กลางวันทำงานอ่านหนังสือ ตกดึกดูดาวดื่มชา ที่ ‘สิริเมืองพร้าว’ บ้านเกิดของการะเกต์

Highlights

  • สิริเมืองพร้าว คือธุรกิจเพื่อชุมชนในหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อว่า 'มนุษย์เกิดมาเพื่อจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน' ของเกด–การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ ที่ตั้งใจสร้างพื้นที่ขนาดกว่า 7 ไร่ ให้กลายเป็นศูนย์กลางโครงการสร้างสรรค์เพื่อชุมชนเล็กๆ อันประกอบไปด้วยห้องสมุดชุมชน สวนเกษตรอินทรีย์ ไปจนถึงห้องเรียนสำหรับเด็กๆ
  • สิริเมืองพร้าว คือความฝันจากวัย 17 ปี ของเกดกับเพื่อนทางจดหมาย (pen friend) ที่ต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านนอก ทำธุรกิจเล็กๆ มีเวลาให้กับตัวเอง และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม ที่เป็นจริงขึ้นมาในอีก 30 ปีให้หลัง ณ บ้านเกิดของเธอเอง
  • นอกจากบทบาทการเป็นผู้เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังสิริเมืองพร้าว การะเกต์ยังเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ทำนายดวงชะตาชื่อดัง และยังเคยเป็นอดีตบรรณาธิการวัยหวาน นิตยสารวัยรุ่นชื่อดังในอดีต รวมถึงการเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น หนึ่งในสำนักพิมพ์เก่าแก่ที่มีส่วนสำคัญต่อวงการน้ำหมึกไทย

หากพูดถึงอำเภอพร้าว หลายคนที่ไม่ได้อยู่เชียงใหม่อาจไม่คุ้นชื่อ ด้วยความที่เป็นอำเภอขนาดเล็กห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยระยะเวลาเดินทางไกลเกือบ 2 ชั่วโมง

พร้าววางตัวอยู่เงียบเชียบท่ามกลางบรรยากาศภูเขาล้อมรอบ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังปกคลุมด้วยไร่นาและเรือกสวนทางเกษตรกรรม ไม่มีอาคารสูงเสียดฟ้า ไร้ซึ่งแสงสีรบกวนแสงไฟจากดวงดาวบนฟากฟ้า ไร้ซึ่งเสียงที่ดังเกินไปจนกลบรบกวนเสียงของใบไม้เสียดสีจากสายลม

พร้าวจึงเป็นอำเภอที่ไม่มีอะไร และนั่นเองที่ทำให้อำเภอแห่งนี้มีอะไรที่พิเศษต่างจากอำเภออื่นๆ

และนั่นทำให้ เกด–การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ นักเขียน คอลัมนิสต์ทำนายดวงชะตาชื่อดัง อดีตบรรณาธิการนิตยสารวัยหวาน นิตยสารวัยรุ่นชื่อดังในสมัยก่อน และอดีตบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น หนึ่งในสำนักพิมพ์เก่าแก่ที่มีส่วนสำคัญต่อวงการน้ำหมึกประเทศไทย ตัดสินใจกลับมาทำ ‘สิริเมืองพร้าว’ ที่บ้านเกิด และกลายเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่กำลังทำให้พร้าวเป็นอำเภอสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ

เราเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่แต่เช้าตรู่ วิ่งมาตามเส้นถนน 1001 มุ่งสู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากตัวเมืองเชียงใหม่ ทิวทัศน์ค่อยๆ เปลี่ยนจากอาคารต่างๆ กลายเป็นสีเขียวของสวนและไร่นา สุดหูลูกตาคือทิวดอยล้อมทุกด้าน ผู้คนที่สัญจรไปมาโดยไม่เร่งรีบ ทั้งยังคอยชะลอเพื่อแวะทักทายคนรอบข้าง ที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ชาวป๊าว’ หรือ พร้าวในสำเนียงถิ่น โดยไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นญาติตัวเองหรือไม่

ด้วยความที่เป็นอำเภอขนาดเล็กคนที่นี่เลยรู้จักมักคุ้นกันหมด และทำให้เราถามทางเพื่อเดินทางมายัง สิริเมืองพร้าว ที่ตั้งอยู่ในชุมชนท่ามะเกี๋ยงได้อย่างง่ายดาย เพื่อมาพบและนั่งพูดคุยกับเกดถึงไอเดียเบื้องหลัง สิริเมืองพร้าว ท่ามกลางบรรยากาศบ้านไม้โบราณและความเขียวขจีของต้นไม้ที่เธอตั้งใจลงไว้จำนวนมากสร้างความร่มรื่นให้แก่ร้าน และทำให้บทสนทนาในวันนี้เป็นไปอย่างสบายไม่เร่งรีบ

สิริเมืองพร้าว สิริแห่งเมืองพร้าว

สิริเมืองพร้าวคืออะไร อธิบายอย่างคร่าวๆ สิริเมืองพร้าวคือธุรกิจเพื่อชุมชนในหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอพร้าวที่เกิดขึ้นจากความเชื่อของเกดว่า ‘มนุษย์เกิดมาเพื่อจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน’ เธอได้เปลี่ยนพื้นที่ขนาดกว่า 7 ไร่ ตรงข้ามบ้านให้กลายเป็นศูนย์กลางโครงการสร้างสรรค์เพื่อชุมชน ประกอบไปด้วยห้องสมุดชุมชน สวนเกษตรอินทรีย์ ห้องเรียนสำหรับเด็กๆ รวมถึงยังเป็นจุดกำเนิดกิจกรรมสร้างสรรค์แก่ชุมชนที่เธอพยายามทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้บ้านเกิดของเธอรวมถึงผู้อื่นที่อาศัยอยู่ด้วยกันได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ด้วยเชื่อว่าความดีส่งต่อกันได้ เธอจึงพยายามรวบรวมสิ่งดีงามจากทุกอย่างมารวมไว้ภายในสิริเมืองพร้าว และส่งต่อให้ผู้คนรอบข้าง กระทั่งหวังใจว่าจะสามารถเป็นตัวอย่างการสร้างสรรค์ชุมชนแก่พื้นที่รอบๆ ให้เอาอย่างในระดับที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จากที่แห่งนี้

ซึ่งทั้งหมดนี้คือโครงการที่เป็นจริงขึ้นมาในเวลา 30 ปีให้หลัง จากความฝันของเด็กสาววัย 17 ปี กับเพื่อนทางจดหมายของเธอ

 

คือความฝันร่วมกันกับเพื่อนใจทางจดหมาย

“ตอนที่เรายังอายุ 16-17 ปี เราอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ สมัยนั้นเราไปอ่านเจอหนังสือชื่อ ‘ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว’ ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ตอนนั้นเรารู้สึกอยากเป็นนักเขียนแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพนักเขียน เรารู้ตัวแล้วว่ามีสิ่งที่อยากทำในชีวิตไม่กี่อย่าง หนึ่ง เป็นนักเขียน สอง อยากทำสวนเกษตร สาม อยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน อยากทำห้องสมุดชุมชนให้คนในหมู่บ้าน เรารู้ตัวว่าชอบสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่อายุเท่านั้น

“เรามองว่าตัวเองเติบโตมาในสังคมแบบชนบท เป็นบ้านนอกในดินแดนที่ห่างไกลจากตัวเมือง และเกิดมาในยุคที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ กว่าจะมีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ก็ใช้เวลานานมาก เราอยู่กับสังคมการทำเกษตร ซึ่งชาวบ้านก็ใช้สารเคมีเหมือนทั่วๆ ไป มีการทำเกษตรพันธสัญญา การที่เราได้ไปเจอหนังสือเล่มนี้ มันทำให้เราค้นพบว่ายังมีทางเลือก ทางรอดอื่นที่ดีกว่า ถ้าคนสามารถปลูกพืช ปลูกผัก โดยใช้สารเคมีน้อยลง มีเวลามากพอที่จะทำสิ่งที่มันสร้างสรรค์ได้ ซึ่งเราชอบการอ่าน การเขียน ก็จะจินตนาการว่า ถ้าเรามีเวลาทำสวนผัก มีเวลาเขียนบทกวี กลางคืนต้มน้ำชาจิบคงจะเป็นชีวิตที่ดีไม่น้อย

“เพื่อนเป็นคนส่งหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน เพราะตอนนั้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีร้านหนังสือเลย เราขาดแคลนหนังสือมาก ต้องไปยืมอ่านจากโรงเรียนพร้าววิทยาคม อ่านทั้งหมดเท่าที่เขามี ตอนนั้นเรามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่รักการอ่านและการเขียนเหมือนกัน แต่อยู่คนละจังหวัดเลย เรารู้จักกันผ่านนิตยสาร วัยหวาน คล้ายกับหนังสือวัยรุ่นอย่าง a day ของสมัยนี้ ในนิตยสารวัยหวาน พวกวัยรุ่นที่รักการอ่านการเขียนเขาก็จะเขียนกลอน เขียนกวีส่งไปลงตีพิมพ์ในหนังสือ เลยทำให้เกิดสโมสร

“เพื่อนคนนี้เขียนกลอนเพราะ เราก็เขียนจดหมายไปชมเขา เขียนกลอนไปลง มีนามปากกากัน เรากับเพื่อนเลยรู้จักกันผ่านตรงนั้น เป็นเพื่อนทางจดหมาย (pen friend) เขียนจดหมายแลกเปลี่ยนความฝันกันลงในจดหมายกับเพื่อนที่ชื่อ เล็ก–ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ (นักเขียน และ บรรณาธิการ ผู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ) สมัยนั้นเล็กใช้นามปากกาว่า บงกช จินตะนะ ส่วนเราใช้นามปากกว่า จาริก แรมรอน

“เล็กคอยส่งหนังสือมาให้เราอ่าน สมัยนั้นเขาคลั่งไคล้หนังสือสายวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างจิตร ภูมิศักดิ์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สุรชัย จันทิมาธร, มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, เฮอร์มานน์ เฮสเส, กฤษณมูรติ, จอห์น สไตน์เบ็ก เจ้าของหนังสือเรื่อง เพื่อนยาก ที่จับใจเรามาก เป็นเรื่องของคนที่ต้องการมีที่ทำกิน ซึ่งตรงกับความฝันของเรากับเล็ก ถ้าเราได้ทำสวน มีเวลาได้อ่าน ได้เขียนหนังสือ มันคงจะมีความสุขดีนะ เป็นความฝันแสนสวยไร้เดียงสา เพื่อนเราก็บอกว่าอีกหน่อยก็ทำร้านกาแฟกัน ทำร้านขายหนังสือ นั่นคือธงที่เราปักกันไว้ด้วยกันตอนอายุ 16-17 ปี” เกดเล่าย้อนความฝันของเธอและเพื่อนให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เธอเติบโตขึ้นมาเป็นนักเขียน จากหมู่บ้านที่ไม่มีร้านหนังสือเลยสักที่ ไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยม เพราะต้องออกมาทำงานรับจ้างทั่วไป เกี่ยวข้าวได้วันละ 25 บาท ไปใช้แรงงานวันละ 16 บาท หนังสือสำหรับเธอจึงเป็นของราคาแพงอย่างมาก ไม่มีทางซื้อได้เลย หากไม่ได้เพื่อนทางจดหมายของเธอหรือเล็กที่คอยช่วยเหลือ เพื่อนที่มีใจรักในการอ่านและเขียนเช่นเดียวกันกับเธอคอยส่งหนังสือต่างๆ ให้

และนั่นทำให้ต่อมาเธอข้ามข้อจำกัดจนเป็นนักเขียน รวมถึงยังได้ทำตามความฝันของเธอกับเพื่อนขึ้นมาได้จริงๆ ในรูปของสิริเมืองพร้าว

เติบโตจึงได้รู้ความจริง

“ที่แห่งนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เราเป็นนักเขียนได้เลย แต่ก็เพราะแบบนั้นถึงทำให้หนังสือมีอิทธิพลต่อชีวิตเรามาก โชคดีที่ครอบครัวเรารักการอ่าน พ่อ แม่ เรา น้องสาว ทุกคนล้วนรักหนังสือ และตั้งแต่สมัยนั้นเรามองว่าชีวิตการเป็นนักเขียนคือการได้เขียนสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึก สิ่งเหล่านี้มีความหมาย เราจะทำยังไงให้เสียงข้างในของเรามันออกไปได้ ทำยังไงถึงจะเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านเราออกไปได้ เพราะบางครั้งเรามีมุมมองที่ต่างจากคนที่อยู่ในหมู่บ้าน

“พอได้อ่าน ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ปุ๊บ เราก็พบว่าการเกษตรไม่ต้องใช้สารเคมีก็ได้ ทำไมคนรอบข้างเราต้องใช้ เกิดการตั้งคำถามกับคุณค่าของเงินตรา ทำไมเราจะต้องหาเงินเยอะๆ ด้วย เราอยู่ในสังคมของคนใช้แรงงาน เราเกิดการตั้งคำถามกับระบบคุณค่า ถ้าเราเกิดมาเราจะทำอะไร เราต้องหาเงินไปตลอดเหรอ เราอยู่ในสังคมของคนหาเช้ากินค่ำ มันต้องทำงาน ต้องดิ้นรน ถ้าเราไม่มีเงิน เราไปต่อไม่ได้จริงๆ เหรอ แล้วถ้าเราใช้เงินน้อยลง เราจะยังสามารถมีสุนทรียะในชีวิตได้ไหม

“เราเป็นคนที่เดินไปเห็นดอกหญ้า เราบอกว่าสวยงาม แต่คนอื่นบอกว่าเราบ้า เมื่อไหร่ที่เรามองเห็นตะวันตกดิน โอ้โห มันสวยจัง จับใจเราจนเอามาจับปากกาเขียนออกมาเป็นบทกวี แล้วก็มีคนบอกว่าเราบ้า เพราะมันอาจเป็นสิ่งธรรมดาสามัญของเขา ไม่เป็นมรรคเป็นผลกับชีวิตในแง่เงินตรา เมื่อเกิดการตั้งคำถาม เราเลยพยายามหาคำตอบ เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงให้เราสามารถมีชีวิตแบบนั้นได้ ในขณะที่เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปรับจ้างเร่รอนทำงาน นี่คือรากฐานความคิดของเรา”

แล้วชีวิตที่เธอพยายามจะเป็นก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อ ‘เล็ก’ เพื่อนทางจดหมายของเธอตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ออกจากโรงเรียน นำเงินที่สะสมไว้ร่วมกันกับเกด เพื่อที่จะมาใช้ชีวิตกันที่บ้านนอก ปลูกกระท่อม ทำไร่ถั่วเหลืองขาย ทำร้านกาแฟเล็กๆ เขียนหนังสือแบบที่ฝันกันไว้ แต่ฝันนั้นก็ยังไม่อาจเป็นจริง เมื่อเล็กไม่สามารถมาถึงที่พร้าวได้ แต่ได้เจอจุดหันเหชีวิตต่อมาจนได้ไปทำงานเป็นกองบรรณาธิการในนิตยสาร วัยหวาน ที่ทำให้เธอกับเกดได้รู้จักกัน

ต่อมาเล็กจึงชวนเกดเพื่อนของเธอให้ลงมาเที่ยวหาที่กรุงเทพฯ การได้ตามเพื่อนไปที่ออฟฟิศวัยหวาน และได้ช่วยเพื่อนเขียนคราวนั้น จึงทำให้เธอได้รับการเชิญชวนจากตุ๊–อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา บรรณาธิการของนิตยสาร วัยหวาน ขณะนั้น ให้เข้ามาทำงานเป็นกองบรรณาธิการ และได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการน้ำหมึกอย่างที่ฝันไว้

เกดเติบโตทางอาชีพการงาน คอลัมน์ทำนายดวงชะตาสร้างชื่อเสียงให้กับเธอ เธอได้เป็นบรรณาธิการของนิตยสารที่ครั้งหนึ่งเธอเคยส่งงานเขียนเข้าไป ได้ออกหนังสือของตัวเอง เติมเต็มชีวิตการเป็นนักเขียนที่เธออยากจะเป็น แต่ถึงอย่างนั้นตลอดระยะเวลาที่ทำงานในกรุงเทพฯ เธอกับเล็กไม่เคยลืมอีกความฝันที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่บ้านนอกเลย

กระทั่ง 5-6 ปีที่แล้ว เกดตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่พร้าว เพื่อดูแลคุณพ่อในวัยชรา เธอจึงได้กลับมามีชีวิตอยู่ที่พร้าวอีกครั้ง

ไม่ใช่แค่ความฝันของเธอและเพื่อนเท่านั้น

จากความฝันจากวัยเด็ก สู่ความฝันในสายตาของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากขึ้น เธอผ่านการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เห็นสังคมที่หลากหลายและกว้างขึ้น เมื่อต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน เธอจึงตั้งคำถามว่าสามารถทำอะไรได้บ้างทั้งแก่ตัวเองและชุมชน

ด้วยความที่ทำงานเป็นสื่อมาอย่างยาวนาน ระยะแรกเธอจึงตัดสินใจทำ ‘กาดเมืองพร้าวออนไลน์’ เว็บไซต์สื่อกลางที่เธอตั้งใจยกตลาดบ้านนอกมาไว้ในอินเทอร์เน็ตขึ้นมา

ในกาดนั้นขายอาหารและวัตถุดิบพื้นถิ่นของทางภาคเหนือส่งให้กับคนที่สนใจ พร้อมกับคอยเขียนคอนเทนต์เล่าเรื่องราวอาหารและภูมิปัญญาการทำอาหารของทางภาคเหนือไปด้วย จนที่ดินหน้าบ้านของเธอประกาศขาย ความอยากปลูกกระท่อมทำสวน ทำห้องสมุด เปิดร้านกาแฟในวัยเด็กจึงได้หวนคืนมา

เธอตัดสินใจซื้อที่ดินนั้นไว้ แล้วค่อยๆ เติมความฝันที่เคยมีลงไปในพื้นที่นั้นทีละนิดๆ จนเป็นไอเดียที่มาของสิริเมืองพร้าว

“ตอนพัฒนาไอเดีย มันไม่ใช่เรื่องของความฝันของเราและเพื่อนอีกแล้ว ตอนเรากลับมาอยู่ช่วงแรก พ่อเราเขาก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน เมื่อก่อนเขาเป็นหัวหน้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นหัวหน้ากรรมการวัด กรรมการหมู่บ้าน พ่อเคยพูดกับเราว่า มีโจทย์หนึ่งอยากให้เราและน้องสาวไปช่วยกันคิดว่าทำยังไงที่คนแก่ในบ้านเราเขาจะสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้ ทำให้เขายังรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง มีงานเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาพอทำได้ ให้คนแก่เข้ามามีส่วนร่วมได้ ในตอนนั้นน้องสาวเราเพิ่งมีลูก น้องก็คิดเหมือนกันว่าถ้าเรามาอยู่แบบนี้ โจทย์คือ หนึ่ง–คนแก่ สอง–เด็ก

“ตอนกลับมาอยู่ตอนแรกเรารู้สึกว่าบ้านเรามันเปลี่ยนแค่ภายนอกนะ เปลี่ยนในแง่ของรูปแบบวิถีชีวิต แต่แก่นแท้ลึกๆ มันยังไม่เปลี่ยน สิ่งที่ว่าก็คือความยากไร้ ความด้อยโอกาส และการขาดแคลนในหลายๆ อย่าง แม้แต่ปัญหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ต้องยอมรับว่าเมืองเล็กๆ แบบนี้มีปัญหาเยอะ เมื่อโจทย์คือคนแก่กับเด็ก สิ่งที่เราต้องการก็คือ ชุมชนที่มีคุณภาพ ชุมชนที่ดีพอ แต่ชุมชนที่ดีพอต้องไม่ใช่ชุมชนที่เรามาก่อบ้านหลังใหญ่และก่อกำแพงสูงอยู่คนเดียว เพราะคนรอบๆ ตัวเราทุกคนก็มีชีวิตที่ทั้งสุขและทุกข์ ทำยังไงให้ทุกคนไปต่อได้ ทำยังไงให้คนมีความหวังในชีวิตได้ น้องก็เลยชวนเราให้ทำห้องสมุด”

เดี๋ยวเราทำห้องสมุดกัน

“สิริเมืองพร้าวเริ่มแรกจากการทำห้องสมุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากับเล็กอยากทำมาตั้งแต่อายุ 16-17 แล้ว เพราะว่าที่นี่มันไม่มีหนังสือ และไม่มีร้านหนังสือมาเปิดให้คนในชุมชนอ่าน สมัยนั้นการอ่านหนังสือคือความบ้า หนังสือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ส่งเสริมการอ่าน สมัยนั้นคือปิดกั้นการอ่าน เพราะเขามองว่าคนอ่านหนังสือคือคนขี้เกียจ คือคนบ้า คนไม่มีอนาคต เพราะคนเราควรต้องไปทำงานสิ ทีนี้ก็คุยกันว่า เดี๋ยวเราทำห้องสมุดกัน อย่างน้อยห้องสมุดจะเป็นตัวเชื่อมกับชุมชนได้

“เราอยากทำห้องสมุดให้เข้ามาใช้ได้ฟรี แล้วจะทำยังไงให้สามารถดึงคนมาได้ อย่างน้อยก็เด็กในชุมชน เราจึงเริ่มต้นจากการทำแบบสอบถามแจกในชุมชนประมาณร้อยกว่าชุด ถ้าจะทำห้องสมุด เขาต้องการไหม เขาอยากได้ไหม อยากได้แบบไหน ใช่ เราอยากทำห้องสมุด แต่ที่ทำแบบสำรวจพราะถ้าเราอยากทำแต่ถ้าชุมชนเขาไม่อยากได้ล่ะ เราจะได้คิดไอเดียอื่น”

และผลสำรวจในตอนนั้นคือร้อยเปอร์เซ็นต์ในแบบสอบถามที่ถูกแจกจ่ายออกไปคละตามวัยต่างๆ ในชุมชน ตอบว่าต้องการห้องสมุด

“เมื่อได้คำตอบกลับมาแบบนี้ เราเลยตั้งใจทำกันมาก ในเมื่อเราอยู่ในเมืองเล็กๆ บ้านนอกแบบนี้ ทำไมจะมีห้องสมุดสวยๆ ใช้ไม่ได้ เราเลยต้องทำให้มันดีที่สุด ทำให้มันสวยที่สุด จนออกมาเป็นห้องสมุดจินดาที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ มีระบบบาร์โค้ดให้ทุกคนเข้ามายืม มีระบบสมาชิกให้สมัคร

“ทีนี้ก็มาคิดกันต่อว่า ลำพังห้องสมุดคนไม่มากันหรอก ต้องมีจุดอื่นด้วย เราน่าจะมีเครื่องดื่ม มีขนม มีไอศครีมขาย เพื่อดึงคนให้มาใช้ห้องสมุด เลยออกแบบว่า ไหนๆ จะทำเครื่องดื่ม อาหาร แม้ต้องคิดแบบในภาคธุรกิจ แต่เราอยากทำสองแบบ มีทั้งของถูกของแพง อยากทำราคาที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ อยากทำให้สถานที่ของเราเป็นที่ที่มาได้ทุกคน ไปทำงานไร่นาก็สามารถเดินเข้ามานั่งในนี้ได้โดยไม่รู้สึกเขิน ไม่รู้สึกว่ามันเป็นที่หรูหราไฮโซ เด็กมีเงินติดตัว 10 บาท ก็มาซื้อไอศครีมทานได้ และยังได้ใช้ห้องสมุดที่ไม่เสียเงินสักบาทด้วย

“เพราะต้องการออกแบบให้ต้อนรับทุกคน สิริเมืองพร้าวจึงมีส่วนที่ขายเครื่องดื่ม ขนมจีน ไอศครีม ที่ราคาเป็นมิตรอยู่ตรงส่วนด้านหน้าโครงการ เพื่อช่วยเสริมกันกับห้องสมุด ให้คนที่มาได้ซื้ออะไรไปดื่ม และเลือกหนังสือมานั่งอ่าน เราเลยออกแบบทางให้มันเข้าหากันและกัน ให้เขาสามารถนั่งอ่านหนังสือและดื่มเครื่องดื่มไปด้วย

“เรามองว่าเด็กสักคนที่มาอ่านหนังสือ แล้วเขาได้อะไรกลับไป หนังสือเล่มนั้นอาจต่อยอดชีวิตเขาต่อไปโดยที่เราไม่อาจจินตนาการได้มันก็คุ้มแล้ว เหมือนที่หนังสือเคยเปลี่ยนชีวิตเรา เรามองว่ามันเป็นความคุ้มค่าแล้ว” เธอพูดด้วยแววตาเป็นประกาย

เปลี่ยนเมืองพร้าวให้ดีขึ้นด้วยความรักทีละเล็ก ทีละเล็ก

จากห้องสมุด ร้านขายขนมจีน และเครื่องดื่มราคาถูก ภาพสิริเมืองพร้าวในหัวการะเกต์จึงค่อยๆ เริ่มชัดเจนขึ้น และขยับขยายเป็นส่วนต่างๆ ต่อมา ไม่ว่าจะเป็นส่วนห้องเรียน ที่คอยหากิจกรรมเวิร์กช็อปมาให้เด็กๆ ในชุมชนรวมถึงผู้ใหญ่เองก็ตามได้มาเรียนรู้ อย่างการปลูกดอกกุหลาบที่มีแปลงอยู่ด้านหลังโครงการ ที่ช่วยให้เด็กได้รู้จักการรอคอย การดูแล จึงจะเห็นผลความงาม ในส่วนร้านอาหารก็จริงจังมากขึ้นและช่วยภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับส่วนห้องพักที่เธอกำลังจะทำ

พื้นที่ด้านหลังของโครงการเธอยังทำเป็นไร่สวนผักอินทรีย์ ปลูกพืชพรรณต่างๆ แบบผสม อย่างที่เธอกับเพื่อนตั้งใจเอาไว้ โดยจะทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการทำเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีนั้นเป็นไปได้ และผลผลิตที่ได้จะนำมาใช้ภายในร้าน เช่นเดียวกัน และยังนำส่วนที่เหลือแบ่งขายให้กับผู้ที่สนใจ มากไปกว่านั้น เธอยังเป็นคนกลางสนับสนุนเกษตรกรที่สนใจอยากหันมาลองทำเกษตรอินทรีย์ได้มีช่องทางขายของดีๆ แก่คนอื่น เพื่อที่เขาจะได้เห็นความเป็นไปได้ว่าเกษตรอินทรีย์คือสิ่งที่ดีและทำได้จริง

“แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เรายังไม่เคยทิ้งเรื่องความฝันที่อยากทำการเกษตร ก็เลยมาทำสวนอินทรีย์ที่นี่ เรายังเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์เป็นคำตอบของโลกอนาคตจริงๆ ซึ่งเราทำในขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป เราอยากให้ที่ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจ อยากให้คนเห็นว่ามันทำได้จริง สิ่งที่เราต้องต่อสู้มากที่สุดคือความเชื่อของคน คนที่เคยชินกับการใช้สารเคมีเขาจะจินตนาการไม่ออกว่าการทำเกษตรอินทรีย์สามารถเป็นไปได้นะ อย่างน้อยเราทำให้เขาเห็นว่ามันสามารถเติบโตได้ มันทำตลาดได้ ใจเราหวังว่า อีกหน่อยคนอื่นเขาจะทยอยทำ ทีละนิดทีละหน่อยร่วมไปกับเรา

“เรายังมีแผนที่อยากทำให้มันเป็นเครือข่ายของคนในชุมชน สมมติเขามีสัก 1-2 งาน เอามาทำอินทรีย์และปลูกพืชที่มันแตกต่างกันก็ได้ พอเราทำร้านอาหารหรือทำตลาดได้ เราก็จะขายและรับซื้อไปด้วยกัน รับประกันเรื่องรายได้ไปด้วย นี่จึงทำให้เกิดเป็นกาดน้อยในสิริเมืองพร้าวด้วย มีการขายผักในเพจ และอีกหน่อยในนี้ก็จะมีร้านค้าที่ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าจากเราเอง อีกส่วนเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในชุมชน และของที่ชาวบ้านทำ พวกงานฝีมือต่างๆ เราอยากทำให้งานมันใหม่ ทำเวิร์กช็อปให้ชาวบ้านก่อน และเอาดีไซเนอร์เข้ามาร่วมกันทำงาน นั่นคือขั้นต่อไปที่อยากทำ

“เราอยากให้สิริเมืองพร้าวเป็นศูนย์กลางสำหรับเป็นธุรกิจในชุมชน และตัวชุมชนเองมีส่วนร่วมกับเรา เราก็คุยกับกลุ่มผู้นำชุมชนหลายอย่าง เดี๋ยวเราจะทำเส้นทางจักรยาน เราอยากส่งเสริมการใช้จักรยาน เพราะในหมู่บ้านมีคนแก่ มีเด็กเยอะ มันควรมีการสัญจรที่ปลอดภัย และเมืองแบบนี้เป็นเมืองที่เรายิ่งใช้จักรยานให้มากในระยะใกล้ มันต้องวางแผน และถ้ามันเกิดเส้นทางจักรยาน มีคนอื่นมาขี่จักรยานที่นี่ มันก็สามารถนำไปสู่การออกแบบถนนร่วมกันได้ ซึ่งอาจจะทำให้มีเส้นทางที่เราปลูกต้นไม้เพิ่มกันได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำงานร่วมกับชุมชน เราจะต้องค่อยๆ วางรากฐานมัน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับเรา จริงๆ เรามองไว้ทั้งอำเภอพร้าวเลย แต่เราเริ่มจากการทำในหมู่บ้านเราก่อน แล้วค่อยขยายเป็นตำบล จากตำบลก็ควรจะได้ความร่วมมือทั้งอำเภอ เราก็ค่อยๆ ทำจากจุดที่เราทำได้ก่อน

“เรามีความเชื่อเรื่องเครือข่าย เรื่องชุมชน คนเราจะเติบโตแข็งแรงและยั่งยืนมันต้องมีการรวมพลัง ถึงทุกวันนี้เราก็ยังคิดเรื่องคุณค่าของระบบเงินตราต่างๆ อยู่ดี เรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของคนเรา ที่สุดมันไม่ได้อยู่แค่เงิน แต่เงินมีความจำเป็นต่อชีวิตในทุกระดับ เพราะฉะนั้นมันต้องถูกดีไซน์ว่าบางทีเราไม่มีเงินเยอะ แต่เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งเหล่านี้มันเป็นมูลค่า คนแก่แถวนี้ถ้าต่อไปเขาสามารถเดินทางได้ปลอดภัย เขาไปโรงพยาบาลได้โดยสะดวก นี่คือคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเขามีลูกหลานที่เข้ามายืมหนังสือแล้วเอาไปแบ่งกันอ่านในบ้าน สร้างเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นมูลค่า มันไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเอาแต่เรื่องเงินมาพูดกัน

“เราทำธุรกิจ เราก็ต้องอยากได้เงินอยู่แล้ว แต่เราอยากได้เงินมารันโปรเจกต์ อยากได้เงินมาทำงานพวกนี้ต่อ ถามว่าอยากให้ธุรกิจยั่งยืนไหม เราอยากให้ธุรกิจเติบโตจริงจัง แข็งแรงมั่นคงมากๆ เพราะว่าคนที่อยู่กับเราเขาจะได้มีชีวิตที่ดีไปด้วย ทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกับเรา เหมือนเรากำลังทำสวนแห่งหนึ่งที่ทุกคนจะได้ดอกและผลไปด้วยกัน เราตั้งเป้าว่าที่นี่เป็นที่ retreat สำหรับชุมชนและคนอื่นๆ ที่เข้ามา เขาจะสามารถเข้ามารับพลังงานดีๆ ที่นี่ ทั้งจากธรรมชาติ จากสิ่งที่เราจัดวาง จากคนที่ทำงานในนี้ทุกคน ทุกคนทำงานด้วยความสุข ทำงานด้วยความหวัง ทำงานด้วยความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถส่งต่อกันได้”

30 ปีให้หลังของความฝันแสนสวยไร้เดียงสา

ในวันวัยที่ล่วงผ่านจากความฝันของเธอและเพื่อนที่เกิดจากหนังสือ การปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ที่ดูช่างเพ้อฝันยามเด็ก 30 ปีให้หลัง พวกเขาสามารถสร้างมันให้เป็นจริงได้จนสำเร็จ แถมยังเผื่อแผ่ความฝันนั้นออกไปสู่วงกว้าง โดยเริ่มต้นจากพื้นที่ความฝันเล็กๆ ของพวกเธอ ที่ตั้งอยู่อย่างสงบภายในบ้านนอก และคอยส่งเรื่องราวดีๆ ออกไปให้ผู้คนได้รับรู้และเป็นตัวอย่างว่าสิ่งที่ดูเหมือนฝันสามารถเป็นไปได้จริงๆ หากทำจริง

เพราะโลกนี้กำลังหมุนไปในยุคสมัยใหม่ และเราก็มีทางเลือกใหม่ๆ อีกมากมายที่สามารถทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นกว่าเดิม

“เราเพิ่งได้กลับมาอ่านหนังสือ การปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว อีกครั้งเมื่อไม่นานนี้ สำหรับเราโดยหลักหนังสือยังให้ความคิดแบบเดิม เพราะหนังสือเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นหนังสือที่พูดถึงการอยู่กับความสงบ ความเงียบ การพึ่งพาตัวเอง การอยู่กับสิ่งที่มันเป็นสุนทรียะที่ละเอียดอ่อน เพียงแต่มันเป็นหนังสือในยุคสมัยเก่า ซึ่งปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ใช่คนปฏิเสธเทคโนโลยี เราเป็นคนชอบเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหนังสือไม่มี ปัจจุบันบางอย่างเราไม่ต้องทำเองทั้งหมดก็ได้ เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับมันได้ เพียงแต่จะทำยังไงไม่ให้เทคโนโลยีไปลดทอนความเป็นมนุษย์ แต่ไปส่งเสริมศักยภาพมนุษย์

“โดยแกนหลักของมัน เราว่ายังโอเค แต่ถ้าให้ทำแบบฟูกูโอกะเป๊ะๆ ผลผลิตจะได้จริงตามหนังสือไหม เราว่ามันก็ยังต้องมีการลองผิดลองถูกอีกมาก แค่เอาเมล็ดพืชโยนไปมันจะงอกงามเหมือนในหนังสือไหม มันก็ไม่จริงหรอก มันมีเรื่องของแมลง เรื่องของศัตรูพืชและสิ่งรบกวนต่างๆ อีก มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น สมัยโน้นเราอ่านแล้วคิดว่าโยนไปมันก็ขึ้น เป็นภาพที่งดงามและดูไม่ยาก แต่พอเราเติบโตขึ้นและทำมันจริงๆ เราจะพบว่าภูมิประเทศเรากับในหนังสือก็คนละอย่าง อะไรต่างๆ ก็คนละอย่าง หลายอย่างไม่สามารถเอามาใช้ได้หมดในทุกวันนี้ แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็ตาม เพราะว่ามันก็มีจุดอ่อนของมันในแง่ของกระบวนการ

“แต่โดยความคิดหลักเราชอบมากๆ มันยังเป็นหนังสือที่พูดว่า กลางคืนเรายังเขียนบทกวี ดูดาว กินน้ำชา เราก็ยังรู้สึกว่านั่นคือชีวิตที่ดีจริงๆ โอเค คำว่าอ่านบทกวีอาจฟังดูเจาะจง ลองเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้ ลองเปลี่ยนเป็นว่า ถ้ากลางคืนคุณไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถ้ากลางคืนคุณได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว กลางคืนนั่งเล่นกีตาร์ นั่งเล่นเกมก็ได้ อะไรก็ได้ที่มันแทนค่าการมีเวลาได้อยู่กับตัวเองอย่างสบายใจมากขึ้น เช้ามาคุณไปทำงานได้อย่างสดชื่น กลางคืนมีเวลาพักผ่อน นี่คือคุณภาพชีวิตที่ดี มันคือเรื่องเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องชอบดูดาว แต่มันคือการได้เป็นเจ้าของเวลาของตัวเอง การได้อยู่ในสุนทรียะความงามของตนเอง มันอาจจะเป็นในผับในบาร์ก็ได้ มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแสงดาว เป็นแสงไฟนีออนก็ได้ แต่ละสถานที่ แต่ละห้วงเวลาล้วนมีความงามของมัน

“เราชอบพร้าว เพราะว่ามันเป็นเมืองที่มีความเงียบ มีความมืด สำหรับเราสิ่งเหล่านี้มีค่า เราหาเมืองที่มีความเงียบได้ยากขึ้นทุกที ที่เป็น sound ไม่ได้เป็น noise อย่างทุกวันนี้ ที่นี่มันยังมี sound ยังมีเสียงนก เสียงใบไม้ หรือกลางคืน เวลาเดินออกไป มันไม่มีแสงรบกวน เรายังเห็นฟ้า เห็นดาว เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คนควรได้เข้ามารับสัมผัสกับมัน

“เสน่ห์ของพร้าวคือความที่มันเล็กนี่แหละ ความที่มันเงียบ สงบ นี่คือเสน่ห์ของมัน ตอนที่เราคุยกับทีมผู้ประกอบการต่างๆ เราควรกำหนดทิศทางต่างๆ ของมันด้วย เราไม่อยากได้เมืองที่มีคนเข้าแล้วเรารับมือไม่ไหว สิ่งที่เรารับมาบางทีมันอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายเมือง พวกเราเลยค่อยๆ ทำ เราอยากให้คนที่เข้ามาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของที่นี่ ต่างฝ่ายต่างจะได้เรียนรู้และเข้าใจกัน เราต้องเตรียมทั้งเขาและเราให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ ไม่นำไปสู่ทางที่เลวร้ายลง ซึ่งทุกอย่างจึงต้องเริ่มต้นจากการร่วมมือกันของทุกฝ่าย จากความเข้าใจกัน”

“จะว่าไปแล้ว การที่สิริเมืองพร้าว ก่อตั้งขึ้นมาได้จนถึงที่กำลังเป็นอยู่นี้ ก็ต้องขอบคุณแรงสนับสนุนจากหลายๆ คนที่สำคัญในชีวิตเช่นกัน ทั้งครอบครัว พี่ๆ น้องสาว น้องเขย และแฟน ที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญคนหนึ่งในปัจจุบัน”

หากวันหยุดครั้งหน้าคุณยังไม่มีแผนจะเดินทางไปที่ไหน ลองมาสัมผัสบรรยากาศเงียบสงบ และความเคลื่อนไหวดีๆ เหล่านี้ได้ที่อำเภอพร้าวจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นจากการมานั่งพักดื่มน้ำให้หายเหนื่อยจากการเดินทางที่สิริเมืองพร้าว แล้วค่อยๆ เรียนรู้และเดินทางต่อไปอย่างไม่ต้องเร่งรีบ และสัมผัสจังหวะของเมืองพร้าว ที่มีแค่ที่นี่เท่านั้นที่มี

AUTHOR