ดอกไม้ในใจคุณเป็นแบบไหน? คุยกับ ‘ภมุ ภามุ’ นักเขียนหนังสือ Fallen เซรามิกแตกสลายและดอกไม้อื่นๆ

ดอกไม้ในใจคุณเป็นแบบไหน?

ดอกไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทั้งโรแมนติก งดงาม เปราะบาง และแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน เปรียบดั่งมนุษย์ที่มีส่วนผสมเหล่านี้ในคนคนเดียว วัฏจักรชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างอะไรจากดอกไม้ คือเกิดขึ้น เหี่ยวเฉา และตาย(จากภายใน)

เนื่องจากดอกไม้ต้องเจอแดดเจอฝนที่คาดเดาไม่ได้เลยสักวัน บางดอกมีกลีบบาง เพียงโดนฝนเม็ดเล็กๆ ตกใส่ก็บุบสลายอย่างง่ายดาย ขณะที่บางดอกกลับมีชีวิตรอดต่อไปได้ แม้จะเจอพายุโหมกระหน่ำ มนุษย์เองก็มีความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน จึงไม่อาจวัดได้ว่า ใครอ่อนแอมากกว่า ใครดีน้อยกว่า หรือสวยงามกว่ากัน

‘น้ำจ๋า – อมฤต จิตรนิรัตน์’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ภมุ ภามุ’ นักเขียนจากสำนักพิมพ์ P.S. Publishing เธอออกแบบดอกไม้ 16 สายพันธุ์ เพื่อเป็นตัวแทนของความรู้สึกภายในจิตใจมนุษย์ ผ่านหนังสือเล่มแรกอย่าง ‘Fallen เซรามิกแตกสลายและดอกไม้อื่นๆ’ เพราะหวังให้ผู้อ่านยอมรับความเปราะบาง และรักตัวเองให้เป็น

“แม้จะมีหนังสือที่สอนเรื่องการรักตัวเองเป็นล้านเล่ม แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องพยายามและต่อสู้กับเรื่องนี้ เราจึงอยากสื่อสารประเด็นนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

จุดเริ่มต้นในการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร

“เราไม่อยากส่งต่อพลังงานลบให้คนอื่น เราจึงพยายามแสดงออกว่ามีความสุข หรือทำตัวตลก เพื่อให้ทุกอย่างดูเหมือนปกติ”

ในวันที่รู้สึกไม่ดี เธอมักจะแสดงออกอย่างตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่แท้จริง และพูดมากเป็นพิเศษ เพราะต้องการกลบเสียงที่อยู่ภายในใจ ซึ่งบางครั้งคนรอบข้างอาจไม่พร้อมรับฟัง ดังนั้น ‘การเขียน’ จึงเป็นทางออกสำหรับเธอ เนื่องจากคนเราจะเขียนมากแค่ไหนก็ได้ตามที่ต้องการ โดยผู้อื่นสามารถเลือกได้ว่าจะอ่านหรือไม่ การสื่อสารความรู้สึกผ่านตัวอักษร ทำให้เธอรู้สึกผิดน้อยลง เพราะไม่ต้องบังคับใครให้มารับฟัง

“เราเขียนระบายความรู้สึก เพราะอยากบอกว่า ช่วยฟังเสียงของเราหน่อย”

จากจดหมายลาตาย สู่หนังสือเล่มแรก

ภมุ ภามุ เล่าว่าประสบปัญหาซึมเศร้าอย่างหนัก แต่ไม่สามารถปรึกษาหรือเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ได้ เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวที่ยึดถือแนวคิดอนุรักษนิยม พ่อแม่จึงมีมุมมองที่ไม่ดีต่อโรคนี้ หากมีอะไรมากระทบจิตใจ สิ่งเดียวที่เธอทำได้คือการเขียนระบายความรู้สึก เธอบันทึกเรื่องราวภายในใจด้วยข้อความสั้นๆ แทบทุกวัน จนไม่เหลือพื้นที่ว่างในสมุด

“อย่าก้าวเข้าไปสู่โลกที่ตัวเองชอบ อย่าเริ่มมันตั้งแต่แรก ถ้าเราไม่มีปัญญาที่จะสานต่อให้จบ การทำตามความฝัน มันเพ้อเจ้อเกินไปหรือเปล่า? เป็นนักเขียนไส้แห้ง แล้วจะเอาอะไรกิน”

เธอรวบรวมเรื่องราวจากสมุด โน้ตในโทรศัพท์ และข้อความเสียงที่เคยบันทึกไว้ แล้วเรียบเรียงใหม่เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความตั้งใจที่จะเขียน ‘จดหมายลาตาย’ ทั้งที่จริงแล้ว เธออยากเขียนหนังสือมาโดยตลอด แต่ไม่กล้าทำสิ่งที่ชอบ เพราะกลัวพาตัวเองกลับมาสู่โลกความจริงไม่ได้ จนกระทั่งเธอลองเขียนหนังสืออย่างจริงจัง จึงเริ่มตระหนักได้ว่าที่ผ่านมา เธอทรมานและฝืนตัวเองมากแค่ไหน

บทกวีที่แทรกอยู่ในบทต่างๆ เป็นเรื่องราวที่เธอเคยเขียนไว้อยู่แล้ว แต่เนื้อหาเรื่องดอกไม้คือสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เช่น ความหมาย ข้อควรระวัง และวิธีการดูแลดอกไม้แต่ละสายพันธุ์ ซึ่งเธอต้องสำรวจความรู้สึกเชิงลึกของตนเอง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เส้นทางระหว่างการทำงานนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกอยากมีชีวิตมากขึ้น

“การหยิบยกความรู้สึกส่วนลึกขึ้นมาบอกเล่าในที่สว่าง เปรียบเสมือนการยอมรับตัวเองในเวอร์ชันที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อจินตนาการว่า บทกวีนี้จะได้ตีพิมพ์ให้ผู้คนจำนวนมากได้มองเห็น ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราเป็น เราแตกสลายแบบนี้แหละ”

‘ภมุ ภามุ’ นักเขียนที่ปลดเปลื้องกำแพงความรู้สึก

ภมุ ภามุ นิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักเขียนโป๊’ เพราะการเขียนของเธอ เปรียบเสมือนการแก้ผ้าคุยกัน เธอไม่มีอะไรปิดบังนักอ่าน และไม่มีอะไรให้ค้นหาเพิ่มเติม อีกทั้ง เธอยังไม่อยากเป็นนักเขียนที่เข้าถึงยาก หรืออยู่เหนือผู้อื่น แต่อยากเป็น ‘คนธรรมดา’ ที่สื่อสารอย่างซื่อสัตย์ และเป็นเพื่อนกับนักอ่าน

“ต่อให้เราจะเขียนหนังสือ และเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่ความแตกสลาย และความเปราะบางไม่ได้หายไปไหน เราจึงอยากสื่อสารกับนักอ่านว่า มันไม่เป็นไรเลยที่เราจะซื่อสัตย์ต่อตัวเอง”

คอนเซปต์หลักของหนังสือ ‘เซรามิกแตกสลายและดอกไม้อื่นๆ’

คอนเซปต์หลักคือ อยากเปรียบเทียบความรู้สึกภายในใจให้เป็นรูปธรรม ซึ่ง ‘ดอกไม้’ เป็นภาพที่ทุกคนเข้าใจได้ง่าย แต่เธอไม่อยากนิยามดอกไม้ตามความหมายสากล เพราะอยากส่งสารสู่ผู้อ่านว่า ‘เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความหมายที่คนอื่นนิยาม’ จึงออกแบบ ‘ดอกไม้ภายในใจ’ ขึ้นมาใหม่ และนิยามความหมายด้วยตนเอง โดยบางสายพันธุ์นั้นดัดแปลงมาจากชื่อดอกไม้ที่มีอยู่แล้ว เช่น ดอกต้านตะวัน (ทานตะวัน) ดอกแหลกแลกพบ (รักแรกพบ) และดอกเฟื่องฝัน (เฟื่องฟ้า) อย่างไรก็ตาม ลักษณะรูปพรรณและฟังก์ชันการใช้งานของดอกไม้ในหนังสือจะแตกต่างจากความเป็นจริง

“สิ่งที่เราสร้างขึ้นใหม่อาจขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนอื่นก็ได้ มันไม่เป็นไร”

โดยหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 16 บทที่ตั้งจากชื่อของดอกไม้ 16 สายพันธุ์ ในแต่ละบทจะกล่าวถึงลักษณะทั่วไป เคล็ดลับในการดูแล ข้อควรระวัง และความหมายในภาษาดอกไม้ของสายพันธุ์นั้น รวมถึงบทกวีที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันแทรกอยู่ในบทต่างๆ

“การละทิ้งกลิ่นและน้ำหวานของตัวเอง เพื่อสนองความต้องการของผู้มาใหม่ ทำให้ดอกเฟื่องฝันเป็นที่ฝันเฟื่องของแมลงทั้งหลาย แต่เป็นที่น่าอับอายของดอกไม้ด้วยกัน” – ข้อความหนึ่งจากบท ‘ดอกเฟื่องฝัน’

หลายครั้งมนุษย์พยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะต้องการให้ผู้อื่นยอมรับและชื่นชอบ บางคนยอมแลกทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความรักที่โหยหา จนทำร้ายตัวตนของตัวเองจนหมดสิ้น โดยหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้ว ตัวเองต้องการอะไร? บท ‘ดอกเฟื่องฝัน’ จึงอยากให้ผู้อ่านจดจำไว้ว่า ใครคือคนที่สมควรได้รับความรักจากเรา

“แค่ยังหายใจอยู่โดยไม่ตาย (จากภายใน) ก็เก่งมากแล้ว”

เพราะการมีชีวิตอยู่นั้นยากมาก เธอจึงอยากบอกกับผู้อ่านว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นลูกสาวที่ดีของแม่ ไม่ต้องเป็นลูกน้องที่ดีของนายจ้าง ไม่ต้องเป็นเพื่อนที่ดีก็ได้ แค่ยังมีโอกาสในการแก้ไขหรือทำอะไรสักอย่างก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าเราจะอ่อนแอ ขี้ร้อง ขี้แพ้ หรือเป็นคนแบบไหนก็ตาม แต่เราทุกคนเก่งมากที่ยังหายใจอยู่

“การหายใจทั้งที่ไม่อยาก มันยากมาก จงยอมรับด้านเปราะบางของตนเอง”

จุดมุ่งหมายในการเป็นนักเขียนสำหรับ ‘ภมุ ภามุ’

เธอพูดอย่างหนักแน่นว่า เธอรักอาชีพ ‘นักเขียน’ มาก เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยชีวิตเธอไว้ และทำให้เธอรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่อีกครั้ง จึงอยากเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ โดยไม่คาดหวังหรือกดดันตัวเองว่าจะต้องประสบความสำเร็จแค่ไหน เพราะ ‘น้ำจ๋า’ ในวัยเด็กก็ไม่เคยรู้ว่า โลกนี้จะมีนักเขียนที่ชื่อว่า ‘ภมุ ภามุ’ ดังนั้น ตัวเธอในอนาคตจึงเปรียบเสมือนคนแปลกหน้าที่เธอไม่รู้จัก

“เราอยากเป็น ‘เพื่อนใจ’ ให้กับนักอ่าน หนังสือของเราอาจจะไม่ได้ทำให้เขาเจ็บปวดน้อยลง แต่อย่างน้อย เขาจะเจ็บปวดอย่างไม่โดดเดี่ยว คุณไม่ใช่คนเดียวในโลกที่รู้สึกแบบนี้ ในวันหนึ่งที่ผู้อ่านรู้สึกไม่ดี และต้องการคำพูดปลอบใจ เราหวังอย่างยิ่งว่า เขาจะนึกถึงข้อความในหนังสือของเรา”

อ้างอิงรูปภาพจาก สำนักพิมพ์ P.S. Publishing