Move to Heaven คือซีรีส์ขนาด 10 ตอนของเน็ตฟลิกซ์ที่เรื่องราวของมันได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเรียงชื่อ ‘Things Left Behind’ เขียนโดยคิมแซบย็อล ที่ในชีวิตจริงประกอบอาชีพเป็นผู้เก็บกวาดสิ่งของต่างๆ ของผู้คนที่อำลาจากโลกนี้ไป
อย่างคร่าวๆ ซีรีส์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของ ฮันจองอู อดีตนักดับเพลิงผู้ตัดสินใจลาออกจากงานมาเปิดบริษัท ‘Move to Heaven’ เป็นของตัวเอง ‘ย้ายไปสู่สวรรค์’ คือความหมายของบริษัทนี้ โดยหน้าที่ของจองอูก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการเก็บกวาดข้าวของเครื่องใช้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกครอบครองโดยผู้เสียชีวิต
ฟังดูเป็นอาชีพที่น่าเศร้า หากจองอูก็ไม่ได้ทำงานนี้ด้วยตัวคนเดียว เพราะเคียงข้างเขายังมี ฮันกือรู ลูกชายอายุ 20 ปีผู้ที่คอยช่วยเหลือและปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด

แต่ละวันที่ผ่านพ้นไปในเมืองใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ มีลมหายใจของคนตัวเล็กๆ มากมายที่ดับสูญลง ซึ่งจองอูจะทำหน้าที่รอรับโทรศัพท์สายสำคัญ ใจความในสายคือการว่าจ้างให้ไปเก็บกวาดห้องที่ครั้งหนึ่งเคยมีใครสักคนอาศัยอยู่ ทว่าตอนนี้กลับว่างเปล่าเหลือแต่เพียงสิ่งของในห้องเช่าที่จำเป็นต้องย้ายออกไป
หลังจากที่ทราบรายละเอียดครบถ้วน สองพ่อลูกก็จะขับรถตู้ของบริษัทตรงไปยังบ้านของผู้เสียชีวิตเหล่านั้น และใช้เวลาตลอดบ่ายไปกับการเก็บกวาดทุกๆ อย่างในห้องจนเหลือเพียงห้องเปล่า แน่นอนว่าของส่วนหนึ่งจะถูกทิ้งออกไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกบรรจุลงกล่องสีเหลืองที่จะส่งต่อให้กับครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของผู้เสียชีวิต ส่งต่อให้กับบุคคลที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อ ไม่ว่าพวกเขาจะเต็มใจรับหรือปฏิเสธเป็นพัลวันก็ตาม

แม้ว่ากือรูจะช่วยงานพ่อของเขาอย่างแข็งขัน ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นเด็กพิเศษ กือรูเป็นโรค Asperger ซึ่งทำให้เด็กหนุ่มไม่สามารถทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้คนได้เหมือนกับคนทั่วไป ถึงอย่างนั้นจองอูก็ยืนยันอยู่เสมอว่าลูกชายของเขาพิเศษกว่าใครๆ สาเหตุหนึ่งเพราะเขาฉลาดและมีระบบคิดที่ซับซ้อน ส่วนสาเหตุที่สองคือเขามีหัวใจที่เผื่อแผ่ อบอุ่น และยิ่งใหญ่
ชีวิตของสองพ่อลูกดำเนินไปอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งวันหนึ่ง จองอูต้องมาด่วนจากโลกนี้ไปเพราะอาการหัวใจวาย โดดเดี่ยวแต่ไม่ทันจะรู้สึกเดียวดาย เพราะอยู่ๆ โจซังกู ชายหนุ่มภาพลักษณ์อันธพาลผู้อ้างตัวว่าเป็นอาของกือรูก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กหนุ่มและบริษัท Move to Heaven

ผู้ปัดกวาดความเจ็บปวด
trauma cleaner หรือ ‘ผู้ปัดกวาดความเจ็บปวด’ คืออาชีพที่จะเข้าไปเก็บกวาดสิ่งของในห้องผู้เสียชีวิต เพื่อที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความโศกเศร้าและบาดแผลทางจิตใจในระหว่างที่เข้าไปจัดการข้าวของต่างๆ ด้วยตัวเอง
ความตายได้พรากชีวิตหนึ่งไป ทว่าประวัติศาสตร์และความทรงจำต่อผู้ที่จากไปไกลกลับยังคงฝังแน่นอยู่กับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา สิ่งของทุกๆ ชิ้นมีเรื่องเล่า และเรื่องเล่าก็มักจะนำมาซึ่งความหวนไห้อันแสนเจ็บปวดอยู่เสมอ
หน้าที่ของ trauma cleaner จึงเป็นการเก็บกวาด ‘พื้นที่ของผู้เสียชีวิต’ ให้คืนสภาพไปสู่ความว่างเปล่าเสมือนว่าไม่เคยมีคนอาศัยอยู่มาก่อน ซึ่ง Move to Heaven ก็ได้หยิบจับประเด็นนี้มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ในเมืองใหญ่ ที่การจากไปของพวกเขาแต่ละคนแทบจะไม่ส่งผลอย่างสลักสำคัญอะไรมากไปกว่าความโศกเศร้าในระดับปัจเจกบุคคล
ในตอนหนึ่ง ซีรีส์ฉายภาพของวัยรุ่นคนหนึ่งที่โหมงานหนักจนนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่พาเขาไปสู่ความตาย จะมีก็เพียงพ่อแม่ของเขาที่ร้องไห้เสียใจ แต่เมื่อพ้นไปจากวงโคจรเล็กๆ นั้นแล้วก็แทบจะไม่มีใครรับรู้ถึงการจากไปของเขาด้วยซ้ำ
ขณะที่อีกตอน ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของคู่รักวัยชราที่ตกลงปลงใจว่าจะปลิดชีวิตไปพร้อมกัน พวกเขาไม่ได้มีฐานะอะไร อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ พร้อมต้นไม้สารพัดชนิดที่ปลูกไว้ในระเบียงลับๆ ทั้งคู่ไม่มีลูกหลาน มีเพียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ผูกพันกับ ‘คุณปู่’ และรับรู้ถึงคุณค่าของสองชีวิตที่จากโลกนี้ไป

หรือในอีกตอนหนึ่งเราก็ได้รู้จักกับชายหนุ่มชาวเกาหลีผู้ไปเติบโตที่สหรัฐอเมริกาและตัดสินใจเดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิดเพื่อออกตามหาแม่ที่ทอดทิ้งเขาไป ชายหนุ่มเช่าห้องพักเล็กๆ อยู่โดยลำพังพร้อมกับสุนัขตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่คอยอยู่เคียงข้างในวันที่เขาหมดลมหายใจ
Move to Heaven คือซีรีส์ที่บอกเล่าชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ผู้คนที่จากลาไปอย่างเงียบเชียบที่สุด เจียมเนื้อเจียมตัวอย่างที่สุด และโดดเดี่ยวอย่างที่สุดเช่นกัน
ความตายที่โดดเดี่ยวในเกาหลีใต้
Godoksa (โกดกซา) แปลว่า ‘ความตายที่โดดเดี่ยว’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในเกาหลีใต้ปัจจุบัน กรณีของโกดกซาทั้งหมดถูกพบหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตมาแล้วหลายวัน ด้วยเพราะเขาหรือเธออาศัยอยู่ลำพัง หรือปลีกตัวออกห่างจากสังคมเสียจนการตายของพวกเขาไม่เป็นที่รับรู้ในทันที
รายงานของ Seoul Welfare Foundation ระบุว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของโกดกซาเกิดขึ้นที่อพาร์ตเมนต์เช่า ในขณะที่อีก 8 เปอร์เซ็นต์นั้นเกิดขึ้นที่โกชีวอน หรือห้องเช่าขนาดรูหนู (เหมือนกับห้องของนักศึกษาที่เสียชีวิตในตอนแรกของซีรีส์) ซึ่งลำพังแค่โต๊ะกับเตียงก็ครอบครองพื้นที่แทบจะทั้งหมดของห้องเช่าแล้ว
ในรายงานฉบับนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้คนเหล่านี้ล้วนพักอาศัยอยู่คนเดียว หรือมากที่สุดคือสองคน โดยที่ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้มักจะตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องอุดอู้ในห้องเล็กๆ แต่ยังรวมถึงการต้องมีชีวิตอย่างยากลำบากมาโดยตลอด

ปรากฏการณ์โกดกซาที่เกิดขึ้นมากมายในกรุงโซลนี้ ส่วนหนึ่งคือผู้สูงอายุซึ่งต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างลำพังโดยปราศจากสมาชิกในครอบครัวคอยดูแล ขณะที่บางส่วนคือผู้เสียชีวิตที่ยังอยู่ในช่วงวัยทำงาน
Honjok (ฮนจก) หรือ ‘เผ่าพันธุ์เดียวดาย’ คืออีกคำหนึ่งซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้คนในเกาหลีใต้หันมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น เห็นได้ชัดจากสถิติการแต่งงานใหม่ที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ แทบจะทุกปี การอาศัยอยู่อย่างลำพังเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยวเหงา ความคิดที่ว่าพวกเขาไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้ ไปจนถึงโรคซึมเศร้าที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
กิลซูฮัน นักวิชาการผู้ศึกษาประเด็นเรื่องความตายในสังคมเกาหลีมองว่าประเด็น ‘การกลายเป็นเมือง’ (urbanization) และ ‘การกลายเป็นอุตสาหกรรม’ (industrialization) คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนเกาหลีอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนในชนบทเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสและการทำงานในพื้นที่เมือง ซึ่งไม่เพียงหมายถึงการแยกขาดตัวเองออกจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการถอยห่างออกจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยหล่อเลี้ยงพวกเขามา
ซูฮันชี้ว่าภายใต้ปรากฏการณ์นี้ หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือรูปแบบงานศพที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่ครั้งหนึ่งงานศพจะมีลักษณะของความเป็นชุมชน นั่นคือการรวบรวมญาติพี่น้องและสมาชิกบ้านใกล้เรือนเคียงให้มาช่วยเหลือกันในการจัดพิธี แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่ พิธีศพก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่ความเป็นธุรกิจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางชุมชนในการจัดงานศพอีกต่อไป เพราะมีบริษัทจัดงานศพเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้แทน
ในแง่นี้ Move to Heaven จึงเป็นบริษัทที่รับผิดชอบงานในลักษณะที่คล้ายกัน แม้ไม่ใช่การจัดงานศพโดยตรง แต่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในกระบวนการจัดการกับศพในสภาพสังคมแบบเมืองที่ผู้คนดำรงชีวิตอยู่อย่างแยกขาดมากขึ้น

ในโลกที่ความผูกพันระหว่างมนุษย์ค่อยๆ ถ่างไกลออกจากกัน การจัดการกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้เสียชีวิตจึงไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคนในครอบครัวอีกต่อไป หากแต่เป็นใครก็ไม่รู้ เป็นคนแปลกหน้า เป็นบุคคลที่สามที่เข้ามาจัดการในเรื่องนี้
เราอยู่ในสังคมที่กระทั่งความผูกพันก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถบอกให้คนอื่นช่วยจัดการแทนได้แล้ว
แม้แต่คนตายก็พูดได้เหมือนกัน
Move to Heaven คือเรื่องราวของคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของกือรูและซังกูที่ไม่เคยรู้จักกันเลยด้วยซ้ำ แต่กลับต้องมาเรียนรู้ตัวตนของกันและกันเมื่อย้ายมาอยู่ร่วมกันภายใต้หลังคาเดียว
เรื่องราวในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ของบรรดาผู้ตายที่กือรูและซังกูได้เรียนรู้ผ่านเศษเสี้ยวของความทรงจำที่ฝังซ่อนอยู่ในข้าวของชิ้นต่างๆ และแน่นอน เรื่องราวที่ไม่เคยจะถูกบอกกล่าวซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
ในตอนหนึ่ง Move to Heaven พาเราไปรู้จักกับคุณหมอหนุ่มผู้ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ลำพังแค่การต้องมาด่วนจากไปก็ว่าน่าเศร้าแล้ว แต่ซีรีส์ก็เปิดเผยให้เราได้รู้ว่า กระทั่งในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ คุณหมอก็ไม่ได้จะมีความสุขนัก ด้วยเพราะครอบครัวของเขาพยายามจะปฏิเสธความจริงที่ว่าลูกชายของพวกเขาหลงรักผู้ชายด้วยกัน
ในขณะที่อีกตอนหนึ่งเราก็ได้รู้จักกับครูสาวที่ใครๆ ต่างก็หลงรัก แต่สุดท้ายกลับต้องมาจบชีวิตลงอย่างโหดเหี้ยมจากแฟนหนุ่มที่ทำร้ายร่างกายเธอทุกวัน ครูสาวพยายามบอกคนรอบข้าง หากถึงที่สุดก็ไม่มีใครเชื่อได้ลงว่าชายหนุ่มที่ภายนอกดูเป็นคนดีจะมีจิตใจที่โหดเหี้ยมอำมหิต
ความลับและความเจ็บปวดของพวกเขาถูกส่งผ่านสิ่งของชิ้นต่างๆ ในห้องพักไปสู่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยที่กือรูไม่สนใจว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์ต่อกันเช่นไรในวันที่ยังมีลมหายใจอยู่ ไม่สนใจว่าพวกเขาจะเคยบาดหมาง ผิดใจ หรือรู้สึกผิดต่อกันมากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นไม่ใช่กงการของบุคคลที่สามจะตัดสินใจ หน้าที่ของกือรูมีแค่การส่งเรื่องราวที่ไม่อาจถูกบอกเล่าโดยผู้ตายให้ปลายทางได้รับรู้
ในสังคมที่เราต่างก็สร้างกำแพงขึ้นมากั้นขวางความสัมพันธ์ อาจกล่าวได้ว่า การมีอยู่ของ Move to Heaven คือความพยายามที่จะก้าวข้ามสิ่งกีดขวางเหล่านี้เพื่อส่งข้อความไปให้ถึงผู้รับ

ในโลกที่เราต่างหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังกำแพงที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เราต้องอยู่ในห้องแคบๆ อย่างโดดเดี่ยว เงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้เราต้องโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองอย่างตัวคนเดียว หรือเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนทุกวันนี้ต้องแยกตัวออกห่างจากครอบครัวมาอยู่ตามลำพัง ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะสื่อสารความรู้สึกถึงกันได้อย่างชัดเจน แน่นอนว่ามันคงจะดีกว่าหากเราสามารถทลายกำแพงเหล่านี้ลงได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทว่าชีวิตของผู้คนต่างๆ ในซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้โชคดีขนาดนั้น หน้าที่ของ Move to Heaven จึงเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันอีกครั้ง
เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าความตายจะหมายถึงการจากไปอย่างเปล่าเปลี่ยว หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่าเรื่องราวของผู้คนที่ตายไปจะต้องถูกลืมไปพร้อมกับร่างกายที่กลายเป็นเถ้าถ่านหรือหลุมศพที่ถูกกลบฝัง
“สิ่งที่ผู้ตายอยากพูดและความคิดที่อยากแบ่งปัน เราจะอ่านแทนพวกเขา” จองอูเคยบอกกับลูกชายอย่างกือรูไว้เช่นนั้น
“แม้แต่คนตายก็พูดได้เหมือนกัน” กือรูบอกกับซังกู ในวันที่อาของเขาสงสัยว่าหลานชายจะดื้อด้านส่งมอบข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายให้กับคนที่ยังอยู่แต่ไม่สนใจใยดีไปทำไม
เพราะทุกความตายล้วนมีเรื่องเล่า
แน่นอนว่าการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความตายนั้นก็ไม่ง่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความตายที่เลือกเองได้ หรือความตายที่พุ่งเข้ามาอย่างปุบปับฉับพลัน ยิ่งหากพิจารณาจากมุมของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยแล้ว ไม่มีความตายไหนหรอกที่เราจะสามารถทำความเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้นัก มันมีระดับของความเศร้าที่ลึกเกินกว่าที่เราจะรับรู้ แล้วมันก็มีเรื่องราวที่ไม่ถูกบอกเล่าปะปนอยู่ในนั้น มีความเจ็บปวดที่ยังคงถูกเก็บเงียบมิดชิด แล้วมันก็มีความซับซ้อนของชีวิตที่จะยังคงซับซ้อนอยู่อย่างนั้น
ไม่มีความตายไหนหรอกที่จะมีเรื่องราวเหมือนๆ กัน ไม่มีความตายไหนหรอกที่จะปราศจากเรื่องเล่าและความทรงจำที่ผูกติดอยู่กับตัว
