คุยกับปากกาของ Cyanxweek นักเขียนนิยายรัก-การเมือง ‘เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม’

Highlights

  • Cyanxweek (อ่านว่า see(c) you(ya) next(nx) week) หรือ หมีมนสิชา เสือจร คือนักเขียนนิยายรัก-การเมืองเรื่อง เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม ที่มีคนอ่านบนเว็บไซต์กว่า 6 แสนครั้ง
  • นิยายแนวชายรักชายเรื่องนี้ไม่มีได้พล็อตหวือหวา แต่ความพิเศษคือการสอดแทรกประเด็นการเมืองของประเทศสมมติเข้าไปแทบทุกหน้า อ่านไปก็ยิ้มกรุ้มกริ่มปนรู้สึกแสบๆ คันๆ ไปกับการจิกกัดสถานการณ์ที่ละม้ายคล้ายกับประเทศที่อยู่เสียเหลือเกิน
  • ปากกาของ Cyanxweek เน้นย้ำว่า จุดประสงค์ของการแต่งนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาคืออยากให้คนตระหนักว่าการเมืองคือเรื่องในชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถมีจุดยืนทางการเมืองได้ เลือกข้างได้ แต่ต้องถกเถียงกันบนพื้นฐานประชาธิปไตย

เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม

ผมแอบชอบพี่หมอที่อยู่ห้องตรงข้าม ชอบตั้งแต่เห็นหน้าครั้งแรก ผมสืบหาเฟซพี่เขาอยู่สามวัน แต่พอพี่เขารับแอดเท่านั้นแหละคุณเอ๊ย โลกทั้งใบของผมเหมือนพังทลายลงมา

ครับ…พี่แม่งเป็นสลิ่ม

นี่คือคำโปรยของนิยายเรื่อง เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม ที่ดึงดูดใจเราตั้งแต่แรกเห็น และเมื่อได้ลองคลิกอ่าน เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนิยายของ Cyanxweek (อ่านว่า see(c) you(ya) next(nx) week) หรือ หมีมนสิชา เสือจร เรื่องนี้จึงมียอดผู้อ่านมากถึง 6 แสนคนภายในเวลาไม่กี่เดือน

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ขอแนะนำอย่างกะทัดรัดว่า เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม เป็นนิยายแนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่เล่าเรื่องของ ‘ลีโอ’ หนุ่มน้อยรัฐศาสตร์ปี 3 ผู้แอบรัก ‘ชิณ’ รุ่นพี่คณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ห้องตรงข้ามกัน ฟังแค่นี้อาจดูคล้ายพล็อตเรียบง่ายของนิยายชายรักชายทั่วไป แต่ความพิเศษคือการใส่ประเด็นการเมืองในประเทศสมมติซึ่งมีสถานการณ์คุ้นๆ แบบที่เราคุ้นมากกก (ก.ไก่ล้านตัว) ยกตัวอย่าง รมช.กักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น, เว็บไซต์ IO คอยปลุกปั่นความไม่สงบบนโลกออนไลน์, รัฐบาลซื้อเรือดำน้ำ ไปจนถึงเรื่องม็อบที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบเผด็จการ

“นิยายเรื่องนี้มีอคติทางการเมืองและไม่เป็นกลาง และความเห็นต่างทางการเมืองไม่ได้สร้างความแตกแยก โอเคนะ?” มนสิชาประกาศคำเตือนไว้ในหน้าแรกเช่นนั้น

สำหรับบางคน นี่อาจเป็นนิยายรักรสชาติใหม่ที่ย่อยง่าย ได้ความรู้เรื่องการเมืองในเวลาเดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม อาจเป็นการส่งเสียงและการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อที่พวกเขาถนัดซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

นั่นคือเหตุผลที่เราอยากนัดคุยกับมนสิชา ก่อนจะพบว่าเธอกำลังวุ่นอยู่กับการเรียนและเขียนนิยายเรื่องใหม่อยู่ เราจึงถือโอกาสนี้แอบดอดไปคุยกับปากกาเขียนงานคู่ใจที่อยู่กับเธอมานานแทน

แรงบันดาลใจในการสอดแทรกประเด็นการเมืองลงไปในงานเขียนคืออะไร สำหรับเธอ ความรักจะทำให้เราเลิกอวยเผด็จการได้ไหม

คำตอบจากปลายปากกาอยู่ในบรรทัดถัดไปแล้ว

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อยสิคุณปากกา

สวัสดี เราคือ Apple Pencil ที่ถูกสอยมาพร้อมกับ iPad 2018 เมื่อปลายปีก่อน เราคือปากกาสีขาวหน้าตาธรรมดาๆ ที่ถูกผลิตมาแบบ mass production ไม่ได้แตกต่างกับ Apple Pencil ด้ามอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้เราคิดว่าเราพิเศษกว่าปากกาด้ามอื่นที่ถูกขายอยู่ด้วยกันคือเจ้าของเราเป็นนักเขียนที่หัวร้อนที่สุดในปฐพี

 

เจ้าของคุณเริ่มต้นเขียนนิยายได้ยังไง

เธอเริ่มเขียนแฟนฟิกชั่นตั้งแต่ ม.1 ด้วยเหตุผลที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนแฟนฟิกชั่นของนักเขียนหลาย ๆ คน…เพราะคู่ที่เธออวยในการ์ตูนเรื่องโปรดอย่าง Bleach เทพมรณะ มีจุดจบไม่ได้ดั่งใจยังไงล่ะ

 

ส่วนใหญ่ Cyanxweek ใช้คุณเขียนตอนไหน 

หลังเที่ยงคืน ฉันเคยคิดว่าเธอเป็นนกฮูก แต่จริง ๆ แล้วเธอแค่ชอบความเงียบ

 

เท่าที่อยู่กับ Cyanxweek มา เขาใช้คุณเขียนนิยายมาแล้วกี่เรื่อง และคุณเห็นการเติบโตของเธอยังไงบ้าง

ถ้านับเฉพาะนิยายที่เป็นงานออริจินัล ไม่ใช่แฟนฟิกชั่น เธอเขียนจบไปแล้ว 3 เรื่องในเวลา 2 ปี ช่วงเวลาสั้นๆ คงไม่ได้ทำให้เธอเติบโตขึ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าเทียบกับงานแฟนฟิกชั่นที่เธอเขียนตอนยังเป็นเด็กน้อย ฉันต้องบอกว่าเธอเติบโตขึ้นมากทีเดียว อย่าให้พูดถึงงานเขียนเก่าๆ เลย ฉันเพิ่งรู้จักกับเธอได้ไม่นาน และตอนที่เธอซื้อฉันมา ตอนนั้นเธอก็ได้ระเบิดงานเก่าๆ ทิ้งไปหมดแล้ว

 

นักเขียนในดวงใจของ Cyanxweek คือใคร

ฝ่ายชายคือเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ และแน่นอนที่สุด ฝ่ายหญิงก็ต้องอกาธา คริสตี!

 

เจ้าของคุณมีนิยายในดวงใจที่อ่านแล้วทำให้อยากเขียนบ้างไหม

ก็ต้องเป็นสองเล่มที่เธอชื่นชอบที่สุดอย่าง The Hound of the Baskervilles และ And Then There Were None อยู่แล้ว ที่จริงแล้วความฝันของเธอคือการมีซีรีส์นิยายสืบสวนที่เธอปั้นนักสืบด้วยตัวเองเหมือนอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ หรือแอร์กูล ปัวโรต์ และนั่นก็เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันหงุดหงิดใจอยู่เหมือนกัน เธอได้แต่ฝัน แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ยังไม่แม้แต่จะลงมือทำ เธอคิดเสมอว่ามันยากและเธอทำไม่ได้หรอก เธอไม่ยอมออกจาก comfort zone ของตัวเอง ฉันได้แต่หวังว่าจะมีวันนั้นนะ

 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ Cyanxweek หันมาสนใจการเมือง อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอสนใจเรื่องนี้

หลังจากที่เธอได้ลงเรียนวิชาของคณะรัฐศาสตร์เป็นวิชาเลือกในมหา’ลัยล่ะมั้ง ฉันแอบกระซิบตรงนี้เลยก็ได้ว่าเห็นเธอเขียนนิยายฉอดการเมืองดุๆ แบบนี้ เธอเคยเป็นอิกนอแรนต์มาก่อนเหมือนกัน เธอเคยสิ้นหวังกับอนาคตของตัวเอง เธอชอบคิดว่า ‘ถ้าเธอไม่มีผู้ชายมาจีบ ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก แก่ตัวไปเธอจะใช้ชีวิตอยู่ยังไงกัน’ แต่ในที่สุดเธอก็ได้รู้ว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ เธอจะไม่ต้องกังวลเรื่องแบบนั้นเลย เพราะรัฐบาลจะสามารถดูแลทุกคนได้

นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเขียนนิยายเรื่อง เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม ขึ้นมา เพราะเธอรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่กำลังสิ้นหวังเหมือนกับที่เธอเคยเป็น เธอแค่อยากบอกทุกคนว่า ‘เราต้องมีความหวังสิ!’ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ การเมืองก็ด้วย ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมันเริ่มต้นด้วยความหวังเสมอ

 

คุณคิดว่าเธอมองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมืองหมดเลยหรือเปล่า

เธอก็มองทุกอย่างเป็นการเมืองนั่นแหละ เพราะทุกอย่างมันก็เป็นการเมืองจริงๆ นี่นา ที่จริงแล้วภาพจำของ ‘การเมือง’ คือเรื่องไกลตัว คือเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ คือเรื่องในสภา พอมีคนบอกว่า ‘การเมืองมันคือทุกอย่างในชีวิตเลยนะ’ ก็จะถูกมองว่า ‘เธอหมกมุ่นเรื่องการเมืองชะมัด’ ไม่ใช่สักหน่อย ปรับความคิดด่วนๆ เลย

 

พูดถึง ‘เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม’ Cyanxweek จัดให้นิยายเรื่องนี้อยู่ในประเภทไหน

ก็แค่นิยายรักโรแมนติกที่พูดเรื่องการเมือง…คิดว่ามันธรรมดาไปงั้นเหรอ? แล้วทำไมจะต้องเป็นอะไรมากกว่านั้นล่ะ ทำไมต้องทำเหมือนการเมืองเป็นความพิเศษหรือเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนนิยายเรื่องอื่นด้วย การเมืองมันก็แค่ธีมของเรื่องเท่านั้นเอง ไม่เอาน่า เธอเขียนนิยายทั้งเล่มเพื่อที่จะบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติ การเมืองเป็นเรื่องธรรมดาใกล้ตัวเรา อย่าทำให้มันพิเศษนักเลย

 

แรงจูงใจของการเขียนนิยายรักที่พูดเรื่องการเมืองมาจากไหน

แรงจูงใจอะไรกัน แรงยุในทวิตเตอร์ต่างหาก เธอแค่หัวร้อนกับข่าวการเมืองข่าวหนึ่งเกี่ยวกับรัฐบาลที่เธอคิดว่าทำอะไรไม่ค่อยเห็นหัวประชาชน แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เธอหงุดหงิดเท่ากับการมี ‘สลิ่ม’ ออกมาปกป้อง และเธออยากฉอดมากๆ แต่เธอขี้เกียจทะเลาะด้วย ก็เลยทวีตเล่นๆ ว่า ‘อยากเขียนนิยายที่พระเอกไปฉอดใส่สลิ่ม’ แล้วฟอลโลเวอร์ของเธอก็ถล่มเมนชั่นมาบอกว่า ‘เขียนเลยๆ’ เท่านั้นเอง ไอเดียหรือแนวคิดต่างๆ มันถูกพัฒนาขึ้นมาทีหลังน่ะ

 

แล้วจริงๆ นิยายเรื่องนี้อยากสื่อสารกับคนอ่านกลุ่มไหน

มันเป็นเรื่องตลกที่กลุ่มเป้าหมายที่เธออยากให้อ่านไม่ใช่ผู้อ่านส่วนใหญ่ของนิยายเรื่องนี้น่ะนะ เอาจริงๆ แค่เห็นชื่อเรื่อง คนที่ไม่สนใจการเมืองก็คงไม่เฉียดเข้ามาอ่าน คนที่อ่านนิยายเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่จริงๆ เธออยากให้คนที่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวได้อ่านและปรับความคิดเสียใหม่ว่าการเมืองมันอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณนะ

แต่ถ้าสารมันส่งไปไม่ถึงเป้าหมาย เธอก็คาดหวังว่าอยากให้คนอ่านของเธอสวมวิญญาณ ‘น้องลีโอ’ แล้วเอาสารนี้ไปบอกกับคนใกล้ๆ ตัวที่ไม่สนใจการเมือง เหมือนกับที่น้องลีโอพยายามบอกกับพี่ชิณไง

 

กระแสตอบรับของนิยายเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง เจอกระแสจากฝั่งตรงข้ามบ้างหรือเปล่า 

สลิ่มที่ไหนจะมาอ่านนิยายด่าสลิ่ม แค่อ่านบทแรกก็กดปิดไปแล้วมั้ง

 

คนรู้จัก Cyanxweek จากนิยายเรื่องนี้และนิยายที่สอดแทรกประเด็นการเมืองเรื่องอื่นๆ ของเธอ บางคนคิดว่านิยายรัก-การเมืองคือลายเซ็นของเธอไปแล้ว สำหรับเธอ มันเป็นลายเซ็นจริงไหม หลังจากนี้เธอจะยึดถือแนวทางนี้ไปตลอดเลยหรือเปล่า

ไม่จริงหรอก ที่จริงแล้วนี่เป็นเรื่องที่เธอค่อนข้างกังวลเลยล่ะ เธอไม่อยากให้คนติดภาพว่าเธอจะต้องเขียนนิยายที่สอดแทรกการเมือง เพราะถ้าเธอเขียนนิยายรักทั่วๆ ไป นักอ่านจะผิดหวังในตัวเธอหรือเปล่า เธอเป็นนักเขียนที่แค่อยากระบายเรื่องราวในจินตนาการของตัวเองออกมาเท่านั้นเอง

 

ในมุมของคนที่แต่งนิยายแนวนี้ เธอคิดว่าคนเราจะรักใครโดยมองข้ามการเห็นต่างเรื่องการเมืองได้ไหม สมมติวันหนึ่งเธอเจอสถานการณ์ของ ‘ลีโอ’ นายเอกของเรื่องบ้างจะทำยังไง

เธอเป็นคนหัวร้อนที่ใจเย็นนะ ถ้าจะให้ขยายความก็คือเธอเป็นคนที่หงุดหงิดง่ายแต่ไม่แสดงออกมา ใครพูดอะไรไม่เข้าหูสักหน่อยเธอก็คิ้วกระตุกแล้ว แต่ก็ใช่ว่าเธอจะพุ่งเข้าไปฉอดใส่ โกรธเคืองกันหรือเลิกคบกันไปเลย แต่นิสัยหนึ่งของเธอคือการไม่ปล่อยผ่าน ถ้าเธอคิดเห็นไม่ตรงกับอีกฝ่ายหรือคิดว่าที่อีกฝ่ายพูดมามันไม่ถูกต้อง เธอจะถามเหตุผล เธอจะคุยด้วยอย่างใจเย็น เหมือนกับน้องลีโอล่ะมั้ง ฉันคิดว่าเธอนิสัยคล้ายน้องลีโอมากเลย

ด้วยเหตุผลนั้น เธอคงจะคบหากับใครสักคนที่อุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันได้ แต่ที่สำคัญคือต้องต่างกันบนพื้นฐานประชาธิปไตย เธอเป็นซ้าย คุณเป็นขวา เน้น! บนพื้นฐานประชาธิปไตย อาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าคุณอวยเผด็จการ ไปปรับมายด์เซตก่อนค่อยมาว่ากัน

 

ตัวละครเอกใน ‘เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม’ คือคนที่มีความคิดเห็นด้านการเมืองคนละขั้วกัน แน่นอนว่าต้องมีการถกเถียงเกิดขึ้น อยากรู้ว่าในมุมของคนเขียน การถกเถียงแบบไหนที่ถือว่าเป็นการถกเถียงเรื่องการเมืองที่ดี 

การถกเถียงที่ดีต้องถกเถียงกันบนพื้นฐานประชาธิปไตย เธอคิดว่าเราไม่สามารถใช้คำว่า ‘ถกเถียง’ กับคนที่อวยเผด็จการได้ อย่างที่บอกนั่นแหละ ไปปรับมายด์เซตก่อนแล้วค่อยมาถกเถียงกัน ถ้าคุณอวยเผด็จการ นั่นคือการไม่ยอมรับฟังเสียงคนอื่นและสนับสนุนการลิดรอนสิทธิของคนอื่น เช่น ถ้าคุณมองว่าการคุกคามคนเห็นต่างเป็นเรื่องที่ทำได้ อันนั้นมันละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว เป็นเรื่องที่ผิดเห็นๆ จะมาถกเถียงอะไรกันอีก

ว่าแต่ทำไมเจ้าของคุณถึงเลือกพิมพ์นิยายเรื่องนี้กับสำนักพิมพ์ Lobster ที่นี่มีจุดเด่นแตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นตรงไหน

ถ้าจะให้พูดตรงๆ เลยก็คือมีสำนักพิมพ์ไหนกล้าพิมพ์นิยายที่การเมืองเข้มข้นและเลือกข้างชัดเจนขนาดนี้ไหมเล่า สังคมชอบมองว่าเราต้องเป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่ อย่างที่ย้ำไปหลายรอบว่าการเมืองมันคือเรื่องในชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถมีจุดยืนทางการเมืองได้ มันต้องปรับมายด์เซตของคนทั้งสังคมเลยว่าการเลือกข้างหรือการมีจุดยืนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด ศิลปินต่างชาติเวลาใกล้ๆ เลือกตั้งเขากล้าพูดเลยด้วยซ้ำว่าเขาเชียร์พรรคการเมืองไหน ถ้าเมื่อไหร่ที่สังคมและสำนักพิมพ์อื่นๆ มองว่าการมีจุดยืน การเลือกข้าง หรือการพูดเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ สำนักพิมพ์ล็อบสเตอร์ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นเลย

 

มีอีกประเด็นที่ถกเถียงกันมากอยากมาถามเจ้าของคุณ อยากรู้ว่าเธอมองนิยายวายกับนิยาย LGBTQ+ เหมือนหรือต่างกันยังไง

เธอคิดว่านิยายวายไม่มีอยู่จริง เพราะนิยายวายทุกเล่มจริงๆ แล้วมันคือนิยาย LGBTQ+ ที่คนไปเรียกมันว่านิยายวาย

สิ่งหนึ่งที่สำนักพิมพ์ล็อบสเตอร์ให้ความสำคัญมากๆ คือการยอมรับและให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์หรือตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือเราต้องไม่ลดทอนตัวตนของพวกเขา ถ้าให้ยกตัวอย่างก็คงเป็นเนื้อหาจำพวกแบบ ‘เราไม่ได้เป็นเกย์ เราแค่ชอบนายคนเดียว’ คือมันก็ตลก และมันผิด คุณเขียนเรื่องราวของเกย์ ทำเงินจากเรื่องราวของเกย์ แต่คุณกลับไม่ยอมให้ตัวละครของตัวเองเป็นเกย์เนี่ยนะ มันเกินไปหน่อยมั้ง

 

แล้วการเขียนนิยายรักของ LGBTQ+ ที่เคารพตัวตนของพวกเขาจริงๆ สำคัญยังไง

มันสำคัญนะ ไม่ใช่แค่เรื่องของ LGBTQ+ เราต้องยอมรับกันก่อนว่างานเขียนมีผลต่อความคิดของผู้อ่านไม่มากก็น้อย อย่างเช่น ในสังคมเรามีคนจำนวนมากที่เล่นมุกหรือพูด sexual harassment เหมือนเป็นเรื่องปกติ และคนจำนวนมากก็หัวเราะขบขันกับมุกตลกเหล่านั้น นั่นเพราะเราผลิตซ้ำงานที่ romanticize เรื่องเหล่านี้มาเป็นเวลานาน จนคนในสังคมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรหรือเปล่า เพราะพระเอกข่มขืนนางเอกแล้วตอนจบก็รักกัน นางเอกก็ยกโทษให้

ในทางกลับกัน ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้สังคมยังมอง LGBTQ+ ในกรอบเดิมๆ ใครบอกว่าเดี๋ยวนี้สังคมเปิดกว้างแล้ว ขออนุญาตแย้งว่าไม่จริง ในโรงเรียนยังมีการกลั่นแกล้งเด็กที่เป็น LGBTQ+ อยู่ และเมื่อโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่  LGBTQ+ ที่จะได้รับการยอมรับก็มีแต่คนที่ประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งให้เห็น คนถึงจะยอมรับคุณ

ถ้าเราผลิตซ้ำงานที่เคารพตัวตนของ LGBTQ+ ไปเรื่อยๆ ในสังคมที่ LGBTQ+ ยังไม่ถูกยอมรับ มันก็น่าจะทำให้ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับและสังคมเคารพตัวตนของพวกเขาได้ในสักวันหนึ่ง เธอมองว่าอย่างนั้น

เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม


Cyanxweek หรือ หมี–มนสิชา เสือจร จบปริญญาตรีจากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาตรีอีกใบที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในเวลาว่างเว้นจากการเรียน เธอใช้เวลาเขียนหนังสือและศึกษาประเด็นกฎหมายและจริยศาสตร์ (ethics) มนสิชาบอกเราว่า ปกติแล้วนิยายที่เธอเขียนไม่ได้เน้นการเมืองเท่าไหร่ แต่เป็นนิยายรัก LGBTQ+ ทั่วๆ ไปที่เธอชอบอ่านและเขียนเท่านั้น

ติดตาม Cyanxweek ได้ที่ทวิตเตอร์ @miiz16s

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย