กินอะไรในวันโลกแตก? เรือ (บิน) Na-Oh ร้านอาหารที่เสิร์ฟรสความสิ้นหวังในวันสิ้นโลก

Highlights

  • Na-Oh หรือ นาโอห์ คือร้านอาหารบนเครื่องบินที่ช่างชุ่ย ที่ได้ชื่อมาจากการผวนชื่อเรือโนอาห์ตามคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์
  • คอนเซปต์ของร้านคืออาหารทุกจานจะเล่าเรื่องราวของผู้คนที่อาศัยเครื่องบินในการอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่โลกใหม่ และคอร์สอาหารจะเปลี่ยนไปทุกๆ 3 เดือน
  • ทีมงานตั้งใจให้ประสบการณ์ที่ลูกค้าทุกคนได้รับแตกต่างและพิเศษจากร้านอาหารทั่วไป ทั้งจากอาหาร การเสิร์ฟ รวมถึงแสงสีภายในร้าน

หากพูดถึงเรือโนอาห์ หลายคนที่คุ้นเคยกับคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์คงคิดไปถึงเรือพาหนะที่อพยพสารพัดสัตว์หนีก่อนที่น้ำจะท่วมโลก

แต่ส่วนเรือ (บิน) นาโอห์นั้นต่างออกไปอยู่สักหน่อย

นาโอห์ หรือ Na-Oh เป็นชื่อร้านอาหารระดับ fine-dining ที่ตั้งอยู่บนเครื่องบินลำยักษ์อันเป็นแลนด์มาร์กของช่างชุ่ย ซึ่งความพิเศษของที่นี่คือ อาหารทุกจานในคอร์ส ตั้งแต่ของทานเล่น อาหารจานหลัก ไปจนถึงของหวาน ล้วนบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกในโลกดิสโทเปียหลังวันสิ้นโลก พาทุกคนไปสัมผัสกับการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนใหม่ของผู้คนบนเรือบินนาโอห์ จนหลายคนที่เคยแวะเวียนถึงกับเอ่ยปากว่าที่นี่เปรียบเสมือนโรงละครมากกว่าร้านอาหารเสียด้วยซ้ำ

คอนเซปต์และธีมที่แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป ทำให้เราสนใจชวน โอนะ–โมน ธีระธาดา Executive Chef และ แมกซ์–นที เล้ารุ่งเรืองเดช Project Director สองหนุ่มจากทีม Bondi Belly ผู้อยู่เบื้องหลังร้านอาหารแห่งนี้มาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปและแนวคิดเบื้องหลังเรือบินลำนี้

ขณะนี้เที่ยวบินนาโอห์พร้อมจะออกเดินทาง ขอเชิญนักอ่านทุกท่านขึ้นเครื่องได้ ณ ย่อหน้าถัดไป

Taking Off

แม้เครื่องบินลำโตถูกกำหนดให้มีประโยชน์ใช้สอยเป็นร้านอาหารชื่อนาโอห์มาตั้งแต่แรกตามความตั้งใจของคุณลิ้ม–สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งช่างชุ่ย แต่กว่าที่อากาศยานนาโอห์จะเปิดประตูรับผู้โดยสารก็ใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการเตรียมการวางแผน รวมทั้งตามหาทีมงานที่เหมาะสม

Bondi Belly คือสามส่วนผสมจากซิดนีย์ที่มีความถนัดแตกต่างกัน แต่ล้วนมีลูกบ้าและพลังงานในตัวล้นเหลือ ทั้งโอนะ เชฟหนุ่มวัย 19 ปีผู้คลั่งไคล้ในการคิดค้นส่วนผสมใหม่ๆ ที่ทลายขีดจำกัดเดิม, แมกซ์ ที่ปรึกษาร้านอาหารและบาร์ รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารในซิดนีย์ และตาล–ชัชฎาภรณ์ คชหิรัญ ผู้มีความถนัดด้านการพูดคุยเจรจา

“เราสามคนทำงานมาด้วยกันที่ร้านคาเฟ่กึ่งบาร์ในซิดนีย์ของพี่แมกซ์ที่ Bondi Junction และสนิทกัน พอผมมีโอกาสกลับไทยเลยโทรหาพี่แมกซ์บอกว่าผมกำลังจะไปพิชต์โปรเจกต์ในเครื่องบินลำใหญ่ พี่แมกซ์สนใจมาทำร้านด้วยกันไหม พี่แมกซ์เลยบินกลับมา” โอนะเล่าถึงจุดเริ่มต้น

“เราคุยกันว่าจะขายอะไร พอคิดว่าเป็นร้านอาหารในเครื่องบินก็น่าจะเป็นอะไรที่หลุดโลก มาขายอาหารไทยหรือทาปาสก็ไม่ใช่ เลยคิดขึ้นมาว่าทำคอนเซปต์เป็น after doomsday เลยไหม ไหนๆ ก็ชื่อนาโอห์ที่ผวนมาจากคำว่าโนอาห์อยู่แล้ว แล้วก็คิดต่อมาว่าต้องเป็นอาหารที่อพยพ พลัดถิ่น เล่นกับความรู้สึกลึกๆ ของแต่ละเชื้อชาติ เล่าเรื่องออกมาตั้งแต่การประกอบเรือจนไปเจอดินแดนใหม่” แมกซ์เสริม

