KAANI ครีมกันแดดเพื่อปะการัง โดย 3 เพื่อนนักดำน้ำที่อยากให้คนทาบ่อยๆ แม้นั่งอยู่ในบ้าน

ก่อนอ่านบทความนี้ เรามีคำถามให้ตอบ 3 ข้อ  ครีมกันแดดเพื่อปะการัง

หนึ่ง–คุณทาครีมกันแดดตอนไหนบ้าง 

สอง–คุณทาครีมกันแดดชนิด chemical sunscreen หรือ physical sunscreen 

สาม–คุณคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลไกลตัวหรือไม่ นักดำน้ำและผู้อยู่อาศัยใกล้ทะเลเท่านั้นหรือเปล่าที่ต้องรับผิดชอบ

คำตอบของเราน่าจะคล้ายกับใครหลายคน คือทาครีมกันแดดเฉพาะวันที่ต้องออกจากบ้านเพราะอยู่ในบ้านผิวก็คงไม่ไหม้หรอกมั้ง และทาครีมกันแดดชนิดไหนก็ไม่ทราบได้เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครีมกันแดดมีประเภทกับเขาด้วย ส่วนข้อสุดท้ายก็เป็นคำถามที่เราสงสัยเช่นกัน ว่าการกระทำของผู้ซึ่งอยู่ไกลแสนไกลจากทะเลนั้นกระทบระบบนิเวศใต้ทะเลหรือไม่ แล้วเราจะช่วยได้ยังไง

ความไม่เข้าใจนำพาให้เราได้มาตั้งวงสนทนากับ แปม–ชนิภา สารสิน, จีน–พชร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ สตางค์–ดิษย์ลดา ดิษยนันท์ 3 เพื่อนนักดำน้ำที่ผันตัวมาทำครีมกันแดดแบบ physical sunscreen ร้อยเปอร์เซ็นต์ในนาม KAANI ที่ตั้งใจให้ใช้ง่าย ทาง่าย เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย ที่สำคัญยังไร้สารเคมีที่ซึมเข้าร่างกายและไม่ทำให้ปะการังฟอกขาว แถมยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต บรรจุ กระทั่งขนส่ง

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสื่อสารว่าการกระทำของคนที่อยู่ไกลทะเลส่งผลถึงสัตว์น้ำน้อยใหญ่ใต้ทะเลได้ และสำหรับคนที่อาศัยในประเทศแดดเผาประหนึ่งเข้าพบยมบาลอย่างไทยก็ควรทาครีมกันแดดทุกวันเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี

แต่เบื้องหลังที่ลึกซึ้งกว่านั้นจะเป็นยังไงบ้าง คำถามที่ต้องการคำตอบด้านบนต้องเป็นแบบไหน แม้จะทำให้เสียโอกาสทางการตลาดไปมาก ทำไม KAANI ถึงดื้อดึงให้การทำธุรกิจและการรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ไม่ต้องดำดิ่งสู่ใต้ทะเลลึกก็ค้นหาคำตอบได้จากเรื่องราวเบื้องล่างนี้ ครีมกันแดดเพื่อปะการัง

ครีมกันแดดจากความหลงใหลโลกใต้ทะเล

“แปมชอบทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะเริ่มดำน้ำเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งวินาทีที่ได้ดำลงไปใต้น้ำมันทำให้เราไม่อยากขึ้นมาเลย เหมือนเราอยู่ในโลกใต้น้ำจริงๆ ที่เดี๋ยวก็มีปลาว่ายผ่านไปมา

“การดำน้ำทำให้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวและความสัมพันธ์ใต้น้ำที่ไม่มีทางได้เห็นในสารคดีหรืออควาเรียม” แปมเกริ่นให้ฟังถึงความหลงใหลใต้ท้องทะเล ซึ่งทำให้เธอได้วนมาเจอกับจีนและสตางค์

เครดิตภาพ Jeen Snidvongs

แต่เพราะการดำน้ำที่ทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติใต้ทะเล ในเวลาที่ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ขณะที่มนุษย์อีกครึ่งค่อนโลกยังคงใช้ชีวิตต่อไปอย่างไม่แยแส สามสหายจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้ทะเลชัดเจนกว่าใคร 

“จีนเคยไปดำน้ำที่หินม่วง หินแดงแถบอันดามันตั้งแต่เด็ก แต่พอกลับไปอีกครั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้วเราพบว่าปะการังเหล่านั้นมันเหลือแต่หิน ซึ่งเป็นเพราะมนุษย์ใช้ระเบิดจับปลา หรือช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเรา 3 คนได้ไปดำน้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์ก็พบว่ามันต่างกับเมื่อปลายปี 2563 มาก” จีนผู้ดำน้ำมาตั้งแต่ 8 ขวบและมีประสบการณ์การดำน้ำกว่า 1,300 ครั้งย้อนให้เราฟัง 

เครดิตภาพ Claus Rasmussen – Blue Label Diving

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือปัญหาปะการังฟอกขาวที่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ครีมกันแดดเพื่อปะการัง

“หลายคนยังไม่เข้าใจว่าการที่ปะการังฟอกขาวมันอันตรายมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าที่จริงมันเป็นสัตว์ตัวจิ๋วจำนวนมากที่อยู่รวมกันแล้วสร้างโครงสร้างหินปูนขึ้นมา จากนั้นจึงมีสาหร่ายมาห่อหุ้มอีกชั้นซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัย” แปมเสริมถึงความสำคัญของปะการัง สิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อทุกชีวิตในทะเลและโลก

“การกระตุ้นจากสารเคมีหรืออุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนเพียงนิดเดียวอาจทำให้ปะการังเครียด ซึ่งจะทำให้มันสลัดสาหร่ายทิ้งจนเหลือแต่หินปูน และเมื่อไม่มีสาหร่าย สัตว์เล็กๆ ก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย ขณะที่สัตว์ใหญ่ก็ไม่มีอาหารกิน 

“นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าออกซิเจนอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์บนโลกมาจากพวกสาหร่ายและสัตว์ทะเลอื่นๆ ใต้ทะเลทั้งสิ้น นั่นแปลว่าถ้าปะการังตาย ระบบนิเวศใต้ทะเลล่ม มนุษย์เราเองก็อยู่ไม่ได้แน่นอน” แปมสรุป

เครดิตภาพ Apple Dive Team Thailand

อย่างที่บอกว่านอกจากอุณหภูมิน้ำทะเลแล้ว สารเคมีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเครียดของปะการัง โดยเฉพาะสารเคมีจากครีมกันแดดแบบ chemical sunscreen ที่มีสารออกซิเบนโซน (oxybenzone) และออกติโนเซต (octinoxate) ขนาดนาโน รวมถึงสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อปะการังถึงระดับดีเอ็นเอ แถมยังซึมสู่ร่างกายคนจนตรวจพบในปัสสาวะและน้ำนมแม่ได้อีกด้วย 

แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่เพราะอนุภาคขนาดนาโนที่ว่าจึงทำให้ครีมกันแดดประเภทนี้มีดีที่ซึมไว ทาแล้วไม่เหนียวเหนอะหนะ และได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ชนิดที่ในหนึ่งปีจะมีครีมกันแดดละลายลงสู่ท้องทะเลกว่า 6,00014,000 ตัน ซึ่งไม่ต้องคิดเลยว่าระบบนิเวศใต้ทะเลจะเสียหายขนาดไหน 

“เราต้องทำอะไรสักอย่าง” สตางค์ผู้ออกตัวว่าประสบการณ์น้อยกว่าเพื่อนทั้งสองลงความเห็น

เครดิตภาพ Jeen Snidvongs

ครีมกันแดดเพื่อปะการัง สัตว์น้ำน้อยใหญ่ และความเป็นไปของมนุษย์

ย้อนกลับไปช่วง 4-5 ปีก่อน จีนรู้จักและใช้ครีมกันแดด reef-safe ตั้งแต่ตอนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อถึงเวลาย้ายกลับมาประเทศไทยที่มีอุณหภูมิแตะเลข 30 และ 40 เป็นเรื่องปกติ ครีมกันแดด reef-safe จากประเทศแถบตะวันตกจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนัก

“ครีมกันแดดแบบ reef-safe หรือ physical sunscreen คือครีมกันแดดที่ดีต่อทั้งคนและปะการัง ซึ่งมีสารสำคัญ 2 ตัวคือ ซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide) และไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) ที่ไม่เป็นอันตรายกับโลกใต้ทะเล เท่านั้นยังไม่พอ สารทั้งหมดที่ใช้ยังต้องมีอนุภาคขนาด 100 นาโนมิเตอร์ขึ้นไปเพื่อไม่ให้ซึมเข้าสู่ปะการังและผิวคนได้ แต่ก็ยังทำหน้าที่เคลือบผิวและสะท้อนรังสี UVA และ UVB ได้ทั้งสเปกตรัม” แปมอธิบาย

แต่เพราะอนุภาคที่ใหญ่จึงทำให้เนื้อครีมมีลักษณะเหนียวเหนอะ ซึมเข้าผิวช้า สิ่งนี้จึงกลายมาเป็นโจทย์ที่ KAANI ต้องแก้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็คงยากที่จะโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้ 

“ถ้าทำออกมาแล้วไม่ต่างจากแบรนด์อื่นในไทยก็ไม่รู้จะทำให้เปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุทำไม

“เราจึงใช้เวลากว่า 1 ปีเพื่อหาส่วนผสมที่ลงตัวของสารประกอบต่างๆ หน้าที่ของเราคือการเลือกใช้และผสมสารแต่ละชนิดจนได้เนื้อครีมที่ดีทั้งสัมผัสและคุณภาพ” แปมเล่าถึงความตั้งใจนั้น

เครดิตภาพ KAANI

แต่ภายใต้คำว่า reef-safe นั้นก็ยังมีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ เพราะมาตรฐานในการผลิตที่แตกต่างกันใแต่ละประเทศ 

“น่าเสียดายที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเกาะที่ดังที่สุดในโลกและมีรายได้จำนวนมากจากการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้มากพอจนเกิดช่องโหว่ของกฎหมายขึ้นมา ขอแค่มีสารประกอบที่เป็น physical sunscreen เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็ระบุว่าตนเป็นครีมกันแดดแบบ physical ได้แล้ว หรือบางแบรนด์อาจนำสารที่มีใน physical sunscreen ไปทำให้มีอนุภาคขนาดนาโนเพื่อให้ได้เนื้อครีมที่เนียนละเอียด แต่นั่นก็ยังทำร้ายปะการังอยู่ดี และแน่นอนว่ามันก็ยังซึมเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย” จีนแจกแจง

ในการปลุกปั้น KAANI ทั้งสามจึงหันไปใช้เกณฑ์ของหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีมาตรฐานสูงลิบอย่างปาเลา

ปาเลาเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่กลางทะเลและมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ถ้าระบบนิเวศเสียหายเขาอยู่ไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเขาจึงแบนสารอะไรก็ตามที่มีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศใต้ทะเลและคน” แปมอธิบาย

ครีมกันแดดเพื่อทุกสีผิวและเพื่อทุกคน 

นอกจากต้องทำครีมกันแดดให้มีเนื้อดีน่าใช้ แถมยังต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานประเทศปาเลาซึ่งแบนสารเคมีกว่า 10 ชนิด ทั้งสามยังเพิ่มโจทย์ให้ตัวเองอีกหนึ่งข้อใหญ่ นั่นคือครีมกันแดดของ KAANI ต้องไร้สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ทุกชนิดเพื่อให้คนผิวแพ้ง่ายใช้ได้ใช้ดี

“หลักการง่ายๆ คืออะไรที่เราไม่กินเราก็ไม่อยากเอามาทาเหมือนกัน” สตางค์บอก 

บนคอนเซปต์นี้ KAANI จึงปราศจาก paraben, essential oil, น้ำหอม, ซิลิโคน และแอลกอฮอล์ ที่แม้จะทำให้เนื้อครีมดีแค่ไหนแต่ทั้งสามก็ตกลงปลงใจว่าจะไม่ใส่เด็ดขาด 

แล้วการเลือกไม่ใช้ครีมกันแดดไปเลยจะง่ายกับสิ่งแวดล้อมและคนมากกว่าหรือเปล่า เราสงสัย

“เห็นผิวสตางค์ไหม” สตางค์พูดพลางยื่นแขนทั้งสองข้างให้เราดู “เราเป็นคนผิวแทน สิ่งที่เราได้ยินมาตลอดคือเราต้องทาครีมกันแดดเพื่อให้ไม่ดำ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่ เราไม่ชอบคำนี้ที่สุดเพราะทุกสีผิวนั้นสวย และไม่ว่าจะสีผิวไหนก็ล้วนต้องใช้ SPF เพื่อป้องกันผิวไหม้ เหี่ยวย่น และป้องกันมะเร็งทั้งนั้น” จากความคิดนี้ KAANI จึงปราศจากสารเพิ่มความขาวทุกประเภท

“เราไม่เคยบอกให้คนทาครีมกันแดดเพื่อไม่ให้ผิวดำ แต่จะบอกว่าระวังผิวไหม้และต้องทาทุกวันแม้จะอยู่ในบ้านและออฟฟิศ เพราะแสงแดดกับรังสี UV ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้เราจะปิดประตูแล้วแต่รังสีก็ทะลุผ่านกระจกเข้ามาได้อยู่ดี” แปมอธิบาย 

แต่เพราะเมื่อนึกถึงครีมกันแดด คนมักจะคิดว่าต้องทาเฉพาะตอนก้าวเท้าออกจากบ้านเท่านั้น และยิ่งระบุว่าเป็นครีมกันแดดเพื่อปะการัง คำถามที่ทั้งสามได้รับอยู่บ่อยๆ จึงคือ ‘ถ้าไม่ไปทะเลจะทาได้หรือเปล่า’ หลังออก KAANI รุ่น ACTIVE มาได้ 1 ปี ทั้งสามจึงออก KAANI รุ่น Everyday ที่นอกจากจะกันแดดดี๊ดี ยังกันแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ เพื่อเน้นย้ำว่าถึงนั่งอยู่บ้านก็ควรทาครีมกันแดดทุกวัน

แล้วถ้าไม่ได้เป็นนักดำน้ำ ไม่ได้ไปหรืออยู่ใกล้ทะเล จำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดแบบ reef-safe ไหม เราโยนคำถามให้ทั้งสามอีกครั้ง

“จริงๆ แล้วมันขึ้นกับระบบการจัดการและการบำบัดน้ำของแต่ละประเทศด้วย แต่ไทยยังไม่ได้มีระบบที่ดีขนาดนั้น ดังนั้นมันจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ เพราะเวลาล้างหน้า อาบน้ำ ครีมกันแดดก็ละลายลงน้ำอยู่ดี

“และถึงแม้ไม่ได้อยู่ใกล้ทะเลก็จริง แต่การหันมาใช้ครีมกันแดดแบบ reef-safe ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นทันที แต่มันจะค่อยๆ ทำให้เราขยับมาใช้สิ่งที่ดีต่อโลกและตัวเอง จนอาจเป็นจุดที่ทำให้เราตั้งคำถามกับปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว” แปมตอบด้วยความมุ่งมั่น

ครีมกันแดดที่คิดครบทั้งวัฏจักรและตั้งใจไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค

เมื่อคิดค้นเนื้อครีมกันแดดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้ได้สมใจ ทั้งสามก็ยังไปต่อด้วยการคิดออกแบบวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะเอื้ออำนวย

เริ่มต้นจากการกระตุ้นให้ลูกค้าส่งบรรจุภัณฑ์เปล่ากลับมาเพื่อให้ทั้งสามนำไปจัดการต่อ โดยลูกค้าจะได้รับส่วนลด 5 เปอร์เซ็นต์ในการซื้อครั้งถัดไปเป็นการแลกเปลี่ยน อย่างบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกแบบหลายชั้นของรุ่น ACTIVE จะถูกนำไปทำเป็นบล็อกปูถนนและในอนาคตทั้งสามยังวางแผนจะเปลี่ยนไปใช้พลาสติกประเภทที่นำกลับมารีไซเคิลซ้ำได้เรื่อยๆ เพื่อสร้างวัฏจักร KAANI ให้ครบวงจร 

ส่วนในรุ่น Everyday ที่บรรจุมาในขวดแก้ว ทั้งสามจะส่งต่อไปให้พันธมิตรผู้ฟื้นฟูปะการัง ณ เกาะเต่า เพื่อนำไปปั่นและทำเป็นทรายกลับสู่ธรรมชาติ

“ธุรกิจส่วนใหญ่จะมองว่าความเป็นเจ้าของในผลิตภัณฑ์นั้นจบลงเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้ากลับไป แต่เรากลับมองว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมันจะเป็นของเราตลอดไป เพราะเราไม่อยากผลักภาระให้ผู้บริโภค และเราก็ไม่ได้มองว่าพลาสติกเป็นตัวร้าย แต่การซื้อมาใช้แล้วทิ้งต่างหากที่ส่งผลกระทบ เราจึงต้องคิดต่อว่าจะทำยังไงกับขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น 

“เราอยากให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจสิ่งนี้มากขึ้นเพราะผู้บริโภคไม่มีอำนาจในการจัดการ แต่ผู้ผลิตช่วยกำหนดและสร้างสิ่งเหล่านี้ได้” แปมเสริม

ส่วนในขั้นตอนการขนส่ง กล่องพัสดุและกันกระแทกด้านในที่ส่งให้ลูกค้าคือกล่องใช้ซ้ำที่ทั้ง 3 คนมีอยู่แล้ว บางครั้งกล่องอาจจะมีชื่อแบรนด์ต่างๆ ประทับอยู่ และบางครั้งกันกระแทกก็อาจเป็นผักตบชวา กระดาษสำนักงาน หรือบับเบิล

“ไอเดียเหล่านี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเพื่อการตลาดนะ แต่การทำ KAANI มันสะท้อนชีวิตประจำวันของเราจริงๆ อย่างในออฟฟิศที่กำลังคุยกันอยู่ตอนนี้ก็ใช้ของซ้ำตลอด แทบไม่มีขยะใหม่ๆ เลย”  

และถึงแม้การผลิตเนื้อครีม หลอด ขวดแก้ว และกล่องบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก แต่ทั้งสามก็เลือกผลิตในโรงงานไทยที่ผลิตสกินเคร์ให้แบรนด์ดังระดับโลกหลายเจ้าเพราะรู้ดีว่าโรงงานเหล่านี้มีศักยภาพอยู่แล้ว และที่สำคัญยังเป็นการกระจายรายได้ให้คนไทยและลดคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากการขนส่งข้ามประเทศด้วย

ครีมกันแดดที่ต้องการเปลี่ยนโลกมากกว่าเม็ดเงิน

“หลายคนมักพูดว่าการทำธุรกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันลำบาก ซึ่งมันก็จริงนะ เพราะเราต้องเสียโอกาสทางการตลาดและใช้เงินทุนจำนวนมาก” แปมเกริ่น

ท่ามกลางอุปสรรคและความยากที่กล่าวมาทั้งหมด แม้ว่าจะต้องใช้ทั้งแรงและเวลามากมายแค่ไหน แต่ทั้งสามก็ยังยืนยันที่จะไม่ประนีประนอมกับการทำ KAANI ในทุกแง่มุม

“การเลือกที่จะไม่แจกเทสเตอร์ซองเล็กๆ เพราะไม่อยากสร้างขยะเพิ่มก็ต้องแลกมากับการเสียโอกาสที่คนจะได้เห็นและทดลองสินค้าของเรา เช่นเดียวกับการเลือกผลิตในไทยซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า และการพัฒนาโปรดักต์ให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการซึ่งใช้เวลานานมาก” แปมสรุป ก่อนที่จีนจะเสริมต่อในทันที

“ซึ่งที่เราดื้อขนาดนี้เพราะเรายึดมั่นในเป้าหมายและคุณค่าของเราเอง ไม่งั้นก็ไม่รู้จะทำไปทำไม”

“เราเชื่อว่าคนจะเห็นและเชื่อในสิ่งที่เราทำ เชื่อในการเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นธุรกิจ และเชื่อว่าผู้ผลิตมีผลต่อการเปลี่ยนเทรนด์ของผู้บริโภคให้เป็นไลฟ์สไตล์ได้ ดังนั้นเรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่เราตั้งมั่น ถึงมันจะไม่เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่มันจะมาแน่นอน 

“และเราเริ่มเห็นแล้ว” สตางค์ทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone