LOAF-LAY โดนัทนุ่มหนึบดิปซอสหอมอร่อยของพี่น้องนักกินที่จริงจังกับวัตถุดิบและบริการ

นมโคแท้จากแม่วัวที่ได้กินหญ้าสดตลอดปี ไข่ไก่จากแม่ไก่อารมณ์ดีเลี้ยงอิสระ ไหนจะแป้งปลอดสารและน้ำตาลหัวไชเท้าจากญี่ปุ่นที่บดด้วยมือ ฯลฯ LOAF-LAY

เหล่านี้คือวัตถุดิบบางส่วนที่แบรนด์โดนัทเดลิเวอรีอายุปีกว่าอย่าง LOAF-LAY เลือกสรรมาทำเป็นโดนัทรูปทรงอ้วนกลม เสิร์ฟคู่ซอสดิปหอมอร่อยชนิดที่ลูกค้าหลายคนยอมพรีออร์เดอร์ล่วงหน้านานหลายเดือนเพื่อลิ้มลอง จนทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรกันหนอที่ทำให้คนยอมรอขนาดนั้น 

แต่พลันโดนัทเนื้อหนึบเข้าปากและกลิ่นวานิลลาและนมหอมๆ เตะจมูก เราจึงเข้าใจทันทีว่าทำไมทุกคนถึงอดทนรออย่างไม่ย่อท้อ

แม้ปัจจุบันลูกค้าจะไม่ต้องรอนานอีกต่อไป ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ความอร่อยที่ทานแล้วเหมือนมีแสงออกจากปากก็ทำให้เรายังอยากชวนสองพี่น้องเจ้าของกิจการอย่าง ทะเล–อรรถวีร์ พรใจหาญ และ ยาหยี–ธีรกานต์ ศิริหงษ์ มาไขข้อข้องใจว่าอะไรทำให้ LOAF-LAY มีแฟนคลับมากจนปัจจุบัน

หากไม่มีโดนัทอยู่ในมือตอนนี้ ขอให้ทุกคนเตรียมทิชชู่ซับมุมปากเอาไว้ แต่หากกล่องโดนัทตั้งอยู่ไม่ไกล ขอให้เปิดแล้วหยิบขึ้นมาชิมไปพร้อมๆ กัน

นักกินตัวยงที่พิถีพิถันกับอาหาร

กับบางอย่าง เราอาจไม่จำเป็นต้องเล่าย้อนถึงภูมิหลังครั้งอดีตเพื่อบอกเล่าว่ากว่าจะเป็นตัวตนของคนเหล่านั้น พวกเขาเติบโตมายังไง แต่กับทะเลและยาหยี การย้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัยเด็กนั้นจำเป็นยิ่งต่อการเข้าใจแบรนด์โดนัทแบรนด์นี้

“เราเป็นนักกินกันทั้งบ้าน ตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จะพาเรา 2 คน นั่งรถไปชิมอาหารท้องถิ่นตามต่างจังหวัดที่ใช้วัตถุดิบสดๆ คุณภาพดีซึ่งมีผลทำให้รสชาติอาหารแต่ละเมนูออกมาแตกต่างและอร่อยเป็นพิเศษ นอกจากนั้นพวกเรายังไปเที่ยวญี่ปุ่นกันอยู่บ่อยๆ อย่างที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนให้ค่ากับวัตถุดิบมาก เราสองพี่น้องจึงมีมาตรฐานการกินว่าอาหารที่จะทานจะต้องประกอบไปด้วยสองอย่างคือ หนึ่ง–อร่อย และสอง–ต้องปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่ดีเท่านั้น” ยาหยีอาสาเล่าถึงยามเด็กของทั้งคู่ ก่อนที่ทะเลจะเสริมถึงการเป็นนักกินและนักเลือกสรร

ผมพิถีพิถันขนาดที่ว่าจะเลือกทานเฉพาะส่วนน่องของไก่ หรือเลือกทานเฉพาะส่วนหัว ท้อง และแก้มของปลาเท่านั้น” 

นอกจากความเป็นนักกิน พี่น้องบ้านนี้ยังเป็นนักทำอาหาร อย่างยาหยีที่ถนัดการทำอาหารอิตาเลียน ส่วนทะเลนั้นโปรดปรานการทำเชฟเทเบิลอาหารไทยให้ครอบครัวและเพื่อนๆ ลองชิม แต่ทั้งคู่ไม่เคยแตะการทำเบเกอรีแม้แต่น้อย 

กระทั่งยาหยีกลับจากการเรียนที่อเมริกาเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปีที่แล้ว ทั้งสองจึงมีเวลาค้นหาเส้นทางและทดลองทำสิ่งที่รักมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่สองพี่น้องเห็นตรงกันคือทั้งคู่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง การฝึกทำขนมปังและโดนัทฉบับนักกินของบ้านนี้จึงเกิดขึ้น

“ขนมปังที่ทำขึ้นไม่ต่างจากเจ้าอื่นมากนัก แต่โดนัทที่ผมทดลองสูตรด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือและศึกษาตัวอย่างการทำขนมต่างๆ แตกต่างทั้งหน้าตาและรสชาติ เพราะผมใช้เทคนิคการควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาความชื้น โดนัทที่ได้จึงมีสีเหลืองทองและมีเนื้อสัมผัสคล้ายขนมปังหนึบๆ ซึ่งทานเดี่ยวๆ โดยไม่ต้องมีไส้หรือซอสก็อร่อย” ทะเลย้อนเล่าถึงการทดลองกว่า 5 เดือน ที่เขาปรับเปลี่ยนสูตรไปหลายรอบเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ต้องการ

“ถึงอย่างนั้นเราสองคนก็ยังทำซอสดิป 2 แบบขึ้นเพื่อทำให้โดนัทมีรสชาติที่หลากหลาย นั่นคือวานิลลาและนมข้นหวานที่โดดเด่นไม่เหมือนที่ไหน” ยาหยีเสริมถึงการทำซอสซึ่งเธอรับผิดชอบดูแล

นั่นเองจึงกลายเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ LOAF-LAY  อันมีที่มาจากคำว่า ‘loaf’ เพราะโดนัทมีเนื้อสัมผัสคล้ายขนมปัง ผสานรวมกับคำว่า ‘lay’ ซึ่งมาจากชื่อของทะเล แถมยังพ้องกับคำว่า ‘lovely’ ที่แปลว่าน่ารักน่าเอ็นดู

วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ด้วยทั้งคู่เป็นนักกินผู้ช่างเลือกตั้งแต่เด็ก เมื่อคิดจะปั้นโดนัทชิ้นน้อยให้เป็นแบรนด์จริงจัง หัวใจสำคัญข้อที่หนึ่งของการทำ LOAF-LAY จึงคือการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดมารังสรรค์ ซึ่งนอกจากจะเป็นวัตถุดิบสายพันธุ์ดี ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังจะต้องมาจากผู้ผลิตที่เข้าใจและใส่ใจผลิตผลของตัวเองจริงๆ อีกด้วย

“เราให้คุณค่ากับวัตถุดิบมาก แพ็กเกจจิ้งของเราจึงต้องมีแท็กที่บอกส่วนผสมทั้งหมดเพราะนี่คือสิทธิของลูกค้าที่จะรู้ว่าเขาทานอะไรเข้าไปบ้าง หรืออย่างในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เราก็โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุดิบบ่อยจนลูกค้าใหม่ๆ บางคนทักมาถามว่าเราขายอะไรกันแน่ แต่เราว่าความโปร่งใสตรงนี้นี่แหละที่ทำให้แบรนด์แข็งแรงและมียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” 

ยาหยีบอกถึงแก่นหลักก่อนที่ทะเลจะเปิดกล่องโดนัทพร้อมอธิบายว่าใน  1 กล่องซึ่งประกอบด้วยโดนัท 6 ชิ้นและซอสดิป  2 แบบนั้นรังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบอะไรบ้าง 

อย่างแรกเลยคือตัวโดนัทที่ปั้นขึ้นจากแป้งปลอดสารและนมผงฮอกไกโด Yotsuba นำเข้าจากญี่ปุ่น ผสมกับไข่ไก่อารมณ์ดีที่เลี้ยงไก่แบบปล่อย และเนยฝรั่งเศสชั้นดีที่มีกรรมวิธีการผลิตแสนประณีต ตบท้ายด้วยการโรยด้วยน้ำตาลหัวไชเท้าบดด้วยมือที่ดีต่อสุขภาพ 

“ผมเลือกใช้น้ำตาลหัวไชเท้าซึ่งนิยมปลูกในฮอกไกโดเพราะปราศจากสารทำให้ไม่ละลายอย่างน้ำตาลไอซิ่ง ทั้งยังไม่หวานแหลมแต่ให้รสชาติหวานละมุนมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าสั่งมาจากญี่ปุ่นแล้วจะใช้ได้เลย เพราะยังต้องนำมาบดละเอียดด้วยเครื่องบดมือถึงจะทำให้น้ำตาลติดเนื้อโดนัทได้

“นอกจากนั้น ผมยังเลือกใช้นมผงยี่ห้อ Yotsuba จากฮอกไกโดเพราะนมผงชนิดนี้ผลิตจากน้ำนมของแม่วัวที่เลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ได้กินหญ้าสดๆ และกินน้ำจากแหล่งน้ำที่ดี ทั้งอาหารเสริมที่เจ้าของฟาร์มให้ก็ปราศจากการตัดต่อทางพันธุกรรม” ทะเลอธิบายถึงความยุ่งยากและซับซ้อนที่ทั้งคู่ยอมแลก

ส่วนซอสดิปที่ยาหยีเคี่ยวเองกว่า 5 ชั่วโมงก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะซอสวานิลลานั้นเธอใช้เม็ดวานิลลาขูดสดๆ จากฝักวานิลลาแท้ที่นำเข้าจากมาดากัสการ์ ซึ่งคัดสรรแล้วว่าเป็นชนิดที่หอมที่สุด ส่วนซอสนมข้นหวานก็ทำจากนมวัวของฟาร์มบ้านภูที่มีชื่อเสียงในวงการคนทำเบเกอรี 

“นมจากวัวนมของฟาร์มบ้านภูซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์ผสมสีแดงและสีน้ำตาลที่ให้ปริมาณน้ำนมไม่สูงเท่าวัวสีขาว-ดำที่เราคุ้นเคย แต่สารอาหารในน้ำนมนั้นสูงกว่ามาก ยิ่งไปกว่านั้นคือที่นี่ยังเลี้ยงวัวแบบปล่อยอิสระให้เลือกทานหญ้าสดที่ปลูกเองโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะจึงทำให้วัวสุขภาพดี และน้ำนมวัวที่ได้ก็ดีตามไปด้วย” ทะเลอธิบาย ก่อนเสริมต่อถึงแม้วัตถุดิบทั้งไทยและต่างประเทศเหล่านี้จะทำให้โดนัทของทั้งคู่ราคาสูงกว่าเจ้าอื่นมาก แต่นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเทใจให้แบรนด์ได้ไม่ยาก

“การใช้วัตถุดิบที่ดีมันวินทั้งเราที่ทำให้ได้โดนัทที่แตกต่าง วินทั้งผู้บริโภคที่ได้ทานโดนัทดีๆ และวินทั้งผู้ประกอบการที่ทำให้เขามีแรงใจผลิตของที่มีคุณภาพ

“แม้จะทำให้ราคาโดนัทของเราสูงกว่าตลาดมากแต่ผมว่าผมคิดถูกที่เลือกเส้นทางนี้ เพราะตั้งแต่ 14 สิงหาคม 2563 ที่เริ่มเปิดขายจนปัจจุบัน แอดมินของเรายังไม่เคยใช้ชุดข้อความที่เตรียมไว้เพื่ออธิบายว่าทำไมโดนัทจึงราคาสูงเลยเพราะลูกค้าเข้าใจถึงที่มาเหล่านี้” 

บริการให้มากกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง

นอกจากวัตถุดิบดีๆ จะเป็นหัวใจสำคัญของ LOAF-LAY แล้ว แบรนด์โดนัทเล็กๆ แบรนด์นี้ยังให้ความสำคัญกับการบริการไม่แพ้กัน ยิ่งเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีวางขายทั่วไปแต่ต้องพรีออร์เดอร์และรับสินค้าผ่านการขนส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้รับเร็วที่สุดเหมือนได้ทานใหม่ๆ ก็ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องการบริการอย่างมาก 

“ผมคิดว่าการบริการถือเป็นตัวชี้ขาดในการเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการเหมือนกันนะ และนั่นทำให้เราต้องรับผิดชอบให้มากกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง และต้องไม่ทำให้ทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าสูญเปล่า” ทะเลบอกถึงหัวใจสำคัญข้อที่สอง

“ข้อแรกเลยคือเราจะให้รับขนมได้ไม่เกินบ่ายสามโมง หลังจากนั้นต่อให้มีคนขอซื้อเราก็จะไม่ขาย แต่ถ้าอยากทานจริงๆ ก็จะไม่คิดเงินเพราะถือว่าคุณภาพของขนมมันลดลงไปแล้ว อีกเรื่องคือถ้าเราส่งผิดหรือลืมออร์เดอร์เราจะส่งให้ใหม่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นกันกับกรณีที่บางวันโดนัทอาจไม่ฟูด้วยสภาพอากาศและปัจจัยภายนอกอื่น เราก็จะบอกลูกค้าว่าขอส่งให้ใหม่ 

“ครั้งหนึ่งลูกค้ายอมจ่ายค่าส่ง 400 บาทเพื่อให้ได้โดนัทของเราในราคา 280 บาทไปทาน เราจึงโทรไปถามว่าเขาจะยกเลิกออร์เดอร์ไหมแต่เขาก็ยืนยันว่าอยากทานจริงๆ เราเลยขอส่งเพิ่มอีก 2 กล่อง เพราะซึ้งใจ ลูกค้าจึงประทับใจการบริการของเรามาก” ยาหยีอธิบายให้เห็นภาพ

“การบริการเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นอาจมองข้ามจะทำให้คนรักแบรนด์เราจริงๆ และจะทำให้เราไม่ใช่เพียงแบรนด์ขนมที่เกิดใหม่ในช่วงโควิด-19 ที่จะหมดไปตามกระแสแต่เราพยายามสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ” ทะเลสรุปถึงแนวคิดให้ฟังอีกครั้ง

พัฒนาตัวเองตลอดชีวิต

“ผมชอบประโยคที่ว่า ‘คนที่ระแวดระวัง ไม่หลงตัวเองและไม่รู้สึกพอเพียงเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้’ นั่นคือผมจะไม่คาดหวังว่าปีหน้ามันจะดีกว่านี้ กลับกันคือจะมองว่ามันคงมีแต่ปีที่ห่วย มีแต่วิกฤตที่ไม่แน่นอน 

“การที่แบรนด์ของเราจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดซึ่งไม่ใช่การขยายสาขาให้ได้ 100 สาขา แต่คือการอยู่ได้ถึง 100 ปี เราจึงต้องเป็น lifelong learner ที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อไม่ให้วิกฤตและเทคโนโลยีต่างๆ ทำอะไรเราได้” ทะเลว่า

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ไม่แปลกใจที่แม้จะได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาดตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดขายและยังคงได้แรงสนับสนุนจากลูกค้าจนปัจจุบัน แต่เรากลับเห็นแบรนด์โดนัทอายุปีกว่าๆ แบรนด์นี้ขยันออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ ที่ร่วมคอลแล็บกับแบรนด์ดังเพื่อให้แบรนด์โดนัทของพวกเขาสดใหม่อยู่ตลอด 

อย่าง LOAF-LAY Afternoon Tea ที่คอลแล็บกับแบรนด์ชานมไต้หวัน Machi Machi ก็ได้รับเสียงตอบรับทั้งจากคนรักชานมและคนรักโดนัทไปอย่างล้นหลาม เพราะใน 1 เซตประกอบด้วยโดนัท 6 ชิ้น ซอส Crème Brûlée ที่ทำขึ้นจากฝักวานิลลาสดและน้ำตาลอ้อยไม่ฟอกสี แถมยังมีซอส Yushi จากชาดํามณฑลหนานโถวให้เลือกจิ้ม 

ล่าสุด ทั้งคู่ยังจับมือกับ Guss Damn Good แบรนด์ไอศครีมสุดสร้างสรรค์ของไทยออกเซต Quality Time ที่ให้ลูกค้าลองทานโดนัทคู่กับไอศครีมน้ำตาลอ้อยโอกินาว่าเพื่อส่งต่อช่วงเวลาดีๆ ให้กันและกัน

ในเชิงธุรกิจ การคอลแล็บนั้นถือเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าให้แบรนด์ แต่มากกว่านั้นคือกระบวนการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้จุดแข็ง แนวคิด และแพสชั่นของเจ้าของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จแล้วเพื่อนำมาพัฒนาตัวเองให้ทันยุคสมัยให้ได้” ยาหยีอธิบาย

แต่นอกเหนือจากเรื่องรสชาติพิเศษในคอลเลกชั่นต่างๆ ทะเลยังบอกอีกว่าการพัฒนาในความหมายของเขานั้นครอบคลุมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างช่องทางการชำระเงิน ที่หันมารับชำระด้วยบัตรเครดิตเพื่อความสะดวกของลูกค้า หรือการพยายามทำให้โดนัทของพวกเขาส่งได้ทั่วไทยในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

ตัวแทนความสุขให้ทุกคน

ถ้านับกันตามจริง เราและพี่น้องบ้านนี้ไม่ได้อายุห่างกันเท่าไหร่ แต่ตลอดการสนทนาถึงแบรนด์โดนัทอายุปีกว่า เราสัมผัสได้จากใจจริงว่าวิสัยทัศน์ของทั้งคู่นั้นนำหน้าคนวัยเดียวกันมาก 

“เราสองคนจริงจังกับทุกสิ่งในชีวิตและไม่เบื่อกับอะไรง่ายๆ ตั้งแต่ก่อนเปิด เราใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมง คิดรายละเอียดทุกอย่าง นั่งประชุมกันดึกดื่นและตื่นเต้นกับภาพในอนาคตทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลย เพราะอยากให้ครอบครัวและเพื่อนภูมิใจกับเราสองคน” ยาหยีย้อนให้ฟังถึงความตั้งใจแรกอย่างตื่นเต้น 

“ผมตั้งใจและจริงจังขนาดนี้เพราะผู้ใหญ่ที่เคารพรักคนหนึ่งเคยบอกว่าการเติบโตและการสร้างคุณค่าด้วยตนเองนั้นยาก แต่มันน่าภูมิใจกว่าการเติบโตภายใต้เงาของพ่อแม่ ผมจึงพยายามอย่างหนักเพื่อให้แบรนด์นี้สำเร็จและอยู่ได้อย่างยั่งยืนผ่านการส่งต่อสิ่งดีๆ ออกสู่สังคมตามปรัชญาการทำธุรกิจของญี่ปุ่น” ทะเลอธิบายถึงแนวคิดส่วนตัวของเขา ซึ่งยึดโยงอยู่กับประเทศที่ทั้งคู่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก

“LOAF-LAY จึงไม่ได้เป็นแค่แบรนด์ขายโดนัททั่วไป แต่เป็นแบรนด์ที่ให้คุณค่ากับวัตถุดิบและผู้บริโภค และเป็นแบรนด์ที่เป็นตัวแทนความสุขที่ลูกค้าส่งให้กันได้” ยาหยีทิ้งท้ายเป้าหมายที่ตั้งใจ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย