การเติบโตของ ไพรัช คุ้มวัน คนทำหนังคลื่นลูกใหม่ผู้กระโดดสู่งานกำกับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก ‘สยามสแควร์’

ก่อนหน้านี้ เราได้ยินชื่อ ป้อง-ไพรัช คุ้มวัน จากบทบาทที่หลากหลายของหนังไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์วัยรุ่น รักจัดหนัก (2554) ผู้กำกับภาพให้กับหนังอินดี้ของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เรื่อง 36 (2555) และ Mary is Happy, Mary is Happy (2556) ซึ่งเรื่องหลังสุดทำให้เขาคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมมาครองและพอจะพอพิสูจน์ความสามารถหลากหลายตามประสาเด็กเจนวายได้ ถึงอย่างนั้น เรายังอดแปลกใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าปกป้องกำลังก้าวสู่เฟสใหม่ของการทำงานในบทบาทผู้กำกับเต็มตัวเรื่อง สยามสแควร์ ภาพยนตร์ที่จะเปิดเผยอีกด้านของสยามสแควร์ สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงของวัยรุ่นไทย

เหตุผลที่เราชวนปกป้องมาพูดคุยกันในวันนี้ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อในฝีมือ ตรงกันข้าม, เราอยากชวนเขาสำรวจเส้นทางการทำงานและการเติบโตตลอด 10 ปีบนศาสตร์การเล่าเรื่องของผู้กำกับวัย 30 คนนี้กัน

และยืนยันว่า ไพรัช คุ้มวัน คือคนทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในตอนนี้

ชีวิตการทำหนังของคุณเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน
น่าจะคล้ายๆ กับเด็กยุคนี้นะ ช่วงเราอยู่ ม.5 ม.6 เป็นช่วงที่อุปกรณ์ กล้องดิจิทัลต่างๆ เริ่มหาซื้อง่ายแล้ว ก็ขอที่บ้านซื้อเก็บไว้ถ่ายวิดีโอเล่นไปเรื่อยๆ บวกกับเราชอบดูหนังด้วย เลยเลือกเรียนอะไรที่น่าจะได้ทำภาพยนตร์ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นผู้กำกับอะไรนะ แค่รู้สึกว่าระหว่างทางมันสนุกดี ก็เลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ ไม่ได้เรียนทำหนัง เราเลยต้องลองผิดลองถูกเอาเอง เอากล้องไปถ่ายอะไรเอง หรือหาหนังสืออย่าง มาทำหนังกันเถอะ ของอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร หรือ Bioscope มาอ่าน

ลองผิดลองถูกยังไงจนชนะรางวัลประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยได้เลย
ก่อนหน้านั้นเราเคยแต่ส่งงานประกวดหนังสั้นเล็กๆ ไม่กล้าส่งไปมูลนิธิหนังไทยเลยเพราะรู้สึกว่าเป็นเวทีที่แข็งแรงมาก ช่วงนั้นเรากำลังจะขึ้นปี 4 และรู้สึกว่าไม่อยากเรียนจบ เพราะไม่อยากเปลี่ยนผ่านสภาพการเป็นนักศึกษาไปเป็นมนุษย์เงินเดือน เลยทำหนังสั้นชื่อว่า เวลา-ลาน (2550) เล่าชีวิตคนที่อยู่ในบล็อกกิ้งที่เวลากำหนดทุกอย่างไว้ แล้วพอวันนึงมันก็ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเราตั้งใจทำเรื่องนี้มากๆ ปีนั้นเลยลองส่งไปดู วิธีเล่าของหนังก็แอบเซอร์เหมือนกันนะ ถ้าเปิดให้ใครดูก็คงบอกว่าหนังเรื่องนี้ฉายโรงไม่ได้แน่ๆ มันไม่ใช่วิธีการเล่าเรื่องปกติเลย แต่ตอนนั้นเราก็อยากทดลองวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ด้วย

รางวัลนั้นเป็นประตูให้ก้าวสู่โลกการทำงานจริงเลยหรือเปล่า
มีส่วนนิดหน่อย เราไม่แน่ใจว่าคนที่ชวนเรามาทำงานได้ดูหนังสั้นเราหรือเปล่านะ แต่มันก็เป็นตัวบอกความตั้งใจของเราเพราะเราทั้งกำกับเอง ถ่ายภาพเอง ที่ได้มากๆ คือคนนั้นคนนี้รู้จักเรามากขึ้น ไม่ใช่ในฐานะที่เราดังอะไรด้วยนะ แต่หมายถึงได้มาทำความรู้จักกันจนเป็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกันถึงทุกวันนี้ อย่างที่เราเข้าไปช่วยเป็นตากล้องเรื่อง 36 ให้พี่เต๋อก็เกิดจากการชวนกันหลังจากนั้น

สไตล์การถ่ายภาพในหนังของคุณเป็นแบบไหน
เราว่าเราถนัดแฮนด์เฮลด์ รู้ว่าสายตาเรามองนักแสดงอยู่ ถ้าเขาจะเคลื่อนไปทางไหน เราก็ควรจะไปรับแบบโน้นแบบนี้ แต่สำหรับเรา 36 และ Mary is Happy, Mary is Happy มันคือการแชร์ไอเดียระหว่างผู้กำกับกับเรา แล้วมาคุยกันว่าแบบไหนเหมาะที่สุด ถ้าเขามีรสนิยมแบบนี้ เราก็จะไม่ฝืนเอาสิ่งที่เป็นเรา สิ่งที่เราชอบทั้งหมดยัดเข้าไปให้ได้ เพราะผู้กำกับเป็นหน้าที่ที่ทำงานมากกว่าทุกตำแหน่งในกองอยู่แล้ว เขาต้องตกผลึกทุกอย่างและรู้ว่าต้องเลือกวิธีการถ่ายแบบไหนให้เหมาะสมกับหนังของเขา หน้าที่ตากล้องคือทำยังไงก็ได้ ขับเคลื่อนให้ก้อนนี้ออกมาแข็งแรงที่สุด

อย่าง Mary is Happy, Mary is Happy วิธีการถ่ายต้องดูเป็นสารคดี เราก็ต้องถ่ายให้ไม่สวยหน่อย ถ่ายให้ออกมาเบิร์น ออกมาขาวๆ Overexposure เหมือนมือสมัครเล่นถ่าย ซึ่งพอดูเป็นช็อตๆ อาจจะไม่สวย แต่ภาพรวมออกมาดี สิ่งที่ได้เรียนรู้คือยอมแพ้การรบเพื่อชนะสงคราม บางทีเราต้องยอมเสียนิดหนึ่งเพื่อให้ได้ภาพรวมที่มันดีกว่า สำหรับเรา เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นแค่ Director of Photography นะ แต่มันเป็นการทำงานระหว่างฟิล์มเมกเกอร์ด้วยกัน เพียงแค่ว่าวันนี้เราอยู่ตำแหน่งนี้นะ

หายจากทำหนังไปตั้ง 2 ปี อยู่ๆ มาเป็นผู้กำกับเต็มตัวเรื่องแรกได้ยังไง
ทางสหมงคลฟิล์มเรียกเราเข้าไปคุยเพราะเขากำลังอยากได้ผู้กำกับหน้าใหม่ ให้มีกิ่งก้านใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นของพี่โอ๋ (จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ) ซึ่งปกติดูแลเรื่องการตลาดของหนัง แล้วไอเดียว่า ‘สยามสแควร์มีผี’ ก็เกิดจากทีมของสหมงคลฟิล์มตั้งแต่แรกโดยคิดในเชิงการตลาดว่ามันแข็งแรง หมายถึงโดยปกติ ผู้กำกับจะเป็นคนเดินเข้าไปเสนอโปรเจกต์เอง แต่ทีนี้เขาอยากลองทำระบบที่ไอเดียเริ่มต้นมาจากทีมครีเอทีฟหรือทีมการตลาดบ้าง เพราะพวกเขาจะรู้ว่าคนดูชอบหรืออยากเห็นหนังแบบไหน แล้วค่อยดึงคนเขียนบท ผู้กำกับเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราคิดว่าก็ดูเป็นทางออกที่ดีของสตูดิโอเหมือนกัน เพราะมันคือการทำงานร่วมกันจริงๆ ถ้าหนังเรื่องนั้นผู้กำกับอินอยู่คนเดียว แล้วทีมพีอาร์จะทำงานยังไง

เราลองอ่านบทก็รู้สึกว่ามันเป็นตัวอักษรที่สนุก พอตกลงว่าเราจะกำกับก็เข้าไปช่วยทีมเขียนบท ดูโครงสร้างของหนังก่อนว่าตรงไหนที่เราคิดว่าควรปรับ เพราะเราต้องการทำงานกับบทที่โครงสร้างค่อนข้างเป๊ะ ไม่ต้องมาพารานอยด์ระหว่างถ่ายว่าต้องแก้โน่นแก้นี่ แล้วค่อยไปใส่กิมมิกหรือความบันเทิงเอาทีหลัง

ย้อนกลับไปนิดนึง ทำไมต้องเป็น ‘สยามสแควร์มีผี’
เราคิดว่าสหมงคลฟิล์มเขาผูกพันกับสยามสแควร์เป็นพิเศษ ปี 2527 ก็มีหนังชื่อเรื่อง สยามสแควร์ แล้วก็มี รักแห่งสยาม (2550) ถ้าอยากเล่าเรื่องวัยรุ่นไทย พุ่งเป้ามาที่นี่ก็น่าจะชัดเจนที่สุด ถามว่าทำไมต้องเป็นผี มันคือการบิดจากมุมมองปกติที่สยามเป็นที่ของวัยรุ่นมาเดินช้อปปิ้งอยู่ ถ้ามันถูกถอดโครงสร้างชุดความคิดเก่าๆ แล้วใส่มุมมองใหม่ๆ ลงไปก็ดูแปลกใหม่ขึ้น หรือในแง่ตัวเลข หนังผีก็ถือเป็นโซนปลอดภัยประมาณหนึ่ง

ความยากอีกอย่างอยู่ที่การทำงานกับนักแสดงวัยรุ่นทั้ง 10 คนด้วยหรือเปล่า ทำไมต้องใช้ตัวละครเล่าเรื่องเยอะขนาดนี้
จากไอเดียของบท เราคิดว่าจะรวมวัยรุ่นที่ลักษณะนิสัยเป็นตัวแทนของเด็กหลายๆ จำพวกให้มารวมตัวในสยามโดยมีกิจกรรมและความสัมพันธ์ต่อกันได้ยังไง ที่สยามไม่มีโรงเรียน แต่มันมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ค่อยถูกใช้งานเท่าไหร่ในหนังไทยคือโรงเรียนกวดวิชา เลยหยิบมาใช้ แล้วธีมของหนังมันพูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาต่างๆ ของทั้งคนและสถานที่ด้วย

คาดหวังให้นักแสดงแต่ละคนต้องเล่นได้ถึงขั้นไหนถึงจะผ่าน
สุดท้ายเราใช้วิธีให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนกับเราว่าทำไมตัวละครต้องคิดแบบนี้ด้วย เราก็จะอธิบายว่าเพราะมันผ่านเรื่องนี้มามันถึงแสดงออกอย่างนั้น ถ้าเด็กแย้งว่าถ้าเป็นผมจะทำอีกอย่างก็ได้ เราเปิดโอกาสให้นักแสดงออกความเห็น เพราะสิ่งที่ทุกคนควรจะมีให้ได้คือคุณต้องมีชีวิตเป็นของตัวเองในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ในแบบที่เรากำกับให้ เราอยากให้ทุกคนเป็นเจ้าของตัวละครมากกว่าเรา ให้เขาทำการบ้านและตีความให้เราเพราะสุดท้ายเราก็ไม่ใช่คนแสดงเอง เราจะแค่บอกว่าอันนี้โอเคหรือไม่โอเค

คุณเป็นผู้กำกับแบบไหน
เป็นคนใจเย็น เราอยากให้บรรยากาศกองถ่ายเต็มไปด้วยความครีเอทีฟ พอคนอารมณ์ดีอยู่ด้วยกันก็โยนไอเดียใส่กันได้ บางทีไอเดียชุ่ยๆ หน้ากองอาจกลายเป็นไอเดียที่ดีก็ได้ เราต้องการให้เกิดสิ่งนั้นมากที่สุด เพราะเสน่ห์ของการทำหนังไม่ใช่เราคิดคนเดียว มันคือความเชื่อของคนอีกหลายคนที่มาช่วยใส่ให้เราเพิ่มเติม มีระหว่างทางที่ออกนอกจากแผนที่เราคิดเยอะมาก แต่มันก็ดีที่เรายอมปล่อยให้เป็นไอเดียของคนอื่นซึ่งดีกว่าไอเดียของเราในตอนแรก

การเป็นผู้กำกับหนังยาวเรียกร้องทักษะอะไรเพิ่มเติมกว่าหน้าที่อื่นๆ ที่คุณเคยทำบ้าง
อัพเลเวลเลย อะไรที่เรารู้มาทุกอย่างจะหยิบออกมาใช้หมดเลย คือผู้กำกับต้องรับผิดชอบเยอะและต้องตัดสินใจตลอดเวลา ทุกคนเอาของมาให้เราตัดสินใจในเวลาไม่กี่นาที สุดท้ายสิ่งที่ช่วยเราได้คือสัญชาตญาณล้วนๆ ซึ่งมันก็เกิดจากประสบการณ์ทั้งหมดของเรา หนังที่ดู เพลงที่ฟัง การทำหนังบางทีเราก็ไม่รู้ว่าที่ทำไปอยู่ถูกหรือเปล่า ค่อนข้างพึ่งพาความเชื่อเหมือนกันว่ามันจะเสร็จออกมาอย่างที่วางไว้ ระหว่างทาง ถ้าเราไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไปตามไทม์มิ่งที่วางไว้หรือเปล่า ก็เอาคอมพิวเตอร์มานั่งตัดต่อดูระหว่างถ่ายด้วยเลย ขอลองวางคัตนี้ดูก่อนว่าได้หรือเปล่า ต้องรีเช็กสิ่งที่เราตัดสินใจไปตลอดเวลา พอทำแบบนี้ เราจะเหนื่อยมาก แต่พอหนังออกมาเราจะไม่เสียดายมัน เพราะเราใช้ทุกวินาทีตอนตัดสินใจได้คุ้มค่าแล้ว ไม่ติดค้าง เพราะเราไม่ได้ขี้เกียจใส่มัน

ผู้ใหญ่วัย 30 ปีที่ต้องกลับไปถ่ายหนังที่สยามสแควร์ มองสถานที่นั้นด้วยสายตาแบบไหนแล้ว
เรารู้สึกว่าสยามเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำหรับเราอาจจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี้มาก แต่เราจะจดบันทึกมันไว้มากกว่า ฟังก์ชันของ สยามสแควร์ คือสมุดบันทึกกาลเวลาของสยามไว้ด้วย เราตื่นเต้นตอนที่เราหยิบ สยามสแควร์ ปี 2527 มาดูแล้วรู้สึกว่าถ้าไม่มีคนถ่ายไว้ เราก็ไม่ได้เห็นคนเล่นโรลเลอร์สเกตนะ มันเป็นฟังก์ชันสำคัญของหนังที่จะบันทึกว่าคนยุคนี้คิดอะไร บรรยากาศที่เขาอยู่เป็นแบบไหน ซึ่งมันจะออกมาโดยธรรมชาติ อาจไม่ใช่ใจความหลักของหนัง แต่ก็เป็นสิ่งที่ถ้าคนได้ดูแล้วน่าจะสัมผัสมันได้ตลอด อย่างน้อยสิ่งที่ได้เห็นแน่ๆ คือเด็กสยามจะไม่ใส่เสื้อกันหนาวแล้ว เพราะสยามตอนนี้ร้อนมาก

Facebook | สยามสแควร์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย