สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้คือเหตุการณ์จริงจากประสบการณ์ของ รุ้ง–วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept
“ครั้งหนึ่งรุ้งเคยประจำเดือนมากะทันหันในระหว่างที่ประชุมอยู่เลยตัดสินใจขอไปเข้าห้องน้ำ แต่เรากลับโดนท้วงด้วยคำว่า ‘ประชุมกำลังจะจบอยู่แล้ว’ เราก็บอกไปว่า ‘จะไปเข้าห้องน้ำค่ะ มันต้องไปเดี๋ยวนี้เลย’ แต่เขาก็ยังถามต่ออีกว่า ‘ถ้าอย่างนั้นจะถือกระเป๋าไปด้วยทำไม’ ซึ่งเป็นเพราะเราไม่อยากหยิบผ้าอนามัยออกมาโชว์ จนสุดท้ายเราก็ต้องพูดออกไปว่าประจำเดือนมา มันทำให้บรรยากาศในห้อง awkward ไปเลย”
หากลองถอดรหัสดูจะพบว่าในเหตุการณ์สั้นๆ นี้ประกอบไปด้วยค่านิยมผิดๆ ทั้งทัศนคติแง่ลบต่อประจำเดือน การมองประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอายและไม่สามารถพูดถึงได้อย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับผ้าอนามัยที่ต้องหยิบใช้อย่างกระมิดกระเมี้ยนราวกับเป็นของผิดกฎหมาย
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดแบบนี้หรือมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับรุ้ง เราอยากให้คุณลองอ่านและทำความรู้จักผ้าอนามัยแบรนด์นี้ไม่ว่าคุณจะมีมดลูกหรือไม่ก็ตาม
ira คือแบรนด์ผ้าอนามัยออร์แกนิกที่ย่อยสลายได้ถึง 99% และยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงบอกทุกคนว่าเรื่องจุกจิกเกี่ยวกับ ‘เมนส์’ นั้นควรจะถูกเอ่ยถึงได้อย่างธรรมดาสามัญ แต่ในขณะเดียวกันก็สำคัญเกินกว่าจะถูกมองข้ามด้วยคำว่า ‘เรื่องเล็กน้อย’ และที่สำคัญที่สุด ผ้าอนามัยควรเป็นของที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ก่อนจะตามไปกดสั่งซื้อผ้าอนามัย ira มาลองใช้ในรอบเดือนถัดไป เราอยากชวนไปฟังสิ่งที่รุ้งได้เจอ ที่ทำให้เกิดเป็น ira รวมไปถึงแผนการในอนาคตที่รุ้งเตรียมไว้ ที่ใหญ่กว่าขนาดผ้าอนามัยมาก
ทางเลือกที่สบายใจและไม่สุดโต่ง
“รุ้งเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติตั้งแต่เด็ก กระทั่งเมื่อปีก่อนถึงได้มารู้ว่าตัวเองเป็นโรค Endrometriosis หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งมีผลทำให้เราปวดท้องเมนส์มากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เรายังเป็นคนที่มีอาการแพ้ผ้าอนามัย อาการแพ้มันหนักมากจนต้องไปศึกษาดูส่วนประกอบของผ้าอนามัยแต่ละยี่ห้อในท้องตลาดด้วยตัวเอง
“โมเมนต์ตอนที่เราไปถึงเชลฟ์ขายผ้าอนามัย เราพบว่าบนนั้นมีโปรดักต์เยอะมาก แต่ละรุ่นก็มีรูปภาพสีสันแตกต่างกัน แต่ที่คับข้องใจคือเราแทบจะหาข้อมูลไม่ได้เลยว่าแต่ละชิ้นทำมาจากอะไร”
จากความสงสัยในซูเปอร์มาร์เก็ตนำพารุ้งไปสู่การศึกษาข้อมูลจดแจ้งของผ้าอนามัยและสอบถามจากผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ แม้จะได้คำตอบบ้างไม่ได้คำตอบบ้าง แต่เมื่อบวกกับการค้นคว้าเพิ่มเติม รุ้งก็ค้นพบว่าผ้าอนามัยสีขาวสะอาดที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นแท้จริงแล้วผลิตมาจากใยสังเคราะห์หรือก็คือพลาสติกดีๆ นี่เอง
“วัสดุเหล่านี้นอกจากทำให้บางคนมีอาการแพ้แล้วยังต้องใช้เวลาอีกตั้ง 500-800 ปีในการย่อยสลาย เชื่อไหมว่าผ้าอนามัยหนึ่งแผ่นสร้างขยะเทียบเท่ากับถุงพลาสติก 4 ใบ นั่นแปลว่าต่อให้เราทุกคนตายไปแล้วมันก็ยังอยู่บนโลกนี้อยู่เลย เอาเข้าจริงเราคิดว่ามันนับเป็นการย่อยสลายไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะใยสังเคราะห์เหล่านั้นก็จะกลายไปเป็นไมโครพลาสติกที่ตกค้างในธรรมชาติอีกอยู่ดี”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการจัดการกับประจำเดือนของตัวเอง รุ้งก็เช่นกัน
“เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจที่จะใช้ผ้าอนามัยในท้องตลาด แต่ปัญหาคือทางเลือกอื่นๆ อย่างถ้วยอนามัยหรือผ้าอนามัยแบบซักเป็นสิ่งที่ใช้ลำบากกว่าผ้าอนามัย การต้ม การพับ การซัก หรือแม้กระทั่งการเก็บรักษา ขั้นตอนเหล่านี้เป็นสเตปการเรียนรู้ใหม่ที่ใหญ่มากนะ
“ความคิดนี้ทำให้เรานึกได้ว่ามันจะมีผู้หญิงแบบเราอีกสักกี่คนที่อยากเปลี่ยนแต่ติดปัญหาเหมือนกับเรา”
ยังไม่ต้องทำแบบสำรวจเราก็พอจะคาดคะเนได้จากปริมาณผ้าอนามัยในท้องตลาดว่าผ้าอนามัยแบบแผ่นคือตัวเลือกในการจัดการประจำเดือนที่มีคนใช้มากที่สุดในประเทศไทยมาโดยตลอด นั่นเป็นที่มาของไอเดียธุรกิจผ้าอนามัยย่อยสลายได้ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง
เพราะฉันคือผู้หญิงยุค 2020s
หลังจากที่หมายมั่นปั้นมือจะสร้างแบรนด์ผ้าอนามัย รุ้งก็เดินหน้าศึกษาตลาดและเทรนด์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก่อนจะพบว่าผู้หญิงแทบทุกประเทศต่างมีจุดร่วมที่น่าสนใจ
หนึ่ง–ตลาดผ้าอนามัยทั่วโลกไม่มีนวัตกรรมใหม่มาหลายสิบปีแล้ว หากไม่นับพัฒนาการในระดับปลีกย่อยอย่างการแต่งกลิ่น เพิ่มขนาด หรือทำกาวให้เหนียวขึ้นก็ต้องยอมรับว่าผู้หญิงทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่กับผ้าอนามัยที่สร้างขยะมหาศาลเหมือนเดิม หน้าตาเหมือนเดิม และต้องทนปัญหาการระคายเคืองจากการเสียดสีแบบเดิมๆ มาหลายทศวรรษ
สอง–ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์อย่างถ้วยอนามัยที่ดีต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม แต่ในวัฒนธรรมเอเชียซึ่งให้ความสำคัญกับเยื่อพรหมจรรย์ ยังมีผู้หญิงจำนวนมากไม่สบายใจกับการใช้ถ้วยอนามัยซึ่งจำเป็นต้องสอดใส่ หรือแม้แต่คนที่ใช้ถ้วยอนามัยบางคนก็ยังเลือกใช้ควบคู่กับการใส่ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันการซึมเปื้อนในวันมามาก ท้ายที่สุดแล้วผ้าอนามัยจึงเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นและยังไม่สามารถเลิกใช้ได้อย่างถาวร
สาม–การตีตราประจำเดือน (period stigma) คือสิ่งที่พบได้ในทุกภูมิภาค ทุกประเทศ ทุกระดับสังคม เพราะแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง หลายครั้งเราก็ยังหลีกเลี่ยงการพูดถึงประจำเดือนเพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าอายและไม่อยากยอมรับว่าการมีประจำเดือนนั้นสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเราไม่น้อย เพราะหลายครั้งที่การอ้างถึงประจำเดือนทำให้ผู้หญิงถูกมองในแง่ลบ ว่าเป็นคนอ่อนแอ และไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่
“ยกตัวอย่างง่ายๆ คือการปวดประจำเดือน รู้ไหมว่าในบางรายอาจมีระดับความปวดเทียบเท่ากับระยะที่ 2 ของการคลอดลูก (second stage of labour) เลยนะ”
สี่–นอกจากเรื่องการตีตราแล้ว ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย (period poverty) และอุปสรรคในการเข้าถึงผ้าอนามัยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่พบเจอได้ในทุกประเทศทั่วโลก
ห้า–ในยุคที่ผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น มีโอกาสในหน้าที่การงานมากขึ้น เช่นกันกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะหันมาใส่ใจร่างกายของตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องประจำเดือนและการมีลูก (female fertility)
หก–ขณะเดียวกัน มูฟเมนต์การเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิสตรีก็เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับผู้หญิง อาทิ บรรดา Femtech (Feminine Technology) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการสุขภาพของผู้หญิง
“ตอนนี้ Femtech คือหนึ่งในตลาด Start-up ที่โตไวมาก เพราะมูฟเมนต์การเรียกร้องของเฟมินิสต์ทั่วโลกกำลังช่วยผลักดันธุรกิจนี้ให้ไปไกลขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้หญิงต่างก็ออกมาบอกว่าเขาอยากได้มากกว่านี้ เขาควรมีสิทธิที่เท่าเทียมมากกว่านี้” รุ้งยกตัวอย่างให้เห็นความเชื่อมโยงของมูฟเมนต์ในสังคม การตื่นตัวของผู้คนที่สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงแวดวงธุรกิจ
ผ้าอนามัย ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม
หลังจากเดินหน้าศึกษาผ้าอนามัยหลากยี่ห้อในหลายประเทศ ทั้งตัดชำแหละ และทดลองประสิทธิภาพในด้านต่างๆ จนทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็ได้เวลาที่รุ้งจะเดินหน้าออกแบบผ้าอนามัยของตัวเอง
“ในตลาดผ้าอนามัยออร์แกนิกปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ทำท็อปชีต (แผ่นซับด้านบนสุด) มีอยู่สองอย่างคือใยคอตตอน และใยไม้ไผ่ เราทดลองเปรียบเทียบกันแล้วจึงตัดสินใจเลือกใช้ใยไม้ไผ่ เพราะนอกจากจะให้สัมผัสที่ลื่นและนุ่มกว่าแล้ว ยังมีกระบวนการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตฝ้ายที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก” รุ้งอธิบายสาเหตุที่เธอตัดสินใจใช้ใยไม้ไผ่เป็นวัสดุส่วนบนขณะที่ส่วนฐานนั้นใช้ใยข้าวโพดซึ่งย่อยสลายได้เช่นกัน
“แล้วหนึ่งเปอร์เซ็นต์สุดท้ายที่ย่อยสลายไม่ได้คืออะไร” เราสงสัย
“กาวค่ะ เพราะตอนนี้เรายังไม่สามารถทำกาวให้ย่อยสลายได้ แต่มันจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงและทำให้ส่วนที่เหลือมันย่อยไปได้เอง”
ผ้าอนามัยของ ira ย่อยสลายตัวเองได้เร็วที่สุดคือภายใน 6-12 เดือนตามกระบวนการทำปุ๋ยหมัก (ขึ้นอยู่กับกรรมวิธี จุลินทรีย์ อุณหภูมิสูง อ็อกซิเจน ความชื้น และดินที่ใช้ในการย่อยสลาย) ส่วนใครที่สะดวกทิ้งลงถังขยะทั่วไปผ้าอนามัยก็จะย่อยสลายตัวเองได้เช่นกัน แต่จะช้าเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในบ่อขยะอีกที
“ในแง่การใช้งาน ถ้าลองเปรียบเทียบกับผ้าอนามัยทั่วไปในท้องตลาด ตอนที่ใช้ ira คุณจะรู้สึกว่าผ้าอนามัยของเราเต็มไวกว่าและเห็นเลือดสีแดงสดกว่า นั่นเพราะเราไม่ได้ใส่ SAP (Super Absorbent Polymers) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บของเหลวโดยการเปลี่ยนเลือดให้กลายเป็นเจลและมีสีเข้มกว่าเลือดประจำเดือนจริงๆ ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในผ้าอนามัยในท้องตลาด”
ระหว่างการทำรีเสิร์ชนั้น รุ้งพบว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัยเพราะ SAP คอยดูดซับเลือดประจำเดือนให้กระจุกตัวอยู่แค่ตรงกลางแผ่นจนดูเหมือนว่าผ้าอนามัยยังไม่เต็ม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผ้าอนามัยถูกออกแบบมาให้เปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมงเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและยังช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นที่หลายคนกังวลจนเป็นที่มาของผ้าอนามัยใส่น้ำหอมอีกด้วย (ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนแพ้น้ำหอมเหล่านั้น)
ด้วยปัญหาทั้งหมดที่ว่ามา นอกจากจะผลิตผ้าอนามัย รุ้งจึงตั้งใจวางแผนให้ ira ผลิตความรู้ เป็นตัวกลางสื่อสารข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของแบรนด์เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อจุดซ่อนเร้น หรือแม้กระทั่งวิธีการสังเกตสีประจำเดือนของตัวเอง
“You don’t know what you don’t know. หลายคนไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นปัญหา ไม่รู้ว่าสิ่งที่ใช้อยู่ไม่เหมาะกับร่างกายของตัวเอง เช่น เรามีเพื่อนที่ลองเปลี่ยนมาใช้ ira แล้วเพิ่งจะได้รู้ว่าก่อนหน้านี้เขามีอาการแพ้ผ้าอนามัยมาตลอด
“เราอยากให้ผู้หญิงรู้ว่าผ้าอนามัยที่เขาต้องใช้ทุกเดือนนั้นทำมาจากอะไรบ้าง รู้ว่ามันจะสร้างผลกระทบอะไรกับร่างกายเราได้ แล้วหลังจากที่เขาใช้เสร็จมันจะเดินทางไปไหนต่อ เราคิดว่าทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกัน” รุ้งอธิบายถึงความเชื่อมโยงของผ้าอนามัย ร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่ล้วนสำคัญและเกี่ยวเนื่องกันมากกว่าที่หลายคนคิด
ผ้าอนามัยที่จะวางตรงไหนก็ได้
ความตั้งใจของรุ้งที่ถ่ายทอดผ่าน ira มีมากมาย ทั้งการท้าทายค่านิยม การสร้างสุขภาวะที่ดีให้ผู้หญิง รวมไปถึงการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถามถึงความตั้งใจสูงสุดของแบรนด์ ไม่แปลกที่คำตอบของรุ้งจั่วหัวมาด้วยคำสามคำที่ใหญ่กว่าเรื่องของผ้าอนามัยแผ่นเล็กๆ
“มิสชั่นของเราคือการทำลาย period stigma รวมทั้งปัญหา period shaming และ period poverty”
ท่ามกลางสังคมที่ยังรังเกียจและเหนียมอายต่อประจำเดือน รุ้งตั้งใจใช้การออกแบบสร้างค่านิยมใหม่ให้กับผ้าอนามัยและประจำเดือน เรื่องแรกคือดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง ira ที่ดูแล้วไม่เหมือนผ้าอนามัยแต่เหมือนสินค้าดีไซน์ จนผู้ใช้ไม่ต้องเหนียมอายเวลาถือไปไหนมาไหน หรือแม้วางทิ้งไว้ที่ไหนก็ไม่ขัดเขิน
สิ่งที่ยืนยันคำพูดของรุ้งได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นกล่องผ้าอนามัยหลากไซส์ของ ira ที่วางเด่นหราอยู่บนโต๊ะกลางคาเฟ่ที่เรานั่งคุยกัน ทั้งหมดนั้นถูกวางทิ้งไว้ตลอดบทสนทนาโดยที่ไม่ให้ความรู้สึกขัดเขินหรือผิดที่ผิดทางเลยแม้แต่น้อย
นอกจากใส่ใจเรื่องความสวยงามทางสายตาและความเป็นมิตรกับร่างกาย รุ้งยังใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้ทุกคน ที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็น ‘ผู้หญิง’ เท่านั้น
“คอนเซปต์ของเราคือ ‘ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีมดลูก และไม่ใช่ว่าคนที่มีมดลูกทุกคนเป็นผู้หญิง’ ดังนั้นเราจึงดีไซน์สิ่งนี้ให้ถูกใจคนทุกเพศมากที่สุด” ด้วยเหตุผลนี้เอง รุ้งจึงต้องอธิบายกับดีไซเนอร์และทีมงานอยู่หลายตลบว่าผ้าอนามัยไม่จำเป็นต้องมีสีชมพู (และเอาเข้าจริงสีชมพูก็ไม่ควรผูกโยงอยู่กับความเป็นผู้หญิงเท่านั้น) และสินค้าออร์แกนิกไม่จำเป็นต้องมีรูปดอกไม้
“ทำไมคุณจึงให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งไม่แพ้ผลิตภัณฑ์” เราสงสัย
“เพราะมันคือ statement ของแบรนด์เรา ผ้าอนามัยทุกกล่องทำหน้าที่บอกข้อมูลอย่างชัดเจน ครบถ้วน และตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่ผ้าอนามัยควรจะเป็น” เราลองพลิกกล่องดูก็เห็นว่าข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนนั่นคือแต่ละส่วนของผ้าอนามัยนั้นทำมาจากอะไรบ้าง
การดีไซน์องค์ประกอบที่ว่ามาทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ผ้าอนามัยที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นมิตร และสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับประจำเดือน สิทธิ และคุณภาพชีวิตของผู้หญิงให้แพร่หลายมากขึ้นในสังคม
แบรนด์ผ้าอนามัย ที่ไม่ได้ทำแค่ขายผ้าอนามัย
อย่างที่รุ้งว่า ผ้าอนามัยออร์แกนิกไม่ควรผูกโยงอยู่กับภาพดอกไม้ สายลม แสงแดด และธรรมชาติ เพราะสำหรับเธอ ผ้าอนามัยออร์แกนิกก็เป็น ‘นวัตกรรม’
“ira เป็น Femtech นะ ในอนาคตเราอยากพัฒนาตัวเองไปเป็นเทคโนโลยีที่สามารถคาดคะเนเรื่องประจำเดือน และให้คำแนะนำกับผู้บริโภคได้แบบรายคน กับอีกส่วนที่วางแผนไว้คือเราอยากให้ผ้าอนามัยของเราไปอยู่ทุกที่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน แค่คุณสแกนโค้ดที่ตู้จำหน่ายอัจฉริยะของเราคุณก็จะได้ผ้าอนามัยออกมา”
ส่วนแผนการระยะสั้น นอกจากการตั้งขายผ้าอนามัยและสื่อสารกับผู้ใช้รายย่อยแล้ว รุ้งยังตั้งใจเข้าไปคุยกับเหล่าผู้บริหารองค์กร รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและกรุยทางไปสู่สวัสดิการผ้าอนามัยในที่ทำงาน และสถานศึกษาอีกด้วย
“เราอยากให้องค์กรและสถาบันต่างๆ ซื้อผ้าอนามัยของเราไปวางเป็นสวัสดิการในห้องน้ำ ทุกวันนี้ผู้บริหารหลายคนยังคิดว่าเขาทำตู้กดให้คนหยอดเหรียญซื้อก็ได้ แต่นั่นไม่เท่ากับสวัสดิการไง เพราะแปลว่าเขาต้องซื้อเองอยู่ดี ที่เราอยากให้คุณจ่ายเพราะเรารู้ว่าคุณมีเงิน (หัวเราะ) แทนที่จะเอาเงินที่คุณมีอยู่ไปเป็นสปอนเซอร์หรือจัดงานเลี้ยง คุณเอามาลงตรงนี้มันจะช่วยบุคลากรของคุณได้จริง และมันช่วยได้ทันที
“ตอนนี้ยังมีกลุ่มนักเรียนที่เขาสนใจประเด็นนี้และศิษย์เก่าบางโรงเรียนที่เขาเห็นด้วยกับสวัสดิการผ้าอนามัย เขาก็ระดมทุนกันเองเพื่อมาทำสิ่งนี้ร่วมกับเรานะ ถึงมันจะเริ่มต้นจากแรงสนับสนุนของฝั่งผู้บริโภคแต่เราก็คิดว่ามันน่าจะไปต่อได้” รุ้งอธิบายถึงความหวังในการแก้ปัญหาการขาดแคลนหรือโอกาสในการเข้าถึงผ้าอนามัย
“ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการเพราะมันจำเป็น คนที่มีประจำเดือนมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เพราะมันเป็นอะไรที่เราต้องใช้จริงๆ ดังนั้นคำถามจึงกลับมาว่าทำไมสิ่งที่จำเป็นขนาดนี้จึงไม่ใช่สวัสดิการ
“เราพยายามสื่อสารกับสังคมตลอดเวลาว่าสิ่งนี้คือเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่รับรู้ด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มพูดคุยและเรียนรู้เรื่องนี้กันเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดๆ และการกดทับที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ”
ตามไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ ira ได้ที่ iraconcept.com หรือเฟซบุ๊กเพจ Ira Concept
และขอขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ AGO – designed selected shop และ Yarnnakarn