ผ้าป่าน สิริมา กับการพัฒนาตัวเองผ่านแบบฝึกหัดที่เรียกว่าความรัก

ความสัมพันธ์ทำให้เราได้พัฒนาตนเอง

ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสตรีทและนักแสดงสาว รวมถึงผู้จัดการแคมเปญเวิร์กช็อปนักสร้างสรรค์ Clapper CLUB เชื่ออย่างนั้น

หากใครติดตามซีรีส์ ‘Love So Hard รักยากสัส : The Series’ มินิซีรีส์ที่ฉายผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ A Katanyu มาจนถึงตอนที่สาม จะได้เห็นผลงานการแสดงชิ้นล่าสุดที่ผ้าป่านรับบทเป็น แก้ว แฟนเก่าของยูที่มีเหตุให้กลับมาเจอกันอีกครั้ง

แม้ความสัมพันธ์ในอดีตของยูกับแก้วจะไปกันไม่รอด แต่เมื่อทั้งสองคนได้ย้อนกลับมามองเรื่องราวในอดีตด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง

เราเลยชวนนักแสดงผู้สวมบทบาทเป็นแก้วมามองย้อนไปถึงความรักครั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของเธอบ้าง

ผ้าป่านเชื่อมโยงกับตัวละครแก้วยังไงบ้าง

แก้วน่าจะเคยเป็นคนที่งี่เง่า ต้องการเวลาจากยูมากๆ จนเลิกกันไป แต่ตอนนี้แก้วเป็นฝ่ายยุ่งเองบ้างแล้ว เลยทำให้เข้าใจยูขึ้นมา เข้าใจนะ เมื่อก่อนเราก็เคยงี่เง่าแบบนั้น แต่จะเราอยู่ในห้วงเวลานั้นน้อยมาก เพราะเราเป็นคนทำงานตั้งแต่เด็ก เลยเป็นคนที่โดนพูดว่าเราไม่มีเวลาให้เขามากกว่า ก็จะรีเลตกับแก้วในปัจจุบันที่จะโฟกัสเรื่องงานแทน

ถ้าให้ผ้าป่านเปรียบเทียบความรักเป็นอะไรสักอย่าง

นึกถึงคำว่า ‘พื้นที่’ คือเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยสำหรับเรา เป็นที่อยู่ ซึ่งจากคำนี้มันตีความได้หลายมุมมาก ถ้าเรารู้สึกรัก เราก็จะอยากอยู่ด้วย เป็นการสร้างพื้นที่ระหว่างกัน และถ้าเรารักอีกคนนึงและได้รับความรักกลับมา ก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นพื้นที่ให้กับเราในหลายๆ มุมได้ เช่น ถ้าเราไม่สบายใจก็สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังได้ เป็นพื้นที่ที่เราได้ระบาย ได้เสียใจ ได้มีความสุข ทุกอย่างมันจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้

สำหรับผ้าป่าน การจีบกันเป็นช่วงเวลายังไง

เราไม่รู้ว่าสำหรับผู้ชาย ช่วงเวลาจีบมันเป็นยังไง แต่สำหรับเรา ถ้าเราเป็นฝ่ายจีบจะรู้สึกว่าบรรยากาศในการจีบเป็นช่วงเวลาที่น่าตักตวงที่สุด คนที่เป็นคนจีบคนอื่นคือคนที่มีความสุข มีความสุขจังเลยที่ได้เห็นคนนี้ มีความสุขจังเลยที่ได้ทำอะไรให้เขา ช่วงเวลาก่อนที่จะรู้ว่าจะสมหวังหรือผิดหวังมันเป็นช่วงสุขที่สุดแล้วของความสัมพันธ์ เหมือนความรู้สึกมันจะไต่บันไดขึ้นไป แล้วก็จะไปพีคตรงที่ ‘คบกันนะ’ แล้วเขาตอบ ‘เยส’ ก่อนจะรู้ว่าจะร่วงหรือจะขึ้นไปต่อ

พอคบกันแล้วก็เป็นอีกแบบ มันจะกุ๊กกิ๊กๆ ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็จะยากในเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ เพราะมันเป็นการเรียนรู้และปรับตัวระหว่างกัน ตอนจีบมันจะไม่ต้องกังวลอะไรเลย เพราะเราเป็นคนดีเองโดยปริยาย อยากเป็นคนดีต่อหน้าเขาตลอดเวลา เป็นผู้หญิงที่แฮปปี้เพราะกำลังมีความรักจริงๆ แค่ได้มองก็รู้สึกว่ามีอีกฝั่งนึงแล้ว เราว่าโมเมนต์แบบนี้ต้องเก็บไว้ มันเติมพลังชีวิตมาก

ความรักครั้งแรกของผ้าป่าน

รักครั้งแรกกรี๊ดกร๊าดมาก ปั๊ปปี้เลิฟ เป็นอะไรที่วัยรุ่นจริงๆ ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.5 เรียนดาว้องก์ มีหนุ่มคนนึงน่ารักมาก ชอบเขาก่อนด้วย คุยกันนานมากแล้วก็ไม่ได้ตกลงเป็นแฟนกัน จำโมเมนต์ได้ว่าเดตกันครั้งแรกที่สยาม เป็นครั้งแรกที่จับมือกันเพราะสยามน้ำท่วม ต้องปีนม้านั่งเพื่อข้ามไปร้าน Photo Me เขาขึ้นไปก่อนแล้วส่งมือมาให้เรา จริงๆ เป็นแค่การจับที่พยุงขึ้นไป แต่เราตื่นเต้น ใจเต้นแรงมาก ในใจคิดอยู่อย่างเดียวเลยว่ามือเราสากมาก ไม่นุ่มเลย ทำไงดี ตอนจับมือเลยกำแน่นๆ ให้เขาไม่รู้ว่าเรามือสาก เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ตื่นเต้นมาก

เราคุยกับเขาประมาณปีนิดๆ แล้วก็ห่างกันไปตอนกำลังจะเข้าปี 1 เพราะว่าเรียนห่างกันด้วย คิดว่ามันเป็นความรักที่เด็กมาก ไม่ได้คุยกันจริงๆ ถึงสิ่งที่เราคิด เป็นเรื่องของความน่ารัก ว่าเราจะไปเดตที่ไหนดี จะทำอะไรดี พยายามสร้างอีเวนต์มาเพื่อเราสองคนมากกว่าการคุยแบบที่ใกล้ชิด เพราะเขาก็เขิน เราก็เขิน เลยจะคุยกันน้อยมาก

ทำไมไม่ตกลงเป็นแฟนกัน

เรามีแต่ความสัมพันธ์แบบที่ไม่ตกลงเป็นแฟนกับใครเลย เราไม่เคยบอกว่า เป็นแฟนกันนะ เพราะรู้สึกว่ามันประหลาดมาก และคนที่เราคบผ่านๆ มาก็ไม่เคยมีใครพูดแบบนี้เหมือนกัน คงเป็นสไตล์เดียวกัน

หลังจากนั้นมุมมองความรักเปลี่ยนไปยังไง

ช่วงมหาวิทยาลัย มันไม่ได้มาจากการที่เราคบกับใคร แต่เป็นการคุยมากกว่าที่ทำให้เราคิดขึ้นมาว่าความสัมพันธ์น่าจะเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ตกลงกับใครว่าเป็นแฟนกัน แต่จะมีคนเข้ามาคุยกับเรา แล้วก็จะได้คุยกันจริงจัง ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเริ่มจากคุยกันไปเรื่อยๆ หรือเป็นเพื่อนมากกว่า รู้แหละว่าเขามาจีบแต่มันไม่ใช่การจีบเพื่อเป็นแฟนกัน มันจะเป็น เฮ้ย เราสนใจในตัวเธออะ อยากคุยด้วย

เราชอบคุยกับคน หมายถึงคนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ในทางโรแมนติก แต่เป็นเพื่อนด้วย เลยรู้สึกว่าอะไรอย่างนี้เป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจ คุยกันว่าข้างในคิดอะไร แล้วมันพัฒนาไปเป็นอะไรได้บ้าง

ช่วงวัยมหาวิทยาลัยจนถึงเรียนจบช่วงต้นๆ เป็นความสัมพันธ์ที่เราใช้เวลากับการคิดและค้นหาตัวเอง จะชอบคุยกับคนแล้วเราได้รู้จักความคิดของเขา รู้จักตัวตนของอีกคน พัฒนาความคิดของเรา เรียนรู้จากความสนใจที่แตกต่างกัน สมมติไปดูหนังด้วยกัน พอออกมาคุยกันกระจุยก็จะสนุกกับสิ่งเหล่านี้ เราอินกับการถกกัน อินกับความรู้ที่จะได้จากการคุยกันมากกว่าการมีความรัก คิดว่าการได้คุยกันเป็นความสัมพันธ์อีกแบบ เป็นอีกสเตปที่ต่างจากตอนมัธยมฯ

ทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น

เพราะมันเป็นช่วงวัยที่อยากพัฒนาตัวเองมั้ง มันกระหาย ฉันอยากคุยกับคนเก่ง อินกับความฉลาด ชอบคนเก่ง รู้สึกว่าเราต้องการอินพุต มันเป็นช่วงที่เราพัฒนาตัวเองผ่านความสัมพันธ์ ตอนนั้นมันไม่รู้ตัวหรอก แต่มันมีอะไรที่ดึงดูดให้เราอยากคุยกับคนเหล่านั้น มันเป็นแบบช่วยสอนฉันที ช่วยบอกฉันที เราเข้าไปด้วยความกระตือรือร้นอย่างนั้น นี่คือการพูดแบบมองย้อนกลับไปเลยเล่าออกมาได้แบบนี้

แล้วเวลาที่ต้องห่างหรือเลิกกันไป เรารู้สึกยังไง

เวลาเลิกกัน เราจะเป็นคนที่ยังอยากคุยกับคนเหล่านั้นอยู่ เพราะคุยกันแม่งก็สนุกมากเลย แต่พอจะห่าง ไม่ได้คบกัน หรือพอจะเลิกกัน มันไม่ได้มีใครคุยกับเราได้เลย จะรู้สึกเสียดายสิ่งเหล่านั้นมาก มันเป็นความเจ็บปวดของเรามั้งว่าถ้าเราคบกันไม่ได้ เราเป็นเพื่อนกันไม่ได้เลยเหรอ เวรี่แซด

แล้วมันเปลี่ยนมาแบบปัจจุบัน ที่มองว่าความรักเป็นพื้นที่ของเราได้ยังไง

น่าจะเป็นตอนคบกับคนล่าสุด แต่มันไม่ได้เป็นเพราะเขาซะทีเดียว ไม่ใช่ความสวยงามหวานแหววว่าเจอคนนี้แล้วฉันเปลี่ยนไป แต่เป็นสิ่งแวดล้อมและอายุมากกว่า อายุไม่ได้กำหนดทุกอย่าง แต่อายุทำให้คนเราก็มีจังหวะชีวิตต่างๆ

อย่างเรียนจบแล้ว มีสังคมยังไง ไปทำงานแบบไหน ทุกอย่างมีส่วนที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เลยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มุมมองความรัก ความสัมพันธ์ หรือเรื่องอื่นๆ ของเรามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความรักตอนนี้ก็เลยเหมาะสมกับช่วงวัยนี้ ไม่ได้มองหาคนที่ฉลาดมากหรือเก่งมากแบบเดิม เรายังสนุกกับการคุยกับคนที่มีแนวคิดสนุกๆ มีเรื่องเล่าใหม่ๆ มีไอเดียแปลกๆ เพราะรากฐานเราเป็นคนที่อินกับเรื่องเหล่านั้น แต่มุมมองเรื่องความสัมพันธ์มันก็นิ่งขึ้น

จากที่รู้สึกว่าไม่ต้องมีความสัมพันธ์จริงจังก็ได้ เพราะเรารักอิสระ จะจริงจังไปทำไม วันนึงมันก็ต้องจบ ตอนนี้มองเป็นความท้าทายว่าเราจะรักษาความสัมพันธ์ได้ยังไง มันให้กระบวนการเรียนรู้มากกว่าที่ผ่านมาที่เป็นการคุยกัน รู้จักกัน แล้วพอคุยกันไม่คลิกก็บ๊ายบาย ทัศนคติของเรามันเปลี่ยน เป็นความท้าทายว่า เราจะลดตัวตนของเราได้ยังไง เรามองเห็นความสำคัญของอีกคนแบบไหน การรักษาความสัมพันธ์ตรงนี้ก็เป็นการพัฒนาตัวเองด้วย ก็สนุกดี

เรามองชีวิตเป็นเรื่องกลมๆ แล้วก็มองว่าเราจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างไร เป็นคนที่ดีขึ้นได้ยังไง เก่งขึ้นได้ยังไง ซึ่งความรักเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เราได้สำรวจตัวเอง ได้มองเห็นตัวเองและสามารถแก้ไขได้

จำเป็นไหมที่จะต้องลดตัวตนของเราในความรัก

แค่การใช้ชีวิต เราก็เชื่ออย่างนั้นแล้วนะ มันคือการลดตัวตน ลดอัตตาของเราเอง เพื่อจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้แบบไม่วุ่นวายใจ ถ้ายิ่งลดตัวตนได้ก็ยิ่งวุ่นวายใจน้อยลง ลดแรงกระแทกลง เพราะเราไม่ถือมันไว้ ความรักเป็นแบบฝึกหัดที่ตรงจุดนี้ที่สุดแล้ว ความรักเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการลดตัวตน ลดอีโก้ ถ้าเป็นเกม นี่ก็คือตัวบอสเลย เพราะในความสัมพันธ์มันจะมีเรื่องเข้ามาตลอด ก็ฉันคิดแบบนี้ เขาคิดอีกแบบ แล้วอะไรคือตรงกลางระหว่างกัน

เรามองว่าอุดมคติของความสัมพันธ์คือ เวลาที่รักกัน เราจะเอาโฟกัสเราไปอยู่ที่อีกคนนึงใช่ไหม ถ้าอีกคนมีโฟกัสอยู่ที่เราเหมือนกัน มันก็จะราบรื่นมาก เพราะมันคือการที่เราไม่ได้นึกถึงตัวเองก่อน แต่นึกถึงอีกคนก่อน เมื่ออีกคนแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ และในทางกลับกัน เขาก็พยายามทำให้เราแฮปปี้ด้วย นั่นคือสิ่งที่เกาะเกี่ยวให้ทั้งสองคนอยู่ด้วยกัน

อะไรทำให้ความรักเป็นเรื่องยาก

การลดอัตตาตัวเองเนี่ยแหละ ยากสุดแล้ว มันจะไม่ยากเลยในภาวะปกติที่เราสติดีๆ แต่ถ้าเรามีเรื่องปวดหัวมากเรื่องงาน เขาก็มีเรื่องปวดหัวเรื่องงานเหมือนกัน บางทีเราเจอเขาก็จะ เฮ้ย เราเจอแบบนี้มา โดยที่เราไม่ได้เอาเขามาก่อนเรา สุดท้ายแล้วเขาก็จะรับไปโดยรู้ว่าเราเครียดกับเรื่องเราอยู่ เลยไม่พูดเรื่องของเขาให้เราฟัง เราสบายใจขึ้นแต่มองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วเขาก็ต้องการระบายเหมือนกัน จะลดตัวเองยังไงให้ยังอยู่ตรงนั้นได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้เราก็จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย