เมื่อผู้หญิงจับมือกันทำลายค่านิยมคร่ำครึใน Mine ซีรีส์ที่ไม่สะท้อนแต่นำสังคม

หากว่ากันตามพล็อตเรื่อง Mine คือซีรีส์เกาหลีที่บอกเล่าเรื่องราวของหลายชีวิตที่เข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมกลางคฤหาสน์ฮโยวอน ตระกูลมหาเศรษฐีระดับประเทศ จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่ (รวมถึงเรา) จะคาดเดาไปว่าเรื่องราวคงวนเวียนอยู่กับการช่วงชิงบัลลังก์ผู้สืบทอดธุรกิจคนต่อไป และการไขคดีฆาตกรรมให้ลุล่วง

แต่เมื่อซีรีส์เริ่มออนแอร์ไปสักระยะ เราจึงได้รู้ว่า Mine คือซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ผู้หญิง’ และการทวงถามหาสิ่งที่ควรจะเป็นของพวกเธอกลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ ศักดิ์ศรี หรือโอกาสในหน้าที่การงาน โดยมีสองตัวละครหญิง (ที่ไม่ได้ชิงดีชิงเด่น หรือชิงรักหักสวาทกันแต่อย่างใด) อย่างสะใภ้ใหญ่–จองซอฮยอน (แสดงโดย คิมซอฮยอง) และสะใภ้เล็ก–ซอฮีซู (แสดงโดย อีโบยอง) เป็นผู้ดำเนินเรื่อง

mine

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของผู้กำกับหญิง และปลายปากกาของนักเขียนบทหญิง ที่ต่างก็มีผลงานเกี่ยวกับแง่มุมที่น่าสนใจของผู้หญิงมาแล้วหลายเรื่องอย่างผู้กำกับอีนาจอง (จากเรื่อง Oh My Venus และ Fight for My Way) และนักเขียนแพคมีคยอง (จากเรื่อง Strong Woman Do Bong Soon และ The Lady in Dignity

ซึ่งการร่วมงานกันของทั้งคู่ในครั้งนี้เป็นการท้าทายค่านิยม ‘ผู้กำกับชาย-นักเขียนบทหญิง’ ที่มีมานาน ถึงกับมีสถิติว่าในแวดวงโทรทัศน์เกาหลี มีนักเขียนบทกว่า 83 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง และผู้กำกับ-ผู้ช่วยผู้กำกับกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้ชาย

ผู้หญิงกับภาพแทน

ในแวดวงละครและซีรีส์ เรามักได้ยินคำว่า ‘ละครสะท้อนสังคม’

วิธีการสะท้อนสังคมในแบบของ Mine คือการบอกเล่าเรื่องราวปกติธรรมดาของสังคมเกาหลีออกมาอย่างแยบคาย เพราะผู้หญิงในเรื่องไม่ได้ตะโกนกู่ร้องว่านี่คือปัญหาในสังคมของฉัน แต่ด้วยสีหน้า ท่าทาง หรือคำพูดสั้นๆ ก็ทำให้เรารับรู้ได้ไม่ยากว่าสิ่งเหล่านั้นคือปัญหา

“คุณเคยสัญญากับผมว่าจะเลิกเป็นนักแสดงแล้วไง” ฮันจียงผู้เป็นสามีท้วงซอฮีซู อดีตนักแสดงสาวผู้มีความคิดจะหวนคืนวงการบันเทิง

“แล้วคุณรักษาสัญญาที่เคยให้กับฉันตอนแต่งงานได้หมดเหรอ” เธอย้อนเสียงเรียบ

เอาเข้าจริงด้วยฐานะของสะใภ้ตระกูลเศรษฐีระดับประเทศที่มีพร้อมทั้งคฤหาสน์ คนขับรถ คนสวน แม่บ้าน (ที่มีอยู่ร่วมสิบคน ส่วนพ่อบ้านนั้นมีแค่คนเดียว) ฮีซูผู้แต่งงานเข้ามาแทบไม่มีงานอะไรต้องรับผิดชอบด้วยซ้ำ ยิ่งเมื่อเทียบกับผู้หญิงเกาหลีคนอื่นๆ ที่มีภาระมากมายหลังแต่งงานมีครอบครัว ก็ต้องถือว่าชีวิตของเธอนั้นเป็นความฝันของใครหลายคน

แต่ในขณะเดียวกัน ฐานะของสะใภ้ตระกูลเศรษฐีที่ค้ำคออยู่นี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เธออึดอัดไม่น้อย แรงกดดันจากวงสังคมชั้นสูงรวมถึงสามีอย่างจียงทำให้เธอต้องลาออกมาเลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี และจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านอย่างพอเป็นพิธี เช่น เลือกซื้อภาพวาดจากแกลเลอรีมาประดับบ้าน หรือจัดตำแหน่งที่นั่งในงานดินเนอร์กลางสวนของครอบครัว

mine

มากไปกว่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังบอกเราว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสิ่งที่เราควรมุ่งหน้าผลิตไม่ใช่เพียงแค่ ‘ละครสะท้อนสังคม’ แต่คือ ‘ละครนำสังคม’ ต่างหาก 

ทิศทางของสังคมที่ Mine กำลังนำพาเราไป ไม่เพียงแต่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพของตัวเองทัดเทียมกับผู้ชาย แต่ยังโอบรับความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนความเป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นพี่-น้องของกันและกันในหมู่ผู้หญิงอย่างเข้มข้น

ผู้หญิงกับเพดานแก้ว

“บ้านนั้นมีหุ้นบริษัทเราอยู่เท่าไหร่ นี่แม่คงไม่ได้พยายามช่วยผลักดันพี่หรอกใช่ไหม” ฮันจินฮี ลูกสาวคนกลางของตระกูลตั้งคำถามต่อผู้เป็นแม่ที่เตรียมจัดงานหมั้นหมายให้กับหลานชาย โดยมีเป้าหมายแอบแฝงคือการล็อบบี้ตำแหน่งประธานบริษัทคนต่อไปให้กับฮันจินโฮ ลูกชายคนโตผู้แสนจะโหลยโท่ย

อันที่จริงตัวเต็งของตำแหน่งนี้คือลูกชายคนเล็กอย่างจียง ซึ่งมีผลงานน่าประทับใจมากกว่าในสายตาของบอร์ดบริหาร 

ส่วนอีกคนที่มีความสามารถไม่แพ้กันแต่กลับอยู่นอกสายตากรรมการมาโดยตลอดคือสะใภ้ใหญ่อย่างจองซอฮยอน ที่มีสายตาเฉียบขาด ไหวพริบเป็นเลิศ แต่กลับได้รับผิดชอบแค่เพียงแกลเลอรีศิลปะและงานจุกจิกภายในบ้าน แน่นอนว่าสาเหตุนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเพศกำเนิดของเธอที่เป็นผู้หญิง แถมยังเป็นลูกสาวจากบ้านอื่นเสียด้วย จึงทำให้ลำดับความสำคัญและคุณค่าของเธอยิ่งถูกกดให้ต่ำเตี้ยลงไปใหญ่

สถานการณ์ที่ไม่ว่าผู้หญิงจะเก่งกล้าสามารถแค่ไหนก็สู้ผู้ชายในระดับเดียวกันไม่ได้เช่นนี้เรียกว่า ‘เพดานแก้ว’ หรือ glass ceiling ขอบเขตสีใสที่ขัดขวางไม่ให้พวกเธอได้ทะยานต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น

รากของเพดานแก้วก็คือปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งหยั่งรากลึกในสังคมเอเชีย โดยเฉพาะสังคมการทำงานของเกาหลีใต้ที่ผู้หญิงโดยมากมักจะมีโอกาสการถูกว่าจ้างต่ำกว่า ทั้งยังได้รับเงินเดือนน้อยกว่าถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ นับว่าเป็นช่องว่างทางรายได้ (wage gap) ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 28 ประเทศ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 12.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จึงไม่แปลกเลยที่ในการประเมินเรื่องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างเพศชายและหญิง จากรายงาน Global Gender Gap Index โดย The World Economic Forum เมื่อปี 2018 เกาหลีใต้จะถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 124 จากทั้งหมด 149 ประเทศ และยังอยู่ในลำดับรั้งท้ายติดต่อกันมาร่วมทศวรรษ (ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 22)

ตัวเลขทั้งหมดนี้กำลังบอกเราว่า ซอฮยอนเป็นเพียงตัวแทนของผู้หญิงเกาหลีอีกหลายล้านคนที่ถูกกักขังเอาไว้ใต้เพดานแก้ว โดยที่พวกเธอไม่ได้โชคดีเกิดมาในฐานะที่ดีและมีพร้อมเหมือนกับสะใภ้ใหญ่ของตระกูลเศรษฐี จึงต้องอดทนกัดฟันสู้ต่อไปในตลาดแรงงานอันดุเดือด

ผู้หญิงกับเพศวิถี

อันที่จริงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและเพศกำเนิดไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เป็นอุปสรรคต่อซอฮยอน เพราะ ‘เพศวิถี’ ที่เธอปกปิดต่อสมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัวคือสิ่งที่เธอรู้ตัวดีว่าสุ่มเสี่ยงต่อคำครหามากมาย ไม่ว่าเธอจะตัดสินใจก้าวเข้าชิงตำแหน่งประธานหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เธอเองก็ต้องต่อสู้กับตัวเองมาอย่างเนิ่นนาน กว่าที่จะยอมรับและพูดออกมาได้ในที่สุด

“ฉันเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศค่ะ” ซอฮยอนเกริ่นด้วยน้ำเสียงราบเรียบเมื่อเปิดเผยกับสามีอย่างฮันจินโฮเป็นครั้งแรก “คนรักของฉัน คนที่ฉันลืมไม่ได้ เธอเป็นผู้หญิงค่ะ ขอโทษนะคะที่ไม่ได้บอกให้เร็วกว่านี้”

แม้จะแปลกใจปนตกใจ แต่จินโฮก็ไม่ได้โมโหอย่างที่คิด เขาเพียงซักถามว่าเธอเคยแอบคบซ้อนหรือไม่ (เพราะถ้าไม่ แปลว่าเธอเองก็ถือว่าเป็นคู่แต่งงานที่ซื่อสัตย์กว่าสามีผู้มีประวัติการนอกใจอันโชกโชนอย่างเขาอยู่หลายขุม) 

“ฉันอยากเปิดเผยอย่างกล้าหาญก่อนที่ฉันจะเริ่มต้นค่ะ” ซอฮยอนอธิบาย ก่อนจะประกาศด้วยน้ำเสียงหนักแน่นต่อหน้าจินโฮ ลูกชายคนโตของตระกูล “ฉันจะนั่งตำแหน่งประธานใหญ่ค่ะ” 

mine

ฉากการ come out ของซอฮยอนนับว่าเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของแวดวงซีรีส์เกาหลีที่น้อยคนนักจะให้ความสำคัญกับเพศหลากหลาย และยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่เมื่อพูดถึงฉากการเปิดเผยตัวตนของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อต่อสู้กับเพดานแก้วที่หนาหนักและกดทับผู้หญิงมาอย่างยาวนาน

แต่สิ่งที่สร้างความประทับใจให้คนดูอย่างเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้นประโยคนี้

“ความสามารถในการเป็นประธานเกี่ยวอะไรกับอัตลักษณ์ทางเพศของคุณกันล่ะ” จินโฮย้อนถามเมื่อซอฮยอนพยายามอธิบายว่าเธอต้องการประกาศเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศก่อนขึ้นรับตำแหน่ง แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีผิดหรือถูก การที่ซอฮยอนจะออกมาเปิดเผยหรือไม่ก็เป็นสิทธิของตัวเธอเองไม่ใช่ใครอื่น 

แต่ในทางกลับกัน การตัดสินใจของซอฮยอนก็สอนให้สามีอย่างจินโฮได้เรียนรู้เรื่องสำคัญ นั่นคือการยอมรับในความสามารถของตัวเอง อย่างที่เราได้เห็นเขาหันมารับหน้าที่ดูแลเรื่องจุกจิกภายในบ้านแทนภรรยาในช่วงท้ายของเรื่อง ซึ่งถึงแม้จะเป็นฉากเล็กๆ แต่ก็นับว่าเป็นก้าวใหญ่ที่ได้หักล้างค่านิยม ‘ภรรยาดูแลบ้าน-สามีทำงานหาเงิน’ ไปได้อย่างหมดจด

ผู้หญิงกับความบริสุทธิ์

ย้อนกลับไปครั้งแรกที่คนดูได้เห็นเรื่องราวในอดีต และรับทราบถึงอัตลักษณ์ทางเพศของซอฮยอน คือในตอนที่เธอเข้ารับคำปรึกษาจากแม่ชีเอ็มม่า แม่ชีสูงวัยผู้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวฮโยวอน

“หลับตาลง ผ่อนคลาย และลองคิดว่าหัวใจคือตู้เสื้อผ้า ค่อยๆ เปิดประตูบานนั้นดู ข้างในนั้นมีอะไรอยู่เหรอคะ” ภาพเสื้อเชิ้ตสีขาวเปรอะสี กับความใกล้ชิดของผู้หญิงทั้งสองคนทำให้เรารับรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ของพวกเธอได้อย่างชัดเจน

สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกใช้ตัวละครแม่ชี ซึ่งเป็นตัวแทนความบริสุทธิ์ของศาสนาคริสต์เข้ามาเพื่อคลี่คลายปมในใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของซอฮยอน 

ในขณะที่ความเป็นจริงของสังคมเกาหลีซึ่งยังไม่รองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม และคู่รักเพศเดียวกันก็ยังคงถูกโจมตีอยู่ไม่น้อย แนวความเชื่อของศาสนาคริสต์ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่มีผลต่อค่านิยมของคนในสังคมอยู่มาก และหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความหลากหลายทางเพศอย่างสุดตัวก็คือ องค์กรคริสเตียนต่อต้านรักร่วมเพศ (Anti-Homosexuality Christian Solidarity organization) ซึ่งเคยออกมายืนประท้วงในช่วงเทศกาลโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2018 พร้อมเผยแพร่ความเชื่อที่ว่า ‘เกย์คือโรคที่สามารถรักษาได้’

“ฉันอยากขอโทษแทนโลกใบนี้ที่บังคับให้คุณต้องเก็บซ่อนมันไว้ในตู้เสื้อผ้าไม่ให้ใครรู้ มันไม่ใช่ความผิดแต่คุณต้องปกปิดมันราวกับเป็นความผิด จากนี้ไปอย่าทำแบบนั้นเลยนะคะ” คือคำพูดของแม่ชีเอ็มม่าที่กล่าวกับซอฮยอนเมื่อทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากเธอตัดสินใจถอดชุดแม่ชีทิ้ง

อาจมองได้ว่าแม่ชีเอ็มม่าคือตัวละครที่ยั่วล้อกับฐานความเชื่อเรื่องบาป-บุญ, ถูก-ผิด, ดี-เลว บนคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอันเคร่งครัด ไม่เพียงแต่กับประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องชีวิตคู่และการหย่าร้างอีกด้วย

ผู้หญิงกับคู่ครอง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องเลือกใช้ตัวละครหญิงในการเดินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น When the Camellia Blooms, Be Melodramatic หรือ Search: WWW แต่ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็ยังต้องมี ‘พระเอก’ เป็นผู้ชายที่รักและดูแลเธออย่างจริงใจ

แต่ก้าวถัดไปที่ Mine ได้กรุยทางไว้ก็คือ การแหวกขนบความคิดที่ตัวละครนำหญิงต้องคู่กับตัวละครชาย ไปสู่บทบาทผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่เอ่ยปากขอหย่าร้างโดยไม่แต่งงานใหม่ เพราะพวกเธอไม่ได้ต้องการผู้ชายคนไหนเป็นที่พึ่งพิงอีกแล้ว

mine
mine

“ทุกอย่างจบแล้ว อย่างที่เห็น ฉันจะเป็นคนเลี้ยงดูฮาจุน ส่วนชีวิตแต่งงานของเราก็มาจบมันกันเถอะ ฉันจะพาฮาจุนออกจากบ้านหลังนั้น” ฮีซูประกาศกร้าวต่อหน้าจียงผู้เป็นสามี หลังจากที่เธอเพิ่งชนะคดีฟ้องร้องสิทธิในการเลี้ยงดูลูก แม้ว่าเธอจะไม่ใช่แม่ที่แท้จริงของฮาจุนก็ตาม

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของเธอและลูกตลอด 6 ปีที่เลี้ยงดูมานั้นเป็นเรื่องจริง เช่นกันกับสัญชาตญาณความเป็นแม่อันแรงกล้าของอีฮเยจิน คนรักเก่าของจียง

mine

ต่างจากละครส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงสองคนต้องตบตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย ความสัมพันธ์ระหว่างฮีซูกับฮเยจินนั้นซับซ้อนและลึกซึ้งกว่านั้น เพราะสิ่งที่เชื่อมเธอเข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่ผู้ชายร้ายกาจอย่างฮันจียง แต่กลับเป็นเด็กชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจอย่างฮาจุนต่างหาก

“พวกเรามาเลี้ยงฮาจุนให้ดีด้วยกันนะคะ” ฮีซูกล่าว แม้จะเป็นความสัมพันธ์แบบแม่-แม่-ลูกที่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์เชิงชู้สาวต่อกัน แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงพลังของผู้หญิงทั้งสองคน

เพราะไม่ว่าพวกเธอจะมีคู่ครองหรือไม่ คบกับคนเพศใด ผู้หญิงก็ยังคงเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่าอยู่วันยังค่ำ

AUTHOR