คุยกับ Misato Tanaka แฟนคลับซีรีส์วายไทย ผู้ปั้นนิตยสารละครไทยให้ดังระเบิดในญี่ปุ่น

ซีรีส์วาย

ซีรีส์วาย

นอกจากนี้ในงานยังมีร้านขายนิตยสารเกี่ยวกับละครไทยและหนังสือพาเที่ยวตามรอยโลเคชั่นละครวายมาออกบูทด้วย คนมุงไม่แพ้บูทอาหารไทยและบูทน้องมะม่วงที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ปีนี้ แถมเรายังได้ข่าวมาว่าไบรท์วินฮอตขนาดถูกนำไปทำฟิกเกอร์ nendoroid, การ์ตูน, นิยาย และละครเรื่อง เพราะเราคู่กัน (2gether the series) ก็จะได้ฉายในฟรีทีวีของญี่ปุ่นที่โอซาก้าอีกต่างหาก ไม่น่าเชิื่อเลยจริงๆ

แม้ปีนี้งานเทศกาลไทยในโตเกียวจะไม่ได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สวนสาธารณะโยโยกิเหมือนทุกปีแต่เปลี่ยนธีมเป็น Thai Drama Festival 2021 (งานเทศกาลละครไทย) และลดสเกลลงมาจัดที่สถานเอกอัครราชทูตแทน แต่งานปีนี้กลับทำให้เราตื่นเต้นมากกว่าทุกครั้งเพราะได้ยินมาว่าคนญี่ปุ่นจำนวนมากพยายามฟาดฟันกันเพื่อให้ได้สิทธิมาร่วมงาน

พวกเขาไม่ได้อยากมากินอาหารไทย แต่มาให้กำลังใจดาราศิลปินไทยที่พวกเขาชื่นชอบต่างหาก

ที่สำคัญ ในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่ฟาดฟันกันมาร่วมงานนั้นมีแฟนคลับที่เป็นติ่งละครวายระดับพรีเมียมไม่น้อยเลย

มองไปรอบๆ งาน เราเห็นชาวญี่ปุ่นหลายคนแต่งกิโมโนเต็มยศมาร่วมงาน คนถือตุ๊กตาไบรท์-วินมูลค่าหลักหมื่นเยนก็เยอะ แถวต่อคิวถ่ายรูปกับสแตนดี้ดาราไทยก็ยาวไม่ใช่เล่นๆ ขนาดทางสถานทูตจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมงานต่อรอบยังสัมผัสได้ถึงความฟินที่พวยพุ่งของแฟนคลับทั้งหลาย ยิ่งช่วงที่ได้ meet & greet เล่นเกมกับศิลปินจากช่อง 3, GMM TV และค่ายนาดาวผ่านจอแบบไลฟ์ชาวญี่ปุ่นก็ให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม มวลแห่งความอิ่มเอมใจแผ่ไปทั่วห้อง การเว้นระยะห่างและระยะทางญี่ปุ่น-ไทยไม่ใช่ปัญหาเลยจริงๆ 

ซีรีส์วาย
ซีรีส์วาย

นอกจากนี้ในงานยังมีร้านขายนิตยสารเกี่ยวกับละครไทยและหนังสือพาเที่ยวตามรอยโลเคชั่นละครวายมาออกบูทด้วย คนมุงไม่แพ้บูทอาหารไทยและบูทน้องมะม่วงที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ปีนี้ แถมเรายังได้ข่าวมาว่าไบรท์-วินฮอตขนาดถูกนำไปทำฟิกเกอร์ nendoroid, การ์ตูน นิยาย และละครเรื่อง เพราะเราคู่กัน (2gether the series) ก็จะได้ฉายในฟรีทีวีของญี่ปุ่นที่โอซาก้าอีกต่างหาก

ละครไทยโดยเฉพาะละครวายป๊อปขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ย!

ซีรีส์วาย
ซีรีส์วาย

กักตัว เปิดใจ อยู่บ้านดูละครไทย

ข้อมูลจากงาน Thai Drama Festival ช่วยคลายความสงสัยให้เราว่าละครไทยมาดังเปรี้ยงในญี่ปุ่นเอาเมื่อปีที่แล้วช่วงที่รัฐขอให้คนเก็บตัวอยู่บ้าน ความว่างทำให้ละครไทยได้แจ้งเกิด กระแสบอกต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กดีงามจนทำให้ปี 2020 ที่ผ่านมามีละครไทย (ทั้งวายและไม่วาย) ฉายในญี่ปุ่นตามช่องทางต่างๆ ถึง 27 เรื่อง แถมแฟนๆ ยังอินมากขนาดไปหัดเรียนภาษาไทยโดยเรียนผ่านละคร สั่งซื้อสินค้ามาจากไทย อยากลองกินอาหารไทยที่ได้เห็นในเรื่อง และเห็นว่ามีการจัดแฟนมีตกับดาราไทย (แบบคอลออนไลน์ข้ามประเทศ) และมีการซื้อป้ายโฆษณาที่ชินจูกุด้วย

ช่องทางการดูละครไทยหลักๆ คือสตรีมมิ่งเซอร์วิสอย่าง U-NEXT, Rakuten TV, TELASA แบบดูฟรีอาจจะหายากสักหน่อย แต่แฟนๆ หลายคนก็ดูผ่านช่องยูทูบของ GMM TV เพราะมีซับไตเติลภาษาอังกฤษให้ด้วย หลายเรื่องก็ได้แฟนคลับในต่างประเทศช่วยกันทำซับขึ้นมาอีกต่างหาก ถึงการดูฟรีจะต้องหยุดเมื่อญี่ปุ่นซื้อลิขสิทธิ์เรื่องไหนมาฉายแต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะ Misato Tanaka กองบรรณาธิการจากบริษัท Tokyo News Service ผู้ผลักดันให้เกิดนิตยสาร Thai Drama Guide D บอกกับเราว่า “แฟนคลับชาวญี่ปุ่นอยากให้ละครไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกเลยเต็มใจจ่ายค่าสมาชิกต่างๆ เพื่อเป็นการขอบคุณและสนับสนุนบริษัทผู้ผลิต ในความเห็นของฉัน ฉันมองว่าเงินที่จ่ายไปคือการส่งเงินกลับไปถึงผู้ผลิตละครให้พวกเขาสามารถผลิตละครสนุกๆ มาให้ชมอีกค่ะ”

ซีรีส์วาย

จากจอสู่หน้ากระดาษและงานนิทรรศการ

ละครไทยที่เบิกทางให้ละครเรื่องอื่นๆ บินตามมาฉายที่นี่ได้สะดวกต้องยกเครดิตให้ซีรีส์วายที่ดังเป็นพลุแตกในบ้านเราอย่าง เพราะเราคู่กัน และ พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (SOTUS The Series) มิซาโตะเองก็เริ่มดู เพราะเราคู่กัน ช่วงก่อนโควิดนิดหน่อยก่อนจะติดใจละครไทยเลยเริ่มดูเรื่องอื่นๆ ด้วย ความอินทำให้เธอเสนอหัวหน้าให้ทำนิตยสารฉบับพิเศษที่เป็นเรื่องราวละครไทยล้วนๆ ไปเลย เหล็กต้องตีตอนร้อนสิคะ!

ตอนแรกหัวหน้าก็ยังนิ่งๆ แต่กระแสละคร เพราะเราคู่กัน มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ละครไทยเรื่องอื่นๆ เป็นที่นิยมตามไปด้วยจนต้องให้ไฟเขียว นิตยสาร Thai Drama Guide D เกี่ยวกับละครไทยเลยได้ออกวางแผงรัวๆ ถึง 3 ฉบับภายใน 1 ปี โดย 1 ฉบับเป็นหนังสือไกด์บุ๊กพาตามรอยโลเคชั่นละครไทยโดยเฉพาะ ส่วนอีก 2 ฉบับเล่าเรื่องละครวายไทยอย่างลงลึกและครอบคลุมจนจะเรียกว่าเป็นหนังสือเรียนละครวายไทย 101 ก็ว่าได้

ซีรีส์วาย
ซีรีส์วาย

เนื้อหาแน่นกว่า 100,000 ตัวอักษรต่อเล่ม!

“จุดขายของนิตยสารญี่ปุ่นคือ ความเข้มข้นของข้อมูลค่ะ เดิมทีพวกเราทำนิตยสารบันเทิงชื่อ TV GUIDE ที่เน้นข้อมูลอยู่แล้ว พอจับเรื่องละครไทยก็ทำเต็มที่ให้ครบเนื้อหาที่คนญี่ปุ่นสนใจ เช่น คนญี่ปุ่นชอบอ่านบทสัมภาษณ์ และชอบอ่านอะไรยาวๆ ยิ่งถ้าเป็นการสัมภาษณ์ที่เนื้อหาลงลึกหลายหัวข้อยิ่งชอบค่ะ” มิซาโตะเล่าที่มาความแน่นของข้อมูล

เมื่อลองเปิดดูด้านในคร่าวๆ เราก็พบว่าคอนเทนต์มีความเจแปนนีสมาก เนิร์ดมาก ละเอียดมากจนดีใจแทนดาราและผู้จัดไทย เช่น มีลิสต์ดาราไทยคล้ายฐานข้อมูลหนุ่มวายย่อมๆ มีแค็ตตาล็อกละครไทยพร้อมเรื่องย่อสำหรับคนที่ไม่รู้จะดูเรื่องไหนก่อนดี มีเกร็ดความรู้เชิงวัฒนธรรมที่ได้เรียนรู้จากละคร เช่น ทำไมฉากของเรื่องถึงเป็นคณะวิศวกรรรมเยอะกว่าคณะอื่น, ระบบโซตัสและเครื่องดื่มนมชมพูคืออะไร, ความหมายของตัวเลข 555, ชุดนักเรียนและชุดรับปริญญา ส่วนไกด์บุ๊กก็ใส่ใจความเป็นติ่งระดับว่ามีหน้าว่างๆ ไว้ให้ขอลายเซ็นเผื่อเจอนักแสดงโดยบังเอิญตอนไปเที่ยวเมืองไทย พร้อมสอนภาษาไทยที่คนเป็นติ่งต้องใช้ เช่น “ขยิบตาให้หน่อยได้ไหมคะ”, “ทำมือเป็นรูปหัวใจให้หน่อยได้ไหมคะ” และ “จะเป็นกำลังใจให้ตลอดไปค่ะ” 

“ตอนนี้มีบทความญี่ปุ่นเกี่ยวกับละครไทยเยอะขึ้น เนื้อหาโปรโมตหนังแต่ละเรื่องก็หาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าต้องนั่งเสิร์ชเองหาทีละเรื่องก็ลำบากใช่ไหมคะ แถมไม่มีเนื้อหาที่รวบรวมเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับละครไทย ฉันเองพยายามหาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตแต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องติดต่อสอบถามต้นสังกัดเองโดยตรง วัฒนธรรมการอ่านของคนญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสือรวมสรุปเรื่องราวอยู่แล้วด้วย พอมีหนังสือรวมข้อมูลไว้ให้แบบนี้ แม้แต่คนที่เพิ่งเริ่มชอบละครไทยก็สามารถหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น”

ผลตอบรับนิตยสารดีมาก ไม่เฉพาะในหมู่แฟนละคร แต่สื่อญี่ปุ่นก็ใช้เป็นคัมภีร์เวลาต้องทำคอนเทนต์เกี่ยวกับละครไทย ส่วนคนในวงการบันเทิงก็อ่านเป็นความรู้ก่อนดีลเรื่องลิขสิทธิ์ ทั้งยังมีคนรีเควสต์ขอให้ทำแม็กกาซีนฉบับดิจิทัลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ส่วนแฟนคลับชาวไทยก็พุ่งตัวไปจองนิตยสารเล่มนี้ที่คิโนะคุนิยะจนคนทำยิ้มแก้มปริหายเหนื่อย ส่วนแฟนๆ ชาวไทยบางคนที่แม้จะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่เข้าใจก็สามารถฟินไปกับภาพแฟชั่นบางเซตที่ถ่ายใหม่สไตล์ญี่ปุ่นเพื่อนิตยสารนี้โดยเฉพาะ เช่น เซตภาพนิปปอนบอยชวนฝันของ มิว ศุภศิษฏ์ และชุดเอี๊ยมคู่ของจา-เฟิร์ส

ซีรีส์วาย

“คนญี่ปุ่นชอบการแต่งตัวเป็นคู่ ชอบชุดที่ดูเรียบง่ายอย่างชุดเอี๊ยมมากค่ะ” กอง บ.ก.สาวเปิดให้ดูพร้อมเสียงหัวเราะ

คนญี่ปุ่นดูจะอินกับเรื่องเสื้อผ้ามากจริงๆ เพราะ GMM จับมือกับ TV Asahi จัดนิทรรศการ GMMTV EXHIBITION in JAPAN ที่หอบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในละครของนักแสดง 4 คู่จิ้นสุดฮอตอย่างไบรท์-วิน, สิงโต-คริส, เต-นิว และออฟ-กันมาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิด และหลังจากจัดที่โตเกียวแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีคิวไปจัดแสดงต่อที่ฟุกุโอกะ, เซนได, โอซาก้า และนาโกย่าด้วย

พอเราแอบเลียบๆ เคียงๆ ถามว่าคนญี่ปุ่นติดใจอะไรเสื้อผ้าขนาดนั้น มิซาโตะก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมา

“คนญี่ปุ่นสนใจเรื่องเสื้อผ้ารวมไปถึงเบื้องหลังการทำอุปกรณ์การแสดงต่างๆ มากค่ะ ตัวอย่างเช่นชุดที่วง Nogizaka46 และ Perfume ใส่ก็เคยถูกนำมาจัดนิทรรศการหรือทำหนังสือภาพออกมาขายเพราะแฟนๆ อยากรู้ว่าด้านหลังของชุดเป็นยังไง อยากดูของจริงใกล้ๆ แต่ละชุดที่ดูผ่านๆ เหมือนจะคล้ายกันจริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันนิดหน่อยซึ่งคนญี่ปุ่นอยากจะค่อยๆ สำรวจดูรายละเอียดเหล่านั้น อีกทั้งการได้เห็นชุดที่ศิลปินที่เคยใส่จริงใกล้ๆ มันน่าประทับใจมากค่ะ” สาวขี้อายผู้ไม่ยอมให้เราถ่ายรูปอธิบายด้วยความสดใส

ความว้าวของละครวายไทย

รู้ที่มาและระดับความฮิตของละครวายไทยไปแล้ว อยากรู้ไหมว่าคนญี่ปุ่นคิดว่าละครวายไทยดีตรงไหน เราขอให้มิซาโตะเป็นตัวแทนติ่งแดนปลาดิบช่วยวิเคราะห์ 

“โดยส่วนตัวแล้วฉันมองว่าส่วนมากละครวายญี่ปุ่นยังยึดติดกับการเน้นว่า นี่คือ ‘ความรักของผู้ชาย 2 คน’ ในขณะที่การ์ตูนวายของญี่ปุ่นเล่าเรื่องราวความรักของพวกเขาอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ได้พยายามขายว่านี่คือผู้ชายกับผู้ชายนะ 

“ละครวายไทยเองมีความเป็นธรรมชาติแบบการ์ตูนญี่ปุ่นค่ะ นั่นคือละครสนุกเพราะเรื่องราวความรักของพวกเขาสนุก ตัวในละครในเรื่องมีแต่คนดี ดูอบอุ่น ตอนแรกอาจจะร้ายบ้าง แต่สุดท้ายจบสวย พระรองต่างๆ ก็มีความสุขในตอนจบ ถ้าเป็นละครญี่ปุ่นพวกพระรองไม่มีได้แฮปปี้เอนดิ้งกับเขาหรอกค่ะ (หัวเราะ)

“อีกเรื่องคือคนไทยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งแตกต่างจากละครญี่ปุ่น คนไทยดูสนิทกับครอบครัวมาก เป็นจุดที่รู้สึกว่าดีจังเลย ดูแล้วรู้สึกอบอุ่น และคนไทยดูสนิทกับเพื่อนร่วมงานแบบเป็นเพื่อนกันจริงๆ ด้วย นี่ก็แตกต่างกับละครญี่ปุ่นที่ไม่ได้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ตรงนี้ ในขณะที่ละครเล่าเรื่องราวความรัก คนไทยก็ใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบตัวด้วย

“สุดท้ายคือฉากกุ๊กกิ๊กเยอะ ขอบคุณมากๆ ที่พยายามทำให้แฟนๆ ขนาดนี้ แถมนักแสดงไทยใจดีกับแฟนคลับมากๆ ตอบข้อความทางทวิตเตอร์ ตอนทางเราสัมภาษณ์ก็บอกว่าชอบญี่ปุ่น อยากไปญี่ปุ่น แฟนคลับญี่ปุ่นน่ารัก คนญี่ปุ่นดีใจมากๆ ค่ะที่ใส่ใจกันขนาดนี้”

หลังจากฟินเต็มอิ่มกับละครไทย ก่อนจากกันวันนี้มิซาโตะมีเพียงเรื่องเดียวที่อยากฝากไปถึงผู้จัดละครในไทย

“ขอโทษด้วยนะคะที่เอาความต้องการส่วนตัวมาพูด ตอนนี้มีละครวายเด็กนักเรียนเยอะแล้ว ฝากบอกผู้จัดชาวไทยหน่อยว่าอยากดูละครวายของคนวัยทำงานบ้างค่ะ คนรอชมละครวายในวัยลุงก็มีนะคะ” เธอหัวเราะทิ้งท้าย

AUTHOR