ไม่ฟูมฟาย สมัครใจ พูดได้ในที่สาธารณะ : พลังของเรื่องเล่าการ come out หลายรูปแบบในสื่อร่วมสมัย

Highlights

  • ภาวิน มาลัยวงศ์ เปิดตัวคอลัมน์ Life of Pride ด้วยการชวนสังเกตการ come out ของตัวละคร LGBTQ ในละคร ภาพยนตร์ และโฆษณา ทั้งในไทยและต่างประเทศ 
  • นอกจากการ come out (โดยไม่เต็มใจ) ของนิรา คงสวัสดิ์ ในละคร ใบไม้ที่ปลิดปลิว จะสะท้อนมุมมองของสังคมไทยโดยรวมแล้ว อีกมุมที่น่าสนใจคือการมองความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งเกลียดของนิรากับพ่อผ่านเลนส์จิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ ซึ่งท้าทายขนบของปมเอดิปุสแบบที่เราเคยคุ้น
  • ประสบการณ์การ come out ในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันยังเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่เหล่า LGBTQ โดยรวมได้ด้วย

เดือนตุลาคมถือเป็น LGBT History Month ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและประวัติความเป็นมาของ LGBTQ เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้และเกิดความคิดที่เปิดกว้าง นอกจากนี้วันที่ 11 ตุลาคมของทุกปียังถูกกำหนดให้เป็น National Coming Out Day ของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งแต่ละปีก็จะมีการแบ่งปันเรื่องราวการค้นพบและการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ

ในประเทศไทย เรื่องเล่าการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของ LGBTQ ที่น่าสนใจในปีนี้หนีไม่พ้น นิรา คงสวัสดิ์ จากละคร ใบไม้ที่ปลิดปลิว เรื่องเริ่มต้นเมื่อชนันธวัช ลูกชายคนเดียวของครอบครัวใฝ่ฝันอยากเป็นผู้หญิงที่สวยงามเหมือนแม่ของเขา ชนันธวัชและแม่ต้องต่อสู้กับความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงจากพ่ออย่างชมธวัช แต่ก็มีชัชวีร์ อาเขย คอยให้กำลังใจและความช่วยเหลือ ชนันธวัชหลงรักอาเขย หากทำได้เพียงเก็บความรู้สึกไว้เงียบๆ ในใจ หลังจากผ่าตัดแปลงเพศกลายเป็นนิรา คงสวัสดิ์ และกลับมาจากต่างประเทศ จึงค่อยเปิดเผยความรู้สึกที่เก็บงำไว้ตลอดมาให้ชัชวีร์ทราบ

ปัญหาใหญ่ของละครเรื่องนี้คือ ฉากเปิดเผยความจริงว่านิราเป็นหญิงข้ามเพศผ่านการเล่าเรื่องแบบโศกนาฏกรรม นิราเป็นดาราดังจึงถูกคู่แข่งขุดคุ้ยภูมิหลังมาแฉ สังคมออนไลน์รับรู้เรื่องการผ่าตัดแปลงเพศของเธอในวงกว้าง จนเกิดผลกระทบต่อผู้คนรอบข้าง พ่อร้องไห้ฟูมฟายไม่ว่าจะด้วยรักหรือรู้สึกผิดก็ตามแต่ เขาพยายามหาทางปกปิดเรื่องนี้ให้เป็นความลับในครอบครัว อาเขยซึมเศร้าปนผิดหวัง ตัวนิราเองก็ดำดิ่งในความมืดมิดของอารมณ์จนถึงขั้นอยากปลิดชีวิตตนเอง

ด้านหนึ่งเราชื่นชมฝีมือของ 3 นักแสดงหลัก แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเล่าเรื่องแบบนี้ไม่ชวนให้ LGBTQ สมัครใจเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของตน ในเมื่อผลลัพธ์มีแต่ความเศร้าหดหู่เต็มไปหมด ผู้ชมสงสารนิรา แต่ความสงสารอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความเข้าใจ LGBTQ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า 

โศกนาฏกรรมกระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าตัวละครที่กำลังประสบเคราะห์กรรม เน้นการเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้ชมมีความพึงพอใจในชีวิตเพราะเห็นคนที่ทุกข์มากกว่า ความสงสารจึงแฝงนัยความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในสังคม ฉากการ come out ในละคร ใบไม้ที่ปลิดปลิว มอบความ ‘เป็นเอก’ ให้ผู้ชมที่เป็นจุดศูนย์กลาง และหยิบยื่นความ ‘เป็นอื่น’ ให้ตัวละคร LGBTQ นิราเป็นเพียงเครื่องมือเติมเต็มความสุขสร้างความอิ่มเอมแก่ผู้ชม

ที่แย่กว่านั้นคือการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของนิราไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ เธอถูกแฉและเรื่องของเธอกลายเป็นวาระแห่งชาติในสังคมออนไลน์ ทุกคนพร้อมเข้าไปก้าวก่าย แม้นิราจะไม่ยินยอมแต่เธอก็โต้ตอบอะไรไม่ได้ แสดงให้เห็นว่านิราถูกลิดรอนสิทธิเหนือเรือนกายของตัวเอง ผู้รุกล้ำถูกลงโทษในตอนจบของเรื่อง แต่ใช่ว่าตัวละคร LGBTQ จะมีจุดจบดีกว่า นิราต้องจมอยู่ในภาวะไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ทำได้เพียงแค่หนี 

แต่สิ่งที่ละคร ใบไม้ที่ปลิดปลิว ทำได้ดีคือการผูกปมเอดิปัสเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ ลูกชาย และอาเขย ชวนให้เรามองปมเอดิปัสในมิติอื่นที่แตกต่างออกไป ปมเอดิปัสเป็นการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตามแนวทางของฟรอยด์ เพื่อตีความอารมณ์และความคิดของตัวละครผู้ชายว่าทำไมรักแม่มากและปรารถนาให้พ่อออกไปให้พ้นจากชีวิตของตนและแม่ เมื่อเด็กผู้ชายไม่สามารถครอบครองแม่ได้จึงหันเหไปแสวงหาความรักจากหญิงอื่น ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ถูกวิจารณ์ว่าขาดความสม่ำเสมอเพราะใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่รักเพศตรงข้ามเพียงอย่างเดียว

แล้วเราจะนำปมเอดิปัสมาประยุกต์ใช้กับนิยามความรักเพศเดียวกันของ LGBTQ ได้ยังไงเป็นคำถามที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ก็มีผู้สนับสนุนว่าสามารถทำได้ โดยอธิบายว่าเด็กชายไม่จำเป็นต้องเห็นแม่เป็นของรัก (love object) และมองพ่อเป็นศัตรูแค่อย่างเดียว เด็กชายสามารถเห็นพ่อเป็นของรักได้ด้วยเช่นกัน ทว่าเมื่อรักพ่อแล้วถูกตอบสนองด้วยความกลัวหรือความอาย จึงไม่กล้าแสดงออกและหันไปรักชายผู้อื่นแทน ซึ่งในละครก็คือชัชวีร์ที่เป็นอาเขย  

การถ่ายทอดภาพการ come out ของ LGBTQ ในสื่อร่วมสมัยของประเทศไทยแม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางจุดที่ไม่ขาดก็เกิน ขาดความพอดี อย่างในซีรีส์เรื่อง เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ฉากที่ธันวาบอกแม่ว่าเขาอาจจะชอบเพศเดียวกัน ถึงแม่ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ดราม่าน้ำตาแตกเท่ากรณีของนิรา แต่ก็สร้างความหนักหน่วงทางอารมณ์มากพอให้รู้สึกว่าการ come out ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคม 

 

แล้วภาพการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีแบบไหนที่เราต้องการ

 

คำตอบคืออยากได้แบบง่ายๆ สบายๆ ไม่ตึงเครียด ไม่ต้องสอดแทรกดราม่าอะไรมากมาย เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ดูแล้วสร้างแรงบันดาลใจ มากกว่าผลิตซ้ำการกดทับให้ LGBTQ รู้สึกแย่กับการ come out ของตน

มีตัวอย่างงาน 2 ชิ้นที่ถ่ายทอดการ come out ได้น่าสนใจมาก ชิ้นแรกเป็นหนังโฆษณาจาก McCafé ของแมคโดนัลด์ชื่อเรื่อง ‘Acceptance’ ที่ออกอากาศในปี 2016 (ประมาณ 1 ปีก่อนสภาฯ ไต้หวันให้การรับรองกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย) โฆษณาเปิดฉากที่ร้าน McCafé แห่งหนึ่ง พ่อกับลูกชายนั่งดื่มกาแฟกันอยู่ ลูกชายเลือกสารภาพว่าชอบเพศเดียวกันโดยเขียนเป็นตัวอักษรบนแก้วกาแฟ ต่อมาพ่อเขียนตอบว่ายอมรับได้ ดนตรีประกอบช่วงท้ายก็ไม่ได้แสดงว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่จนเกินเลยมากไป

เรามักจะเห็นการเสนอภาพการ come out ในพื้นที่ส่วนตัวจนชินตา เกิดขึ้นในบ้านหรือห้องมิดชิด เช่นโฆษณาของโคคา-โคล่าที่ออกแคมเปญ ‘ยิ่งเปิดใจ ยิ่งใกล้กัน’ เมื่อตอนต้นปีนี้ ลูกชายพาหนุ่มมาบ้านแล้วบอกแม่ว่าเป็นแฟนกันระหว่างทานข้าวท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นบนโต๊ะอาหาร นับเป็นความก้าวหน้าและความกล้าหาญของสื่อในประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่โฆษณาของ McCafé เหนือกว่าแคมเปญ ‘ยิ่งเปิดใจ ยิ่งใกล้กัน’ คือ การสร้างให้บทสนทนาระหว่างพ่อลูกมีฉากหลังเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟ แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีในพื้นที่สาธารณะได้ ดื่มกาแฟสักแก้วสองแก้วแล้วคุยกัน 

การยอมรับจากครอบครัวในพื้นที่ส่วนตัวและสิทธิเสรีภาพของ LGBTQ ในพื้นที่สาธารณะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สื่อรณรงค์เรื่องแรกมากกว่าอย่างหลังและพูดถึงซ้ำๆ ชี้ชวนให้สังคมเชื่อว่าการยอมรับจากครอบครัวสำคัญกว่า ควรมาก่อน แต่หนังโฆษณาจาก McCafé ชิ้นนี้แสดงว่าสิทธิและเสรีภาพของ LGBTQ ในพื้นที่ส่วนรวมก็จำเป็นไม่แพ้กันและสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกับการยอมรับจากครอบครัว สังคมมีหน้าที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยและความไว้วางใจให้แก่ LGBTQ พวกเขาควรรู้สึกสะดวกใจในการเปิดเผยตัวตนและอารมณ์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเจอกับความเกลียดชังและการดูถูก

ตัวอย่างอีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอการ come out ของ LGBTQ ได้อย่างแยบยลคือภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name เผยแพร่ในปี 2017 ตอนท้ายของเรื่องที่ลูกชาย Elio เปิดใจคุยกับพ่อเรื่องความรักที่เขามีต่อเพศเดียวกัน พ่อแนะนำให้เอลิโอเก็บรักษาความรู้สึกนี้ไว้เพราะเป็นสิ่งที่มีค่า และยอมรับกับลูกชายว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็เคยเกือบมีความสัมพันธ์รักเพศเดียวกัน แต่มีอะไรบางอย่างหักห้ามไว้ไม่ให้เขาสานสัมพันธ์ต่อ 

ผู้กำกับ Luca Guadagnino ถ่ายฉากนี้โดยใช้มุมข้ามไหล่ (over the shoulder shot) เน้นการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาของตัวละคร ประเด็นที่น่าสนใจคือตอนแรกพ่อเหมือนจะมีอำนาจมากกว่า รู้มากกว่า ตอนเอลิโอเดินเข้ามาในห้องเงาสะท้อนของเขาปรากฏขึ้นในกระจก สื่อว่าพ่อเห็นและรู้จักความปรารถนาในตัวลูกชายทะลุปรุโปร่ง หลังจากนั้นพ่อก็แสดงความอ่อนแอออกมา ยอมรับว่าตัวเองขี้ขลาด อำนาจสลับขั้วมาอยู่ที่เอลิโอ พ่อสารภาพว่าอิจฉาที่ลูกชายรู้และซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองตั้งแต่ยังอายุน้อย การที่พ่อลูกสลับกันอ่อนแอและผลัดกันมีอำนาจทำให้ผู้ชมที่เป็น LGBTQ รู้ซึ้งถึงพลังและคุณค่าของตน

เรื่องเล่าการ come out หลากหลายรูปแบบช่วยลบล้างภาพจำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งของ LGBTQ ให้หมดไป ทั้งยังส่งเสริมให้ LGBTQ ตระหนักรู้ว่าการเปิดเผยตัวตนอาจนำมาซึ่งความเศร้า แต่ก็มีโอกาสสร้างความสุขความเข้าใจเช่นกัน เรื่องอาจไม่เลวร้ายเสมอไป

บทสนทนาว่าด้วยการ come out ควรเกิดขึ้นได้ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะด้วยท่าทีที่เป็นมิตร เรื่องราวเหล่านี้เป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับอคติและการครอบงำทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศได้เป็นอย่างดี

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง