Limited Education เติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาไทย ด้วยแคมเปญเติมคำในสุภาษิตที่คุ้นเคย

Limited Education คุณเติมคำลงในช่องว่างเหล่านี้ได้ไหม

หน้าต่างมี ____ ประตูมี ____

เส้นผมบัง ____

รักวัวให้ ____ รักลูกให้ ____

ช่องว่างของสุภาษิตไทยเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่เราอ่านปุ๊บตอบปั๊บได้อย่างไม่ลังเล

แต่ยังมีเด็กไทยในระบบการศึกษาอีกหลายหมื่นชีวิตที่ไม่สามารถตอบได้ถูกต้อง

ปัญหาอันเรื้อรังของระบบการศึกษาไทยที่สะท้อนผ่านไวรัลในอินเทอร์เน็ต คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้มูลนิธิร้อยพลังการศึกษาและทีม Glow Story ลุกขึ้นมาต่อยอดแคมเปญระดมทุนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่าง Limited Education (ที่เราคุ้นเคยกันดีด้วยภาพลายมือเด็กน้อยโย้เย้และคำสะกดผิดในปีก่อนๆ) ซึ่งในปีนี้ก็นับว่าเป็นการทำงานต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 เข้าไปแล้ว

เพราะหลายคำตอบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มาจากจินตนาการล้ำเลิศของเด็กๆ แต่เกิดจากการได้รับการศึกษาที่ขาดคุณภาพ จึงเป็นที่มาของธีม ‘Imagine or Limited Education? จินตนาการหรือคุณภาพการศึกษาไม่เท่าเทียม’ ในปีนี้

ไม่ง่ายเลยกับการทำโปรเจกต์ที่เติบโตมาถึง 5 ปี ให้แปลกใหม่และไม่จำเจ ทั้งยังต้องคงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของแคมเปญนี้เอาไว้ไม่ให้หายไป ก็คงเหมือนที่ นัด–ณัฐชยา จรรยาพาณิชย์ คอมมิวนิเคชั่นดีไซเนอร์ และ แพง–นงนภัส ศรีสุข ครีเอทีฟและดีไซเนอร์ประจำแคมเปญนี้ว่าไว้ 

“ทำงานนี้ก็เหมือนออกอัลบั้ม แน่นอนว่าซิงเกิลแรงมักจะปังที่สุด ดังนั้นโจทย์ของเราก็คือ จะทำยังไงให้การออกอัลบั้มครั้งที่ 5 ปังเหมือนกัน”

ลำพังเราเองคงไม่สามารถแก้โจทย์ข้อนี้เองได้ จึงอยากขอชวนคุณนั่งลงเพื่อฟังนัดและแพงเล่าว่าพวกเธอและทีมงานทุกๆ คนทำอะไรและผ่านอะไรกันมาบ้างกว่าจะกลายมาเป็นแคมเปญ Limited Education ที่สดใหม่อย่างที่เห็นในปีนี้

ดูช้างให้ดูหาง ดูระบบการศึกษาให้ดูเด็ก

ไอเดียตั้งต้นของแคมเปญนี้มีที่มาจากโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับคำตอบผิดๆ ในสมุดการบ้านของเด็กๆ ซึ่งกลายเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์จนทีมรีเสิร์ชไปพบเข้า

สำหรับหลายคน คำตอบประเภท ‘ปลาปิรันปู่’ คือปลาที่คู่กับ ‘ปลาปิรันยา’ หรือการเรียงประโยคจนออกมาเป็น ‘ยายบัวเก็บดอก’ คงเรียกเสียงฮาและรอยยิ้มเอ็นดูได้ตั้งแต่แรกเห็น

“แล้วถ้าคำตอบเหล่านั้นไม่ได้มาจากการเขียนเล่นๆ แต่มาจากการที่ระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพล่ะ” นัดชวนเราตั้งคำถาม 

และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมลองหยิบเอาสุภาษิตไทยที่เราคุ้นเคยดี มาตั้งเป็นโจทย์ให้เด็กๆ ลองเติมคำที่หายไป

“ที่เราเลือกหยิบสุภาษิตไทยมาเป็นโจทย์ เพราะคนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จักสุภาษิตไทยกันอยู่แล้ว พอมาเจอสุภาษิตที่เขียนผิด หรือไม่เป็นอย่างที่คุ้นเคย ก็อาจเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมสุภาษิตพวกนี้ถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งเราก็จะโยงไปให้เขาเห็นว่า คำตอบเหล่านี้น้องๆ ไม่ได้ตอบกันเล่นๆ นะ แต่มันเกิดจากการที่เขาไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แน่นอนว่ามันยังโยงไปที่ภาพใหญ่อีกว่านี่คือปัญหาด้านการศึกษานี่แหละ” แพงอธิบายต่อ ก่อนที่นัดจะเสริม

“จริงๆ แล้วสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมันมากกว่าการเติมคำที่หายไปในสุภาษิตนะ เพราะการเติมช่องว่างเหล่านี้ก็เหมือนการเติมช่องว่างของน้องๆ ด้วย ทั้งช่องว่างเรื่องความรู้รอบตัว เรื่องโอกาสในอนาคต หรือแม้กระทั่งความฝันที่เขาวางไว้ พอสิ่งที่น้องๆ เติมไปไม่ใช่คำตอบที่ถูก มันก็สะท้อนได้ว่าเขาเองก็อาจจะไม่รู้เหมือนกันว่า คำตอบที่เขาอยากเติมในช่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องและเป็นจริงได้หรือเปล่า” 

คบเด็กสร้างสรรค์

เมื่อเลือกใช้ข้อมูลจริงจากเด็กๆ เป็นตัวเล่าเรื่อง อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญจึงหนีไม่พ้นการลงไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มทดลอง แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทีมไม่สามารถลงไปเก็บข้อมูลในสถานที่จริงได้เหมือนปีที่ผ่านๆ มา พวกเขาจึงต้องจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ 

ซึ่งทีมงานทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำงานในปีนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดทางการศึกษาเข้าไปใหญ่

“พอไปลงที่จริงไม่ได้เราเลยต้องทำเวิร์กช็อปออนไลน์ด้วย Zoom conference ให้เด็กๆ ชั้น ม.ต้นมาร่วม ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กทุนของมูลนิธิร้อยพลังการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การเรียนเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเจอข้อจำกัดพอสมควรเลย 

“จากตอนแรกเรามองว่าอยากได้น้องๆ มาร่วมสัก 40-50 คน แต่สุดท้ายเราก็ได้คนที่สะดวกและพอจะเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ มาได้แค่ประมาณ 20 คนเอง” นัดเล่า

เพราะไม่อยากให้การลงไปเก็บข้อมูลกลายเป็นงานจริงจังเกินไป กิจกรรมออนไลน์ครั้งนี้จึงแบ่งออกเป็นสองช่วงง่ายๆ คือช่วงละลายพฤติกรรมผ่านเกมสนุกๆ เพื่อทำความรู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมเวิร์กช็อป และช่วงที่สองซึ่งเป็นการเล่นเกมอีกครั้ง แต่เกมในรอบนี้คือการเติมคำลงในสุภาษิตไทย ที่คำตอบทั้งหมดจะถูกนำใปใช้ในแคมเปญ

แน่นอนว่าทั้งทีม Glow Story และมูลนิธิร้อยพลังการศึกษาต่างก็ตระหนักถึงสิทธิของเด็กๆ ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม และพยายามรักษาความเป็นส่วนตัวของพวกเขาอย่างเคร่งครัด

“ด้วยความที่คำตอบของน้องๆ หลายคนเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง ทางมูลนิธิร้อยพลังการศึกษาจึงย้ำกับเรามาตลอดว่าเราต้องแจ้งน้องๆ ก่อนเสมอว่าคำตอบเหล่านี้จะเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง” นัดเล่า ก่อนอธิบายต่อ

“เพื่อปกปิดตัวตนของน้องๆ อีกที เราเลยไม่ได้ใช้ลายมือจริงที่น้องๆ เขียนตอบเราตอนเล่นเกม แต่จะนำข้อมูลที่ได้มาเข้าคู่กับฟอนต์ลายมือเด็กที่เคยทำไว้ในปีก่อนๆ ซึ่งเป็นฟอนต์ CI ของเรา” โปรเจกต์เมเนเจอร์สาวว่า พร้อมชวนให้เราแวะเข้าไปดูตัวอย่างคำตอบของน้องๆ ที่ถูกนำไปต่อยอดด้วยการหยอดความครีเอทีฟเข้าไปอีกนิด และเติมกิมมิกน่ารักๆ ลงไปอีกหน่อยในเพจเฟซบุ๊กของ Limited Education

หลายแบรนด์ ดีกว่าแบรนด์เดียว

“ถึงเราจะเราทำสิ่งนี้มา 5 ปีแล้ว แต่เราก็อยากทำให้คนสนใจแคมเปญนี้อยู่ และหวังว่าพวกเขาจะจดจำแคมเปญของเรามากขึ้นด้วย” นัดยิ้มหลังอธิบายสิ่งที่เธอคิดว่าท้าทายที่สุดในการทำงาน

“พูดตรงๆ ช่วงที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่ต้องการการบริจาคเนอะ แต่ในมุมมองของเรา ปัญหาด้านการศึกษาคือสิ่งที่อยู่กับเรามาตลอด และด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ก็มีเด็กๆ มากมายที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเลย เราจึงคิดว่าแคมเปญนี้คือสิ่งที่ควรทำต่อไป เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อในอนาคต”

และการจะขับเคลื่อนแคมเปญที่ว่าให้สมบูรณ์ นอกจากทีมงานที่พร้อมลุยแล้ว อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือแบรนด์ต่างๆ ที่จะมาร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้เด็กๆ ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน

“เราไม่มีข้อจำกัดเลยว่าแบรนด์ที่มาร่วมแคมเปญจะต้องเป็นแบบไหน อย่าง 8 แบรนด์ในปีนี้ บางแบรนด์ก็เคยร่วมงานกับเรามาแล้ว พอเรากลับไปชักชวนอีก เขาก็ยินดีมาร่วมงานกับเราเลย หรือบางแบรนด์ก็เป็นแบรนด์ที่ติดต่อเข้ามาใหม่ เราก็จะมาคุยกันว่าในปีนี้แต่ละแบรนด์สะดวกร่วมมือกับเราในรูปแบบไหนบ้าง” นัดเล่า ก่อนแพงจะเสริมต่อว่างานนี้พวกเธอต้องทำสไลด์ขายงานลูกค้ากันเฉพาะแบรนด์เลยทีเดียว เพื่อให้แต่ละแบรนด์พอเห็นภาพว่าสุภาษิตต่างๆ จะเข้ากับแบรนด์ของพวกเขาได้อย่างไร และแบรนด์จะสามารถนำสิ่งนี้ไปเป็นกิจกรรมพีอาร์สนุกๆ กับลูกค้า ช่วยในการขายของในแนวไหนได้บ้าง

ปีนี้เราเลยได้เห็นแบรนด์ใหม่ๆ อย่าง PAPA SHABU FARM กับเมนูที่ช่วยสนับสนุนแคมเปญนี้โดยเฉพาะ รวมถึงซาลาเปา Phoenix Lava, วิตามิน I-Kids และยาสระผมเขาค้อทะเลภู ที่มาพร้อมแพคเกจจิ้งใหม่ ออกแบบด้วยลายมือโย้เย้ของเด็กๆ รอให้เราไปอุดหนุน แถมเงินส่วนหนึ่งจากการสนับสนุนยังช่วยส่งต่อไปลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ใหม่ๆ ที่มาช่วยพีอาร์อย่างช้างดาว รวมถึงแบรนด์เจ้าประจำอย่าง BBQ Plaza และ After You โดยรายหลังออกเมนูพิเศษอย่าง ‘เข็นโทสต์ขึ้นภูเขา’ ที่น่าจะสร้างความฮือฮาไม่แพ้ขนมปังเนยโสดเลย

และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเสื้อสุดลิมิเต็ด ซึ่งปีนี้มาในไอเดียการเติมชื่อของเราลงในสุภาษิตไทย โดยได้ห่านคู่มารับผิดชอบการผลิตตลอดกระบวนการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์ของการซื้อเสื้อเข้าถึงมูลนิธิร้อยพลังการศึกษาแบบเต็มๆ

“เสื้อยืดเป็นโปรดักต์ที่อยู่กับ Limited Education มาตั้งแต่แรก ซึ่งเราว่าเสื้อเป็นสินค้าที่ไม่จบในตัวด้วยนะ เพราะถ้าคุณใส่ออกไปเดินข้างนอก มันก็เหมือนบิลด์บอร์ดเคลื่อนที่ มันได้สร้าง awareness เพิ่มเติม ความคิดนี้ค่อนข้างคล้ายกับแนวคิดของแบรนด์ห่านคู่ที่เชื่อว่าเสื้อคือ blank canvas ที่เราจะเล่าอะไรผ่านเสื้อก็ได้” นัดอธิบาย จากนั้นแพงจึงรับช่วงเสริมต่อ

“การร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ทำให้เราได้ฐานคนติดตามมากขึ้นด้วย บางแบรนด์ที่เป็นที่รักมาก ออกสินค้าอะไรมาลูกค้าก็อยากช่วยอุดหนุน การระดมทุนของเราก็ง่ายขึ้น คนรับรู้ปัญหาก็เยอะขึ้น

“หรือต่อให้คุณยังไม่ซื้อเสื้อของเราในตอนนี้ แต่การที่บางคนลองแวะเข้าไปเติมชื่อตัวเองในเว็บไซต์ จนรู้ว่ามันสามารถพลิกไปเติมคำตลกๆ ได้ พอเขาแชร์ลิงก์ออกไปในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง ก็ถือเป็นการสร้างการรับรู้ในวงสังคมของเขาแล้วว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาที่กำลังรอการแก้ไขอยู่นะ” 

เพราะหัวใจสำคัญของแคมเปญนี้ไม่ใช่แค่การระดมทุนอย่างเดียว แต่คือการส่งต่อปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้คนรอบข้างได้รู้ เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

ความพยายามอยู่ที่ไหน การศึกษาที่ดีอยู่ที่นั่น

“สิ่งที่เราทำอาจแก้ปัญหาทั้งหมดในตอนนี้ไม่ได้ หรือคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้คือการเข้าไปช่วยอุดช่องว่างที่มีอยู่ให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น” แพงกล่าว 

แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วต้นตอของปัญหาการศึกษาคือระบบโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขโดยไวที่สุด แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ การเพิ่ม awareness ในสังคมที่โครงการนี้ตั้งใจทำมาตลอดหลายปีก็มีแนวโน้มที่น่าพอใจไม่น้อย

“เรารู้สึกว่าคนรับรู้ปัญหาเหล่านี้มากขึ้นนะ อย่างปีที่ผ่านๆ มาก็มีหลายแบรนด์ที่เข้ามาติดต่อขอร่วมงานกับเราเอง บางทีเราก็เจอกลุ่มแฟนคลับศิลปินที่ขอบริจาคเงินในนามศิลปิน นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย และในวันที่ awarness เรื่องนี้กว้างขึ้น เราก็หวังว่ามูลนิธิจะเติบโตได้อย่างมั่นคงด้วย” นัดว่า

เพื่อจะยืนระยะของโครงการนี้ให้มั่นคงต่อไป Limited Education จึงเริ่มต้นด้วยการจับมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อออกผลิตภัณฑ์หรือทำกิจกรรมที่อยู่กับตัวโครงการไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้มีเพียงแคมเปญรายปีที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเหมือนอย่างเคย 

โดยเงินทุกบาททุกสตางค์จากการบริจาคจะถูกนำไปสนับสนุนการศึกษาในอีกหลายด้าน พร้อมทำงานร่วมกับกลุ่มภาคีด้านการศึกษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท Learn Education ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ กลุ่ม a-chieve ที่เข้าไปช่วยแนะแนวเด็กๆ ให้ได้เห็นโลกกว้าง และ Teach For Thailand ที่เข้ามาช่วยพัฒนาครูรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและทัดเทียมกับเด็กในเมือง นั้นสำคัญไม่แพ้การเข้าถึงการศึกษาเลย

“อย่างเราเองเพิ่งมาทำงานกับ Glow Story ได้ไม่นาน ตอนไปเก็บข้อมูล พอเราเห็นว่าคนที่จะมาร่วมเวิร์กช็อปเป็นเด็ก ม.ต้น เรายังคิดอยู่เลยว่าเด็กๆ คงตอบคำถามกันถูกหมดจนไม่เหลือตัวอย่างมาให้เราทำงานต่อแน่ จนไปทำจริงถึงได้รู้ว่ามีเด็กหลายคนเลยที่ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ สิ่งที่ใครหลายๆ คนคิดว่าง่าย ใครๆ ก็ตอบได้ เด็กกลุ่มนี้กลับไม่สามารถตอบได้จริงๆ และนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเรา” แพงอธิบายสิ่งที่เธอพบให้เราฟัง

“ในสังคมนี้ยังมีเด็ก ม.2 ที่ไม่สามารถสะกดชื่อตัวเองได้ มีครอบครัวของใครหลายคนที่รายได้ของพ่อและแม่ต่อเดือนรวมกันยังไม่ถึง 2,000 บาทเลย แล้วเขาต้องใช้เงินส่วนนั้นจ่ายค่าเทอมอีก ดังนั้นคนกลุ่มยากจนพิเศษเหล่านี้แทบจะไม่มีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีเลยด้วยซ้ำ 

“การศึกษาไม่ควรเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดจากตัวเงิน แต่ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม ทุกคนควรมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงการสอบ การเรียนหนังสือ รวมไปถึงการตามความฝันของตัวเอง ที่เราพยายามผลักดันสิ่งนี้ ก็เพราะเราอยากให้ช่องว่างในการศึกษาตรงนี้หายไป” 

เช่นเดียวกับที่นัดเชื่อ เราว่าช่องว่างขนาดใหญ่นี้คงค่อยๆ ถูกเติมเต็มได้สักวัน ด้วยพลังของทุกคน


ตามไปทำความรู้จักโปรเจกต์นี้ให้มากขึ้นได้ที่เว็บไซต์ limitededucation.org

AUTHOR