คุยกับผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เปิดหมวกเฟสติวัล’ อีเวนต์เยียวยาการหยุดงานนับ 270 วันของคนดนตรี

“สังคมไทยชอบตีค่าธุรกิจกลางคืนว่าเป็นอบายมุข เพ่งเล็งว่าธุรกิจกลางคืนไม่ดี ทั้งๆ ที่สถานบันเทิงก็เป็นเหมือนออฟฟิศของนักดนตรี เขาเข้าร้านมาเพื่อทำงานหาเงิน แต่เพียงเพราะออฟฟิศของเขาเปิดช่วงกลางคืน เมื่อโควิดระบาด เขาจึงต้องจำยอมขาดแคลนรายได้อย่างนี้เหรอ”

นี่คือเสียงสะท้อนจาก โม้–ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ รักษาการณ์หัวหน้าชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสั่งปิดสถานบันเทิงตามมาตรการช่วยระงับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ของภาครัฐ

หากนับจากคำสั่งการ โม้บอกว่านี่เป็นเวลากว่า 270 วันแล้วที่คนดนตรีต้องอยู่อย่างไร้เงิน ไร้งาน และไร้กระทั่งการเยียวยา

เพื่อนๆ คนดนตรีหลายคนตัดสินใจขายเครื่องมือทำมาหากินทิ้งเพื่อนำเงินมาประทังชีวิตและใช้เป็นทุนในการปรับตัว และบ้างก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะไม่เห็นทางออกว่าจะสามารถกลับไปทำงานเหมือนเก่าได้เมื่อไหร่ แม้ที่ผ่านมาจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าที่มาของการแพร่ระบาดแต่ละครั้งไม่อาจเหมารวมได้ว่าเป็นเพราะสถานบันเทิงก็ตาม

เขาและเพื่อนๆ คนดนตรีจึงลุกขึ้นมาหารือถึงแนวทางแก้ปัญหา จัดตั้งสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เรียกร้องถึงมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ พร้อมกับหาทางช่วยเหลือคนดนตรีด้วยกันเอง (แบบที่เรียกได้ว่า ประชาชนช่วยประชาชน) 

พวกเขากลุ่มนี้เองที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรม ‘เปิดหมวกเฟสติวัล’ งานดนตรีออนไลน์ระยะเวลา 2 อาทิตย์ (19 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564) ที่รวมตัวศิลปินมีค่ายและศิลปินอิสระมากกว่า 600 วง โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะปลุกดนตรีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังเงียบหายไปนาน เพื่อให้นักร้อง นักดนตรี หรือแม้แต่คนเบื้องหลังที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง ได้กลับมาใช้เสียงดนตรีหาเงินกันอีกครั้ง

และเพื่อบอกให้ผู้มีอำนาจรู้ว่า เบื้องหลังธุรกิจดนตรีล้วนแล้วแต่มีชีวิตของประชาชน

ย้อนกลับไปในวันที่มีมาตรการสั่งปิดธุรกิจกลางคืนออกมาครั้งแรก ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไง

ตอนนั้นโควิด-19 ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เราเข้าใจได้หากภาครัฐจะมีมาตรการสั่งปิดกิจการแล้วให้ทุกคนอยู่บ้าน เพราะมันก็เป็นเหมือนการจำกัดจำนวนคนและควบคุมเชื้อ

เราทำตามมาตรการนั้นมาตลอด แต่กับปัจจุบันที่ปิดมาเป็นครั้งที่ 3 และรัฐก็ยังไม่มีกรอบเวลาให้อย่างชัดเจน ไม่รู้ว่าจะต้องปิดแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ความผิดของเราแล้ว แต่มันคือการทำงานที่หละหลวมของภาครัฐเอง 

ไม่ว่าจะคลัสเตอร์บ่อน แขกวีไอพีที่เข้ามาในประเทศโดยไม่ต้องกักตัว หรือแม้แต่คลัสเตอร์ทองหล่อ เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย ทั้งๆ ที่ต้นเหตุในการแพร่เชื้อยอดทะลุหมื่นอยู่ในทุกวันนี้มาจากคนกลุ่มเดียว แต่รัฐบาลก็ยังบอกว่าประชาชนเป็นต้นเหตุในการแพร่เชื้ออยู่ และที่รู้สึกไม่แฟร์หนักขึ้นไปอีกคือในขณะที่ผับบาร์หนึ่งร้านเป็นต้นเหตุ สถานบันเทิงทั้งประเทศกลับถูกสั่งปิด โดยใช้กฎว่าจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อประเทศมียอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ในขณะที่หากเทียบกันกับกรณีของร้านอาหาร เขายังสามารถกลับมาเปิดต่อได้ 

เหมือนสถานบันเทิงถูกคำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’ ครอบไว้อีกชั้น

(พยักหน้า) สถานบันเทิงเหมือนอยู่นอกสายตา ไม่เคยถูกพูดถึงเลย ถ้านับจากวันที่สั่งปิดกิจการคือพวกเราไม่ได้ทำงานมา 270 กว่าวันแล้ว แต่ยอดผู้ติดเชื้อก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ เราเลยเกิดความสงสัยว่าสถานบันเทิงต้องเป็นจำเลยเสมอไปจริงๆ เหรอ

สังคมไทยชอบตีค่างานกลางคืนว่าเป็นอบายมุข เป็นธุรกิจสีเทา เป็นที่อโคจร แต่อย่าลืมว่าบ่อนก็เปิดตอนกลางวัน การชิงทรัพย์หรือฆาตกรรมก็เกิดตอนกลางวันได้ แล้วทำไมเขาถึงต้องเพ่งเล็งธุรกิจกลางคืนว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่สถานบันเทิงก็เป็นเหมือนออฟฟิศของนักดนตรี เขาเข้าร้านมาเพื่อทำงานหาเงิน เพียงเพราะออฟฟิศของเขาเปิดช่วงกลางคืน เขาจึงต้องจำยอมอยู่ในภาวะขาดแคลนรายได้อย่างนี้เหรอ

เท่าที่ทราบคือในช่วง 270 กว่าวันที่คุณว่า ไม่มีการเยียวยาอะไรจากภาครัฐเลยด้วย

เรียกว่าเยียวยาทิพย์ดีกว่า (หัวเราะ) ย้อนกลับไปก็มีโครงการคนละครึ่งที่ก็ไม่ได้ช่วยลดภาระค่าใช้ในการดำรงชีวิตซะทีเดียว อาจช่วยในแง่ของค่ากิน แต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้องเขาก็ยังต้องแบกรับภาระนั้น

หรือถ้าเป็นในระดับของผู้ประกอบการก็มีความช่วยเหลืออย่างการออก soft loan มา แต่เราไปคุยกับเจ้าของร้านเล็กๆ แทบทุกร้านพูดเหมือนกันหมดว่า ‘ไปมาแล้วครับพี่ แต่ธนาคารไม่อนุมัติ’ เพราะเขาถูกปิดร้านขาดรายได้มา 3 เดือนแล้ว พอดู statement ย้อนหลังธนาคารจึงไม่ให้กู้ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ารัฐจะออกมาตรการแก้ปัญหาอย่างนี้มาเพื่ออะไร

ตอนนี้ผลกระทบที่ได้รับมันไม่ใช่แค่การที่คนดนตรีหลายๆ คนเอาเครื่องมือทำมาหากินไปขายเพื่อที่จะเอาเงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเอามาเป็นต้นทุนในการปรับตัวแล้ว แต่มันร้ายแรงไปถึงขั้นที่คนดนตรีตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง 

มันสมควรแล้วเหรอที่คนคนหนึ่งซึ่งเลือกจะเป็นศิลปิน ทำอาชีพนี้ด้วยใจรัก จะต้องมาจบชีวิตเพราะการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาจัดตั้ง ชมรมคนดนตรี เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

ที่จริงเราเป็นเหมือนโดมิโน่ตัวสุดท้ายในวงการนี้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะงานของเราคือการทำแพลตฟอร์มรวบรวมสถานบันเทิง รวมงานคอนเสิร์ต พอภาครัฐประกาศปิดโดยที่ไม่มีกรอบเวลามาให้ว่าร้านต้องปิดไปอีกนานแค่ไหน นอกจากวงดนตรีจะเล่นไม่ได้ เราเองก็ทำงานต่อไม่ได้เช่นกัน 

ตอนนั้นเลยไปคุยกับลูกเต๋า (นนทเดช บูรณะสิทธิพร) เจ้าของร้าน The Rock Pub ที่ออกมา call out เรื่องการเยียวยาและความชัดเจนในการสื่อสารของทางภาครัฐ และเริ่มทำงานร่วมกัน 

ระหว่างทางที่ทำงานไป เราจึงเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน แต่ยังรวมไปถึงศิลปิน นักร้อง และคนที่ทำงานกลางคืนทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถแท็กซี่ แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งหน้าร้าน คนขายพวงมาลัย คนขายลูกอม ทุกๆ อย่างที่อยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือการจ้างงานในธุรกิจกลางคืนได้รับผลกระทบกันหมด เราเลยพูดคุยกันว่าถ้าเราจะเคลื่อนไหวในนามผู้ประกอบการผับบาร์รายย่อย เสียงคงไม่ดังพอ 

สุดท้ายเลยติดต่อหาภาคีพันธมิตรและดำเนินงานในนามสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ซึ่งประกอบไปด้วย 7 ชมรม คือ ชมรมผู้ประกอบการผับบาร์รายย่อย, ชมรมคนดนตรี, ชมรมดีเจและโปรโมเตอร์กรุงเทพฯ, ชมรมคนจัดคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์, ชมรมคราฟต์เบียร์, ชมรมบาร์เทนเดอร์และค็อกเทลบาร์กรุงเทพฯ และชมรมดีไซเนอร์แฟชั่นผู้สนับสนุนงานดนตรี

แต่ละชมรมแบ่งหน้าที่การทำงานกันยังไง

เราแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระดับ คือหัวหน้าชมรมและกรรมการจากแต่ละชมรม ทั้งหมดชมรมละ 3 คน เพื่อทำหน้าที่ช่วยตัดสินใจ เพราะต้องบอกว่าทั้ง 7 ชมรมมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ชมรมคนดนตรี เราต้องการจะขับเคลื่อนในเรื่องของรัฐสวัสดิการของศิลปินอิสระเป็นหลัก ในขณะที่ชมรมคราฟต์เบียร์เขาก็ผลักดันในเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ.เกี่ยวกับการโฆษณาแอลกอฮอล์และการจำหน่ายออนไลน์ที่มีปัญหาอยู่ หัวหน้าและกรรมการจากแต่ละชมรมก็จะมีหน้าที่มาคุยกันว่าประเด็นไหนบ้างที่เราควรจะต้องเคลื่อนไหวในนามสมาพันธ์ 

อย่างกิจกรรมเปิดหมวกเฟสติวัลก็เกิดมาจากการลงมติกันว่านี่เป็นวาระเร่งด่วน เพราะคนดนตรีไม่มีรายได้มานานมากแล้ว ทุกๆ ชมรมจึงให้ความร่วมมือในแคมเปญนี้ ช่วยกันกระจายข่าว ซึ่งพอจบงานเปิดหมวกเฟสติวัลแล้วเราก็จะมานั่งคุยกันต่อว่าชมรมไหนมีเรื่องอะไรอยากพัฒนาต่อ

ก่อนหน้านี้เหมือนจะมีกระแสที่นักดนตรีวงเล็กๆ ออกมาเรียกร้องต่อรัฐ แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวจากนักดนตรีวงใหญ่ๆ สิ่งนี้เป็นหนึ่งในที่มาให้เกิดชมรมคนดนตรีด้วยหรือเปล่า

มันเป็นเรื่องที่มาควบคู่กัน คือในขณะที่ทางสมาพันธ์กำลังร่างหนังสือเพื่อเดินเรื่องไปยังรัฐสภา ก็มีอีกหนึ่งมูฟเมนต์เกิดขึ้นจากวง Cocktail ซึ่งต้องบอกว่าจริงๆ แล้วจุดประสงค์ของเราทั้งคู่คล้ายกัน คือรัฐต้องลงมาดูแลคนดนตรีได้แล้ว เพียงแต่ตอนนั้นทั้งสองกลุ่มยังไม่ได้เข้ามาคุยกัน

ในวันที่เราเข้าไปยื่นหนังสือครั้งแรก วันนั้นมีตัวแทนศิลปินคือ Safeplanet และ H 3 F มาร่วมด้วยในนามศิลปินอิสระ ภาครัฐจึงตั้งคำถามกลับมาว่าพวกเราคนดนตรีรวมตัวกันได้มากพอแล้วเหรอ นั่นคือคำที่จุดประกายทำให้เราเริ่มคุยกับโอม (ปัณฑพล ประสารราชกิจ) ว่าตอนนี้คนข้างบนเขามองว่ากลุ่มเรายังไม่เข้มแข็งพอ จะทำยังไงดีให้เราสามารถทลายกำแพงนี้ออกไป เลยเป็นที่มาที่ทำให้ศิลปินมีค่ายหลายๆ คนเริ่มลงมาคุย มาทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และทำงานร่วมกันแบบประชาชนคนธรรมดาที่เป็นนักดนตรี จนกลายเป็นมูฟเมนต์ใหญ่อย่างทุกวันนี้ 

วันที่ไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภาเลยมีศิลปินไปร่วมด้วยจำนวนมาก และดูเหมือนสื่อก็จับตากับการเคลื่อนไหวของนักดนตรีมากขึ้น คุณมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อการเรียกร้องยังไงบ้าง

เราว่านั่นเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกเลยที่ศิลปินมีค่ายและศิลปินอิสระมารวมตัวกันเยอะขนาดนั้น มันคือการทลายมายาคติที่ว่านักดนตรีกลางคืนกับนักดนตรีมีค่ายไม่มีทางได้มาเจอะเจอหรือร่วมงานกัน เห็นเลยว่าพวกเขาไปด้วยใจที่ต้องการจะเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่กำลังลำบาก และอยากหารือทางออกร่วมกันจริงๆ

ในแง่ physical การรวมตัวกันเยอะๆ แล้วไปยื่นเรื่องมันอาจจะสร้างแรงกดดันให้การทำงานรวดเร็วขึ้น อย่างการเรียกร้องของเราเองก็เห็นได้ค่อนข้างชัดเลยว่าเมื่อศิลปินชื่อดังหรือคนมีชื่อเสียงออกมาแสดงจุดยืน ก็ทำให้คนหันมาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนดนตรีเยอะขึ้น

สิ่งนี้ทำให้คุณมองว่าการออกมา call out ของศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นสิ่งจำเป็น

เรามองว่า ณ ตอนนี้ การ call out มันไม่ใช่เรื่องของการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว แต่มันคือการรักษาสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานให้กับตัวเองในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ไม่มีใครควรมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ 

ศิลปินที่ไปรัฐสภาวันนั้นทุกคนไปในฐานะผู้เดือดร้อน เขาไปเพื่อแสดงจุดยืนว่าหากรัฐบาลทำงานได้ไม่ดีก็ต้องแก้ไข และนั่นคือสิ่งที่ประชาชนรอคอยอยู่ ถ้าคุณเงียบ ไม่แสดงออกอะไรเลย เขาก็จะคิดไปเองว่าคุณคิดแบบเดียวกับรัฐ เพราะรัฐชอบทำตัวเงียบ ไม่สื่อสารกับคน เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่สื่อสารกับคน เขาก็จะมองคุณเหมือนกับรัฐบาลที่ทำอะไรก็ไม่ยอมบอก 

ฉะนั้นก็ส่งเสียงไปเถอะ การออกมาเรียกร้องให้แฟนคลับ ให้ประชาชน ให้คนไทยด้วยกันได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรต้องทำ ออกมาช่วยประชาชนกันดีกว่า มาในฐานะผู้เดือดร้อนคนหนึ่งก็ได้

อย่างที่รู้ว่าอุตสาหกรรมบันเทิงมีเรื่องหลังม่านค่อนข้างเยอะ ถ้ามองไปถึงปัญหาจะเห็นว่ามันมีหลายกลไกที่ทำให้ศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ไม่กล้าออกมา แต่เราว่าดาราเองต้องออกมาสื่อสารบางอย่างเพื่อให้คนรู้ว่าคุณอยากจะเรียกร้อง อย่างเคสของหมิวนี่ชัดเจนมากว่าเขาตัดสินใจแบบนี้ แล้วผลที่เขาได้รับเป็นยังไง และประชาชนช่วยเหลือเขายังไงบ้าง มันมีตัวอย่างให้เห็น อยู่ที่ว่านักแสดงหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเขากล้าพอที่จะยอมเสียอะไรบางอย่างหรือเปล่า

อะไรคือปัญหาเร่งด่วนที่ชมรมคนดนตรีเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ไข 

ข้อเรียกร้องของเรามี 8 ข้อ โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักคือ

หนึ่ง–ห้ามปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม ต้องทรีตเราเหมือนที่ทรีตที่อื่น เจอเชื้อที่ไหน ถ้าควบคุมไม่ได้ก็ปิดพื้นที่ตรงนั้นซะ แต่ถ้าร้านสามารถควบคุมหรือทำตามกฎได้อยู่ก็ไม่ควรไปลิดรอนสิทธิของเขา 

สอง–เกี่ยวกับวัคซีน เราชี้แจงสังคมและภาครัฐเสมอว่าอาชีพของเราไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน อาชีพเราเป็นอาชีพที่แสดงให้คนเป็นร้อยเป็นพันดู เป็นอาชีพที่ต้องอยู่ในเคหะสถานที่คนเข้าไปใช้บริการ ดังนั้นการสร้างวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า ถ้าประชาชนทุกคนไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เราก็กลับมาทำงานแบบเต็มร้อยไม่ได้อยู่ดี

สาม–การรับฟังปัญหาและการให้คุณค่าทางวิชาชีพ เราไม่ได้มองแค่การจัดการปัญหาระยะสั้น แต่มองในลักษณะของความเป็นเอกภาพระยะยาวด้วย ตอนนี้ศิลปินที่มีบริษัทหรือมีค่าย เขามีสวัสดิการเหมือนเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป ส่งประกันสังคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่หลังจากวิกฤตนี้รัฐต้องมองไปถึงคุณภาพชีวิตของคนดนตรีที่เขาหาค่ำกินเช้าด้วย เพราะเขาก็ควรได้รับสวัสดิการพื้นฐานเช่นกัน เพราะคนกลุ่มนี้มีเยอะและเป็นกลุ่มคนที่จะสามารถผลักดันในแง่ของการสร้างเศรษฐกิจที่ดีในอนาคตได้

มีความคืบหน้าอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังการยื่นหนังสือครั้งนั้น

สิ่งที่เป็นรูปธรรมสิ่งแรกคือโควตาจัดสรรวัคซีน ตอนนี้ภาครัฐมีโควตาวัคซีนมาให้เพื่อนๆ ในสมาพันธ์ลงชื่อ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนคนนอกที่พลาดโอกาสหรือไม่ทราบข่าวมาลงกับเราได้ โดยเขาให้เหตุผลว่านี่คือโควตาตกหล่นจากการลงทะเบียนในช่วงแรก 

สองคือมาตรการเยียวยาที่ให้ผู้ประกันตนที่เป็นอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ไปลงทะเบียนมาตรา 40 เพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยที่ต้องจ่ายประกันสังคมขั้นต่ำเริ่มที่ 70 บาทก่อน จึงจะสามารถเอาตัวเองไปยืนอยู่ในระบบประกันสังคมได้ ซึ่งเมื่อมีสิ่งนี้เกิดขึ้น เราก็พยายามที่จะให้ความรู้กับสมาชิกว่าคุณควรจะต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบ เผื่อภายภาคหน้าสมาพันธ์มีมูฟเมนต์ที่ต้องการจะทำให้เกิดสวัสดิการต่างๆ ที่ทั่วถึงทุกคนจริงๆ รัฐจะได้ตรวจสอบได้ว่าพวกคุณมีตัวตนอยู่จริง ไม่งั้นพอเกิดสถานการณ์อย่างนี้ขึ้นมา อาชีพคนดนตรีก็จะกลายเป็นคนตกหล่นอีก

นอกจากการแก้ปัญหาในระยะยาว พวกคุณยังทำ ‘เปิดหมวกเฟสติวัล’ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของคนดนตรีแบบเร่งด่วนด้วย งานที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง 

เกิดขึ้นตอนที่เราคุยกันกับโอมนี่แหละ ว่าจุดประสงค์ของพวกเราคืออยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่ไม่มีงาน มันเลยเกิดการประชุม รับสมัครคนดนตรีเข้ามาคุยกัน และได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่เราต้องทำเป็นอันดับแรกและด่วนที่สุดเลยคือหาเงิน เพราะทุกคนไม่มีเงินแล้ว 

พอได้ไอเดียว่าจะทำเป็นมิวสิกเฟสติวัลเลยได้พี่เต็ดมาช่วย และให้ไอเดียว่าถ้างั้นเราทำเป็นธีมเปิดหมวกดีไหม คนจะได้บริจาคตรงไปหานักดนตรีเลย งานของเราจะถ่ายทอดสดวันละ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน ผ่านยูทูบ 14 วันติด โดยที่มีศิลปิน นักร้อง นักแสดง สลับกันโชว์ไปเรื่อยๆ ไม่จำกัดรูปแบบการแสดง หรือหากใครไม่ถนัดร้องเราก็มีพื้นที่โฆษณาให้ จะขายอะไรก็ได้ 

สำหรับคนที่ไม่ได้ประสงค์อยากจะให้โอนเงินเข้าตัวเอง เราก็จะขึ้นบัญชีกลางให้ เพราะฉะนั้นคนดนตรีที่เข้ามาร่วมกิจกรรมของเราก็จะได้รับรายได้สองทางเลย คือ หนึ่ง–เมื่อโชว์ของคุณอยู่บนหน้าจอแล้วมีคนโอนเข้ามาให้คุณโดยตรง สอง–พอจบงานปุ๊บ ยอดทั้งหมดที่มีการโอนเข้าบัญชีกลาง เราจะนำมาหารเท่าให้กับวงดนตรีทุกวงที่เข้ากิจกรรม 

สิ่งที่เราหมายมั่นกันไว้คืออย่างน้อยๆ การมาร่วมกิจกรรมของพวกเขาครั้งนี้จะต้องได้เงินมากกว่า 5,000 บาท เพราะเราไม่อยากแพ้รัฐ

มองอีกแง่หนึ่ง กิจกรรมนี้ก็เหมือนเป็นการเปิดรับบริจาคและให้ประชาชนช่วยกันเองอีกครั้ง 

ใช่ มันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนเลย เรารู้ แต่สิ่งที่เราทำก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ถ้าให้เห็นภาพคือเหมือนตอนนี้เราเป็นแผล เลือดออก อันดับแรกคือต้องซับเลือดก่อน แต่เรายังสมานแผลไม่ได้เพราะรัฐยังไม่ให้ยามารักษา สิ่งที่เราทำตอนนี้คือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจริงๆ 

คำถามคือถ้ารัฐยังทำงานช้าต่อไปแบบนี้ เราจะต้องทำยังไงกันต่อ เปิดหมวกเฟสติวัลงานมันมีถึงแค่วันที่ 1 สิงหานี้เอง แล้วในเดือนกันยาฯ ตุลาฯ พฤศจิกาฯ หรืออีก 5 เดือนนับจากนี้จะทำยังไงกันต่อ ถ้าเกิดคุณยังควบคุมตรงนี้ไม่ได้ เราว่าก็มีแค่สองอย่างคือ ถ้าคนไม่ตายด้วยโรคก็ฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากอดตาย 

หลังจากนี้เราจะรอให้ประชาชนช่วยเหลือกันเองไม่ได้แล้ว เพราะคนที่ยังพอมีเงินบริจาคเมื่อ 1-2 เดือนก่อน ตอนนี้เขาก็เริ่มที่จะไม่มีแล้วเหมือนกัน การช่วยเหลือมันค่อยๆ ลดสเต็ปลงมาเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ เราเชื่อว่าคนทั้งประเทศรู้ นั่นคือประชาชนต้องได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น คนถึงจะกล้ากลับมาใช้ชีวิต ทำงาน และเดินหน้าต่อไปได้

อยากชวนคิดภาพเล่นๆ ว่าถ้าหากเรามีผู้นำหรือผู้บริหารที่เห็นค่าของดนตรีหรือศิลปะขึ้นอีกสักนิด ชีวิตคนดนตรีจะเป็นยังไง

เรามองว่านักดนตรีประเทศไทยเก่งมาก เชื่อไหมว่านักดนตรีหลายๆ วงได้ไปโชว์ที่เวทีใหญ่ๆ ระดับโลกเยอะมาก แต่กลับไม่ได้รับการพูดถึงหรือสนับสนุนเลย

เราเลยมีคำถามกับทางภาครัฐบ่อยครั้งเหมือนกันว่าในเมื่อคุณให้ค่ากับนักกีฬาไทยเวลาไปแข่งเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกได้ ทำไมกับศิลปินที่ได้ไปโชว์ที่เมืองนอกถึงไม่มีข่าวเลย ไม่มีคนรู้จักพวกเขาเลยทั้งๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเหมือนกัน 

หลายๆ ครั้งพอเกิดเหตุการณ์แบบนั้น เรามองว่ารัฐต้องเลิกหากินกับความสำเร็จของประชาชนได้แล้ว แต่ควรหันมาพัฒนาตัวเอง พัฒนาศักยภาพคน ไม่ใช่การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง 

รัฐควรมองให้เห็นศักยภาพของคนไทยในสายอาชีพต่างๆ และผลักดันให้โลกเห็น เพราะไม่ว่าสายอาชีพไหนก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้เหมือนๆ กัน

เรามองว่าผู้บริหารประเทศหรือคนมีอำนาจอาจจะไม่ต้องชำนาญในทุกๆ เรื่องก็ได้ เพราะอำนาจในการบริหารประเทศมันถูกจัดวางด้วยกระทรวง ทบวง กรมอยู่แล้ว เราไม่ได้พุ่งเป้าไปว่านายกต้องเล็งเห็นทั้งหมดนี้คนเดียว แต่คำถามคือคนที่รับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบส่วนนี้อยู่เขามีความเข้าใจจริงแล้วหรือยัง ถ้าเข้าใจเขาจะต้องทำงานได้ดีกว่านี้ 

เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุข ถ้าเขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของระบาดวิทยาจริงๆ ปัญหาวัคซีนก็จะไม่มีเรื่องแบบนี้ มันคือการตั้งคำถามกลับไปว่าคนที่รัฐบาลเอามาทำงานหรือดูแลในภาคส่วนความรับผิดชอบนี้ทำได้ดีแล้วจริงหรือ

ปัญหาคือรัฐมักสั่งหรือจัดการปัญหาทุกอย่างโดยอยู่บนหอคอยงาช้าง

ใช่ คนที่ทำงานในส่วนภาครัฐทั้งหมด ถ้าเขาเป็นคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎรจริงๆ เขาต้องรู้สิว่าราษฎรที่เขาเป็นตัวแทน ณ ขณะนี้ใช้ชีวิตและประสบปัญหายังไงบ้าง แต่เพราะคนที่เข้าไปทำงานดันไม่ได้มาจากราษฎรจริงๆ ไง ประชาชนไม่ได้เลือกเขาเข้าไป เขาเลยทำงานโดยไม่เคยลงไปดูเองกับตาว่าสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญจริงๆ เป็นยังไง

เรามองว่าการทำงานและการบริหารมันประจักษ์ด้วยผลงาน สิ่งที่เขาทำในช่วงวิกฤตแบบนี้มันเลยทำให้หลายๆ คนตาสว่างขึ้นโดยไม่ต้องมีใครไปแทรกแซงหรือเป็นแกนนำล้มล้างรัฐบาลชุดนี้เลย เพราะมันเห็นกันอยู่แล้ว 

ในขณะที่เราพูดคุยกัน ดูเหมือนว่ารัฐจะมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์อีกครั้ง คุณคิดเห็นยังไง

(หัวเราะแห้ง) เรียกว่าคงต้องอยู่ในภาวะจำยอม เราได้แต่หวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่หากถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงก็ยอมรับว่าริบหรี่ ขอเลขกับไอ้ไข่ยังมีโอกาสถูกหวยมากกว่าต้องรอบริหารงานจากรัฐบาลแบบนี้

แต่เราก็จะยังคงติดตามการทำงานจากภาครัฐเรื่องวัคซีน อย่างที่บอกถ้าคนยังได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง กิจการต่างๆ หรือแม้แต่เราเองก็กลับมาทำงานไม่ได้ 

ถึงแม้วันนี้ศิลปินจะผลิตผลงานเพลงออกมามันก็ไม่ดังหรอก เพราะคนไม่ได้อยู่ในภาวะที่อยากรื่นเริงแล้ว ทุกคนเศร้า เครียด ไม่มีอารมณ์มาร้องเพลง เต้น หรือมาทำอะไร เรามองว่าในเมื่อสถานการณ์ตอนนี้เรายังไม่สามารถสร้างความสุขให้กับประชาชนได้ เราก็ต้องออกมาเรียกร้องให้เขากลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้ได้

อีกเรื่องคือเรื่องการสื่อสารของภาครัฐ ทุกครั้งที่รัฐมีการสื่อสาร ไม่ว่าจะสั่งปิด-เปิด ให้ล็อกดาวน์ เราขอแค่อย่างเดียวเลยคือกรอบเวลาที่ชัดเจน ว่าแผนของคุณเป็นยังไง บอกมาเลยว่าจัดการไม่ไหว ต้องล็อกดาวน์ 5 เดือนชัวร์ๆ ก็ล็อกดาวน์ได้นะ แต่คุณต้องมาพร้อมมาตรการเยียวยาด้วย 

การสื่อสารที่ดีมันควรมาพร้อมการอุดรอยรั่วของสิ่งที่ประชาชนจะถาม จะออกคำสั่งหรือจะพูดอะไรมาสักอย่าง คุณต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนแล้วค่อยสื่อสารออกมา ไม่งั้นมันก็เป็นปัญหาแบบนี้ 

ขอบคุณรูปจาก ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย


Call Out By Your Name คือซีรีส์ที่รวมการต่อสู้เรียกร้องในนามประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมและได้รับผลกระทบจากรัฐในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ติดตามตอนต่อไปที่หน้าเว็บไซต์และทุกช่องทางของ a day

AUTHOR