เทศกาลดนตรีชื่อว่า ‘เต้ย Freshtival’ เกิดขึ้นด้วยการปลุกปั้นจากชาย 2 คน
คนหนึ่งในนั้นหลงใหลการดูคอนเสิร์ตเป็นชีวิตจิตใจ แต่ดันมีภูมิลำเนาไกลถึงอีสาน เมื่อมีวงดนตรีต่างประเทศเข้ามาเล่นที่ไทย เขาต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เสียค่าที่พัก และค่าบัตร เพื่อไปรอชมคอนเสิร์ตที่อยากดูราว 2-3 ชั่วโมงและเดินทางกลับ จึงเกิดคำถามว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น และคิดว่าบ้านตัวเองทางฝั่งอีสานน่าจะมีเฟสติวัลที่นำวงดนตรีต่างประเทศมาเล่นให้ดูบ้าง
เขาจึงนำความคิดที่ว่าไปหาคนที่มีความเชื่อเช่นเดียวกัน และเพื่อนอีกคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการคอนเสิร์ตก็เห็นดีงามด้วย ตกลงจับมือสนับสนุนร่วมกันทำความเชื่อที่เป็นดั่งความหวังของกันและกันให้เกิดขึ้น
ก่อนสงสัยว่า เต้ย Freshtival คืองานอะไร ผมอยากชวนไปทำความรู้จัก 2 คนที่ว่ากันก่อน
1
เบ๊นซ์–ภวินท์ อัศวพัฒนากูล เป็นคนขอนแก่นที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่เมื่อเรียนจบแล้วเขาเลือกจะไม่กลับบ้าน เพราะรู้ว่าเมื่อกลับไปยังไงก็ต้องสานต่อธุรกิจของที่บ้าน เลยตัดสินใจทำธุรกิจของตัวเองเสียที่นั่น
“เราไม่อยากกลับบ้านแค่นั้นเลย คิดแค่นั้นเลย เอารถที่แม่ซื้อให้ไปขายมาใช้เป็นทุน และเปิดร้านเหล้าชื่อว่า มหานิยม”
เริ่มต้นด้วยคำว่าแค่…
จนตอนนี้ร้านมหานิยมนั้นเกินความตั้งใจของเขาไปมาก ผ่านร้อน ฝน หนาว มาแล้ว 10 ปี ได้ชื่อว่าเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งในภาคอีสานที่มีวงดนตรีนอกกระแสจากทั่วฟ้าเมืองไทยไปเล่นมากมาย ทั้งจากเจ้าของร้านเลือกวงที่อยากฟังมาเล่น ทั้งแฟนเพลงเรียกร้องอยากดูโชว์ของวงนอกกระแสที่เริ่มมีชื่อเสียง และเมื่อไหร่ที่วงดนตรีไหนมีทัวร์ภาคอีสานก็ไม่พ้นต้องปักหมุดไปเล่นที่มหานิยม
ไม่ใช่เพียงแต่แฟนเพลงเท่านั้นที่ได้สิ่งที่ดี เพราะนักดนตรีเองก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามหานิยมเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้พบปะแฟนเพลงที่ตั้งใจมาฟังเพลง มาชมการแสดง อุดหนุนผลงานกันอย่างจริงจัง ร้านของเขาในโซนภาคอีสานจึงกลายเป็นอีกสถานที่ที่รู้จักและค่อนข้างโด่งดังในซีนดนตรีนอกกระแสทั่วประเทศ
2
อ้น–อิงกาญจน์ ผลโพธิ์ เป็นคนทำงานด้าน visual merchandiser ออกแบบให้กับหลากหลายแบรนด์ ทำงานอยู่กับอาชีพนี้ราว 10 ปี เขาเป็นคนชอบฟังเพลงและมักนำเสนอเพลงที่ชอบ หยิบยื่นให้คนอื่นๆ ได้ฟังเสมอ ระหว่างช่วงที่ยังทำงานประจำเขาเปิดเพจชื่อว่า Alternative Thai ตั้งใจเอาไว้แชร์เพลงที่ชอบ เพื่อเป็นทางเลือกอื่นๆ ให้กับคนที่ชอบหาเพลงฟัง
จากเป็นแอดมินเพจ เขาต่อยอดสิ่งที่ทำออกมาเป็นอีเวนต์ที่ชื่อว่า P.A.S.T งานคอนเสิร์ตที่หวังให้วงดนตรีนอกกระแสทั้งหน้าใหม่ น่าสนใจ และน่าฟัง ได้มีพื้นที่ไว้นำเสนอผลงาน มาปล่อยของและเพื่อกระจายทางเลือกสำหรับช่องทางการเสพดนตรีของคนฟังเพลงให้ได้มากยิ่งขึ้น
งาน P.A.S.T จัดขึ้นหลายครั้งที่ PLAY YARD by Studio Bar สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันดีของกลุ่มนักดนตรีและคนฟังเพลงนอกกระแส งานของเขาได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ การจัดงาน ทำให้บรรดาค่ายเพลงและอีเวนต์หลายๆ เจ้าเริ่มมาชวนไปทำงานด้วย และแน่นอนเขาตัดสินใจเปลี่ยนสายงานตัวเองจาก visual merchandiser มาเป็นผู้จัดงานอีเวนต์จนถึงทุกวันนี้
“หลังจากงาน P.A.S.T ที่เราจัดจบลง ต่อจากนั้นก็ไปอยู่กับฟังใจ ตอนนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่ฟังใจเพิ่งก่อตั้ง เราเข้าไปเป็นอีเวนต์เมเนเจอร์คนแรก ดูแลงานอย่างเช่นเห็ดสดครั้งที่ 1 เรื่อยไปจนถึงครั้งที่ 3 แล้วก็ขอออกมาเพราะเราอยากไปทำอะไรที่เป็นของเราเองมากกว่า”
อ้นเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้จัดงานอีเวนต์ และน่าจะเป็นคนที่คุ้นหน้าค่าตาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังงานดนตรีหลายๆ งานที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ รวมถึงต่างจังหวัดด้วย
3
ความหวังของเบ๊นซ์คือการได้ดูวงดนตรีที่อยากดู และได้พาวงดนตรีต่างประเทศไปเล่นที่บ้านเกิดในภาคอีสาน ถูกเติมเต็มด้วยการพบกันกับอ้น ทั้งสองคนกลายเป็นพี่น้อง เป็นคนสนิท และเป็นทีมเดียวกันจนถึงทุกวันนี้
ทั้งสองคนไปรู้จักกันตอนไหน ผมชวนเปิดบทสนทนา
“จริงๆ เรารู้จักกับเบ๊นซ์ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำฟังใจด้วยซ้ำ ตอนนั้นเราเป็นผู้จัดการวงให้กับหลายๆ วง ในกลุ่มที่ชื่อ Octave จะมีศิลปินอย่าง Jelly Rocket, Zweed n’Roll, Stoondio, Moving and Cut ฯลฯ เริ่มสนิทกับเบ๊นซ์มากขึ้นก็ตอนที่เอาวงไปเล่นที่ร้านมหานิยม” อ้นเท้าความให้ฟัง
“เราไม่รู้ด้วยว่าพี่อ้นเป็นผู้จัดการวง” เบ๊นซ์เสริม
มั่นใจอะไรในกันและกันถึงได้ตัดสินใจทำงานร่วมกัน ผมยิงคำถามต่อ
เบ๊นซ์ตอบกลับ “ไม่มีความมั่นใจอะไรเลย อันนี้พูดจริงๆ แค่รู้ว่าเขาเป็น event manager คิดว่าเขาน่าจะช่วยเราได้แน่นอน คุยกันสักระยะจนสนิท จากนั้นจึงตัดสินใจชวนมาทำคอนเสิร์ต ก็คือรู้นิสัย คุยกันรู้เรื่องเพราะพี่อ้นไม่ใช่นักธุรกิจ ส่วนเราแม้จะทำธุรกิจ (ทำร้านมหานิยม) แต่เราก็ไม่ได้ทำแบบนักธุรกิจ เราเป็นนักพนัน”
มันเป็นแบบไหนนักพนันที่ว่า
“คอนเสิร์ตทุกงานที่ร้านเราจัดขึ้น เราไม่เคยขายบัตรล่วงหน้าเลยนะ ไม่เคยเลยแม้แต่งานเดียว ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนจะเยอะหรือจะน้อย เพราะเราให้เกียรติคนมาเร็ว คือถ้าต้องเปิดจองโต๊ะ พอบางคนรู้ว่าตัวเองมีโต๊ะแล้ว เขาจะไม่ออกมาเร็ว คนมีโต๊ะแล้วส่วนใหญ่มักจะถามว่าวงขึ้นกี่โมง เขาก็ไม่มาดูวงเปิด คอยแต่จะมาดูวงที่ตัวเองอยากดู ส่วนตัวเราอยากให้วงเปิดได้มีโอกาสโชว์ให้คนมางานได้เห็น เราก็เลยตัดปัญหาด้วยการขายบัตรหน้างาน ถ้าถามถึงเรื่องธุรกิจไม่มีใครชอบหรอกที่ทำแบบนี้ แต่มันก็แฟร์กับคนมาฟังและนักดนตรี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่”
“จริงๆ ที่ทำ เต้ย Freshtival ก็เหมือนการพนันชนิดหนึ่งของพวกเรานะ เราสนุกกับการได้พนันมากกว่า” อ้นพูดต่อ
อ้นเริ่มจุดบุหรี่มวนแรก ส่วนเบ๊นซ์กำลังวุ่นวายอยู่กับการเช็กความเรียบร้อยของที่ร้านผ่านมือถือ
ตอนเริ่มพนันกับการจัดงานเต้ย Freshtival ในปีแรก มั่นใจว่าได้หรือเสีย ผมชักเริ่มสงสัยมากขึ้น ไม่ทันจบคำถามอ้นตอบกลับอย่างรวดเร็ว “มั่นใจว่าเสียแน่นอน” คำตอบของเขาปนเสียงหัวเราะของเพื่อนอีกคนไว้ด้วย
พวกเขาเล่าว่าในงาน เต้ย Freshtival ครั้งแรก คืองานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นงานที่คุยกันเพียงเวลาแค่ 19 วันและเริ่มต้นทำงานกันเลย “น่าจะบู๊ที่สุดเท่าที่เคยทำ คือความบู๊ที่เป็นไปตามช่วงวัย แต่มองว่าถ้าไม่ทำก็คงไม่ได้ทำสักที” อ้นชวนนึกถึงความหลัง
ผมลองให้ทั้งคู่ไล่เรียงไลน์อัพวงดนตรีที่ร่วมเล่นในงานครั้งแรก และพบว่ามีวงดนตรีนอกกระแสซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีชนิดที่นักฟังเพลงไม่ควรพลาดอย่าง Desktop Error, Bomb at Track, Solitude is Bliss, Srirajah Rockers, electric.neon.lamp, และ Stoondio
แม้งานนี้จะมีไลน์อัพที่น่าชมขนาดไหนก็ตาม แต่อย่าลืมว่าครั้งแรกของงานนี้เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็พอจะรู้ว่าวงดนตรีเหล่านี้อาจยังไม่ได้รับความนิยมเท่าทุกวันนี้ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งานครั้งแรก “เสียแน่นอน”
“ถ้างานจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เราคิดว่าขายบัตรหมดชัวร์ๆ และที่สำคัญบัตรถูกมากๆ ด้วย แต่กลับกันงานเราจัดที่ขอนแก่นขายบัตรในราคา 250 บาท มีวงดนตรีทั้งหมด 6 วง แต่ได้ผลตอบรับมาว่า บัตรแพง” อ้นเล่าให้ฟังและผมเชื่อว่าเขาทั้งคู่คงเข้าใจในผลที่เกิดขึ้น
เบ๊นซ์เล่าต่อว่า “คนไม่เข้าใจเรื่องราคาบัตร อย่างเช่นคอนเสิร์ตที่กรุงเทพ บัตรขายแพงกว่าที่เราตั้งอย่างมาก ส่วนมหาสารคามคนก็บ่นว่าแพงเหมือนกัน ทั้งๆ ที่การจ้างวงไปเล่นต่างจังหวัดแพงกว่าที่กรุงเทพฯ จ้าง ที่กรุงเทพฯ จ่ายหลักๆ ก็เป็นเฉพาะค่าตัว ส่วนจ้างไปเล่นต่างจังหวัดต้องมีค่าเดินทาง ค่าโรงแรม ค่ากิน บวกเข้าไป แล้วบางวงมีสมาชิกเป็น 10 คน ซื้อตั๋วไป-กลับ 10 คน แถมรถตู้อีกสองคัน”
เบื้องหลังที่ต้องพบเจอ แม้บางครั้งให้ผลลัพธ์เป็นความเหนื่อยจากการเลือกทำตามสิ่งที่ชอบจนอยากเลิกทำก็ตาม แต่ความหวังที่อยากจะมีวงดนตรีที่อยากดูและวงดนตรีต่างประเทศไปเล่นในภาคอีสานของพวกเขานั้นยังคงเดินหน้าต่อ
แม้จะบอกว่างานครั้งแรกจะเสียมากกว่าได้ แต่พวกเขายังไม่หยุดสานความตั้งใจ สำหรับเต้ย Freshtival ครั้งที่สองดูจะรุกหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันว่า จะเลือกวงดนตรีต่างประเทศหนึ่งวงมาเล่นในงาน และ The fin. วงดนตรีจากแดนอาทิตย์อุทัยก็เป็นคำตอบ
เบ๊นซ์บอกว่า “จริงๆ ที่ตัดสินใจเอา The fin. ไปลงครั้งที่สอง เพราะเราอยากให้มีวงเมืองนอกที่ไม่ต้องตีรถมาดูที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว เราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานเลยว่า ส่วนตัวเราเองชอบดูคอนเสิร์ต แล้วเวลามีวงต่างประเทศมา เราก็ทิ้งร้าน ซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อจะมาดูคอนเสิร์ตแค่นี้ แล้วก็บินกลับ ซึ่งโคตรเปลืองเลย ค่าเดินทาง ค่าบัตรรวมเบ็ดเสร็จก็ร่วมหมื่น เราเลยรู้สึกว่าก็คงมีคนที่คิดเหมือนเราว่าทำไมไม่มีใครเอาไปให้ดูใกล้ๆ บ้าง ก็เลยลองเอา The fin. มาในปีที่สอง”
ผ่านการจัดงานมาสองปีได้รับอะไรกลับมาบ้าง ผมถามต่อ
“ได้หนี้” และผมได้ยินเสียงหัวเราะรื่นจากทั้งคู่
หนี้ที่ว่าถูกชำระด้วยรถเก่าจำพวกเวสป้าหรือรถตู้โฟล์กที่เบ๊นซ์สะสม และตอนนี้ไม่เหลือรถแล้ว พวกเขาบอกว่างานครั้งที่สองนั้นถือว่าเจ๊งไม่เป็นท่า ก็เพราะการนำวงญี่ปุ่นมาร่วมเล่นในงานของพวกเขานั่นแหละ
อ้นบอกว่า “เหมือนการนำวงนอกมาเล่นก็เป็นการพนันในครั้งที่สองของพวกเรา ครั้งที่สองมี 7 วง และเราเลือกขายบัตรที่ 500 บาท”
“ซึ่งที่กรุงเทพ The fin. วงเดียวเขาขายบัตร 1,500 บาท แต่คนที่ขอนแก่นก็มองว่าบัตรแพง เราโดนด่าเรื่องบัตรแพงจนรู้สึกท้อ” เบ๊นซ์เปรียบเทียบให้ฟัง
หลังควันเทาลอยคลุ้งในอากาศ อ้นพูดต่อ “จริงๆ โดนบ่นทุกปี แต่รู้สึกว่าเราต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของคนมางานให้ได้ ถ้าหากใครมองว่าบัตรแพงเราจะรู้แล้วว่านั่นไม่ใช่ลูกค้าเรา เราเริ่มจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลากับคนที่เขาไม่พร้อมจ่ายให้กับสิ่งที่เขาชอบ เหมือนกับพลาดมาสองครั้ง เราจึงกลับมาทบทวนปรับปรุงกัน เริ่มมีกระบวนการคิดใหม่ๆ ที่อยากลองละลายพฤติกรรมคนให้ได้
“เราเริ่มหาจากกลุ่มที่พร้อมซัพพอร์ตอยู่แล้วเขาก็จะมองว่าบัตรไม่แพง จากนั้นกลุ่มนี้ก็จะกระจายไปหาเพื่อนๆ ถ้าเพื่อนสนใจเห็นเพื่อนไปก็จะตามกันไปด้วย อีกอย่างเราพยายามสร้างงานที่มันค่อนข้างสดใหม่ในทุกๆ ปี ชื่องานเราจึงใช้คำว่า fresh เอามาเล่นกับคำว่าเฟสติวัล เพื่อให้รู้สึกถึงความหมายที่อยากนำเสนอ”
พวกเขาเรียกงานที่จัดขึ้นว่ามินิเฟส คืองานที่มีวงดนตรีเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 วงและมีเวทีเดียว จุดประสงค์ก็เพราะอยากให้วงดนตรีที่เล่นในงานนั้นได้เล่นอย่างเต็มเวลาและคนฟังจะได้ชมการแสดงของวงดนตรีได้อย่างเต็มที่ไม่ค้างคา
ในแต่ละปี เต้ย Freshtival จะมีไอคอนประจำงานที่ใช้ผักมาออกแบบ สร้างคอนเซปต์ให้ผักแต่ละชนิด อย่างปีแรกจะใช้เป็นผักกาดล้อไปกับคำว่า ‘ประกาศๆ’ เพื่อให้คนรู้ว่ากำลังมีงานเกิดขึ้น ส่วนปีที่สองเป็นผักคะน้าก็จะเล่นกับคำที่ว่า ‘พร้อมไหมคะน้า’ สำหรับปีที่สามจะเป็นผักสลัด สลัดก็เล่นไปกับ ‘โจรสลัด’
ในปีที่สามนี้เองที่เกิดธีมชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงได้เห็นเดรสโค้ดของงานที่จะล้อไปกับเรื่องของทะเล งานครั้งนี้ทุกคนที่มาชมคอนเสิร์ตมีโอกาสได้พกห่วงยางส่วนตัวไปคอนเสิร์ตกัน และยังได้ชมภาพเรือยางที่บรรทุกศิลปินลอยล่องไปบนมวลมหาชนในงาน เป็นต้น
สำหรับปีล่าสุดครั้งที่ 4 ผักที่นำมาเป็นไอคอนที่พวกเขาเลือกเป็นแคร์รอต เล่นไปกับคำพูดที่ว่า don’t care…don’t carrot และมีเดรสโค้ดเป็นแฟชั่นชุดออกกำลังกายหรือชุดกีฬา และอาจมีการเต้นแอโรบิกแบบตอนเย็นหน้าห้างสรรพสินค้าในระหว่างที่วงกำลังเซตอัพอีกด้วย
“หลังจากผ่านปีที่สามมา ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น พอรูปงานชัดมากขึ้น สปอนเซอร์ก็เริ่มเห็นถึงคุณภาพ เรามองว่าคนที่ยอมจ่ายราคาบัตรที่เราตั้งขึ้นจะช่วยให้งานเราเป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้ด้วย พอคุณภาพคนดี สปอนเซอร์เห็น สปอนเซอร์ก็เริ่มเพิ่มเม็ดเงินให้มากขึ้น พอเรามีเงินมากขึ้น เราก็เริ่มทำงานง่ายขึ้น
“จริงๆ เต้ยเป็นงานเน้นสนุกอยู่แล้ว สนุกด้วยความเป็นธรรมชาติของคนอีสาน เวลาดูคอนเสิร์ตเขาจะปล่อยหมดไม่คีปลุค เพราะฉะนั้นวงดนตรีที่ไปเล่นงานนี้ก็จะแฮปปี้ คนที่ไปดูก็แฮปปี้ ใครอยากเต้นก็เต้น อยากแหกปากร้องเพลงด้วยก็ร้อง เต้นก็เต้นกันทั้งงาน เต้นกันเหมือนไปเต้ยกันในงานหมอลำอะไรอย่างนั้น เหมือนเขาอินกับเพลง ในงานทุกคนเหมือนเป็นพวกเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน
“ตั้งแต่ปีที่ 3 ก็เริ่มมีกลุ่มคนที่ตีรถจากจังหวัดอื่นๆ มาที่งานบ้างแล้ว จากกรุงเทพฯ จากเชียงใหม่ และเคยมีคนที่มาไกลสุดคือจากเชียงราย ทางใต้จากนราธิวาส แต่ก่อนคนต่างจังหวัดต้องไปดูงานที่กรุงเทพฯ ตอนนี้เราเริ่มกระจายคนจากกรุงเทพฯ กลับไปต่างจังหวัดให้มีตัวเลือกมากยิ่งขึ้นได้บ้างแล้ว” อ้นพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดงาน
ไม่ใช่เพียงตั้งใจอยากจะให้มีวงต่างประเทศไปเล่นที่ภาคอีสานเท่านั้น ความตั้งใจของทั้งคู่ยังรวมไปถึงเรื่องระบบนิเวศของวงการดนตรี ที่อยากให้คนมางานได้มาเพื่อดูวงดนตรีที่อาจจะได้กลายเป็นแฟนเพลงกันต่อไปในอนาคต และวงดนตรีเองก็ได้เจอกับแฟนเพลงที่มาชมพวกเขาแสดงด้วยความตั้งใจ และผมมองว่าสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นอีกจุดแข็งที่งานเต้ย Freshtival มีมากพอจะทำให้คนตัดสินใจซื้อบัตรเข้าร่วมงาน
อ้นพูดถึงความตั้งใจอีกอย่างว่า “เราขายคุณภาพของวงดนตรีเป็นหลัก พยายามให้วงดนตรีได้เชื่อมต่อกับคนมาดูงาน โดยจะให้วงดนตรีแต่ละวงมี limited edition merchandise ที่มีขายเฉพาะงานเต้ยเท่านั้น เหมือนเป็นของสมนาคุณให้คนมางานได้ซื้อติดมือกลับไป แล้วเราวางเงื่อนไขไว้ว่าวงก็จะต้องไปนั่งขายเองด้วยนะ คนดูก็จะไปต่อแถวซื้อกัน ดูแล้วน่ารัก ได้อารมณ์คล้ายๆ Cat Expo ต่อแถว ถ่ายรูป ขอลายเซ็น เกิดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างศิลปินและคนที่มาร่วมงาน”
ก่อนจะเกิดหน้างาน ในส่วนของเบื้องหลัง แบ่งงานกันทำยังไงบ้าง ผมนึกขึ้นได้ระหว่างบทสนทนาเงียบลง
“เรียกว่าเป็นบริษัทแต่ทั้งบริษัทมีอยู่สองคน” อ้นกลืนควันคำโตก่อนจะปล่อยลอยกลับไปในอากาศ
“เราจะมีหน้าที่เป็นคอนเสิร์ตครีเอทีฟ ตั้งแต่คุยประสานงาน หาวงดนตรีที่จะมาเล่น คิดไอเดียคอนเซปต์แล้วไปเสนอเบ๊นซ์ว่าเห็นด้วยไหม แล้วก็จะนำมาคิดต่อว่าปีนี้จะทำอะไรกับคอนเซปต์ตรงนี้ เสร็จแล้วก็หาแขนขา คือคนทำอาร์ตเวิร์ก คนทำเครื่องเสียงเวที ทำอินสตอลเลชั่น พวกโปรดักชั่นในงานคอนเสิร์ตทั้งหมด รวมถึงการประสานงานสำหรับอุปกรณ์ที่วงดนตรีต้องใช้และอื่นๆ”
“ส่วนเราก็ลงพื้นที่ขอใบอนุญาตทุกอย่าง ขออนุญาตใช้สถานที่ เรื่องห้องน้ำ จองที่พักให้ศิลปิน รายละเอียดต่างๆ ที่ประกอบให้งานเกิดขึ้น เป็นเหมือนเจ้าถิ่นที่ดูแลเรื่องพื้นที่ในบ้าน ทุกอย่างจะมาจากกระบวนการความคิดจากเราสองคนเหมือนเป็นคนชักใย” เบ๊นซ์สรุป
จากแดดจ้า จนตอนนี้แสงอาทิตย์เริ่มเบาลง อ้นจุดบุหรี่มวนที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้ ส่วนเบ๊นซ์ยังคงวุ่นวายอยู่กับการเช็กความเรียบร้อยของที่ร้านผ่านมือถือ
ทุกวันนี้ยังเชื่อไหมว่า เต้ย Freshtival จะเป็นอย่างที่คาดหวัง ผมทำลายความเงียบ
อ้นบอกว่า “เราว่าดีขึ้นเรื่อยๆ มองจากปีนี้ทุกอย่างก็ดีกว่าที่ผ่านมา ถึงมันจะไม่ได้เยอะพอที่ครอบคลุมทั้งหมดได้ แต่สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นก็ช่วยลดอาการขาดทุนไปได้อีก แม้จะเสี่ยงอยู่ดีก็ตาม”
เบ๊นซ์หลบจากหน้าจอแล้วพูดว่า “เรากล้าพูดเลยว่าคนจัดคอนเสิร์ตเขามองกำไรมาก่อน แต่เรามองว่าเราขาดทุนชัวร์ๆ แต่ก็ยังอยากทำ คิดว่าจะทำยังไงก็ได้ให้ขาดทุนได้น้อยที่สุด เราเคยทะเลาะกับที่บ้าน เขาถามว่าเอาเงินไปทำอะไร ทำไปทำไม ทำไมไม่เอาไปทำอะไรให้มันดีกว่านี้ เราก็ตอบเขาไม่ได้ไง เราก็ตอบได้แค่ว่า คอยดู แล้วก็วนกลับมาว่าคอยดูอะไรวะ เรามีความหวังของเราว่าสักวันจะต้องมีคนเห็นงานที่เราทำ เราเชื่อว่าสักวันมันจะต้องทำได้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เท่านั้นเอง หวังว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ”
แล้วเป้าหมายสูงสุดในการจัดงาน เต้ย Freshtival คืออะไร ผมฝากคำถามสุดท้าย
เบ๊นซ์บอกว่า “รวมคนอีกกลุ่มที่มีความชอบอีกแบบในภาคอีสาน เหมือนเป็นการนัดปาร์ตี้กันของกลุ่มคนที่เหมือนกัน ฟังเพลงเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน มาเจอคนที่ชอบเหมือนๆ กันที่งาน มีเพื่อนก็ชวนมา เปรียบเทียบงานเราก็เป็นโมเดลแบบงานมหรสพแต่เป็นไซส์แบบเด็กน้อย คิดว่าถ้าเราโตขึ้นจัดงานได้ดีขึ้น เราก็น่าจะกลายเป็นโมเดลเดียวกับมหรสพ หมายถึงเรื่องคัดวงดนตรี กับเรื่องของคนที่มางาน
“ความฝันอยากให้เต้ยโตไปเหมือนงานมหรสพนั่นแหละ แต่แค่ไม่ใช่ที่กรุงเทพฯ อยากเปิดโอกาสให้คนทางภาคอีสาน เพราะเราเป็นคนที่นั่น แล้วเราชอบฟังเพลงแบบนี้ แล้วมันมีแค่กรุงเทพฯ เหรอวะที่จะได้ฟัง คือต้องลางาน เสียค่าเดินทาง เสียค่าโรงแรม เพื่อจะไปดูคอนเสิร์ต สองชั่วโมงแล้วกลับ เราเลยอยากทำที่บ้านเรา นี่คือเป้าหมายของเต้ย Freshtival”
อ้นรับหน้าที่ปิดบทสนทนา เขาบอกว่า “เราตั้งใจทำคอนเสิร์ตที่มีวงต่างประเทศในภาคอีสาน ลึกๆ เราเชื่อว่ามันเป็นไปได้ แต่ต้องให้เวลากับมันหน่อย อาจจะไปดังเปรี้ยงเอาตอนปีที่ 10 ก็ได้ อาจจะเป็นเฟสติวัลไซส์ใหญ่ขึ้น คนดูอยากมาดูมากขึ้น บอกปากต่อปากไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกวันนี้เป็นแบบนี้อยู่ เราก็ยังแฮปปี้กับสิ่งที่ได้รับกลับมา
“เราเป็นคนอายุจะ 40 ที่ไม่มีเงินเก็บ เราพร้อมเอาไปละลายไปกับความอยาก เรามองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของการเล่นพนัน พนันต้องมีได้มีเสียซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเหมือนเราเสพติดการพนันชนิดนี้ไปแล้ว”
“คนเอาแต่ใจสองคนมาทำงานด้วยกัน” เสียงเพื่อนร่วมงานอีกคนสวนขึ้นมา
ผมได้ยินเสียงหัวเราะที่มีความสุขของเพื่อนสองคน