‘ช่างชุ่ย’ อาณาจักรศิลปะสุดมันขนาด 11 ไร่ ที่มีทั้งความกล้าบ้าบิ่นและเครื่องบินลำใหญ่

‘ช่างชุ่ย’ เริ่มผ่านสายตาเราในโลกออฟไลน์ เมื่อนั่งรถผ่านถนนสิรินธร ย่านฝั่งธน แล้วเห็นเครื่องบินลำใหญ่จอดอยู่ และเริ่มผ่านสายตาเราในโลกออนไลน์เมื่อเพื่อนพ้องและศิลปินในวงการสร้างสรรค์เริ่มพูดถึงพื้นที่แห่งนี้ จนเราอดไม่ได้ที่จะต้องคลิกเข้าไปดูในเพจต้นทาง เพื่อหาคำตอบว่า ‘ช่างชุ่ย’ คืออะไร

Art Gallery / Theatre / Cinema / Co-working Space / Cafe&Restaurant / Design Studio / Exotic Garden / Vintage Barber / Private Museum / Thailand Showcase / Music Store / Book Store / Tea House / Creative Shop / Fashion

ชุดคำเหล่านี้ที่ครอบคลุมพื้นที่แทบทุกหมวดวงการสร้างสรรค์ คือคำนิยามที่เราผ่านตาเมื่อคลิกเข้าไปที่เพจของช่างชุ่ยก่อนลงพื้นที่ แต่จากการได้พูดคุยกับ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Flynow ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดการเปลี่ยนพื้นที่ 11 ไร่ให้กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคนในวงการสร้างสรรค์ และเมื่อได้เดินสำรวจทุกซอกทุกมุมโดยมี ชนกพร ถิ่นพังงา General Manager ของช่างชุ่ยนำทาง เรากลับพบว่าที่นี่ทั้ง ‘เป็น’ และ ‘ไม่เป็น’ ตามคำจำกัดความที่ว่าเหล่านั้น

เป็น-ในความหมายที่ว่า สถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น อาร์ตแกลเลอรี่ โรงละคร โรงฉายหนังขนาดย่อม คาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ฯลฯ

ไม่เป็น-ในความหมายที่ว่ามันรื้อทุกภาพจำที่เราคุ้นเคยต่อพื้นที่เหล่านั้น โรงละครก็ไม่เหมือนโรงละครที่เราเคยเห็น อาร์ตแกลเลอรี่ก็อยู่ในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน ร้านรวงต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่คอนเซปต์จัดทั้งสิ้น ยังไม่นับตัวอาคารที่เกิดจากการเอาหน้าต่างหลักพันบานกับสังกะสีจำนวนมากมาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นอาคารประหลาดตาที่ต้องอาศัยความกล้าบ้าบิ่นไม่น้อยในการสร้าง

อย่างไรก็ช่าง, นี่คือเบื้องหลัง ‘ช่างชุ่ย’ จากการเดินสำรวจ พูดคุย และสัมผัส ที่เราอยากเอามาเล่าต่อเพื่อคลายสงสัยว่าที่แห่งนี้คืออะไร และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาไปเยือน คุณจะมองคำว่า ชุ่ย เปลี่ยนไป

สมชัย ส่งวัฒนา

 

จากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่ส่วนรวม

สมชัย: “ตอนแรกเราเห็นที่ดินผืนนี้แล้วตั้งใจจะทำเป็นออฟฟิศใหม่ของ Flynow ถ้าเราปลูกต้นไม้ใหญ่สัก 200 ต้น ไม่ต้องกำหนดว่าใครนั่งตรงไหน ตอกบัตรเสร็จจะไปทำงานตรงไหนก็ได้ มีล็อกเกอร์ให้ แล้วจัดห้องประชุมให้มีความหลากหลาย มันน่าจะเป็นชีวิตการทำงานที่คนจะรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย แล้วชีวิตเราจะดี แต่สุดท้ายรู้สึกว่าเราทำเพื่อคนของเราไม่กี่คน เราคิดว่าพื้นที่แห่งนี้ควรให้ประโยชน์กับสังคม เราเลยคิดว่าวันหนึ่งเราจะรังสรรค์พื้นที่ 11 ไร่ขึ้นมาเป็นพาร์คของสุนทรียะ ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และคนรุ่นผม มาพบเจอกัน มาสร้างสรรค์กัน ในที่สุดก็เกิดพื้นที่นี้ขึ้นมา

“พื้นที่แห่งนี้จะรวบรวมเอาบุคคลที่มีความหลากหลายมาเชื่อมโยงกัน รวมกันร้อยกว่าคน สลับสับเปลี่ยนกันมาสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ โปรแกรมต่างๆ จะมาจากคณะบุคคลเหล่านั้น เพราะฉะนั้น สถานที่นี้มันก็อาจจะถอดบุคลิกเราไปบางส่วน และก็บุคลิกของคนกว่า 150 คนที่เราเชิญมาพูดคุย ถามว่าทำไมต้องคุยกับคนเยอะ คนเยอะดีกว่าคนน้อยนะ แล้วคนที่เราคุยก็คือคนที่เป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ของประเทศนี้ คนที่เป็นอนาคตของประเทศนี้”

 

การสร้าง ‘ช่างชุ่ย’ คืองาน Super Handmade

สมชัย: “คนถามผมว่าช่างชุ่ยแปลว่าอะไร ผมบอกว่าขออนุญาตไม่ตอบได้มั้ยครับ ผมอยากให้คุณเป็นคนตอบ เชื่อมั้ย ทุกคนที่ตอบทำให้ผมฉลาดขึ้นทุกคนเลย เช่น ผมถาม พิเชษฐ์ กลั่นชื่น คิดยังไงกับคำว่าช่างชุ่ย พิเชษฐ์บอกว่า คนจะทำอะไรชุ่ยๆ ได้ต้องรู้จักคำว่าสมบูรณ์แบบก่อน ถ้าไม่รู้จักคำว่าสมบูรณ์แบบจะตั้งชื่อนี้ไม่ได้

ถ้าเรามองความชุ่ยจริงๆ มันมีความคิดอะไรเยอะแยะเลยนะ อย่างเวลาเราเห็นช่างก่ออิฐแล้วคิดว่าเขาชุ่ย เพราะว่าเราสั่งอย่างเขาทำอย่าง แต่หรือว่าเพราะเป็นอย่างนี้ มันจึงเป็นเสน่ห์ ถ้าเราเป็นแบบญี่ปุ่นที่ทุกอย่างสมบูรณ์แบบแล้วญี่ปุ่นจะมาเที่ยวเมืองไทยมั้ย นี่แหละคือคนไทย ซึ่งคนญี่ปุ่นมาเห็นที่ช่างชุ่ยเขาอาจจะทำไม่ได้นะ เยอรมันเห็นก็ทำไม่ได้นะ ที่นี่ซูเปอร์แฮนด์เมด”

 

ในความชุ่ยมีความงาม

สมชัย: “ถ้าเราสร้างที่นี่แบบระบบอุตสาหกรรมมันง่าย ก่ออิฐนี่นอนอยู่บ้านได้เลย แต่การจะเอาหน้าต่างไม้สักอายุกว่า 60 ปีที่ผมสะสม เอาสังกะสี มาใช้สร้างผนังอาคารให้ได้คอมโพสต์มันยากมาก แล้วคุณจะได้เห็นเลยว่าความชุ่ยมันมีจริง แล้วความชุ่ยมันงามจริง หน้าต่างบางบานคนจัดวางเป็นแรงงานพม่า เขาก็วางกลับหัวกลับหาง เรารู้แล้วอยากเขกกบาลจริงๆ (หัวเราะ) คือคุณไม่รู้เหรอว่าหน้าต่างมันตั้งยังไง แต่พอมาดู เฮ้ย มันสวยกว่าที่เราคิด และถ้าเราทำเองเราคงไม่กลับหัวกลับหางอย่างนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่า เพราะความชุ่ยนี่แหละ ทำให้เราสุนทรีย์ขึ้น เราเริ่มมองเห็นว่ามันสวย แล้วเมื่อสวยมันก็เริ่มเกิดความหมาย”

 

เข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่ต้องรู้สึก

สมชัย: “เราเป็นพวกมนุษย์ไฮบริด เราเป็นคนนับถือโครงสร้างแล้วเราก็ทุบทำลาย เราเคารพทุกเบสิก แต่ยิ่งเบสิกเราแน่นเท่าไหร่เรายิ่งทำลายเบสิกหมด ตอนแรกเราจ้างสถาปนิกออกแบบเขาก็จะวางเป็น grid หมดเลย เราก็ถามว่าแล้วชีวิตเราอยู่ตรงไหน เราพูดเท่าไหร่เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะว่าทุกคนจะทำตามการรับรู้ของตัวเอง สุดท้าย ผมก็บอกว่าไปตัดกล่องเท่ากับอาคารมา แล้วผมก็เอากล่องมาวางลงไปในแปลนเอง แล้วบอกเอาตามนี้ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้นะ แต่เวลามาที่ช่างชุ่ยคุณจะได้ความรู้สึก มันจะมีซอกซอย มีร้านค้าเล็กๆ เลื้อยไปแบบอิสระ ไปตามความรู้สึกที่ควรจะเป็น

“ทุกๆ อย่างที่นี่ไม่ได้มาจากเราจินตนาการขึ้นมาเอง แต่เป็นเรื่องของการเก็บสะสม เป็นความประทับใจ เป็นความทรงจำ เราเป็นคนจังหวัดนครสวรรค์ เราโตมากับบ้านไม้ โตมากับแสงตะเกียง โตมากับชุมชนที่เป็นซอกซอย แล้วเวลาเราไปที่ไหนจะรู้สึกว่าซอกซอยโคตรมีเสน่ห์ ที่นี่คุณเห็นแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจผมไม่สนใจ แต่คุณจะรู้สึก ยังดีกว่าที่เข้าใจแต่ไม่มีความรู้สึกนะ ช่างที่มาทำเขาเห็นเสาไฟฟ้าเก่าๆ ที่เราเอามาลงยังบอกเราว่ารู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงเมีย”

 

ทนได้ก็ต้องทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน

สมชัย: ด้วยความที่เราเป็นเด็กผู้ชาย ตอนเล็กๆ เวลาอากงซื้อเครื่องบินให้นี่หรูสุดแล้ว โตขึ้นมาหน่อยได้ขึ้นเครื่องบินกรี๊ดเลยนะ นอนไม่หลับ วันนี้เราเลยมีเครื่องบินมาตั้งที่ช่างชุ่ย และตอนที่ขนมาก็เหนื่อยมาก เพราะมันใหญ่ งานนี้บอกเลยว่าทนได้ก็ต้องทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน คุณเคยเห็นมดเวลาคาบอะไรเกินตัวมั้ย มันทุลักทุเลอย่างนั้น เครื่องบินขนาด 55 เมตร
เราต้องชำแหละออกมาประมาณสิบกว่าชิ้น ใช้รถบรรทุกประมาณ 18 คันขนแยกชิ้นส่วนมา เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนจากการท่าฯ มาถึงช่างชุ่ยเช้าพอดี

“ข้างในเครื่องบินเรารื้อและตกแต่งใหม่ทั้งหมด ตั้งชื่อว่า ‘นาโอ’ ล้อกับ ‘โนอา’ ย้อนกลับไปสู่ยุคที่เราจะอพยพครั้งใหญ่ แต่เราไม่ได้ไปโดยเรือ เราจะไปโดยเครื่องบิน ข้างในก็จะมีสัตว์สตัฟฟ์อยู่เป็นฟาร์มเลย ซึ่งการสตัฟฟ์เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ทุกอย่างถูกกฎหมาย แล้วเด็กที่มาก็จะได้เห็นหมีขั้วโลกเหนือ ได้เห็นสิงโต และอีกมากมาย ด้านในก็ตั้งใจจะทำร้านอาหารที่ดีหน่อย ขายเพื่อเอาทุนมาให้น้องๆ ในพื้นที่ แล้วกลางคืนก็อาจจะเปิดเป็นบาร์เครื่องดื่ม”

 

โลกทุกวันนี้คุณต้องเชื่อมโยงกับคนอื่นบ้าง

ชนกพร: ช่างชุ่ยมีอาคารใหญ่ประมาณ 11 หลัง ซึ่งแต่ละหลังจะแบ่งฟังก์ชันแตกต่างกันไป เบื้องต้นจะมีอาคารที่เป็นโรงละครของ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น โดยเขาจะเป็นเหมือน curator คอยส่งการแสดงดีๆ เข้ามาให้ และยังมีส่วนที่เป็นแกลเลอรี่จัดแสดงงานของพี่โก๋-นพดล ขาวสำอางค์ นักถ่ายภาพมือต้นๆ ของเมืองไทยที่จะมาทำแกลเลอรี่ภาพถ่าย ซึ่งผลงานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

“มีอาคารหนึ่งเป็น Toy Museum ของ บอย โกสิยพงษ์ เขาฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่เด็ก แล้วทุกวันนี้ก็ยังมีความรักเรื่องการ์ตูนอยู่ ซื้อสะสมไว้มากมาย เขาเลยจะทำมิวเซียมของเล่นในยุคของโชวะ และด้านในจะมีจอฉายหนังซึ่งได้ Documentary Club ของธิดา ผลิตผลการพิมพ์ เป็นคนเลือกหนังมาให้ โดยโรงหนังเราเป็นโรงหนังเงียบ ถ้าคุณจ่ายค่าตั๋วหนังคุณถึงจะได้หูฟัง

“อีกอาคารเป็นหอประชุม จัดคอนเสิร์ตได้ จัดงานเสวนาได้ จัดนิทรรศการได้ เป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่น ใครเข้ามาแล้วเกิดแพสชันอะไรก็เอาคอนเซปต์มาคุยกัน เราจะทำหน้าที่เชื่อมโยงคอนเทนต์ของแต่ละคนที่อยู่ในนี้หรือคนที่อยู่ข้างนอกเข้าด้วยกัน เช่น คนนี้ร่วมกับคนนั้นได้มั้ย เพราะเราอยากทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน ทุกวันนี้อยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเชื่อมโยงกับคนอื่นบ้าง”

“นอกจากนั้นที่นี่มีร้านอาหารที่มีคอนเซปต์สร้างสรรค์ เราเชื่อว่าสุนทรียะในการดื่มกินก็เป็นศิลปะประเภทหนึ่ง เราไม่ได้ชวนคนมาเมา แต่เราคิดว่าก่อนคุณจะเสพงานศิลป์ได้คุณต้องมีความสุขก่อน เช่น ที่นี่มีร้านอาหาร Insect in the Backyard ที่ขายอาหารในโลกอนาคต โปรตีนใหม่ของโลกอนาคตคือแมลง และธัญพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารกับชีวิต ซึ่งเราได้ผู้เชี่ยวชาญมาจากทาง Seven Spoons มาช่วยวางระบบวางเมนูจากคอนเซปต์ที่คุณลิ้มเป็นคนออกแบบ เพื่อที่จะบอกให้คนรู้ว่าอาหารไม่ได้มีแค่ที่คุณเห็น มันยังมีวัตถุดิบอีกมากที่สามารถเอามาทำอาหารได้ถ้าคุณคิดกับมัน สร้างสรรค์มันสิ”

 

ที่นี่เป็นกับระเบิดทางปัญญา


ชนกพร :“ความแตกต่างของที่นี่คือคอนเทนต์ มันคือสเปซของการแสดงออกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ข้ามสายพันธุ์ด้วย เช่นร้านอาหารอาจจะไม่ได้ขายอาหารอย่างเดียว แต่อาจจะเป็น Food Theatre เอาเรื่องของการแสดงผสมกับอาหาร คนที่นั่งกินอาจจะกลายเป็นหนึ่งในตัวละคร

“คุณลิ้มวางที่นี่ไว้เป็นกับระเบิดทางปัญญา แปลว่าคุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะเหยียบเจออะไร วันนี้มาเจอศิลปินคนหนึ่ง อีกวันอาจจะมาเจออีกคนหนึ่ง บางวันอาจจะมาเจอนักวิทยาศาสตร์ บางวันอาจจะมาเจอแพทย์ก็ได้ มันลุ้นว่าเราจะเจออะไร การที่เราเจออะไรเดิมๆ มันแทบจะไม่ได้ใช้สมองเลย แต่ที่นี่เราต้องการให้คนรู้สึกหัวใจสูบฉีดตลอดเวลา และทำให้เกิดก้านสมองใหม่ๆ ในการคิดสร้างสรรค์”

ช่างชุ่ย พร้อมเปิดให้เข้าใช้เร็วๆ นี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.changchuibangkok.com นะ

facebook | ช่างชุ่ย ChangChui

ภาพ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง และ ช่างชุ่ย

AUTHOR