Energy Response : สตาร์ทอัพที่นำเสนอการประหยัดพลังงานทางเลือกใหม่ด้วยเทคโนโลยี AI

เมื่อพูดถึงการประหยัดไฟ หลายคนอาจนึกถึงการปิดไฟเมื่อไม่ใช้ภายในบ้าน การเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าแปะฉลากเบอร์ห้า การตั้งตู้เย็นห่างจากผนัง 15 เซนติเมตร และเกร็ดความรู้อีกสารพัดที่เรารู้มาตั้งแต่ประถม แต่อาคารขนาดใหญ่จำพวกโรงพยาบาล โรงงาน ห้างสรรพสินค้าที่มีค่าไฟต่อเดือนรวมกันในหลักแสนล้านบาทจะมีวิธีประหยัดไฟฟ้ายังไง? เพราะถ้าเราประหยัดพลังงานในอาคารเหล่านี้ได้ จำนวนตัวเลขและผลลัพธ์น่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศเราอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน

Energy Response (ENRES) คือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่อยู่ภายใต้โครงการ Digital Ventures Accelerator batch 1 ดำเนินการโดยดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ช่วยบ่มเพาะและส่งเสริมความรู้รวมถึงเงินทุนให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างยั่งยืน ENRES เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อนสามคนที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงานแตกต่างกัน ทั้ง ไชยวิวรรธน์ ชูวิเชียร ที่จบการศึกษาด้านพลังงานมาโดยเฉพาะ กฤษฎา ตั้งกิจ จบด้านเทคโนโลยี และ ตฤณ อนันตมงคลชัย จบด้านสถาปนิก ที่มาร่วมมือกับโปรแกรมเมอร์ (Software Engineer) มือดีอีกสองคน คือ โกสินทร์ สุทธิมาลา โปรแกรมเมอร์ผู้เคยทำงานที่ Facebook สำนักงานใหญ่ และ ไพศิษฐ์ จรัลนามศิริ โปรแกรมเมอร์จาก BrightEdge สตาร์ทอัพชื่อดังจากซิลิคอนวัลเลย์ ด้วยแนวคิดที่อยากจะจัดการพลังงานในอาคารใหญ่ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ข้อมูลวิเคราะห์ ผนวกกับเทคโนโลยี IoT และ Big Data

ฟังดูแล้วเข้าใจยากใช่ไหม? เราเลยอยากชวนทีม ENRES มาพูดคุยถึงวิธีการช่วยผู้ประกอบการประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานให้ยั่งยืนกัน

วิธีการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี

อาคารขนาดใหญ่อย่างโรงงาน โรงพยาบาล หรือสำนักงาน สถานที่เหล่านี้มีค่าไฟฟ้าต่อเดือนถึงหลักแสนหรือล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ช่วยประหยัดไฟได้เลยไม่ใช่แค่การปิดไฟเมื่อไม่ใช้หรือเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเท่านั้น แต่ปัญหาหลายอย่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟเยอะเกินความจำเป็นหรือเสื่อมสภาพไม่พร้อมเพรียงกันก็ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นได้

ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ การตรวจสอบและควบคุมทั้งหมดอาจมีหลายจุดที่เจ้าของหรือผู้ดูแลเข้าไม่ถึง ทีม ENRES มองว่าหากทำให้อาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ประหยัดพลังงานได้ จะเกิดอิมแพกต์ต่อผู้ประกอบการรวมถึงคนในสังคมที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และนำพลังงานส่วนนั้นไปใช้กับสถานที่อื่นๆ

สำหรับเมืองไทยแล้ว กระบวนการประหยัดพลังงานของ ENRES ที่เริ่มจากสำรวจการใช้พลังงานส่วนเกิน ติดตั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things-การเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ กับอินเทอร์เน็ต เช่น การดูกล้องวงจรปิดผ่านมือถือ หรือการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านมือถือ) ตรวจสอบความเรียบร้อยแบบเรียลไทม์ และประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น ยังถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่

ENRES จึงมุ่งใช้โมเดลนี้กับอาคารขนาดใหญ่ เพราะจากการเก็บข้อมูลของทีมพบว่าอาคารเหล่านี้มีพลังงานส่วนเกินจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพต่ำและการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เสียไปราว 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คิดคร่าวๆ เป็นเงินมูลค่าถึงแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของบ้านทุกหลังในประเทศไทยได้

จุดคุ้มทุนของลูกค้าคือหัวใจหลัก

กระบวนการทำงานของ ENRES เน้นการสำรวจในขั้นตอนแรกเพื่อดูการใช้พลังงานของลูกค้าในปัจจุบัน เพราะแต่ละที่ แต่ละโรงงานก็มีรายละเอียดการใช้งานและการออกแบบที่แตกต่างกัน เช่น โรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าตลอดเวลาเพราะเปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง ไม่เหมือนกับโรงงานที่มีช่วงพีคในการใช้ไฟฟ้าตามกะเวลาเข้าทำงาน หรือออฟฟิศทั่วไปก็จะหนักในช่วงเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น

“เรามองความคุ้มทุนของลูกค้าเป็นหลัก ถ้าเขาลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่านี้ เขาควรจะได้กำไรกลับมามากที่สุด ไม่ใช่ว่าทีมเราไปถึงก็ขายอุปกรณ์อย่างเดียว เราเลือกติดตั้งให้เฉพาะห้องที่ใช้พลังงานมากที่สุด ไม่ใช่บอกให้ลูกค้าติดทุกห้อง หลังจากนั้นก็จะคุยกับลูกค้าว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เมื่อตกลงกันเรียบร้อยค่อยนำอุปกรณ์ไปติด” ไชยวิวรรธน์บอกกับเราถึงวิธีการทำงานที่เข้าใจลูกค้า

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลา 2-3 วัน เมื่อกระบวนการหน้างานเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ทีมจะนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ AI วิเคราะห์และรายงานข้อมูลทั้งหมดว่ามีความผิดปกติหรือมีจุดไหนที่ควรติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มหรือไม่ ระบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ที่ทีมงานสามารถดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน ENRES ดูแลแพลตฟอร์มประหยัดพลังงานนี้ให้กับ 70 อาคารทั่วประเทศ ทั้งอาคารสำนักงาน สถานศึกษา โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจค้าปลีก สถานที่เหล่านี้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศราว 60 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างจากที่อยู่อาศัยที่กินไฟแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากลดพลังงานในส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ได้ก็น่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศไทย

ผลลัพธ์คือตัวเลขที่ลดลงอย่างชัดเจน

ทีม ENRES ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มโรงแรมภูเก็ตที่ประหยัดไฟฟ้าไปได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์จากการใช้งานทั้งหมด ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเข้าใจว่าห้องทางทิศตะวันตกกับทิศตะวันออกคงกินไฟต่างกัน แต่กรณีนี้แม้แต่ห้องทางทิศตะวันตกที่อยู่ข้างกันก็ยังกินไฟต่างกัน หรืออย่างเวลาที่นักท่องเที่ยวเข้าพักเช็กอินไม่พร้อมกันก็ทำให้มีความแตกต่างในการคิดการใช้พลังงานแตกต่างจากโรงงาน ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เสียค่าไฟเยอะ ซึ่งลูกค้ากลุ่มโรงแรมภูเก็ตได้เทียบให้ทีม ENRES เห็นเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ คิดเป็นจำนวนเงินแล้วก็ลดลงไปเกือบหนึ่งล้านบาท

“เพราะฉะนั้นแล้วหน้าที่ของเราคือวิเคราะห์ ปรับปรุง และจัดการยังไงไม่ให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็นเยอะขนาดนั้น ไม่ได้มองแค่ว่าต้องประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่วิธีการต้องทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างชัดเจน”

ส่งต่อแรงกระเพื่อมจากการเปลี่ยนแปลง

“เราเข้าใจว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคนให้ประหยัดไฟอาจเป็นเรื่องยาก เราจึงโฟกัสที่อุปกรณ์ขนาดใหญ่และสำคัญของอาคารต่างๆ ก่อน ถ้าเริ่มเปลี่ยนจากเจ้าของอาคารที่เขาตระหนักได้ว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนหนึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานของเขาได้ แล้วเขาบอกต่อกับช่างไฟ หรือพนักงานในบริษัท มันจะเกิดผลลัพธ์ 20-30 เปอร์เซ็นต์ตามมาเลยนะ ก้าวต่อไปของเราก็อยากสร้างระบบออนไลน์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อสร้างอิมแพกต์ให้คนไทยลดการใช้พลังงานได้จริงๆ ด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือได้ และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม” ไชยวิวรรธน์กล่าวทิ้งท้าย

อ่านแนวคิดดีๆ ของพวกเขากันแล้ว มาร่วมติดตามผลงานและให้กำลังใจทีมสตาร์ทอัพ Energy Response ได้ในงาน DVAb1 DEMO DAY! ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคมนี้ผ่านทาง Facebook Live เพจ Digital Ventures กันได้นะ

Facebook | Digital Ventures
Website | dv.co.th

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย