Quints ไอศครีมแฮนด์คราฟต์เครื่องแน่น ที่เปลี่ยนรสชาติในจินตนาการให้กลายเป็นสกู๊ปอร่อย

Quintessential (adj.) ซึ่งเป็นแก่นสาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

‘The Quintessential Ice Cream’ คือวลีสั้นๆ ที่ปรากฏบนถ้วยไอศครีมในมือเราขณะนี้ และเป็นที่มาของชื่อ Quints แบรนด์ไอศครีมแฮนด์คราฟต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบเกรดพรีเมียมของ แก้ม–ปรารถนา สุวัฒนพิมพ์ 

หากใครเคยมีโอกาสได้ชิม สิ่งหนึ่งที่คุณน่าจะจดจำได้แน่ๆ คือเครื่องเคราในไอศครีมที่แก้มใส่มาแบบแน่นขนัด ตักไปตรงไหนก็ได้รสชาติเต็มปากเต็มคำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผลไม้สดๆ แป้งคุกกี้หอมๆ หรือครัมเบิลบิสกิตซึ่งเธอใช้คำว่า ‘สาด’ ลงไปแบบไม่ยั้งในทุกๆ ถาด

“ตอนที่ตั้งชื่อ Quints เราตั้งใจให้ชื่อนี้สื่อออกไปว่าไอศครีมของเราไม่เหมือนใคร มันพรีเมียม มันแฮนด์คราฟต์ มันเรื่องเยอะ และมันจุกจิกมาก” แก้มลากเสียงยาวพลางหัวเราะ และเล่าถึงความตั้งใจของเธอที่อยากให้ทุกสกู๊ปเป็นไอศครีมที่ดีที่สุด แม้ไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่อย่างน้อยก็สำหรับเธอในฐานะคนทำ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ไอศครีมที่เป็นหัวใจสำคัญนั้นรสชาติเป็นยังไง แล้วอะไรคือหัวใจสำคัญของไอศครีมลูกนี้ ตามไปหาคำตอบได้จากเรื่องราวของแก้มกับแบรนด์ที่เธอประคบประหงมเหมือนลูกน้อยมาตลอดเวลาหลายปี

Quints
Quints

รสชาติที่อบอุ่น

กลางเดือนกรกฎาคม ปี 2020 หลังจากที่เปิดขายออนไลน์ได้ไม่นาน แก้มตัดสินใจพาลูกๆ ไอศครีมที่ทำเองกับมือไปออกบูทครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน และเพียงแค่วันที่ 2 ของการออกบูท Quints ก็สร้างปรากฏการณ์คนต่อคิวยาวเหยียด 

จากการแนะนำแบบปากต่อปากและพลังของโซเชียลมีเดีย ทำให้ไอศครีมกว่า 30 ถาดที่เตรียมไว้ขายหมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน!

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะโชคช่วยแต่อย่างใด แต่เพราะเบื้องหลังไอศครีมทุกถาดของ Quints คือประสบการณ์การทำขนมของแก้มที่บ่มเพาะมาร่วมสิบปี ในฐานะผู้ก่อตั้ง Sweet Obsession สถาบันสอนทำขนมที่มีทั้งบริการจัดเวิร์กช็อปไปจนถึงรับทำขนมแบบ customized 

เปล่าเลย แก้มไม่ได้มีอาชีพหลักเป็นเชฟ และไม่ได้เรียนจบจากสถาบันสอนทำอาหารที่ไหน เธอเป็นเพียงหญิงสาวคนหนึ่งที่หลงรักในรสชาติหอมหวาน ซึ่งช่วยให้เธอสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตมาได้เท่านั้นเอง

“แก้มเริ่มทำขนมครั้งแรกตอนที่กลับจากอังกฤษกะทันหัน ก่อนหน้านั้นเราเรียนและทำงานที่นั่นมาสิบกว่าปี มีแผนการชีวิตอีกหลายอย่างที่วางไว้ แต่แผนทั้งหมดก็ล้มลงในพริบตาเพราะคุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

“ตอนนั้นแก้มไม่มีเพื่อนที่ไทยเลย อยู่ที่ทำงานก็ไม่คุยกับใคร คัลเจอร์ช็อกทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ประมาณ 4-5 ปี เพราะเราย้ายกลับมาทั้งที่ยังไม่พร้อม โชคดีที่เจอทางออกของตัวเองนั่นคือการทำขนม ซึ่งช่วยให้เรามีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน” 

เมนูแรกที่เธอหัดทำคือซอฟต์คุกกี้ เมนูยอดฮิตของนักอบขนมมือใหม่หลายคน

“ตอนนั้นแก้มคิดถึง Bens Cookies ที่มีจุดกำเนิดในออกซ์ฟอร์ด เมืองที่อาศัยอยู่สมัยเรียน ซึ่งทำให้เราได้กินคุกกี้แบรนด์นี้มาตั้งแต่เด็กๆ มันเป็นรสชาติที่อบอุ่น เมื่อมีโอกาสแก้มเลยอยากลองทำ” 

รสชาติที่แปลกใหม่

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้แก้มลุกขึ้นมาทำขนมเป็นอาชีพหลักคือสภาพจิตใจของเราในขณะนั้นซึ่งไม่มั่นคง เราไม่อยากออกไปเจอใคร เลยตัดสินใจว่าจะเริ่มทำขนมขายออนไลน์ เราไม่อยากมีหน้าร้าน ไม่อยากจ้างใครมาช่วยด้วย เพราะเราจะทำเองทั้งหมด” 

ในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งยังไม่แพร่หลายและคนส่วนใหญ่ยังไม่ไว้วางใจที่จะโอนเงินให้คนแปลกหน้า แก้มถูกคนรอบตัวหลายคนคัดค้าน แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังเดินหน้าเปิดตลาดร้านขนมออนไลน์ และหนึ่งในเมนูที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับแก้มและ Sweet Obsession คือ Butter Popcorn Macaron ที่เธอคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง 

“ย้อนไปตอน 2011 มาการองคือขนมที่เริ่มฮิตขึ้นมาในแถบยุโรปกับอเมริกาแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย เพราะตอนนั้น Pierre Hermé หรือ Ladurée ยังไม่เข้ามา” ด้วยเหตุนี้แก้มจึงตัดสินใจสั่งซื้อหนังสือมาจากต่างประเทศ หัดทำด้วยตัวเอง และสมัครเรียนกับเชฟฝรั่งเศสในเมืองไทย จากนั้นไม่นานเธอก็เริ่มพัฒนาสูตรมาการองเป็นของตัวเอง

“ปรากฏว่ามาการองรสป๊อปคอร์นของเรามันออกมาดีและมีคนชอบเยอะมาก สุดท้ายจึงกลายเป็นซิกเนเจอร์ของ Sweet Obsession มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเราจะไม่ได้เปิดรับออร์เดอร์บ่อยๆ แล้วก็ตาม” 

แม้กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค

“แก้มคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายึดความชอบเป็นอาชีพ มันเป็นเรื่องง่ายมากที่แพสชั่นของเราจะหมดไป

“ในกรณีของแก้มที่เริ่มต้นทำหลายอย่างไวกว่าคนอื่นทั้งซอฟต์คุกกี้และมาการอง มันจึงมีปัญหาการก๊อปสูตรไปทำขาย พอถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มหมดแพสชั่นในการทำขนม เราจึงหันมาเน้นการเปิดคลาสและเชิญอาจารย์จากต่างประเทศมาสอนแทน” ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้เธอได้มีเวลาบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์กับแพสชั่นของตัวเองให้กลับคืนมาทีละนิด

“ทำให้เมื่อกลับมาลุยอีกครั้งกับ Quints ไอศครีมแต่ละถาดจึงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของเรา” แก้มเล่า

Quints

รสชาติที่เป็นคอมฟอร์ตโซน

ในความเข้าใจของเราและคนส่วนใหญ่ Quints คือแบรนด์ไอศครีมที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคโควิด-19 แต่แก้มกลับบอกว่าโปรเจกต์นี้มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่านั้นมาก

“ถ้านับจากปัจจุบัน โปรเจกต์นี้คือสิ่งที่เราแพลนมา 5 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เรามีทั้งโลโก้ แบรนด์ดิ้ง และถ้วยไอศครีมที่ผลิตเก็บไว้มาประมาณ 2-3 ปีแล้ว เพราะมันเป็นช่วงที่เราเริ่มหมดแพสชั่นกับการทำขนมเลยอยากลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งไอเดียการทำไอศครีมก็เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเรามานานแล้ว เราจึงคิดและทดลองสูตรมาเรื่อยๆ แต่ที่ไม่ปล่อยออกมาสักทีเพราะเป็นความกลัว ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ” 

แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คลาสส่วนใหญ่ของ Sweet Obsession ต้องหยุดชะงัก จึงคล้ายเป็นการผลักให้แก้มต้องเร่งหาธุรกิจใหม่เข้ามาทดแทน 

“รสชาติไอศครีมของ Quints ส่วนใหญ่เลยเริ่มต้นจากเมนูขนมที่เราคุ้นเคยในสมัยปีแรกๆ ที่ทำ Sweet Obsession” เมื่อต้องเริ่มออกแบบรสชาติไอศครีมสำหรับธุรกิจใหม่ แก้มจึงไม่รีรอที่จะหยิบมาการองป๊อปคอร์นสูตรเด็ดของตัวเองมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นไอศครีมรส Caramel Popcorn อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่นกันกับรส Cookie Monster ที่เธอต่อยอดมาจากเมนูซอฟต์คุกกี้ ขนมชนิดแรกที่เธอหัดทำนั่นเอง

“อาจจะเรียกได้ว่าแก้มเริ่มทุกอย่างจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง จากสูตรที่ตัวเองมั่นใจ แม้ว่าบางรสชาติอาจจะไม่ใช่คอมบิเนชั่นที่คุ้นเคยของลูกค้าหลายคนก็ตาม” เธอเล่าติดตลกเมื่อยกตัวอย่างถึงไอศครีมรสชาเขียวที่มักจะมาพร้อมกับบราวนี่เนื้อแน่น

รสชาติในจินตนาการ

กับแบรนด์ Quints ที่แก้มนิยามว่าเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น เธอมีวิธีการ ‘เล่น’ กับไอศครีมแต่ละถาดยังไง–เราอดสงสัยไม่ได้

“โดยปกติแก้มจะเริ่มจากการจินตนาการรสชาติในหัวแล้วค่อยไปเขียนสูตร จากนั้นจึงลองทำขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้รสชาติที่ตรงกับสิ่งที่อยู่ในหัวประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องปรับสูตรอีกนิดหน่อยเพื่อให้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือออกมาสมบูรณ์” แก้มอธิบายอย่างกระชับ และฟังดูง่ายดายจนเราต้องขอให้เธอช่วยยกตัวอย่างให้ฟัง

Apple Crumble คือเมนูที่เธอตั้งใจยกขึ้นมาเพื่ออธิบาย

“กระบวนการหลักๆ ของแก้มจะคล้ายกับขนมประเภท deconstructed desserts ซึ่งเป็นการแยกชิ้นส่วนของขนมแต่ละชนิดออกมาและนำเสนอแบบแยกส่วนกัน

“โจทย์สำคัญคือเราจะทำยังไงให้รสชาติที่เราคุ้นเคยถูกดัดแปลงอยู่ในรูปแบบไอศครีมได้แบบใกล้เคียงที่สุด ลำดับแรกเราจึงต้องมองหาสิ่งที่จะเป็นตัวชูโรงหรือเป็น key ingredients ของเมนูนั้นๆ สำหรับเราที่ชอบราดคัสตาร์ดลงไปบนครัมเบิลมากๆ จึงตัดสินใจหยิบส่วนนี้มาใช้เป็นเบสไอศครีม” เมื่อได้เนื้อไอศครีมรสชาตินุ่มนวลเข้มข้นมาเป็นเบส สิ่งที่จะตามมาก็คือครัมเบิลเนื้อกรุบที่จะเพิ่มเนื้อสัมผัสแปลกใหม่ในไอศครีม และที่ขาดไม่ได้ก็คือแอปเปิลหอมหวานที่แก้มนำไปอบและเคี่ยวอย่างพิถีพิถัน

สุดท้ายจึงได้มาเป็นแอปเปิลครัมเบิลที่ถูกรื้อสร้างมาอยู่ในรูปแบบของไอศครีม

Quints

และด้วยความที่แก้มคือผู้รับผิดชอบดูแลทั้งแบรนด์ดิ้ง คิดสูตร และขั้นตอนการผลิตเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่แปลกเลยที่ไอศครีมทุกรสจะมีแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตของเธอเอง

“อย่างแอปเปิลครัมเบิลเป็นอาหารวัยเด็กของแก้ม สมัยที่ย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำในอังกฤษแรกๆ ที่โรงเรียนเขาจะเสิร์ฟครัมเบิลทุกเย็น ซึ่งสำหรับเราในตอนนั้นมันเป็นขนมที่แปลกเพราะเสิร์ฟแบบร้อนแต่กลับอร่อยมาก ตักเข้าปากแล้วให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ามีคนมาโอบกอดเราอยู่ โดยเฉพาะในเวลาที่เราคิดถึงบ้าน ขนมนี้ก็ช่วยปลอบโยนเราได้ นั่นคือโมเมนต์วัยเด็กของเรา

“แต่กว่าที่จะได้ออกมาเป็นหนึ่งรสชาติ เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเราชอบอะไร ทำไมถึงอยากทำรสนี้ ทำไมรสชาตินี้มันถึงเด้งออกมาในความทรงจำของเรา เพราะคำตอบเหล่านั้นจะนำไปสู่วิธีการพรีเซนต์รสชาติอีกทีหนึ่ง” เธอสรุป

รสชาติของความคิดสร้างสรรค์

แม้ว่ากระบวนการทำงานของแก้มจะฟังดูเรียบง่ายเสียจนเราอยากลุกขึ้นมาหัดทำไอศครีมเองดูบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรสชาตินั้นคือประสบการณ์ของเธอผู้คลุกคลีกับขนมนมเนยมาแล้วสารพัดชนิด ซึ่งมันสร้างทั้งข้อดีและข้อเสียให้เธอเช่นกัน

“การคัดสรรวัตถุดิบคือสิ่งที่เรามีประสบการณ์อยู่แล้วประมาณหนึ่ง ทั้งแหล่งในการซื้อและการจับคอมบิเนชั่นของรสชาติต่างๆ แต่ในหมู่คนทำอาหารที่จะเป็นที่รู้กันดีว่าไอศครีมคืออาหารที่ทำง่าย เก็บได้นาน เป็นขนมที่จะทำกำไรให้ร้านแน่นอน แต่เราคือคนที่สามารถทำไอศครีมให้ขาดทุนได้” แก้มเล่าพร้อมหัวเราะร่วน 

“เราจะมีอยู่เมนูหนึ่งที่ลูกค้าชอบมากคือ Lemon Blueberry Yogurt ซึ่งตอนคิดเราก็ตั้งใจว่าอยากจะใส่โยเกิร์ตโฮมเมดที่เข้มข้น ครีมมี่ ไม่หวานมาก และใช้บลูเบอร์รีจริงลงไปเคี่ยวให้หอม ไม่ใช้บลูเบอร์รีกระป๋องหรือบลูเบอร์รีแช่แข็ง ส่วนบิสกิตเราก็ต้องใช้ Lotus Biscoff สาดลงไปเยอะๆ ซึ่งตอนคิดในหัวก็ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรเลย แค่ซื้อของมาเตรียม แต่ปรากฏว่าขาดทุนกระจายจนแก้มต้องหยุดขายชั่วคราว”

Quints

“แก้มรู้ดีว่าไอศครีมร้านเราราคาสูง แต่การที่เราเซตราคาเท่านี้มันทำให้เรามีอิสระในการสร้างสรรค์และทดลองรสชาติใหม่ๆ มากขึ้น เพราะถ้าเราตั้งราคาต่ำกว่านี้เราก็จะถูกจำกัดด้วยการควบคุมต้นทุน วัตถุดิบที่อยากใส่หลายอย่างก็คงใช้ไม่ได้

“ความตั้งใจของแก้มคือจะไม่ทำรสชาติที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าเป็นของที่เข้ากัน อย่างช็อกโกแลตกับบราวนี่ หรือชาเขียวกับถั่วแดง เหล่านี้เป็นรสชาติที่เดาได้ คิดอะไรไม่ออกก็ทำรสนี้ แต่เราจะไม่ทำ เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ลองชิมและรู้ว่ามันมีคอมบิเนชั่นที่หลากหลายกว่านั้น” แก้มอธิบาย

หนึ่งในคอมบิเนชั่นที่แก้มเลือกหยิบมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจคงหนีไม่พ้น Chrysanthemum ไอศครีมรสเก๊กฮวยในเบสนม ผสมโกโก้นิบส์กลิ่นหอมฟุ้งตัดเลี่ยนในปาก ซึ่งจัดว่าเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของร้าน 

“ด้วยความที่เป็นคนชอบดื่มชาอังกฤษชงใส่นมอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราพัฒนาสูตรไอศครีมเก๊กฮวยเบสนมดีกว่า เราน่าจะเล่นอะไรกับมันได้เยอะ” แก้มเกริ่นก่อนจะอธิบายต่อถึงข้อจำกัดของซอร์เบต์ ซึ่งยากที่จะสร้างความแตกต่างของรสชาติ เพราะในการจะทำซอร์เบต์ให้ได้เนื้อสัมผัสดี ขึ้นรูปเป็นสกู๊ปได้นั้น จำเป็นต้องใส่ปริมาณน้ำตาลให้มากพอ ทำให้ซอร์เบต์ในตลาดส่วนมากมีรสชาติหนักหวานไม่ต่างกัน

“จากนั้นเราก็พยายามมองหาคอมบิเนชั่นที่เข้ากันแต่ไม่น่าเบื่อ ตอนแรกเคยมีความคิดว่าจะลองใส่ขนมไทย แต่ก็ไม่ค่อยเวิร์ก” 

กระทั่งวันหนึ่งที่แก้มได้มีโอกาสไปทานอาหารในร้านที่เสิร์ฟมูสรสชาโดยมีโกโก้นิบส์ตกแต่งมาด้วยในจาน ปรากฏว่าเมื่อลองตักเข้าปากพร้อมกันนั้นเกิดเป็นรสชาติที่แปลกแต่ก็เข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ

“คนมักจะถามว่าไอศครีมร้านเรามีกี่รส คำตอบคือเราไม่รู้เพราะมันเยอะมาก (หัวเราะ) สำหรับเรามันไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเราก็จะมีรสใหม่ที่อยากทำอยู่ตลอดเวลา บางทีเราแค่จับอันนั้นมาใส่อันนี้ก็กลายเป็นรสใหม่ขึ้นมาแล้ว” เธอว่า

Quints

รสชาติที่เป็นหัวใจสำคัญ

ใครที่เคยแวะเวียนไปชิมไอศครีมของ Quints มาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง อาจสังเกตเห็นรสชาติพิเศษประจำเดือน (monthly special) ที่แก้มขยันคิดขยันทำออกมาให้เราชิมอย่างต่อเนื่อง 

ไม่นานมานี้เธอได้ต่อยอดไปสู่การออกคอลเลกชั่นรสชาติพิเศษภายใต้คอนเซปต์ที่น่าสนใจอย่าง Quints Airline ที่พาเราไปลิ้มรสชาติในต่างประเทศที่คิดถึง ไม่ว่าจะเป็น Kinako Mochi and Kuromitsu หรือ Hojicha Brown Sugar Mochi จากประเทศญี่ปุ่นที่แก้มลงทุนนวดโมจิเองกับมือ! ไปจนถึง Strawberry Rhubarb Crumble และ Passion Fruit Eton Mess จากประเทศอังกฤษในความทรงจำของเธอเอง

“เมื่อก่อนเราจะมีปัญหาที่รสชาติบางอย่างมันจัดหมวดหมู่ยาก แต่พอเริ่มสร้างระบบคอลเลกชั่นขึ้นมามันเลยจัดการง่ายขึ้น” แก้มเล่า

และสำหรับคอลเลกชั่นล่าสุดที่แก้มเพิ่งปล่อยออกมาหมาดๆ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็คือ Childhood Favorites ที่คัดสรรรสชาติวัยเด็กในความทรงจำมานำเสนอผ่านไอศครีมหวานเย็นหอมอร่อย

“อย่างที่บอกว่าไอศครีมทุกรสเกิดขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกของเรา คอลเลกชั่นนี้เกิดจากการที่เรารู้สึกคิดถึงวัยเด็กอยู่บ่อยๆ สมัยที่โลกมันยังดูสนุก น่าค้นหา และไร้เดียงสาไปหมด เราจึงอยากให้ทั้ง 6 รสชาตินี้พาทุกคนย้อนเวลากลับไปยังโมเมนต์ในอดีต ในเวลาที่อะไรๆ มันยังดูง่ายกว่านี้”

โดยปกติแล้วไอศครีมคอลเลกชั่นพิเศษจะวางขายประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่ในสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทำให้เราไม่สามารถไปชิมไอศครีมที่หน้าร้านได้เหมือนเมื่อก่อน เราจึงตัดสินใจขยายระยะเวลาวางขายให้ยาวขึ้นเป็น 2 เดือน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าอย่างเราๆ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงโปรดักต์มากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในแง่ธุรกิจอีกด้วย

“ในสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะ​​ต้องจริงใจกับลูกค้า ไม่ลดคุณภาพสินค้า แต่ขณะเดียวกันก็ต้อง stay on course ให้มากที่สุด บางครั้งการที่ยอดขายตกอาจทำให้เราตกใจจนรีบออกโปรดักต์ใหม่มาดันยอดขาย แต่ในความเป็นจริงแล้วเราควรต้องรู้จังหวะของตัวเอง และไม่ลืมว่าหัวใจหลักของแบรนด์คืออะไร” แก้มสรุป

Quints

ในอนาคตอันใกล้ Quints กำลังจะไปเปิดสาขาใหม่ ณ ห้างสรรพสินค้า The EmQuartier แต่น่าสนใจที่เมื่อถามถึงแผนการในระยะยาว แก้มกลับบอกว่าเธอไม่มีความคิดอยากขยายสาขาจำนวนมากขนาดนั้น

“เมื่อทำธุรกิจ หลายคนอาจวางแผนที่จะขยายให้กลายเป็นอาณาจักร แต่สำหรับเรา เราใส่ใจลงไปในธุรกิจเยอะมากๆ จนเขาเหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นข้อจำกัดที่ทำให้แบรนด์เราโตยาก จะบอกว่าเราปล่อยวางไม่ได้ก็อาจจะใช่ แต่มันก็เป็นอุดมการณ์ของเราที่ตั้งใจไว้ว่าอยากให้แบรนด์นี้สื่ออะไรกับคน”

ไอศครีมที่เป็นหัวใจสำคัญ และรสชาติที่สื่อสารกับลูกค้าทุกคนได้–เราคิดว่าแก้มหมายถึงสิ่งนั้น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย