แม้จะเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ท่ามกลางความวุ่นวายจากโรคระบาด แต่เชื่อว่าชื่อของห้องสมุด Nakanoshima Children’s Book Forest น่าจะเป็นที่คุ้นหูของหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของแฟนคลับของสถาปนิกชื่อดังอย่าง Tadao Ando ผู้สร้างอาคารสวยเก๋ริมแม่น้ำในจังหวัดโอซาก้าแห่งนี้ และเนรมิตพื้นที่ 800 ตารางเมตรให้เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถเพลิดเพลินไปกับโลกของการอ่านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อันโดะบอกว่าจุดประสงค์หลักในการสร้างที่นี่ขึ้นมาคือเพื่อขัดเกลาการรับรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็กๆ ซึ่งจะโตมาเป็นผู้พัฒนาญี่ปุ่นในอนาคต เพราะแม้ทุกวันนี้เราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายด้วยสมาร์ตโฟน แต่สำหรับเขาแล้วการอ่านหนังสือคืออาหารบำรุงหัวใจ
แต่ตึกสวยอย่างเดียวอาจจะยังไม่สามารถจูงใจให้เด็กๆ รักการอ่านได้ ที่นี่จึงฉีกทุกกฎความเป็นห้องสมุด นั่นคือวิ่งได้! คุยได้! ไม่มีการยืม-คืน! วันนี้เราจึงขอให้ Chiharu Maekawa ผู้อำนวยการห้องสมุดผู้ใจดีพาเราไปสำรวจกลยุทธ์สุดสร้างสรรค์ที่ซ่อนตัวอยู่ในความเท่ของป่าหนังสือใจกลางเมือง
คนดังออกแบบก็ใช่ เข้าฟรีก็ช่วย แต่อะไรอีกนะที่ทำให้คนแย่งจองคิวเข้ามาใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้จนคิวเต็มภายใน 10 นาทีแรกที่เปิดให้จองทุกรอบ
ห้องสมุดสุดสวย
โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่ออันโดะ สถาปนิกคนดังนำไอเดียไปเสนอทางจังหวัดโอซาก้าเพื่อขอใช้พื้นที่ตรงนี้สร้างห้องสมุด เมื่อได้รับไฟเขียว เขาจึงออกแบบและออกเงินของตัวเองสร้างอาคารคอนกรีตสุดเท่ขึ้นมาและใช้คอนเนกชั่นที่มี (อย่างกว้างขวาง) ขอรับบริจาคจากฝั่งเอกชนและขายสินค้าที่ระลึกสุดเท่เพื่อนำเงินมาดำเนินการต่อ
โลเคชั่นที่ได้มาถือว่าดีเยี่ยม ที่นี่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย สวนกุหลาบก็มี แถมอยู่ในเขตสวนสาธารณะอีก ความรื่นรมย์เริ่มต้นตั้งแต่เดินมาแถวนี้แล้ว
เมื่อเดินมาถึงอาคารห้องสมุด 3 ชั้น เราจะได้พบกับประติมากรรมแอปเปิลเขียวสดใสลูกยักษ์ตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Youth บทกวีของกวีชาวอเมริกัน Samuel Ullman ส่วนด้านในอาคาร ผนังทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยชั้นหนังสือแน่นเอี้ยด มีห้องคอนกรีตปูนเปลือยโค้งๆ เท่ๆ ที่ให้เด็กๆ นั่งพักพร้อมเปิดวิดีโอแนะนำหนังสือสนุกๆ ให้ชม (คนทำวิดีโอนี้เป็นถึงมืออาชีพที่ดีไซน์แสง สี เสียงให้คอนเสิร์ตวง Perfume และงาน Tokyo Olympics มาแล้ว) ดีไซน์โค้งที่เห็นในอาคารนี้ตั้งใจสื่อถึงแม่น้ำที่อยู่ด้านนอก แม้แต่การวางไฟก็โค้งตามไปด้วย แถมมีมุมที่ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นแล้วยังอยากฝังตัวเข้าไปขลุกอ่านหนังสือมากมาย เช่น ที่นั่งซึ่งล้อมรอบด้วยชั้นหนังสือและเก้าอี้ที่ยุบตัวเข้าไปในชั้น
“ความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ และชั้นหนังสือต่างๆ ตั้งใจทำมาให้เหมาะกับเด็กโดยเฉพาะ มุมฮิตของเด็กๆ คือพื้นที่ใต้บันไดเป็นขั้นๆ มีเบาะเล็กๆ ให้นั่งและมีหนังสือแอบซ่อนในลิ้นชัก อีกที่คือบริเวณขอบบันไดที่มีชั้นหนังสือ” จิฮารุเริ่มอธิบายพลางชี้ให้เราดูเฟอร์นิเจอร์ตามจุดต่างๆ รวมถึงหนังสือที่อยู่บนชั้นสูงๆ ซึ่งเธอบอกว่าไม่ได้เอามาวางให้เต็มเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่ถือเป็นการจัดแสดงหนังสือที่ห้องสมุดมีอย่างน่าสนใจ
“ถ้าอยากอ่านก็สามารถหยิบอ่านได้ค่ะ เพราะมีวางเรียงไว้ให้แล้วที่ชั้นล่าง” ผู้อำนวยการยืนยัน
จุดเด่นของที่นี่อีกอย่างคือการใช้แสงธรรมชาติและช่องว่าง จริงๆ แล้วห้องสมุดไม่จำเป็นต้องมีช่องว่างเล็กๆ ระหว่างชั้นหนังสือก็ได้ แต่อันโดะอยากให้เด็กๆ ได้เห็นความงดงามของธรรมชาติด้านนอกที่มีทั้งแม่น้ำและสวนสาธารณะระหว่างเดินเลือกหาหนังสือ จึงแอบแทรกช่องเป็นระยะ ไปจนถึงบริเวณที่นั่งอ่านที่แอบมีช่องส่องธรรมชาติเช่นกัน ส่วนมุมฝั่งถนนก็ไม่น้อยหน้าวิวแม่น้ำเพราะมีต้นซากุระเรียงรายชวนเพลิดเพลินไม่แพ้เนื้อหาในหนังสือเลย
“ถ้าเป็นเด็กๆ มานั่ง เงยหน้ามาจะเจอวิวสวยในระดับสายตาพอดีเลยค่ะ แต่ผู้ใหญ่อาจจะต้องก้มมาดูนิดนึงนะคะ” จิฮารุอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ
ห้องสมุดที่ไม่ใช่ห้องสมุด
สถานที่ที่มีหนังสือจำนวนมากให้เข้าไปนั่งอ่านฟรี = ห้องสมุด
คำนิยามที่ทึกทักเอาเองนั้นทำให้เราเผลอเรียกที่นี่ว่าห้องสมุดไปหลายครั้ง จนในที่สุดจิฮารุผู้คร่ำหวอดในวงการห้องสมุดมานับสิบปี เป็นผู้อำนวยการและหัวหน้าบรรณารักษ์ของห้องสมุดมาหลายแห่งจึงต้องแจกแจงให้เราฟังว่า
“ที่นี่ไม่ใช่ห้องสมุดค่ะ”
เธอบอกว่าอันที่จริง ที่นี่คือ ‘อาคารส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม’ เพราะถ้าจะใช้คำว่าห้องสมุด รูปแบบการบริหาร การจัดวาง และการเรียงหนังสือจะต้องทำตามแบบแผนที่กำหนดไว้ แต่ที่นี่เป็นอิสระจากกฎตายตัวเหล่านั้น เช่น พวกเขาแบ่งหมวดหมู่หนังสือที่มีทั้งหมดประมาณ 18,000 เล่มออกเป็น 12 ประเภทแสนเฟี้ยวฟ้าวอย่างหมวดสนุกไปกับธรรมชาติ หมวดหนังสือสำหรับคนรักสัตว์ หมวดหนังสือสำหรับผู้สนใจอนาคต ฯลฯ
นอกจากนี้ ที่นี่ยังไม่มีเคาน์เตอร์ยืม-คืน และสามารถวิ่งเล่นและพูดคุยกันได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งข้อหลังนี้ดีมาก เพราะมันทำให้เราได้เห็นภาพน่าประทับใจที่พี่สาวหยิบหนังสือนิทานมาอ่านให้น้องฟังอย่างตั้งใจ
“ที่นี่มีความยืดหยุ่นในการจัดการมากกว่า สตาฟสามารถออกความเห็นในการทำงานและการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงหนังสือได้มากขึ้นอย่างเต็มที่ ถ้ามีเคาน์เตอร์กั้น เจ้าหน้าที่กับเด็กๆ จะรู้สึกเหมือนอยู่คนละฝั่ง มีความห่างเหิน แต่มาที่นี่เด็กๆ กล้าพูดคุยและสอบถามพี่ๆ เจ้าหน้าที่ได้อย่างใกล้ชิดค่ะ”
คุยกันไปได้สักพัก โชคดีที่เขาจัดกิจกรรมอ่านนิทานภาพร่วมกันพอดี เราเลยได้โอกาสส่องความกระตือรือร้นของเด็กๆ เมื่อเสียงตามสายประกาศให้คนที่สนใจมารวมตัวกันที่โถงบันได เด็กๆ และผู้ปกครองต่างทยอยนั่งบนขั้นที่ชอบ ในชั้นที่ใช่ แล้วพี่สาวเจ้าหน้าที่ผู้อารีสองคนก็นำหนังสือนิทานที่เลือกไว้มาอ่านให้เด็กๆ ฟัง พลางเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมกับนิทานเรื่องนั้นด้วย นอกจากนี้ เมื่อจบอีเวนต์เด็กๆ ยังต่อคิวรับบัตรสะสมแต้มการอ่าน ซึ่งใครสะสมครบจะได้รับของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ กลับบ้าน การได้เห็นเด็กๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีทำให้ใจฟูอย่างประหลาด ต่อให้เด็กเล็กๆ ไม่ถึงกับมีความทรงจำดีๆ กับการอ่านหนังสือ แต่อย่างน้อยวันนี้เขาก็รู้สึกสนุกเมื่อมาห้องสมุด ต่างจากภาพจำในวัยเด็กของเราที่ห้องสมุดคือที่ปั่นรายงานไม่ก็ที่ตากแอร์
“ไม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมก็สะสมตัวปั๊มได้ค่ะ เวลาเด็กๆ อ่านหนังสือเล่มไหนจบพวกเขาสามารถนำไปอวดพี่สาวแล้วขอตัวปั๊มได้เลย ถ้าแผ่นเดิมเต็มแล้วจะได้รับแผ่นใหม่ที่ต้องอ่านเยอะกว่าเดิมถึงจะได้ของรางวัล เพิ่มความยากให้เด็กๆ ค่ะ บางคนเป็นขาประจำของที่นี่เลย อีเวนต์ของที่นี่ไม่ได้เน้นบังคับให้เด็กๆ มาอ่านหนังสือโดยตรง แต่เป็นการสร้างโอกาสให้ได้เจอ ได้ซึมซับหนังสือไปเองทีละนิด
“จุดเด่นของที่นี่คงจะเป็นการดึงเสน่ห์ของคน หนังสือ และสถานที่ออกมา พอรู้สึกว่ามาที่นี่แล้วสนุกก็จะอยากมากันอีกค่ะ”
ห้องสมุดสำหรับเด็กที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้ใหญ่
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Nakanoshima Children’s Book Forest แตกต่างจากห้องสมุดสำหรับเด็กอื่นๆ คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้เหมือนผู้ใหญ่
โอเค โต๊ะ เก้าอี้อาจจะตั้งใจทำมาเพื่อน้องๆ แต่หนังสือที่นี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือเด็กเท่านั้น แต่มีหนังสือหลากหลายมากทั้งเชิงเนื้อหาและรูปแบบที่เผลอๆ ผู้ปกครองจะอ่านเพลินกว่าคุณลูก นอกจากนิทานภาพทั่วไป พวกเขายังมีหนังสือสารานุกรม หนังสืออาร์ต หนังสือสอนทำอาหาร โฟโต้บุ๊ก การ์ตูน นิยาย ฯลฯ และมีหลายภาษาด้วย นอกจากนี้ยังเลือกจัดวางหนังสือให้เข้ากับสถานที่ เช่น หนังสือที่อยู่ใกล้ห้องให้นมจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่และเด็ก
ที่น่าประหลาดใจคือ ที่นี่มีห้องให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับความตายด้วย
“ห้องหนังสือหมวดที่ 11 ซึ่งเกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างอาคารที่เป็นทรงกลม เล่าเรื่องราวครบวงจรชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบ เรื่องความตายไม่ใช่เรื่องไกลตัวและยากเกินกว่าที่เด็กจะเข้าใจ เพราะหลายคนเคยพบประสบการณ์นั้นแล้วจากการสูญเสียคนใกล้ตัว เช่น ปู่ย่าตายายหรือสัตว์เลี้ยงที่บ้าน จึงจำเป็นต้องให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้อย่างเข้าใจและไม่หวาดกลัว”
นอกจากเนื้อหา วิธีการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ก็สำคัญ Nakanoshima Children’s Book Forest เลือกใช้ประโยชน์จากข้อดีของความเป็นเด็ก ซึ่งคือความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีที่สิ้นสุด
“เจ้าหน้าที่ที่นี่จะแบ่งกันดูแลหนังสือแต่ละโซนค่ะ ถ้าเด็กๆ อยากหาหนังสือเล่มไหนก็เดินเข้าไปถามพี่ๆ ได้เลย แต่พี่สาวจะไม่พาไปหยิบตรงๆ นะคะ จะใช้วิธีบอกกว้างๆ ว่าน่าจะอยู่แถวๆ นี้น้า ลองหาดูสิ เพราะอยากเปิดโอกาสให้เด็กได้เจอเล่มอื่นที่น่าสนใจด้วย
“ถ้าลองดูดีๆ จะเห็นว่าหนังสือแต่ละเล่มดูไม่น่ามาอยู่ด้วยกันแต่เรานำมาไว้ด้วยกัน เช่น โซนประวัติศาสตร์ เรามีทั้งหนังสือแบบตัวหนังสือล้วนๆ เล่าเรื่องจริงจังวางอยู่ข้างๆ การ์ตูนโคนันเวอร์ชั่นเล่าประวัติศาสตร์ หลักการคือเราเลือกวางหนังสือโดยดูความเกี่ยวข้องกัน ถ้าชอบเรื่องนี้ก็น่าจะสนใจเล่มนั้นด้วย บางครั้งคนก็งงว่าทำไมเอาเล่มนี้มาวางตรงนี้ ซึ่งเวลาเด็กๆ สงสัยก็จะมาถามพี่ๆ ว่าทำไมเอามาวางตรงนี้ หรือเวลาหยิบหนังสือยากๆ ที่ไม่เข้าใจ เขาก็จะถามว่ามันคืออะไร การไม่มีเคาน์เตอร์มันดีอย่างนี้เองค่ะ เด็กๆ อยากรู้อะไรก็สามารถถามได้เลย
“ชื่อสถานที่ของเราใช้คำว่าเด็กก็จริง แต่มีหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านสนุกมากมาย นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ทรีตเด็กเป็นเด็ก พวกเขามีโอกาสและอิสระในการสนุกไปกับหนังสือสำหรับผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน เราไม่อยากจำกัดให้เด็กอ่านแต่หนังสือภาพเท่านั้น ถ้าเขาเห็นว่าหนังสือที่วางข้างๆ กันน่าสนใจก็หยิบขึ้นมาดูได้เลย”
จิฮารุซึ่งรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เชื่อว่าหนังสือมีคุณค่าที่การอ่านไฟล์ดิจิทัลทดแทนไม่ได้ ทั้งสัมผัสจากกระดาษ การรับรู้น้ำหนักของหนังสือในมือซึ่งแต่ละเล่มไม่เท่ากัน ที่สำคัญ มันยังเป็นสิ่งที่พาผู้ใหญ่ย้อนกลับไปอดีตได้ด้วย
“ฉันผูกพันกับหนังสือมากเพราะได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากการอ่านค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำ การใช้ชีวิต เวลาเศร้าก็อ่านหนังสือ หนังสือเล่มเดิมอ่านตอนเด็กกับตอนโตก็รู้สึกไม่เหมือนกัน ราวกับว่าหนังสือพาเรากลับไปยังอดีตเลยค่ะ ผู้ใหญ่ที่มาที่นี่ก็เป็นแบบนั้นเยอะ ได้เจอหนังสือที่ตัวเองเคยอ่านตอนเด็กๆ โดยบังเอิญก็รู้สึกดีใจและหวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต”
การทำหน้าที่ผู้อำนวยการที่ Nakanoshima Children’s Book Forest ในวันนี้จึงเป็นเหมือนการส่งต่อความรู้สึกและประสบการณ์ดีๆ ระหว่างเธอกับหนังสือให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป ซึ่งจิฮารุบอกว่า การที่เด็กได้มาสัมผัสหนังสือเยอะๆ และค้นพบสิ่งที่ตนชอบอย่างเป็นธรรมชาตินี่แหละคือหัวใจสำคัญ