‘คนตัวเล็ก’ ซีนจากปลายปากกาของ 5 นักเขียนที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงใหม่ล่าสุดของ POTATO

ในปีนี้ วง POTATO กำลังจะก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 20 คนตัวเล็ก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลอดเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บทเพลงของ POTATO ได้ทำหน้าที่เป็นดั่งเพื่อนที่อยู่เคียงข้างและเติบโตมาพร้อมกับผู้ฟังอย่างพวกเราหลายๆ คน ทั้งในวันที่ต้องรวบรวมความกล้าไปสารภาพรักครั้งแรก ในวันที่อยากโยกหัวร้องเพลงเสียงดังในร้านเหล้า หรือในยามอกหัก เพลงของพวกเขาก็เป็นเหมือนเพื่อนตบบ่าคอยปลอบโยน (หรือไม่ก็คอยซ้ำเติมให้เจ็บจี๊ดขึ้นไปอีก)

และในปีที่ 20 นี้ POTATO ก็ขอกลับมาทวงตำแหน่งเพื่อนยอดเยี่ยมอีกครั้ง ด้วยอัลบั้มล่าสุดชุดที่ 8

‘Friends’ ที่แน่นอนว่าไม่ใช่การกลับมาแบบธรรมดาเหมือนอย่างเคย เพราะนอกจากเพลงเพราะติดหูที่สื่อมาถึงใจพวกเราได้ไม่ยากแล้ว พวกเขายังขนเพื่อนๆ ในวงการสร้างสรรค์มาร่วมกันสร้างซีน จากเพลง คนตัวเล็ก ซิงเกิลแรกของอัลบั้ม เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับแฟนเพลงที่อยู่เคียงข้าง POTATO มาอย่างยาวนานด้วย

“การกลับมาคราวนี้ของเราเป็นไปตามชื่ออัลบั้มเลย คือการร่วมงานกับเพื่อนๆ ซึ่งเรามองว่าการทำงานกับคนในสายงานอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเหมือนกันนะ ยิ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นวาระสำคัญเลย

“POTATO เองก็อยากจะอยู่เป็นเพื่อนคนฟังต่อไปเรื่อยๆ อยากเล่นดนตรีไปอีกยาวๆ คราวนี้แค่ปล่อยเพลงใหม่อย่างเดียวเลยไม่พอ เราคิดว่าต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้งานของเรามีความสร้างสรรค์อยู่เสมอ” ขจรศักดิ์ ศิริรัตนพิทยากุล label director of genie records หนึ่งในผู้ริเริ่มโปรเจกต์เล่าถึงความตั้งใจแรก 

เมื่อตั้งใจอยากให้การกลับมาครั้งนี้สดใหม่ ขจรศักดิ์และทีมจึงส่งต่อไอเดียนี้ไปยังเพื่อนๆ กลุ่มแรก นั่นคือ a day เพื่อให้พวกเขาช่วยกันนำบทเพลง คนตัวเล็ก ออกมาตีความเป็นสื่อที่มีความแปลกใหม่ สอดแทรกประสบการณ์การฟังเพลงที่ไม่มีทางหาได้จากการสตรีมมิง

“a day ได้รับโจทย์จากทางค่าย ginie records มาว่าอัลบั้มครบรอบ 20 ปีของ POTATO อยากทำอะไรที่พิเศษกว่าการปล่อยเพลงเฉยๆ ด้วยความที่ a day ถนัดทำคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว” จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหาร a day ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นโปรเจกต์

“ตอนแรกทางค่ายเห็นว่า a day เพิ่งทำฉบับรวมเรื่องสั้นชื่อ สถาน ณ กาล ไม่ปกติ เลยอยากให้พวกเราโปรโมตซิงเกิลใหม่ในรูปแบบที่ POTATO ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการโปรโมตเพลงผ่านเรื่องแต่งไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ติดตาม a day

“เมื่อหนึ่งในโจทย์สำคัญคืออยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เราจึงอยากใช้เครื่องมือที่ร่วมสมัยและน่าสนใจกว่าการเล่าด้วยท่วงท่าปกติอย่างหนังสือเล่ม ซึ่งสิ่งที่พวกเรานึกถึงคือ zine หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือหนังสือทำมือ เพราะช่วงไม่กี่ปีหลังเราเห็นว่างานที่เกี่ยวกับซีนโดยตรงอย่างเช่น Bangkok Art Book Fair ก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากคนรุ่นใหม่ เราเห็นความเป็นไปได้มากมายในการเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือนี้นอกจากการเล่าผ่านแค่ตัวอักษร”

หลังจากมีธงในการสร้างซีนที่แข็งแรงมากพอ ทีมงาน a day ก็เริ่มมองหานักเขียนที่ทีมเชื่อในฝีไม้ลายมือ และรู้ว่าสามารถผสมผสานสไตล์การเขียนของตนเองให้เข้ากับภาพรวมของซีนได้ ซึ่งนักเขียนทั้ง 5 คนที่เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ช่วยให้ซีนเล่มนี้ลงตัวได้ดั่งที่ตั้งใจ ประกอบไปด้วย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, ธนชาติ ศิริภัทราชัย, วิรชา ดาวฉาย และ Sy Chonato

โดยโจทย์ที่นักเขียนทั้ง 5 คนจะได้รับเหมือนๆ กันคือการไปฟังเพลง คนตัวเล็ก แล้วนำเนื้อหาในเพลงออกมาตีความอย่างอิสระ จนออกมาเป็น 5 เรื่องสั้น ที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องและรูปเล่มที่หลากหลาย ไม่จำกัดกระบวนท่าในการเล่า เพื่อให้แต่ละคนได้ใช้ศักยภาพของความเป็นกระดาษได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องยึดติดกับความเป็นรูปเล่มแบบเดิมๆ

วัชรพงศ์ แหล่งหล้า บรรณาธิการศิลปกรรมของ a day ผู้เป็นคนออกแบบรูปแบบของ zine บอกว่า “เราไม่ได้ตีความอะไรจากเพลงมากเป็นพิเศษ แต่อย่างที่ว่าไว้ว่าพวกเรามีสิ่งที่คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วคือ อยากให้ซีนเล่มนี้มีวิธีการเล่าที่หลากหลาย แม้จะเป็นบุ๊กเล็ตเหมือนกัน แต่เลย์เอาต์และการจัดวางของบุ๊กเล็ตแต่ละเล่มต้องไม่เหมือนกัน ซึ่งเราว่านี่แหละคือความพิเศษของซีน” 

หลังจากนั้นเนื้อหาทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปให้เพื่อนคนสำคัญอีกหนึ่งคนอย่าง ธนวัต ศักดาวิษรักษ์ หรือนักวาดภาพประกอบเอกลักษณ์ชัด ที่เราคุ้นเคยกันในนาม Bloody Hell Big Head ช่วยตีความเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นภาพอีกที

“ส่วนที่เราทำจะมีปกและภาพประกอบด้านใน ส่วนของปกเราตีความจากความรู้สึกตัวเองหลังจากฟังเพลงนี้ เราเรียกภาพนี้ว่า ‘Lost in Ocean of Star’ คือเป็นซีนของเมืองแห่งหนึ่งที่ผู้คนต่างออกมาเดินตามหาสิ่งที่ตัวเองทำหายไป เราเลือกใช้เมืองที่มีลักษณะบิดไปบิดมา เพื่อสื่อถึงความไม่ราบรื่น การหลงทาง การหาทางออกไม่ได้ ซึ่งจะเห็นว่ามีบางคนที่นั่งเหม่อ นั่งพัก และกำลังถามตัวเองว่าสิ่งที่พวกเขากำลังตามหาอยู่คืออะไรกันแน่

“ภาพประกอบของแต่ละเรื่อง เราเริ่มตีความจากเนื้อหาก่อน คือเลือกช่วงเวลาที่เราอยากวาดขึ้นมา โดยเราจะไม่สปอยล์เนื้อหาที่อยู่ถัดไปเลย ภาพประกอบของเราจะทำหน้าที่เป็นเพียงการจับประเด็นเรื่องราวเบื้องต้นที่ผู้อ่านกำลังอ่านอยู่เท่านั้น แต่ความสนุกที่แท้จริงของซีนเล่มนี้ เราเชื่อว่ายังไงก็ต้องมาจากการอ่านเนื้อหาทั้งหมดของเล่มอยู่ดี”

ผลที่ออกมาคือซีนเซตที่ชื่อเดียวกับซิงเกิลที่บรรจุซีนหลากท่าเล่าสุดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ที่อ่านได้ฉีกได้, บุ๊กเล็ตพกพาสะดวก, เกมบันไดงูที่เล่นได้จริงแถมเล่าเรื่องไปด้วย หรือเรื่องเล่าผ่านจดหมายพร้อมซองและโปสต์การ์ด รวมถึงซีดีซิงเกิลไว้ให้เปิดฟังเคล้าคลอไปกับการอ่านซีนแต่ละชุด 

บทเพลงของคนตัวเล็ก / จักรพันธุ์ ขวัญมงคล   คนตัวเล็ก

โปสเตอร์ คนตัวเล็ก

คนตัวเล็ก

“เราสื่อสารเรื่องคนตัวเล็กๆ ที่ทำในหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์และเต็มที่กับมันมามากพอแล้ว ตอนแรกเลยหนักใจเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้อยากเล่าแค่เรื่องคนตัวเล็กที่ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อเพียงมิติเดียว เราอยากตั้งคำถามต่ออีกว่าแล้วมีอะไรอีกไหมที่ทำให้คนเหล่านั้นยังเป็นคนเล็กๆ ได้อีก อยากชวนคิดเรื่องประมาณนี้ ซึ่งมันก็ทะยานไปจากตัวเพลงมากพอสมควร คงต้องกราบขออภัยวง Potato และผู้แต่งเพลงมา ณ ที่นี้ด้วย

“แรงบันดาลใจจริงๆ ของเราไม่ได้มาจากเพลงโดยตรง แต่มาจากการที่วันหนึ่งเราไปนิทรรศศการศิลปะที่มีพี่บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อดีตบรรณาธิการนิตยสารวิภาษาเป็น curator นิทรรศการนั้นว่าด้วยผลกระทบจากการรัฐประหาร และประเด็นเสรีภาพต่างๆ เราไปสะดุดตากับภาพภาพหนึ่งซึ่งมีบางอย่างกระทบใจเรามาก ดูแล้วชวนให้สงสัยไปหมด จนทนไม่ไหวต้องเดินไปถามพี่วิโรจน์ว่าภาพนี้มีที่มายังไง พี่วิโรจน์จึงเล่าที่มาของภาพ เมื่อฟังจบ เรานิ่งไปหลายวินาที และตัดสินใจบอกแกว่า “ผมขอเอาเรื่องที่พี่เล่าไปเขียนนะ” แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่รู้จะเขียนที่ไหน เขียนไปทำไมก็ตาม ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะเขียนได้หรือไม่ด้วยซ้ำ พี่วิโรจน์ยิ้มแทนคำตอบ ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเหมือนกัน”

อย่างที่มันเคยเป็นในตอนที่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น / จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  คนตัวเล็ก

บุ๊กเล็ต

คนตัวเล็ก

ตอนที่ได้อ่านเนื้อเพลง จินตนาการไม่ออกเลยว่าทำนองจะเป็นแบบไหนค่ะ ตอนแรกนึกว่า POTATO จะทำเพลงช้าสบายๆ แต่พอได้ฟังทำนองจริงแล้วรู้สึกว้าวมาก เพลงนี้มันไม่ใช่เพลงของเด็กวัย 18 แน่ๆ มันเป็นเพลงของคนที่ผ่านชีวิตมาในระดับหนึ่ง หรืออาจถึงขั้นประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองมาผิดทางหรือเปล่า รู้สึกได้ถึงความเศร้าลึกๆ ในนั้น 

“เรื่องนี้จะเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบทำอาหาร จนกระทั่งกลายเป็นเจ้าของช่องยูทูบทำอาหาร แต่แล้วความสำเร็จกลับนำเธอไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเธอกลายเป็นคนหลงทาง เราคิดว่าบางครั้งชีวิตก็เป็นแบบนั้น คือเมื่อเราเติบโต ทำงานมาเรื่อยๆ เราก็มักจะอยากคว้าทุกโอกาสที่เข้ามา จนบางทีก็พบว่า ‘นี่ฉันกำลังทำสิ่งที่ตัวฉันในตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดจะทำเลยนะ มันไม่ใช่ความฝันของฉันเลย’ 

“บางครั้งสิ่งที่ไม่ใช่ความฝันแต่เกิดขึ้นจริงก็เป็นประสบการณ์แสนดีของชีวิต แต่ในบางคราวมันคือการหลงทางที่น่ากลัวอย่างที่สุด เนื้อเรื่องจะทาบไปกับท่อนที่บอกว่า “ฉันเคยคิดว่าฉันต้องฝัน ต้องทำตามใคร จนทำตัวเองให้หล่นหาย” จนกระทั่งมาจบลงตรงที่ตัวเอกได้รู้ว่า “แค่พอดีข้างในหัวใจ ไม่ต้องฝืนไม่ต้องตามใคร” คือสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุดค่ะ”

คนตัวเล็ก / ธนชาติ ศิริภัทราชัย

บุ๊กเล็ต

คนตัวเล็ก

“เรารู้สึกว่าในเนื้อเพลงมันน่ารักและลงตัวดีอยู่แล้ว แต่เราอยากบิดให้มันไปไกลมากกว่าเนื้อเพลงที่เป็นเรื่องของความสุข เลยใช้แค่คำว่าคนตัวเล็ก มานึกต่อว่าจากคำนี้จะเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งมันมายากตอนที่เราเริ่มคิดกวนตีน พยายามจะบิดเรื่องนี่แหละ ถ้าเขียนตามเนื้อเพลงคงเสร็จไปนานแล้ว จนมานึกถึงเรื่องราวของคนที่มันชอบทำตัวใหญ่ ชอบถามคนอื่นว่า “รู้มั้ยกูเป็นใคร รู้มั้ยพ่อของกูเป็นใคร” เพราะจริงๆ ยิ่งเราโต เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าเราตัวเล็กมากในสังคมนี้ เราเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งเท่านั้นเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ไม่มีความหมายอะไรในสังคมนะ

“เรื่องสั้นของเรามาจากคนที่ชอบทำตัวเก๋าๆ ในผับ ที่เดินเข้าไปแล้วจะแบบ “มึงรู้หรือเปล่าว่าพ่อกูเป็นใคร มึงรู้หรือเปล่ากูเป็นใคร” แล้วปรากฏว่าคนที่มีปัญหากับมันเสือกรู้ว่ามันเป็นใคร เป็นคนที่ห่วยแตกแค่ไหน กลายเป็นว่าการที่ไอ้คนนี้มันเดินไปในผับแล้วทำตัวแบบนั้นคือการบำบัดตัวมันเองเท่านั้น ไม่ได้จะโชว์เก๋าอะไรได้หรอก สถานการณ์ในผับเราก็เอามาจากช่วงที่เราโตมามันชอบมีปัญหาคนเหยียบตีนกันในผับหรือมีปัญหากับคนตรวจบัตรหน้าผับ แค่รู้สึกว่าพอมีปัญหาในผับทำไมต้องถามคำถามพวกนี้ คือใครจะไปรู้มึงวะ มึงถามทำไมวะ”

คนตัวเล็ก / วิรชา ดาวฉาย 

เกมบันไดงู

คนตัวเล็ก

เราเชื่อว่าคนจะใหญ่จะเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของความฝัน และปริมาณของความพยายาม ที่เราตัวเล็กก็เพราะเราไปเทียบกับขนาดของความสำเร็จที่มันใหญ่ แต่หากเราพอใจในสิ่งนั้น จริงๆ แล้วเราจะเป็นคนตัวเล็กหรือใหญ่ก็ไม่สำคัญหรอก

“เราเลือกเอาท่อนหนึ่งในเพลงมาออกแบบเป็นการเดินทาง สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจไม่ใช่ตอนเริ่มต้นหรือทำสำเร็จ แต่มันคือกระบวนการทั้งหมด เพลงนี้ทำให้เราได้คิดว่าเราควรมีความสุขกับทุกๆ ก้าว และความจริงมันยังมีเพื่อนอีกตั้งหลายคนที่เดินตามความฝันอยู่กับเรา แต่เราก็ไม่ควรฝืนไปตามใคร เดินก้าวใครก้าวมัน ไม่ว่าจะตกช่องดีหรือร้ายในเกมกระดานนี้ โชคชะตาจะทำให้คุณต้องทอยเต๋าออกมาเป็นยังไง จงมีความสุขในทุกๆ ช่อง เหมือนตอนที่เรากำลังเล่นเกม”

Coconut in the Cassette / Sy Chonato

จดหมายและโปสต์การ์ด

คนตัวเล็ก

ตอนเราอ่านเนื้อเพลง เราคิดว่าเพลงนี้เหมือนเพลงให้กำลังใจ ให้ความหวัง แต่เราอยากลองหยิบมุมของการเป็นมนุษย์ที่เป็นปัจเจกออกมา เลยคิดพล็อตมาสองสามเรื่อง แต่ช่วงนั้นเราไปทะเลมาพอดี แล้วเห็นลูกมะพร้าวลอยน้ำดูสบายใจ ล่องลอยไร้ทิศทาง จนคิดว่ามันคงสามารถข้ามมหาสมุทรไปเกิดในดินแดนใหม่ได้เลยนะ เลยนึกไปถึงชีวิตหลังความตายที่เราอยากเป็นตัวเอง สบายใจในร่างกายของตัวเองจริงๆ

“เรื่องของเราเลยแรนด้อมมาก เป็นเรื่องของมนุษย์น้องสาวคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป กับผีชายร่างหนึ่งที่ไม่ได้ทำอะไรหวือหวาน่ากลัวเลย ออกกำลังกาย โยคะ ใช้ชีวิตเรียบง่ายไปวันๆ ช่วงนั้นเราฟังเดอะโกสต์เยอะด้วย จนเรารู้สึกว่าคนที่เล่าเรื่องผีทุกคนแค่อยากรู้ว่าผีเป็นใคร ตายยังไง แต่ไม่มีใครสนใจเรื่องที่อยู่ในใจของพวกเขาเลย ผีอาจจะแค่อยากใช่ชีวิตไปเรื่อยๆ ก็ได้ อยากฟังเพลงบอดี้สแลม เพลง POTATO ใช้ชีวิตเหมือนเราแหละ พวกเขาไม่ได้ต้องการทำลายบรรยากาศคนที่มีชีวิตอยู่เสียหน่อย แค่โลกมันซ้อนทับกันไปเฉยๆ”


คนตัวเล็ก Special Zine Set

ซีดีซิงเกิล คนตัวเล็ก ของวง Potato พร้อมเซตซีนบรรจุ 5 เรื่องเล่าหลากหลายลีลาว่าด้วยชีวิตคนตัวเล็กที่ตีความจากเพลง คนตัวเล็ก ของวง Potato ที่จะชวนให้ทุกคนนึกถึงเรื่องราวทั้งชีวิตของตัวเองในโลกที่เราต่างเป็นคนตัวเล็กคนหนึ่ง โดย 5 นักเขียนไทยร่วมสมัยราคาเซตละ 599 บาท สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจ GMM Music Store และ Shopee

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone