นในงานของ ธ.ไก่ชนจะเป็นที่สนใจสำหรับคนทั่วไป แต่ตั้บสารภาพกับเราว่าตัวเขาเองยังไม่เก่งพอ
  • แต่ก็เพราะวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุบ้านๆ อย่างไม้ไผ่นี่แหละที่ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ และรู้ว่าการเติบโตแบบไหนในสายอาชีพที่ ‘พอดี’ กับตัวเอง

คาเฟ่ไม้ไผ่ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาอย่าง ชะตาธรรมชาติ หรือจะคาเฟ่ริมทะเลอย่าง Papa Beach Pattaya โรงเรียนสอนถ่ายรูป Light House Photo Academy หมู่มวล installation ในงานอีเวนต์สุดเก๋อย่าง Wonderfruit หรืองานรีโนเวตอาคารไม้เก่า Natura Garden Cafe ย่านจอมทอง

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างผลงานจาก ‘ธ.ไก่ชน’ บริษัทของ ตั้บ–ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกจากรั้วศิลปากร 

แม้บริษัทที่รับทั้งออกแบบ รับเหมาก่อสร้าง และจัดจำหน่ายไม้ไผ่พร้อมใช้งานแห่งนี้ จะเดินมาสู่ขวบปีที่ 7 แต่ชายหนุ่มวัย 34 ปีคนนี้กลับบอกว่าบทเรียนล่าสุดที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับไม้ไผ่คือ เขาได้รู้ว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ยังมีเรื่องราวมากมายที่ต้องเรียนรู้ และยังมีปัญหาหลายข้อต้องคอยแก้ไข

แต่ก็เพราะวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุบ้านๆ อย่างไม้ไผ่นี่แหละที่ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ และรู้ว่าการเติบโตแบบไหนในสายอาชีพที่ ‘พอดี’ กับตัวเอง

ไม่ใช่ลมเย็นๆ ที่พัดผ่านหน้าหรือเสียงใบไผ่ที่ลู่ลมหรอกที่ทำให้เรามองเห็นความงามของธรรมชาติมากขึ้น 

แต่เป็นบทสนทนาระหว่างเรากับตั้บที่คุณจะได้อ่านด้านล่างนี้ต่างหาก

 

คุณเริ่มสนใจวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ตั้งแต่ตอนไหน

ผมรู้ตัวช่วงที่ทำงานออฟฟิศสถาปนิกที่กรุงเทพฯ โปรเจกต์ที่ทำเป็นบ้านในเมือง โรงแรมคอนกรีต ผมเบื่อการออกแบบสิ่งที่เป็นเมืองมาก เหมือนทำอะไรซ้ำๆ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดหมาย แล้วตั้งคำถามว่าเราจะเป็นสถาปนิกแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ บวกกับความเซ็งของการต้องนั่งรถจากพระราม 7 ไปออฟฟิศที่รัชดาฯ ไป 2 ชั่วโมง กลับ 2 ชั่วโมง มันทำให้ผมรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติดี คิดไปเรื่อยเลยนะ ตั้งแต่ปลูกต้นไม้ขาย ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ

ไม้ไผ่คือวัสดุอย่างแรกที่ผมนึกถึง ก็ทดลองกับมันเป็นอย่างแรกเลยเพื่อดูว่าเราจะชอบมันจริงหรือเปล่า พอมีโอกาสไปเวิร์กช็อปกับบริษัทฝรั่งเจ้าหนึ่งที่ทำงานในไทยแล้วชอบมาก เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่เกี่ยวข้องกับไม้ไผ่

ได้เรียนรู้อะไรจากเวิร์กช็อปครั้งนั้น

เขาเปิดโลกให้ดูว่าทุกวันนี้โลกเขาทำงานไม้ไผ่ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งผมค้นพบว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ไปศึกษาเรื่องไม้ไผ่ที่เชียงใหม่ เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ ผมชอบมาก (เน้นเสียง)

ก่อนหน้านี้มีคนถามผมว่าชอบไม้ไผ่เพราะอะไร ผมจะตอบแค่ว่ามันสวยเฉยๆ แต่ปัจจุบันผมอธิบายความชอบได้มากกว่านั้นอีกมาก เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกแล้ว ผมรู้แล้วว่าผมคิดกับไม้ไผ่แบบไหน มันคือความรู้สึกที่ผมได้รับเวลาที่ได้นั่งอยู่ใต้หลังคาไม้ไผ่ ผมรู้สึกสบาย ปลอดภัย และผ่อนคลาย

 

พูดได้ไหมว่าทำงานกับไม้ไผ่แล้วมีแต่ความสบายใจ

มีปัญหามากกว่าความสบายใจ ออฟฟิศผมไม่มีซีเนียร์ พาร์ตเนอร์ยังไม่มีเลย ชวนเพื่อนมาทำบริษัท เพื่อนล้อว่าทำตะเกียบเหรอวะ สานสุ่มไก่ขายเหรอวะ (หัวเราะ) ชวนเพื่อนหุ้น เพื่อนไม่ยอมเลย เวลามีปัญหาผมถามใครไม่ได้เลย คนอื่นยังถามเราเลยเรื่องไม้ไผ่ โทรมาถามว่าให้ใครทำงานให้ดี ฉะนั้นเวลามีปัญหาปุ๊บเราต้องมีสมาธิให้มากแล้วตัดสินใจแก้ปัญหานั้นเอง

ทำงานกับไม้ไผ่มา 7 ปีแล้ว ความตั้งใจของวันแรกกับวันนี้ยังเหมือนเดิมไหม

ไม่เหมือน ผมบอกเลยว่าปีที่ 1-7 ผมคิดต่างไปตลอดเลย ไล่ตั้งแต่ตอนแรกผมทำเพื่อความสนุก ไม่สนใจด้วยซ้ำว่า ธ.ไก่ชนคืออะไร ผมเปิดบริษัทเพื่อเซ็นสัญญาทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง ผลิตไม้ไผ่ให้ตัวเองเอาไปสร้างเป็นงานเฉยๆ แค่นั้น

แต่พอทำมาเรื่อยๆ มีคนรู้จักเรามากขึ้น บริษัทโตขึ้น จากที่มีแค่คนเดียวก็มีน้องๆ เข้ามาช่วย มีปัญหาให้แก้เรื่อยๆ ตามทาง วันนี้ผมไม่มีคำถามแล้วว่าในแง่ธุรกิจ ธ.ไก่ชนอยู่ได้ยังไง ก่อสร้างได้ยังไง 5-6 ปีที่ผ่านมาผมอาจจะไม่รู้ทั้งหมด แต่ผมรู้เทคนิคที่ผมชอบ เพราะงั้นเป้าหมายในปีนี้ของผมคือโฟกัสเรื่องการออกแบบให้มากขึ้น

ต้องยอมรับว่าทำงานเยอะๆ แล้วมันเครียด พอสุขภาพจิตเราไม่ดีงานออกแบบเราก็ไม่ดี ตั้งแต่จ้างเลขาฯ มาช่วยจัดการนั่นนี่ ผมมีเวลานั่งเฉยๆ และโฟกัสกับการออกแบบ เขียนแบบมากขึ้น ซึ่งจริงๆ สิ่งเหล่านี้มันควรจะเกิดขึ้นนานแล้วนะ เมื่อก่อนเวลามีนิตยสารมาสัมภาษณ์ผมว่าไอเดียในการออกแบบอาคารหลังนี้คืออะไร ในใจเรารู้เลยว่ามันไม่มีอะไรเลย เพราะงั้นเราไม่สามารถเทียบกับสถาปนิกรุ่นพี่ได้เลย

ผมเรียนรู้ว่าสิ่งที่ ธ.ไก่ชนโดดเด่นอยู่ทุกวันนี้คือไม้ไผ่ แค่นั้น ไม่ใช่เนื้อหาของการออกแบบของผมเลย ไล่มาตั้งแต่วันแรก เวลาคนเห็นงานไม้ไผ่เขาจะเดาไม่ออกเลยว่าเป็นงานใคร บางคนเหมารวมเลยว่าเป็นงานของผม การที่ผมจะไปสู่มาตรฐานแบบรุ่นพี่สถาปนิกหลายๆ คนที่ผมศรัทธาได้ ผมต้องกลับมาเพิ่มคุณค่าของการออกแบบ ต้องเริ่มทำสิ่งที่เป็นลายเซ็นของตัวเองได้แล้ว

การเป็นออฟฟิศสถาปนิกที่มีตัวตนหรือลายเซ็นการออกแบบที่ชัดเจนมันสำคัญกับคุณยังไง

จริงๆ มันสำคัญกับคนทุกอาชีพนะ อย่างการที่คนอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เปิดเพจขายของ หรือแค่เปิดอินสตาแกรม คือเขาอยากมีตัวตนแหละ แต่ผมเกิดมาในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่บูมขนาดนี้ การมีตัวตนของผมมันต้องมาจากการออกแบบ การทำอะไรที่เป็นแอนะล็อก จับต้องได้ เป็นชิ้นงานที่ผ่านประสบการณ์ ผ่านความยากลำบากแบบนั้น มากกว่าที่จะใช้โซเชียลมีเดีย หรือใช้การแต่งตัวเพื่อให้เป็นตัวเอง คือทุกอย่างไม่ผิดนะ แต่ผมใช้วีธีการนี้

ลึกๆ แล้วอยากเห็นบ้านเรามีสถาปนิกไม้ไผ่เพิ่มขึ้นไหม

มีหลายคนถามว่าทำไมบริษัทสถาปนิกไม้ไผ่คล้ายๆ ธ.ไก่ชนมันไม่เกิดขึ้นมาสักที เหมือนกับออฟฟิศดีไซน์ บริษัทกราฟิกอะไรแบบนี้ ผมอยากให้มีรุ่นน้องทำอะไรแบบนี้เยอะๆ เหมือนกัน ผมจะได้ทำงานง่ายขึ้น ถ้าเราคอลแล็บกันก็จะผลิตงานได้ใหญ่ขึ้น

ผมยินดีบอก know-how ทุกอย่างนะ น้ำยาในการทรีตเมนต์ไม้ไผ่เป็นยังไง จะทำไม้ไผ่คุณต้องเริ่มที่ไหน หรือแม้แต่จะรับงานจากใคร ผมบอกหมด แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย คือมีหลายคนที่พูดว่าอยากทำอะไรคล้ายๆ ผม แต่ไม่ยอมที่จะเจอกับความเหนื่อยที่ใกล้เคียงกันได้ อย่างการเข้าใจไม้ไผ่เราไม่สามารถหาจากกูเกิลได้เลย เราต้องดูเนื้อไม้จริงๆ เท่านั้น เราไม่มีทางรู้ว่ามันแข็งหรืออ่อนตอนไหนถ้าเราไม่เอามีดไปฟันไปผ่ามัน

เมื่อก่อนผมเอามีดฟันมันเอง แต่ตอนนี้ผมมีลูกน้อง ผมก็ดูเขาทำ เวลาเอาสว่านเจาะ ไม่ว่าจะไผ่ซาง ไผ่ตรง หรือไผ่เลี้ยง อันไหนแข็งกว่ากันผมรู้ตรงนั้นเลย ยิ่งทำงานกับน้องๆ ยิ่งรู้เลยว่าเวลาให้หาอะไรคำว่า ‘ไม่มีครับ’ คือ ‘เสิร์ชกูเกิลแล้วมันไม่มีครับ’ อะไรที่ไม่มีในนั้นคือไม่มีจริงบนโลกนี้ เรื่องนี้เราช็อกพอสมควร แต่ก็รับได้นะ ต้องบอกเขาว่าน้องนั่งรถออกไปนะ ไปหาพี่คนนี้ที่ชุมชนนี้ ไปถามให้ทีว่ามีหรือไม่ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าหากันนั่นแหละ

ภาพรวมของวงการสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ในไทยเป็นยังไงบ้าง

งานไม้ไผ่บ้านเรามีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด หน่วยธุรกิจที่สนใจขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อย่างเมื่อก่อนจะมีแค่ร้านอาหาร โรงแรม เดี๋ยวนี้ขยับไปสู่วงการอื่นแล้ว เช่น แฟชั่น ดนตรี หรือแม้แต่พลังงาน เครื่องสำอาง อะไรแบบนี้ แต่ต่างชาติน่ะเขาไวอยู่แล้ว ที่เยอรมนีเขาวิจัยเรื่องวิศวกรรมไม้ไผ่ตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้ว เขาไปไกลกันหมด แต่สิ่งเดียวที่ยังช้าอยู่คือไม่มีทรัพยากรไม้ไผ่ของตัวเอง

ประเทศจีนเขาพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไผ่ไปไกลมาก ทำได้หมดแล้ว เพราะงั้นถ้าถามว่าตอนนี้ผมอยากร่วมงานกับสถาปนิกชาติไหนมากที่สุด ต้องเป็นจีนแน่นอน ล่าสุดเขาปลูกป่าไผ่เพิ่มขึ้น ผืนป่าประเทศนี้น่าจะใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศเลยมั้ง จีนนี่มาแรงและน่าตื่นเต้นที่สุดแล้ว

เวลาพูดถึงสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ คนมักนึกถึงบาหลีเป็นที่แรก คุณคิดว่าไทยจะเป็นแบบนั้นได้ไหม

ได้ แต่คนที่ทำต้องมีคุณภาพก่อน งานบาหลีเกิดขึ้นได้เพราะหนึ่ง เจ้าของโครงการมีเงิน มีวิสัยทัศน์ คิดโปรแกรมดีๆ ออกมา สอง นักออกแบบมีคุณภาพ สาม มีวิศวกรที่เก่ง พอสามคนนี้มาเจอกับช่างไม้พื้นถิ่นที่มีทักษะของคราฟต์แมนสูง ภาคเกษตรที่พร้อมจะซัพพลายไม้ไผ่ การปลูกป่า การตัดไม้ ก็ทำกันแบบ sustainable ด้วยนะ ถ้าบ้านเราจะสู้ได้ นักออกแบบคนเดียวเอาไม่อยู่หรอก องค์รวมต้องไปด้วยกันทั้งหมด 

คิดว่าตัวเองรู้เกี่ยวกับไม้ไผ่เยอะพอหรือยัง

ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ มันไม่จบสิ้นหรอก แต่ถ้าตอบแบบขี้โม้ก็ถือว่ารู้เยอะ (หัวเราะ) เรากินนอนอยู่กับมันทุกวันมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ผมก็ต้องเข้าใจมันพอสมควร เป็นเพื่อนนี่คงสนิทกันมากละ

 

ข้อดีของการทำงานกับเพื่อนสนิทคนนี้มีอะไรบ้าง

อย่างแรกคือไม้ไผ่ไม่เหมือนไม้อย่างอื่นอยู่แล้ว หรือแม้แต่ลำนี้กับลำนี้มันไม่มีทางเหมือนกันได้ ทั้งรายการคำนวณ คาแร็กเตอร์ ลักษณะทางวิศวกรรม ไม่มีทางเหมือนกันเลย พอไม่ใช่วัสดุอุตสาหกรรมมันเลยเหมือนเราทำงานที่เป็นชิ้นเดียวในโลกตลอดเวลา อย่างที่สองคือเราเหมือนได้ทำงานอยู่กับธรรมชาติ ในการสร้างอาคารหนึ่งหลังผมไม่ได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย ใช้แรงคน ใช้เครื่องมือไฟฟ้า เหมือนได้ลดคาร์บอนฟุตปรินต์

ข้อสุดท้ายคือผมได้เจอตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือผมได้เป็นตัวเอง ผมมีความภาคภูมิใจในการเป็นสถาปนิก ถ้าไม่ได้ทำไม้ไผ่คือน่าจะเลิกทำอาชีพนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ การที่คนเราจะทำอะไรได้นานๆ แน่นอนว่านอกจากมีเงิน ต้องมีความภาคภูมิใจด้วย

ข้อเสียของเขาล่ะ

โห บานเลยข้อเสีย จะเรียกว่าทำงานยากก็ยากนะเพราะต้องใช้คราฟต์แมนสูงมาก แล้วก็ไม่แข็งแรงในความเป็นจริง และไม่แข็งแรงสุดๆ ในสายตาคนทั่วไป มีคนคิดร้ายกับไม้ไผ่เยอะมาก แย่สุดๆ เลยคือมีคนคิดว่าถ้าราดำๆ บนไม้ไผ่ร่วงมาโดนตัวแล้วจะเป็นมะเร็ง คือวัสดุธรรมชาติมันยังไม่ได้รับการยอมรับในทัศนคติของคน แต่วันนี้ผมว่าเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะเราเจอลูกค้า เจอคนที่ชอบไม้ไผ่มากพอแล้ว

ผลตอบรับไหนที่ทำให้คุณรู้สึกภูมิใจที่เลือกเส้นทางนี้

เสียงของคนทั่วไปที่พูดถึงงานของเรา กำลังใจจะมาจากทางนั้น แต่ที่ภูมิใจที่สุดก็คือแม่เราโม้เรื่องลูกให้เพื่อนฟังได้ (หัวเราะ) ลึกๆ ผมอาจจะเขินนะ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้แม่เรา ญาติพี่น้องเรา ภาคภูมิใจ อย่างน้อยเราก็เริ่มจากไม่มีตังค์เลย การได้ทำงานอย่างมีความสุขก็เป็นรางวัลแล้ว หรือการที่มีคนเข้ามาหามาคุยด้วยแบบนี้ ผมดีใจนะ

 

เคยย้อนกลับไปคิดไหมว่าชีวิตตอนเด็กมันส่งผลถึงตัวตนเราในวันนี้มากๆ

แน่นอน ตอนเด็กผมโตมากับวิถีชาวสวนฝั่งธนฯ เล่นน้ำในคลองข้างบ้าน ตอนเด็กไม่คิดอะไรหรอก แต่โตมาก็รู้ว่ามันสกปรกมาก (หัวเราะ) พ่อผมชอบเดินป่ามาก ผมเลยอยู่ใกล้ชิดต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก อย่างบ้านที่อยู่ก็เป็นบ้านไม้ เท้านี่โดนเสี้ยนไม้ตำตลอดเวลา แล้วบ้านไม้ตอนหน้าฝนมันจะเอี้ยดอ้าดๆ พ่อแม่เดินอยู่ข้างบนเราจะได้ยินเสียงตลอดเวลา ประตูปิดไม่พอดีบ้าง หรือไม้มีเชื้อราบ้าง คือถ้าเป็นบางคนเขาเครียดมากนะ แต่ผมไม่ค่อยรู้สึกลำบากหรือตะขิดตะขวงใจกับมันเลย ผมว่าชีวิตตอนเด็กทำให้ผมเข้าใจเรื่องความไม่พอดี ความไม่เพอร์เฟกต์

พอได้กลับมาอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบวัยเด็กความรู้สึกมันเป็นยังไง

สบายใจมาก ชอบมากเลย เล่าแบบนี้ผมอาจจะดูเลวนิดหนึ่งนะ เวลาเห็นเพื่อนโพสต์เฟซบุ๊กด่านู่นนี่ตอนที่บีทีเอสเสีย คือชีวิตเพื่อนล่มสลายแล้วอะ แต่ผมนั่งทำงานที่นี่ ผมไม่รู้เลยว่าปากซอยรถติดหรือเปล่า จะรู้ก็ตอนที่ออกไปกินก๋วยเตี๋ยว อันนี้มันเป็นความได้เปรียบในแง่ที่ว่าผมทำงานตอนเช้าได้โดยที่ไม่มีอะไรทำให้เครียดเลย สุขภาพจิตดีขึ้นเยอะเลย

มองอนาคตตัวเองไว้ยังไง

ขอย้อนกลับไปพูดก่อนว่า ธ.ไก่ชนมีงานอยู่ 3 ส่วน ในส่วนของการผลิตไม้ ผมก็หวังใจว่าจะผลิตให้ทันกับการใช้งานสักที อยากมีสต็อกใหญ่ๆ ซัพพอร์ตออฟฟิศอื่นที่อยากใช้ไม้ ในส่วนของการก่อสร้าง ผมอยากให้ ธ.ไก่ชนเป็นที่ปรึกษา ส่งเสริมและสร้างอาชีพให้วงการช่างไม้ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเราไม่มีวัสดุอะไรให้ช่างไม้แล้ว ช่างไม้เก่าๆ ก็เลิกทำ แล้วก็ไม่ได้ทิ้งวิชาให้ลูกหลาน อยากรื้อฟื้นตระกูลช่างพวกนี้ อยากให้เขากลับมาทำงานร่วมกัน ในส่วนของการออกแบบ ผมว่าผมพูดไปเยอะแล้วในตอนแรก ผมอยากมีหลักฐานที่ยืนยันว่าผมทำงานที่มีคุณภาพได้จริง มีรางวัลกลับมาบ้างก็น่าจะดี 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมอยากประกอบอาชีพที่มีความสุขแบบนี้ตลอดไป ผมกลัวมากว่าวันหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นคนอื่น ผมอยากอยู่ในสเกลนี้ให้ได้นานที่สุด เพราะสเกลนี้ผมรู้แล้วว่าเป็นการสร้างความสุขให้เรามาก ถ้าเรากระโดดขึ้นมาเป็นบริษัทใหญ่โตก็จะกลายเป็นคนเครียดเหมือนในวันแรกที่ทำงาน ไม่อยากไปถึงจุดนั้น เพราะงั้นจุดหมายของผมในตอนนี้คืออย่าไปไกลกว่าทุกวันนี้มาก

แปลว่าไม่ได้อยากโตไปมากกว่านี้

โตแบบเต็มข้างใน ไม้ไผ่มันจะมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนต้นโพธิ์หรือต้นไทรที่อายุมากขึ้นแล้วจะขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ สมมติว่าไผ่เลี้ยงอันนี้จะเต็มสุดแค่ 2 นิ้ว อย่างไม้ไผ่ข้างหลังนี้เต็มสุดแค่ 5 นิ้ว แต่มันไม่เคยหยุดโตนะ มันโตด้านใน เข้าไปเต็มข้างใน ผมรู้สึกว่าผมโตแบบนี้ดีกว่า


ภาพ ธ.ไก่ชน THAI Bamboo Architecture

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว