บังเอิญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้ขณะที่เรากำลังเลือกหาของขวัญให้กับคนใกล้ชิด ตาก็ไปสบเข้ากับเจลอาบน้ำขวดสวย ดีไซน์เก๋จาก Common Ground ทดสอบตัวอย่างดูแล้วก็เริ่ด แถมราคายังสบายกระเป๋า เลยได้พาใส่ถุงกลับบ้าน จับแต่งตัวเสียใหม่ด้วยกระดาษห่อลายดอกไม้สีแดง ผูกโบว์ แปลงโฉมรอเจ้าของคนใหม่
หลังจากได้เห็นสายตาวาววับของผู้รับ แถมมาอ่านข้อมูลภายหลังยิ่งทำให้เราสนอกสนใจเข้าไปอีก พอมีโอกาสเลยไม่พลาดที่จะไปนั่งคุยถึงรายละเอียดของ Organics Buddy บริษัทแม่ที่ ตั้ม–ธนทัต สุกาญจนพงษ์ และเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้ง ด้วยหวังให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ราคาไม่แพง แถมพวกเขายังพิถีพิถัน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการผลิต จนออกมาเป็น 2 แบรนด์ลูกอย่าง Common Ground แบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่ครอบคลุมการใช้เวลาในห้องน้ำตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า และ Soganics ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านสไตล์มินิมอล เป็นมิตรต่อผู้ใช้ สัตว์เลี้ยงในบ้าน ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองแบรนด์ต่างตอบโจทย์และเติมเต็มระบบนิเวศของวิถีชีวิตกรีนๆ ให้แก่ลูกค้า
จาก pain point สู่แพลนธุรกิจ
“คุณพ่อผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย เวลาเหงื่อไปโดนกับเสื้อผ้าที่อาจมีสารตกค้างอยู่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการคันได้ ตอนคุณพ่อไปหาหมอผิวหนัง อย่างแรกที่หมอให้ลองปรับดูก็คือน้ำยาซักผ้า”
ตั้มเล่าว่าเขาหันมาสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพราะปัญหาผิวแพ้ง่ายและผื่นคันของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เมื่อคุณหมอแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เขาจึงลองสำรวจสินค้าในท้องตลาด แล้วพบว่าสินค้าประเภทนี้มักมีราคาสูง ในขณะที่ประสิทธิภาพหรือคุณสมบัติบางอย่างกลับไม่ถูกใจ เช่น กลิ่นไม่ได้ ขจัดคราบไม่ดี ความฝันที่จะทำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ดี เหมาะกับคนผิวแพ้ง่าย ในราคาที่จับต้องได้ จึงติดอยู่ในใจตั้มมาโดยตลอด
ประจวบเหมาะกับตั้มได้ลัดฟ้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศออสเตรเลีย ดินแดนที่ความออร์แกนิกเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนอยู่แล้ว ในตอนนั้นเองที่เขาพบว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัว เดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีสินค้าวางขายเป็นปกติ แถมโชคดีได้เจอครอบครัวของเพื่อนที่อยู่ในวงการธุรกิจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเก่าแก่ของออสเตรเลีย จึงมีโอกาสได้เข้าไปฝึกงาน เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำของการผลิตสินค้า
ตั้มได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติงานจริงกับบริษัทใหญ่ประสบการณ์เยอะ ลงไปคลุกคลีแทบจะทุกแผนก ทั้งผสมสูตร เข้าห้องแล็บพัฒนาสูตร จนมาถึงการบรรจุ จัดการคลังสินค้า สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นรากฐานชั้นดีในการทำธุรกิจของตัวเอง จนปลายปี 2018 หลังจากที่เขาแพ็กกระเป๋ากลับเมืองไทยแล้ว ตั้มและเพื่อนก็ช่วยกันตั้ง Organics Buddy ขึ้นมา
Organics Buddy เพื่อนซี้ที่มาทีเดียวถึงสองแบรนด์
“คำว่า buddy ใน Organics Buddy มาจาก หนึ่ง–เรามีเพื่อนที่ช่วยกันพัฒนาบริษัทนี้ขึ้นมา ถือว่าเป็นบัดดี้กัน สอง–เรารู้สึกว่าคนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิกเท่าไหร่ เลยอยากให้ผลิตภัณฑ์พวกนี้ดูเฟรนด์ลี่ เพื่อที่ลูกค้าจะได้กลายมาเป็นเพื่อนที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี และช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ตั้มเล่าที่มาของชื่อให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม
หลังจากปลุกปั้นคลำสูตรและพัฒนาสินค้ากันอยู่ 8 เดือน Organics Buddy ก็เริ่มเปิดตัวแบรนด์และปล่อยสินค้าออกมา แต่แทนที่จะทำแบรนด์เดียว พวกเขากลับเลือกที่จะทำสองแบรนด์ควบคู่กัน และส่งผลิตภัณฑ์ของทั้งสองแบรนด์ออกสู่สาธารณะในเวลาไล่เลี่ยกัน
แม้การตัดสินใจจัดเต็มนี้จะดูน่าฉงนสำหรับแบรนด์น้องใหม่ แต่ตั้มเฉลยวิธีคิดเบื้องหลังที่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจให้ฟังว่า “จริงๆ ตัวจุดประกายคือ Soganics เรามีแพสชั่นและสนุกกับมัน อยากจะนำเสนอให้คนไทยได้ลอง เพราะเรามองว่าคนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยโปรดักต์ประเภทนี้ แต่ด้วยความที่กระบวนการผลิต Soganics กับ Common Ground คล้ายคลึงกัน บวกกับตอนนั้นเราไม่รู้ว่าตลาดบ้านเราใหญ่พอสำหรับ Soganics ไหม คนจะตอบรับดีขนาดไหน เราเลยทำ Common Ground ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยแล้วควบคู่ไปด้วยกัน”
Common Ground ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่เริ่มต้นจาก ground
กลิ่นหอม ทำความสะอาดได้ดี แถมดีไซน์สวยงาม จนแค่มีขวดสีเขียวเข้มของแชมพู ครีมนวดผม และเจลอาบน้ำของ Common Ground วางไว้ก็ทำให้ห้องน้ำดูดีขึ้นในทันตา
นอกจากลิสต์ข้อดีที่เมื่อลองใช้จะรู้สึกได้เอง วันนี้เรายังได้รู้รายละเอียดเพิ่มเติมจากตั้มว่า Common Ground มาจากการหาบาลานซ์ระหว่างความเป็นออร์แกนิก และความต้องการของลูกค้าที่ยังคุ้นชินกับผลิตภัณฑ์เนื้อดี มีกลิ่นหอม มีฟอง จนเกิดเป็นสินค้าที่ทำมาจากส่วนผสม plant-based ทั้งหมด ชูโรงด้วยน้ำมันอะโวคาโด พืชจากออสเตรเลียที่เต็มไปด้วยประโยชน์ ช่วยคืนความชุ่มชื้นและสมดุลให้กับผิว และแน่นอนว่าสินค้ายังตอบโจทย์คนผิวแพ้ง่ายจึงไม่มีพาราเบน ไม่มีสี ไม่มีสบู่ ไม่มีซิลิโคน และผลิตภัณฑ์ยังมีค่า pH 5.5 ใกล้เคียงกับผิวคน ส่วนน้ำหอมที่เลือกใช้ก็เป็นเกรดพรีเมียม โอกาสที่จะแพ้จึงมีน้อยมากๆ
ตั้มแอบกระซิบว่าความท้าทายอย่างหนึ่งตอนทดลองสูตรคือ ผู้ใช้แต่ละคนล้วนมีความชื่นชอบกันคนละแบบ เช่น แชมพูสูตรเดียวกันก็อาจจะมีคนบอกว่าสระผมแล้วล้างออกยาก ในขณะที่บางคนโอเค จึงต้องหาจุดกึ่งกลางออกมาเป็น Common Ground
ไม่เพียงตัวผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ขวดของ Common Ground ยังรักสิ่งแวดล้อม Common Ground เป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่ขวดทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ชุบชีวิตขวดพลาสติกใสที่เราใช้ดื่มกันผ่านกระบวนการออกมาเป็นเรซิน แล้วขึ้นรูปใหม่จนเป็นขวดหน้าตาน่าใช้ สีเขียวสุดเท่ของบรรจุภัณฑ์ก็เป็นสีพิเศษที่ผ่านการคิดและพัฒนาขึ้นมา บาลานซ์ระหว่างดีไซน์สวยกับความจำเป็น เนื่องจากขวดต้องกันแสงยูวีได้เพื่อรักษาอายุและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แม้ตั้มจะบอกว่าการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สุดกรีนเพิ่มต้นทุนการผลิตไม่ใช่น้อย แต่เขาก็อยากให้สินค้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
“การที่เรามีชีวิตอยู่ยังไงก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่เราจะทำยังไงให้ผลกระทบนั้นมันน้อยที่สุด เราเลยเลือกใช้ขวดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลพวกนี้” ตั้มบอก
Soganics น้ำยาทำความสะอาดบ้านที่ so organic
ลบภาพวันทำความสะอาดที่ต้องมีชุดเต็มยศ ทั้งถุงมือแสนแน่นหนา รองเท้ายาง และผ้าปิดจมูก เพราะผลิตภัณฑ์ของ Soganics ที่มีตั้งแต่น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาทำความสะอาดกระจก น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า ฯลฯ มีส่วนผสมหลักเป็น plant-based ทั้งสกัดมาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และน้ำมันมะพร้าว จึงมีความอ่อนโยน ปลอดภัยกับทั้งเราและสัตว์เลี้ยง คอนเฟิร์มอีกทีด้วยการปราศจากสารสุดฮิตในการฆ่าเชื้ออย่างแอมโมเนียและคลอรีน กลิ่นเลยไม่แรงจนแสบจมูก ไม่มีผลสะสมต่อทางเดินหายใจ แถมยังปลอดภัย สบายใจได้ว่าเมื่อน้ำที่ใช้แล้วถูกปล่อยไปในลำน้ำจะไม่มีสารแอมโมเนีและคลอรีนไปกวนสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ
เป็นอีกครั้งที่แพ็กเกจจิ้งของ Organics Buddy เตะตาเรา หากซิกเนเจอร์ของ Common Ground คือขวดสีเขียวเข้มสุดเท่ ซิกเนเจอต์ของ Soganics ก็คือขวดสีขาวสุดมินิมอลที่มีรูปทรงสวยงาม
“คอนเซปต์การออกแบบคือขวดจะเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง ไปวางที่ไหนเราก็ไม่อาย ทำความสะอาดเสร็จแล้วอาจจะลืมขวดทิ้งไว้ พอมีแขกเข้ามาบ้านเราก็ไม่จำเป็นต้องลุกลี้ลุกลนรีบวิ่งไปเก็บน้ำยาทำความสะอาด” ตั้มเฉลยแนวคิดเบื้องหลัง อีกทั้งยกเครดิตให้เพื่อนซี้ผู้จบด้านสถาปัตยกรรมที่ร่วมทำบริษัทด้วยกัน เขาและเพื่อนจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบเป็นพิเศษ
อีกหนึ่งความพิเศษในการออกแบบคือขวดของ Soganics ขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ที่ออกแบบใหม่เป็นทรงเฉพาะของแบรนด์ โดยกว่าจะสรุปเป็นทรงนี้ พวกเขาใส่ใจรายละเอียดว่าความรู้สึกตอนจับของผู้ใช้จะเป็นยังไง ศึกษาว่าคนฉีดสเปรย์นิ้วไหน จับขวดสเปรย์ยังไง ผู้ชายอาจจะจับแบบหนึ่ง ผู้หญิงจับอีกแบบหนึ่ง นำมาสู่ทรงที่ user-friendly สำหรับทุกคน
มากกว่าเรื่องดีไซน์ Soganics ตั้งใจออกแบบขวดให้แข็งแรงทนทานเพื่อที่จะมารีฟิลได้ ซึ่งแวบแรกเรานึกว่าเขาตั้งใจทำถุงรีฟิลเพื่อนักช้อปสุดประหยัด แต่ชายหนุ่มชวนคิดต่อว่า การที่ราคาถุงรีฟิลถูกลง ก็เพราะว่าต้นทุนการผลิตถูกลงด้วย
“ทุกกระบวนการผลิตมีการใช้น้ำในการทำงาน การผลิตถุงรีฟิลนั้นประหยัดน้ำกว่า และประหยัดวัสดุที่ใช้ผลิตด้วย ทำให้ประหยัดได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับขวดปกติ ต้นทุนเราก็ต่ำลง สามารถส่งต่อส่วนต่างนี้ให้กับลูกค้าได้ เพราะฉะนั้นราคาถุงรีฟีลหลายๆ ตัวก็จะประหยัดกว่าปกติ 20-30 เปอร์เซ็นต์เลย”
เรียกได้ว่าถุงรีฟิลนั้นประหยัดและรักษ์โลกกว่าแบบขวดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงการใช้นั่นเอง
ผลิตในไทย มาตรฐานโลก
สินค้าทั้งสองแบรนด์ของ Organics Buddy พัฒนาสูตรที่แล็บในประเทศออสเตรเลียเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลก แต่พวกเขาก็ไม่อยากให้สินค้าเป็นสินค้านำเข้า จึงทดลองปรับสูตรให้เหมาะกับสภาพน้ำ สภาพอากาศ (สุดร้อนชื้น) และความชอบของคนไทย ก่อนจะนำสูตรที่ได้มาผลิตในโรงงานที่ไทย
มาตรฐานระดับโลกที่พวกเขาหมายตายังไม่หมดเพียงเท่านั้น วัตถุดิบทางการเกษตรทุกชนิดทั้งที่นำเข้าและผลิตในประเทศที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของทั้ง Common Ground และ Soganics ต่างผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร อันมาจากความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจของแบรนด์
ตั้มยกตัวอย่างว่า วัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันที่เอามาแปรรูปเป็นน้ำยาล้างจานแสนอ่อนโยน ไม่ทำให้มือลอกนั้น ก็ต้องเป็นสวนปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO การันตีว่าปาล์มที่ได้มีการเก็บเกี่ยวที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะในบางประเทศจะเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการเผาป่าเพื่อโค่นต้นเก่าทิ้งแล้วปลูกใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศฝั่งยุโรปจึงต่อต้านกันเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของแบรนด์ยังไม่มีการทดลองกับสัตว์ และเลือกที่จะทดลองกับคนแทน หลายคนคงร้องอ้าว แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะด้วยความรู้ที่สะสมมา สูตรที่ใช้เลยมีความอ่อนโยนมากๆ อยู่แล้ว การทดลองจึงทำเพื่อปรับตามความชอบของคนเท่านั้น
อีกหนึ่งมาตรฐานการผลิตระดับโลกที่คนไทยอาจยังไม่ค่อยคุ้นชินคือ Greywater Safe ซึ่งตั้มอธิบายให้เราฟังว่า “greywater คือน้ำที่เกิดจากการชะล้างเบา เช่น น้ำจากซิงก์ล้างมือ น้ำจากการล้างจาน ซึ่งในต่างประเทศเขามีระบบบำบัดภายในบ้าน เป็นระบบง่ายๆ ที่เขาสามารถนำน้ำหลังจากบำบัดเบื้องต้นแล้วมารดน้ำต้นไม้ได้
“โปรดักต์ที่มีสารเคมีสูงจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Greywater Safe คือระบบบำบัดจะไม่สามารถบำบัดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาเอา greywater มารดน้ำต้นไม้ก็อาจจะมีผลต่อต้นไม้และสภาพดิน เราเลยคำนึงถึงตรงนี้ด้วย”
ถัดจาก Greywater Safe คือเรื่อง Septic Safe ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของบ่อของเสียภายในบ้าน หลายคนคงเคยประสบปัญหากลิ่นที่ตีขึ้นมาจนเกือบสลบ ทั้งที่จริงๆ แล้วภายในบ่อของเสียจะมีทั้งแบคทีเรียที่ดีและไม่ดีอยู่รวมกัน จึงมีกลไกธรรมชาติที่พวกมันจะระงับกลิ่นกันเอง แต่โปรดักต์ที่มีสารเคมีรุนแรงจะไปทำลายสมดุลของแบคทีเรีย ระงับกลไกธรรมชาติ แล้วเกิดเป็นกลิ่นแสนคลื่นเหียนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองแบรนด์ของ Organics Buddy เป็นผลิตภัณฑ์ Septic Safe หมดกังวลเรื่องกลิ่นได้เลย
ความฝันที่เป็นจริงของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในราคาสบายกระเป๋า
120-260 บาทคือช่วงราคาของสินค้าแบรนด์ Common Ground
95-285 บาทคือช่วงราคาของสินค้าแบรนด์ Soganics
อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่าเป็นความตั้งใจของตั้มและเพื่อนที่อยากให้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีราคาสบายกระเป๋า เข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยมองว่าธุรกิจ Organics Buddy จะเข้ามาเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่นำเข้ามาและแบรนด์สินค้าในประเทศ พวกเขาจึงพยายามจะตั้งราคาสูงกว่าแบรนด์ในประเทศไม่เกิน 30-40 เปอร์เซ็นต์เพื่อดึงดูดผู้ซื้อให้ทดลองผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติฝีมือคนไทย
“ของพวกนี้หลายๆ ตัวต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล เช่น แชมพูหรือเจลอาบน้ำอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือนถึงจะรู้ว่าสภาพผมและสภาพผิวเรากลับมาดีขึ้นแล้ว ซึ่งบางทีมันแพงไปมากๆ คนเราลองครั้งเดียว ลองขวดเดียว ไม่เห็นผล เราก็ไม่ได้อยากลองแล้ว”
ในขณะที่ต้องแบกต้นทุนที่สูงกว่าทั้งเรื่องวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์รักษ์ธรรมชาติ แต่แบรนด์ก็ไม่เลือกที่จะผลักภาระไปที่ลูกค้า พวกเขากลับเลือกที่จะลงทุนเพิ่ม เช่น เลือกซื้อวัตถุดิบที่ปริมาณเยอะหน่อย และดึงคุณสมบัติของวัตถุดิบไปใช้ให้เหมาะสมในหลากหลายผลิตภัณฑ์ หรืออย่างขวดของ Common Ground ก็เลือกใช้ขวดลักษณะเดียวกันในหลายผลิตภัณฑ์เพื่อควบคุมต้นทุน และรักษาราคาให้จับต้องได้
ก้าวต่อไปของ Common Ground และ Soganics
ทุกวันนี้ทั้งแบรนด์ Common Ground และ Soganics ต่างก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งกลุ่มลูกค้าคนไทย คนต่างชาติที่อาศัยในเมืองไทย กระทั่งลูกค้าต่างประเทศก็ให้การสนับสนุน
“บางทีก็มีอีเมลเข้ามา เท่าที่อ่านลูกค้าเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ไทยมานาน แต่ว่ามีปัญหาเรื่องการหาน้ำยาซักผ้าที่หนึ่ง–อ่อนโยน ใช้แล้วไม่แพ้ และสอง–ต้องขจัดคราบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ดี เขาเจอโปรดักต์เราก็แฮปปี้มาก อีเมลมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง แล้วก็บอกว่าอย่าเลิกทำนะ เขาจะซัพพอร์ตเราไปเรื่อยๆ มีฟีดแบ็กแบบนี้เรื่อยๆ เลย”
จากเดิมที่เคยสื่อสารและขายบนโลกออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งเป็นช่องทางที่ตั้มบอกว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะได้สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทดลองไอเดียใหม่ๆ และรับฟีดแบ็กค่อนข้างไว ปัจจุบันมีการขยับอีกก้าวด้วยการเริ่มต้นวางขายหน้าร้านมากยิ่งขึ้น ทั้งจัดเรียงบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงร้าน EVEANDBOY และยังกระจายในหลากหลายจังหวัดเพื่อตอบรับพฤติกรรมของผู้ใช้
“แน่นอนว่าโปรดักต์พวกนี้เป็นโปรดักต์ที่เวลาคนซื้ออาจจะไม่ค่อยได้คิดหรือแพลนล่วงหน้าสักเท่าไหร่ อย่างน้ำยาทำความสะอาดหมด คนก็คิดว่าครั้งหน้าถ้าเราไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตเราต้องไปซื้อ เลยมองว่ายังไงแล้วตลาดส่วนใหญ่ของการเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ก็ยังอยู่ในช่องทางออฟไลน์อยู่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าตลาดออฟไลน์ด้วย”
เมื่อถามถึงเป้าหมายถัดไปของแบรนด์ ตั้มก็ช่วยไขข้อข้องใจให้เราทันที
“จริงๆ ก็อยากส่งออกมากกว่านี้นะ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 การเจรจาธุรกิจใหม่ช่วงนี้ก็ช้าลง แต่เราก็ยังโอเคอยู่ ยังสามารถพาแบรนด์เติบโต สามารถสื่อสารไปถึงลูกค้าใหม่ๆ ให้มาลองด้วยราคาที่ไม่แพงมากได้”
อ่านมาจนถึงตอนนี้ คิดเหมือนเราไหมว่า คำว่า buddy ใน Organics Buddy น่าจะมีอีกความหมายว่า ‘เพื่อนร่วมโลก’ เพราะทุกอย่างผ่านการคิดจบครบทุกกระบวนการ เพื่อทั้งคน โลก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั่นเอง