เชฟหนุ่มภายใต้หน้ากากสีแดงอธิบายว่า หน้าที่ของนาโอห์คือการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างรูปแบบอาหาร วัฒนธรรม และข้าวของที่ผู้คนบนเรือหอบหิ้วติดตัวมาในวันอพยพ พัฒนาต่อยอดสิ่งที่ยังเหลือ แล้วสร้างสิ่งใหม่จากสองอย่างแรก

เมื่อถึงเวลานำเสนอคอนเซปต์ ลูกบ้าของพวกเขาก็เข้าตาผู้บริหารเข้าอย่างจัง

นาโอห์จึงได้ฤกษ์เริ่มออกวิ่งบนรันเวย์ในที่สุด

Flight Routes

แม้ได้คอนเซปต์ออกมาคร่าวๆ ว่าตั้งใจจะให้อาหารเล่าเรื่องราวของผู้คนบนเรือที่กำลังอพยพ แต่พวกเขาก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น โอนะออกไอเดียให้นาโอห์ค่อยๆ นำเสนอเรื่องราวออกมาทีละตอนเพื่อความน่าสนใจและเล่าเรื่องราวที่หลากหลาย มีการเปลี่ยนตอนทุกๆ 3 เดือน เมื่ออีกสองคนได้ฟังก็รู้สึกสนุกตามและช่วยระดมไอเดียเนื้อเรื่องกันอย่างเข้มข้น ซึ่งในตอนนี้พวกเขาเปิดเผยคอนเซปต์คร่าวๆ ให้เราฟังทั้งหมด 4 ตอนด้วยกัน

Diaspora คือปฐมบทที่เล่าเรื่องการอพยพและการพลัดถิ่น โดยเล่าถึงมวลความรู้สึก สภาพจิตใจของผู้รอดชีวิตทุกคนบนนาโอห์ แต่ละคนมาจากต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและฝากความหวังไว้ที่ดินแดนใหม่ในอนาคต

ตอนต่อๆ มาจะเล่าเจาะจงไปถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่โดยสารในอากาศยาน โดยตอนที่สองจะเป็นตัวละครผู้สูงอายุที่หวนนึกถึงความอุดมสมบูรณ์ในวันวานและความคุ้นเคยในอดีต ตอนที่สามเป็นตัวละครเด็กน้อยวิ่งเล่นอยู่บนเรือ ที่แม้จะเป็นเด็กน้อยแต่ก็เริ่มเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทีละนิด

ส่วนตอนที่สี่เป็นจะไม้เด็ดของทางร้าน แมกซ์บอก

“เราตีไว้เป็นคำว่าเซอร์เรียล โดยจะย้อนกลับไปที่ต้นกำเนิด ทุกวันนี้คนไทยกินข้าว ฝรั่งกินขนมปัง เพราะเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมา แต่ถ้าโลกแตกไปหมดแล้ว บริบทเดิมที่สร้างมาก็หาย ทุกอย่างเปลี่ยนใหม่หมด เราอาจจะกินเถาวัลย์ ไม่ใช้ช้อนส้อม เป็นวัฒนธรรมใหม่ไปเลย” เขาอธิบาย

และเมื่อรันไปครบทั้ง 4 ตอน ก็จะไปตกอยู่ในช่วงธันวาคม และปิดฉากการเล่าเรื่องในปีแรกของนาโอห์ได้พอดี

On Board

นับตั้งแต่วินาทีที่ตัดสินใจตีตั๋วขึ้นเครื่องบินนาโอห์ ผู้โดยสารทุกคนจะได้รับการแนะนำว่าพวกเขาจะได้พบกับอาหารที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกของผู้คนในขณะที่กำลังวุ่นวายและอพยพ โดยอาหารจะถูกเสิร์ฟเป็นคอร์ส แต่ละจานจะมีการบอกเล่าเรื่องราวจากพนักงานเสิร์ฟโดยใช้โทนเสียงที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม เนื้อเรื่องของแต่ละจานจะสะเปะสะปะ กระจัดกระจายไม่ต่อเนื่อง เมื่อทานครบทุกจานก็จะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ ซึ่งเรื่องราวที่แต่ละคนได้รับและสัมผัสก็จะแตกต่างกันออกไปจากการปรุงแต่งของผู้ลิ้มรสเอง

“เราเล่าเรื่องแบบ non-linear ไม่เป็นเส้นตรง คนที่ได้ทานนาโอห์จะพูดเรื่องราวออกมาไม่เหมือนกันสักคนเลย รสชาติ สัมผัส หน้าตา ไดอะล็อกจากการเสิร์ฟ บางอย่างเป็นสิ่งที่เฉพาะตัว ตีความได้คนเดียว บางอย่างตีความหมู่ได้” โอนะอธิบาย

Deer Jerky คือเมนูที่บอกเล่าเรื่องราวสภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำบนเรือนาโอห์ ที่มีผู้โอบอ้อมอารีหยิบยื่นเนื้อกวางที่เขาถนอมอาหารไว้เป็นเนื้อแห้งแบ่งปันให้ผู้โดยสารคนอื่นกินเพื่อประทังชีวิต ทำจากเนื้อกวาง มะเขือเทศ และพริก ร้อยมาเป็นพวง มีรสชาติเค็มและเผ็ดแสบนิดๆ ชวนให้รู้สึกถึงความแร้นแค้นที่เหล่าผู้อพยพต้องเผชิญ

Sorrow Marrow ทำจากส่วนผสมที่หลากหลายและดูไม่น่าเข้ากันได้อย่างไขกระดูกหน้าแข้งวัว ซัลซ่าที่ทำจากกีวี ข้าวโพด ทับทิม และข้าวพอง นั่นเป็นเพราะจานนี้เล่าถึงความพยายามในการหาของมีค่าของแต่ละคนมากินร่วมกันเพื่อประทังชีวิต เมื่อทานแยกส่วนก็จะรู้สึกถึงความไม่เข้ากัน แต่เมื่อกินพร้อมกันจะให้ความรู้สึกและสัมผัสที่กลมกลืน

Sweet Melancholy ของหวานที่เล่าถึงความสุขแห่งการรอดชีวิตผ่านมันม่วงและไอศครีมรัมเรซิน แต่ก็มีรสขมจากเมล็ดกาแฟแทนความรู้สึกขมขื่นในความสูญเสียและการจากลาเมื่อต้องขึ้นเรือ

เหล่านี้คือตัวอย่างอาหารที่อยู่ในคอร์สของนาโอห์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือการปรุงของโอนะ และนอกจากอาหารก็ยังมีการใช้การแสดงไฟที่ถูกออกแบบโดยไลท์ติ้งดีไซเนอร์ และใช้เสียงดนตรีเข้ามาประกอบเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้ชม

สถานที่ตั้งของร้าน เนื้อเรื่องที่เป็นการอพยพสู่โลกใหม่ อาหารที่ถูกคิดค้นเพื่อเล่าเรื่องราว รูปแบบการเสิร์ฟที่แปลกใหม่ แสงและเสียง องค์ประกอบทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของ Futuristic Food Journey ที่ล้วนถูกบรรจงสร้างสรรค์มาจากความตั้งใจ

Destination

เป้าหมายของนาโอห์คือ การเป็น world-destination เพราะการมาเยือนนาโอห์เป็นมากกว่าการกินดื่มทั่วไป เป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว กลับไปบอกต่อ เล่าให้คนอื่นฟังก็เล่าไม่ได้ ต้องมาเอง” โอนะเปิดเผยถึงความมุ่งมั่นของพวกเขา

นับเป็นเรื่องดีที่ฟีดแบ็กจากผู้มาเยือนร้านก็ชวนให้ทีมงานทุกคนใจชื้น เพราะมันล้วนเป็นไปในทิศทางที่ตั้งใจ

“ทุกคนที่เข้ามาที่นี่บอกว่ามันไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เรียกว่าเป็นโรงหนัง โรงละคร บางคนบอกว่าไม่รู้จะเรียกอะไร เหมือนมาอพยพจริงๆ บางคนจริงจังมาก บอกว่าจะกลับไปคิดว่าจะถนอมอาหารยังไง เราก็รู้สึกดีที่คนอิน” แมกซ์เล่า

แต่ความท้าทายในการทำงานก็ยังมีอยู่มาก หนึ่งในนั้นคือสถานที่ตั้ง เพราะพวกเขายอมรับว่าช่างชุ่ยอยู่ไกลจากเมืองและเดินทางมาไม่ง่ายนัก แต่แมกซ์บอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องจุดติดในทันทีอย่างเตาแก๊ส เพราะการค่อยๆ เติบโตนั้นเป็นหนทางที่ยั่งยืนกว่า

“ต้องทนแรงกดดันให้ได้ ทำในสิ่งที่เราทำอยู่ตลอด ฝึกเพอร์ฟอร์แมนซ์ของเรา อาหาร รูป รส กลิ่น เสียง สี ทุกอย่างต้องถูกฝึกให้มั่นคงที่สุด วัดผลได้ ปลูกต้นไม้ต้องให้เวลา ความสำเร็จก็ต้องให้เวลาเหมือนกัน”

เมื่อประสบการณ์ที่ได้รับนั้นดีและพิเศษ ผู้คนก็จะพร้อมตีตั๋วเข้ามาสัมผัสด้วยตัวเอง พวกเขาเชื่ออย่างนั้น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย