ดื่มแด่ความชอบที่ตรงกันที่ ‘Mutual Bar’ บาร์ที่คุณอาจเจอ mutual friends

Highlights

  • Mutual Bar เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 7 พาร์ตเนอร์ ที่มีความเฉพาะทางที่แตกต่าง แต่มีความสัมพันธ์กันในทางหนึ่งทางใด และมีจุดร่วมตรงกัน นั่นคือความชอบในวัฒนธรรมการดื่ม ความหลงใหลในบทสนทนา และความสนุกกับการพบปะสังสรรค์ 
  • บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เรียกทีมพาร์ตเนอร์ของเขาว่า อเวนเจอร์ส นำมาสู่เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ 7 แก้วที่ดีไซน์จากตัวตนและความชอบของแต่ละคน
  • ที่นั่งผ่านการดีไซน์ให้มีความเชื่อมโยงและไม่ปิดกั้นจากกัน เกิดเป็น mutual space ที่ mutual friends มาแชร์ความสนใจร่วมกันได้

โมงยามที่ย่านพร้อมพงษ์กำลังคึกคัก ลิฟต์ตัวเล็กพาฉันขึ้นไปยังชั้น 5 ของอาคารที่ภายนอกช่างดูสงบเสงี่ยม หลังผลักบานประตูเข้าสู่สถานที่นัดหมาย สายตาจึงค่อยๆ ปรับรับกับแสงสีแดงที่ฉายฉาบทั่วพื้นที่ เสียงเพลงในจังหวะชวนโยกเบาๆ ราวประกอบการเคลื่อนไหวของบาร์เทนเดอร์ที่ยืนประจำบาร์เครื่องดื่ม ผนังกลางร้านติดไฟนีอออนสีแดงดัดเป็นวลี ‘PEOPLE YOU MAY KNOW’ มองไวๆ ไปรอบๆ ฉันอาจเจอคนรู้จักที่นี่ แต่นั่นคือประเด็นรอง

คืนนี้ ฉันมีนัดดื่มและสนทนากับสองพี่น้อง ‘พูนพิริยะ’ ในหัวข้อที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาพยนตร์หรือวงการบันเทิง บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ และ จูนจูน–พัชชา พูนพิริยะ นั่งตรงหน้าฉันในฐานะหนึ่งในหุ้นส่วนของ Mutual Bar เพื่อคุยถึงบาร์แห่งนี้ บาร์ที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้มีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง

“เหมือนทีมอเวนเจอร์สที่ต่างมีความสามารถเฉพาะทาง” บาสนิยามพาร์ตเนอร์ทั้ง 7 ซึ่งนำมาสู่เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ที่ดีไซน์จากตัวตนและความชอบของแต่ละคน

คืนนี้ชักจะสนุกแล้วสิ

 

บาร์ไม่ลับกับการรวมตัวของทีมอเวนเจอร์ส

Mutual Bar สำหรับฉันไม่ใช่บาร์ลับ เพราะหาและเข้าถึงได้ง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย เรื่องราวของบาร์ยิ่งไม่ใช่ความลับ 

“บาร์เป็นแพสชั่นที่ผมอยากทำมานานตั้งแต่สมัยทำงานในร้านอาหารที่นิวยอร์ก การทำงานที่นั่นทำให้ผมเริ่มมีเพื่อน มีสังคม และที่นิวยอร์กมีคัลเจอร์การดื่ม พอเราทำงานเสร็จ เหนื่อยๆ เครียดๆ ก่อนกลับบ้านก็จะแวะไปดื่ม ไปนั่งคุยกัน กลายเป็นความชอบที่สะสมมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่า ถ้าจะเสียเงินดื่มและใช้เวลาในบาร์เยอะขนาดนี้ก็เปิดเองเลยดีกว่า” บาสเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟัง ก่อนน้องสาวอย่างจูนจูนจะเสริมขึ้น

“เฮียบาสเลยชวนจูนมาทำด้วย คนอื่นๆ เฮียบาสก็ชวนมาจากคอนเนกชั่นใกล้ตัว เช่น พี่แมน (อมร นิลเทพ) เป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำงานด้วยกันกับเฮียบาสมาตลอด พี่อู๊ด (นพรัตน์ วัฒนวราภรณ์) ทำงานคู่กับเฮียบาสเหมือนกัน เข้ามาช่วยดูแลในด้านครีเอทีฟ ส่วนเบนนี่เป็นนักดนตรีจากนิวยอร์ก เขาจะป้อนเพลงและมู้ดของร้านที่เป็นมุมจากนิวยอร์กเกอร์แบบเขา”

นอกเหนือจากความเป็นครอบครัว เป็นเพื่อน บาสยังพยายามชวนคนที่มีความสามารถแต่ละด้านมาประกอบกัน ต่างคนจะได้ช่วยกันดูแลร้านในแต่ละแง่มุมได้

“เฮียบาสเลยใช้คำว่า อเวนเจอร์ส” จูนจูนสรุปให้พร้อมรอยยิ้ม

Mutual Friends in Mutual Space

ทั้งสองเล่าต่อว่า ‘จุดร่วม’ ของ 7 พาร์ตเนอร์ผู้มีความแตกต่างเฉพาะทางคือความชอบในวัฒนธรรมการดื่ม ความหลงใหลในบทสนทนา และความสนุกกับการพบปะสังสรรค์ และนั่นก็กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการตั้งชื่อร้าน Mutual Bar แห่งนี้

“ร้านนี้เกิดขึ้นจากการที่เรามีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน มีความสนใจแบบเดียวกัน เราใช้สเปซตรงนี้แชร์สิ่งที่เราสนใจร่วมกันได้ หรือแม้ไม่ได้สนใจเรื่องที่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่เราก็ได้แชร์อะไรใหม่ๆ ด้วยกัน” จูนจูนเล่าพลางทอดสายตาไปยังร้านที่คลาคล่ำด้วยผู้คน

“เราอยากได้บาร์ที่เฟรนด์ลี่ ลูกค้าเปิดประตูเข้ามาแล้วรู้สึกว่าที่นี่ต้อนรับเขา ซึ่งตั้งแต่เปิดร้านมา ลูกค้าก็ให้ฟีดแบ็กที่เรารู้สึกว่าเขาเข้าใจไอเดียนี้จริงๆ”

ดัดแปลงจากสำนวน Objects in mirror are closer than they appear. สติกเกอร์ท้ายรถที่นิยมในอเมริกา เป็นคำเตือนว่าสิ่งที่เห็นในกระจกอยู่ใกล้กว่าที่คิด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

จาก mutual friends สู่ mutual space โยงใยไปถึงวลีนีออนดัดที่เด่นสะดุดตากลางร้าน รวมถึงข้อความ ‘People in mirror are closer than they appear.’ ที่เขียนด้วยลายมือหวัดบนกระจกข้างโต๊ะที่เรานั่ง

“เราดีไซน์ตำแหน่งการนั่งเป็นโซน แต่ไม่ปิดกั้นจากกัน ออกแบบให้แต่ละคนสามารถเดินข้ามโต๊ะได้ ย้ายโซนได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขิน ซึ่งตรงกับความต้องการของเรา ที่นี่เราอาจจะเจอคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ได้ แต่สะดวกใจพอที่จะหันไปข้างๆ แล้วทักทายกัน โควตต่างๆ ภายในร้านก็มาจากธีมนี้ people in mirror ก็คือเราอาจอยู่ใกล้กันมากกว่าที่คิดไว้” บาสอธิบาย

ฉันไล่สายตาไปทีละมุมร้าน ฝั่งที่เรานั่งเป็นโซฟาโค้งดีไซน์คลาสสิกบุด้วยหนังสีน้ำตาล กลางร้านเป็นพื้นที่ของโต๊ะและเก้าอี้ไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเอง โปสเตอร์ภาพยนตร์ขึ้นหิ้งถูกจับใส่กรอบ หนึ่งมุมเล็กๆ มีไมโครโฟนตั้งพื้น บาร์เครื่องดื่มยังคงมีชีวิตชีวา ฉันเปรยออกมาว่าหันไปตรงไหนก็มองเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ได้สักเรื่อง

“พอพูดแบบนี้ก็รู้สึกว่าเป็น subconscious เหมือนกันนะ” บาสออกปาก “เหมือนสายตาเราเห็นภาพเป็นเฟรมหนัง ผมก็คิดในใจว่าเวลาที่ลูกค้านั่งดื่มที่นี่ ทุกมุมที่มองไปต้องมีความสวยงามในแบบของมัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือไลท์ติ้งก็ตาม”

7 พาร์ตเนอร์, 7 คาแร็กเตอร์, 7 ซิกเนเจอร์ดริงก์

ฉันมองว่าการดื่มไม่ใช่เรื่องเมามาย โดยเฉพาะค็อกเทลที่สามารถนับเป็นศาสตร์สร้างสรรค์ ค็อกเทลคือความสนุกในกลิ่นและรสชาติอันเกิดจากส่วนผสมที่ลงตัว สนุกกับการค้นหาความหมายแฝงในเครื่องดื่มแก้วเหมาะมือใบนั้นๆ เช่น ซิกเนเจอร์ดริงก์ของ Mutual Bar มีที่มาและความหมายอยู่ในทุกแก้ว 

บาสเล่าว่าพวกเขาได้ จั่น–จิตกร ปักจั่น นักสร้างสรรค์ค็อกเทลจาก Asia Today มาช่วยคิดสูตรค็อกเทลให้ แต่ซิกเนเจอร์ดริงก์ของพวกเขามาจากการตีความคาแร็กเตอร์ของพาร์ตเนอร์แต่ละคน

“เครื่องดื่มของผมชื่อ Allen’s Apple เบสด้วยเบอร์เบิน ผมรู้สึกว่าความเป็นตัวผมถูกกลั่นจากช่วงชีวิตที่ไปอยู่นิวยอร์กซึ่งค่อนข้างเข้มข้น ผมเลยตีโจทย์ว่านิวยอร์กคือบิ๊กแอปเปิล เครื่องดื่มนี้จึงมีน้ำแอปเปิลมาผสม เหยาะ smoked cinnamon ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว ส่วนคำว่า Allen มาจากชื่อ Woody Allen ซึ่งเป็นผู้กำกับที่ผมชอบ”

Allen’s Apple

“จูนเองไม่ใช่นักดื่มค็อกเทล” จูนจูนออกตัว “ถึงอย่างนั้น จูนชอบหนังเรื่อง Pulp Fiction มาก ชอบตัวละครที่ชื่อมีอา จูนเลยส่งซีนที่มีอาดื่มมิลก์เชกในบาร์ไปให้ เขาเลยพัฒนามาเป็นดริงก์ที่ชื่อ The $10 Shake คือเป็นค็อกเทลที่ดัดแปลงจากมิลก์เชก เบสด้วยจิน ครีม ไข่ขาว และส่วนผสมอื่นๆ อีก เป็นรสเปรี้ยวๆ หวานๆ สำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มค็อกเทลหนักๆ”

“ตอนหาแก้วให้เครื่องดื่มของเขานี่เหนื่อยมาก” บาสเอ่ยก่อนจูนจูนจะหัวเราะพร้อมอธิบายว่า เธออยากได้แก้วมิลก์เชกแบบวินเทจเหมือนในหนัง เครื่องดื่มที่มีที่มาจากมิลก์เชกธรรมดาๆ จึงมีกระบวนการพัฒนาซับซ้อนกว่าที่คิด

The $10 Shake

“ส่วนแก้วของพี่แมนคือ The Gentle Mann เป็นดริงก์ที่มีความเป็นสุภาพบุรุษ แต่มีนัยยะของความเป็นเพลย์บอยนิดๆ เบสเป็นว็อดก้า มีกลิ่นมินต์และรสเปรี้ยวของมะนาว ส่วน Hendrix’s Garden เป็นของเบนนี่ เขาชอบ Jimi Hendrix มาก แก้วนี้มีรสชาติที่ซับซ้อน เป็นดริงก์ที่แรงที่สุด เหล้าเยอะที่สุดในบรรดาเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ทั้งหมด มีวิสกี้ เตกีล่า และเหล้า apéritif อีกสองตัวผสมกัน ก่อนเสิร์ฟต้องเผาโรสแมรีวางด้านบนแล้วปิดฝาครอบ พอเปิดฝาออกมาก็จะมีควันเป็นเอฟเฟกต์บางๆ เท่ๆ แนวคุณเบนนี่เขา”

“สิ่งที่ผมชอบในแก้วนี้คืออาฟเตอร์เทสต์ของมัน เป็นไซรัปใบเตยที่เราทำเอง คือไม่ว่าอะไรก็ตามที่เขาผ่านมาทั้งหมด ตอนนี้เขาคือแฟมิลีแมน เป็นฝรั่งที่ย้ายมาอยู่เมืองไทย เลยมีคาแร็กเตอร์นี้ของเขาอยู่ในนั้น” บาสเอ่ย

นอกจากแก้วที่บาสและจูนจูนหยิบยกมาให้เราลองชิม พวกเขายังเล่าถึงอีกสามแก้วที่น่าสน คือ Vivid Midnight ค็อกเทลสีดำของ อู๊ด–นพรัตน์ วัฒนวราภรณ์ เป็นการผสานกันของบรั่นดีและกาแฟสไตล์ไทย เสิร์ฟพร้อมปาท่องโก๋ให้ได้ฟีลมื้อเช้าที่ดื่มและกินกลางคืนได้ ขณะที่ Biomimiery เป็นศัพท์ในงานดีไซน์ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติสร้าง ยืนพื้นที่ไวน์ขาวและเหล้าหวาน chartreuse มีวาซาบิ มะนาวดอง น้ำผึ้ง เป็นแก้วของคนข้างกายสาวจูนจูน และสุดท้ายคือ Juliet’s Lips ถอดจากบุคลิกของลูกสาวอีกคนของบ้านพูนพิริยะ เป็นค็อกเทลที่ดื่มง่าย เบสด้วยจิน หวานหอมด้วยลิ้นจี่และโรสไซรัป

แต่เดี๋ยวก่อน จูนจูนบอกเราว่าความสนุกยังไม่หมดแค่นั้น 

“เราอยากให้ทุกคนแสดงความชอบของตัวเองได้ที่นี่ เลยมีดริงก์ที่เฮียบาสคิดขึ้นมาว่าเป็น The Mutual เลยแล้วกัน บอกบาร์เทนเดอร์ได้เลยว่าชอบดื่มแบบไหน หรือให้บาร์เทนเดอร์เซอร์ไพรส์มาเลยก็ได้ จูนว่าเป็นแก้วที่สนุกมาก”

ส่วนชายหนุ่มเล่าว่า “มีคืนหนึ่ง ลูกค้าเขามาถึงที่นี่แล้วบอกบาร์เทนเดอร์ว่า ‘พี่ หนูขอเครื่องดื่มแรงๆ เพิ่งอกหักมา’ ลูกค้าอีกคนใส่ชุดลายจุดมา บาร์เทนเดอร์ของเราเลยครีเอตแก้วที่ชื่อ Polkadot ให้ ปรากฏว่าคนสั่งตามเยอะมาก”

 

ค่ำคืนแห่ง Mutual Happiness

บาสเล่าถึงคืนพิเศษที่พวกเขาจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง pride month โดยหยิบเอาชาเอิร์ลเกรย์ เครื่องดื่มสุดโปรดของ Freddie Mercury มาดีไซน์เป็นค็อกเทลรสชาติใหม่ในถ้วยชา และมอบค่ำคืนนั้นให้อบอวลไปด้วยบทเพลงของไอคอนของเหล่า LGBTQ

“คืนนั้นนักร้องร้องเพลงดีมาก แล้วมีโมเมนต์ที่ทั้งร้านร้องเพลงของเฟรดดี้ด้วยกัน เบนนี่เดินมาบอกผมว่านี่เป็นคืนหนึ่งที่เขามีความสุขที่สุด ผมเอง หลังกลับจากนิวยอร์ก พอได้ทำหนังก็เหมือนได้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกระดับ แต่การทำบาร์ทำให้ผมนึกถึงชีวิตตอนเป็นเด็กเสิร์ฟที่นิวยอร์ก รู้สึกว่าได้พลังงานชีวิตแบบนั้นกลับมา”

“ปลุกความหนุ่มในตัวคุณ” จูนจูนเสริมพร้อมเสียงหัวเราะ “ส่วนจูน เราไปนั่งบาร์อื่น เคยมองแต่มุมลูกค้า แต่พอได้ยืนหลังเคาน์เตอร์บาร์แล้วได้มองออกไป จูนเห็นทุกคนแฮปปี้กับโมเมนต์ตรงหน้า แม้จะเป็นเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์หรืออะไรก็เถอะ แต่เขาแฮปปี้ มีช่วงเวลาดีๆ จูนสังเกตว่าลูกค้าของเรามีตั้งแต่วัยที่เพิ่งเข้าบาร์ได้ ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุห้าสิบกว่า แต่ทุกคนมานั่งโต๊ะข้างกัน แล้วดูเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เฮ้ย จูนชอบ”

ค่ำคืนนี้ ฉันไม่เจอใครอื่นที่รู้จักอีก แต่ถึงอย่างไร ทุกคนที่มาที่นี่ก็ย่อมมีความชอบบางอย่างเหมือนกัน ฉันยก Allen’s Apple ขึ้นดื่ม ดื่มแด่ความชอบของพวกเราที่ตรงกัน


Mutual Bar
ที่อยู่ : ปากซอยสุขุมวิท 24 (พร้อมพงษ์) กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด : 17:00-01:00 น.
เฟซบุ๊ก : Mutual Bar

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด