คุยกับ plant hunter หนุ่มญี่ปุ่นผู้ออกผจญภัยไปตามหาต้นไม้หายากจากทั่วโลก

plant hunter

“I’m genius. No problem”

Seijun Nishihata หยอดมุกแล้วหัวเราะอย่างเป็นกันเอง โดยที่มือก็เขียนชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นไม้อันแสนยาวเหยียดไปด้วยตามคำร้องขอของผู้สัมภาษณ์ซึ่งไม่เข้าใจภาษาละตินที่เขาร่ายมาแม้แต่น้อย 

ความเป็นมิตรที่ได้รับตั้งแต่ตอนต้นของบทสนทนาทำให้เราคลายความเกร็งไปได้เยอะ 

ต้องเกร็งสิ ก็เซจุน นิชิฮาตะคือ plant hunter ผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อสรรหาพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เขาเดินทางค้นหาต้นไม้มากว่า 200 ทริปใน 40 ประเทศ เป็นเซเลบวงการต้นไม้ที่คิวทองมากแม้ช่วงโควิด-19 จนเราต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปีในการขอคิวสัมภาษณ์

plant hunter

THE PLANT HUNTER กับงานที่ไม่จบแค่การตามหาต้นไม้

ครอบครัวของเซจุนทำธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้มานานกว่า 150 ปี แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเขาได้เปรียบคนอื่น เพราะเขาเพิ่งมาสนใจงานนี้ตอนอายุ 21 และเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ อย่าว่าแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นไม้ สมัยก่อนเขายังแยกพันธุ์ต้นซากุระไม่ออกด้วยซ้ำ

ปัจจุบันเขาอายุ 40 แล้ว พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว และเขียนชื่อต้นไม้ภาษาลาตินคล่องปรื๋อ ความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ

เขาทำงานเกี่ยวกับต้นไม้มาหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการจัดสวน จัดอีเวนต์ จัดงานแสดงศิลปะทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ นอกจากจะเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์และ chief consultant ของโปรเจกต์เหล่านั้น เขายังรับบท green director ให้พิพิธภัณฑ์ Ube Tokiwa, เป็นที่ปรึกษาของ Kyushu National Museum, เป็น ambassador ให้เมืองคาวานิชิ, เขียนหนังสือมาแล้วทั้งหมด 4 เล่ม และแม้แต่งานนายแบบ fleece jacket ของ UNIQLO เขาก็ทำมาแล้ว

plant hunter
Gardens by the Bay ‘Blossom Beats’ ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc
plant hunter
KOBE INTERNATIONAL HOUSE ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc
plant hunter
Louis Vuitton Omotesando Store ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

ส่วนตอนนี้เขามีโปรเจกต์นับสิบในมือทั้งในและนอกประเทศ ทั้งร่วมงานกับ Gardens by the Bay ที่สิงคโปร์, ทำงานศิลปะ installation ที่วัด Kiyomizu-dera (ที่คนไทยเรียกว่าวัดน้ำใส), จัดสวนให้ร้าน goop TOKYO pop-up & cafe ของดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Gwyneth Paltrow, ทำงานกับโรงแรม Snoopy หรือ Peanuts Hotel ในโกเบ!, เขาเป็นเพื่อนกับบรม พิจารณ์จิตร ทายาทเครือเซนทรัล และเคยจัดสวนช่วงคริสต์มาสให้ Central Embassy มาแล้วด้วย

อ้อ! มากกว่านั้น เขายังได้ร่วมงานกับแบรนด์และองค์กรดังตั้งแต่ UK Charity Centrepoint, Sony Marketing, Toyota, ANA, teamLab, Tokyo Midtown Illumination ไปจนถึง Louis Vuitton

เอาเป็นว่าทำงานเยอะจนคนที่ไม่สนใจต้นไม้อย่างเราเห็นผลงานเขาบ่อยจนอยากตามหาตัวมาคุยด้วยนั่นแหละ!

plant hunter

ทำไมคุณถึงใช้ชื่อว่า plant hunter

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องบังเอิญนะ มันมาจากชื่อเว็บสมัยก่อนที่ผมไหว้วานให้เพื่อนทำให้ เอาไว้โพสต์เนื้อหาเรื่องงานที่ทำ ซึ่งเพื่อนคนนั้นเป็นคนตั้งชื่อเว็บให้ ตอนนี้ผมไม่ได้ทำเว็บนั้นแล้วแต่ทุกคนในญี่ปุ่นรู้จักผมในฐานะ plant hunter ไปแล้ว ยิ่งมีช่อง NHK มาทำสารคดีเลยยิ่งเป็นการตอกย้ำชื่อนี้ 

นิยามคำว่า plant hunter ให้ฟังหน่อย

คำว่า plant hunter แบบเก่าแก่เมื่อ 300-400 ปีก่อนคือคนที่ออกตามล่าหาพืชพรรณไปให้ราชวงศ์หรือแขกวีไอพีในยุโรป plant hunter สำหรับผมก็คือคนที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อตามหาพืชต่างๆ ให้คนเหล่านั้นนั่นแหละ สมัยก่อนผมเองก็เคยหาต้นไม้ให้ราชวงศ์ แต่ปัจจุบันมีโอกาสได้ใช้ต้นไม้ทำโปรเจกต์ที่หลากหลายมากขึ้น พูดง่ายๆ คือถ้าใครจะทำอะไรที่ต้องใช้ต้นไม้ ผมก็เป็นคนหามาให้

ชีวิตในฐานะ plant hunter 20 ปีที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง

ช่วง 10 ปีแรกเป้าหมายของผมคือค้นหาแหล่งต้นไม้และพันธุ์พืชสำหรับโปรเจกต์ต่างๆ และหาวิธีการอิมพอร์ตไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่ 10 ปีหลังงานของผมเน้นไปที่โปรเจกต์มากกว่าเพราะมีลูกค้าและพาร์ตเนอร์ธุรกิจทั่วโลก เป้าหมายหลักในการเดินทางไปต่างประเทศขยายขอบเขตจากการไปหาต้นไม้สู่การไปดูไซต์งานสำหรับการทำ landscape design การไปร่วมเสวนา และการทำวิจัยด้วย

งานที่คุณทำหลากหลายมาก เหมือนจะเป็น landscape design แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ ขอบเขตงานคืออะไรและมีวิธีคิดงานแต่ละโปรเจกต์ยังไงบ้าง

เวลาคุยงานกับลูกค้าผมจะฟังความต้องการของเขาก่อน ทำความเข้าใจคอนเซปต์ หาข้อมูลเรื่องไซต์ต่างๆ เช่น ความเป็นมาของพื้นที่นั้นในอดีตและนำประสบการณ์จากทั่วโลกมาผสมผสาน ผมไม่ใช่คนทำงานรูทีน ถ้าเป็น landscape designer เขาจะเน้นเรื่องดีไซน์ ถ้าเป็นคนปลูกต้นไม้ก็จะคิดว่าจะปลูกต้นอะไรและปลูกยังไง แต่อาชีพของผมไม่มีหมวดหมู่ชัดเจนผมเลยทำงานตามสไตล์ของตัวเอง เพราะการทำงานกับต้นไม้คือวิธีสื่อสารกับธรรมชาติและผู้คน บางครั้งผมทำสวน ออกแบบ ก่อสร้าง ให้คำปรึกษา ทั้งหมดนี้คืองานแบบเดียวกัน สำหรับผมมันคือการคุยกับธรรมชาติ การคุยกับมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาติ ผมเป็นแค่คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับพืช

plant hunter
Argentina ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

THE COMMUNICATOR กับการเดินทางตามหาพืชที่ทำให้ได้เจอผู้คน

จากคำบอกเล่าของเขา plant hunter ผู้นี้เดินทางบุกป่าฝ่าดงมาแล้วกว่า 200 ทริปใน 40 ประเทศ เฉลี่ยแล้วเขาเดินทางเดือนละ 1-2 ครั้ง บางครั้งต้องอยู่ยาวเป็นเดือน แน่นอนว่าภาษาอังกฤษไม่สามารถใช้สื่อสารได้ทุกประเทศ ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยพกล่ามไปด้วย เซจุนเป็นนักสื่อสารที่มีพรสวรรค์ สิ่งที่เขาใช้สื่อสารกับคนในท้องถิ่นมีเพียงภาษากายและภาษาละตินที่เป็นชื่อของต้นไม้

แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่ทำให้เขากระชับมิตรกับชาวบ้านได้ดีที่สุดกลับเป็น ‘กรรไกร’

เขาบอกว่า hana-basami คือกรรไกรมหัศจรรย์ที่ตัดได้ทุกอย่างทั้งต้นไม้และระยะห่างในความสัมพันธ์ มีแค่กรรไกรกับพาสปอร์ต นักล่าไฟแรงคนนี้ก็พร้อมออกเดินทาง

plant hunter
Socotra ©︎MIYAMOTO TOSHIAKI

เวลาเดินทาง คุณมักจะพกอะไรไปบ้าง

ส่วนมากก็เอาไปเท่าที่จำเป็น สิ่งที่สำคัญสุดคือกรรไกร hana-basami มันคือกรรไกรเหล็กงานฝีมือท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ใช้ทนมาก ผ่านไป 200 ปีก็ยังใช้ได้สบายๆ เห็นแบบนี้ใช้ตัดได้หมดทั้งกิ่งหนาและบาง ตัดของบอบบางเบาๆ อย่างเส้นด้ายได้ด้วย ผมรับประกันเลยว่านี่คือกรรไกรที่ดีที่สุดในโลก 

มันอาจจะต้องใช้เวลา 10 ปีถึงจะชินและใช้คล่อง แต่ถ้าใช้เป็นปุ๊บมันคือกรรไกรมหัศจรรย์ ผมเลยพกไปด้วยทุกที่ เวลาเจอผู้คนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักจัดสวนหรือดีไซเนอร์ ทุกคนจะตกใจมากที่มันทำได้ขนาดนั้น ตอนแรกพวกเขามักจะคิดว่าผมบ้า ‘oh this is crazy man.’ (หัวเราะ) เอากรรไกรอันเล็กจิ๋วมาทำทุกอย่าง แต่ก็กรรไกรนี่แหละครับที่ช่วยสร้างบทสนทนา ดังนั้นกรรไกรนี้จึงสำคัญมากทั้งในการทำงานและการสื่อสารกับผู้คน

แล้วของฝากล่ะ

ของฝากก็จำเป็น เราต้องทำงานหรือขอความช่วยเหลือจากคนในท้องที่ แม้จะคุยกันคนละภาษาแต่พอมีขนมเป็นสื่อกลางการสื่อสารก็ราบรื่น ชาวต่างชาติชอบขนมหวานแบบขนมญี่ปุ่นโบราณ ผมจะไม่ค่อยเอาเซมเบ้หรือของเค็มๆ ไปแต่ต้องเป็นของที่พวกเขาหากินไม่ได้ในประเทศนั้น ผมว่าทั้งกรรไกรและขนมคือการนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปแนะนำเพื่อส่งเสริมการสื่อสารและสร้างสัมพันธ์

Papua New Guinea ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc
Senegal ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

เรารู้ว่าน่าจะยากมาก แต่ช่วยเลือกทริปที่ประทับใจที่สุดมาเล่าให้ฟังหน่อย

มีเยอะมาก (หัวเราะ) ถ้าต้องเลือกมาที่เดียวคือประเทศเยเมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะ Socotra ทุกคนบอกว่าอันตรายมาก มีทั้งโจรสลัด สงครามกลางเมืองต่างๆ แต่เรื่องพวกนั้นหยุดผมไม่ได้ (หัวเราะ) 

ตอนเดินทางในเยเมน บรรยากาศเหมือนที่เราเห็นภาพในข่าวเลย มีรถโฟร์วีล ปืนบาซูก้า แต่บางครั้งสิ่งที่เป็นปัญหากวนใจที่สุดก็คือยุงตัวเล็กๆ นี่แหละ แต่เรื่องราวทั้งหมดนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่ดี จริงๆ แล้วชีวิตของคนในทะเลทรายก็น่าสนใจ เขามีวิถีชีวิตที่แตกต่างและน่าสนใจมาก เป็นอีกเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจกับผม 

ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตไปที่เกาะโซโคตราให้ได้

ผมได้ข่าวมาว่ามีครอบครัวหนึ่งบนเกาะโซโคตราตามล่าพืชท้องถิ่นที่หายากมากๆ เจอ แถมยังนำเมล็ดมาเพาะพันธุ์เพื่อนำกลับไปปลูกในป่าอีกครั้ง พอได้ยินเรื่องนี้ ผมประทับใจมากและอยากเจอพวกเขาให้ได้

แสดงว่าการได้เจอชาวบ้านสำคัญกว่าการได้เจอพืชสุดแรร์เหรอ 

ใช่ สำหรับผมการได้เจอผู้คนหลากหลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต่อให้ผมเจอพืชเองแต่ถ้าไม่มีคนท้องถิ่นให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ก็ลำบาก ต้องทำเรื่องขออนุญาตต่างๆ มากมาย

Socotra ©︎MIYAMOTO TOSHIAKI
Socotra ©︎MIYAMOTO TOSHIAKI

เคยมาเมืองไทยไหม

ผมเคยไปเมืองไทยประมาณ 20 ครั้ง ไทยมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีนะ มีพืชพื้นเมืองมากมาย รวมถึงพืชจากทั่วโลกด้วย ไทยมีพืชตระกูล ficus เยอะ เช่น ficus benjamina หรือ mangrove ที่อื่นไม่มีขายแต่ไปเมืองไทยเดินตลาดก็เจอ หาง่ายจนตกใจ

นอกจากนี้ก็มี octopus tree, pandunus และ cycas ซึ่งเป็นพืชเก่าแก่ยุคจูราสสิก จริงๆ cycas นั้นมีอยู่ทั่วโลกแต่ในไทยมีพันธุ์เฉพาะด้วยชื่อ cycas siamensis เวลาโตแล้วมีฟอร์มที่สวยและยูนีคมาก บางครั้งก็โตในหินเหมือนบอนไซธรรมชาติเลย ส่วน dracaena reflexa song of Siam ก็เป็นต้นไม้ไทยที่พิเศษ มีชื่อเสียงมาก ผมเป็นคนแรกในญี่ปุ่นที่เจอต้นนี้ในไทยแล้วส่งกลับญี่ปุ่นไป

ทำไมถึงยอมลำบากเดินทางไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ค่อนข้างอันตรายกับชีวิต

ตอนผมเริ่มทำงานนี้เมื่อ 20 ปีก่อน 99 เปอร์เซ็นต์ทุกคนทำงานเป็นรูทีนเหมือนกัน คือไปซื้อต้นไม้ที่ตลาดต้นไม้ จบ ผมไม่ชอบวิธีการทำงานแบบนี้ ผมอยากค้นหาเอง อยากเจอโลกใบใหม่ด้วยตัวเองเลยออกเดินทางไปยังภูเขา ในป่า หรือทะเลทราย

การเดินทางทำให้ผมได้เจอพืชที่ผมไม่รู้จักมาก่อน บางชนิดยูนีคมาก มันทำให้ผมมีแพสชั่น ผมเลยไม่สนใจเรื่องความเสี่ยงทางกายภาพในการเดินทาง ผมไปแถบตะวันออกกลาง ไปทะเลทราย ผมไปทุกที่ที่ผมสนใจเพื่อตามหาต้นไม้ การเดินทางไปทั่วโลกทำให้ผมได้ประสบการณ์ต่างๆ ได้เจอคนท้องถิ่น ได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นของล้ำค่าที่ทำให้ผมเข้าใจต้นไม้มากขึ้น เพราะต้นไม้กับทุกองค์ประกอบในชีวิตมีความเกี่ยวข้องกันทางวัฒนธรรมเสมอ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเดินทางไปทั่วโลก

Australia ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

THE CHANGEMAKER กับการปลูกฝังค่านิยมใหม่ในสังคม

ชื่อที่คนรู้จักเซจุนโดยบังเอิญคือ plant hunter แต่ตำแหน่งที่คนตั้งใจมอบให้คือ changemaker

เซจุนได้รับรางวัล changemaker จาก Nikkei Business Publications และ Cartier ในปี 2015 ในฐานะผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก จากเด็กหนุ่มวัย 21 ที่ไม่มีความรู้ใดๆ จนกลายเป็นไอดอลยืนหนึ่งในวงการต้นไม้และพืชพรรณ

วันนี้ความฝันของเขาไม่ใช่การค้นพบต้นไม้แปลกๆ อีกต่อไป แต่เป็นการยกระดับวงการต้นไม้ในญี่ปุ่น

Senegal ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

อะไรทำให้คุณอยากยกระดับวงการต้นไม้ 

เพราะคนส่วนใหญ่ในวงการต้นไม้ยังทำรายได้ไม่มากนักและเป็นอาชีพที่คนไม่เห็นคุณค่าสักเท่าไหร่ ถูกมองเป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่อาชีพที่คนชื่นชมอย่างหมอหรือทนาย ผมอยากเปลี่ยนค่านิยมนั้น

แต่คนชื่นชมคุณมากเลยนะทั้งในและต่างประเทศ

กรณีของผมจะเรียกว่าบังเอิญก็ได้นะ เมื่อ 10 ปีก่อนไม่มีคนทำงานอย่างที่ผมทำในปัจจุบัน พอผมเริ่มได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ มีสื่อใหญ่มาทำข่าว ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ อยู่ๆ มันก็บูมขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้นตอนนี้คนมองวงการนี้ดีขึ้นหรือยัง

ตอนนี้หลายคนก็เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอาชีพนี้แล้ว คนหนุ่มสาวเริ่มสนใจงานในวงการต้นไม้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องพยายามอยู่นะ แม้ผมจะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ในวงการก็ตาม

ที่เป็นห่วงคือคนหนุ่มสาวที่เห็นผมประสบความสำเร็จ ได้ออกสื่อต่างๆ แล้วอยากเป็นบ้าง ต้องถามตัวเองด้วยว่าหาเงินจากอาชีพนี้ได้เท่าไหร่ ด้วยความที่อาชีพนี้ไม่ต้องสอบใบอนุญาตอะไร บางคนแค่เดินทางไปนู่นมานี่ก็เรียกตัวเองว่าเป็น plant hunter แต่งานนี้มันโหดกว่านั้น ถ้าอยากทำอาชีพนี้จริงๆ ต้องเก่งพอที่จะทำเป็นงานที่ใช้เลี้ยงตัวเองจริงๆ

Australia ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

อย่างน้อยตอนนี้กระแสปลูกต้นไม้ก็มาแรงเพราะการกักตัวอยู่บ้าน วงการต้นไม้ที่ญี่ปุ่นเองก็น่าจะคึกคักขึ้นมาด้วยใช่ไหม

ผมเห็นบทความเรื่อง green interior เริ่มป๊อปในญี่ปุ่นบ้างเหมือนกัน คนต้องอยู่บ้านนานๆ เขาคงต้องการความสดชื่น แต่ผมว่าในญี่ปุ่นมันเป็นเหมือนแฟชั่นมากกว่า แต่คนไทยมีเซนส์เกี่ยวกับเรื่องความสวยงามของต้นไม้ มีความรักและอยากดูแล จริงๆ เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของเอเชียที่มีความผูกพันกับต้นไม้นะ

คุณชอบอะไรมากที่สุดในงาน

ทุกอย่าง (หัวเราะ) ผมชอบและสนุกกับงานทุกวัน แน่นอนว่ามีหงุดหงิดบ้างเพราะมันคืองานและธุรกิจ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว การใช้ชีวิตอยู่กับพืชคือชีวิตของผม งานเป็นทุกอย่างสำหรับผม

Yemen ©︎MIYAMOTO TOSHIAKI

คำถามสุดท้าย ทำไมคุณถึงชอบต้นไม้

เพราะต้นไม้เป็นทุกอย่างของผม ถ้าไม่มีต้นไม้ชีวิตผมต้องลำบากมากและไม่ใช่ชีวิตแบบนี้แน่นอน (หัวเราะ) ต้นไม้ให้พลังชีวิต ให้โอกาสผมได้รู้จักคนใหม่ๆ มากมาย ให้โอกาสทางธุรกิจ เป็นอาหารสำหรับพรุ่งนี้ ทำให้ผมมีความสุข บางครั้งก็ทำให้ผมลำบากนะ (หัวเราะ) แต่ก็นั่นแหละ ต้นไม้ให้ผมทุกอย่าง มันคือชีวิตของผม

ที่พูดมานี่ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นพระเอกหล่อๆ รักต้นไม้ทุกต้นบนโลกอะไรแบบนั้นนะ มันก็เหมือนกับความสัมพันธ์ของมนุษย์นั่นแหละ มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ผมก็มีต้นไม้ที่ชอบและไม่ชอบ มีโมโห มีไม่พอใจ มีความสุข การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับต้นไม้มันไม่ใช่ความสุขร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความรักที่แท้จริงก็เป็นแบบนี้แหละ 

no plant, no life.

plant hunter
Senegal ©︎SORA BOTANICAL GARDEN Project. Inc

ออกผจญภัยตามเซจุนและดูผลงานอื่นๆ ของเขาได้ที่ from-sora.com หรือแอ็กเคานต์อินสตาแกรม seijun nishihata

AUTHOR