กล้วย คือผลไม้ธรรมดาๆ ที่หาได้ทั่วไปตามตลาดเมืองไทย จะกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง กล้วยไข่ หรือกล้วยพันธุ์ใด ถ้าคิดอยากกินตอนนี้แล้วเดินออกไปซื้อก็คงได้กินทันที
เพราะความที่รู้จักกับกล้วยในลักษณะนี้ เราจึงไม่คิดว่า ‘กล้วย’ จะนำไปต่อยอดเป็นอะไรได้มากนัก โดยเฉพาะเป็นงานศิลปะที่แฝงความนัยมากมาย
แต่กับ กรุ๊ป–พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ นักวาดภาพประกอบเจ้าของลายเส้นดินสอยุ่งๆ ผู้หลงใหลในรสชาติของกล้วยและสิ่งง่ายๆ ไม่ซับซ้อน การนำกล้วยมาทำเป็นซีนเล่มบางอย่าง Banana Poetry นั้นเป็นไปได้ แถมยังสนุกด้วย
“เราอยากทำซีนเกี่ยวกับสิ่งของสีเหลืองมานานแล้วเพราะเราชอบใช้แม่สีในการทำงาน มันควบคุมง่ายกว่าสีอ่อนๆ อย่างสีพาสเทล และสีเหลืองก็เป็นแม่สีที่เตะตาดี
“พอพี่มิน (มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์) และพี่วุ้น (คณาพร ผาสุข) เจ้าของสตูดิโอภาพพิมพ์ The Archivist ชวนทำซีนด้วยเทคนิคสกรีนปรินต์เราจึงเลือกทำซีนเกี่ยวกับกล้วย อาจเพราะเราชอบวาดรูปผักผลไม้อยู่แล้ว เราว่าฟอร์มของกล้วยมันสวยดีและเราไม่ชอบอะไรที่ต้องตีความซับซ้อน กล้วยซึ่งเป็นผลไม้ที่เห็นได้ทั่วไปก็น่าจะเหมาะ” กรุ๊ปย้อนเล่าถึงที่มาของซีนกล้วยๆ ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2561 ให้ฟัง
เมื่อเฉพาะเจาะจงว่าซีนเล่มนี้จะว่าด้วยกล้วยล้วนๆ ไม่มีผลไม้อื่นผสม เธอจึงเลือกใช้กล้วยหอมเป็นตัวละครหลักเพราะรูปทรงสวย แถมยังดูเป็นสากลกว่ากล้วยชนิดอื่นที่อาจมีให้เห็นได้เฉพาะในไทยเท่านั้น จากนั้นจึงเริ่มลิสต์ว่าอยากให้ตัวละครของเธอแสดงเป็นอะไรบ้าง
“เราตั้งต้นจากว่ากล้วยมันก็มีชีวิต ดังนั้นถ้ากล้วยเป็นคนจะมีคาแร็กเตอร์ อาชีพ และลักษณะแบบไหน แล้วจึงลิสต์เรื่องต่างๆ ที่คิดไว้ออกมา ซึ่งก็เยอะพอสมควร แต่สุดท้ายก็คัดเฉพาะเรื่องที่คนน่าจะเข้าใจร่วมกันได้ง่ายกว่า
“อย่างเช่นหน้า first impression ฝั่งซ้ายมาจากมุมมองของเราที่ว่าเมื่อนึกถึงกล้วยทีไร เราก็มักจะมองว่ามันคือตัวแทนของเพศชายทุกครั้ง ส่วนด้านขวา เราแค่คิดว่ากล้วยมันดูเหมือนกันทุกลูกเหมือนเป็นครอบครัวกล้วย แต่จริงๆ แต่ละใบมันก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน”
นอกจากนั้นเธอยังหยิบความชอบส่วนตัวมาผสมสานกับกล้วยแต่ละใบให้ดูน่าสนใจ อย่างหน้า Life Achievement นั้นเกิดจากการที่สมัยก่อนเธอชอบสะสมสติ๊กเกอร์เพราะสติ๊กเกอร์ส่วนใหญ่มักใช้สีสดๆ และมีตัวอักษรประกอบคล้ายงานไทโปกราฟีที่เธอสนใจ เธอจึงเปรียบสติ๊กเกอร์ที่ติดกล้วยในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นดั่งเหรียญรางวัลของกล้วยแต่ละลูก
หรืออย่างหน้าหนึ่งที่ด้านบนเป็นภาพจากหนังเรื่อง The Breakfast Club เธอก็มองว่านั่นคืออาหารเช้าที่มาในรูปแบบของภาพยนตร์ ส่วนแพนเค้กประดับกล้วยด้านล่างนั้นคืออาหารเช้าในชีวิตจริง
“เราชอบดูหนังมากๆ และหนังนี่แหละที่ทำให้เราเปิดเพจวาดภาพของตัวเองเพื่อหยิบองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ในหนังมาวาดต่อให้เราได้บริหารสมอง ความชอบตรงนี้จึงทำให้เรามีคลังหนังในหัวเยอะและจะหยิบมาเล่นกับอะไรเมื่อไหร่ก็ได้” เธออธิบาย
นอกจากภาพเหล่ากล้วยจอมแก่นแสนน่ารักจะทำให้เราตกหลุมรักซีนเล่มนี้ได้ไม่ยาก อีกสิ่งที่ซีนเล่มบางๆ ตรงหน้าทำให้เราหายเครียดได้คืออารมณ์ขันของกรุ๊ปที่สอดแทรกมาให้เราได้ยิ้มน้อยๆ และขบคิดเบาๆ
“อย่างหน้ากล้วยหอมจอมซนนี่เข้าใจสิ่งที่เราสื่อไหม” กรุ๊ปโยนคำถามให้เราบริหารสมองก่อนจะเฉลยให้เราเข้าใจ
“คือไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปกล้วยหอมจอมซนก็ยังรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม ด้านขวาเราจึงเขียนว่าสารกันบูดคือความลับที่ทำให้เราไม่แก่เลย” เราหัวเราะไปกับมุกเล็กๆ ของเธอ
แต่ความโปกฮาของกล้วยยังไม่หมดเท่านั้น กรุ๊ปตั้งใจให้หน้ากลางของซีนเล่มบางๆ มีการ์ตูน 4 ช่องเกี่ยวกับกิริยาของกล้วยแทรกอยู่ ความเก๋คือกรุ๊ปวาดปกของการ์ตูน 4 ช่องเป็นผิวกล้วยที่เต็มไปด้วยกระ เหมือนชวนให้เราค้นหาว่าหากปอกเปลือกลายๆ นี้ออกไป จิตใจภายในของกล้วยแต่ละใบจะเป็นยังไงกันนะ
“หน้าก่อนเข้าเรื่องการ์ตูน 4 ช่อง เราเขียนไว้ว่า ‘What are you doing?’ แล้วพอพลิกหน้าต่อไปก็จะเจอกล้วยที่ทำกิริยาต่างๆ เพราะอย่างที่บอกว่ารูปร่างของกล้วยมันทำให้เราคิดต่อไปได้เยอะ เราเลยมาคิดว่ากล้วยมันจะเป็นอะไรได้บ้าง เช่น กล้วยเล่นโยคะหรือกล้วยนั่งอึ อีกอย่างเราว่ากล้วยมันเหมือนโลโก้รองเท้าไนกี้เลยวาดกล้วยที่ทำกิริยาแบบโลโก้ไนกี้อยู่ด้วย”
ความสนุกของซีนเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องราวของเหล่ากล้วยและมุกตลกที่กรุ๊ปแทรกมาเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ลายเส้นดินสอขยุกขยิก มีรอยขีดฆ่าเต็มไปหมด กรุ๊ปบอกว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละคือสไตล์งานของเธอที่ได้มาจากการเรียนกับอาจารย์ชาวต่างชาติในวิชาวาดภาพประกอบตอนอยู่ปี 2 เอกเรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เด็กไทยที่เรียนศิลปะทุกคนจะถูกสอนว่าเส้นที่วาดจะต้องสวย เพอร์เฟกต์ และไม่ออกนอกกรอบ เมื่อก่อนงานเราก็เป็นแบบนั้น แต่อาจารย์ชาวอังกฤษที่สอนวิชาวาดภาพประกอบตอนปี 2 เขาไม่จำกัดอะไรเลย เช่น ให้ลองวาดแบบไม่มองกระดาษหรือให้ไปนั่งวาดภาพที่จุดหนึ่งซ้ำๆ เพื่อดูว่าตรงนั้นมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม แล้วงานเราจะออกมาเป็นแบบไหน เราจะวาดอะไรยังไงก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากมาย
“การวาดแบบนี้เปลี่ยนความคิดของเราไปเลยว่าเราไม่จำเป็นต้องวาดตามที่ใครบอก ไม่ต้องวาดให้ตรงทฤษฎีเป๊ะๆ ก็ได้ ตั้งแต่นั้นเราจึงตั้งกฎให้ตัวเองว่าจะไม่ใช้ยางลบในการทำงานอีกต่อไปและทำให้เราเจอสไตล์งานของตัวเอง”
ไม่เพียงเนื้อหาในเล่มและปกหลังที่เต็มไปด้วยรอยขีดฆ่า หน้าปกของเล่มยังเขียนว่า ‘BANNA’ แล้วค่อยเติมตัว ‘A’ ที่ตกไปทีหลัง
“เชื่อไหมว่าเราเขียนผิดจริงๆ” กรุ๊ปหัวเราะ “เราเขียนคำนี้ด้วยดินสอไว้หลายแบบมากๆ แล้วค่อยนำมาสแกนลงคอมพ์พิวเตอร์เพื่อจัดวางอีกที พอดีว่าเวอร์ชั่นนี้ฟอร์มมันลงตัวที่สุดแต่เราดันเขียนตัวเอตกไป ถ้าจะเขียนใหม่ให้ได้แบบเดิมเราก็ทำไม่ได้แล้ว เลยเลือกเขียนแทรกแทน” เธออธิบายก่อนสรุปให้เราฟังถึงความสนุกที่ได้ทำซีนเล่มบาง
“ข้อดีของการทำซีนจากกล้วยคือกล้วยเป็นสิ่งที่เรากินแทบทุกวันและเราคุ้นเคยกับมันอยู่แล้ว จึงทำให้เราคิดต่อไปได้เรื่อยๆ ว่าจะวาดหรือจะเล่าอะไร แต่ความง่ายและความธรรมดาของมันนี่แหละก็ทำให้การวาดกล้วยแต่ละลูกให้เสร็จใน 1 ครั้งเป็นเรื่องยาก อย่างหน้าปกที่มีกล้วยวางเรียงกัน 3 ชั้นนั้นวาดได้ภายใน 1 ครั้ง แต่กล้วยในหน้าอื่นๆ ก็ต้องวาดซ้ำๆ ย้ำๆ จนกว่าจะได้กล้วยในรูปแบบที่เราพอใจ
“ความสนุกของการทำซีนเล่มนี้จึงเป็นการที่เราได้วาดกล้วยเยอะมากจนคิดว่าถ้าได้ทำซีนเกี่ยวกับของสีเหลืองอีกก็คงไม่วาดกล้วยแล้ว เพราะหมดมุก” กรุ๊ปบอกความในใจพลางหัวเราะ
zine : Banana Poetry
maker : กรุ๊ป–พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์
ขนาด 17.8 x 25.5 ซม. พิมพ์ 2 สี จำนวน 32 หน้าด้วยเทคนิค Screen Printing โดย The Archivist
พิมพ์ด้วยกระดาษสี Snow White และ White and Lido Yellow 150 เล่ม ราคาเล่มละ 450 บาท สั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ The Archivist