Stand by Me ไอศครีมว่าด้วยโรคซึมเศร้าจาก a day และ Guss Damn Good

Highlights

  • Collab for Change คือโปรเจกต์ย่อยภายใต้ร่ม a day 20th Anniversary Collaboration Project ซึ่งเน้นการร่วมมือเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะ
  • Collab for Change 01 ภูมิใจนำเสนอ Stand by Me ไอศครีมว่าด้วยโรคซึมเศร้าที่เกิดจากความร่วมมือของ a day และ Guss Damn Good แบรนด์ไอศครีมที่คิดรสชาติจากเรื่องราว และเชื่อว่าเรื่องเล่าสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้

ในวาระที่ a day กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 เราชวนหลายองค์กรที่เรารักมาทำโปรเจกต์สนุกๆ ร่วมกันภายใต้ชื่อ a day 20th Anniversary Collaboration Project อย่างกระเป๋า sacoche รุ่นพิเศษสำหรับสมาชิกที่เราทำร่วมกับแบรนด์สตรีทแวร์สุดเท่อย่าง Rompboy ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

แต่นอกจากทำบางสิ่งเพื่อความสนุก เรายังเชื่อในการทำบางสิ่งเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม จึงเป็นที่มาของ Collab for Change โปรเจกต์ย่อยภายใต้ร่ม a day 20th Anniversary Collaboration Project ที่เราเลือกประเด็นที่สนใจมาบอกเล่าเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และถ้าเป็นไปได้ ก็เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แม้เล็กน้อยก็ยังดี

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้าและสุขภาพจิตเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหู โดย a day เองก็เคยสื่อสารเรื่องนี้ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ใน a day 210 ฉบับ Therapy ซึ่งว่าด้วยการบำบัดแขนงต่างๆ รวมทั้งในออฟฟิศ a day ก็มีเพื่อนร่วมงานที่กำลังรักษาตัวจากโรคซึมเศร้า ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นแรกๆ ที่พวกเราชาว a team นึกถึง และตัดสินใจหยิบมาตั้งต้นเป็น Collab for Change 01

และนับเป็นความโชคดีราวกับจักรวาลจัดสรรที่ Guss Damn Good แบรนด์ไอศครีมที่ทั้งเท่ ฉีกกฎ และเล่าเรื่องราวผ่านรสชาติได้อย่างเก่งกาจ ก็สนใจจะทำไอศครีมที่บอกเล่าเรื่องราวของโรคซึมเศร้าและสุขภาพจิตอยู่พอดี

จะรออะไรอีก หยิบช้อนขึ้นมาให้พร้อม เราจะพาไปชิมเบื้องหลังรสชาติขมอมหวานของ Stand by Me ไอศครีมที่เสิร์ฟเย็นเฉียบแต่เข้าปากแล้วอบอุ่นไปถึงหัวใจ 

ถ้าเชื่อเหมือนกันก็มาร่วมมือกันเถอะ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน เดือนแห่งความภาคภูมิใจที่ผู้คนพากันเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ เราได้จัดทำ a day 226 ฉบับ Gender เพื่อจุดประกายให้เกิดบทสนทนาว่าด้วยการยอมรับในทุกเพศหลากหลายบนเส้นสเปกตรัม

ในเดือนเดียวกันนั้น Guss Damn Good ก็เปิดตัวรสชาติพิเศษ Equality และ Love is Love เพื่อสื่อสารในเรื่องเดียวกัน และระหว่างพูดคุยกับสองผู้ก่อตั้งอย่าง ริน–ระริน ธรรมวัฒนะ และ ที–นที จรัสสุริยงค์ เพื่อทำบทความเล่าวิธีคิดเบื้องหลังไอศครีมทั้งสองรสชาติ เราก็ได้รู้ว่าพวกเขากำลังวางแผนจะทำไอศครีมว่าด้วยโรคซึมเศร้าเป็นลำดับต่อไป 

และอย่างที่เล่าไปว่า a day เองก็สนใจประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้าอยู่เช่นกัน ความลงตัวราวกับพรหมลิขิตนี้ทำให้เราเอ่ยปากชวนทั้งคู่มาร่วมโปรเจกต์ Collab for Change 01 ซึ่งสองคู่หูผู้เรียกตัวเองว่า Damn Good Business Provider ก็ตอบรับทันที 

“ตอนที่พี่ๆ จาก a day มาหาเรา เขาก็เอานิตยสารปก LGBTQ มาให้ดูด้วยว่า เขาก็จริงจังเหมือนกันนะ เราน่าจะคุยกันรู้เรื่องเพราะเป็นคนจริงจังทั้งคู่ เราก็รู้สึกดีเลย เฮ้ย เรามีแนวร่วม มีคนคิดแบบเรา ก็เลยคิดว่าอยากจะผลักให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริงๆ

“มอตโต้ในการทำไอศครีมของเราคือ Story to Flavor เราแปลเรื่องราวดีๆ รอบตัวให้กลายมาเป็นรสชาติ พอเราทำโปรเจกต์ LGBTQ แล้วได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่เป็นจุดเล็กๆ ในสังคมเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ แบบนี้ได้อีก” ระรินอธิบายด้วยรอยยิ้ม

และนั่นจึงเป็นที่มาของจุดเล็กๆ ที่ a day และ Guss Damn Good ร่วมมือกัน

เมื่อไม่รู้ก็ต้องทำให้รู้

ทุกวันนี้ทุกคนต่างเคยได้ยินชื่อโรคซึมเศร้ากันทั้งนั้น แต่ใช่ว่าคนที่เคยได้ยินจะมีความหมายเท่ากับคนที่เข้าใจโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง

อย่างนทีเองก็ออกตัวว่าความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของตนเองแทบเป็นศูนย์ “ตอนนั้นผมมีความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าน้อยมาก ผมไม่มีเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่ก็เห็นข่าวเรื่อยๆ ที่คนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วฆ่าตัวตาย ผมรู้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา แต่ไม่รู้อะไรลึกกว่านั้น” 

“เรามีเพื่อนสนิทที่เป็น แต่ถามว่ามีความรู้ไหม ก็ไม่มี” ระรินแชร์มุมของตัวเองบ้าง “พอรู้ว่าเขาเป็นเราก็ตกใจ เราไม่รู้ว่าต้องทรีตเขายังไง หลังจากนี้จะคุยกับเขายังไง จะปรึกษาอะไรเขาได้ไหม มันกลายเป็นว่าเราอาจจะประคบประหงมทุกทางเลย ซึ่งไม่รู้ว่าวิธีนั้นอาจจะทำให้เขายิ่งรู้สึกแย่กว่าเดิมหรือเปล่า”

นทีและระรินจึงตัดสินใจใช้วิธีเดิมที่เคยทำตอนหาอินไซต์เรื่อง LGBTQ นั่นคือชวนคนที่สนใจมาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์กัน ในจำนวนนั้นมีทั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและคนที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า โดยหลังจากจบเวิร์กช็อปครั้งนั้นระรินและนทีสรุปเป็นคอนเซปต์ที่ว่า Treat Me Normal อันหมายถึงการปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามปกติ ปกติแรกคือไม่ต้องประคบประหงมผู้ป่วยจนเกินไป และปกติสองคือให้รู้ว่าผู้ป่วยหายจากโรคนี้ได้เหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไปนั่นแหละ

กระนั้นทั้งคู่ก็รู้สึกว่าประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้านั้นแสนซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง จนการพูดคุยกลุ่มเล็กอาจจะยังไม่เพียงพอ

“อย่าง LGBTQ เรามีคนใกล้ตัวเยอะกว่า มีประสบการณ์เยอะกว่า แต่โรคซึมเศร้ามันมองได้หลายแง่มาก มีความเซนซิทีฟมาก แล้วก็มีเรื่องของวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราไม่รู้ว่าเราจับจุดไหนมาแล้วมันจะผิด จะแย่หรือเปล่า” ระรินเล่า

“มันมีความยากในตัว เราต้องศึกษาให้ดี แล้วพูดเมสเซจออกมาให้ชัดเจน” นทีเสริม

ตรงจุดนี้เองที่ a day ได้เข้ามามีบทบาท ในฐานะสื่อมวลชน เราเคยสัมภาษณ์ผู้รู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงสุขภาพจิตมาบ้าง และหนึ่งในนั้นคือ อิ๊ก–กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดได้อย่างสะดวกสบายผ่านการวิดีโอคอลปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานในการเดินทางออกจากบ้านแม้สักนิด

ooca.co

เราจึงติดต่อไปทาง Ooca ผู้ยินดีให้ความช่วยเหลือเราเต็มที่ โดยตัวกัญจน์ภัสสรเองได้มาให้อินไซต์ในฐานะคนที่คลุกคลีกับทั้งฝั่งผู้ป่วยและฝั่งผู้ให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งเธอยังชวนนักจิตบำบัดมาให้อินไซต์ลงลึกในฐานะผู้เยียวยาอีกด้วย

“เราได้รู้ว่าเราต้องทรีตคนเป็นโรคซึมเศร้ายังไง ต้องเริ่มจากอะไร ต้องทำยังไงให้เขาอยากจะพูดความในใจออกมาได้ ลำดับแรกคือทำให้เขารู้สึกสบายใจและเชื่อมั่นในตัวของนักจิตบำบัดก่อน จากนั้นทางปฏิบัติโดยทั่วไปคือพยายามให้ผู้ป่วยพูดสิ่งที่เขารู้สึก สิ่งที่เขาเป็นออกมา” นทีสรุปความ

ในการพบเจอกันครั้งนั้น ทั้งคู่ได้พบว่าจุดเด่นหนึ่งของ Ooca คือการทำงานในเชิงป้องกันและคลี่คลายปัญหาใจผ่านการปรึกษา นั่นคือสนับสนุนให้ใครก็ตามที่รู้สึกไม่ดี เช่น เศร้า อึดอัด เครียด หรือมีเรื่องไม่สบายใจที่จัดการด้วยตัวเองไม่ได้ ก็สามารถมาปรึกษาคุณหมอก่อนได้

“จากที่คุยกับ Ooca ถ้ารู้สึกไม่ดี นอกจากไปคุยกับคุณหมอ ก็อาจจะเริ่มจากการคุยกับเพื่อนหรือคนรอบข้างก็ได้ ซึ่งก็อย่างที่นทีว่า เราได้อินไซต์มาว่า ถ้าเขาสบายใจ เขาจะอยากพูด ดังนั้นเพื่อนหรือคนรอบข้างก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังแบบไม่ตัดสิน ฟังแล้วคอยให้กำลังใจและซัพพอร์ต

“เราก็เลยมานั่งคิดว่า อยากให้ไอศครีมซัพพอร์ตเขาได้ เหมือนว่าคนที่ให้ไอศครีมคือคนที่อยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะมีอะไร ฉันอยู่นี่นะ โดยที่ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่อะไรใดๆ” ระรินช่วยเล่า

นอกจากนี้นทีและระรินยังได้อีกหนึ่งอินไซต์จากนักจิตบำบัดที่ว่า ผู้ให้บริการทางการแพทย์จะโฟกัสให้ผู้ป่วยต้องรักตัวเอง ดูแลตัวเอง และเข้มแข็งเพื่อตัวเองด้วย 

“วันนั้นนักจิตบำบัดเขาพูดว่า ‘ให้รู้ด้วยนะว่ายังมีตัวเขาเองอยู่อีกคนหนึ่ง’ ซึ่งเป็นคีย์เมสเซจที่เราชอบ” นทีว่า 

และเมื่อผสมสองอินไซต์หลักเข้าด้วยกัน จึงกลายมาเป็นรสชาติขมอมหวานที่คุณจะได้สัมผัสในชื่อ Stand by Me 

ยืนเคียงกันและหยัดยืนด้วยตัวเอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Guss Damn Good ตีความเมสเซจที่อยากสื่อสารออกมาเป็นรสชาติไอศครีม แต่นับเป็นไม่กี่ครั้งที่พวกเขาจินตนาการเป็นรสชาติได้ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่สรุปคอนเซปต์ Stand by Me ออกมาได้

“เป็นชอยส์เดียวที่คิดในหัวแล้วทำเลย มันชัดด้วยสี ส่วนผสม และความหมาย” ระรินเป็นตัวแทนแจกแจงที่มาที่ไปของรสชาติ

“Stand by Me มีความหมายสองด้าน ความหมายแรกคือการที่มีคนอยู่ข้างๆ คอยซัพพอร์ต ส่วนในอีกความหมายคือการยืนเพื่อตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าเป็น Stand by Me ขาเดียวที่มีแต่เรื่องการซัพพอร์ตให้กำลังใจ มันอาจจะดูหวานไป ฟรุ้งฟริ้งไป หรือไม่จริงกับโลกใบนี้สักเท่าไหร่

“เราเลยตีความ Stand by Me ที่มีสองด้านแบบนี้ออกมาเป็น Raspberry Dark Chip ทั้งราสป์เบอร์รีและช็อกโกแลตมีส่วนช่วยให้คนอารมณ์ดี กระปรี้กระเปร่า แล้วตัวราสป์เบอร์รีกับดาร์กช็อกโกแลตมีสารต้านอนุมูลอิสระทั้งคู่ ซึ่งในทางการแพทย์ก็ดีกับคนที่รู้สึกเซ็งๆ หรือป่วย 

“เราเอาสองตัวนี้มาอยู่ด้วยกันเพราะราสป์เบอร์รีให้ความหวาน เปรี้ยว หอม สื่อไปในทาง Stand by Me ที่มีคนคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างๆ กัน แต่ว่าเราใช้ดาร์กช็อกโกแลตประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่อนข้างขมเลยทีเดียว มาละเลงในไอศครีมราสป์เบอร์รีสีชมพู คือกัดไปคำแรกๆ มันจะขม แต่พอกินเข้าไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเบลนด์กับความหวาน ความหอมของตัวราสป์เบอร์รี เข้ากันลงตัว ซึ่งความขมนี่เองเป็นตัวที่ทำให้เรารู้สึกว่า อย่าลืมตัวเองนะ ต้องสู้เพื่อตัวเองด้วย”

ทั้งคู่ย้ำว่า แม้จะเป็นรสชาติที่พวกเขาตีความออกมาได้ตั้งแต่ครั้งแรก แต่พวกเขาก็พิถีพิถันกับกระบวนการขึ้นสูตรมากๆ และลองปรับอยู่หลายต่อหลายครั้งกว่าจะได้เป็น Stand by Me ที่หวานขมลงตัวเช่นนี้

เรื่องเล่าที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ไอศครีมถ้วยหนึ่งจะช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ยังไง ขอบอกตรงนี้เลยว่าพวกเราไม่คิดจะไปแทนที่ยาหรือการบำบัดใดๆ เพียงแต่หวังว่าไอศครีมถ้วยนี้จะช่วยส่งต่อความรู้สึกดีจาก a day และ Guss Damn Good ไปสู่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้ชิม หรือกระทั่งคนอื่นๆ ที่แม้ไม่ป่วย แต่ในวันไหนที่รู้สึกแย่ พวกเราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้บ้างเหมือนกัน

“เราอยากเป็น Damn Good Business Provider คือถ้าดูชื่อแบรนด์จะไม่มีคำว่าไอศครีม เพราะเราต้องการสร้าง Damn Good Feeling ให้กับคน ไม่เพียงแค่ไอศครีม แต่ว่าเป็นอณูรอบๆ เรา ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลมีเดีย หน้าร้าน สกูปเปอร์ หรืออะไรก็ตาม

“ในแง่ไอศครีม เราคิดทุกรสชาติมาจากเรื่องราวที่ดีที่เราอยากบอกเล่าต่อ เวลาเราขายไอศครีม เราจะไม่บังคับ ไม่กดดัน เพราะเราอยากส่งเมสเซจผ่านไอศครีมไปถึงผู้รับ ไอศครีมคือสื่อกลาง แต่ที่สำคัญคือเมสเซจที่อยู่ระหว่างนั้นมากกว่า” ระรินอธิบาย

หรือในมุมที่กว้างขึ้นอีกนิด นอกจากจะได้ให้กำลังใจ ได้รู้สึกดี หากผู้คนได้รับรู้เบื้องหลังของไอศครีมนี้ ได้รู้จักและเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น และส่งต่อความเข้าใจนี้ออกไปสู่สังคมในวงกว้างขึ้น ก็คงดี

“เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากน้องแค่คนเดียวที่เขามองเห็นว่ามันมีปัญหาจริงๆ อยู่ในสังคม เราเลยอยากให้คนกินได้รับรู้เมสเซจที่เรากลั่นออกมา แล้วไปกระจายต่อ ไปสร้างแรงบันดาลใจต่อ หรืออย่างน้อยๆ คนที่กินเขาอาจจะมีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า เขาจะได้รู้วิธีว่าต้องทำตัวยังไง” นทีกล่าว

แม้เครื่องไม้เครื่องมือจะแตกต่างกัน แต่ทั้ง a day และ Guss Damn Good ก็เป็นนักเล่าเรื่องกันทั้งคู่ และสิ่งหนึ่งที่เราเชื่อตรงกันคือเรื่องเล่านั้นทรงพลัง ไม่ว่าจะผ่านตัวหนังสือหรือผ่านไอศครีมก็ตาม

“ตั้งแต่ก่อนที่เราจะทำไอศครีม LGBTQ เราก็มีไอศครีมที่เล่าเรื่องราวอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง Don’t Give Up #18 ก็มีคนซื้อไปให้กำลังใจคนอื่นเยอะเหมือนกัน เช่น ซื้อไปให้เพื่อนที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล หรือบางทีคนจัดงานแต่งงาน บ่าวสาวก็จะเลือกรสชาติที่มีความหวานอย่าง Sweet Caroline, Made My Day หรืออะไรก็ตามที่มี positive massage เราก็เลยรู้สึกว่า คนเขาเชื่อมโยงกับสตอรีและชื่อรสชาติเราจริงๆ นะ เราก็เลยเล่าเรื่องกันมาเรื่อยๆ” ระรินเล่า ก่อนนทีจะช่วยเสริม

“เมื่อก่อนเราจะทำไอศครีมตามความรู้สึกเรา โมเมนต์ที่เรารู้สึกดี โมเมนต์ที่เราได้หวนกลับไปคิดถึงเรื่อยๆ แต่หลังๆ เราเห็นแล้วว่าเราสามารถเล่าประเด็นทางสังคม แล้วทำให้มันดีขึ้น ส่ง awareness ออกไปในวงกว้างได้ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่าในตัวมากขึ้น แล้วน้องที่ทำงานกับเราเขาก็รู้สึกไปด้วย เขารู้สึกว่าการที่เขาได้เล่าเรื่องนี้ให้ลูกค้าฟัง เขาภูมิใจ และเขาภูมิใจที่ได้ขายออกไปให้ลูกค้าได้รับรู้ 

“เวลาที่มีคนส่งข้อความมาบอกขอบคุณเราในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เราก็จะส่งไปให้น้องๆ สกูปเปอร์ดูว่า เห็นไหมสิ่งที่คุณตั้งใจอธิบายให้ลูกค้าฟังมันส่งไปถึงนะ มันส่งเป็นพลังบวกไปให้กับสังคมไทยได้จริงๆ” 

สรุปแล้วพลังบวกนั้นส่งถึงจริงไหม ไปชิมแล้วมาบอกเราหน่อยนะ 


ไอศครีม Stand by Me จะวางขายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ที่ Guss Damn Good ทุกสาขา 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]