การเดินทางของบายศรีสู่ขวัญใน ‘มะลิลา’ สู่สายตาชาวโลกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (Busan International Film Festival) รางวัล NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ ประเทศไต้หวัน (Taipei Golden Horse Film Festival) รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Film Festiva) และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย (International Film Festival of Kerala) เป็นเพียงตัวอย่างที่ มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 2 ของ อนุชา บุญยวรรธนะ คว้ามาครองจากการตระเวนฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งฝั่งเอเชียและยุโรปตั้งแต่ปลายปี 2017 ก่อนจะเพิ่งเข้าโรงฉายให้คนไทยได้ดูกันเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ความละเมียดละไมในภาษาภาพ สัญญะที่อนุชาเลือกอย่างใส่ใจทั้งการทำบายศรี สายน้ำ ความตาย ที่สอดคล้องกับประเด็นทางพุทธศาสนา ความไม่จีรังยั่งยืน และความรักของมนุษย์ รวมไปถึงการแสดงนิ่งช้าแต่ว่าทรงพลังทั้งเวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และโอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ คือเหตุผลที่ทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกตัดสินให้ มะลิลา สมควรได้รับรางวัลมากมาย

“เราคาดหวังว่าอย่างน้อย มะลิลา จะทำให้คนที่ไม่เคยดูหนังแบบนี้มาก่อนได้มาดู เขาอาจจะอยากมาดูเวียร์หรือเปล่า ดูฉากเลิฟซีนหรือเปล่า หรือหนังอาจจะน่าสนใจ ได้รางวัลจากเมืองนอกมา ก็หลากหลายเหตุผล คนอาจจะเข้ามาดูแล้วรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลก แต่เขาจะยอมรับมันหรือเปล่าก็พ้นวิสัยที่เราจะไปตัดสิน เราไม่รู้ได้ในเวลานี้” คือคำตอบที่อนุชาบอกเราว่าถึงแม้หนังจะไปฉายให้คนต่างชาติชื่นชมมากมาย แต่กับคนดูในประเทศเองก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผลตอบรับ

แต่เสียงวิจารณ์ในแง่บวกในรอบปฐมทัศน์ และเสียงชื่นชมของคนดูชาวไทยในรอบฉายสัปดาห์แรก น่าจะพอทำให้อนุชามั่นใจได้ว่า มะลิลา ไม่ใช่แค่หนังที่ได้เสียงชื่นชมและรางวัลจากต่างชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในหนังไทยที่น่าจับตามองอย่างยิ่งของปีนี้

วันที่เราพูดคุยกัน อนุชาเพิ่งกลับมาจากการพา มะลิลา ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์กอเธนเบิร์ก (Göteborg Film Festival) ประเทศสวีเดน เทศกาลแรกที่หนังได้ออกฉายสู่สายตาคนดูชาวยุโรปหลังจากตระเวนฉายไปทั่วทวีปเอเชีย เธอเกริ่นกับเราว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้เห็นปฏิกิริยาของคนดูประเทศต่างๆ ที่ตอบรับและมีข้อสงสัยต่อตัวหนังต่างกันไป ที่ขยายไกลถึงค่านิยม ความเชื่อ และสิ่งที่คนแต่ละชาติเป็น

เราอยากชวนอนุชาคุยกันยาวๆ เรื่องนี้ ในวันที่เธอเลือกพาหนังออกสู่สายตาคนดูทั่วโลก สิ่งนี้เป็น ‘หน้าที่’ หรือ ‘ภารกิจ’ ที่คนทำหนังอินดี้ต้องทำ เพื่อผลักดันให้หนังไทยถูกจดจำในเวทีโลก

ตอนที่ทำ มะลิลา ตั้งใจแต่แรกเลยมั้ยว่าอยากพาหนังออกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างชาติก่อน
ใช่สิ ความตั้งใจของผู้กำกับอินดี้โดยเฉพาะอย่างเราที่เคยไปเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมาแล้วที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (จากภาพยนตร์เรื่อง The Blue Hour อนธการ) หรืออย่างพี่ใหม่ อโนชา พี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ เวลาทำหนังออกมาเราต้องคำนึงถึงตลาดทั้งคนดูต่างประเทศและคนไทย เป็นปกติอยู่แล้ว เป็นเส้นทางการเดินของผู้กำกับอินดี้ว่าคนดูในเมืองไทยอาจจะไม่พอ จำเป็นต้องสร้างกลุ่มคนดูเมืองนอกให้เขาติดตามชมหนังเรา แล้วตลาดต่างประเทศก็จะได้ซื้อขายหนังออกไป มันสำคัญในแง่อาชีพการงาน

ถ้าคุณฉายหนังเฉพาะในเมืองไทย หมายความว่าทุนเราก็ต้องหาแต่ในเมืองไทย แล้วดูว่าในเมืองไทยมีคนลงทุนให้หนังแบบนี้กี่เจ้ากัน อาจจะมีทุนจากกระทรวงวัฒนธรรมแต่ก็จะได้มาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนสร้างทั้งหมด ถ้าเราไม่มองหาเงินทุนจากเมืองนอก มันก็จะดับ เงินทุนต้องสูงขึ้นเพราะโปรดักชั่นเราต้องดีขึ้น ต้องเติบโตไปตามอายุการงาน เพราะฉะนั้นการเอาหนังไปฉายต่างประเทศก็เพื่อให้เราสร้างโปรไฟล์ไว้ไปพูดคุยกับนายทุนต่างประเทศหรือคนที่ให้เงินทุนสนับสนุนศิลปะได้

ทำยังไงให้บทหนังของเราเป็นเรื่องสากลที่คนดูทั่วโลกจะเข้าใจได้
เราเป็นผู้กำกับประเภทที่ถือว่าหนังต้อง uniqueness เราให้ความสำคัญกับตัวตนของผู้กำกับมาก สิ่งสำคัญของหนังที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศคือคุณต้องทำหนังแล้วคนดูรู้ว่าเป็นหนังของคุณ เห็นสไตล์ของผู้กำกับชัดเจนว่าเรื่องต่อไปน่าจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าทำแล้วใครๆ ก็ทำได้ จะทำไปเพื่ออะไร เขาก็ให้คนอื่นสิ เราเลยต้องเรียนรู้ที่จะสร้างสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา ในการทำบทเราเลยใส่สิ่งที่เราชอบ แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็เป็นผู้กำกับที่ค่อนข้างจะฟังคนดูพอสมควร อย่าง อนธการ ก็ฉายใน Netflix เราเข้าไปอ่านก็เจอคนด่าว่าดูไม่รู้เรื่องบ้าง เราก็ดูว่าเขาวิจารณ์ว่าตรงไหนดี ตรงไหนยากไป หรือทำแบบไหนไม่เวิร์ก เราเรียนรู้จากงานเก่าๆ แล้วเอามาทำเป็นบท แต่เราไม่ได้คิดหรอกนะว่าบทแบบนี้ฝรั่งจะรู้เรื่องมั้ย เพราะเราไม่ได้เขียนบทกับคนต่างชาติ เธอคิดว่าคนไทยด้วยกันจะคอมเมนต์บทเหรอว่าอันนี้ฝรั่งจะดูรู้เรื่องหรือเปล่า

การที่จะรู้ได้ว่าคนต่างชาติจะเข้าใจวัฒนธรรมหรืออะไรบางอย่างที่เราเขียนลงไปในบทหรือเปล่า ต้องให้ script doctor ที่ต่างประเทศตรวจ เราไม่ได้มีเงินขนาดนั้นเพราะค่าตัวพวกนี้อาจจะแพงกว่าค่าคนเขียนบทของเมืองไทยอีก เราก็อาศัยว่าส่งบทไปให้คนรู้จักที่พอจะเชื่อถือในรสนิยมได้ในต่างประเทศ แต่ถึงเขาอ่านบทแล้วอาจจะว่าดี เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าทำออกมาแล้วคนดูต่างประเทศจะว่าอย่างไร นี่จึงเป็นความยาก ถ้าบอกว่านำเสนอวัฒนธรรมไทยหน่อยสิ แล้วฝรั่งจะสนใจ มันจริงเหรอ บางทีบางเรื่องไม่ต้องอธิบายอาจจะดีกว่าหรือเปล่า มันก็ไม่มีใครรู้หรอก

ทำไมตัดสินใจส่ง มะลิลา ไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน แทนที่จะไปเทศกาลที่ยุโรปก่อน
การตัดสินใจอยู่ที่ sale agent จะส่งไปที่ไหน รวมทั้งโปรดิวเซอร์ฝั่งเราด้วยว่าเห็นด้วยมั้ยที่จะส่งไปเทศกาลนี้ ซึ่งทางเทศกาลปูซานก็เสนอในตำแหน่งที่เด่นคือได้ชิงรางวัล คิม จิซก ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ในปีนี้ มันก็ต้องดีกว่ารางวัลที่จัดมาเป็นสิบปีอยู่แล้วแหละ ข่าวมันก็ออก

เราคิดว่าตอนนี้มะลิลาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าหนังมีที่ยืนของมัน หนังไม่ได้ผิดที่ถูกสร้างออกมาแบบนี้ เพียงแต่ว่าอาจไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างออกมาถูกที่ถูกเวลาเท่าไหร่ ด้วยประเด็นที่โลกสนใจตอนนี้เป็นเรื่องการเมือง สิทธิ เฟมินิสต์ ผู้อพยพ ซึ่งหนังของเราไม่ได้มีประเด็นตรงนั้นเพราะมันเป็นหนังที่ส่วนตัว เล่าถึงปรัชญา ความรัก มีความเป็นกวี และสไตล์ของหนังค่อนข้างนิ่ง ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์ในตอนนี้ก็พยายามเลือกหนังที่ดูง่ายขึ้น ดูสนุกขึ้น มะลิลาไม่ได้เป็นไปตามนั้นและไม่ได้เป็นหนังที่มีหลายชาติร่วมมือกัน (co-production) ซึ่งเป็นอีกข้อได้เปรียบที่หลายเทศกาลจะสนใจ เราเลยคิดว่าหนังไม่ได้สร้างออกมาถูกที่ถูกเวลา แต่ขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้ผิดที่ผิดเวลา ที่สุดแล้วหนังก็ต้องหาพื้นที่ที่ฉายแล้วเหมาะสมกับตัวมันที่สุด และทุกคนก็เห็นด้วยว่าควรจะเป็นที่ปูซาน

ลองนึกดูว่าถ้ามะลิลาไปฉายที่คานส์หรือเบอร์ลินอาจจะดับก็ได้นะ ไปแล้วคนไม่สนใจ ไม่มีคนพูดถึง ก็หายไปเลยนะ แสดงว่าเราคิดถูกที่นำไปฉายที่ปูซาน พอได้รางวัลก็อยู่ในความสนใจ แล้วก็มีรางวัลต่อๆ มาอีก ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก หรืออาจจะไม่ถูก ไม่รู้สิ ไม่มีใครตอบได้ว่าถ้าเลือกอีกทางจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็บอกกันหมดว่าเดี๋ยวนี้เทศกาลฝั่งยุโรปค่อนข้างภูมิภาคนิยม ลองไปดูสิว่ามีหนังเอเชียกี่เรื่องเข้าไปฉาย เขาก็โฟกัสไปที่หนังยุโรปของเขาเอง

ฟีดแบ็กของคนดูกลุ่มแรกที่ปูซานเป็นยังไง
โรงหนังที่นั่นไม่ได้ใหญ่มาก วันแรกๆ คนก็ไปดูกันประมาณครึ่งโรง ไม่เยอะมากเพราะคนเกาหลีไม่ได้รู้จักเรา และเทศกาลที่ปูซานก็ไม่ใช่เทศกาลสำหรับคนในอุตสาหกรรมหนัง มันเป็นเทศกาลที่ให้คนเกาหลีทั่วไปมาดู แม้กระทั่งเวียร์คือใครล่ะ เวียร์ก็ไม่ได้มีผลงานหนังที่เคยฉายในระดับสากลมาก่อน เขาก็แค่ดูว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจที่จะมาดูหรือเปล่า อาจจะมาดูเพราะเป็นหนังเกย์ มีดอกไม้ เราไปอย่างตัวเปล่าเล่าเปลือย สิ่งสำคัญที่จะทำให้หนังถูกพูดถึงคือต้องมีนักวิจารณ์มาดู แต่จากฟีดแบ็กคนดูก็เป็นในแง่บวกนะ คนดูเขาก็ร้องไห้ แปลว่าเขาเข้าใจ เขาไม่ได้มองว่าบายศรีเป็นเรื่องยาก เขาอาจจะไม่เข้าใจตรงนั้นแต่ฉันก็เข้าใจหนังของคุณ แปลว่าความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้นมาก็สากลมากพอ

แล้วฟีดแบ็กของฝั่งยุโรปแตกต่างกันมั้ย
พอเราเปิดตัวที่เอเชีย ทางยุโรปก็จะไม่ได้เป็นเทศกาล Top 3 อย่างเวนิส เบอร์ลิน หรือคานส์แล้ว เราไปฉายที่เทศกาลกอเธนเบิร์ก เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย เราว่าคนดูแถบนั้นเขาชอบนะ แต่ยังไม่ได้มีรีวิวออกมาเราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นยังไง มันเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าต้องสู้น่ะ เพราะหนังในเทศกาลใหญ่ระดับนี้เขาฉายกัน 400 กว่าเรื่อง จะมีคนมาดูหนังเราหรือเปล่า หนังเราก็ไม่เคยฉายในแถบสแกนดิเนเวียเลย ก็มีคนมาดูประมาณครึ่งโรง ถือว่าโอเคนะกับการที่ต้องไปแข่งกับอีก 400 เรื่องที่ฉายชนกันตลอด ก็มีคนดูที่ร้องไห้ มีคนมาบอกว่าฉันไม่ได้อินกับภาพยนตร์เรื่องไหนมานานแล้ว ฉันว่ามันดีมาก แต่ว่าหนังของเราก็ไม่ได้รางวัลจากที่นู่น

เราว่ายุโรปคงให้ความสำคัญในเรื่องของ intellectual คือหนังมันต่างกัน มะลิลาเป็นเรื่องดราม่า emotional สังเกตสิ หนังล่าสุดของสวีเดนที่ดังที่สุดตอนนี้ก็เป็นเรื่อง The Square ที่ได้รางวัลปาล์มทองคำจากคานส์ หนังพูดถึงสังคม วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลาง มันเป็นประเด็นที่มาแรงและยุโรปกำลังสนใจ ในขณะที่คนไทยไม่ได้สนใจหนังเรื่องนี้ พอมาฉายก็บอกว่าหนังอะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่มะลิลาจะไม่ได้รางวัลจากยุโรป กรรมการอาจจะให้หนังเรื่องอื่นที่มองว่าถูกจริตเขามากกว่า

งั้นหนังแบบไหนที่สมควรได้รางวัลในเทศกาลหนังฝั่งเอเชีย
ทางฝั่งเอเชียเราประสบความสำเร็จมากนะเพราะได้เกือบทุกที่ แล้วก็ได้ชิงรางวัลของ Asian Film Awards ด้วย ซึ่งปกติก็ยากอยู่แล้วที่จะได้ชิงรางวัลแบบนี้ เราว่ารากของซีเนมาติกเราเองเป็นแบบผู้กำกับเอเชีย อย่างยะซุจิโร โอซุ หรือ อากิระ คุโรซาวะ เพราะฉะนั้นเขาเข้าใจอยู่แล้วว่าเราต้องการทำอะไร เขามองว่าหนังเรามีธีมที่ลึกซึ้งซึ่งฝั่งยุโรปอาจจะไม่ได้มองอย่างนี้

เราเคยเป็นคณะกรรมการตัดสินหนังเหมือนกัน พอเราดู หนังทุกเรื่องมีคุณภาพพอๆ กัน สุดท้ายขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน จะมีหนังที่โดดเด่นอยู่ 3 – 4 เรื่อง แต่เราจะชอบเรื่องไหนก็อยู่ที่ประเด็นแล้ว มะลิลาเสียเปรียบตรงที่ว่ามันเป็นประเด็นส่วนตัวของเรา สิ่งที่จะชนะใจกรรมการได้คือสไตล์ที่โดดเด่นมากกว่าเรื่องอื่นเท่านั้น ถ้าเราทำเรื่องรัฐประหารเมืองไทย หนังอาจจะได้รางวัลเยอะ มันชัดเจน หรือทำเรื่องคนชายขอบ ชาวโรฮีนจา แน่นอนมันอิน มันทัชกับคนแถบยุโรปมากกว่าที่จะเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ

มีฟีดแบ็กจากประเทศไหนที่ไม่ได้เป็นในทางบวกมั้ย
มีกรรมการคนหนึ่งของเทศกาล Hong Kong Asian Film Festival เราว่าก็เป็นธรรมดาของหนังที่จะมีทั้งคนที่ดูแล้วชอบและไม่ชอบ หรือดูแล้วหนังไม่สื่ออะไรกับเขา เราก็เข้าใจนะ ในสังคมจีนเราก็รู้อยู่แล้วว่าเขาอาจจะไม่ชินกับเรื่อง LGBT ด้วย รวมถึง The Great Buddha+ ที่ได้รางวัลไปก็เป็นหนังที่ดี วิพากษ์วิจารณ์สังคมไต้หวันและเป็นหนัง black comedy ที่ดี ไม่แปลกที่มันจะได้รางวัลเพราะมันมีประเด็นที่ดีมาก

มีไปฉายประเทศไหนบ้างที่คนในประเทศยังไม่เปิดรับเรื่อง LGBT แล้วให้ผลลัพธ์ยังไง
ที่อินเดียนี่แปลกมากเลย มันน่าสนใจตรงที่เราได้ไปฉายที่อินเดีย ถ้าเมืองอื่นเราจะได้ยินว่าคนชอบดูหนัง Bollywood มากกว่า แต่ว่าที่เมืองเกรละนี่เป็นตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังต่างประเทศที่ดีมากเลย โรงใหญ่กว่าสกาล่าอีก แต่คนเต็ม คนเขาพร้อมที่จะดูหนังต่างชาติแล้วก็เป็นหนังอะไรไม่รู้ด้วยนะ เพราะเขาจัดเทศกาลภาพยนตร์มาแล้ว 22 ครั้ง มันก็สร้างคนที่ดูหนังทำนองนี้อยู่จริงๆ ซึ่งเป็นโมเดลที่เมืองไทยควรจะต้องมี อันนี้เป็นสิ่งแรกที่เรารู้สึกได้

อีกเรื่องคือเขาแปลกใจกับการได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะเขามองว่าทำไมต้องให้ตัวละครเป็นเกย์ด้วย เขาไม่เก็ต ไปฉายที่อื่นไม่มีคำถามนี้เลยนะ คนดูเข้าใจเองว่าเกย์ก็เป็นปกติ เป็นมนุษย์ที่จะมีสุขมีทุกข์ได้ แต่ว่าที่อินเดียจะมีคนดูบางส่วนที่ไม่เข้าใจเลยเพราะมองว่าถ้าเป็นหนังเกย์ก็ต้องต้อสู้เพื่อสิทธิสิ เกย์เป็นคนชายขอบ เราก็ตอบว่าเพราะฉันก็เป็น LGBT ฉันต้องการทำตัวละครที่ฉันรู้ดีมากที่สุด เขาก็เข้าใจ

คนดูที่อินเดียรู้ก่อนมั้ยว่ามะลิลาเป็นเรื่องของชายรักชาย
รู้

แสดงว่าถึงจะเป็นหนังเกย์ เขาก็ยังมาดู
ใช่ แต่หนังเราก็แตกต่างจากหนังเกย์เรื่องอื่นด้วยนะ อย่างที่ไต้หวันก็มีคนบอกว่ามันดูแปลกจากหนังเกย์เรื่องอื่นที่เขาดูมา ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ สิทธิเกย์ เพราะเราทำหนังล้อไปกับสังคมปัจจุบัน เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเกย์จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ต้องต่อสู้อะไรเลย แต่ก็มีเกย์บางส่วนที่เขามีความสุขอยู่ เราอาจจะไม่ต้องทำหนังเกย์ที่ต่อสู้ทางสิทธิก็ได้

การพามะลิลาไปฉายในหลายๆ ประเทศสะท้อนให้เห็นค่านิยมเกี่ยวกับเรื่อง LGBT ของแต่ละกลุ่มคนดูด้วยมั้ย
แน่นอน เราจะเอาหนังไปฉายในโลกมุสลิมก็ไม่ได้ มันถูกแบนอยู่แล้ว หรือถ้าไปฉายที่จีนก็ถูกแบน เราก็ไม่รู้ว่าคนที่จีนว่ายังไง พอไม่มีหนังหรือไม่มีสื่อออกมา กลุ่ม LGBT ในประเทศที่ไม่ได้รับการสนับสนุนก็ลืมตาอ้าปากยากเหมือนกัน

ในขณะที่ LGBT ในอินเดียอาจไม่เป็นที่ยอมรับ มีการกดขี่ แต่เราเพิ่งได้ยินข่าวว่าศาลอินเดียตัดสินเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพให้กับกระเทยแล้ว เราชื่นชมเขามากนะเพราะกลับกันกับเมืองไทยที่สังคมเปิดรับ แต่ไม่มีกฎหมายเลย กฎหมายรับรองเพศสภาพก็ไม่มี กฎหมายสมรสเพศเดียวกันก็ไม่มี น่าสงสัยว่าทำไมเมืองไทยมันไม่มี แต่ก็ไม่แปลกหรอกเพราะเมืองไทยเราอยู่ในรัฐทหารที่เป็นรัฐประหารอยู่ ใครเขาจะมาสนใจเรื่องเกย์ ไม่ใช่ไม่มี activists ที่เขาทำนะ เขาทำเรื่อยๆ มาหลายปีแล้ว แต่ว่าเรื่องมันไม่ไปไหนเพราะรัฐบาลไม่มาฟังเสียงคนชายขอบหรอก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ฟังเลย แล้วเขาจะมาฟังอะไร

ประเทศที่เข้าใจสิทธิของเกย์จะเปิดรับหนังมากกว่าหรือเปล่า
ใช่ แต่อย่างที่ไต้หวันก็มองไปอีกแบบนึงเลย ที่คณะกรรมการไต้หวันให้รางวัล เขาเขียนเลยว่าหนังสามารถสะท้อนสังคมและการเมืองในประเทศไทยได้ ด้วยวิธีที่งดงามเหมือนบทกวี เขามองเห็นองค์ประกอบบางอย่างในหนังที่เกี่ยวกับการเมือง ในหนังจะมีฉากที่เกี่ยวข้องกับทหารด้วย ถึงหนังเราจะไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การเมือง มันเป็นฉากของทหารซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ไหน จะตีความเป็นพื้นที่ชายแดนเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่มีการฆ่ากันก็ได้ หรือจะมองเป็น metaphor ของสังคมปัจจุบันก็ได้ที่เรามีทหาร มีการสู้รบ เอาศพใครก็ไม่รู้มาทิ้ง มีการปิดบังอำพราง มีเรื่องน่ากลัว ความรุนแรง ตัวศาสนาเองก็ไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรตรงนี้ได้ แค่เข้าไปเรียนรู้เฉยๆ เหมือนปลีกตัวแยกออกมาจากสังคม มันก็สะท้อนภาพสังคมไทยเหมือนกัน เพราะว่าศาสนาของไทยเนี่ยก็มีบางส่วนที่เห็นด้วยกับการเมือง แต่บางส่วนก็มองว่าเป็นเพื่อจิตวิญญาณเท่านั้น คำถามคือมันสามารถช่วยสังคมได้มากกว่านี้หรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วศาสนาเป็นประโยชน์กับมนุษย์จริงหรือเปล่า

มีคนที่ถามใน Q&A ว่าทำไมหนังของคุณถึงมีทหาร เพราะไต้หวันเป็นประเทศที่คนเขาตระหนักในสิทธิของตนเอง จากประวัติศาสตร์ของประเทศที่ต้องต่อสู้ตั้งแต่ตอนแยกตัวออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่มาดูหนัง ส่วนหนึ่งเขาก็ตามข่าวสารบ้านเมือง การเมืองโลก เขาก็เลยถามกัน

ทำไมการพยายามผลักดันหนังไทยให้ชาวต่างชาติได้ดูถึงเป็นเรื่องสำคัญ แล้วมะลิลาน่าจะพาหนังไทยไปอยู่ตรงไหนในวงการภาพยนตร์โลก
เราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้อย่างนั้นเลย มันต้องค่อยๆ ทำนะ แต่เราคิดว่าหนังประเภทนี้มีความสำคัญอยู่แล้ว วงการภาพยนตร์ไทยยังต้องการความหลากหลาย แน่นอนว่าหนังเมนสตรีมก็สำคัญ ต้องมีหนังตลก หนังแอคชั่น ให้คนเข้ามาดูหนังเพื่อจะสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรม ไม่งั้นคนก็ตกงานกันหมด ขณะเดียวกัน หนังศิลปะต่างๆ ที่ทำเพื่อเป็นหนังรางวัลก็ต้องพยายามทดลอง ผลักดันวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ ออกมาให้เห็นว่าหนังทำแบบนี้ก็ได้ วงการมันถึงจะพัฒนา และถ้าหนังเมนสตรีมเห็นว่าวิธีแบบนี้โอเค เล่าแบบนี้ได้ เขาก็เริ่มเอาไปใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาของศิลปะภาพยนตร์ต่อไป

ส่วนจะผลักดันหนังไทยไปสู่สากลได้หรือเปล่า เราว่าคนทำหนังคนเดียวทำมันก็เป็นปัจเจก เหมือนพี่เจ้ยที่เขาเป็นเบอร์ใหญ่ของโลกไปแล้ว เราไม่สามารถพูดได้ว่าหนังไทยไปสู่สากลแล้ว เราจะพูดได้อย่างไร ถ้าจะเกิดขึ้นได้ มันต้องเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาลและเอกชน ตอนนี้รัฐบาลเราก็คงไม่ได้สนับสนุนตรงนี้มั้ง เราก็พยายามเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ รอวันฟลุ๊กน่ะ นานๆ จะโผล่มาเรื่องหนึ่งอย่าง องค์บาก ซึ่งหนังก็ต้องดีด้วยนะ หรืออย่าง ฉลาดเกมส์โกง ก็ป๊อบในจีน มันจะค่อยๆ มีแต่ว่าเป็นปัจเจกไง ไม่ได้เป็นภาพรวมว่าประเทศไทยมีการสนับสนุนเป็นระบบว่าต้องมีหนังไทยไปฉายที่คานส์อย่างน้อย 3 เรื่อง อย่างเกาหลี เขาพูดได้เต็มปากว่าหนังของเขาขึ้นไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม รัฐบาลเขาทุ่มงบการตลาดให้โปรโมตเต็มที่ คนก็เริ่มชินว่าหนังเกาหลีเป็นอย่างนี้

อย่างแรกเลย สร้าง Film Festival ที่เมืองไทยก่อนเลยดีกว่า ไม่มีค่ะ อายมาก Film Festival ระดับสากลในเมืองไทยที่เป็นงานระดับชาติ มันก็มีเทศกาลภาพยนตร์แต่เป็นแค่ระดับกลางกับเล็ก ไม่ได้เต็มรูปแบบที่เชิญสื่อมวลชนจากต่างประเทศมา เชิญโปรแกรมเมอร์จากต่างเมืองมาร่วมงานเพื่อให้มาพบปะกับคนทำหนังเมืองไทย จะได้มีลู่ทางนำเสนอตัวเองออกไป หรือที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังที่สุขภาพดีกว่านี้หน่อย ไม่ใช่ว่าคนเข้าไปดูแต่หนังตลาดกันหมด แต่หนังอินดี้ suffer กันมาก เราเห็นรายได้ของหนังไทยบางเรื่องเราก็รู้สึก suffer มาก หนังอินดี้ไทยที่รายได้ฉีกจากหนังเมนสตรีมมันเป็นไปได้อย่างไร หนังจะดีหรือไม่ดีมันแล้วแต่ว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่อย่างน้อยต้องมีคนที่สนใจไปดูมากกว่านี้ นี่ไม่มีคนสนใจไปดูในจำนวนที่จะทำให้หนังเหล่านี้อยู่ได้ แล้วเราจะอยู่กันได้ยังไง

facebook | มะลิลา Malila The Farewell Flower

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!