Save The Planet Associate : กลุ่มอาสาสมัครที่ขอพิทักษ์ผืนน้ำด้วยการดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนใต้ทะเล

Highlights

  • จากข่าวการตายและบาดเจ็บของสัตว์น้ำจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากขยะ รวมถึงการรายงานสถานการณ์ขยะตามแหล่งน้ำทั่วโลกในระดับที่น่าเป็นห่วง ทั้งหมดนี้คือหลักฐานชั้นดีราวกับเป็นกระจกสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
  • Save The Planet Associate (SPA) คือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการดำน้ำลึก และมีใจตระหนักถึงความเลวร้ายในท้องทะเลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ในปีหนึ่งๆ พวกเขาจะรวมตัวกันเพื่อไปดำน้ำตามแหล่งน้ำจังหวัดต่างๆ เพื่อเก็บขยะและตัดอวนที่ปกคลุมกอปะการังจากเรือประมงผิดกฎหมาย
  • ปีนี้นับเป็นปีที่ 9 แล้วที่กลุ่มอนุรักษ์กลุ่มนี้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่สังคมยังไม่มีกระแสตื่นตัวเรื่องขยะในทะเลจนกระทั่งตอนนี้ที่กลายเป็นวาระระดับโลก

ข่าวพะยูนมาเรียมที่ตายเพราะมีเศษพลาสติกอุดตันทางเดินอาหาร ภาพเต่าที่ทรมานจากหลอดน้ำติดจมูก คลิปปลาว่ายวนเวียนอยู่ในถุงพลาสติกบนพื้นทะเล และการรายงานสถานการณ์ขยะตามแหล่งน้ำทั่วโลกในระดับที่น่าเป็นห่วง

ทั้งหมดนี้คือหลักฐานชั้นดีราวกับกระจกที่สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะพฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่ ระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้วัสดุย่อยสลายยากในการผลิตสินค้าของทางผู้ประกอบการ

แน่นอนว่าทุกภาคส่วนล้วนออกมารณรงค์กันอย่างจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน ทว่าตั้งแต่ฉันเล็กจนโต ขยะก็ไม่มีท่าทีลดลง แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์บริโภคนิยมทั้งของใช้ในชีวิตประจำวัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะอาหาร ฯลฯ และที่น่าตกใจคือ ต่อให้คุณทิ้งขยะในบ้านเรือน ไม่กี่เดือนต่อมามันอาจไปโผล่ในอ่าวไทยหรืออันดามันก็เป็นได้

Save The Planet Associate (SPA) คือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการดำน้ำลึก และตระหนักถึงความเลวร้ายในท้องทะเลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ในปีหนึ่งๆ พวกเขาจะรวมตัวกันเพื่อไปดำน้ำตามแหล่งน้ำจังหวัดต่างๆ เพื่อเก็บขยะและตัดอวนจากเรือประมงผิดกฎหมายที่ปกคลุมกอปะการัง

ปีนี้นับเป็นปีที่ 9 แล้วที่กลุ่มอนุรักษ์กลุ่มนี้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่สังคมยังไม่มีกระแสตื่นตัวเรื่องขยะในทะเลจนกระทั่งตอนนี้ที่กลายเป็นวาระระดับโลก

เหน่ง–สมบัติ ปัญจทรัพย์สิน หนึ่งในสมาชิกผู้อยู่กับ SPA มาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งบอกกับฉันว่า “ถ้าเขาไม่ทำ ก็ไม่รู้ใครจะทำ”

แล้วทำไมเขาต้องทำ ทำไมยอมเสียเงินหลักหมื่นหลักแสนเพื่อไปดำน้ำทำงานแสนเหน็ดเหนื่อย แทนที่จะเอาเวลานั้นไปดำน้ำชมความสวยงามของท้องทะเล

ฉันอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบและรับรู้ถึงปัญหาใต้ท้องทะเลไปพร้อมๆ กัน

 

ใช้ความสามารถพิเศษเพื่อทำสิ่งพิเศษ

ย้อนไปเมื่อปี 2010 SPA เคยอยู่กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ก่อนแยกตัวมาตั้งกลุ่มของตัวเองโดยมุ่งเน้นการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้น้ำเป็นหลัก ซึ่งการแยกย่อยเป็นหลายกลุ่มนี้ก็ถือเป็นการกระจายพลังในการอนุรักษ์ให้มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเก็บขยะบนบก ปลูกป่าบนบก ชายทะเล หรือป่าชายเลน

“เราเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการดำน้ำลึก ก็ใช้ทักษะที่มีอยู่ทำกิจกรรมใต้ท้องทะเล เพราะถ้าคิดเป็นสัดส่วนคนไทยที่ดำน้ำได้ระดับ Open Water ขึ้นไปในประเทศไม่น่าถึง 50,000 คนด้วยซ้ำ เพราะเป็นกิจกรรมที่ค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร เราเลยรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเก็บขยะและตัดอวนใต้ท้องทะเล หรือถ้ามีเหตุการณ์ที่ต้องใช้ทักษะดำน้ำ เราจะไปช่วยเสมอ ไม่ว่าจะผูกซัง (บ้านปลา) ผูกทุ่นให้เรือเกาะ จะได้ไม่ต้องทิ้งสมอไปโดนปะการังพัง”

ปกติแล้ว SPA จะทำกิจกรรมเก็บขยะและตัดอวนปีละ 2-3 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย รวมถึงแถวจังหวัดระยองที่กลุ่มอาสาสมัครมักไปกันบ่อยๆ ซึ่งการออกทริปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Day Trip ที่เป็นการออกไปทำกิจกรรมในทะเลและกลับมาพักบนฝั่ง ใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งตรงนี้มีข้อจำกัดด้านเวลา ส่วน Live Abroad คือการทำกิจกรรมที่ไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะอาศัยกินนอนเสร็จสรรพบนเรือ ทำให้ได้ระยะดำน้ำที่ไกลกว่า ใช้เวลา 3-4 วัน แต่ราคาก็สูงกว่าประเภทแรกมาก รวมค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 300,000-400,000 บาทต่อทริป ดังนั้น SPA จึงใช้วิธีหารค่าใช้จ่ายเท่าๆ กันเป็นจำนวน 26 คนตามลิมิตสูงสุดที่เรือประเภทนี้รับได้

และด้วยค่าใช้จ่ายที่แม้หารแล้วยังตกหลักหมื่นต่อคน ทำให้ SPA เปิดรับสปอนเซอร์เพื่อเข้ามาทุ่นปัญหาส่วนนี้ โดยเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนพื้นที่บุคลากรดำน้ำในเรือกับเงินสนับสนุนจากบริษัทที่สนใจภายใต้เงื่อนไขที่กลุ่มกำหนด นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขายังดำเนินงานมาได้ยาวนานเกือบสิบปี

ตอนนี้อาสาสมัครใน SPA เพิ่มจำนวนขึ้นจากเมื่อ 9 ปีที่แล้วหลายเท่าตัว เฉพาะในเครือข่ายที่สนิทกันก็นับได้เกือบร้อยคน และเมื่อก่อนกลุ่มจะรับเฉพาะคนที่ดำน้ำได้ระดับ Advanced เท่านั้น แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่ดำน้ำได้ระดับ Open Water ขอเข้าร่วมกิจกรรมด้วยหลายคน ทำให้ SPA ตัดสินใจเปิดรับนักดำน้ำระดับนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถในการออกทริปแต่ละครั้ง

ดำน้ำเพื่อจัดการสิ่งแปลกปลอมในท้องทะเล

หน้าที่หลักของกลุ่มอาสาสมัคร SPA เวลาดำน้ำคือการสอดส่ายสายตามองหาขยะชิ้นน้อยใหญ่และอวนที่ปกคลุมปะการัง เพื่อจัดการตัดแล้วเก็บใส่ถุงตาข่าย นำไปทิ้งบนบกให้เป็นที่เป็นทางต่อไป

ส่วนใหญ่คนทั่วไปมักเห็นความเลวร้ายของปัญหาท้องทะเลในรูปแบบขยะ ขวดแก้ว และเศษพลาสติก แต่ที่จริงแล้วเหน่งบอกว่าสิ่งที่ทำลายระบบนิเวศทะเลระดับร้ายแรงชนิดที่เราคาดไม่ถึงคือ อวนจากเรือประมงผิดกฎหมาย

“ปะการังมีประโยชน์คือเป็นที่หลบของปลาเล็ก คุณเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่าปลาใหญ่กินปลาเล็กไหม ถ้าปลาเล็กไม่มีที่หลบ มันก็โดนปลาใหญ่กิน ดังนั้นวัฏจักรห่วงโซ่อาหารจะหายไป เพราะปลาเล็กหายไปจากการโดนปลาใหญ่กิน แล้วมันจะเพาะพันธุ์ได้ทันเหรอ ปะการังคือแหล่งอนุบาลปลา เหมือนป่าโกงกางที่ปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิดมักหลบเข้าไปอยู่ในนั้น พอโตแล้วค่อยออกมา ป่าโกงกางเป็นระบบนิเวศที่คุณไปทำลายเมื่อไหร่ก็เหมือนคุณตัดวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลออกเลย ฉันใดฉันนั้นถ้าคุณไปทำร้ายปะการัง วงจรชีวิตสัตว์น้ำก็หายไปเช่นเดียวกัน”

“ตามกฎหมายกำหนดว่าอวนต้องมีตาหรือช่องว่างของอวนไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร แต่ที่เราไปเจอคือ 1×1 เซนติเมตร ปลาเล็กคุณก็จับ แล้วการใช้อวนลากมันลากตั้งแต่พื้นทะเล กวาดทุกอย่างไป ซึ่งสัตว์ทะเลมีตั้งแต่หากินบนผิวพื้นทะเล ขยับขึ้นมาตามชั้นน้ำจนถึงผิวน้ำ เวลาอวนลากมันลากไปหมดเลย พื้นทะเลพังพินาศมาก ทีนี้พออวนติดกอปะการังหรือหินเขาก็ยอมตัด อวนปากหนึ่งราคาเป็นหมื่นเป็นแสนนะ แต่เวลาเขาได้มาครั้งหนึ่งก็คุ้ม เพราะจำนวนสัตว์ที่จับได้มันเยอะ ได้มาหลายๆ สิบตัน เขาก็ยอมเสี่ยง แต่มันทำลายสิ่งแวดล้อม พอติดกอปะการังเอาขึ้นไม่ได้ เขาก็ต้องตัดเชือกที่ผูกอวนจากบนเรือ อวนก็ตกลงคลุมกอปะการัง”

และด้วยความที่ตาอวนเล็กมากนี่เอง สารแขวนลอยที่มีมากอยู่แล้วในน้ำทะเลจึงไปเกาะตามเส้นอวนและพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนบดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ทะลุไปถึงตัวปะการังข้างใต้ กลายเป็นภาวะฟอกขาว นานไปก็ตายและพังถล่ม ไม่สามารถเป็นที่พักพิงให้ปลาเล็กปลาน้อยได้ นับเป็นผลพวงจากการทำประมงแบบล้างผลาญที่ทำลายระบบนิเวศทะเลอย่างรุนแรง

“อย่างราชการจะมีฤดูปิดอ่าวกอไก่หรือที่เราเรียกกันว่าอ่าวไทย เขากำหนดห้ามทำประมงเด็ดขาดในฤดูปลาวางไข่ แต่ก็มีพวกเห็นแก่ตัวลักลอบทำ เพราะท้องทะเลมันกว้าง หน่วยงานราชการดูแลไม่ทั่วถึง แต่คนทำประมงควรมีสามัญสำนึกว่าประมงแบบนี้มันทำลายประมงพื้นบ้าน เพราะประมงพื้นบ้านใช้เครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ จับปลา เป็นเรือกอและหรืออวนเล็กๆ ขึงแหไว้ ซึ่งเขาก็จับได้ประมาณหนึ่ง แต่ไอ้อวนลากนี่ใหญ่มาก แล้วลากทีเป็น 100-200 เมตร มันถึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการประมงถึงมีปัญหา” เหน่งอธิบายด้วยท่าทีจริงจัง

ทว่าหลังจากที่มีการจัดการกฎหมายด้านการประมงอย่างเข้มงวดขึ้น เรือประมงแบบผิดกฎหมายถูกห้ามออกจากฝั่งหลายพันลำ แนวโน้มของอวนใต้ทะเลก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เขากับทีมเคยตัดอวนเก็บขึ้นมาได้หลายตันต่อปี ปัจจุบันเหลือไม่ถึงร้อยกิโลกรัม ปะการังก็ไม่ถูกทำลาย ส่งผลให้ปลาหรือฝูงปลามีจำนวนมากขึ้น

ถึงเหนื่อยและเสียเงินเยอะก็ยังอยากทำ

“มีนักดำน้ำหลายคนที่คิดว่าจะทำไปทำไม เสียเงิน 20,000-30,000 ไม่ได้เที่ยวแถมยังเหนื่อยอีก แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งที่คิดเหมือนเรา คืออยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล จริงๆ แล้วการดำน้ำเก็บขยะตัดอวนนี่เหนื่อยนะ เหนื่อยกว่าดำน้ำท่องเที่ยว คุณต้องไปทำงาน เจอฝุ่นเจอตะกอนต่างๆ ขึ้นมาทีบางครั้งต้องทายา คนที่ไม่อยากไปเขามองว่าฉันเสียเงินแล้วต้องสบายสิ ก็คิดไม่เหมือนกัน เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน เขาตั้งคำถามว่าทำทำไม เงินก็เสียแล้วไปทำปลายเหตุ ทำไมไม่รณรงค์เรื่องก่อนทิ้งแทน ก็นี่ไงเห็นรณรงค์อยู่ไม่ใช่เหรอ ทั้งราชการทั้งเอกชน แม่ก็สอนลูกว่าอย่าทิ้งขยะ ขยะก็ยังมีเต็มไปหมด เห็นไหมล่ะ มาเรียมก็ตาย เต่าก็ตาย” น้ำเสียงเขาแสดงความอัดอั้นตันใจ ซึ่งขยะ 70-80% ที่เขากับทีมพบในทะเลไม่ได้มาจากเรือ แต่มาจากบนบก พอสัตว์น้ำมาเจอก็คิดว่ากินได้

“เหมือนขยะมันไม่ลดลงเลยใช่ไหม” เราตั้งคำถามด้วยความรู้สึกหดหู่

“คุณไม่เห็นข่าวที่คลองลาดพร้าวเหรอ เจ้าหน้าที่บอกว่าวันนี้เขาเก็บขยะเกลี้ยงแล้วรุ่งเช้าจะมีมาใหม่ เขาเก็บแบบนี้ทุกวัน บางทีเจอฟูกผืนใหญ่ๆ ถ้ามีจิตสำนึกกัน ขยะที่เขาเก็บต้องลดลงทุกวัน แต่นี่ยังมีเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ทีนี้พอขยะหลุดออกไปถ้าเขาไม่เก็บขึ้นก่อนลงแม่น้ำ หรือถ้าลงแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไม่มีตัวกรองมันก็จะหลุดง่ายๆ ไหลลงปากอ่าวไปเลย หรือไม่ต้องแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ แค่จังหวัดที่ติดทะเล มีคลองเชื่อมกับทะเลและไม่มีระบบป้องกันที่ดี ขยะก็ไหลออกหมด ต่างกับอวนที่มาจากการประมง”

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่เก็บขยะที่คลองลาดพร้าว เหน่งและอาสาสมัครคนอื่นๆ ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนมา 9 ปีแล้ว ยังไม่มีสักครั้งที่ดำน้ำแล้วไม่เจอขยะสักชิ้น แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดเลิกทำ

“ไอ้ความท้อหรือไม่อยากทำก็มีแวบๆ มาในความคิด แต่ถ้าไม่ทำก็มีความคิดกลับมาอีกว่ามันคงพอกพูนสะสม คือยังไงก็ต้องทำ ตราบใดที่คนไทยบางคนยังไม่มีจิตสำนึกมากพอที่จะไม่ทิ้งขยะและไม่ทำประมงแบบล้างผลาญ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ปัญหาเหล่านี้คลี่คลาย ทุกคนมีจิตสำนึก กิจกรรมพวกนี้อาจน้อยลง จากทำปีละสามครั้งอาจเหลือครั้งเดียว หรืออาจจะเปลี่ยนจากการเก็บขยะตัดอวนมาเป็นการสร้างบ้านปลา ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นการช่วยเพิ่มเติมแทน”

ในกลุ่มอาสาสมัครของ SPA ตอนนี้มีตั้งแต่คนอายุ 20 ต้นๆ จนไปถึงคนอายุ 60 กว่าๆ ผสมผสานไปด้วยคนหลากหลายอาชีพและความเชื่อ แต่หนึ่งอย่างที่พวกเขาเชื่อร่วมกันคือ ความคิดที่อยากดูแลรักษาและอนุรักษ์โลกใต้ทะเล บางคนหลังจากมาออกทริปกับที่นี่ก็พกถุงตาข่ายเก็บขยะและกรรไกรติดตัวเวลาไปดำน้ำที่ไหนก็ตาม กลายเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ไม่ใช่แค่การไม่ทำลายแต่ยังช่วยทำให้ดีขึ้น

แต่ต่อให้คุณไม่มีทักษะการดำน้ำ หรือเราที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ ก็สามารถร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ เริ่มต้นด้วยการไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด จัดการขยะเท่าที่ทำได้ หรือถ้ามีเวลากับทุนทรัพย์หน่อย จะไปปลูกป่า เก็บขยะตามชายหาด อนุรักษ์พันธุ์ช้างก็สามารถทำได้

เพราะต่อให้คุณยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรง แต่สัตว์และธรรมชาติกำลังได้รับผลจากการกระทำของพวกเรา

และไม่ว่าคน สัตว์ หรือต้นไม้สักต้นก็ล้วนแต่เป็นประชากรของโลกใบนี้ โลกที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมดูแลเท่าๆ กัน


ดูรายเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่เฟซบุ๊ก Save The Planet Associate

AUTHOR