‘อิ่มท้อง อุ่นใจ’ คือคำที่ กิ๊ก–กุลวดี โพธิ์อุบล และ มอช–พงศธร คุ้มปลี หนุ่มสาวผู้รับบทเป็นพ่อครัวและแม่ครัวประจำร้านใช้นิยามพื้นที่แห่งนี้
คำพูดที่ว่านั้นไม่ได้เกินจริงไปเลยสักนิด เพราะเมื่อได้ชิมอาหารโฮมเมดฝีมือของกิ๊กอย่างพาสต้าเส้นสดที่ทำขึ้นจากผักโขมที่แม่ปลูก สูดกลิ่นหอมๆ ของแป้งพิซซ่าที่ได้มาจากการเลี้ยงยีสต์เอง และดื่มน้ำผึ้งมะนาวเย็นชื่นใจที่มอชทำตามสูตรของป้า เราก็เข้าใจถึงคำว่า ‘อิ่มท้อง’ ได้อย่างถ่องแท้
เมื่อบวกรวมกับเรื่องราวที่คนทั้งคู่สละเวลาเตรียมวัตถุดิบสำหรับเปิดร้านในวันรุ่งขึ้นมาพูดคุยกับเราตั้งแต่บ่ายจรดค่ำ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นแรก ครั้งความฝันของเขาและเธอยังเป็นเพียงบูทขายอาหารขนาดหนึ่งโต๊ะในงานอาร์ตแฟร์ แล้วขยับขยายกลายเป็นร้านอาหารขนาดเล็กในรัชดาซอย 3 ที่ทั้งคู่บอกขำๆ ว่ามีขนาดเท่าป้อมยาม จนปัจจุบันที่ความฝันนั้นโยกย้ายมาซ่อนตัวเป็นหลักเป็นแหล่งร่วมชายคาเดียวกับ TIGER CF อย่างมั่นคง มีคนรอชิมความอร่อยทุกเสาร์-อาทิตย์ที่ซอยลาดพร้าว 29
‘อิ่มท้อง อุ่นใจ’ เหมาะสมแล้วจะเป็นนิยามความสุขที่เกิดขึ้นหลังมาเยือนที่แห่งนี้
คงไม่ว่าอะไรใช่ไหม ที่แม้ลมหนาวจะหมดไปแล้ว แต่เราก็ยังอยากเสิร์ฟเรื่องราวอบอุ่นหัวใจของห้องครัวที่ชื่อ ‘PHOkitchen’ อยู่
ห้องครัวแห่งกาลเวลาที่ทำอาหารจากผักในสวนที่แม่ปลูก
อาจเพราะร้านอาหารแห่งนี้ตกแต่งด้วยโต๊ะและเก้าอี้ไม้สีน้ำตาลดูอบอุ่น อาจเพราะแจกันดอกไม้สดที่วางประดับไว้นั้นดูเข้ากันได้ดีกับผ้าม่านสีขาวที่พลิ้วไหวคล้ายกำลังหยอกเย้ากับแสงแดดยามบ่าย อาจเพราะแบบนั้นเสียงเพลงจังหวะสบายๆ ที่เปิดคลอทิ้งไว้เบาๆ นี้ จึงทำให้ภาพหญิงสาวและชายหนุ่มที่ต่างคนต่างก็กำลังง่วนกับหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองภายในเคาน์เตอร์ประกอบอาหารด้านหน้าเรานี้ดูโรแมนติกราวกับหลุดออกมาจากซีนในหนัง
หรืออาจเป็นเพราะทั้งหมดนี้มาประกอบกัน ทันทีที่ก้าวเข้ามาใน ‘PHOkitchen’ เราจึงรู้สึกราวกับว่าวันเวลาเดินช้าลงไปหนึ่งสเตป
เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในหนังเรื่อง Little Forest ยังไงยังงั้น
มือเรียวของสาวเจ้าของร้านจับมีดไว้กระชับมือ หั่นผักชิ้นแล้วชิ้นเล่าด้วยความเร็วคงที่ เสียงมีดกระทบเขียงดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ก่อนที่เธอจะหยุดการหั่นวัตถุดิบไว้เท่านั้นแล้วเงยหน้าขึ้นหาเรา
“พาสต้าซัมเมอร์ พาสต้าคาโบนาร่า ข้าวผัดฟ้าใส พิซซ่าวาฟุ ขนมปังเบนเย่ แล้วก็น้ำผึ้งมะนาวเนอะ” เธอทวนเมนู
เราพยักหน้าและยิ้มตอบกลับไป แทบไม่รู้ตัวว่านั่งมองดูเธอหั่นผักมาแล้วพักใหญ่
เพราะครัวของที่นี่เป็นแบบเปิด เตาสำหรับทำอาหาร พื้นที่สำหรับเตรียมวัตถุดิบ และสเตชั่นเครื่องดื่มจึงอยู่ใกล้กันหมด ไม่ว่าพ่อครัวและแม่ครัวจะขยับตัวไปทางไหน กำลังทำอาหารเมนูอะไร ลูกค้าอย่างเราก็สามารถมองเห็นขั้นตอนเหล่านั้นได้ชัดเจน และใช่ ข้อดีอีกอย่างของครัวเปิดที่ว่านี้ คือเขาและเธอก็สามารถสื่อสารกลับมาหาเราได้ด้วยเช่นเดียวกัน
“กิ๊กเติบโตมาในครอบครัวที่ทำอาหารกินเองกันอยู่แล้ว แม่เป็นครูอนุบาลที่มีงานอดิเรกคือการปลูกผัก ปลูกเสร็จก็นำผักเหล่านั้นมาทำเป็นอาหาร” หญิงสาวเล่าเรื่องราวให้ฟังขณะเริ่มต้นลงมือทำอาหารจานแรก
“ตอนเรียนที่เชียงใหม่เราเคยทำงานที่ร้านอาหารชื่อ Barefoot Cafe เลยได้เรียนรู้วิธีการทำเส้นสดจากที่นั่น รวมถึงกระบวนการคิดของเขาที่พยายามเอาวัตถุดิบจากชุมชนมาใช้ด้วย พอแม่เริ่มปลูกผักโขม เราเลยคิดอยากทำอาหารขาย เพราะอยากคุยกับคน อยากเล่า อยากส่งต่อสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรากิน ให้คนอื่นได้รู้สึกดีเหมือนๆ กับเรา พอคิดว่าจะเอามาทำอะไรดี ก็เลยนึกได้ว่าเราเคยทำเส้นพาสต้ามาก่อน น่าจะเอาสองอย่างนี้มาชนกันได้”
“ที่กิ๊กบอกว่าอยากทำขาย มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราก็เปิดร้านนี้เลยนะ จริงๆ PHOkitchen มีมาแล้ว 3 ยุค” มอชที่ยกเครื่องดื่มมาเสิร์ฟยิ้มอย่างอารมณ์ดี แล้วพยักเพยิดให้แฟนสาวเล่าต่อ
“จริงๆ การเปิดร้านอาหารมันก็เป็นความฝันเรานั่นแหละ คิดมาตลอดว่าอยากเปิดร้านที่นครชัยศรี เพราะบ้านกิ๊กคนเยอะ เวลาเกษียณ เขาจะเกษียณพร้อมกันหมด เราเลยอยากสร้างอะไรสักอย่างให้เขาได้มีกิจกรรมทำ แต่ที่เลือกทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะเหมือนเรามองคนอื่นแล้วเจอว่า เฮ้ย เพื่อนเขาทำงานตรงสายกันทั้งนั้นเลยว่ะ งั้นเราก็ทำอะไรที่เรียนมาก่อนดีกว่า
“ช่วงหนึ่งเราเครียดกับงานมาก เลิกงานปุ๊บก็โทรไปหาที่บ้าน แล้วอยู่ๆ ป้าก็ถามขึ้นว่า ‘ช่วงนี้ได้ทำอาหารกินเองบ้างไหม’ เราฉุกคิดขึ้นได้ตอนนั้นว่า เออ ไม่ได้ทำเลยว่ะ เลยเริ่มกลับมาทำ เหมือนคำพูดของป้าทำให้คิดได้ว่าการทำอาหารคือช่วงเวลาที่เราได้ผ่อนคลาย และมันเป็นคอมฟอร์ตโซนของเรา”
ยุคที่ 1 : ออกบูทเพื่อรู้ว่า ‘PHOkitchen’ ควรอยู่ หรือควรไป
“เราเลยเริ่มออกบูท” ทั้งสองคนพูดขึ้นพร้อมกัน แต่บูทที่เขาและเธอหมายถึง กลับเป็นบูทขายเมล็ดกาแฟ
“นอกจากอาหารเราก็สนใจกาแฟด้วย เลยเริ่มจากขายเมล็ดกาแฟที่ซื้อมาเวลาไปเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ ก่อน เหมือนแบ่งขายให้คนได้ชิมกาแฟจากหลายๆ พื้นที่ เพราะคิดว่าการทำอาหารมันมีปัจจัยหลายอย่างและเราคงยังไม่พร้อม แต่พอมีงานครั้งที่ 2 เราก็เริ่มคิดได้ว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วเราอยากขายอาหาร หรือเราควรลองทำในสิ่งที่เราอยากทำ” กิ๊กเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีมอชช่วยเสริม
“ใช่ มันคือเป้าหมายเราก็ควรจะลองทำ ตอนนั้นออกบูท 2 วัน วันแรกเราเลยขายทั้งกาแฟ ขายทั้งอาหารเลย แต่สิ่งที่เกิดคือเราสื่อสารกับลูกค้าลำบากมาก เพราะเดี๋ยวคนนั้นจะสั่งกาแฟ คนนี้จะสั่งอาหาร กลับบ้านไปวันนั้นเราเลยคิดใหม่ทำใหม่ รีแบรนด์ ตัดกาแฟทิ้งแล้วขายพาสต้าอย่างเดียวนี่แหละ”
การออกบูทเป็นเหมือนโอกาสที่ทำให้กิ๊กได้ทดสอบดูว่าการที่เธอตัดสินใจจะทำอาหารมันโอเคจริงๆ หรือเปล่า เป็นการพิสูจน์ว่าจะมีคนเห็นด้วยจริงๆ ใช่ไหม ไม่ใช่การคิดเออออไปเอง ดังนั้นแม้ต้องทำงานประจำไปพร้อมๆ กับการออกบูทแต่เธอก็ยอมเหนื่อย เพราะคิดว่ามันน่าจะบอกได้ว่าเธอควรทำความฝันนี้ต่อไปหรือเปล่า
ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมาในวันนั้นถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ทั้งคู่คิดว่าหากมาทางนี้ก็น่าจะไปต่อได้
กิ๊กพักการเล่าเรื่องไว้ตรงนั้น หยิบครกขึ้นตำสมุนไพรไทยที่ใช้เพิ่มกลิ่นและรสของพาสต้าซัมเมอร์ ก่อนจะเริ่มตั้งเตาผัดวัตถุดิบต่างๆ ให้เข้าที่ เช่นเดียวกันกับมอช ที่เริ่มต้นนำแป้งพาสต้าผสมผักโขมแดงมานวด เตรียมสาธิตวิธีการทำเส้นพาสต้าสดๆ ให้เราชมและชิม
“อาจฟังดูเซอร์เรียลไปหน่อย แต่จริงๆ เราตั้งใจกันไว้ว่าเราไม่ได้ขายอาหารนะ เราอยากขายประสบการณ์มากกว่า” มอชเอ่ยขึ้นเมื่อจัดการเปลี่ยนจากแป้งให้กลายเป็นเส้นพาสต้าสำเร็จ
“กลัวสู้คนอื่นไม่ได้ด้วยแหละ เพราะเราก็ไม่ได้เป็นเชฟ เราเป็นแค่คนที่ชอบทำอาหารและอยากส่งต่ออาหารให้คนที่เขาชอบมันเฉยๆ” กิ๊กหัวเราะ วางจานพาสต้าสีสดใสที่ใบโหระพาส่งกลิ่นหอมโชยลงตรงหน้าเราพร้อมแนะนำเมนู
“นอกจากเส้นผักโขมที่เราทดลองกันหลายวิธีมากกว่าจะลงตัว พาสต้าจานนี้ยังพิเศษที่ซอสด้วย เราใช้มะเขือเทศผัดกับหัวหอม รสเปรี้ยวจากมะเขือเทศ มาเจอกับหัวหอมที่ให้รสหวาน พอเอามารวมกับเส้นพาสต้ามันจะลงตัวพอดี บวกกับความเค็มของชีสที่โรยไปด้านบนก็น่าจะทำให้กลมกล่อมขึ้น ผักตกแต่งเรากินได้นะ ปกติถ้าเป็นพาร์สลีย์มันจะดูแข็งๆ นิดหนึ่ง คนจะไม่กล้ากิน แต่อันนี้เราก็แนะนำได้เลยว่ากินได้ เป็นผักชีลาวที่แม่เด็ดมาให้เอาไว้ใช้ตกแต่ง”
ยุคที่ 2 : หน้าร้านที่ขนาดเล็กเท่าป้อมยาม
“แล้วยุคที่ 2 ล่ะ เป็นยังไง” เราที่จัดการเมนูแรกเรียบร้อย เร่งให้ทั้งสองเล่าความเป็นมาของร้านต่อ
“การเปิดบูทตอนนั้นกิ๊กมองว่ามันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ PHOkitchen เลย มันเป็นแรงผลักดันที่ดี การที่เราทำเส้นพาสต้าสดๆ ให้เขากินมันอาจจะต้องรอ และใช้เวลาสักนิด ซึ่งการรอนั้นมันทำให้เราได้คุยกับคนที่มาซื้อ ทำให้เราได้รู้ความคิดเห็นของเขา”
“เราขยับจากการออกบูทมาเป็นร้านได้ ก็เพราะมีลูกค้าคนหนึ่งบอกเราว่า เฮ้ย ก็ทำอร่อยนี่ทำไมไม่มีหน้าร้านล่ะ พอเขาพูดแบบนั้นเราสปาร์กจอยเลย เหมือนตอนนั้นเราก็เริ่มรู้สึกบางอย่างในใจ พอมีคนมาทัก เลยคิดอยากเปิดร้านแบบจริงจังสักที แทนที่จะออกอีเวนต์เรื่อยๆ และเพราะจริงๆ กิ๊กเขาก็อยากกลับไปเปิดร้านที่บ้านอยู่แล้ว ถ้าเริ่มจากเปิดร้านเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ไปก่อน หาประสบการณ์ หาเพื่อน หาลูกค้าไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย เราเลยเริ่มมองหาที่ที่จะเปิดร้านเล็กๆ
“จนไปเจอที่รัชดาซอย 3 มันเป็นป้อมเล็กๆ ขนาดเท่าป้อมยามเลย เราเดินผ่านทุกวัน แต่ไม่ได้สนใจมัน พอคิดจะเปิดร้าน สายตาก็เริ่มเปลี่ยน เริ่มมองว่าที่นี่น่าจะเปิดร้านได้เลยตัดสินใจทำเป็นป๊อปอัพขึ้นมา เกิดเป็นยุคที่ 2” มอชเล่าเรื่องราวที่ผ่านอย่างกระชับ
ร้านป๊อปอัพที่ว่าถือเป็นสถานที่ให้กำเนิดเมนูขายดีประจำร้านอย่าง ข้าวผัดฟ้าใส
“ตอนนั้นเราดูหนังอนิเมชั่นของมาโกโตะ ชินไค เรื่อง Weathering with You แล้วพอเห็นว่าในเรื่องเขาทำเมนูนี้กิน เราสองคนก็หันหน้ามองกันเลยว่าเมนูนี้แหละ จะทำกินเอง” มอชย้อนเล่าถึงที่มา ก่อนอธิบายว่า “ร้านเราเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ เพราะเรายังทำงานประจำ วัตถุดิบที่ซื้อมาเตรียมไว้มักจะเหลือ เราเลยเอาของเหลือจากในร้านนี่แหละมาทำเมนูนี้กินกัน พอทำ เราก็เลยทำเป็นคอนเทนต์อัพลงเฟซบุ๊กด้วยว่าเราดูหนังเรื่องนี้มานะ ลูกค้าก็สนใจถามมาว่าทำขายไหม พอเห็นคนแชร์กันเยอะ สัปดาห์ต่อไปเราก็เลยทำขายจริงซะเลย คนเลยเริ่มรู้จักเมนูนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”
“เราไม่คิดว่าคนจะแชร์จะสนใจ และทักมาว่าอยากมากินมากขนาดนั้น ถึงขั้นมีคนที่จองตั๋วดูหนังไว้ พอดูหนังเสร็จก็เดินมากินข้าวที่ร้าน บอกเราว่าจบแล้วสำหรับวันนี้ มิสชั่นของเขาคอมพลีตแล้ว พอได้ยินแบบนั้นมันรู้สึกฟูลฟิลมากๆ” กิ๊กพูดไปยิ้มไป แววตาฉายให้เห็นประกายของความสุขตามที่พูด
“เหมือนเรามองว่าลูกค้าทุกคนคือเพื่อนของเรา เรารู้สึกคอมฟอร์ต รู้สึกสบายใจตอนที่ทำอาหาร เราเลยอยากให้คนอื่นรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน เขาอาจจะทำงานมาเหนื่อย และอาจไม่ได้มีเวลาทำกับข้าวกินเอง เราเลยอยากให้แค่การทานข้าวหรือทานอาหารหนึ่งจานที่ร้านเราทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ พอเขาบอกมาแบบนั้นเลยเหมือนทำสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จ”
ยุคที่ 3 : ร่วมชายคา Tiger CF
ยุคที่ 3 คือที่นี่ ปัจจุบันนี้
ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่าป้อมยามในซอยลาดพร้าว 29 ที่เขาและเธอสามารถดีไซน์ว่าอยากให้คนมีประสบการณ์ยังไงเมื่อก้าวเดินเข้ามาในร้าน จะฟังเพลงแบบไหน ได้กลิ่นอย่างไร และจะเห็นอะไร รวมทั้งสามารถตกแต่งได้ตามใจ จะนำจักรของป้ากับแม่มาวางเป็นโต๊ะเตรียมวัตถุดิบ หรือจะใช้โต๊ะนักเรียนมาเปลี่ยนเป็นโต๊ะทานข้าวก็ไม่มีใครว่า
“เราย้ายมาที่นี่เพราะตอนนั้นเป็นช่วงหน้าฝนพอดี ร้านป๊อปอัพมันเป็นเอาต์ดอร์ ลูกค้ากินไปน้ำฝนก็ไหลลงหลัง เขาอาจจะชมว่าอาหารเราอร่อยก็จริง แต่เขาอาจจะไม่มาอีกแล้วก็ได้ เพราะมันนั่งและเดินทางลำบาก”
ด้วยแก่นที่ว่าอยากให้ลูกค้าสบายใจ มอชและกิ๊กจึงคุยกันว่าต้องเร่งทำอะไรสักอย่างให้ลูกค้าโอเคขึ้น ประจวบเหมาะกับที่ แป้ง เจ้าของ TIGER CF ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนที่รู้จักกันตอนออกบูทครั้งแรก และเป็นลูกค้าที่ร้านป๊อปอัพชวนมาร่วมชายคาเดียวกัน
“เราอยู่กันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า พี่เขาซัพพอร์ตเรา เราก็ซัพพอร์ตพี่เขา” กิ๊กพูดเสริมต่อจากมอช “เพราะที่นี่เป็นตึกสำหรับเวิร์กช็อปด้านศิลปะและการออกแบบ ทุกอาทิตย์พี่แป้งจะชวนคนในวงการต่างๆ มาสอน มีทั้งเวิร์กช็อปโซเชียลมีเดียอิดีเตอร์ โซเชียลมีเดียคอนเทนต์ การแสดงเพื่อชีวิตประจำวัน เขียนบท เราเลยอยากให้ทุกคนที่มาแฮปปี้ ไม่ต้องมานั่งรอนานๆ เราเลยเปิดร้านเป็นตารางเวลา เช้าๆ ก็จะเสิร์ฟอะไรที่มันทำได้เร็วๆ เน้นเครื่องดื่มที่เป็นฟังก์ชั่น กาแฟแก้ง่วง หรือน้ำหวานๆ ให้ตื่นสำหรับคนที่มาเวิร์กช็อป พอเที่ยงเราจึงเริ่มเปิดเต็มเมนู ขอพักทานข้าวในช่วงบ่ายสาม แล้วพอหกโมงเย็นปุ๊บก็ค่อยมาลุยกันใหม่
“พยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้ทุกคนโอเค รวมทั้งตัวเรา”
บางทีร้านอาหารก็เหมือนทำงานกลุ่ม
หลังการพูดคุยอันยาวนาน กิ๊กขอเบรกวงสนทนาเพียงชั่วครู่ด้วยการเริ่มหยิบอุปกรณ์ต่างๆ ออกมานวดแป้งพิซซ่า
ถึงเวลาของพิซซ่าวาฟุแล้ว
พิซซ่าของที่นี่พิเศษตรงที่กิ๊กเป็นคนเลี้ยงยีสต์เอง เพราะตอนอยู่ที่เชียงใหม่เธอชอบกินขนมปังเจ้าดังที่ทำมาจากยีสต์ธรรมชาติมาก จนถึงขั้นไปเวิร์กช็อป ไม่ใช่การทำขนมปัง แต่เป็นวิธีการเลี้ยงยีสต์ขึ้นมา
“พอไปเรียนเราก็คิดเลยว่าเดี๋ยวฉันจะเอามาทำที่ร้าน เพราะยีสต์มันใช้พวกผลไม้แห้ง ผลไม้สดมาแช่ไว้ให้เป็นน้ำยีสต์ แล้วที่บ้านเราป้าเขาชอบเอากล้วยมาตาก หลังๆ เราเลยเอากล้วยตากป้านั่นแหละมาทำยีสต์ เพราะกล้วยมาจากสวนเราเอง ยังไงก็ปลอดภัย”
“ส่วนพิซซ่าวาฟุมาจากตอนที่เราเปิดร้านอยู่ที่รัชดาซอย 3 หลังเลิกงานเราก็ไปหาอะไรกินกัน เจอเมนู ‘พิซซ่าหมูบูลโกกิ’ แล้วเราว้าวมาก ความเป็นอิตาลีมารวมกับความเป็นเกาหลีได้ เห็นแล้วอยากลองเอามาทำที่ร้านบ้าง อยากลองเอาความเป็นญี่ปุ่นมารวมกับความเป็นอิตาลีดู เพราะเรามีเมนูพาสต้าสุกี้ยากี้ที่ใช้สันคอหมูอยู่แล้วด้วย เลยถือโอกาสลดฟู้ดเวสต์ไปด้วยในตัว” มอชรับบทเป็นคนอธิบายที่มา ก่อนส่งไม้ต่อให้เราชิมรสหวานละมุนคล้ายชาบูและรสเปรี้ยวจากซอสมะเขือเทศในคำเดียว
“เมนูของร้านเราส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ คิดขึ้นจากว่าเราอยากกินอะไร ก็ไปหาสูตรแล้วลองทำ หรือเวลาไปเจออะไรมา ดูหนัง ฟังเพลง แล้วมีเมนูแปลกๆ น่าทำ เราก็เอาตรงนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจ อย่างโดนัทจูนใจ ก็มาจากขนมปังที่ตัวละครในซีรีส์เรื่อง Tune in for Love กินเวลารู้สึกไม่สบายใจ กิ๊กดูแล้วอินก็เลยหัดทำ” มอชทิ้งท้ายติดตลก
“จำที่เราบอกว่าร้านนี้เกิดจากหลายคนได้ไหม มันหลายคนจริงๆ นะ เหมือนทำงานกลุ่มเลย” กิ๊กหัวเราะ แล้วเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลัง
“ทุกคนในครอบครัวเรามีส่วนร่วมกับร้านนี้หมดเลย อย่างที่รู้ว่าแม่เราชอบปลูกผัก เขาก็เปลี่ยนผักที่ปลูกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เด็ดผักโขมใส่ตะกร้ามา แล้วก็พูดว่าเนี่ย ดูผักโขมแม่สิ จะพรีเซนต์ของนางทุกวัน เนี่ยนะ อันนั้นมันขึ้นแล้ว วันนี้มีข้าวโพด เหมือนเขามีความสุขที่ได้ทำ
“ที่บ้านมีป้าอีกสองคน ป้าใหญ่เป็นคนชอบดูทีวี ดูรายการทำอาหารเพื่อจะหาอะไรมาคุยกับเรา พอเห็นเราทำซอสมะเขือเทศเขาก็คอยบอกว่าทำอย่างนี้ๆ สิ จนตอนนี้ป้าทำซอสอร่อยกว่ากิ๊กแล้วนะ สุดท้ายเลยให้รับผิดชอบซอสไปเลย เวลาใครถามว่าใช้ซอสพิซซ่าอะไร เราเลยบอกว่าใช้ยี่ห้อป้าใหญ่ ส่วนป้าอีกคนก็ชอบติดต่อกับผู้คน รู้จักคนเยอะ ด้วยความที่เป็นครูแถวนั้นและผู้ปกครองส่วนมากมีสวน ป้าเลยรู้ว่าเจ้านี้เขาปลอดสารนะ อันนี้เขาปลูกเอง ก็เป็นคนไปหาซื้อมาให้ แค่บอกไปว่าเราอยากได้อะไรก็พอ”
ไม่ใช่แค่วัตถุดิบในอาหารจานหลัก แต่กับเครื่องดื่มคนในครอบครัวของกิ๊กก็ช่วยทดลองเรื่องของอุณหภูมิน้ำร้อน น้ำเย็น และส่วนผสมที่ใช้ว่าแบบไหนได้รสชาติดีที่สุด น้ำผึ้งมะนาวที่มอชเสิร์ฟให้เราก่อนหน้านี้ก็เป็นสูตรของป้า รสชาติไม่หวานนัก และใช้น้ำผึ้งเดือนห้าเป็นส่วนผสมหลัก
ไม่ใช่ร้านของเราสองคน และเพราะทุกคนจึงมีร้านนี้
เพราะดูเหมือนว่า PHOkitchen จะประกอบมาจากครอบครัวโพธิ์อุบลเป็นส่วนใหญ่ และพ่อครัวฝ่ายชายก็มีความเก้ๆ กังๆ ไม่น้อย เราเลยเอ่ยถามมอชว่าก่อนหน้านี้เขาเองก็สนใจด้านนี้อยู่แล้วด้วยหรือเปล่า
“ไม่ได้มีความสนใจด้านอาหารมากเท่าไหร่เลย” คือสิ่งที่เขาตอบกลับมาพร้อมรอยยิ้มเขินๆ
“แต่พอกิ๊กไปบอกว่า อยากเปิดร้านอาหาร มอชก็คอยซัพพอร์ตตลอด เขาบอกว่าถ้าในอนาคตอยากทำร้านก็ต้องลองดู เขาช่วยเราทุกอย่างเลย ไม่ถนัดทำอาหารก็รับผิดชอบเครื่องดื่ม เป็นคนชอบเล่าเรื่องราวก็รับหน้าที่เขียนคอนเทนต์ลงเพจ ดูแลระบบหลังบ้าน เขาอยากให้เราทำจริงๆ” กิ๊กรีบพูดต่อ
ทั้งคู่มองหน้ากันแล้วยิ้มออกมา ก่อนที่มอชจะหันมาตอบเราเพิ่มเติม
“เพราะถ้าเขาอยากทำ เราก็เชื่อและเชียร์อย่างเต็มใจ เขาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าอาหารที่เขาทำ รสชาติมันหากินที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มันเป็นรสมือ เป็นวิธีการปรุงอาหารของบ้านกิ๊กด้วย”
“ตอนแรกๆ เราเคยมีความคิดแบบ โห มาทำด้วยกันแต่ใช้นามสกุลของเธอเป็นชื่อร้าน แล้วฉันล่ะ แต่พอทำไปทำมาความคิดนั้นมันก็หายไปเอง ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่าร้าน PHOkitchen มันไม่ได้มีแค่ผมกับกิ๊ก แต่มีลูกค้า มีเพื่อน มีพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่บ้าน คนที่เจอกันใหม่ ที่เขาแชร์ความรู้สึก ความคิดเห็นให้เรารู้ ถ้าไม่มีลูกค้าร้านเราก็ไม่เกิดขึ้น เพราะการที่เขามาถามเราว่ามีหน้าร้านหรือเปล่าในวันนั้น มันก็ทำให้เรามีหน้าร้านจริงๆ ในวันนี้ วันที่เขาบอกว่าอร่อย เดี๋ยวมากินซ้ำ มันก็ทำให้เราคิดและทำเมนูใหม่ๆ ขึ้นมาตลอด
“ลูกค้าคนที่มากิน ตัวเรา ครอบครัวเรา เพราะทุกอย่างนี้มารวมกันมันจึงเกิดเป็น PHOkitchen ขึ้นมา เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดบทสนทนา มาแล้วรู้สึกอิ่มท้อง อุ่นใจ เราเคยรู้สึกว่ามาไกลมากแล้ว เร็วมากแล้ว เพราะทุกอย่างที่เราเล่าไปมันเพิ่งเริ่มต้นตอนเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่า อ้าว มันเพิ่งเริ่มต้นนี่หว่า ยังมีอะไรให้เราเจออีกเยอะเลย
“สุดท้ายไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้าจะสุขหรือทุกข์ พวกเรา PHOkitchen ก็น่าจะพร้อมรับมือกับทุกอย่าง”
PHOkitchen
address: ซอยลาดพร้าว 29 (ชายคาเดียวกับ TIGER CF)
hours: เสาร์-อาทิตย์ เวลา 11:00-12:00 น. (เฉพาะเมนูเช้าและกาแฟ), เวลา 12:00-15:00 (ครบทุกเมนู), เวลา 18:00-21:00 (ครบทุกเมนู)
facebook: PHOkitchen