จากทางเท้าถึงโซลาร์เซลล์ ชวนหา ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ กับนักพัฒนาเมือง ‘แทนศร พรปัญญาภัทร’

Highlights

  • แทนศร พรปัญญาภัทร คือนักพัฒนาเมืองผู้ทำงานพัฒนากรุงเทพฯ มาเกือบสิบปี โดยพยายามทำความเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของเมืองนี้จากหลากหลายมุมมอง
  • แทนศรนิยามหน้าที่ของนักพัฒนาเมืองว่าคือการสร้างทางเลือกในการพัฒนาเมืองตั้งแต่ต้นจนจบ มีตั้งแต่การทำงานกับชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงการวางแผนเชิงโครงสร้างให้เมืองรองรับการใช้พลังงานทางเลือกในระยะยาว
  • สำหรับกรุงเทพฯ แทนศรเชื่อว่าการจะดึงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้ เราต้องการเมืองที่ทุกส่วนเชื่อมต่อกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาคนเมืองให้มีส่วนร่วมกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้นในฐานะพลเมือง ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

“เกษียณเมื่อไหร่จะซื้อที่แล้วหนีไปปลูกบ้านอยู่ต่างจังหวัด” คือหนึ่งในประโยคที่สะท้อนความในใจของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องทนกับเรื่องรถติด บีทีเอสเสีย และอีกสารพัดปัญหาสามัญประจำเมือง

แต่ในขณะที่เราและคนอีกค่อนเมืองกำลังหมดหวังกับกรุงเทพฯ และฝันจะได้หนีไปใช้ชีวิตสุขสงบนอกเมืองหลวงในสักวัน ยังมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังทุ่มเททำงานซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี หรือหลายสิบปีเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นมาอีกนิด ลงตัวมากกว่าเดิมอีกหน่อย 

‘นักพัฒนาเมือง’ คืออาชีพที่เราหมายถึง

“หน้าที่หลักของเราคือการสร้างทางเลือกในการพัฒนา คิดภาพว่าปรับปรุงแล้วเมืองจะมีหน้าตายังไง และมองหาทางเลือกว่าการจะไปสู่จุดนั้นได้เรามีวิธีการยังไงบ้าง” นี่คือ job description โดยย่อที่แทนศร พรปัญญาภัทร หัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองขอนแก่น (UddC Khon Kaen) และอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) อธิบายให้เราในฐานะคนนอกวงการได้เข้าใจเมื่อเริ่มต้นสนทนากัน

แทนศร พรปัญญาภัทร

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เขาคนนี้กำลังจะเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse 2020 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อมาทอล์กหลังฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Tomorrow ว่าด้วยการออกแบบทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแต่ละชุมชน แต่ละย่าน หรือแต่ละเมืองในหลากหลายประเทศทั่วโลก อย่างฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อจะไปทำความเข้าใจทางเลือกของคนในซีกโลกอื่นๆ ผ่านจอภาพยนตร์ เราอดไม่ได้ที่จะสงสัยถึงทางเลือกของประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองกรุงเทพมหานคร ก่อนเทศกาลจะมาถึง เราถือโอกาสชวนแทนศรมาพูดคุยและตอบคำถามคาใจเราและคนกรุงเทพฯ มาตลอดชีวิตผ่านมุมมองของนักพัฒนาเมือง

การจะพัฒนากรุงเทพฯ มีทางเลือกยังไง กรุงเทพฯ ที่ปรับปรุงแล้วจะมีหน้าตาเป็นยังไง และที่สำคัญ การจะไปสู่ ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ ได้นั้นมีวิธีการยังไงบ้าง

แทนศร พรปัญญาภัทร

งานพัฒนาเมืองต่างจากอาชีพสถาปนิกผังเมืองยังไง

การพัฒนาเมืองประกอบไปด้วยงานสถาปนิกทุกประเภทเลย ด้วยขนาดเมืองที่ใหญ่แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยองค์ประกอบเล็กๆ มากมาย เป้าหมายหลักในการทำงานของเราคือการทำให้กายภาพและสิ่งแวดล้อมในเมืองดียิ่งขึ้น แต่นอกจากงานสถาปนิกแล้วเรายังต้องทำความเข้าใจแต่ละวิชาชีพ เอาความรู้ของแต่ละศาสตร์มาประกอบกันเพื่อให้กายภาพเมืองสมบูรณ์และตอบโจทย์ความต้องการของคนมากที่สุด 

 

ยังมีสายวิชาชีพไหนอีกบ้างที่ต้องทำงานร่วมกัน

เยอะมาก อย่างที่ UddC เรามีส่วนงานที่เป็นสถาปนิกแค่หนึ่งในสี่เท่านั้นเอง ในขณะที่สายงานอื่นๆ มีทั้งงานด้านสังคมศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืองานบัญชี เพราะการพัฒนาเมืองมันไม่ใช่แค่การก่อสร้างอย่างเดียว แต่ไล่มาตั้งแต่การมีเหตุผลในการก่อสร้าง การประเมินผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเป็นไปได้ของโครงการ

ยกตัวอย่างโครงการที่เราเข้าไปทำงานในเมืองเก่าย่านธนบุรีก็เป็นงานหนึ่งที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนนักสังคมศาสตร์ค่อนข้างเยอะด้วยความที่คนจากสายสถาปัตย์อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการพูดคุยหรือรับฟังปัญหาชุมชน คอยสังเกตวิถีชีวิตของคน นักสังคมศาสตร์ก็จะรับหน้าที่ในส่วนนี้เพื่อนำไปกำหนดเป็นโจทย์งานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนจริงๆ

 

ยกตัวอย่างงานที่เคยทำให้ฟังหน่อยได้ไหม

ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปก็คือ พระปกเกล้าสกายปาร์ค เป็นหนึ่งในโครงการที่ UddC ริเริ่มเมื่อปี 2558 ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ 250 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือสิบเจ็ดเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และมีย่านกุฎีจีนเป็นพื้นที่นำร่อง แต่ในวันสุดท้ายที่เราไปจัดกระบวนการรับฟังความเห็นในชุมชน ก็มีคุณลุงคนหนึ่งชื่อลุงประดิษฐ์เดินมาชี้ให้เราดูสะพานที่ถูกทิ้งร้างอยู่ซึ่งในชุมชนเขาเรียกกันว่าสะพานด้วน ตอนนั้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าพัฒนาต่อ นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในห้าโครงการชุดสุดท้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่กุฎีจีนและเป็นโครงการที่เกิดจากไอเดียของคนในชุมชน

แทนศร พรปัญญาภัทร

เคยมีกรณีที่คนไม่เข้าใจเป้าหมายของโครงการไหม คุณรับมือกับปัญหานั้นยังไง

มี ยกตัวอย่างอีกโครงการในย่านกุฎีจีน เราทำเรื่องถนนคนเดิน ย้อนกลับไปตอนแรกสุดเลยคนในชุมชนเขายังนึกไม่ออกหรอกว่าถ้าถนนเส้นนี้ไม่มีรถยนต์จะเป็นยังไง หรือถ้าทางเท้าสามารถใช้เดินได้ต่อเนื่องแล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไรกลับมา

วิธีที่เราใช้สื่อสารก็คือการทำให้เขาเห็น เริ่มจากจัดถนนคนเดิน ตอนแรกมีแค่หนึ่งครั้งต่อปีก่อน ทำให้เขาได้เห็นว่าถนนคนเดินมันสามารถดึงคนมาเที่ยวและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเขาได้ เกิดผลดีทั้งต่อชุมชนและเมืองโดยภาพรวม

 

แล้วถ้าหน่วยงานราชการเป็นฝ่ายที่ไม่เข้าใจล่ะ คุณทำยังไง

ปกติแล้วเราจะสื่อสารกับเขาด้วยตัวเลขประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการ ถ้าเทียบกับโครงการพัฒนาพื้นที่ของเอกชนเขาอาจจะมองแค่ผลตอบแทนและจุดคุ้มทุนต่างๆ แต่ในงานพัฒนาเมืองเรามักจะดูต่อไปว่างานนี้ทำให้เกิดผลกระทบยังไงต่อสังคมและเศรษฐกิจในบริเวณนั้นๆ 

อย่างการสร้างสวนสาธารณะ จริงๆ แล้วเป็นโครงการที่ไม่มีทางคุ้มค่าในตัวเองต่างจากห้างสรรพสินค้าหรืออาคารสำนักงานที่มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ ดังนั้นเราต้องตีโอกาสที่สวนจะทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้นออกมาในรูปของตัวเลขให้หมด ถ้าคนมีที่ให้วิ่งแล้วเขาป่วยยากขึ้น ใช้เงินในการรักษาพยาบาลน้อยลง หรือถ้ามีสวนแล้วมีร้านค้า จะเกิดการจ้างงานและการซื้อขาย สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้อีกเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่เรามองต่อไปจากการลงทุนสร้างสวน

 

ถ้ามองการพัฒนาเมืองในสเกลที่ใหญ่กว่าย่านหรือชุมชน การจะแก้ปัญหาโดยภาพรวมของกรุงเทพฯ คุณคิดว่าเราควรเริ่มจากตรงไหน

ทุกวันนี้แต่ละส่วนของกรุงเทพฯ ขาดออกจากกัน มันเดินทางยาก ทั้งที่เราก็มีวิธีเดินทางหลายประเภทมากเลยแต่โครงข่ายแต่ละอันไม่สมบูรณ์สักอย่าง ดังนั้นเราจึงสมควรจะพัฒนาการเดินทางโดยระบบสาธารณะให้เชื่อมต่อกัน ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุด เบสิกที่สุด ก็คือการเดินเท้า

ที่ต้องเป็นทางเท้าเพราะการเดินคือการเคลื่อนที่ที่ง่ายที่สุด และทุกคนใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ คนทำงานทุกเพศทุกวัย เราจึงควรเริ่มจากการทำทางเท้าให้มีครบถ้วนและดีมากพอ ซึ่งถ้าเราทำได้จริง หลังจากนี้เวลาไปไหนใกล้ๆ เราไม่ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ก็ได้ ชีวิตก็จะง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

แทนศร พรปัญญาภัทร

แทนศร พรปัญญาภัทร

นอกจากขยายทางเท้า ยังมีปัจจัยไหนอีกที่จะช่วยให้คนเดินเท้าสะดวกยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้มีอย่างหนึ่งที่ผมขัดหูขัดตามากเลยคือสะพานลอยในเมือง เราควรจะค่อยๆ เปลี่ยนสะพานลอยเป็นอย่างอื่น เพราะสะพานลอยคือสัญลักษณ์แห่งการยอมแพ้ของคนบริหารเมือง ซึ่งสะท้อนกลับไปสู่เรื่องประชาธิปไตยเลยนะ การที่เขายอมให้รถได้ไปก่อนคนเดินเท้า ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเดินเท้ามีจำนวนเยอะที่สุด ส่วนรถยนต์มีคนใช้น้อยกว่า ทำไมคนเดินถนนถึงต้องหลบรถล่ะ 

มันคือเรื่องวิธีคิด ถ้าเราทำให้คนเดินเท้าคิดว่าตัวเองสำคัญและไม่ได้ต้อยต่ำไปกว่าคนขับรถเมื่อไหร่ ตอนนั้นเมืองจะเปลี่ยนได้ในทันที เพราะทุกคนจะรู้สึกว่านี่คือเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถ จากจุดนั้นเราอาจไปถึงขั้นขยายทางเท้าในหลายจุดเลยก็ได้

 

เราเคยได้ยินคนพูดว่ากรุงเทพฯ รถติดเพราะมีถนนน้อย การขยายทางเท้าจะต้องลดพื้นที่ถนน ทำให้รถติดมากขึ้นหรือเปล่า

เรามักได้ยินอาจารย์หลายท่านพูดว่าที่กรุงเทพฯ รถติดเพราะถนนมีไม่พอ โดยมาตรฐานแล้วเมืองส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนพื้นที่ถนน 20-25 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ แต่กรุงเทพฯ มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกเลยที่กรุงเทพฯ จะรถติด เพราะพื้นที่ถนนมันมีน้อยมากจริงๆ

แต่ถ้าเราไปดูเมืองในต่างประเทศที่รถเขาไม่ค่อยติดเนี่ย นอกจากจะมีพื้นที่ถนนเยอะแล้ว สังเกตว่าถนนจะถี่มาก ถนนแต่ละเส้นก็เชื่อมต่อกัน ดังนั้นเมื่อคนขับรถออกมาจากบ้าน แม้จะมีจุดหมายเดียวแต่อาจจะเลือกไปได้ถึงสามทาง ในขณะที่ถนนของกรุงเทพฯ บังคับให้ทุกคนพุ่งมาที่ถนนเส้นเดียวกัน คนใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ เองไม่ได้มีทางเลือกมากขนาดนั้น

ส่วนคำถามที่ว่าการขยายทางเท้าจะกินพื้นที่ถนนไหม เราอาจจะต้องดูดีๆ ทุกวันนี้มันก็มีถนนหลายเส้นที่จริงๆ แล้วไม่ได้ถูกใช้งานมากขนาดนั้นเพราะเลนนอกสุดก็เป็นที่จอดรถอยู่แล้ว บางทีเราอาจเข้าไปออกแบบที่จอดรถใหม่ ทำให้ยังจอดรถได้เหมือนเดิมแต่เราได้ทางเท้าเพิ่มขึ้นสักหนึ่งไม้บรรทัดนั่นก็ทำให้คนใช้ทางเท้าสะดวกมากขึ้นแล้ว

และในอีกทฤษฎีหนึ่ง ผมมองว่ากรุงเทพฯ อาจจะไม่ต้องมีถนนเยอะหรอก แต่เราดึงให้คนมาใช้ทางเท้าสิ ถ้าเราทำให้เขาเดินได้สะดวก มีทางเท้าใหญ่ขึ้นและดีขึ้น พร้อมกับทำระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ให้ดี รถเมล์ดี รถไฟฟ้าดี ก็จะช่วยประหยัดพลังงานและลดมลพิษทางอากาศได้มาก ดีกว่าการตัดถนนใหม่ให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว

แทนศร พรปัญญาภัทร

ประเด็นเรื่องพลังงานและมลพิษเป็นอีกหนึ่งปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก เรามีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับเรื่องนี้

ทุกวันนี้เมืองสามารถรับไฟฟ้าจากหลายรูปแบบ ทั้งถ่านหิน ลม แสงอาทิตย์ หรือน้ำ แถมคนในเมืองยังสามารถผลิตพลังงานด้วยตัวเองได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีนี้หน้าที่ของนักพัฒนาเมืองก็คือการไปดูว่าเมืองนั้นสามารถประยุกต์เข้ากับการผลิตพลังงานแบบไหนได้บ้าง

 

ถ้าพูดถึงการใช้พลังงานของกรุงเทพฯ เรามีตัวเลือกใดบ้างในการผลิตพลังงาน

ยกตัวอย่างโครงการที่ UddC เคยเสนอเรื่องพลังงานทางเลือกให้กับจุฬาฯ เนื่องจากตรงนั้นเป็นพื้นที่กลางเมืองที่ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ นอกจากส่วนการศึกษาแล้วก็ยังมีพาณิชยกรรมด้วย เราเลยเสนอพลังงานทางเลือกให้เขาหลายอย่าง 

 

อย่างพลังงานแสงอาทิตย์เพราะพื้นที่กลางเมืองที่มีอาคารสูงเหมาะกับการติดโซลาร์เซลล์อยู่แล้ว แต่มันก็จะผลิตได้ไม่เยอะ อย่างเคสของจุฬาฯ ถึงจะติดแผงเต็มพื้นที่แล้วเราคาดว่าเขาน่าจะผลิตได้แค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือเราก็เลยเสนอให้เขาเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งสามารถซื้อแล้วดึงจากโครงข่ายท่อก๊าซของปตท. ได้เลย มันมีบางส่วนที่เขาวางระบบเอาไว้อยู่แล้ว จุฬาฯ แค่ต้องลงทุนทำโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยตัวเองเพื่อแปลงก๊าซเป็นไฟฟ้า

 

การออกแบบเมืองที่ใช้พลังงานทางเลือกมีข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหน

ตัวกฎหมายของบ้านเราไม่ได้ยอมให้คนเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกได้ง่ายขนาดนั้น เพราะโครงข่ายการผลิตและจ่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกวันนี้คือการลงทุนของประเทศชาติแหละ ถ้าวันหนึ่งทุกคนลุกขึ้นมาผลิตเองมันก็จะซ้อนทับกัน แล้วไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตมาได้เขาจะเอาไปขายใคร 

กับอีกประเด็นคือเรื่องความปลอดภัย อย่างแรกเลยคือการสร้างโรงไฟฟ้ากลางเมืองมันละเอียดอ่อนมาก ถ้าผิดพลาดอะไรขึ้นมามันจะรุนแรงมากๆ หรืออีกประเด็นที่ผมก็เพิ่งทราบคือในกรณีของการซ่อมบำรุงระบบไฟ ถ้าการไฟฟ้ากำลังซ่อมแซมระบบไฟทำให้ต้องตัดการจ่ายไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน ในละแวกนั้นมีบางบ้านที่ผลิตไฟฟ้าเองจะทำให้เกิดกระแสไฟค้างในระบบ ตรงนี้ก็จะเกิดอันตรายต่อช่างซ่อมบำรุงในทันที นี่ก็เป็นอีกโจทย์ที่เราจะต้องแก้ต่อไปในอนาคต

มีตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จเรื่องพลังงานทางเลือกให้เราเห็นบ้างหรือยัง

ทุกวันนี้เรามองเห็นความพยายามที่กฟผ. อยากให้เอกชนเจ้าใหญ่ๆ ลองผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง เช่น กรณีการติดแผงโซลาร์เซลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นโปรเจกต์ที่พอจะคอนโทรลได้เพราะเป็นพื้นที่ปิด

ผมอยากเห็นกรณีแบบนี้อีกเยอะๆ เพราะพลังงานทางเลือกในแง่หนึ่งก็ช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ในสายงานการผลิตไฟฟ้ามีคนแค่ไม่กี่คนที่ได้โอกาสในการทำงาน แต่ถ้าเราเริ่มเปิดกว้างให้กับพลังงานทางเลือกอื่นๆ มันก็จะสร้างอาชีพให้คนอีกไม่รู้กี่คนในประเทศ เขาอาจจะเข้ามารับหน้าที่ในอาชีพใหม่ๆ ที่จะตามมา และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าฯ อย่างเดียว 

 

คุณคิดว่าภาพกรุงเทพฯ กับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้ไหม

เรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์คงเป็นคำตอบของพลังงานบ้านเราในยุคร้อยปีนี้แหละ ถ้ามองในแง่ต้นทุน ทุกวันนี้จุดคุ้มทุนของแผงโซลาร์เซลล์ก็ลดลงเรื่อยๆ แล้ว เมื่อก่อนคนอาจไม่ลงทุนกับมันเพราะซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ายังไงก็ถูกกว่า แต่ทุกวันนี้เมื่อมันมีความเป็นไปได้ที่โซลาร์เซลจะคืนทุนภายในระยะเวลาสักห้าปี แล้วหลังจากนั้นเขาจะผลิตได้ถูกกว่าการไฟฟ้า มันก็เป็นอะไรที่น่าลงทุน ถูกไหม

แต่หมายเหตุคือยังไงก็จะต้องมีแผนสำรองด้วย ถ้าวันหนึ่งระบบทั้งหมดนี้ล่ม เมืองจะอยู่รอดได้ยังไง การไฟฟ้านครหลวงจะเข้ามาพยุงได้ยังไง นี่ก็คือสิ่งที่นักพัฒนาเมืองต้องช่วยวางแผน

 

ในระยะยาว นอกจากการปรับปรุงทางกายภาพแล้ว มีอะไรที่กรุงเทพฯ ควรพัฒนาต่อไปอีกบ้าง

ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ มีความเป็นพลเมืองของกรุงเทพฯ ต่ำมาก ถ้าเราลองถาม มีน้อยคนมากเลยนะที่อยากอยู่กรุงเทพฯ ไปตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าถ้าเกษียณแล้วก็อยากจะไปอยู่ต่างจังหวัด เขารู้สึกว่าตรงนี้เป็นที่ของใครก็ไม่รู้ จึงไม่เกิดความรู้สึกว่าสักวันหนึ่งฉันอยากจะเห็นเมืองนี้ดีขึ้น ในขณะที่ถ้าคนรู้สึกว่ายังไงเขาก็จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้ไปตลอด และลูกหลานเขาก็จะอยู่ตรงนี้ เขาน่าจะให้ความสนใจกับโครงการพัฒนาเมืองมากขึ้น จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือจะสร้างอะไรก็ต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง

 

คุณคิดว่าเราจะสร้างความเป็นพลเมืองให้คนกรุงเทพฯ ได้ยังไง

ผมคิดว่าต้องเริ่มจากการรู้จักเมืองของตัวเองก่อน ในหลายเมืองทั่วโลกมักจะมีระบบการศึกษาที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านพื้นที่ในเมืองตัวเอง อาจมีที่สูงๆ ให้คนได้เข้าไปเรียนรู้ว่าตรงไหนของเมืองคืออะไรบ้าง บ้านเขาอยู่ตรงไหน เดินไปทางไหนมีอะไร เมืองเขาเชื่อมต่อกันยังไง

เมื่อเราเริ่มปลูกฝังให้คนรู้จักเมืองตัวเองทีละนิด ท้ายที่สุดแล้วเมื่อมันจะมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองของเขา เขาก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวเอง และเกี่ยวกับลูกหลานของเขาเอง ดังนั้นเขาจะให้ความร่วมมือและช่วยแสดงความคิดเห็นออกมา


นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Tomorrow ที่แทนศร พรปัญญาภัทร เป็นวิทยากร เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse ครั้งที่ 8 ยังชวนชมสารคดีอีกสามเรื่องที่พูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน พร้อมทั้งร่วมเสวนากับวิทยากรผู้ขับเคลื่อนสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายอาชีพทั้งห้าคน ตลอดสี่สัปดาห์ของเทศกาล ดูตารางฉายและลงทะเบียนได้ที่ bit.ly/2PQn70e

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน