677 ขวด 1,685 ฝา และ 1,491 หลอดคือขยะที่ Trash Hero เก็บได้ในหนึ่งวัน

Highlights

  • Trash Hero กลุ่มผู้พิชิตขยะโดยการลงมือเก็บขยะร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ ทริปเก็บขยะที่เราได้ไปเข้าร่วมคือบริเวณบึงพระราม 9 
  • วันนั้นปริมาณขยะที่เราเก็บได้คือขวดน้ำพลาสติกได้ 677 ขวด ฝาขวด 1,685 ฝา หลอด 1,491 หลอด ขวดแก้ว 410 ขวด กระป๋องน้ำ 143 กระป๋อง และถุงพลาสติกรวมถึงขยะอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ไหว
  • หลังจากเก็บขยะเรียบร้อย ยังมีกลุ่ม Precious Plastic Bangkok มาสอนเพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้การรีไซเคิลขยะด้วยเครื่องมือล้ำสมัย ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราค้นพบว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต้องอาศัยทุกๆ ฝ่ายร่วมมือกัน

รอบปีที่ผ่านมา การเกยตื้นของสัตว์ทะเลที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกเป็นข่าวให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

ประกอบกับรายงานของ Ocean Conservancy ที่ระบุว่า 5 ประเทศในเอเชียทิ้งขยะลงทะเลมากกว่าประเทศอื่นๆ รวมกัน หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ในฐานะประชากรแห่งประเทศนี้เราทำอะไรได้บ้าง นั่นคือคำถามสำคัญ

ความจริงเรื่องขยะเป็นปัญหาที่พวกเรารับรู้กันมาช้านาน ในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและประชาชนต่างออกมาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ Trash Hero กลุ่มผู้พิชิตขยะโดยการลงมือเก็บขยะร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ พวกเขาเริ่มต้นที่เกาะหลีเป๊ะก่อนจะกระจายกิจกรรมเข้าสู่หลากหลายพื้นที่ในไทย รวมทั้งทั่วโลกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้พวกเขามีเครือข่ายทั้งหมดกว่า 60 พื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ Trash Hero Bangkok นั่นเอง

Trash Hero Precious Plastic

เก็บขยะกับ Trash Hero Bangkok

Trash Hero Bangkok เริ่มต้นโดยกลุ่มบริษัท Starboard ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเล จึงเข้ามาร่วมกับ Trash Hero Thailand จัดตั้งกลุ่มเพื่อทำความสะอาดบริเวณบึงตะโก้ โดยโจ–กฤษณ์ ดำรงวิวัฒน์ เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาได้นำอุปกรณ์ทางน้ำอย่าง paddle board มาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บขยะในคลอง

“เราอยากจะใช้ความสามารถพิเศษของเราให้เป็นประโยชน์ เก็บขยะในที่ที่คนอื่นเขาเก็บไม่ได้ คือลงไปเก็บในน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการเก็บขยะ ตอนที่เราเริ่มกิจกรรมคนก็อยากจะลองไป เขาไม่ได้มองว่าการไปเก็บขยะเป็นเรื่องเหนื่อย ร้อน มันเป็นการเปลี่ยนมิติของการเก็บขยะให้มีความหลากหลาย ความสนุก กับไลฟ์สไตล์มากขึ้นครับ”

Trash Hero Precious Plastic

ระยะเวลากว่า 3 ปีมีเหล่าอาสาสมัครเข้าไปร่วมเก็บขยะด้วย paddle board อย่างหลากหลายทั้งไทยและต่างชาติทุกวันพฤหัสบดี แต่แล้ววันหนึ่ง บิ๊บ–วรวัฒน์ สภาวสุ หนึ่งในอาสาสมัครของทีมก็เริ่มคิดอยากให้คนเมืองได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกันเยอะๆ ในพื้นที่ชุมชนเมืองและจัดกิจกรรมในวันหยุด

“ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มยังไง ปรากฏว่ามีฝรั่งชื่อ ทริสเตียน เรียนปริญญาตรีอยู่ที่ Texas เขามาฝึกงานอยู่เมืองไทย 2 เดือน ทีนี้อีก 2 วันจะกลับ เขาเลยจัดกิจกรรมเก็บขยะที่ถนนพระราม 9 ตอนนั้นคนไปร่วม 10 คน มีผมกับอาน่าไปร่วมด้วย โอ้โห ครั้งนั้นคือ inspire ให้เรารู้สึกว่าเฮ้ย ต่างชาติทำได้ แล้วทำไมเราคนไทยจะทำไม่ได้ มันเป็นพลังส่งต่อให้เราอยากทำบ้าง”

Trash Hero Precious Plastic

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกิจกรรมเก็บขยะที่ชุมชนบึงพระราม 9 แห่งนี้ บิ๊บเล่าว่าที่นี่อยู่ในเขตที่ดินของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำริให้มีการทดลองแก้ปัญหาน้ำเสียด้วยการเติมอากาศและพัฒนาพื้นที่บวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ให้มีความยั่งยืน แต่วันที่เข้ามาเขากลับเจอขยะกระจัดกระจายทุกที่ จึงทำให้เกิดแรงผลักดันอยากจัดกิจกรรมเก็บขยะขึ้น นอกจากนั้นบิ๊บยังได้ชวน Precious Plastic Bangkok กลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการรีไซเคิลขยะมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ความร่วมมือการจัดการขยะในชุมชนบึงพระราม 9 ที่เต็มไปด้วยความรู้จึงเกิดขึ้น

Trash Hero Precious Plastic

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมานับว่าเป็นกิจกรรมที่จัดเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ผู้มาเข้าร่วมมีทั้งไทยและต่างชาติ บางคนเพิ่งมาเข้าร่วมครั้งแรก เช่น กุ้ง–จิราพร ศรีดิ ชาวชุมชนบึงพระราม 9 ที่อาสาพาเราเดินเก็บขยะในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่บนบกจนถึงในน้ำกันเลย

“ปัญหาของที่นี่คือบางทีถังใส่ขยะมันไม่พอ แล้วรถขยะไม่ได้มาประจำ ถ้าเราเร่งเขาไป 2-3 วันหยุดอีกแล้ว ขยะมันก็ล้น หมาก็เข้ามาคุ้ย” ระหว่างทางการเดินเก็บขยะ พี่กุ้งคอยเล่าให้ฟังถึงปัญหาเรื่อยๆ พร้อมชี้ให้ดูแต่ละพื้นที่ “วันก่อนเพิ่งเก็บกระทงกันไปเอง เริ่มเก็บตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนเก้าโมงเช้านู่น เยอะมาก วันนั้นเหนื่อยเลย”

Trash Hero Precious Plastic

หลังจากพวกเราเดินเก็บขยะกันรอบพื้นที่ในชุมชนกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาแยกขยะโดยอาสาสมัครทุกคนจะนำขยะที่เก็บได้มารวมกัน และแยกขยะแต่ละประเภทออกมา เมื่อนำมานับแล้วพวกเราเก็บขวดน้ำพลาสติกได้ 677 ขวด ฝาขวด 1,685 ฝา หลอด 1,491 หลอด ขวดแก้ว 410 ขวด กระป๋องน้ำ 143 กระป๋อง และถุงพลาสติก รวมถึงขยะอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเรานับไม่ไหว

“พอคนเริ่มมาเก็บ เขาจะรู้แล้วว่าการเก็บมันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขยะพวกนี้มันมาจากไหน ก็มาจากพวกเราที่เริ่มต้นใช้มันนั่นแหละ ก่อนเราจะไปเจอที่ทะเล แม่น้ำ ที่ต่างๆ มันมาจากเรา ซึ่งกระบวนการเก็บขยะครั้งนี้มันจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่าเราต้องลดใช้พลาสติก เปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้สิ่งของที่ใช้ซ้ำได้ อย่างบิ๊บพกกระติกน้ำ ทุกคนที่นี่ก็เหมือนกัน มาร่วมกิจกรรมกับเรา เรามีน้ำให้ จะเห็นว่าทุกคนต้องพกกระบอกน้ำของตัวเองมานะ ไม่งั้นถ้าเราแจกแก้วมันก็คือการสร้างขยะเพิ่มอีก”

และนี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ Trash Hero สอดแทรกให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมกิจกรรม

Trash Hero Precious Plastic

“เราว่าพอร่วมกิจกรรมแล้วมันสร้างความตระหนักให้เราจริงๆ นะ เพราะรู้สึกว่าถ้าเลิกใช้มันก็ไม่ต้องไปตามเก็บ ตอนแรกเราก็เริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อน เช่น ลดใช้ถุง เปลี่ยนมาใช้กระติกน้ำแทนขวดน้ำ ก็ค่อยๆ เริ่มไป แล้วยิ่งเวลามีคนมาบอกในเฟซบุ๊กว่าเขาลดใช้ถุงพลาสติกเพราะเห็นเราทำ เราก็ยิ่งดีใจ เฮ้ย นี่เราสามารถ inspire คนอื่นได้ต่ออีก” อาน่า–อนรรฆนง ชื่นพุฒิ หนึ่งในอาสาสมัครเล่าให้เราฟัง

“เราเลยรู้สึกว่าได้พลังบวกทุกครั้งที่มาเก็บขยะ มาเจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เพราะทุกคนสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ทำสิ่งต่างๆ แล้ววันหนึ่งก็คิดว่า เออ เราอาจจะไม่ต้องรอให้คนอื่นจัดก็ได้ พอได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ เราเลยเดินเก็บขยะขึ้นดอยสุเทพเลย สนุกมาก แล้วมันก็ส่งพลังบวกต่อให้คนอื่นได้อีก”

Trash Hero Precious Plastic

รีไซเคิลขยะกับ Precious Plastic Bangkok

เมื่อเก็บขยะเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะไปเรียนรู้การรีไซเคิลกับกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าของขยะใช้แล้วอย่าง Precious Plastic Bangkok

ขอเล่าก่อนว่า Precious Plastic เป็นแนวคิดของดีไซเนอร์หนุ่มดัตช์ ชื่อ Dave Hakkens เขาริเริ่มสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติกให้ออกมาเป็นวัสดุใหม่ๆ โดยต้องการให้คนอื่นสามารถเข้าถึงเครื่องนี้ได้ง่ายๆ แค่ทำตามวิธีทำในออนไลน์ที่เขาได้เผยแพร่เอาไว้ในเว็บไซต์ preciousplastic.com ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีผู้เข้าร่วมจนเกิดเป็นกลุ่ม Precious Plastic ทั่วโลก

Trash Hero Precious Plastic

โดมินิก–ภูวสวัสดิ์ จักรพงศ์ ประธานของ Precious Plastic Bangkok บอกกับเราว่าในไทยเองก็มีกลุ่มนี้อยู่ 3 ที่ด้วยกันนั่นคือเชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ

“ผมมองว่าการแก้ปัญหาการใช้พลาสติกแบบ single-use เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่พวกเราก็อยากเปลี่ยนความเข้าใจของคนเกี่ยวกับพลาสติกใหม่ ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่เราอยากให้พวกเขามองว่ามันมีค่าที่จะนำกลับมารีไซเคิลมากกว่าโยนทิ้งไป”

“ผมว่าไอเดียนี้เหมาะกับคนไทยนะ เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ปรับตัวได้เร็ว ถ้าพวกเขารู้จักกับวิธีการรีไซเคิลแล้ว พวกเขาจะไม่มองมันเป็นแค่การทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาดขึ้นเท่านั้น แต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในรุ่นต่อไปได้มองเห็นคุณค่าของพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ผลิตสินค้าอื่นๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย”

Trash Hero Precious Plastic

หลังจากเก็บขยะกันมาแล้ว เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเจ้า 2 เครื่องที่ตั้งอยู่นี่ช่วยให้เรานำขยะมารีไซเคิลใหม่ได้อย่างไรบ้าง

วิธีการคือเราจะแยกประเภทพลาสติกก่อน เช่น ประเภท PE PVC PET PP เพราะแต่ละอย่างจะใช้ความร้อนในการหลอมละลายไม่เท่ากัน จากนั้นจะนำแต่ละประเภทไปบดด้วยเครื่องบด เพื่อให้ได้พลาสติกเป็นชิ้นเล็กๆ

เมื่อได้พลาสติกที่ได้รับการบดแล้วเราจะนำไปเข้าสู่เครื่องอัดขึ้นรูป ซึ่งจะเป็นเครื่องที่หลอมละลายพลาสติก โดยแต่ละประเภทก็จะใช้ความร้อนที่แตกต่างกัน ซึ่ง Hakkens มีตัวอย่างพลาสติกที่หลอมละลายในความร้อนต่างๆ ให้ดูในเว็บไซต์ เมื่อได้ความร้อนตามที่ต้องการแล้วพลาสติกจะถูกหลอมละลายออกมาเป็นเส้น จากนั้นก็จัดการให้มันออกมาเป็นรูปร่างตามที่เราต้องการผ่านแม่พิมพ์ได้เลย

งานนี้เราเลยได้เห็นถ้วยใบใหญ่ โคมไฟ จานรองแก้วที่มาจากขยะกันสดๆ 

Trash Hero Precious Plastic

“ทุกคนมีบทบาทที่ต้องทำ แล้วตัวเราเองก็ต้องเก็บด้วย ยังไงๆ มันก็มีพลาสติกที่อยู่ในโลกนี้ ขยะท่วมท้นอยู่แล้ว อดีตเราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก เราใช้ชีวิตมากี่ปี ขยะหนึ่งในนั้นก็เป็นของเราชัวร์ๆ เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่พื้นฐานคือรับผิดชอบ ต้องลงมือ ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ไปเป็นภาระต่อสัตว์อื่นที่เขาไม่รู้เรื่อง” บิ๊บกล่าวทิ้งท้าย

จากประสบการณ์ครั้งนี้ เราค้นพบว่าการจัดการปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกเป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากตัวเราเอง เพียงแค่ลดการใช้หรือนำกลับมารีไซเคิลใหม่เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญในภาพรวมคือแรงสนับสนุนโดยมาตรการจากภาครัฐที่ควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญด้วย

เพราะการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต้องอาศัยทุกๆ ฝ่ายหลายๆ มือร่วมด้วยช่วยกัน

Trash Hero Precious Plastic

 

หากใครสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเก็บขยะและเวิร์กช็อปการรีไซเคิลพลาสติกสามารถติดตามได้ในเพจ Trash Hero Bangkok, Trash Hero Thailand และ Precious Plastic Bangkok ได้เลย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com