The Sidewalk เพจที่บอกว่าทางเท้าไม่ได้มีไว้แค่เดิน และเมืองไม่ได้มีไว้สำหรับแค่รถยนต์

Highlights

  • สิทธานต์ ฉลองธรรม คือผู้ที่มองเห็นสิ่งกีดขวางบนทางเท้าไม่ต่างจากเรา แต่สิ่งที่เขาเฝ้ามองและสังเกตอย่างจริงจังเวลาเดินไปไหนมาไหนคือ ‘คน’
  • สิทธานต์สร้างเพจ ‘The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า’ ได้เพียง 3 เดือนนิดๆ เขานิยามอย่างง่ายๆ ว่ามันเป็นเพจรีวิวทางเท้าผ่านการลงเดินสำรวจ พูดคุยกับคน และชี้ให้เห็นความป่วยไข้ของทางเท้า
  • จุดหมายปลายทางของเขาคือ การที่คนหันมาให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถยนต์ และเข้าใจว่าแท้จริงทางเท้าควรเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ทางเดินของคนจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง
  • เพราะเขาเชื่อว่ายิ่งเมืองกระชับตัว คนเดินได้อย่างดี คนจะยิ่งมีความรักในเมือง รักในชุมชน นี่คือสิ่งที่เมืองจะได้จากการที่คนเดินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

มีอะไรบ้างที่เราจะเจอบนทางเท้าของกรุงเทพมหานคร

เสาไฟฟ้าตั้งขวางกลางฟุตพาท บล็อกปูพื้นที่แตกและมีน้ำขัง ทางเดินสำหรับคนพิการที่ติดตั้งแบบลวกๆ บันไดขึ้นสะพานลอยที่กินพื้นที่ 3 ใน 4 ของทางเท้าจนเราต้องแทรกตัวเบียดกับกำแพงเพื่อเดินผ่านไป และหากไม่ระวังเราอาจหล่นลงไปในท่อระบายน้ำที่กำลังซ่อมโดยไม่มีที่กั้นบอกเอาง่ายๆ

แปลกไหมที่เรามองเห็นแต่สิ่งกีดขวางบนทางเท้า และนี่ ย้ำชัดว่ากรุงเทพฯ คือเมืองที่แสนจะไม่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้ามากที่สุด

อึ่ง–สิทธานต์ ฉลองธรรม คือคนทำรายการโทรทัศน์ที่เพิ่งเริ่มทำเพจ ‘The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้าได้เพียง 3 เดือนนิดๆ เขานิยามอย่างง่ายๆ ว่ามันเป็นเพจรีวิวทางเท้าผ่านการลงเดินสำรวจ พูดคุยกับคน และชี้ให้เห็นความป่วยไข้ของทางเท้า ทางข้ามถนน ในย่านต่างๆ

ใช่ เขาก็มองเห็นสิ่งกีดขวางบนทางเท้าไม่ต่างจากเรา แต่สิ่งที่เขาเฝ้ามองและสังเกตอย่างจริงจังเวลาเดินไปไหนมาไหนคือคน

จากนักศึกษาสื่อสารมวลชน สายตาของสิทธานต์มองเมืองเปลี่ยนไปหลังจากเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทั้งในเมืองที่ต้องใช้รถยนต์อย่างเวสต์ปาล์มบีช และเมืองใหญ่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะแสนสบายอย่างซานฟรานซิสโก เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ทางเท้าที่เขาเคยมองว่าปกติ ก็ไม่ใช่สิ่งปกติอีกเลย

เขาหยิบความสงสัยนี้ออกมาเล่าผ่านรายการสารคดี คน/เดิน/เมือง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อ 6 ปีก่อน แม้เป็นแค่สารคดีไม่กี่ตอน แต่ก็ทำให้สิทธานต์ได้จัดระเบียบความคิดตัวเองใหม่ว่าเมืองที่ดีควรเป็นเช่นไร จนเมื่อเร็วๆ นี้เริ่มมีการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินทั่วกรุงเทพฯ ทำเอาคนใช้รถใช้ถนนไม่สะดวก จึงเป็นโอกาสอันดีที่เขาต้องลุกขึ้นมารีวิวทางเท้าอีกครั้ง

สิทธานต์บอกกับเราว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่การร้องทุกข์หรือกล่าวโทษหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเขาก็ไม่คาดหวังให้เกิดการแก้ไขแค่ชั่วคราวแล้วจบไป

สิ่งที่เขาหวังคืออะไร ลองเดินไปพร้อมกับเขา เราอาจจะมองเห็นทางเท้าไม่เหมือนเดิม

เดินเพื่อให้คำจำกัดความใหม่

คลิปวิดีโอที่สิทธานต์ทำไม่ได้โฟกัสแค่สิ่งที่จะเจอบนทางเท้าเท่านั้น แต่เมื่อออกเดิน ทางเท้า ทางข้าม ถนน และขนส่งสาธารณะ ก็คล้ายจะเป็นเรื่องเดียวกันที่แยกไม่ออก เพราะทั้งหมดคือพื้นที่สาธารณะของเมืองที่คนต้องใช้เดินทางอยู่ทุกวัน และขับเคลื่อนให้เมืองเติบโต แต่ทำไมพื้นที่เหล่านี้ในกรุงเทพฯ กลับไม่ถูกให้ความสำคัญ

คนชอบถามว่าทำไปทำไม ทำแล้วเปลี่ยนแปลงอะไร เราคุยกับทีมตลอดว่าวัตถุประสงค์แรกคืออยากให้เกิดการ rethinking การคิดใหม่ อย่างคลิปแรกเราไปเดินแยกพหลโยธินที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าและทำทางม้าลายย้ายไปย้ายมา มีป้ายเขียนไว้ว่าโปรดระวังคนข้ามทางม้าลายเราต้องการให้คิดใหม่ว่าจริงๆ แล้วมันไม่น่าใช่คำนี้หรือเปล่า แต่ต้องบอกให้คนขับรถยนต์หยุดให้คนข้าม เราไม่เคยคิดถึงมุมนี้เพราะเราได้แต่ถูกสอนว่าก่อนจะข้ามถนนให้มองซ้าย มองขวา ระวังรถ แต่เราไม่เคยบอกคนขับรถเลยว่าเขาต้องหยุด พอจะบอกก็บอกให้แค่ระวัง หรืออย่างทางข้าม พอข้ามไปถึงเกาะกลางถนนมันก็ไม่ควรมีคันมาขวางให้ข้ามไม่สะดวก คนแก่ถือไม้เท้ามาก็ลำบากมาก พอคลิปปล่อยออกไปสิ่งที่มีผลก็คือคนดูเขาได้เกิดความคิดใหม่

สองคือการสร้างคำจำกัดความใหม่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสะพานลอย 900 กว่าแห่ง ซึ่งไม่มีที่ไหนเป็นอย่างนี้ สะพานลอยไม่ได้ทำเพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนน แต่ทำเพื่อให้รถยนต์วิ่งคล่อง เพราะสะพานลอยไม่ใช่สิ่งที่คนทุกวัยและทุกสภาพร่างกายใช้ได้ มันได้พิสูจน์แล้ว แล้วจะบอกว่ามันปลอดภัยได้ยังไง ถ้าคุณทำทางข้ามที่ปลอดภัยจริงๆ และคนทุกสภาพร่างกายเข้าถึงได้บนพื้นราบ มันก็สะดวกกว่า ปลอดภัยกว่าหรือเปล่า หรือสกายวอล์กที่บอกว่าเดินสะดวกก็ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง พอคนขึ้นไปเดินข้างบน ข้างล่างก็ยิ่งเปลี่ยว กลายเป็นตอนกลางคืนขึ้นไปเดินข้างบนไม่ได้ มันผิดไปหมด

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือความคิด ทำให้เห็นว่าอะไรที่มันใช่ บ้านเราเวลาก่อสร้างบนพื้นที่สาธารณะก็เขียนป้ายว่าขออภัยในความไม่สะดวกมึงก็รู้อยู่ว่าไม่สะดวกแต่ไม่ทำทางเดินชั่วคราวให้ ไม่ทำทางกั้นระหว่างคนกับรถ ถ้าไม่ให้อภัยได้ไหมล่ะ เราเลยพยายามชี้ให้เห็นว่าลองคิดใหม่ไหม คำจำกัดความเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าคนดูแล้วรู้สึก เราถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพชั่วพริบตา เพราะมันต้องใช้ระยะเวลานาน และถ้ามันเปลี่ยนโดยที่คนเองยังไม่ได้มีมุมมองที่ถูกต้อง เราว่ามันก็ไม่มีผลหรอก

เดินเพื่อใช้ทางเท้าให้มากกว่าแค่เดิน

สิทธานต์ยกตัวอย่างคลาสสิกอย่างหาบเร่แผงลอยบนทางเท้ากรุงเทพฯ ที่เป็นวายร้ายของคนเดินเท้า แต่แท้จริงทางเท้าควรเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ทางเดินของคนจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง

เวลาพูดถึงการทวงคืนทางเท้า เราจะเรียกคืนจากแผงลอยอย่างเดียว ซึ่งต่อให้คืนหมด ทางเท้าก็แคบอยู่ดีเพราะถนนเอาไปตั้งเยอะแล้ว ทำไมเราถึงรังเกียจแผงลอยที่บ้านเรา แต่เวลาไปต่างประเทศถึงชอบจังเลย เพราะเราไปมองว่ามันเป็นสิ่งกีดขวาง ถามว่าใช่ไหม ก็ใช่ แต่มันเป็นเพราะทางเท้าแคบตั้งแต่แรก ทำไมเราไปนั่ง sidewalk cafe ที่ฝรั่งเศสได้ แต่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้

ทางเท้าควรออกแบบให้กว้างพอที่คนจะเดินสวนกัน ต้องมีพื้นที่ถอยร่นเท่าไหร่ ถ้าจะปลูกต้นไม้ต้องกว้างเท่าไหร่ มีพื้นที่ให้ขายของ ไม่ใช่เดินโล่งๆ เพราะนี่คือชีวิตชีวาบนทางเท้า สิงคโปร์ที่สะอาดเป็นระเบียบอย่าง Orchard Road ที่มีห้างเยอะๆ ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไป เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าทางเท้าที่มีไว้เดินอย่างเดียวมันไม่มีชีวิต เขาเลยพยายามหากิจกรรมขึ้นมา ในขณะที่เราเดิน เราได้เห็นว่าใครทำอะไร หยุดดูอะไร

ยิ่งเมืองที่กระชับตัว คนเดินได้อย่างดี คนจะยิ่งมีความรักในเมือง รักในชุมชน นี่คือสิ่งที่เมืองจะได้จากการที่คนเดินไปไหนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

ยกตัวอย่างบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ แถวย่านเก่าถนนจะแคบ เราเดินข้ามถนนได้ไม่ยาก Jan Gehl สถาปนิกชาวเดนมาร์กบอกว่าเมืองที่เดินแล้วมีความสุข มีเสน่ห์ เกิดจากการสร้างเมืองนั้นให้อยู่ในระดับ human scale ตึกไม่ได้สูงนัก ถนนไม่ได้กว้างนัก ชาวบ้านเปิดประตูตะโกนหาคนข้างหน้าได้ เวลาเดินในตรอกก็เบียดกันนิดหนึ่ง มีเด็กมาเล่นกันบนทางเท้า ที่สำคัญที่สุดเลยสมัยก่อนทางเท้าเป็นสนามเด็กเล่นนะ ทางเท้าเลยไม่ได้มีไว้เดินอย่างเดียว มันคือพื้นที่สาธารณะที่เอาไว้ทำกิจกรรม ขายของ ถ้ามันกว้างพอ ปัญหาคือมันไม่กว้าง

เดินเพื่อบอกว่าคนเป็นใหญ่

ที่ว่ามาทั้งหมด สิทธานต์สรุปให้เราฟังสั้นๆ ว่าต้นตอเป็นเพราะกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับรถยนต์มากเกินไปจนละเลยเรื่องที่คนเดินเท้าควรจะมี

ในคู่มือการพัฒนาเมืองแบบ sustainable เวลาออกแบบถนนเขาจะให้ความสำคัญกับคนเดินทุกประเภท ทั้งคนพิการ คนชรา ไล่ลงมาอันดับ 2 คือจักรยาน อันดับ 3 คือขนส่งสาธารณะ อันดับ 4 คือรถยนต์ ซึ่งในบางเมืองก็เปลี่ยนไปแล้ว นิวยอร์กเองที่ไทม์สแควร์เมื่อก่อนรถติดมาก ตอนนี้ก็ไม่ให้รถยนต์เข้าแล้ว แต่บ้านเรากลับกัน เราเอายอดพีระมิดขึ้นมาให้รถยนต์อยู่ข้างบนแล้วคนเดินอยู่ข้างล่าง การขับรถยนต์ทำให้สัญจรไปไหนมาไหนสะดวกขึ้นและยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะด้วย มันเลยเกิดความเหลื่อมล้ำสูงกว่าที่ควรจะเป็น

เราต้องการจะจัด priority ตรงนี้ใหม่ แต่สุดท้ายสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนระบบจากราชการ ซึ่งหากเขารู้สึกเหมือนกันว่ามันไม่ดี ได้ลงมาเดินเหมือนกัน เจอรถติดเหมือนกัน เขาก็ต้องเปลี่ยนบ้างแหละ แต่ทีนี้ที่ผ่านมา 30-40 ปี บ้านเราก็โฟกัสที่การแก้ปัญหารถติด ตำรวจนี่ยิ่งกลัวรถติดเลย ต้องรีบระบายออกเลยขยายถนน ตัดถนนเพิ่ม ซึ่งมันพิสูจน์มาแล้วในหลายๆ เมืองว่ายิ่งตัดก็ยิ่งติด ตัดถนนใหม่แต่ไม่มีขนส่งสาธารณะไปด้วยคนก็ยิ่งซื้อรถ หรือการทำอุโมงค์ สะพานข้ามแยก รถก็ไปติดตรงตีนสะพานอยู่ดี ทฤษฎีจากเมืองนอกบอกแล้วว่าเวลาคุณทลายคอขวด คุณจะสร้างคอขวดใหม่ขึ้นมา ทุกครั้งที่สร้างสะพานข้ามแยก ฟุตพาทก็ยิ่งถูกเฉือนออกไป

เดินเพื่อการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ

ถ้าปลายทางคือการเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถยนต์ แล้วหนทางที่จะไปถึงคำตอบนั้นคืออะไร

สิทธานต์นิ่งคิดนานจนเราหวั่นใจ ก่อนเขาจะยอมรับออกมาตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกัน

ที่สุดแล้วมันต้องมาจากเมือง อย่างนิวยอร์กคนที่แก้คือเทศบาล แต่ วันนี้ในกรุงเทพฯ เราไม่รู้ เราเองยังกลัวเมืองมาแก้แล้วแก้ไม่เป็น อย่าง 5-6 ปีก่อน กระแสจักรยานมาแรง เมืองก็ทำทางจักรยาน ซึ่งมันก็ใช้ไม่ได้ พอทำแล้วใช้ไม่ได้ก็บ่นว่าทำแล้วไม่มีคนมาใช้ หรือ BRT (รถโดยสารด่วนพิเศษ) ทั่วโลกเวิร์กหมด แต่พอมาทำที่เมืองไทยแล้วไม่เวิร์กเพราะไม่มีเลนส่วนตัว

เรื่องจักรยาน ถ้าวันนั้นเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่านี้ มันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ พอกระแสมาแรงแต่ยังขาดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่คนใช้จักรยานแต่กับคนทั่วไปด้วย เลยเกิด conflict ว่าบางคนก็ไม่เอาทางจักรยาน สุดท้ายก็ใช้งานไม่ได้เพราะไม่เข้าใจกันและกัน อย่างญี่ปุ่นเขาขี่จักรยานกัน ไม่เห็นต้องทำเลนจักรยานเลย เพราะถนนเขาไม่ค่อยมีรถและทางเท้าก็กว้าง บางทีการที่จักรยานจะขี่ได้ดีอาจไม่ต้องมีเลนจักรยาน แต่ต้องมีพื้นที่ให้จักรยานมากกว่า

ตอนนี้ก็มีหลายๆ เมืองที่พยายามพัฒนา นนทบุรีเริ่มมีรถเมล์ของตัวเอง มันคงไม่ได้แก้แค่ถนนหรือทางเท้าในกรุงเทพฯ อย่างเดียว สิ่งที่แก้ได้เลยตอนนี้คือการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ทำทางม้าลายเยอะๆ อันนี้ง่ายมาก ลงทุนน้อยมาก ตำรวจมักคิดว่าคนข้ามทางม้าลายทำให้รถติด ไม่ รถติดเพราะรถมันเยอะ ถึงคนไม่ข้ามมันก็ติดของมันอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ต้องรอ คนขับรถก็แก้ได้เลย ไม่ต้องอาศัยขั้นตอนหรือกลไกราชการมากเกินไป

เดินเพื่อมองเห็นกันมากขึ้น

ยอดชมคลิปวิดีโอทางเฟซบุ๊กที่พุ่งไปถึงหลักแสนจนถึงล้านวิว น่าจะพอยืนยันได้ว่าสิ่งที่สิทธานต์ทำกำลังส่งไปถึงคนวงกว้างขึ้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่กลุ่มคนทำงานเรื่องเมือง สถาปนิก หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น ความหวังในพลังของคนธรรมดาจึงเริ่มมีตัวอย่างให้เห็น

เราเชื่อว่าคนจะมองกันอย่างเข้าใจมากขึ้น วันก่อนเราแชร์โพสต์ที่น้องนักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะโดนรถชนตอนข้ามทางม้าลาย ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่าอย่างน้อย 100 ชีวิตที่มาคอมเมนต์ก็เข้าใจแล้วนะว่าควรทำยังไง ตรงนี้แม้จะไม่มาก ถึงจะแค่ 1-2 คน เราก็คิดว่าสำคัญ หรือมีคุณแม่คนหนึ่งส่งข้อความมา เขามีลูกอายุสองขวบครึ่ง ตาบอด ก่อนหน้านี้เขาคิดไม่ออกเลยว่าลูกเขาจะใช้ถนนยังไง แต่ตอนนี้เขาเริ่มเห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และเราเชื่อว่าเปลี่ยนคนสำคัญกว่าเปลี่ยนกายภาพ

ทำไมถึงเชื่อว่าคนตัวเล็กๆ ต้องเปลี่ยนแปลงก่อน? เราทิ้งคำถามสุดท้ายที่สงสัยมาตลอดบทสนทนา

อาจเป็นเพราะพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีมากที่สุด คนที่จะได้ผลดีผลเสียคือตัวเขา เรานึกถึงภาพที่เวลาเราไปต่างประเทศมันจะมี pedestrian mall อย่างซีเหมินติงที่ไทเป หรือไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก มองแล้วเห็นคนเยอะๆ เรารู้สึกว่าเมืองเกิดขึ้นเพราะคนเหล่านี้ มันก็ต้องเริ่มที่เขา เขายังต้องใช้ชีวิต ยังต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือกัน เราไม่สามารถพัฒนาเมืองไปได้ถ้าคนไม่ผูกพันกัน ไม่รู้จักกัน ไม่มีความเกื้อกูลกัน ซึ่งถ้าทางเท้า ถนน การเดินทางในเมืองดี มันจะเกิดขึ้นและทำให้คนในเมืองอยู่อย่างเป็นมนุษย์

เราพูดเสมอว่าอยากให้สังเกตการณ์การใช้ชีวิตของคนบนทางเท้า เพราะมันเกิดเรื่องราวหลากหลายมากเลย และเป็นเรื่องราวชีวิตของคนที่กำลังขับเคลื่อนเมืองนี้ มันเยอะและสำคัญมากกว่าผู้ว่าฯ กทม.หรือปลัดกระทรวงคมนาคมเพียงคนเดียว เราเลยให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเขามีค่าสำหรับชีวิตเรา


ติดตามคลิปรีวิวทางเท้าใหม่ๆ ได้ที่เพจ The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า และแชนเนลยูทูบ THE SIDEWALK by SMILERIDERS 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี