สิ่งที่ผ้าป่าน สิริมา เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย

นางสาวสิริมา ไชยปรีชาวิทย์
รหัสนักศึกษา : 1500318983
ภาควิชาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกียรตินิยมอันดับ 1

หากเปรียบชีวิตของ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ เป็นภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เราคิดว่าเนื้อหาครึ่งแรกของหนังน่าจะมีสีสันที่ฉูดฉาด เพราะภาพสะท้อนตัวเธอในบทบาทพิธีกรรายการ Strawberry Cheesecake รุ่นที่ 1 คือภาพแรกที่ประทับลงไปในใจใครหลายคน

สิบกว่าปีผ่านไป เหมือนหนังหลายเรื่องที่เวลาเดินไวคล้ายโกหก

ปัจจุบันผ้าป่านเดินอยู่บนเส้นทางการเป็นศิลปินถ่ายภาพสตรีท เป็น Gallery Director ของ The Jam Factory เป็น Managing Editor นิตยสารฟรีก๊อบปี้ดีไซน์โมเดิร์น The Jam Factory Magazine เป็นโต้โผจัดงาน Art Ground สุดเท่ แถมช่วงปีหลังนี้เธอยังเขียนนิทาน 12 Tales ของตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ

ถ้านี่คือฉากชีวิตของผู้หญิงชื่อผ้าป่าน เราคิดว่าบทบาทของเธอค่อนข้างมีหลายรสชาติ

แต่ก่อนที่ผ้าป่านจะมีตัวตนที่ได้ลองทำหลายสิ่งอย่างในทุกวันนี้ เธอต้องเรียนรู้บทเรียนชีวิต เพื่อตกตะกอนเป็นวิธีคิดมามากมาย ก่อนวัยก้าวเข้าเลข 3 ในไม่ช้า เราถือโอกาสนี้ชวนผ้าป่านย้อนรำลึกถึงวิชาในรั้วมหาวิทยาลัยที่หล่อหลอมและมีส่วนเสริมสร้างตัวตนอันเข้มข้นของเธอ

เธอครุ่นคิด นึกย้อนกลับไปในวันที่เป็นนักศึกษาของภาควิชาภาพยนตร์รุ่นที่ 2 ในรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเล่าถึงวิชาเปลี่ยนความคิด อย่าง ‘การเขียนบทพื้นฐาน’ ที่คนในวงการหนังล้วนต้องผ่านการขัดเกลา และนี่คือชุดความทรงจำเกี่ยวกับการเรียนรู้ในรั้วสถาบันที่เป็นส่วนผสมชีวิตและการทำงานของเธอในปัจจุบันนี้

ภาพยนตร์เปลี่ยนชีวิต

“สำหรับป่าน ภาพยนตร์มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง มันทำให้เราเติบโตและมีพัฒนาการ ทำให้เรารู้สึกว่าต้องการทำความเข้าใจภาพยนตร์ อยากรู้เบื้องหลังว่าก่อนกลายมาเป็นหนังเรื่องหนึ่งเขาทำกันยังไง”

“เมื่อโตขึ้น เราพบว่าหนังเรื่องหนึ่งมีธีมที่ผู้กำกับพยายามสื่อสารกับคนดูในเวลา 2 ชั่วโมง คนดูจะได้ซึมซับเรื่องผ่านการเติบโตและการตัดสินใจของตัวละครในเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าเป็นหนังสูตรจะมีการเปลี่ยนแปลงจาก 1 นาทีแรกไปจนถึง 2 ชั่วโมงสุดท้าย ซึ่งจะทำให้คนดูได้ตระหนักคิด การดูหนังเป็นทางลัดให้เข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครนั้น เราจะได้ลองสวมความคิด ลองตัดสินใจในมุมมองของคาแรกเตอร์ต่างๆ เขาจะเลือกต่อสู้หรือจะยอมแพ้ สุดท้ายหนังทุกเรื่องจะกลายเป็น ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ จะสอนใจและให้แง่คิดบางอย่างกับผู้ชม”

“ในหนังบางเรื่องเล่าแบบ coming of age เรื่องราวอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-5 ปี บางเรื่องพูดถึงการเดินทางตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่เล่าจบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ท้ายที่สุดคนดูจะได้เรียนรู้ผ่านสิ่งนั้น โดยที่เราไม่ต้องใช้ชีวิตในการเรียนรู้ถึง 60 ปี แต่เนื้อหาถูกย่นย่อมาให้เราได้รู้และเข้าใจชีวิตไปพร้อมกับเขา”

วิชาการเขียนบทเปลี่ยนชีวิต

“วิชาที่ป่านรู้สึกร่วมมากเป็นพิเศษคือวิชาการเขียนบท (storytelling) ตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ป่านเลือกเรียนสาขาวิชาโปรดักชัน สาขานี้เขียนบทเยอะมาก ทุกคนที่เลือกต้องเรียนการเขียนบทพื้นฐาน 2 ตัว สำหรับป่านวิชานี้เป็นการทำความเข้าใจโครงสร้างของภาพยนตร์อย่างถ่องแท้ เราคิดว่าวิชานี้เปลี่ยนวิธีคิดตัวเองมากที่สุด ป่านรู้สึกได้รับประโยชน์จากการเขียนบทเยอะ เพราะเราได้กลับไปทบทวนและเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ ก่อนเขียน เราต้องศึกษาและเลือกสรรภาษาที่จะใช้ วิธีการที่จะเล่า ภาพในหัวที่จะสื่อ ทุกอย่างอยู่ในมือคนเขียนบททั้งหมด ดังนั้นเราต้องเป็นคนที่กำกับรอบแรก ก่อนที่ผู้กำกับจะเอาบทที่เรากลั่นกรองออกมาไปทำงานต่อ”

“ในสายตาของเรา กว่าที่คนหนึ่งจะเขียนบทออกมาเป็นรูปร่างเป็นเรื่องยากและลึกล้ำมาก ตัวเราเองไม่ได้เขียนบทมาก่อน เมื่อได้ลองเป็นนักเล่าเรื่อง จึงคิดว่ามีแต่คนที่เข้าใจบางสิ่งบางอย่างถ่องแท้เท่านั้นถึงจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างง่ายดาย เขาต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องที่ทำอยู่จริงๆ เหมือนคนที่เข้าใจเรื่องอาหารการกิน จะเล่าเรื่องของกินให้คนอื่นฟังได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

“วิชาการเขียนบทสร้างตัวตนและมีอิทธิพลกับการนำองค์ความรู้มาใช้ในการเรียงลำดับสิ่งต่างๆ เช่น เวลาเราจะเล่าเรื่องในหนังสือ เวลาเราพูด หรือแม้แต่เวลาเราทำงานภาพถ่าย เรารู้จักการเรียงลำดับเป็นขั้นตอน การเรียนการเขียนบททำให้เราตระหนักว่าทุกโครงสร้างของทุกเรื่องราวมีวัฏจักรของตัวเอง ทำให้เรามองว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงานหรือความสัมพันธ์ ทุกสิ่งคือก้อนกลมๆ เป็นบทที่ต้องเขียนไปเรื่อยๆ ชีวิตเราจึงเป็นหนังเรื่องย่อยๆ สั้นๆ ในแต่ละช่วงวัย เช่น ภายในปีนี้วงจรของเราคืออะไร ตอนต้น กลางและจบเป็นแบบไหน จุดพีคและวิกฤตในชีวิตของเราช่วงนี้คืออะไร ภายใน 5 ปีหรือแม้กระทั่งภายใน 1 วัน หรือใน 1 ปัญหา เราคิดว่าทุกอย่างมีโครงสร้างของการเล่าเรื่องฝังอยู่ ทุกอย่าง คนเราใช้ชีวิตประจำวันล้วนต้องเจอ inciting incident และประสบปัญหา ซึ่งจะทำให้เราต้องก้าวเข้าไปสู่บันไดอีกขั้น หรือโลกอีกใบ การแก้ไขปัญหาแนบชิดในทุกอณูของชีวิต เรารู้สึกว่ามันสำคัญมากขนาดนั้นเลย”

“ส่วนหนึ่งเราเป็นคนที่พอรู้เรื่องอะไรสักอย่างแบบเข้มข้นมากๆ เราจะรู้สึกว่ามันช่างยิ่งใหญ่ การจะเป็นคนเขียนบทจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาที่เราเป็นคนเสพเราถึงชื่นชมมันมาก ให้คุณค่ากับสิ่งนี้เยอะในแง่มุมของการผลิตและเคารพคนทำหนังและคนเขียนบทมากๆ”

อาจารย์ของชีวิต

“พูดถึงวิชาการเขียนบท เราจะนึกถึง อาจารย์โอม-ศรณ์พัฒน์ ปราการะนันท์ เขาเป็นอาจารย์ของชีวิตเรา การสอนของอาจารย์น่าสนใจมาก เขาทำให้เราได้อะไรมากกว่าแค่ตัววิชา เขาสอนด้วยวิธีที่ดูง่าย ชอบเล่าเกร็ดความรู้ เต็มไปด้วยการยกตัวอย่าง อาจารย์โอมทำให้เราเห็นว่าจริงแล้วๆ ทุกคนสามารถเล่าเรื่องได้ โดยพื้นฐานป่านคิดว่าเราทุกคนเชื่อมโยงเรื่องราวหลายอย่างเข้าด้วยกันอยู่แล้ว ทุกคนจึงเป็นนักเล่าเรื่องได้”

“อาจารย์เราถ่ายทอดวิชา storytelling ออกมาง่ายๆ แล้วก็สนุกด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งเราประทับใจมาก เขาให้นักศึกษาในคลาสทำแบบฝึกหัดที่น่าตื่นเต้น เป็นการละลายพฤติกรรมความกลัวการเขียนของผู้เรียน อาจารย์เล่าข่าว 2 ข่าวให้ทุกคนฟัง ข่าวแรกเป็นเรื่องแผ่นดินไหว พูดถึงความเชื่อที่ว่ามีปลาดุกอยู่ใต้ผืนดิน ถ้ามันสั่นหนวดเมื่อไหร่จะทำให้แผ่นดินไหว และข่าวอีกเรื่องเป็นเรื่องของรถไฟใต้ดิน เขาตั้งโจทย์ให้ลองเขียนล็อกไลน์ (Log Line) เป็นการเขียนโครงเรื่องหนังคร่าวๆ จากข่าว 2 เรื่องนี้ แล้วจะไล่บททีละแนว ทุกคนจะมีเวลาเขียนแต่ละอันประมาณ 5 นาที ภายในจำนวน 5 ประโยค

“วันนั้นนักศึกษาในคลาสเหวอเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากแต่เราประทับใจสุดๆ เพราะเหมือนรีดเอาพลังและศักยภาพที่ซ่อนในตัวของนักศึกษาออกมา เราจะเขียนอะไรก็ได้ไม่มีถูกหรือผิด จะดึงข้อมูลตรงไหนมาก็ยังได้ อาจารย์เริ่มจากแนวดราม่า ครอบครัว ทริลเลอร์ จนครบทุกประเภท ก็จะมีบางคนที่เขียนบาง genre ได้ดี และเขียนบาง genre ไม่ได้เลย อาจารย์สรุปให้เราฟังว่ามันคือการทดลองดึงความเป็นตัวเองออกมาให้มากที่สุด เป็นเหมือนสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานสะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราเสพหนังแบบไหนเยอะจะทำให้มีเรฟเฟอเรนซ์แบบนั้นในหัวเพียงพอ ทำให้เราได้สำรวจว่าตัวเองเหมาะกับการเขียนบทแบบไหน”

“เรารู้สึกว่าการเขียนบทมอบวิธีคิดและตรรกะที่ดีให้ เพราะเราต้องฝึกคิดให้ลุ่มลึก เราคิดว่าตรรกะสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมสมัยนี้ ทำให้คนที่ทะเลาะกันและไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น เราขาดการคิดเข้าไปให้ถึงแก่น ขาดการวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ถ้าเรามองอย่างลุ่มลึก คงไม่มีความขัดแย้งกันขนาดนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราได้รับวิธีคิดนี้จากอาจารย์โอมเต็มๆ เลย เป็นวิธีคิดที่ปรับใช้กับชีวิตได้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ห้องเรียน ไม่ได้หยุดแค่วิธีการเขียนบท เรากำลังเดินออกมาใช้ชีวิตจริงที่ต้องจัดการเรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลา”

AUTHOR