คุยกับปากกาของ Moonscape ผู้เขียนนิยาย slice of life ‘อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน’

Highlights

  • Moonscape คือนักเขียนเรื่อง อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน นิยายแนว slice of life หรือแนวชีวิตประจำวันทั่วไปที่มียอดคนอ่านออนไลน์ในปัจจุบันถึงหลักหนึ่งแสนห้าหมื่นคน
  • นิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเขียนที่ทำหนังสือหลากหลายประเภทแต่อาศัยอยู่ด้วยกันในแชร์เฮาส์แห่งหนึ่ง อ่านไวๆ คล้ายนำเสนอเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ความจริงนิยายเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงความนึกคิด อุปสรรค การทำงาน และภาพรวมของนักเขียนไทยได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังกลมกล่อมไปด้วยมิตรภาพของเหล่านักเขียนในเรื่องที่เยียวยาจิตใจกันและกัน
  • ปากกาของ Moonscape เล่าว่าจุดประสงค์ในการเขียนนิยายเรื่องนี้คืออยากสื่อสารกับนักเขียน นักอยากเขียน หรืออดีตนักเขียนทั้งหลาย เพื่อย้ำเตือนถึงความเชื่อมั่นในเวทมนตร์การสร้างสรรค์เรื่องราวของพวกเขา

 “เหนือสิ่งอื่นใด

ฉันปรารถนาให้พวกเธอมีความหวัง ยามที่โลกมืดมนไร้หนทาง

อย่าได้ลืมว่าเราเคยก่อกองไฟที่ยิ่งใหญ่ในสวนหน้าบ้าน

อย่าได้ลืมเท้าเปื้อนโคลน

กระโปรงปลิวลม และแขนขาที่เริงระบำให้แก่ชีวิต”

ฉันอ่านคำโปรยบนปกหลังของ อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน นิยายที่ได้รู้จักครั้งแรกจากการแนะนำของร้าน ‘กลิ่นหนังสือ’ แหล่งขายหนังสือออนไลน์ที่ฉันเคยไปสัมภาษณ์ 

ไม่มากก็น้อย ข้อความนั้นทำให้ฉันรู้สึกรีเลตกับมันจนนึกขอบคุณคนเขียนอยู่ลึกๆ

นิยายปกสวยที่เขียนโดย Moonscape เล่มนี้เป็นที่พูดถึงมากตั้งแต่เคยเผยแพร่ครั้งแรกบนโลกออนไลน์ (คำชมในแฮชแท็ก #อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน ในทวิตเตอร์ยืนยันได้ดี) ในแง่นิยายที่สร้างกำลังใจให้คนอ่าน ทำให้ปัจจุบันนิยายเรื่องนี้มียอดผู้อ่านพุ่งไปถึงหลักหนึ่งแสนห้าหมื่นคนเข้าไปแล้ว

อ่านเรื่องย่อผ่านๆ หลายคนอาจเดาได้ว่าหนังสือขนาด B6 จำนวน 200 กว่าหน้านี้คือเรื่องราวของก๊วนนักเขียนที่มาอาศัยอยู่ใต้ชายคาบ้านเช่าหลังเดียวกัน แต่พอฉันได้ลงมืออ่านจริงๆ ในฐานะคนที่ทำงานด้านการเขียน มีหลายครั้งที่อินมากจนขำหึๆ กับหลายคราที่กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และถึงแม้คุณจะไม่ใช่คนที่สนใจการเขียนเลยก็น่าจะยังรู้สึกสนุก เพราะในเรื่องยังมีประเด็นเรื่องมิตรภาพ การเยียวยา การเติบโต การหันกลับมารักตัวเองที่ไม่ว่าใครก็รู้สึกเชื่อมโยงได้

คนที่ทำงานเขียนแมสๆ ป้อนสำนักพิมพ์ คนที่ชอบอยู่เงียบๆ คนที่มีความฝันแต่ยังไม่กล้าลงมือทำ คนที่เคยประสบความสำเร็จแต่ตอนนี้หวาดกลัว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือชีวิตของเหล่าตัวละครในแชร์เฮาส์ที่คุณจะได้ทำความรู้จักอย่างช้าๆ ก่อนแปรเปลี่ยนไปสนิทกันในภายหลัง

อยากแวะไปเที่ยวแชร์เฮาส์ของพวกเขาจัง นี่คือความคิดที่ชำแรกขึ้นทันทีหลังจากที่ฉันอ่านจบ

ความประทับใจพาให้ฉันอยากนัดคุยกับผู้สร้างสรรค์เรื่องนี้ขึ้นมา ทว่าด้วยความที่เธอกำลังติดพันกับงานเขียนภาคต่อของ อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน ปากกาลายแมวน่ารักจึงถูกมอบหมายมาให้ตอบคำถามแทนเธอ

เล่าให้ฟังหน่อยว่ามาอยู่กับ Moonscape ได้ยังไง

เจ้าของของเรานี่นะ เรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงที่คลั่งไคล้แมวดำมาแต่ไหนแต่ไร เธอซื้อเราเพราะเรามีลายเจ้าจีจี้จากเรื่อง Kiki’s Delivery Service พิมพ์อยู่บนด้าม ซื้อมานานนมตั้งแต่ยังไม่ได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ เธอเป็นคนจดอะไรๆ ลงกระดาษเปลืองมาก จึงต้องมีปากกายกโหลวางอยู่ทุกที่ในชีวิต ทั้งโต๊ะทำงาน รถ ห้องนอน กระเป๋าถือ เราเป็นหนึ่งในปากกาพวกนั้น เธอไม่ค่อยใช้เราเท่าไหร่เพราะกลัวหมึกหมด ขี้เหนียวจริงๆ เลย

 

Moonscape ผู้เป็นเจ้าของคุณเริ่มต้นเขียนนิยายได้ยังไง

เธอเริ่มจากการชอบวาดรูปในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงมัธยมฯ เธอมักวาดรูปพร้อมข้อความประกอบพับส่งให้เพื่อนแล้วรอเพื่อนตอบกลับ รู้อีกทีเธอก็เขียนอะไรยุกยิกลงบล็อกมาตลอด มาเริ่มเขียนเก็บเป็นจริงเป็นจังก็ช่วงปี 2560 ตอนนั้นในทวิตเตอร์มีแฮชแท็กชื่อว่า #Fictober (ล้อมาจาก Inktober ที่ล้อมาจาก October อีกที) คนที่ร่วมกิจกรรมนี้จะเขียนเรื่องราวตามหัวข้อที่ใครสักคนกำหนดเป็นตอนสั้นๆ ให้ครบ 31 ตอนเท่ากับจำนวนวันในเดือนตุลาคม ตอนนั้นเธอแค่อยากเขียนอะไรสักอย่างให้แฟน แล้วก็กลายเป็นความชอบแบบฉุดไม่อยู่เลย

ปกติเธอใช้คุณเขียนตอนไหน

เธอจะไม่จับเรามาเขียนเลยตลอดเดือน แล้วอยู่ๆ เมื่อไฟติดเธอก็เขียน เขียน เขียน ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจนถึงก่อนนอน ตะบี้ตะบันเขียนจนไม่เป็นอันกินอันนอนจนกว่าจะจบเรื่อง แล้วเธอก็จะวางเราลง กลับสู่โหมดพักผ่อนที่จะไม่เขียนเราไปอีกราวๆ สองเดือน

อยากให้เมาท์หน่อยว่าเจ้าของคุณเป็นนักเขียนประเภทไหน

เป็นคนพิลึก เราพูดอย่างนั้นได้ไหม อ้าว ถามถึงประเภทงานเขียนเหรอ เธอชอบเขียนนิยายแนว slice of life ถ้าให้แปลก็คือแนวชีวิตประจำวันที่ปกติธรรมดา เธอหยิบจับความธรรมดาพวกนั้นมาใส่บรรยากาศ เติมบทสนทนา เธอชอบนิยายที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายแบบ ทั้งที่จริงๆ แล้วเธอเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวทีเดียว

ปกติเจ้าของคุณอ่านหนังสือแนวไหน หรือมีนักเขียนคนไหนเป็นคนโปรดบ้างไหม

เธออ่านเยอะไปหมด ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมแปลไม่จำกัดแนว เธอชอบ Shirley Jackson ผู้เขียนเรื่อง บนดวงจันทร์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ กับ Edgar Allan Poe ผู้แต่งบทกวี The Raven คนนี้เธอคลั่งเขามากจนไปสักรูปอีกาไว้บนแขนเลยนะ สองคนนี้อาจแต่งนิยายสยองขวัญก็จริง แต่สิ่งที่ทั้งสองคนส่งอิทธิพลต่องานเขียนเธอคือวิธีการเล่าแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งแทนที่จะเป็นมุมมองพระเจ้า เธอบอกว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องลึกลับที่นักเขียนปิดบังผู้อ่านไว้

เท่าที่อยู่กับ Moonscape มา คุณเห็นการเติบโตของเธอในแง่นักเขียนยังไงบ้าง

ถ้านับเฉพาะที่เป็นเล่ม เธอก็เขียนนิยายมาแล้ว 5 เรื่อง ตั้งแต่เล่มที่สองเป็นต้นมาเธอเริ่มอยากแตกแขนงงานเขียน slice of life ออกมาผสมกับนิยายแนวอื่นนอกจากเรียบเรื่อยแบบชีวิตธรรมดาบ้าง เช่น หนังสืองานศพ (Blue Hour สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน) เรื่องผีๆ (ใครสักคนในเราทั้งคู่) โกธิกโรแมนซ์ (Of Murder and the Muse) เธอบอกว่าไม่ว่าจะเป็นแนวไหนเธอก็จะเล่าในจังหวะของ slice of life ให้ได้ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราว่าน่าสนุกดี

อะไรทำให้ Moonscape สนใจเรื่องนักเขียนจนต้องแต่งนิยายเกี่ยวกับพวกเขา

นักเขียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจจะตายคุณ พวกเขาเป็นพระเจ้าของโลกทั้งใบที่ตนประกอบสร้าง ทว่าเมื่อคนภายนอกมองเข้ามาก็จะเห็นคนพิลึกที่เอาแต่พูดกับตัวเองเป็นวรรคเป็นเวร ขดตัวอยู่ในเปลือกหอย สะกดจิตตัวเองว่าโลกที่พวกเขาสร้างก็ไม่แย่เกินไปนักหรอก แล้วก็ใช้ความพยายามมหาศาลผลักดันมันสู่สาธารณะ ผลออกมาถ้าไม่ดัง พวกเขาจะตัดพ้อว่าตนอ่อนด้อย กลับกันหากประสบความสำเร็จพวกนักเขียนจะดีใจ พวกเขาจะนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กระวนกระวายว่าสักวันจะถูกโลกนี้เปิดโปงว่าตัวเองเป็นพวกลวงโลก อย่าเข้ามายุ่งมาสนใจฉันมากกว่านี้เลย ฉันรับผิดชอบถ้อยคำของตัวเองไม่ไหวหรอก

หมายความว่านิยายเรื่องนี้ต้องการสื่อสารกับนักเขียนโดยตรง

ใช่ เธอต้องการสื่อสารกับพวกเขาโดยตรง ดังที่เธอเขียนไว้ในหน้าแรกของหนังสือว่า “แด่นักอยากเขียนทุกคน ผู้เชื่อว่าเราต่างก็มีเวทมนตร์ในตัวเอง” ประเทศนี้มีนักอยากเขียนอยู่มากมาย ทั้งคนที่ยังไม่เคยเขียน กำลังเขียน และเลิกเขียนไปแล้ว

ถ้าให้นิยาม Moonscape เป็นตัวละครที่ใกล้เคียงที่สุดในเหล่านักเขียนในแชร์เฮาส์ คุณคิดว่าเธอน่าจะเป็นใคร

ย่านาง เธอทุ่มเทให้งานเขียนอย่างบ้าคลั่งแต่ชีวิตส่วนตัวพังพินาศ คิดแล้วสงสารคนรอบข้างจังเลย

ว่าแต่คาแร็กเตอร์ของนักเขียนแต่ละคนนี่เจ้าของคุณเขาไปเอามาจากไหน

พวกนักเขียนในแชร์เฮาส์สร้างขึ้นมาจากตัว Moonscape เองทั้งนั้นแหละ ทุกคนแยกส่วนกันจากนิสัยตามช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตเธอ เคยเรียนโรงเรียนประจำ เก็บตัว กลัวถูกเกลียด อ่านบรรยากาศไม่ออก วิตกจริต นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ผัดวันประกันพรุ่ง เห็นแก่เงิน ไม่มีศักดิ์ศรี บางทีก็พูดมากเกินเหตุจนเพื่อนหนีหน้า เธอสร้างตัวละครจากชิ้นส่วนเหล่านี้ ประกอบกับการสังเกตอาชีพการงานของคนรอบข้างทั้งในชีวิตจริงและเพื่อนในทวิตเตอร์

แล้วเลือกประเภทของหนังสือให้นักเขียนแต่ละคนในแชร์เฮาส์ยังไง เห็นมีตั้งแต่หนังสือเก่า บันทึกการเดินทาง นิยายวาย ไปจนถึงแนวคำคม

เธอใช้วิธีเดินเข้าไปในร้านหนังสือแล้วเลือกเอาจากที่เห็นว่าช่วงนั้นแนวไหนกำลังเป็นที่นิยม ที่จริงหนังสือประเภทไลฟ์โค้ชเนี่ยได้เชลฟ์ใหญ่สุดๆ แต่ทำใจเขียนตัวละครแบบนั้นไม่ลง เลยได้ออกมาเป็นคุณครามผู้ทำงาน ghost writer อย่างไม่เต็มใจแทน

เห็นว่าตัวละครที่เป็นนักเขียนต่างมีปมปัญหาเป็นของตัวเอง แล้วสำหรับ Moonscape ล่ะ เธอมีปัญหาที่เหมือนตัวละครในเรื่องบ้างไหม

หลักๆ แล้วเธอมีปัญหากับงานประจำมากกว่า (เธอเกลียดงานบริการอย่างกับอะไรดี แต่กลับเลือกทำงานสายนั้น) งานเขียนเป็นงานที่เธอทำเพราะความพอใจ ชอบใช้ความคิด ชอบอยู่คนเดียว ชอบคุยแต่กับคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ดังนั้นปัญหาในการเขียนงานจึงไม่ค่อยมีเท่าไหร่นัก จัดว่าราบรื่นพอสมควร

ได้ยินมาเสมอว่างานเขียนเป็นงานที่โดดเดี่ยว เจ้าของคุณคิดยังไงกับคำพูดนี้

คุณรู้ไหม นักเขียนหลายคนเขียนนิยายแลกค่ายาจิตเวช การเขียนคือการหมกตัวอยู่ในถ้ำ พึมพำอะไรไม่รู้อยู่คนเดียว แต่เจ้าของเรามีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ เธอมักจะหา ‘นักอ่านทดลอง’ มาช่วยอ่านต้นฉบับดราฟต์แรกก่อนโพสต์ลงเน็ต นักอ่านทดลองจะช่วยให้ความคิดเห็นด้านสำนวน จังหวะของเรื่อง บุคลิกตัวละคร และให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน น่ะ สำเร็จออกมาได้เพราะเหล่านักอ่านทดลองทั้งนั้นแหละ

ในเรื่องมีการพูดถึงแวดวงหนังสือไทยด้วย อยากรู้ว่าในมุมมองผู้เขียน คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคให้นักเขียนไทยไปต่อได้ยาก

นักเขียนไทยขาดการสนับสนุนจากทุกช่องทาง บทประพันธ์ของนักเขียนยุคใหม่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก ที่ได้นำไปทำซีรีส์ก็เรตติ้งไม่ค่อยดีนัก ทั้งที่งานของนักเขียนหลายท่านเขียนได้ดีมาก ดีในระดับที่อ่านแล้วสนุกกว่าอ่านนิยายแปลด้วยซ้ำ แต่การจะไปสู่สายตาโลกก็เป็นกำแพงอีกชั้น ลำพังสิ่งที่นักเขียนทำได้ด้วยตัวเองก็มีแค่พยายามเขียนอย่างสุดกำลัง นอกจากนั้นต้องพึ่งพาวงการหนังสือและวงการบันเทิง ภาวนาให้โลกหาเราเจอ

อีกประการในความเห็นของผู้เขียน ศิลปะและวรรณกรรมนั้นเบ่งบานได้ยากในประเทศเผด็จการ พวกเราถูกปิดปากไม่ให้พูดสิ่งที่บางคนไม่อยากได้ยิน ห้ามแตะต้องประเด็นอ่อนไหว ห้ามลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามวิจารณ์ผู้มีศีลธรรมอันดี ห้ามล้อเลียนคนใหญ่คนโต หนังสือประวัติศาสตร์อีกด้านถูกยึด นักเคลื่อนไหวที่ออกมาพูดถูกคุกคามทำร้าย คนมีศักยภาพ มีของดีอยู่ในตัวมากมาย แต่กลับทำได้เพียงเขียนนิยายประโลมโลกไปวันๆ เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย

สร้างสรรค์ผลงานมาก็ตั้งหลายเรื่อง เจ้าของคุณมองการเขียนเป็นอะไรในชีวิต

เป็นการระบายสสารล่องหนที่อัดแน่นในสมองออกมา เธออ่านหนังสือมาก ฟังมาก เมื่อถึงคราวเขียนก็เหมือนการสำรอกตัวอักษรนับล้าน สาละวนจัดเรียงเป็นรูปเป็นร่าง คอยเหลียวมองกลับมาในฐานะผลงานชิ้นปัจจุบันที่จะกลายเป็นคู่แข่งของผลงานตัวเองในอนาคต

ในฐานะปากกาที่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างโลกอักษรและนักเขียน คุณอยากบอกอะไรกับนักอยากเขียนหรือนักเขียนที่พยายามกลับมาเขียนอีกครั้ง

อย่ากดดันตัวเองนักเลย ทุกอย่างมีที่ทางและจังหวะของมันเอง อาจเป็นเย็นวันหนึ่งที่คุณนั่งเหม่ออยู่ในรถโดยสารสาธารณะกลิ่นอับชื้น รถติดอยู่กลางถนนน้ำเน่าขัง เสียงเครื่องยนต์ดังหนวกหูไม่รู้จะดับเมื่อไหร่ แล้วอยู่ๆ คุณก็มีความคิดแวบมา ความคิดที่ว่าเวลาที่คุณจะต้องลงเขียนได้มาถึงแล้ว


Moonscape เป็นหนอนหนังสือผู้ใช้เวลากว่าครึ่งของวันอุดอู้อยู่ในห้องนอน ฟังแผ่นเสียง อ่านนิยาย และเลี้ยงแมว เธอผัดพาสต้าเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานเสริม คิดว่าตัวเองเป็นแม่มด (ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เธอก็เป็นแม่มดที่ขี้เกียจมาก เพราะดูดวงหรือทำพิธีกรรมใดๆ ไม่เป็นเอาเสียเลย) มีสมุนแมวดำหนึ่ง สุนัขสอง และอีกาสตัฟฟ์อีกหนึ่งตัว รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเธอเป็นความลับ!

ติดตาม Moonscape ได้ที่ทวิตเตอร์ @K_moonscape

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย