ทำไมแฟนคลับจึงเลิกสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด? มากกว่าความผิดหวังต่อตัวบุคคล คือการให้บทเรียนจากวัฒนธรรมการแบน

จากเหตุการณ์ของ ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเรื่องชู้สาว การคุกคาม สู่การฟ้องร้อง ม.112 ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงจำนวนมาก ทั้งจากผู้คนภายนอกและผู้มีชื่อเสียงในวงการเพลงไทย ตั้งแต่ที่ข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่าง จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายย้ายข้างไปย้ายข้างมา ทำให้เกิดการแบนศิลปินหลายท่านจากเหตุการณ์นี้

แต่จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีวัฒนธรรมการแบน (Cancel Culture) เกิดขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีศิลปินและนักแสดงหลายท่านกระทำผิด ทั้งในแง่ศีลธรรมและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการนอกใจ อย่างกรณีของ หนุ่ม กะลา, การล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน กรณีของ แทอิล NCT, การเหยียดเชื้อชาติและสีผิว กรณีของ Kanye West, รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย การใช้สารเสพติด การกลั่นแกล้งผู้อื่น การฉ้อโกง และการขับขี่โดยประมาท เป็นต้น

นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมแฟนคลับจึงเลิกสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด และวัฒนธรรมการแบน (Cancel Culture) ในปัจจุบันนั้นเป็นเช่นไร? a day จึงชวนเหล่าแฟนคลับวงการ T-Pop และ K-Pop ที่ตัดสินใจเลิกเป็นแฟนคลับ พร้อมทั้งหยุดสนับสนุนผลงานของศิลปินที่กระทำผิดด้านศีลธรรมและกฎหมาย มาพูดคุยถึงประเด็นนี้

ทำไมแฟนคลับจึงเลิกสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด? มากกว่าความผิดหวังต่อตัวบุคคล คือการให้บทเรียนจากวัฒนธรรมการแบน

แบนเพื่อมอบบทเรียน ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง

“ระยะเวลา 10 ปีในชีวิต เรามีศิลปินเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทั้งเชิดชูและสนับสนุนผลงานทุกอย่าง จึงยากที่จะไม่มีความคาดหวังด้านความถูกต้องต่อศิลปิน ตอนนี้เราไม่สามารถฟังเพลงด้วยความรู้สึกเดิม เพราะเรื่องราวครั้งนี้จะแทรกขึ้นมาพร้อมความรู้สึกแง่ลบเสมอ”

เจมส์ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นแฟนคลับของ ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ มานานถึง 10 ปี แต่ตัดสินใจเลิกติดตามและสนับสนุนศิลปินที่เคยชื่นชอบ เพราะเขารู้สึกผิดหวัง เศร้า และโกรธต่อการกระทำผิดของศิลปิน ซึ่งนอกใจภรรยา มีชู้ รวมถึงประกาศข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อสาธารณชน

หากศิลปินกระทำความผิดด้านศีลธรรมหรือกฎหมาย โดยที่ปัญหานั้นยังไม่คลี่คลาย รวมถึงศิลปินยังไม่สำนึกผิด หรือเปลี่ยนแปลงตนเอง เขาจะหยุดติดตามในฐานะแฟนคลับ เพราะไม่อยากสนับสนุนคนที่กระทำความผิด และมองว่าเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวของศิลปินซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าแฟนเพลงบางคนไม่ได้เห็นด้วยต่อการกระทำผิดนั้น แต่ยังคงอยากฟังเพลงที่เคยมีความหมายต่อตัวเอง เขาคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะเสพผลงานนั้นอย่างไรไม่ให้สนับสนุนศิลปินผู้กระทำผิด เช่น ไม่แชร์เพลงในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ซื้ออัลบัมและบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น เพื่อไม่ให้พื้นที่สื่อ หรือสร้างประโยชน์โดยตรงแก่ศิลปิน

“ถ้าศิลปินกระทำความผิด แฟนคลับไม่ควรเข้าข้างและสนับสนุนต่อในทันที เพราะศิลปินจะไม่ได้รับบทเรียนจากสังคม ทำให้ไม่รับรู้ความผิดของตนเอง ในขณะเดียวกัน ศิลปินอาจมองว่า ต่อให้ทำผิดร้ายแรงแค่ไหน แฟนคลับจะยังคงสนับสนุนอยู่ดี การสนับสนุนศิลปินที่กระทำความผิดจึงไม่ต่างอะไรจากการให้ท้ายคนผิด และทำให้ศิลปินลอยตัวเหนือปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้น” 

เจมส์กล่าวว่า ‘วัฒนธรรมการแบน’ (Cancel Culture) คือการไม่สนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด เพื่อมอบบทเรียนให้แก่พวกเขา ดังนั้น ผู้คนจึงควรแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล หรือแสดงออกว่าไม่สนับสนุนก็เพียงพอแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องโจมตีและสร้างความเกลียดชัง เพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียที่เราคาดไม่ถึง

“การแบนคนคนหนึ่งควรใช้ความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด เพราะเหตุการณ์อาจซับซ้อนมากกว่าที่คิด เราจึงไม่ควรรีบด่วนสรุปและตัดสินว่า ใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด”

อีกทั้ง ในกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรกและไม่ใช่เรื่องร้ายแรง รวมถึงศิลปินได้รับโทษทางกฎหมายและบทเรียนจากสังคมแล้ว หากในอนาคต ศิลปินคนนั้นกลับตัวกลับใจ และแก้ไขสิ่งที่เคยกระทำผิด พวกเขาสมควรได้รับโอกาสในการแก้ตัว เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเคยผิดพลาดกันทั้งนั้น

“เราไม่เห็นด้วยต่อการใช้ ม.112 มาแก้แค้นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นคดีชู้สาวหรือคดีอื่นก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น การกล่าวอ้างสถาบันเพื่อข่มขู่ผู้อื่นด้วยเหตุผลส่วนตัว ทำให้ ม.112 ยิ่งดูแย่ในสายตาของประชาชน เพราะถ้ากฎหมายยุติธรรมมากพอ จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเสียที”

ทำไมแฟนคลับจึงเลิกสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด? มากกว่าความผิดหวังต่อตัวบุคคล คือการให้บทเรียนจากวัฒนธรรมการแบน

ศิลปินมีโอกาสกลับตัว แต่แฟนคลับอาจไม่กลับไป

“ช่วงแรกที่มีข่าวลือ เราคิดว่ามันคือ Fake News ที่ต้องการโจมตีศิลปิน เพราะไม่มีการยืนยันจากต้นสังกัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ศิลปินออกมาโพสต์จดหมายขอโทษแฟนคลับ รวมถึงค่ายประกาศสั่งพักงาน 2 ปี ก่อนที่ ลูคัส จะถอนตัวออกจากวง NCT และ WayV ในภายหลัง

น้ำ (นามสมมติ) Content Creator ซึ่งติดตาม NCT มาตั้งแต่ที่วงเริ่มเดบิวต์ และยกให้ ‘ลูคัส’ เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ชอบที่สุด แต่เธอตัดสินใจเลิกสนับสนุนศิลปินท่านนี้ เพราะเขาปฏิบัติไม่ดีต่อหญิงที่เคยคบหาด้วย แม้ปัจจุบัน ลูคัสจะได้รับโอกาสเดบิวต์ในฐานะศิลปินเดี่ยว แต่เธอไม่มีความคิดที่จะกลับไปสนับสนุนเขาอีกครั้ง เพราะเธอไม่มีความสุขในการเสพผลงานเฉกเช่นเดิม

“การ Take Action ต่างๆ ของค่ายและศิลปิน คือเครื่องยืนยันว่าข่าวนี้มีมูลความจริง และมีเหยื่อผู้เดือดร้อนจากการกระทำของศิลปินอย่างแน่นอน ทำให้เรามองศิลปินที่เคยชื่นชอบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และไม่ได้มีความสุขในการชื่นชมผลงานของเขาแล้ว มันจึงง่ายมากที่เราจะตัดใจและเลิกสนับสนุนคนที่กระทำความผิด”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แฟนคลับบางคนอาจจะคิดว่า ‘ผลงาน’ ไม่เกี่ยวข้องกับ ‘เรื่องส่วนตัวของศิลปิน’ หรือเลือกที่จะให้โอกาสและสนับสนุนศิลปินอีกครั้ง เพราะบรรทัดฐานในใจของมนุษย์แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ผู้คนจึงประเมินระดับความร้ายแรงของปัญหาได้ไม่เท่ากัน บางคนอาจมองเป็นเรื่องใหญ่ที่รุนแรงมาก ขณะที่อีกคนอาจรู้สึกว่าให้อภัยได้

“เราไม่สามารถแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ เพราะทุกครั้งที่จะเป็นแฟนคลับของศิลปินท่านใด เราไม่ได้ชื่นชมแค่ผลงานเพลง แต่ชอบตัวตนที่ศิลปินคนนั้นแสดงออกมาด้วย จึงไม่อาจลบภาพที่ศิลปินกระทำความผิดออกไปได้”

น้ำ กล่าวว่า Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการแบนจะถูกต้องหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะบางกรณีเป็นเพียงข่าวโคมลอยที่ไม่มีหลักฐานมารองรับ ไม่มีเหยื่อ และไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ผู้คนกลับเลือกใช้ Cancel Culture เพื่อกดดันให้ศิลปินไม่มีที่ยืนในวงการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ในทางกลับกัน บางกรณีมีความผิดประจักษ์ชัดเจน ทั้งผิดกฎหมายและมีเหยื่อที่ได้รับความเสียหาย วัฒนธรรมการแบนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเปรียบเสมือนการไม่ให้แสงแก่ศิลปินที่กระทำผิด

“หากศิลปินที่กระทำความผิดสำนึกแล้ว เขาก็ควรได้รับโอกาสแก้ตัว แต่โอกาสนั้นอาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนตอนต้น ซึ่งคือผลของการกระทำที่ศิลปินต้องยอมรับ”

. . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ทำไมแฟนคลับจึงเลิกสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด? มากกว่าความผิดหวังต่อตัวบุคคล คือการให้บทเรียนจากวัฒนธรรมการแบน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสนับสนุนศิลปินที่กระทำผิด ทั้งที่เขาไม่เคยสำนึก กล่าวขอโทษ หรือปรับปรุงตัว นั้นไม่ต่างอะไรจากการให้สิทธิพิเศษ (Privilege) แก่ผู้กระทำความผิด เพียงเพราะเขาคนนั้นเป็นศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียง อย่าลืมความจริงที่ว่า มนุษย์ผิดพลาดได้ แต่มนุษย์ควรเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต และเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเช่นกัน

ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการแบน (Cancel Culture) ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่วิธีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ท้ายที่สุดแล้ว เราควรนำวัฒนธรรมการแบน (Cancel Culture) มาใช้อย่างเหมาะสมด้วยเจตนาที่ดี เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าความสะใจส่วนบุคคล

หวังว่าบทความนี้จะเป็นเครื่องย้ำเตือนแก่เหล่าศิลปินว่า การมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถกระทำสิ่งใดตามใจก็ได้ เพราะ ‘การสนับสนุนและโอกาสในการแก้ตัว’ มีไว้สำหรับคนที่สมควรได้รับเท่านั้น