อย่าเหลือพื้นที่ให้ความเสียดาย คุยกับปากกาของ พชร สูงเด่น ผู้เขียน ‘ERASMUS GENERATION’

Highlights

  • อิม–พชร สูงเด่น เคยทำงานสายพัฒนาสังคมที่มองว่าการศึกษาคือหัวใจหลักที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง 
  • พชรสมัครโครงการ Erasmus Mundus ที่มอบทุนการศึกษาให้ได้ไปเรียนรู้ ท่องเที่ยว ใช้ชีวิตทั่วทั้งยุโรปเป็นเวลา 2 ปี
  • ประสบการณ์และความทรงจำต่างๆ ในการเดินทางครั้งนั้นถูกเล่าอย่างน่าติดตามผ่านหนังสือ ERASMUS GENERATION เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้

อิม–พชร สูงเด่น คือนักเขียนผู้มองว่าการศึกษาคือรากฐานในการพัฒนาสังคมอย่างเเท้จริง 2 ปีก่อนหน้าที่เธอจะมาเป็นรองบรรณาธิการบริหารของ The Momentum และ a day BULLETIN ในปัจจุบัน พชรได้รับทุนการศึกษาจาก Erasmus Mundus โครงการแลกเปลี่ยนที่มอบโอกาสให้เธอได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนทั่วทวีปยุโรปเป็นเวลากว่า 2 ปี ความท้าทายของชีวิตตัวคนเดียวในต่างถิ่น มิตรภาพกับผู้คนแปลกหน้าที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิท ไปจนถึงเหตุการณ์พีคๆ อีกสารพัด เหล่านี้คือเรื่องราวที่พชรถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือ ERASMUS GENERATION เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้

แต่ละหน้ากระดาษที่พลิกอ่าน หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกว่าเรากำลังร่วมเดินทางไปกับผู้เขียนอยู่จริงๆ เต็มเปี่ยมด้วยความประทับใจ หลังจากที่อ่านหนังสือของเธอจบเราติดต่อขอสัมภาษณ์พชรทันที แต่เพราะหน้าที่การงานที่แสนจะรัดตัวในทุกวันนี้ พชรบอกกับเราว่า รอบนี้คุยกับปากกาคู่ใจที่เธอมักจะใช้ขีดๆ เขียนๆ ความคิดลงในสมุดโน้ตไปก่อนนะ

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อยสิคุณปากกา

ฮัลโหล เราว่าหลายคนเคยเห็นเรามาก่อน อาจเคยหยิบจับเราขึ้นมาลอง หรือแม้กระทั่งเลือกเรากลับบ้านในบางครา เรียกได้ว่าเราเป็นปากกาของใครก็ได้ แต่ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเรากับอิมคือ แม้เธอจะชอบลองปากกามากมาย แต่สุดท้ายปากกาด้ามเดียวที่เธอเลือก ด้ามเดียวที่เธอพกก็ยังคงเป็นเรา ไม่ว่าเธอจะเจอปากกาดีไซน์เท่ เขียนลื่นแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ยังยืนหนึ่งข้างสมุดโน้ตของเธอตลอดเวลา 

จุดเริ่มต้นในการเขียนของพชรมาจากไหน

ถ้าไปชวนพชรคุยเรื่องนี้ อย่าลืมเผื่อเวลาไว้สักครู่สนทนา เรารู้จักเธอไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอชอบเขียนเสมอคือคำว่า #writeforlife ไม่เคยถามเธอเหมือนกันนะว่ามันหมายถึง ‘เขียนเพื่อชีวิต’ หรือ ‘เขียนตลอดชีวิต’ มีโอกาสเมื่อไหร่ลองชวนพชรคุยเรื่องนี้เลยก็ได้–แต่อย่างที่บอก, อย่าลืมเผื่อไว้สักครู่สนทนา

พชรใช้คุณเขียนหนังสือมาแล้วกี่เล่ม และนับจากหนังสือเล่มแรกจนถึงตอนนี้ เธอเติบโตขึ้นยังไงบ้าง

เราพูดได้ไม่เต็มปากนะว่าพชรใช้เราเขียนหนังสือจนเสร็จ เธอก็คล้ายนักเขียนปัจจุบันที่ใช้วิธีการ ‘พิมพ์’ ต้นฉบับออกมา แต่เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการเขียนของเธอ ตั้งแต่การเขียนบทความชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขียนบันทึกประจำวัน ไปจนถึงไอเดียสำหรับหนังสือเล่มต่อไปก็มาจากน้ำหมึกในตัวเรา

ส่วนคำถามที่ว่า เธอเติบโตขึ้นยังไงบ้างน่ะหรือ ถ้าตอบจากวิธีการเขียนของเธอ เธอไม่ค่อยเขียนไปขีดฆ่าไปอีกแล้ว เธอแค่ประคองเราแล้วปล่อยความคิดให้ไหลไปเรื่อยๆ อาจบอกได้ว่าเธอชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น ใจดีกับตัวเองมากขึ้นเยอะเลย 

ส่วนใหญ่พชรใช้คุณเขียนหนังสือตอนไหน เวลาไหนที่เธอเขียนหนังสือได้ลื่นไหลที่สุด

เช้า เช้ามากๆ การเริ่มต้นวันที่ดีที่สุดคือการตื่นสักตีสี่ก่อนฟ้าสาง นั่งเขียนในความมืดและเงียบสนิท พอๆ กับใจที่ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีแม้การสกัดกั้นความคิดตัวเองว่าอย่าเขียนคำนั้น อย่าโพล่งประโยคนั้น แค่ปล่อยมันไป ปล่อยความรู้สึกนึกคิดออกไปอย่างจริงแท้ที่สุดในความมืด ในความว่างก่อนรุ่งสางของวัน

หนังสือบันทึกการเดินทาง (หรือหนังสือแนวอื่นๆ) เล่มไหนที่พชรอ่านแล้วอยากเขียนหนังสือของตัวเอง

คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาคือ สิทธารถะ ของเฮสเส อาจไม่ได้เรียกว่าทำให้อยากเขียนหนังสือของตัวเอง แต่มันทำให้หลงใหลในการอ่านเหลือเกิน แล้วพอเวลารักหนังสือเล่มไหนมากๆ ก็อดไม่ได้ที่จะขอบคุณนักเขียนคนนั้นที่ฝากมรดกแห่งกาลเวลาไว้ให้–มันมหัศจรรย์นะ ว่าไหม การที่คนๆ หนึ่งเขียนความคิดของเขาในชั่วขณะหนึ่งของชีวิต แต่ความคิดของเขายังส่งผลต่อคนที่อ่านต่อไป ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่

สตีเฟ่น คิง เคยบอกไว้ว่าในแง่นี้การเขียนเป็นดั่ง ‘โทรจิต’ (writing is a form of telepathy) คือมันส่งความคิด จิตใจต่อกันได้พ้นกาลเวลา สถานที่

ก่อนได้รับทุน Erasmus พชรทำงานอะไร ชีวิตช่วงนั้นของเธอเป็นยังไง

อยู่สายพัฒนาสังคมมาโดยตลอดตั้งแต่เรียนจบจนถึงก่อนไปเรียนต่อ เรียกได้ว่าเอาอุดมการณ์นำทางล้วนๆ ชีวิตช่วงนั้นเธอทำงานหนัก แต่เธอสนุกกับมันมาก ได้เดินทางเยอะ เจอผู้คนมากมาย ได้ลองงานหลากหลาย เลยไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนสายไปทำอย่างอื่น จนกระทั่งโตขึ้น ก็เพราะ Erasmus ด้วยแหละที่ทำให้เห็นว่าไม่ต้องกำหนดชีวิตมากก็ได้ อยากเรียนรู้อะไร สนุกกับอะไรก็กระโจนไปทำซะ เลยส่งผลให้ข้ามสายมาทำงานสื่อในทุกวันนี้ 

วินาทีที่พชรต้องตัดสินใจทิ้งงานเเละชีวิตที่เป็นอยู่เพื่อไปรับทุนเป็นยังไง เธอเคยคิดลังเลหรือกังวลกับความไม่แน่นอนในเส้นทางชีวิตต่อจากนั้นบ้างไหม

พชรไม่เคยกังวลกับความไม่แน่นอนในชีวิตนะ ความลังเลเดียวของเธอในตอนที่ได้รับทุนคือเธอสนุกกับงานเอาเสียมากๆ แต่ก็อย่างที่เล่าไปในหนังสือนั่นแหละที่พี่คนหนึ่งบอกว่า งานน่ะเดี๋ยวได้กลับมาทำอีกหลายสิบปีแน่ๆ แต่โอกาสแบบนี้สิ ไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่ 

พชรในตอนนั้นคาดหวังอะไรจากการเดินทางครั้งนั้น

ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท สิ่งที่พชรตอบในตอนสัมภาษณ์เข้าเรียนคืออยากนำองค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาสังคมให้เท่าเทียมมากขึ้น คำตอบใหญ่โตทะลุดาวอังคารไปเลยว่าไหม แต่นั่นแหละไฟของคนวัยยี่สิบ วันนี้พชรยังหวังถึงสังคมเช่นนั้นอยู่ ที่เปลี่ยนไปคือพชรไม่จำกัดบทบาทของตัวเธอเองอีกต่อไปแล้ว 

ทำใจลำบากไหมที่ต้องกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง แล้วพชรเตรียมตัวยังไง

ไม่เรียกว่าทำใจ พชรสนุกกับมันด้วยซ้ำ เธอรักห้องเรียนที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดมาโดยตลอด ความลำบากเดียวน่าจะเป็นการต้องปัดฝุ่นศัพท์แสงวิชาการที่เธอไม่แตะมานานหลังเรียนจบปริญญาตรีนั่นแหละที่ท้าทายเธอ 

การเรียนรู้นอกห้องเรียนในต่างประเทศแตกต่างจากการศึกษาไทยยังไง

คนพูดกันเยอะเรื่องการมีส่วนร่วมของนักเรียนอะไรเทือกนั้น พชรมองว่าแก่นหลักเลยคือสภาวะของผู้เรียนที่การเรียนรู้ที่แท้จริงคือการที่ผู้เรียนเป็น ‘ผู้กระทำ’ (active) ไม่ได้เป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ (passive) คือเป็นผู้กระหายอยากเรียนรู้เอง ตั้งคำถาม สังเคราะห์ ประสบจนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เป็นผู้รอรับสารจากสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว–ในแง่นี้เทียบระหว่างความต่างของการศึกษา (education) และการเรียนรู้ (learning) มากกว่าคำว่าในประเทศหรือต่างประเทศ

พชรได้พบกับคัลเจอร์ช็อกอะไรบ้าง 

ใช้คำว่าตื่นตาตื่นใจน่าจะเหมาะกว่าคำว่าช็อก ในแง่นั้นพชรตื่นตาตื่นใจกับสิ่งละอันพันละน้อย ตั้งแต่การเห็นเบียร์แทปขายปกติในโรงอาหารในสเปน วันเที่ยวฟรีเพื่อเปิดให้คนในเมืองเข้าถึงความรู้สาธารณะได้ในนอร์เวย์ ฯลฯ เล่าได้ไม่หวาดไม่ไหว 

มีเหตุการณ์ระหว่างทางที่ทำให้รู้สึกผิดหวังหรือเสียใจบ้างไหม เหตุการณ์นั้นสอนอะไร และหากย้อนเวลากลับไปได้จะเปลี่ยนแปลงมันยังไง

ถ้าจากที่อ่านในบันทึกของพชร เธอมักเขียนระบายเสียดายในเรื่องที่ไม่ได้ทำ เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับงานเร่งด่วนตรงหน้า เช่น ไม่ออกไปกับเพื่อนเพราะกลัวงานไม่เสร็จ รู้ตัวอีกทีเพื่อนคนนั้นก็ย้ายเมืองแล้ว หรือมัวแต่มีทิฐิ ไม่ยอมคุยกับเพื่อนที่ผิดใจกัน รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีโอกาสกลับมาเจอกันแล้ว ฯลฯ ซึ่งทุกครั้งหลังจากเขียนระบายเสร็จ พชรก็มักจะเขียนต่อในทำนองว่า “leave room for no regret” ทำอะไรให้สุด อย่าเหลือพื้นที่ให้ความเสียดาย แต่นี่ก็เป็นเพียงสิ่งที่พชรบันทึกไว้ในสมุดนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าที่เธอไม่เขียนออกมาเธอบันทึกอะไรไว้ในใจ มีอะไรที่พชรอาจเสียใจจนกลั่นไม่ออกเขียนไม่ไหวอีกบ้าง

หลังจบโครงการ พชรรู้สึกเติบโตขึ้นในด้านใดที่สุด

น่าจะเป็นความอิสระ ปลดปล่อยตัวเธอเองจากพันธนาการต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความคิด ตัวตน ไม่ใช่ว่าพชรละทิ้งเป้าหมายทางสังคมที่เธอตั้งใจไว้แต่เริ่ม พชรแค่ไม่จำกัดขอบเขตตัวเธอเองกับงานใดงานหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง ความคิดใดความคิดหนึ่งอีกต่อไป พชรพร้อมจะลื่นไหลไปกับบทใหม่ๆ ของชีวิต เราว่าเธอผ่อนคลายกับตัวเองมากขึ้นเยอะเลยนะ เดาจากวิธีการจับเรา เธอยังจับเราด้วยมือที่ผ่อนน้ำหนักลงเลย

พชร สูงเด่น วัย 31 ปี จบปริญญาตรีปี 1-2 จากโครงการ British and American Studies มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปี 3-4 จาก International Peace Studies, University of Wisconsin และปริญญาโทจาก Erasmus Mundus Joint Master Degree in Education Policies for Global Development ปัจจุบันพชรเป็นรองบรรณาธิการบริหาร The Momentum และ a day BULLETIN 

เธอเขียน(แทบ)ทุกเช้าตรู่ ด้วยอาชีพทุกวันนี้ งานเขียนของพชรหนักไปทางบทความ งานแปล ส่วนหนังสือเล่มต่อไปในอนาคตเธอครุ่นคิดอยู่ในหัวทุกวัน อยู่ในใจทุกคืน หวังว่าเราจะได้อ่านกันเร็วๆ นี้นะ

ติดตามพชรได้ที่เฟซบุ๊ก Imm Pachara Sungden, อินสตาแกรม imm.pachara และอีเมล [email protected]

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!